- เมื่อเห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ จำนวนภาระงาน ทางโรงเรียนจึงร่วมกันลดใบงานและปรับเป็น ‘ใบงานบูรณาการ’ รวมสาระวิชาเข้าด้วยกัน
- ครูทุกคนยอมลดเนื้อหาตัวเอง ยอมลดความเป็นเจ้าของวิชา เลือกใช้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเด็กในเวลานี้และผู้ปกครองสามารถเชื่อมโยงได้ ก็คือเนื้อหาในชีวิตประจำวัน
- หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านเขาจีน คือ การเข้าใจบริบทและรับฟังเสียงของนักเรียน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การไม่ฟังหรือเลือกจะเพิกเฉยอาจกลายเป็นการทำร้ายนักเรียน ยิ่งในสภาวะที่ปัญหารุมเร้า ถ้าโรงเรียนเลือกเป็นคนยื่นมือช่วยเหลือ นั่นคงส่งผลดีกับนักเรียนไม่น้อย
เสียงตัดพ้อถึงภาระการเรียนที่ซ้ำเติมวิกฤตในช่วงเวลานี้ คือสิ่งที่ผู้อำนวยการและครูโรงเรียนบ้านเขาจีนรับรู้มาโดยตลอด โดยเฉพาะใบงานในแต่ละรายวิชาที่มากมายจนกลายเป็นความเครียด ดังนั้น ที่โรงเรียนบ้านเขาจีน โรงเรียนขยายโอกาสตั้งอยู่ในจังหวัดสตูล สิ่งที่พวกเขาลงมือเพื่อจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็คือการสำรวจข้อมูลนักเรียนและผู้ปกครอง และออกแบบใบงานบูรณาการ ซึ่งเป็นตัวอย่างการปรับตัวของโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมที่ถูกนำมาแชร์ในการเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษาเครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล
โดยหลังจากได้ข้อมูลของนักเรียนมาแล้ว ทางโรงเรียนได้นำมาวิเคราะห์และแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 ระดับตามความพร้อม หนึ่ง – ระดับสีเขียว คนที่มีความพร้อมทุกด้าน เช่น อุปกรณ์ในการเรียนและผู้ปกครองที่สามารถสอนลูกได้ สอง – คนที่ขาดความพร้อมด้านใดด้านหนึ่ง และสาม – ไม่มีความพร้อม
เมื่อแบ่งกลุ่มนักเรียนได้ งานต่อไปคือ ครูจะเป็นคนออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ซึ่งการออกแบบไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่ทำร่วมกันทั้งโรงเรียนผ่านวง PLC (Professional Learning Community) การสอนมีทั้ง on hand, on line, on demand นักเรียนเรียนผ่านวีดีโอการสอนของครู หากนักเรียนคนไหนมีความพร้อมก็สามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่ถ้านักเรียนที่ไม่พร้อม ไม่สามารถเรียนออนไลน์ ให้ผู้ปกครองมารับ – ส่งใบงาน และถ้านักเรียนสามารถไปรวมกลุ่มกับเพื่อนได้ ค่อยขยับขยายไปเรียนออนไลน์เช่นเดียวกัน
“เราต้องสำรวจองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการจัดการเรียนออนไลน์ เริ่มจากข้อมูลผู้ปกครอง อุปกรณ์ของนักเรียน แม้ผลสำรวจค่อนข้างชัดว่านักเรียนส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าดูลึกๆ จะเป็นของผู้ปกครองซะส่วนใหญ่ และองค์ประกอบอีกอย่างที่ต้องรู้ คือ เทคนิคความชำนาญของครูในการใช้เทคโนโลยีสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ บทบาทของผู้บริหารสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ พัฒนาครูให้ชำนาญขึ้น จัดเป็นกลุ่ม ให้คนเก่งช่วยประกบ จนครูมีความพร้อม” เสรี มากแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาจีนกล่าวในวงเสวนา
ใบงานเยอะ ใช่ว่าจะพัฒนาศักยภาพ แต่เป็นการสร้างภาระนักเรียน
ปัญหาที่เกิดกับนักเรียนบ้านเขาจีนเช่นเดียวกับปัญหาของเด็กโรงเรียนอื่น คือ จำนวนงานที่เยอะ สร้างภาระและความกดดัน “เราคิดว่าสถานการณ์น่าจะยาวนานออกไป เด็กอาจอยู่แบบนี้ไม่ได้แน่ๆ ก็ทำสำรวจถามความคิดเห็นนักเรียน ประมาณ 70% บอกว่าสามารถเรียนออนไลน์ต่อได้ แต่จำนวนใบงานที่ไม่ลด นักเรียนสะท้อนว่าภาระงานเยอะ เกิดความเครียด ผู้ปกครองเองก็เครียดเพราะไม่สามารถสอนตามเนื้อหาในใบงานให้ลูกได้ ตัวครูก็เครียดสั่งงานไปไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ” ผอ.เสรีกล่าว
แม้ก่อนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนจะสำรวจข้อมูลไว้แล้วแต่ยังคงไม่เพียงพอ เพื่อแก้ไขปัญหา ผอ.เสรีและครูหารือร่วมกันในวง PLC ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เริ่มจากมองหาสาเหตุว่าความเครียดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด สำหรับนักเรียนคือ ภาระงานเยอะ ผู้ปกครองเกิดความเครียดจากสภาพสังคม การทำงาน แล้วต้องสอนลูกอีก
เมื่อเห็นว่าปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ จำนวนภาระงาน ทางโรงเรียนจึงร่วมกันลดใบงานและปรับเป็น ‘ใบงานบูรณาการ’ รวมสาระวิชาเข้าด้วยกัน
ครูไหม – อาอีฉ๊ะ เปรมใจ กล่าวในวงเสวนาว่า ทางครูเคยคิดที่จะทำ แต่ตกลงกันไม่ได้เรื่องเนื้อหา แต่ละคนก็อยากให้เนื้อหาของตัวเองเยอะๆ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่คราวนี้มีปัจจัยเรื่องความเครียดของเด็กและผู้ปกครอง ทำให้ทุกคนยอมลดเนื้อหาตัวเอง ยอมลดความเป็นเจ้าของวิชา เลือกใช้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเด็กในเวลานี้และผู้ปกครองสามารถเชื่อมโยงได้ ก็คือเนื้อหาในชีวิตประจำวัน
“หยิบข้อมูลโควิดมาสร้างเป็นโจทย์ให้เด็กตอบคำถาม เช่น ถ้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ให้แจกแจงตารางความถี่ จำนวนผู้ติดเชื้อ วิชาภาษาอังกฤษ ให้ดูภาพและเขียนคำศัพท์ วิชาสังคม ตั้งคำถามว่าถ้านักเรียนต้องทำงานกับคนที่เคยเป็นโควิดจะทำอย่างไร เป็นต้น สุดท้ายให้นักเรียนนำเสนองานที่ทำเป็นคลิปสั้นๆ เพื่อที่เขาจะได้ลำดับความคิด รู้จักคัดข้อมูล พัฒนาทักษะสมรรถนะด้านการสื่อสาร
“วิธีประเมินผลเราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อตัวเราไม่ได้อยู่กับเด็กตลอดเวลา ผู้ปกครองต้องเป็นคนบอกข้อมูลนี้กับเรา ออกเป็นแบบสอบถามเป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ให้ผู้ปกครองติ๊ก เช่น นักเรียนขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง, นักเรียนเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, นักเรียนมีอิสระกับเวลาที่เหลือ และมักใช้ในการทำอะไร เพราะเมื่องานลดมีเวลาอิสระมากขึ้น เด็กจะใช้ทำอะไร
คอมเมนต์ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า เวลาอิสระลูกใช้ค้นหาความสามารถของตนเองและพัฒนาให้ดีขึ้น พอฟังแบบนี้เราก็อยากไปคุยกับเด็กต่อเลย เพราะตอนสอนออนไลน์มีเด็กคนหนึ่งเรียนไปด้วยเอาโทรศัพท์ใส่กระเป๋า แล้วก็นั่งทำงานอื่น หรือมันเป็นสิ่งที่เขาต้องทำอยู่แล้ว อยากพัฒนาให้ดีขึ้น หรืออยากศึกษาอาชีพอื่น เป็นสิ่งที่อยากทำต่อไป บางคนก็บอกดีแล้วที่เด็กจะได้มีเวลามาขึ้น” ครูไหมอธิบายใบงานบูรณาการ
ครูไหมเล่าต่อว่า ในอนาคตเพื่อพัฒนาใบงานบูรณาการ อยากชวนผู้ปกครองมาร่วมออกแบบด้วย เพราะโรงเรียนอาจขาดบางส่วน ได้ผู้ปกครองมาเติมเต็ม เป็นครูในชีวิตจริงของเด็กๆ
ผอ.เสรี กล่าวว่า การยอมเปลี่ยนแปลงของครูเพราะมองเห็นปัญหาและมานั่งตกผลึก เป็นคีย์หลักสำคัญในการแก้ไขปัญหา
“ในสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งความอันตรายของสุขภาพ ความเครียด ถ้าเรามองความสุข ความสำเร็จของเด็กเป็นที่ตั้ง พ่อแม่ ครูก็จะมีความสุข ไม่ว่าภาระใดที่หนักทำด้วยความเต็มใจจะเบา”
ในมุมของตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนบ้านเขาจีนที่ได้ทดลองใช้ใบงานบูรณาการ เธอบอกว่าเมื่อครูเปลี่ยนใบงานให้มีทุกรายวิชาในใบเดียว ลดงาน ลดความเครียด ถ้าเราตั้งใจทำให้เสร็จก็เสร็จ สบายใจ มีพ่อแม่คอยช่วย รู้สึกอุ่นใจขึ้น “อยู่ที่บ้านเราต้องดูแลตัวเองเยอะขึ้น เพราะไม่มีครูคอยเป็นที่ปรึกษาเหมือนตอนอยู่โรงเรียน อยู่บ้านเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานด้วยตัวเอง”
หัวใจสำคัญของโรงเรียนบ้านเขาจีน คือ การเข้าใจบริบทและรับฟังเสียงของนักเรียน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด การไม่ฟังหรือเลือกจะเพิกเฉยอาจกลายเป็นการทำร้ายนักเรียน ยิ่งในสภาวะที่ปัญหารุมเร้า ถ้าโรงเรียนเลือกเป็นคนยื่นมือช่วยเหลือ นั่นคงส่งผลดีกับนักเรียนไม่น้อย