- ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย จะมีพื้นที่ใดเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกคิดและจินตนาการ ทดลองในสิ่งที่สนใจไปมากกว่าการดู ‘การ์ตูน’
- แม้จะดูเหมือนไร้แก่นสาร แต่ต้องยอมรับว่าการ์ตูนเป็นสื่อบันเทิงที่มีนัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กในทุกช่วงวัย พวกเขาจะได้เรียนรู้โลกที่ต้องโตมาใช้ชีวิตอยู่ รวมไปถึงปัญหาชีวิตที่อาจต้องเจอ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆ
- และบ่อยครั้งที่การ์ตูนได้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหลายคน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กได้เข้าถึงสิ่งที่ตัวเองสนใจ ได้ทดลองทำ และอาจต่อยอดไปถึงความสำเร็จของการก้าวผ่านวัย (Coming of Age) ของพวกเขาในอนาคตด้วย
การ์ตูน คือ สื่อบันเทิงสำหรับเด็กที่มีมากมายหลายประเภทและสัญชาติ แต่การ์ตูนที่มีอิทธิพลกับเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราๆ คงไม่มีประเทศไหนไหนมาสู้การ์ตูนจากแดนปลาดิบไปได้ โดยเฉพาะในสมัยที่สื่อบันเทิงและสิ่งพิมพ์มีบทบาทอย่างมากในสังคมเรา มังงะ (Manga) หรือการ์ตูนที่ตีพิมพ์เป็นเล่มของญี่ปุ่น และการ์ตูนเคลื่อนไหวที่ฉายบนโทรทัศน์อย่าง อนิเมะ (Anime) ถือเป็นหนึ่งในความบันเทิงหลักของเด็กๆ
ด้วยเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยความสนุกสนาน เรื่องราวที่เปิดให้ผู้อ่านได้มีพื้นที่จินตนาการ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จึงทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อเด็กในยุคนั้นมาก โดยเฉพาะการ์ตูนประเภทการ์ตูนเด็กผู้ชาย (Shonen Manga) และหากจะพูดถึงการ์ตูนที่ได้สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศไทย ทำให้เด็กๆ ต้องลุกขึ้นมาเล่นกีฬาบาสเกตบอลกันทั่วบ้านทั่วเมืองจนกีฬานั้นได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นการ์ตูนระดับตำนานเรื่องสแลมดังก์ (Slam Dunk)
ช่วงราวๆ ปี พ.ศ. 2533-2539 หากคุณเคยมีโอกาสได้ไปร้านเช่าหนังสือการ์ตูน หรือได้ดูการ์ตูนทางโทรทัศน์คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเด็กหนุ่มหัวแดงอดีตนักเลงหัวไม้อย่าง ซากุรางิ ฮานามิจิ เจ้าของวลีสุดฮิต “ฉันมันอัจฉริยะ!” ที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลมือสมัครเล่นเพื่อหวังพิชิตใจ ฮารุโกะ สาวน้อยน่ารักผู้หลงใหลในกีฬาชนิดนี้ ซึ่งแม้ในตอนแรกพระเอกของเราจะดูไม่เอาไหนแต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและความทะเยอทะยาน ทำให้ในที่สุดเขาก็ได้กลายเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลเต็มตัวและพาทีมเข้ารอบอินเตอร์ไฮได้สำเร็จ ก่อนจะปิดฉากลงอย่างสวยงามจนตราตรึงอยู่ในหัวใจนักอ่านเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ
แน่นอนว่าเรื่องราวในการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้สแลมดังก์มีอิทธิพลต่อเด็กๆ ในยุค 90 มากและยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันด้วยการครองอันดับการ์ตูนที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในการ์ตูนประเภทกีฬา และอันดับสองของการ์ตูนทุกประเภทรองจากการ์ตูนเรื่อง One Piece เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เราอาจต้องลงลึกไปดูถึงความหมายที่ซ่อนไว้ใต้ความรักของเด็กหนุ่ม มิตรภาพของลูกผู้ชาย ความฝันของเด็กมัธยมปลาย และลูกบาสเกตบอล
ส่วนผสมที่กลมกล่อม
ในช่วงเวลานั้นกีฬาบาสเกตบอลในเอเชียยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากีฬาฟุตบอล และในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีการ์ตูนกีฬาเพียงไม่กี่เรื่องที่ได้รับความนิยม โดยหนึ่งในนั้นไม่มีกีฬาบาสเกตบอล อาจารย์ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ผู้ชื่นชอบในกีฬาประเภทนี้จึงตัดสินใจเขียนการ์ตูนเรื่องสแลมดังก์ขึ้นมาด้วยความหวังเล็กๆ ว่าการ์ตูนของเขาอาจทำให้กีฬาบาสเกตบอลเป็นที่นิยมเหมือนกับกีฬาเบสบอลในญี่ปุ่นได้บ้าง และโชคก็เข้าข้างเขาเพราะช่วงเวลาที่การ์ตูนเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นเป็นช่วงยุครุ่งเรืองของ NBA ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่ดีในการเปิดตัวบาสเกตบอลฉบับเอเชียจึงไม่แปลกที่หลังจากได้ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Jump เป็นครั้งแรกก็สามารถดึงความสนใจของนักอ่านได้อยู่หมัด
นอกจากนี้ ตัวเนื้อเรื่องที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงและเต็มไปด้วยมุกตลกชวนหัวผสมกับความจริงจังของการแข่งขัน การบรรยายกฎและกติกาพื้นฐานผ่านตัวละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ เข้าใจง่ายชนิดที่ว่าแม้ไม่มีความรู้เรื่องกีฬาประเภทนี้มาก่อนก็สามารถเริ่มเล่นไปพร้อมกับซากุรางิได้ รวมไปถึงการเล่าเรื่องแบบการก้าวผ่านวัย (Coming of Age) ด้วยการสร้างอุปสรรค การพ่ายแพ้ ก่อนจะดำเนินไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านหันมาสนใจกีฬาชนิดนี้มากขึ้น
ไม่เพียงแต่จุดประกายความสนใจในกลุ่มผู้อ่าน สแลมดังก์ยังสอดแทรกปรัชญาคำสอนที่ช่วยให้กำลังใจไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น “ถ้าตัดใจเมื่อไร เกมก็จบเมื่อนั้นน่ะสิ” วลีที่โด่งดังที่พูดโดยอาจารย์อันไซ กุนซือคนสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของโชโฮคุ คำพูดนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเตือนใจในเกมกีฬาบาสเกตบอล แต่ยังสามารถนำมาใช้และให้กำลังใจในชีวิตจริงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของความนิยมในการ์ตูนสแลมดังก์ที่นำไปสู่กระแสการเล่นกีฬาบาสเกตบอลทั่วเอเชีย คือ ตัวละครที่มีความโดดเด่น มีมิติ และมีชีวิต ที่ผู้แต่งตั้งใจสร้างขึ้นอย่างประณีต โดยอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ตัวละครที่ชัดเจนจะสามารถสร้างเรื่องราวที่ดี และหากตัวละครมีชีวิต พวกเขาจะสร้างเรื่องราวด้วยตัวเอง”
นี่อาจเป็นเคล็ดลับของอาจารย์อิโนอุเอะในการออกแบบตัวละครได้อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นที่จดจำของผู้อ่าน เราจึงมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครเพราะได้เห็นและเข้าใจที่มาที่ไปที่แตกต่างกันไปในตัวละครแต่ละคน และทุกการเติบโต ความผิดหวัง ความฝัน และความสำเร็จในสแลมดังก์จึงดูสมจริง ส่วนผสมที่ลงตัวทั้งหมดนี้ทำให้เด็กที่ได้อ่านสแลมดังก์ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กันกับตัวละคร
อำนาจอ่อนที่แฝงไว้ใน Slam Dunk
ชีวิตของเด็กหนุ่มวัยรุ่นจะมีอะไรมากไปกว่าความอยากเท่เพื่อเอาชนะหัวใจเด็กสาวที่ชอบ นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนลุกขึ้นมาจับลูกบาสเกตบอลและยัดลงห่วง (Slam Dunk) ตามตัวละครหลักอย่างซากุรางิ หรืออาจจะด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น อยากยิงลูกสามแต้มได้สวยเท่ามิสึอิ อยากเก่งเหมือนรุคาว่าหรือเซนโด อยากผ่านลูกได้คมแบบมิยางิที่แม้จะมีข้อจำกัดด้านส่วนสูงแต่ก็เล่นได้เก่งไม่แพ้ใคร หรืออยากสนุกไปกับเพื่อนๆ อย่างในทีมโชโฮคุ ทั้งหมดนี้ก็มากเพียงพอที่จะสร้างคลื่นลูกใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการบาสเกตบอลในเอเชีย
กระแสความร้อนแรงของกีฬาบาสเกตบอลจากสแลมดังก์และความใฝ่ฝันของเด็กในยุค 90 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เด็กในยุคนั้นต้องลุกขึ้นมาจับกลุ่มรวมตัวเล่นบาสเกตบอลกันจนสนามบาสเต็ม ต้องต่อคิวรอเล่นกัน ความนิยมดังกล่าวนี้เป็นผลมาจาก อำนาจอ่อน (Soft Power) ที่ Joseph Nye จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการใช้อำนาจในการชักจูง หรือดึงดูดความสนใจของผู้คนจนสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดหรือพฤติกรรมได้โดยไม่มีการบังคับ ในกรณีนี้ ถือเป็นการใช้วัฒนธรรมในการทำให้กีฬาบาสเกตบอลเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย
แม้ว่าความฝันในการทำให้กีฬาบาสเกตบอลเป็นที่นิยมของอาจารย์อิโนะอุเอะจะประสบความสำเร็จอย่างสูงและสแลมดังก์จะปิดฉากลงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 แต่ความรักที่มีต่อกีฬาชนิดนี้ไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย อาจารย์ได้สานต่อความรักของเขาด้วยการจัดตั้งกองทุนสแลมดังก์ (Slam Dunk Scholarship) ขึ้นในปีพ.ศ.2549 เพื่อสนับสนุนเด็กญี่ปุ่นที่มีความสามารถและมีความฝันอยากเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ให้ได้มีโอกาสไปฝึกทักษะและเรียนภาษาถึงที่อเมริกาเพื่อเป็นนักกีฬาบาสอาชีพได้ในอนาคต โดยเป็นทุนให้เปล่าและเป็นเงินของอาจารย์เองทั้งหมด
การไม่จำกัดและส่งเสริมความฝันของเด็กโดยใช้การ์ตูนสแลมดังก์เป็นตัวกลาง ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เราอาจได้เห็นนักกีฬาทีมชาติที่มีแรงบันดาลใจจากสแลมดังก์ก็เป็นได้ แต่หากไปไม่ถึงฝัน อย่างน้อยในระหว่างทางเด็กก็ได้ค้นหาความหมายและมีความสุขกับช่วงชีวิตในช่วงวัยที่รอคอยการเติบโต
อย่างไรก็ดี หากมองความสำเร็จของการ์ตูนเรื่องนี้ให้แคบลงมา เราจะเห็นว่านอกจากการที่กีฬาบาสเกตบอลจะเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กๆ มากขึ้นแล้ว สแลมดังก์ยังได้เปิดพื้นที่ให้เด็กวัยฝันได้จินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้ลองผิดลองถูกจากความสนใจ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องสี่เหลี่ยมกับตำราเรียน เด็กหลายคนที่ได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้มีแรงบันดาลใจและใฝ่ฝันที่จะเป็นนักกีฬาก็ตั้งใจฝึกฝนตัวเองจนได้เป็นตัวโรงเรียนหรือติดทีมชาติก็มี หรือบางคนที่ไม่ได้โดดเด่นด้านกีฬาก็ได้สนุกไปกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียนซึ่งถือว่าเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และดีต่อสุขภาพด้วย
ถึงแม้ว่าปีนี้สแลมดังก์จะมีอายุถึง 31 ปีแล้ว แต่กระแสความนิยมก็ไม่ได้ลดลงไป แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการ์ตูนสแลมดังก์และร่องรอยความทรงจำวัยหนุ่มสาวที่เด็กยุค 90 มีต่อการ์ตูนเรื่องนี้ เราอาจพูดได้ว่าผลลัพธ์ของการ์ตูนเรื่องนี้ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้ทดลองลงมือทำ พร้อมสนับสนุนให้พวกเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ และยังให้บทเรียนชีวิตที่ช่วยให้สามารถพัฒนาตัวเองได้
ดังนั้น หากเห็นเด็กอ่านหนังสือการ์ตูน อย่าด่วนตัดสินว่าไร้สาระ เพราะเราไม่รู้เลยว่าสาระที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นจะมีผลต่อจินตนาการของเขาอย่างไรบ้าง เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ชีวิตตามวัย ได้ใช้ความคิดสร้างความฝันดูบ้าง ไม่แน่ว่าเขาอาจหาตัวตนเจอจากการลองผิดถูกตามการ์ตูนเหมือนที่สแลมดังก์เคยสร้างปรากฏการณ์ไว้เมื่อสามสิบปีที่แล้วก็เป็นได้