- ชวนดูกระบวนการจัดการเรียนการสอนจากโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนบ้านปะทาย ในงานเสวนา ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’
- “เราเคยให้เด็กทุกชั้นเรียนแบบ on hand อย่างเดียว พบปัญหาตอน reflection (สะท้อนความคิด) หนึ่ง – เด็ก ผู้ปกครองบางคนใช้อุปกรณ์ไม่เป็น ส่งงานทางไลน์ไม่ได้ สอง – การส่งงาน เราไม่แน่ใจว่าเด็กทำเองจริงๆ ไหม เพราะมีลายมือผู้ปกครองด้วย บางทีแม่หงุดหงิดเมื่อไรลูกจะเขียนเสร็จ ก็เลยเขียนแทน หรือบางทีส่งงานไปถามว่าเด็กทำได้หรือไม่ ผู้ปกครองเองก็รู้สึกทรมาน”
- การทำวง PLC ทำให้ได้ไอเดียการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นฐาน อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ ครูต้องปรับงานเด็กให้น้อยลง โดยวิเคราะห์ว่าอะไรคือความรู้จำเป็นที่เด็กสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เน้นทักษะสมรรถนะที่จำเป็นกับเด็ก
เด็กขาดเครื่องมือ และผู้ปกครองต้องทำงานไม่สามารถดูแลลูกแบบเต็มเวลา
โจทย์ในการจัดการศึกษาช่วงโควิด – 19 ของโรงเรียนบ้านปะทาย โรงเรียนขยายโอกาส พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ
จากโจทย์ดังกล่าวผู้อำนวยการโรงเรียนและครูทุกคนร่วมมือหาทางออก และได้มาแชร์ประสบการณ์ผ่านงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา
วัตถุประสงค์งานเสวนาเพื่อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตนี้ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ครั้งนี้นำโดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและโรงเรียนในเครือข่ายพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนบ้านปะทายและโรงเรียนบ้านกระถุน
ครูเอ๋ – ปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์ ครูชั้นประถมศึกษา ตัวแทนจากโรงเรียนบ้านปะทาย แชร์ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นด้วยการเล่าปัญหาที่บ้านปะทายเจอคล้ายกับโรงเรียนอื่นๆ นั่นคือ สถานการณ์ตอนนี้ทำให้ครูและนักเรียนมีปฎิสัมพันธ์น้อยลง ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งนักเรียนบ้านปะทายส่วนใหญ่จะชินกับการเรียนที่ใกล้ชิดครู เมื่อต้องเรียนที่บ้าน เด็กเกิดความรู้สึกว่า “จะเรียนไปทำไม” ไม่เห็นคุณค่าในการเรียนแล้ว เพราะรู้สึกว่าอยู่บ้านมีชีวิตที่เป็นอิสระ ส่วนผู้ปกครองเองต้องไปทำงาน ไม่สามารถดูแลลูกได้เต็มเวลา ต้องให้ญาติคนอื่นๆ แทน เกิดความยากตรงที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าต้องสอนเด็กยังไง
“เราเคยให้เด็กทุกชั้นเรียนแบบ on hand อย่างเดียว (ส่งใบงานให้ทำที่บ้าน) พบปัญหาตอน reflection (สะท้อนความคิด) หนึ่ง – เด็ก ผู้ปกครองบางคนใช้อุปกรณ์ไม่เป็น ส่งงานทางไลน์ไม่ได้ ครูก็สอนการใช้อุปกรณ์ สอง – การส่งงาน เราไม่แน่ใจว่าเด็กทำเองจริงๆ ไหม เพราะมีลายมือผู้ปกครองด้วย บางทีแม่หงุดหงิดเมื่อไรลูกจะเขียนเสร็จ ก็เลยเขียนแทน หรือบางทีส่งงานไปถามว่าเด็กทำได้หรือไม่ เด็กส่งแต่สติ๊กเกอร์ยกนิ้วโป้งหรือไม่ก็ร้องไห้ เราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นยังไง ผู้ปกครองเองก็รู้สึกทรมาน” ครูเอ๋ กล่าว
ทั้งโรงเรียนจึงต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร พวกเขาใช้เครื่องมือ PLC ( Professional Learning Community) ในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางแผนสร้างกระบวนการทุกๆ วันอังคารและพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เมื่อครูไม่สามารถดูแลเด็กได้แล้ว ต้องปล่อยให้ผู้ปกครองเป็นคนดูแล หาวิธีการสนับสนุนให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา และช่วยเตรียมผู้ปกครองให้สามารถจัดการเรียนรู้ให้ลูกได้
จัดตารางเรียน On hand Vs On site
แนวทางของโรงเรียนบ้านปะทาย เริ่มจากจัดตารางเรียนใหม่ทั้งหมด โดยชั้นมัธยมศึกษาจะเรียนแบบ on hand เต็มรูปแบบ เพราะด้วยวัยที่โตสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ประมาณหนึ่ง ส่วนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาเป็นแบบ on hand สลับ on site
“ครูจะนัดผู้ปกครองมาเรียนกับลูกเลย เอาวันที่เขาว่าง ช่วงเสาร์ – อาทิตย์ เพื่อผู้ปกครองจะได้เห็นว่าครูสอนลูกยังไง เอาไปสอนลูกต่อเองได้ การสั่งงานจะสั่งผ่านไลน์ ส่วนการให้ feedback (ข้อคิดเห็น) จะมีทั้งในไลน์ แชทส่วนตัว สามารถส่งมาคุยกับเราได้ตลอดเวลา” ครูเอ๋ กล่าว
เลือกเฉพาะเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กเวลานี้
เมื่อแก้ปัญหาตารางเรียนได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสั่งงาน ถือเป็นโจทย์หินท้าทายครูเกือบทุกคน เรามักเห็นในโลกโซเซียลที่เด็กๆ ต่างบอกว่าภาระงานที่เยอะ เพิ่มความยากลำบากในการเรียนยิ่งขึ้น ครูเอ๋เล่าว่า เคยทำวง PLC กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทำให้ได้ไอเดียการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นฐาน อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ ฉะนั้น ครูต้องปรับงานเด็กให้น้อยลง โดยวิเคราะห์ว่าอะไรคือความรู้จำเป็นที่เด็กสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เน้นทักษะสมรรถนะที่จำเป็นกับเด็ก ได้ออกมาเป็นเป้าหมายการพัฒนาเด็กแต่ละระดับชั้น
- ระดับอนุบาล เน้นพัฒนาการด้านตัวตน (Self) และ EF (สมองส่วนหน้า)
- ระดับประถม เน้น Literacy อ่านออกเขียนได้ ผสมผสานทักษะชีวิตโดยความร่วมมือจากผู้ปกครอง
- ระดับมัธยม เน้นงานน้อย ความรู้มาก สัมผัสประสบการณ์ชีวิต
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ครูเอ๋ยกตัวอย่างการปรับแผนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ของเธอ จากแผนเดิมที่คิดสำหรับการเรียนในห้อง สู่แผนใหม่ในสถานการณ์นี้ ครูเอ๋กำลังสอนเรื่องจำนวนที่มีค่ามาก เธอวิเคราะห์ว่าประเด็นสำคัญที่เด็กควรจะรู้จากเรื่องนี้คืออะไร เช่น เด็กต้องอ่านตัวเลขได้ รู้จักหลักเลข รู้จักค่าประมาณ
“ครูเอ๋ก็ดูเลยว่า จำนวนที่มีค่ามากที่สุดตอนนี้ที่ใกล้ตัวเขาคืออะไร เอาจำนวนผู้ติดโควิด – 19 มาเชื่อมให้เขารู้จักอ่านตารางเปรียบเทียบจำนวน จากนั้นออกแบบใบงานทำให้เด็กเข้าใจว่าครูอยากให้เขาเรียนอะไร คล้ายๆ เป็นคำถามเชื่อม หรือตอนสอนเรื่องค่าประมาณ ให้โจทย์เด็กว่าต้องพาคนไปเที่ยวทั้งหมด 4 คน ไปที่ไหนก็ได้ ให้ทำตารางค่าใช้จ่ายว่ามีอะไรบ้าง เด็กก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและเขียน list มาให้เรา เช่น ค่าน้ำมัน 1,000 กิโลเมตร 4,000 บาท ไปกลับเท่านี้นะ สุดท้ายได้ออกมาเป็นค่าประมาณการ” ครูเอ๋ กล่าว
Feedback ทำให้ง่ายที่สุด ‘เตาะแตะ’ ‘ใกล้แล้วนะ’ ‘แจ๋ว’
ในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากจะต้องปรับรูปแบบการเรียนรู้แล้ว การให้ feedback หรือการวัดประเมินผลจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้เด็กรู้ว่าศักยภาพตอนนี้ของตนเองเป็นอย่างไร ได้สมรรถนะอยู่ระดับไหน ควรมีแนวทางพัฒนาต่ออย่างไร แนวทางที่ง่ายที่สุดคือ ใช้คำประเมินที่เข้าใจง่ายๆ
ครูเอ๋อธิบายว่า เวลาทำรายงานต้องใช้ภาษาทางการ เช่น ปรับปรุง พอใช้ ดีมาก ฯลฯ คำไม่สามารถกระตุ้นพลังเด็กได้มากพอ เธอเลือกใช้คำง่ายๆ ให้ผู้ปกครองและเด็กเข้าใจ เช่น เตาะแตะกำลังหัดเดิน ใกล้แล้วนะ ทำได้แล้ว แจ๋ว ฯลฯ ทำให้เด็กมีพลัง ได้เห็นเป้าหมายตัวเองว่าต่อไปฉันต้องทำได้ระดับเท่านี้นะ
วง PLC ตัวช่วยสำคัญ
ตลอดการแชร์ประสบการณ์ ครูเอ๋มักย้ำถึงวง PLC เครื่องมือที่เป็นประโยชน์มาก ไม่ว่าจะใช้ทำงาน แชร์ความคิดเห็น สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของครูในโรงเรียน รวมถึงเป็นพื้นที่ให้กำลังใจและส่งพลังในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งวิธีที่จะทำให้วง PLC มีคุณภาพ คือการกำหนดประเด็นให้ชัดเจนว่าวันนี้จะคุยเรื่องอะไร เช่น วิธีเขียนแบบประเมินความก้าวหน้า และให้ทุกคนโฟกัสที่ประเด็นนี้จนสำเร็จลุล่วง
แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือการยึดผู้เรียนเป็นหลัก ในเวลานี้ที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาต่างเข้ามารุมเร้า หากครูและโรงเรียนเข้าใจพวกเขา ช่วยทำให้การเติบโตในช่วงเวลาวิกฤตนี้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้