- การจัดการเรียนรู้ที่ใช้ความรู้วิชาพื้นฐานประยุกต์กับวิชาชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนและนักเรียน โดยเริ่มจากผอ.สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เพื่อเปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร โดย วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน
- ภายใต้ School Concept ‘นักนวัตกรเชิงวิถี’ หรือ TK Bio-culture & Innovation School พัฒนานักเรียนให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคม และโลกได้อย่างสร้างสรรค์
- “เรามองภาพว่า เด็กของเราต้องมีคาแรกเตอร์ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเรียนรู้การเป็นนักนวัตกรน้อย นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ หรือนักธุรกิจน้อยด้วย จึงกลายมาเป็น DOL ของเรา และพัฒนาเป็นสมรรถนะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน สำคัญคือ สมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก กับ สมรรถนะของโรงเรียน”
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนวัดตาขัน
จากฐานทุนชุมชนและทุนโรงเรียนที่มี วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน เห็นความสำคัญในการใช้ความรู้วิชาพื้นฐานมาประยุกต์กับวิชาชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนและนักเรียน โดยเริ่มจากผอ.สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เพื่อเปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร
และในสถานการณ์โควิด-19 ที่การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นไปได้ยากนี้ ผอ.ใช้การบูรณาการหลักสูตรที่มีให้เข้ากับวิกฤต รวมถึงพยายามแก้ปัญหาความไม่พร้อมที่จะเรียนออนไลน์ของเด็กตาขัน ขณะเดียวกันก็พัฒนาครูไปด้วย โดยผอ.วิชัย ได้แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
เรียนรู้จากฐานทุนชุมชน ปั้น ‘นวัตกรน้อยเชิงวิถี’
สำหรับการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนวัดตาขัน เริ่มจากการสำรวจและวิเคราะห์ฐานทุนของโรงเรียน ทุนชุมชน โดยพบว่า ชุมชนจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแม่น้ำไหลผ่าน มีวัด และยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพอสมควร และในอนาคตอันใกล้ระยองจะกลายเป็นพื้นที่ของ EEC และ Smart city ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผอ.วิชัย กลับมาครุ่นคิดก็คือ จะสร้างหรือเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างไร
“เรามองภาพว่า เด็กของเราต้องมีคาแรกเตอร์ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเรียนรู้การเป็นนักนวัตกรน้อย นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ หรือนักธุรกิจน้อยด้วย จึงกลายมาเป็น DOL ของเรา และพัฒนาเป็นสมรรถนะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน สำคัญคือ สมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก กับ สมรรถนะของโรงเรียน”
โดยสมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสี่อสารและความเป็นไทย, คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน, การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์, การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
ส่วนสมรรถนะของโรงเรียน เน้นไปที่การจัดการตนเองเพื่อพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง, การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและสารสนเทศ, การเป็นนวัตกรสร้างสรรค์, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการเป็นผู้ประกอบการแบบร่วมมือกับผู้อื่น
“จากการวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ ทำให้เรามาสุรปเป็น School Concept หรือ Vision (วิสัยทัศน์) ว่า เราจะพัฒนานักเรียนโรงเรียนวัดตาขันให้เป็น ‘นักนวัตกรเชิงวิถี’ หรือ TK Bio-culture & Innovation School มุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นสมาร์ทคิดส์ ให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคม และโลกได้อย่างสร้างสรรค์ ถ้าเรามองดูดีๆ มันจะวิ่งไปหา DOL ของชาติ 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใฝ่รู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง”
อนุบาลเรียนรู้ผ่าน ‘ฤดูกาล’ บ้านเรา
แล้วในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ เด็กตาขันเรียนรู้อย่างไร? ผอ.วิชัย ให้คำตอบว่า ออกแบบการเรียนการสอน โดยเน้นการบูรณาการวิชาชุมชนกับวิชาพื้นฐานที่เด็กควรได้รับ บนฐานสมรรถนะที่โรงเรียนวางไว้
“จากสมรรถนะของเราจึงได้เป็นโครงสร้างสัดส่วนเวลาเรียนและกลุ่มวิชาตามระดับชั้น โดยจัดการเรียนการสอนผ่าน Learning Area 4 ลักษณะ คือ กิจวัตรในชีวิตประจำวัน, วิชาพื้นฐาน, การบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง และระบบคุณค่าชีวิต”
ในระดับอนุบาลเป็นเรื่องกิจวัตร เช่น งานบ้าน การรับประทานอาหาร, การบูรณาการ งานสวน งานครัว งานเล่น และจิตศึกษาสะท้อนการเรียนรู้ เป็นต้น รวมถึงการคิด อ่าน เขียน เช่น ฟังนิทาน และกิจกรรมเสรี ที่เน้นการเคลื่อนไหวและจังหวะ
โดยมีแนวคิดการเรียนรู้ คือ การดูแลและจัดการตัวเองในชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และการออกภาคสนามหรือสำรวจแหล่งเรียนรู้
“ในวิชาบูรณาการเราจะจัดการเรียนการสอนโดยใช้ธีม ‘ฤดูกาล’ การบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง อย่างเช่น ฤดูฝน ก็จะเป็น ‘ฝนมาพาชุ่มฉ่ำใจ’ หรือ ฤดูหนาว ‘ห่มใจคลายหนาว’ ทั้งหมดนี้เป็นของภาคปฐมวัย”
ประถมศึกษา บูรณาการคุณค่าสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง
มาถึงการจัดการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนวัดตาขัน ซึ่งออกแบบโครงสร้างเวลาเรียนและกลุ่มสาระการเรียนรู้ อย่างวิชาพื้นฐานไทย อังกฤษ คณิตฯ วิทย์, วิชาบูรณาการคุณค่าสู่ชีวิต, วิชาสุขภาวะกายจิต และทักษะชีวิต (กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน)
โดยวิชาบูรณาการมีแบ่งเป็นธีม Rayong MARCO หรือการบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียงโคก หนอง นา @ตาขัน และ Alternative Maker โดยมีชื่อชุดวิชาว่า TK-Alternative Maker เน้นการเป็นนักประดิษฐ์และนักสร้างสรรค์
“วิชาบูรณาการของประถมศึกษา ถ้าเป็นกลุ่ม Rayong MARCO ป.1-3 จะเป็นสไตล์นักสืบตัวจิ๋ว เช่น เรื่องธรรมชาติรอบตัว สายน้ำแห่งเมตตา บ้านค่ายบ้านฉัน ส่วนป.4-6 เป็นอารยเกษตรน้อย เช่น ยุวกสิกรรม ทรัพย์ในดิน young smart farmer”
สำรวจผู้เรียน จัดกลุ่มย่อยเรียนรู้ในวิกฤต แบบ 4 ออน
“พื้นที่ระยองเราไม่สามารถเรียนในรูปแบบออนไซต์ได้ ดังนั้นเราจึงมาเริ่ม Set up กลุ่มนักเรียนก่อน วิเคราะห์สภาพความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของนักเรียนแต่ละคน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ สำรวจการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนโรงเรียนวัดตาขัน”
โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนได้ 4 กลุ่มย่อย ตามความพร้อมในการเรียนของเด็ก และครูให้ความช่วยเหลือแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม ได้แก่
กลุ่มสีเขียว คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีความพร้อมทั้งเด็กและผู้ปกครอง สามารถเรียนได้ทั้ง Online, On-Hand และOn-Demand ผ่านทาง DLTV ในช่องทางต่างๆ
กลุ่มสีเหลือง คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาค่าบริการอินเทอร์เน็ต ทางโรงเรียนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และแนะนําแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต
กลุ่มสีชมพู คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้สมาร์ทโฟนผู้ปกครอง และต้องรอเวลาที่อยู่กับผู้ปกครอง กลุ่มนี้จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน On-Hand และOn-Demand
กลุ่มสีแดง คือ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีสมาร์ทโฟน ฐานะยากจน นักเรียนกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ จึงต้องใช้รูปแบบ On-Hand เท่านั้น โดยคุณครูสื่อสารผ่านการโทรศัพท์ให้เด็กมารับเอกสารพร้อมอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้เด็กสามารถนำใบงานกลับไปทำที่บ้านได้ และครูคอยติดตามผล
“ในหนึ่งวันของการเรียนออนไลน์ เรา Set up ไว้วิชาละ 2 ชม. วันหนึ่งเรียน 2 วิชา และมีหนึ่งวันเต็มๆ ที่เป็นวิชาบูรณาการ (PBL) นำธีมที่ออกแบบไว้มาปรับรูปแบบใหม่”
ผอ.จุดประกายครูสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ผ่านวง PLC
ในส่วนของครูโรงเรียนวัดตาขัน ผอ.วิชัย เล่าว่า มีการสำรวจพื้นฐานความถนัดและความต้องการของครู ตั้งแต่ความเข้าใจโครงสร้างหลักสูตร การจัดทำพฤติกรรมบ่งชี้ระดับสมรรถนะ การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบ OLE เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครูมองเห็นว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมบ้าง โดยแลกเปลี่ยนกันในวง PLC
สำหรับกระบวนการ PLC โรงเรียนวัดตาขันจัดทำ Model PLC นิเทศออนไลน์แบบกัลยาณมิตร สู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยแบ่งเป็น 3 วงย่อย
1. ร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (BAR) ด้วยระบบไตรยางค์ (OLE) ในรายวิชาพื้นฐานและบูรณาการให้สอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ (O) กระบวนการเรียนรู้ (L) และการวัดผล (E)
2. การสังเกตการสอนของครู (CRC) โดยโค้ชซึ่งในที่นี้คือผอ. และเพื่อนครูด้วยกัน เก็บบันทึกวิดีโอการสอนและอาการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำไปสะท้อนการเรียนรู้ โดยผู้สังเกตจะไม่เข้าไปแทรกแซงการสอนของครู
3. การสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (AAR) กับแผนการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มีสิ่งใดต้องปรับปรุง ครูได้รับประสบการณ์ใหม่อะไรและจะนำไปใช้อย่างไร บันทึกลงในแบบบันทึก PLC จากนั้นก็เริ่มกระบวนการใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
“จากการจัดการเรียนการสอนตามแผนบูรณาการที่เล่ามา นักเรียนระดับปฐมวัยได้รับการพัฒนาตามวัย โดยครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ Theme ฤดูกาล เรียนรู้ที่บ้านร่วมกับผู้ปกครอง และเริ่มจัดการเรียนออนไลน์ได้บ้าง เด็กเริ่มคุ้นชินกับการใช้สื่อออนไลน์ และเด็กได้ฝึกวินัย การช่วยเหลือตนเอง ผ่านกิจวัตรประจำวันร่วมกับผู้ปกครอง”
และในกลุ่มประถมศึกษา จากการบูรณาการ Theme อารยเกษตรกรน้อยสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียงโคกหนองนา@ตาขัน นักเรียนได้บูรณาการนำเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ในการดำเนินชีวิต ฝึกทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมประจำวัน สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตนี้
“ส่วนผู้ปกครองเราก็มีการสื่อสารกันในช่วงต้น มีการจัดประชุมผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจในการเรียนรู้ของเด็กในสถานการณ์นี้และให้ความร่วมมือในการดูแล ช่วยเหลือ โดยจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์อย่างมีคุณภาพ” ผอ.วิชัย ทิ้งท้าย