- “สถานการณ์ที่เราเผชิญตอนนี้ ไม่ว่าจะการเมืองหรือโรคระบาด ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนะ เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิต เราเห็นยอดคนตายขึ้นทุกวัน ทำให้คนกังวลว่าจะมาถึงตัวเองหรือคนที่เรารักหรือเปล่า หรือความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุม ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์พวกนี้สามารถเป็นชนวนที่อาจนำไปสู่การเกิดบาดแผลทางใจได้ ถ้าไม่มีการรับมือหรือจัดการที่เหมาะสม”
- คุยกับ สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ว่าในวันนี้ที่เราต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สร้างพลังงานลบจะส่งผลกับจิตใจเราอย่างไร วิธีเยียวยาไม่ให้ใจของเราพัง
หากถามถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร คงเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ ที่ภายในไม่ได้ถูกอัดด้วยแก๊ส แต่เป็นพลังงานลบที่มาจากความกังวล หดหู่ กลัว โกรธ เกลียด ฯลฯ ของประชาชน อัดแน่นอยู่ในลูกโป่งรอวันระเบิด หรืออาจจะระเบิดไปแล้วแต่สุดท้ายก็ถูกครอบด้วยขวดแก้วอัดอยู่ต่อไปไม่สามารถระบายออกมาได้
ลำพังแค่อยู่กับพลังงานลบ อย่างโกรธคนอื่น หรือกลัวนู่นนี่นั่น สักเพียง 10 นาที เราบางคนก็ทนไม่ไหว ต้องรีบหาทางออกมา แต่ ณ วันนี้ที่เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างแต่พลังงานลบ จะหลบหนีก็ทำได้ยาก สภาวะเช่นนี้จะส่งผลอะไรกับจิตใจของเราบ้าง
ชวนคุยกับ สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาและผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ ว่าในวันนี้ที่เราต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สร้างพลังงานลบจะส่งผลกับจิตใจเราอย่างไร เป็นแค่อารมณ์ที่เกิดขึ้นรอวันระบายหรือบาดแผลทางใจ (trauma) ที่ต้องไปแก้ในอนาคต วิธีเยียวยาไม่ให้ใจของเราพังไปมากกว่านี้ รวมถึงบทบาทของกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาที่เปลี่ยนไป
ช่วงนี้บรรยากาศการให้คำปรึกษาเป็นอย่างไรบ้าง
จำนวนคนที่เข้ามารับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับโควิด – 19 ซะทีเดียว เพิ่มขึ้นด้วยตัวเอง ผมว่าเพราะส่วนหนึ่งความเข้าใจของคนเพิ่มมากขึ้น และเราก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย
ความแตกต่างที่เกิดคือ รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้เราแทบจะไม่รับปรึกษาทางออนไลน์ เพราะเราเชื่อมั่นการมาคุยแบบตัวต่อตัว ไม่ใช่แบบออนไลน์ไม่ดีนะ แต่การคุยแบบนี้สิ่งที่ผมเห็น คือ หน้าคุณ ผมไม่เห็นที่เหลือเลยว่าคุณกำลังทำอะไร เป็นไปได้ว่าจะทำให้เราประเมินไม่ถูก เพราะนอกจากสังเกตอาการท่าทาง บรรยากาศที่ออกมาจากตัวคนๆ นั้นก็มีผล บางคนเศร้ามากๆ จนมีรังสีความเศร้าจากตัวเขาออกมาให้เราได้สัมผัส
Knowing Mind ปิดทำการชั่วคราวมาตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกๆ เลยครับ พอสถานการณ์ดูท่ากลับมาดีขึ้น เราก็กลับมาเปิดช่วงกลางปีจนมาถึงต้นเมษายนที่ผ่านมาต้องปิดอีกรอบ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเลย
ประเด็นที่คนมาปรึกษามีเกี่ยวข้องกับโควิด – 19 บ้างไหม
ปีนี้ประเด็นที่มาปรึกษาจะคาบเกี่ยวกับโควิด – 19 มากขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วไม่ค่อยเยอะ แต่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากโควิด – 19 โดยตรงอย่างเช่นติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงนะ แต่โควิด – 19 ส่งผลให้ปัญหาหลักของคนที่มาปรึกษามีซับซ้อนขึ้น ผมมานั่งดูบันทึกแทบทุกเคสที่มาปรึกษาได้รับผลกระทบโควิดไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะด้านครอบครัว การทำงาน วิถีชีวิต กิจกรรมส่วนตัว หรือความสนใจส่วนตัว ล้วนได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ปัญหาหลักของพวกเขาแก้ยากขึ้นเหมือนกัน
โดยภาพรวมแล้วผมว่าปัญหาของคนเรายังคงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์อยู่ดี ในด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้านประกอบกัน
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น คู่รัก พ่อแม่ลูก เพื่อนที่ทำงาน หัวหน้างาน หรือความสัมพันธ์กับตัวเองที่ไม่ดี รู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเอง ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่เก่ง หรือเป็นความสัมพันธ์กับสถานการณ์ในชีวิตก็ได้ ไม่พอใจว่าสังคมเป็นแบบนี้ บ้านเมืองเป็นแบบนี้ การเมืองมันไม่โอเค ประเด็นเหล่านี้มีแนวโน้มเรื่อยๆ พอความสัมพันธ์ไม่โอเคมันก็กระทบความรู้สึกจิตใจเขา
ตอนนี้ความสัมพันธ์ที่คนไม่โอเคสุด คงเป็นความสัมพันธ์กับสังคม จนบางทีทำให้เราเกิดภาวะอยากให้โลกแตก ไม่อยากอยู่แล้ว ความรู้สึกแบบนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง เป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือถึงขั้นสร้างเป็น trauma (บาดแผลในใจ)
เป็นไปได้ทั้งสองแบบครับ ตั้งแต่ความขุ่นเคืองใจ ไม่สบายใจ หรือรุนแรงจนเป็น trauma ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
เวลาที่เราเจอสถานการณ์ร้ายแรงในชีวิต เช่น เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตรวจพบโรคร้ายแรง ถูกทำร้าย หรือถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น มีโอกาสที่การเผชิญสิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบเป็นบาดแผลในใจเรา แม้จะเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
สถานการณ์ที่เราเผชิญตอนนี้ ไม่ว่าจะการเมืองหรือโรคระบาด ผมว่ามันเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนะ เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิต
เราเห็นยอดคนตายขึ้นทุกวัน ทำให้คนกังวลว่าจะมาถึงตัวเองหรือคนที่เรารักหรือเปล่า หรือความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อมีการชุมนุม ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์พวกนี้สามารถเป็นชนวนที่อาจนำไปสู่การเกิดบาดแผลทางใจได้ ถ้าไม่มีการรับมือหรือจัดการที่เหมาะสม
วิธีรับมือหรือจัดการที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
ปัจจัยที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีบาดแผลทางใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่ปัจจัยก่อนเกิดเหตุ เราถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน มีประสบการณ์วัยเด็ก บุคลิกภาพอย่างไร พันธุกรรมที่ได้รับถ่ายทอดจากพ่อแม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นต้นทุนเดิม ถ้าต้นทุนเดิมเราดี เมื่อเจอเหตุการณ์ร้ายแรงก็อาจไม่ส่งผลกระทบมาก แต่บางคนที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ พันธุกรรมมีแนวโน้มเครียดทุกข์ได้ง่าย เวลาเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็มีแนวโน้มเกิดบาดแผลทางใจได้ง่ายกว่า
ปัจจัยต่อมาคือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ว่าเหตุการณ์นี้รุนแรงแค่ไหน แต่ระดับความรุนแรงก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดที่แน่ชัด เพราะความรุนแรงแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นจุดร่วม คือ ความรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต การบาดเจ็บที่รุนแรง หรือการถูกคุกคามตัวตน เหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรง ถึงเราไม่ได้เจอด้วยตัวเองแต่การรับรู้มันก็มีโอกาสที่เราจะเกิดบาดแผลทางใจด้วย แต่อาจจะน้อยกว่าคนที่ประสบโดยตรง
และปัจจัยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เช่น เมื่อเราเจอเหตุการณ์แบบนี้มีระบบดูแลช่วยเหลือหรือสนับสนุนรองรับหรือเปล่า มีคนใกล้ชิดคอยดูแลไหม คนที่เผชิญเหตุการณ์ไม่ดีมา ถ้าเขามีคนรอบข้างคอยรับฟัง เขาสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือที่เหมาะสม ตัวเขาอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้
ฉะนั้น การช่วยเหลือหลังเกิดเหตุการณ์มีผลมากๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดตามมาหลังจากนั้นก็มีผลด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดโควิด – 19 จากที่คุณเคยทำงานได้ แต่วันนี้ทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ เกิดความเครียด คนรอบตัวก็ติดเชื้อโควิด – 19 ไปหมด ทุกอย่างรุมเร้า แต่ถ้าคุณมีระบบสวัสดิการที่จะเข้ามาช่วยซับพอร์ต เฮ้ย…คุณไม่ต้องกลัวหรอก เดี๋ยวก็มีเงินช่วย ถ้าป่วยก็มีระบบการรักษาที่ดีรองรับ มันก็อาจลดผลกระทบทางใจลงไปได้ แต่ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ‘คุณก็ดูแลตัวเองไปสิ’ แถมโดนต่อว่าซ้ำเติมว่าเป็นเพราะคุณไม่ระวังตัวเอง ไม่จัดการชีวิตให้ดีเลยเป็นแบบนี้ มันก็จะยิ่งบั่นทอนจิตใจคุณขึ้นไปอีก และมีโอกาสเกิดบาดแผลทางจิตใจสูง
ผมสรุปเป็นภาพรวมแล้วกันว่ามีปัจจัยหลายอย่างมากเลยครับ ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจคนคนนั้นมากน้อยแค่ไหน และมันไม่ใช่เป็นเรื่องของเจ้าตัวเพียงลำพัง ไม่ใช่เพราะเขาคิดบวกไม่เป็น เขาอ่อนแอ แต่มีปัจจัยหลายอย่างมากๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตเขา
มีวิธีให้เราเช็คตัวเองได้ไหมว่า สุขภาพจิตที่เราเป็นอยู่ตอนนี้มันระดับไหน อยู่ในระดับที่เราควรกังวลหรือยัง
ผมว่าไม่มีเกณฑ์ที่แน่ชัด เท่าที่ผมสังเกตคนที่มาเข้ารับคำปรึกษาจะมี 2 ส่วน คือ คนที่อาการชัดเจนมากจนคุณปฎิเสธไม่ได้ กับคนอีกกลุ่ม คือ คนที่รู้ตัวว่ามีปัญหาแต่จัดการเองไม่ได้ เลยเลือกจะมาหาก่อนที่จะหนักไปกว่าเดิม
ดังนั้น ผมว่าเกณฑ์ชี้วัดที่ง่ายที่สุด ถ้าคุณสามารถจัดการปัญหา ให้ค่อยๆ ลดลงได้ มีคนใกล้ชิดคอยช่วย ก็สามารถทำไปได้เลย แต่ถ้าเห็นว่าคุณจัดการไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่ปัญหาจะลดลงหรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเราอาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
สรุปคือสังเกตแนวโน้มและผลกระทบครับว่าปัญหาที่เราเจอมีแนวโน้มเป็นอย่างไร แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นลดลงหรือเพิ่มขึ้น
ผมว่าการเจอเหตุการณ์ร้ายแรงมันส่งผลกระทบกับเราอยู่แล้วละ แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรับตัวได้ค่อนข้างดี ผลกระทบจะค่อยๆ ลดตามธรรมชาติ หรือถ้าคุณเป็นคนมีต้นทุนที่ดี มีการจัดการที่ดี แต่ถ้าปัญหาไม่ลด แปลว่าต้นทุนในตัวเราบางอย่างอาจไม่พอที่จะจัดการกับความรู้สึกปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก
ดูจากสถานการณ์ตอนนี้ เราอาจต้องอยู่แบบนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง พอจะมีคำแนะนำในการดูแลรักษาใจเราไม่ให้พังไปมากกว่านี้ไหม
ถ้าเราลองทบทวนความรู้สึกของเราดีๆ ‘ตายวันนี้เลยดีไหม ไม่อยากอยู่แล้ว’ จริงๆ ความรู้สึกแบบนี้ก็เป็นภาพสะท้อนว่าลึกๆ เรายังมีความฝัน ความหวัง ความปรารถนาที่จะมีชีวิต มีสังคมที่ดี แต่ว่าความหวัง ความฝันนี้มันยากเหลือเกิน ดูเป็นไปไม่ได้เลยในสถานการณ์แบบนี้ เลยทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง พอมันเกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนานก็เลยกลายเป็นความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่แล้ว ตายดีกว่า
อันดับแรกผมว่าเราต้องมองให้เห็นก่อนนะ ชีวิตที่เรามุ่งหวังเป็นแบบไหน หาคำตอบให้ตัวเองซะหน่อยหนึ่ง ถ้าสังคมตอนนี้มันแย่มาก อย่างน้อยกลับมาถามตัวเองซะหน่อยว่าสิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราอยากเห็น หน้าตาเป็นแบบไหน บางทีเราอาจจะไม่เคยถามตัวเองชัดๆ มีเป็นภาพลางๆ อยู่ในหัว และถ้าภาพนั้นชัดขึ้น คำถามต่อมาคือวันนี้สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ความฝัน ความหวังเราเป็นจริง เริ่มต้นทำส่วนไหนได้บ้าง
พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรับผิดชอบมันด้วยตัวเอง เพราะไม่เคยมีอะไรที่เป็นของเรา หรือขึ้นอยู่เราจริงๆ ทั้งหมดหรอก แม้แต่ความหวัง ความฝัน แต่มันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย
แต่เราลองวางปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ลงก่อน แล้วมาดูว่ามีส่วนไหนที่เราขยับปรับเปลี่ยนด้วยตัวเองได้ สิ่งนี้อาจทำให้เราลุกมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้คน ทำงานรณรงค์ประเด็นสาธารณะต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่รัฐควรรับผิดชอบและดูแล ก็เป็นเรื่องที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา แต่ตอนนี้มันยังไม่ได้ เราพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ได้สังคมเป็นอย่างที่เราอยากเห็น และตรงนี้เองผมว่ามันจะทำให้เรามีพลังขึ้นมาว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วก็มีส่วนที่ขึ้นอยู่กับเรานี่หว่า
ความฝันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่นทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางสังคม หรือโควิด – 19 ทั้งหมดนะ แต่ขึ้นอยู่กับเราด้วยส่วนหนึ่ง
แต่ก็ไม่ง่ายนะครับ ที่จะให้เรานั่งคิดเองคนเดียวแล้วจะค้นพบคำตอบเลย เพราะสมองเรามีส่วนที่เป็นเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก พอความรู้สึกมันรุมเร้าขึ้นมา ส่วนที่คิดเป็นเหตุเป็นผลก็ลดน้อยตามธรรมชาติ การมีกัลยาณมิตร เพื่อน คนใกล้ชิดที่เขาพร้อมจะรับฟังเรา พร้อมนั่งทบทวนสะท้อนจะเป็นตัวช่วยหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มี การไปพูดคุยกับนักจิตวิทยา นักบำบัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
คุณสมภพบอกว่าความรู้สึกอยากให้โลกแตก แต่ลึกๆ ยังมีความหวังอยู่ ซึ่งเป็นอารมณ์บวก แต่ทำไมเราถึงแสดงออกมาในแง่ลบ
ความรู้สึกเป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอะไร มันอาจไม่ได้บวกหรือลบในตัวมันเอง แต่เราใช้ว่าบวกหรือลบเพราะมันเชื่อมโยงกับการที่เราได้รับในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ เมื่อเราเศร้าแล้วต้องการร้องไห้ นี่คือการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเศร้า บางทีร้องไห้อาจจะจบเพราะได้ปลดปล่อยความเศร้า ความโกรธก็ต้องการปลดปล่อยเช่นกัน
บางทีถ้าเรามองข้ามคำหยาบต่างๆ ไป จะพบว่าลึกๆ แล้วความโกรธก็เป็นภาพสะท้อนความไม่พึงพอใจของชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนที่กำลังเกิดขึ้น เราจะช่วยยังไงให้สิ่งนี้โอเคขึ้น
ถ้าเป็นปัญหาส่วนตัว เราก็อาจต้องการคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจพูดคุยปัญหานี้ได้ หรือถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสังคม เราก็ต้องการพื้นที่ทางสังคมเพื่อแสดงออก เฮ้ย นี่มันเป็นปัญหาที่ฉันไม่ได้สร้างเอง แต่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มันใหญ่กว่านี้ ผลกระทบจากโครงสร้างสังคมที่แก้ไม่ได้ด้วยตัวฉันเอง ฉันต้องการส่งเสียงแห่งความไม่พึงพอใจนี้ออกมา สิ่งที่รัฐทำได้คือ การมีพื้นที่รับฟัง ตอนนี้เราอาจมีพื้นที่นี้อยู่บ้างแต่น้อยมาก
จริงๆ แค่ได้ส่งเสียงสื่อสารความไม่พึงพอใจออกไปอาจจะเพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกลงได้บ้าง ถ้าเสียงนี้ได้รับการรับฟังและนำไปแก้ไขนะ แต่พอไม่ได้รับฟังหนำซ้ำยังถูกเพิ่มเติมความไม่พึงพอใจให้มากไปอีก เช่น เธอคิดร้าย เป็นเพราะเธอคิดไม่ดีเอง เธอทำตัวไม่เหมาะสม มันเลยสร้างความไม่พึงพอใจให้มากขึ้นไปอีก ไม่แก้ไขแต่กลับซ้ำเติม มองข้ามความทุกข์ยากของเขาไป มันนำไปสู่การแสดงออกทางอารมณ์ไปอีกขั้น จากส่งเสียงเป็นการลงมือ ถ้าเราไม่มองเรื่องนี้ในมุมถูก – ผิด เราสามารถเข้าใจได้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนความไม่พึงพอใจที่จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจ
คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีคนมาปรึกษาเรา และในสถานการณ์นี้ที่ค่อนข้างมีความเปราะบาง การให้คำปรึกษาควรเป็นอย่างไร?
การรับฟังก็คือการวางคำแนะนำลงก่อน เวลาพูดถึงการปรึกษานักจิตวิทยา คนส่วนมากจะมีความคิดว่า ‘ฉันอยากมาได้ข้อคิด’ ‘อยากได้แนวทางหรือวิธีการสักอย่างเอาไปทำอะไรต่อ’ แต่กระบวนการนี้ สิ่งที่นักจิตวิทยาทำคือการสะท้อนให้เขาได้เห็นว่า ตกลงแล้วปัญหาอยู่ตรงไหน ตัวเขาต้องการอะไรกันแน่
จากประสบการณ์การทำงานของผม ทุกคนมีคำตอบอยู่แล้วในตัวเอง เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ที่อารมณ์ความรู้สึกมันเยอะ เรามองไม่เห็นคำตอบเหล่านี้หรอก
เราอาจมองเห็นแต่ว่า ‘ฉันอยากตายไม่อยากอยู่ละ’ ‘ฉันคับข้องใจมาก’ เราจะเห็นแค่ความรู้สึกแต่ไม่เห็นคำตอบที่จริงๆ มันมีอยู่แล้วละว่าคุณอยากจะทำอะไร อยากตัดสินใจแบบไหน
ถ้าเราเป็นเพื่อนที่อยู่ในสถานะที่รับฟังได้ มันก็คือการรับฟังนะที่เราจะช่วยเขาได้ เพื่อสะท้อนให้เขาเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น การรับฟังคือการให้พื้นที่ แต่ไม่ใช่ให้คำแนะนำหรือตัดสิน คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าเราต้องมีคำตอบที่ดีให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำให้เขาสบายใจ แต่คำตอบบางอย่างก็ไม่เป็นรูปธรรม เช่น ‘เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว แกต้องทำใจแล้วละ’ ‘แกต้องปล่อยวางนะ’ เรามักได้ยินคำแนะนำทำนองนี้เยอะนะ มันก็จริงที่เราทำอะไรในสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ แต่การบอกให้ปล่อยวางกับการช่วยให้เขาปล่อยวางได้เป็นคนละเรื่องกันนะ ถ้าบอกให้เขาปล่อยวางต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุผลที่ทำให้เขายังยึดอยู่ทำให้ไม่สามารถปล่อยได้คืออะไร
การทำงานของนักจิตวิทยาจึงไม่ได้บอกว่าเขาควรจะทำอะไร แต่เราช่วยเขาดูว่าเขาติดขัดตรงไหน พอจะปรับเปลี่ยนหรือขยับตรงไหนได้บ้าง ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่เป็นการตัดสินใจของเจ้าตัว เรามีหน้าที่สะท้อนให้เขาเห็นว่า เออ สิ่งที่เขากำลังเป็นอยู่ มันเป็นยังไงนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ยังไง และเกี่ยวข้องกับปัจจัยอะไรบ้างในชีวิตของเขา เพื่อให้เขาเห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นตัวเองหรอกครับ หรือต่อให้เห็นก็เห็นแค่บางส่วน ผมเป็นนักจิตวิทยาเองก็ไม่ค่อยเห็นตัวเอง การมีบุคคลที่สามมานั่งรับฟังเรา สะท้อนเรา มันก็ทำให้เราได้เห็นตัวเองมากขึ้น
ทักษะหนึ่งที่อาจจะเป็นตัวช่วยก็คือ empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) แต่บางครั้งเราไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถเห็นอกเห็นใจบางคนได้ แม้ลึกๆ เราจะรู้ว่ามีปัจจัยอะไรให้เขาเป็นคนแบบนี้ เป็นไปได้ไหมที่เราสามารถเปิดปิดสวิตทักษะนี้
เรียกว่าเป็นภาวะดีกว่า empathy ไม่ได้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานะ แต่เกิดขึ้นเมื่อปัจจัยเหมาะสม เช่นว่าถ้าเราอยากทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งก็ต้องเอาไปแช่เย็น ถูกไหม? นั้นคือภาวะเหมาะสมที่จะทำให้เกิดน้ำแข็ง แต่ถ้าเอาน้ำตั้งไว้กลางห้องแล้วบอกว่าอยากให้เป็นน้ำแข็ง ไม่ได้หรอก ความเห็นอกเห็นใจก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม
ดังนั้น โอกาสที่เราจะเห็นอกเห็นใจคนที่เราเกลียดถึงยากมากๆ เพราะความเกลียดชังขัดขวาง empathy อยู่ หรือให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้กระทำมันยากมากนะ เพราะตอนนี้ความรู้สึกเขาเต็มไปด้วยความคับแค้นใจจากการถูกกระทำ เป็นกลไกตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกนะ
ถ้าเราอยากเกิด empathy ต้องเริ่มจากยอมรับก่อนว่าเราไม่สามารถเกิด empathy ด้วยปัจจัยอะไร เข้าใจปัจจัยก่อน และถ้าเราสามารถกำจัดความโกรธความเกลียดก็จะสามารถเห็นอกเห็นใจเขาได้เอง เพียงแต่ตอนนี้ใจเราเต็มไปด้วยความโกรธ ก็เลยทำไม่ได้เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องไปฝืนตัวเอง แต่หาทางดูแลความรู้สึกเหล่านี้ให้ลดน้อยลง เมื่อถึงจุดหนึ่ง empathy ก็อาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
คนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญความเครียดเช่นกัน แต่มักถูกมองข้าม คือ เด็กและวัยรุ่น คุณสมภพพอจะมีคำแนะนำวิธีรับมือจัดการกับความเครียดให้พวกเขาไหม
ก่อนอื่นต้องรู้ตัวก่อนว่าเครียด แต่ผมไม่ค่อยอยากให้เป็นคำแนะนำกับเยาวชนเพราะว่าจะเป็นภาระเขา พูดตามตรงมันยากมากที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาจัดการความเครียดด้วยตัวเอง เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดมันนอกเหนือการควบคุมเขา เช่น อยู่ในบ้านที่พ่อแม่จู้จี้จุกจิก คอยควบคุมด่าทอคุณ ถามว่าคุณจะหนีไปไหนได้เหรอ? บางคนมาเจอนักจิตวิทยายังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ความเครียดของเด็กจำนวนมากมีปัจจัยเยอะเกินไปและไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคนเขาคนเดียว นักจิตวิทยาอาจแนะนำว่าให้ลองทำแบบนี้สิ ซึ่งอาจจะหายเครียดชั่วคราว แต่สุดท้ายก็เครียดใหม่อยู่ดีเพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดยังคงอยู่
เราถึงต้องเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากกว่าตัวบุคคล บางทีนักจิตวิทยาอาจจะเรียกพ่อแม่มาคุยด้วยถ้าเขายินยอม แต่พ่อแม่บางคนก็ไม่รู้ตัวนะ ว่าตัวเองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกเกิดปัญหาสุขภาพจิต ถ้าพ่อแม่คนไหนเข้าใจก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ลูกดีขึ้น แต่ถ้าไม่ แล้วมองว่า ‘ปัญหาอยู่ที่ลูก ลูกต้องไปรักษาไปบำบัด’ ไปที่ไหนก็ไม่หายหรอกครับ เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าปัญหาไม่ใช่ของลูกคนเดียว มันเหมือนปัญหาของปัจเจกมันไม่เคยเป็นของเขาคนเดียวเลยนะ มันเป็นภาพสะท้อนปัญหาทางสังคม แต่มันอาจจะไกลเกินกว่าที่จะไปถึง เราเลยต้องตั้งต้นที่ปัจเจกก่อน
ผมไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะพ่อแม่นะที่ทำให้ลูกมีปัญหา เพียงแต่อยากสื่อสารว่าให้มองปัญหาว่าไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง
ความเครียดของลูกไม่ใช่แค่ปัญหาของลูกที่เกิดจากตัวลูก แต่เป็นปัญหาของทุกคนในครอบครัวที่ต้องช่วยกันและไม่มองว่าเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง
คุณสมภพเคยพูดถึงบทบาทของผู้ให้คำปรึกษาที่เปลี่ยนไป โดยปกติคนกลุ่มนี้จะทำงานเชิงปัจเจก คือแก้ไขตัวเอง คุณสมภพตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มทำงานเชิงระบบมากขึ้น เพราะอะไรถึงสนใจประเด็นนี้
ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง เรามีหน้าที่ต่อสังคมอยู่แล้ว อันดับแรก คือ การสำนึกรู้ว่าเรามีพื้นที่สาธารณะที่รับผิดชอบร่วมกัน การที่คุณไม่ไปทิ้งขยะหน้าบ้านคนอื่น ก็ถือว่าคุณรับผิดชอบต่อสังคมแล้วนะ หรือเห็นอะไรไม่ดี ไฟถนนเสียแล้วแจ้ง นี่คือการทำหน้าที่พลเมืองคนหนึ่ง นักจิตวิทยาก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง เจออะไรที่ไม่โอเคที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคน ผมว่าเราก็สามารถทำหน้าที่ได้เลย
ส่วนสเต็ปที่มากไปกว่านั้นในขอบเขตของนักจิตวิทยา ผมว่าคงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ในสถาบันการศึกษาเลยก็ได้ ซึ่งผมว่าขาดอยู่เยอะ เพราะไม่ได้มีวิชาจิตวิทยาในหลักสูตรของกระทรวงศึกษา ไม่ได้มีการสอนให้เด็กเข้าใจและจัดการอารมณ์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้งานที่ผมคิดว่าเรายังเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมจริงๆ อย่างเช่นการรณรงค์เชิงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เราควรดูว่าสิ่งทั้งหลายที่เกิดในสังคมมีโอกาสกระทบกับความรู้สึกผู้คนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบาย ระเบียบแบบนี้มันส่งผลต่อสุขภาพจิตประชาชนหรือเปล่า ส่งเสริมหรือทำให้คนแย่ลง ถ้ามันส่งผลเราก็ควรที่จะเรียกร้องได้นะ คุณไม่ควรทำแบบนี้มันทำให้คนเรามีปัญหาทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในแง่การบริหาร ผลักดันออกนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพจิตประชาชนมากขึ้น ที่ต่างประเทศเขาตระหนักรู้เรื่องนี้กันมากนะ เรื่องสุขภาพจิตอยู่ในทุกๆ อณูของชีวิตเรา ดังนั้น ทุกๆ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน คุณควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเข้าไปให้คำแนะนำด้วย เพราะนโยบายที่ออกมาแล้วไม่คำนึงถึงมิติจิตใจมันส่งผลกระทบได้นะ แม้กระทั่งนโยบายการเยียวยาที่ตั้งใจทำเพื่อช่วยเหลือคน แต่หากคุณทำให้มันซับซ้อนเกินไป ก็จะทำให้คนที่ทุกข์อยู่แล้วทุกข์ยิ่งกว่าเดิม
ถ้าเรามีความรู้ด้านสุขภาพจิตจะรู้ว่า เฮ้ย ในภาวะแบบนี้คุณควรจะทำให้มันง่ายที่สุด ซับซ้อนน้อยที่สุด ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ไม่ใช่ไปกีดกันสร้างความซับซ้อนเพื่อป้องกันคนที่ไม่เกี่ยว ไม่มีสิทธิ์ แต่คุณอาจลืมไปว่าพอมันซับซ้อนมันก็กระทบกับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ
นอกจากโควิด – 19 ที่ทำให้เรามีปัญหาสุขภาพจิต ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ส่งผล
เพราะปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าตัว ‘ฉันคิดไม่ดี เลยมีปัญหาทางจิตใจ’ แต่เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมพอสมควรเลยนะครับ ซึ่งเราจะละเลยปัจจัยเหล่านี้เพราะมองว่าควบคุมไม่ได้ โอเค บางอย่างอาจควบคุมไม่ได้จริงๆ เลยเริ่มตั้งต้นแก้ไขที่ตัวเราเอง กลายเป็นว่าพอเรามาหมกหมุ่นกับตัวเอง เกิดความรู้สึกว่าเราแย่ ลืมมองว่าข้างนอกมีผลยังไง ฉะนั้น มองให้รอบด้านที่สุด ค่อยๆ ทำงานกับมันไปที่ละส่วนเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่าที่ชีวิตตอนนี้เอื้ออำนวย
การมีรัฐสวัสดิการที่ดีก็อาจเป็นตัวช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตไปได้
ต้องบอกว่าใช่ครับ แต่ถามว่าปัญหาจะหมดไปไหม คงไม่หรอก เพราะนี่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น การมีสวัสดิการที่ดี จะทำให้ไม่เราต้องมานั่งกังวลเรื่องเจ็บป่วย หรือปัญหาปากท้อง เพราะถ้าคุณยังมีปัญหาเหล่านี้คุณคงไม่มีเวลามาคำนึงว่า ‘คุณเกิดมาทำไม’ ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายในชีวิต หรือหางานที่ทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่า เพราะเรื่องจำเป็นที่สุดของคุณ คือ หาเงินเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน
ฉะนั้น การมีสวัสดิการทำให้คนไม่ต้องมาเครียดในเรื่องเหล่านี้ จะได้มีเวลามาครุ่นคิดเรื่องอื่นมากขึ้น มีเวลามาสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ หรืออาจค้นพบและจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ
นอกเหนือจากสิ่งที่ได้พูดคุยกันไปแล้ว คุณสมภพมีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม
ขอพูดเรื่องบริการสุขภาพจิตในประเทศไทยแล้วกันครับ บริการนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร แม้คุณตระหนักรู้ว่าตัวเองมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ แต่การมาพบนักจิตวิทยาก็ไม่ง่ายเลยนะ ตามโรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้มีนักจิตวิทยาทุกแห่ง หรือไปโรงพยาบาลเฉพาะทางก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้พบนักจิตวิทยา ด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน คือคุณต้องให้หมอวินิฉัยว่าคุณเป็นโรคอะไร ตัดสินใจว่าควรรักษาด้วยวิธีไหน ทานยาหรือคุยกับนักจิตวิทยา
บางคนเลยเลือกมาเอกชนเพราะง่ายกว่าไม่ซับซ้อน แต่ข้อจำกัด คือ เป็นบริการที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำประเทยไทย สมมติมาเจอนักจิตวิทยาที่ Knowing Mind ครั้งหนึ่ง คุณต้องทำงาน 5 วัน ถามว่าจะมีใครที่มาเจอได้ ก็มีแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง
อาจจะมีบริการฟรี สายด่วนต่างๆ หรือองค์กรการกุศล ซึ่งเป็นความช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะอาจไม่ได้ทำโดยนักวิชาชีพหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอ ถ้าต้องการเจอนักวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งปัญหาสุขภาพจิตไม่เหมือนปัญหาร่างกายที่พอจะประเมินได้ อ้อ คุณขาหัก ต้องใช้เวลาเท่าไรกว่ากระดูกจะต่อเหมือนเดิม แต่ปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถบอกไม่ได้แน่ชัด การที่คนคนหนึ่งจะปรับเปลี่ยนความคิด มุมมองใหม่ กรอบเวลาก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ไม่ได้สรุปแน่ชัดว่าคุยแล้วต้องคุยอีกกี่ครั้ง ฉะนั้น การทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตให้ง่ายที่สุดคงจะดีครับ