- จากงานฝืมือสตรีชาววังสู่แหล่งความรู้ที่คนทั่วๆ ไปอย่างเราก็สามารถตักตวงได้ ต่อยอดเป็นอาชีพได้ หรือมาค้นหาความชอบของตัวเองได้
- โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) เปิดสอนทั้งหมด 3 แผนก คือ อาหาร จัดดอกไม้ และปักสะดึง โดยรับเฉพาะนักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากสถานที่เรียนเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ตามกฎเดิมห้ามผู้ชายเข้าออกเด็ดขาดและปัจจุบันยังคงธรรมเนียมนี้อยู่
- ข้อดีคือ ผู้เรียนไม่ต้องเสียเงินเรียน เสียเฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เรียน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน แต่ละแผนกจะเริ่มสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน อย่างแผนกอาหารจะสอนตั้งแต่การหั่น ซอย การรู้จักกับวัตถุดิบชนิดต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการทำอาหาร โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี เมื่อจบจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองว่าได้ผ่านการเรียนหลักสูตรที่นี่
เวลาดูละครพีเรียดไทย ตัวละครฝ่ายหญิงถ้าไม่ได้มีบุคลิกแก่นแก้ว หัวก้าวหน้า ไม่ยอมอยู่ในกรอบ ก็จะเป็นผู้หญิงที่ได้ 100 คะแนนเต็มด้านคุณสมบัติกุลสตรีไทยที่ต้องมีเสน่ห์ปลายจวักทำอาหารเก่ง เย็บปักถักร้อยประดิษฐ์ได้ทุกอย่าง รวมถึงบุคลิกเงียบสงบเย็นเป็นน้ำ ใครอยู่ใกล้ก็สบายใจ
และจุดร่วมของตัวละครประเภทหลัง คือ ต้องเป็นสาวชาววัง เพราะแน่นอนว่าในยุคนั้นคงไม่ได้มีโรงเรียนมาเปิดสอนกันหลากหลายเหมือนทุกวันนี้ ถ้าคุณอยากจะมีความรู้ มีคุณสมบัติของการเป็นกุลสตรีที่ดีก็ต้องเข้าวังไปอยู่รับใช้เจ้านาย
แต่ไม่ใช่ว่าอยากเรียนแล้วเดินไปขอจะได้เรียนเลย เพราะครอบครัวต้องมีฐานะหรือมีคนรู้จักอยู่ในวังถึงจะสามารถส่งลูกหลานเข้าไปได้ แต่ ณ วันนี้เราอยากจะเรียนอะไรมีคอร์สเปิดสอนให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว หรือเปิด Google ค้นใน Youtube เรียนโดยไม่ต้องเสียเงินก็ยังได้ หรือถ้าอยากเรียนกับต้นฉบับโดยตรง เราก็สามารถเข้าไปเรียนรู้งานฝีมือแบบสาวชาววังได้สบายๆ ที่ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)
บทความชิ้นนี้เราจะพาทุกคนไปซิทอินนั่งพับเพียบเข้าเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ทั้ง 3 แผนก ทำอาหาร จัดดอกไม้ และปักสะดึง
เสน่ห์ปลายจวัก
แน่นอนว่าแผนกแรกที่เราขอไปเรียน คือ อาหาร (กองทัพต้องเดินด้วยท้องถูกไหม?) ห้องเรียนของเราในวันนี้หน้าตาเป็นห้องสี่เหลี่ยมทั่วไปที่ภายในเต็มไปด้วยอุปกรณ์ครัววางเรียงรายอยู่ด้วยกัน 3 ห้อง มีครูดรุณี – จักรพันธุ์ ครูสอนประจำแผนกมากว่า 30 ปี ยืนรอต้อนรับเรา
ภาพแรกที่เราเห็นในแผนกนี้ คือ นักเรียนทุกคนกำลังจดจอง่วนกับงานตรงหน้า บางก็จับกลุ่มนั่งกวนอะไรบางอย่างในกระทะทองเหลือง บางก็จับกลุ่มหั่นของบนโต๊ะ เมื่อถึงเวลาเรียนครูดรุณีเรียกทุกคนรวมตัวบริเวณโต๊ะตัวยาวกลางห้อง โดยบทโต๊ะวางวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร ประเมินผ่านสายตาคร่าวๆ มีของที่เราพอรู้จักอยู่อย่างเนื้อหมู เกลือ น้ำมัน นมข้นหวาน น้ำปลา ไปจนถึงวัตถุดิบที่หน้าตาไม่คุ้นเคย น่าจะเป็นพวกเครื่องเทศ
“วันนี้เราจะเรียนทำสะเต๊ะลือ” เสียงจากครูดรุณีที่ช่วยไขข้อสงสัยเราว่าส่วนประกอบบนโต๊ะใช้ทำเมนูอะไร
ครูดรุณีเริ่มต้นการสอนด้วยการอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของเมนูจานนี้ว่า เริ่มจากพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีรับสั่งว่าอยากเรียนทำอาหารชวา ให้คนช่วยจัดหาคนมาสอน ก็ได้พ่อครัวชาวชวามาสอนทำอาหารหลายชนิดให้กับพระวิมาดาเธอฯ และข้าหลวงคนอื่นๆ ในวัง สะเต๊ะลือก็เป็นหนึ่งในจานดังกล่าวและเป็นจานที่มีชื่อเสียง ซึ่งสูตรที่จะสอนวันนี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากการจดบันทึกของหม่อมหลวงเนื่อง นิตรัตน์
เมื่อรู้ประวัติเรียบร้อย ครูดรุณีก็เริ่มขั้นตอนต่อไป คือ สอนทำสะเต๊ะลือ โดยเริ่มจากตำส่วนผสมที่ใช้หมักหมู ได้แก่ ลูกผักชี ยี่หร่า หอมแดง เสร็จแล้วนำไปหมักกับหมูพร้อมใส่เครื่องปรุงเกลือ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ผงขมิ้น เหล้า นมข้นหวาน และเนย (วัตถุดิบสองอย่างหลังบางคนคงสงสัยว่าในยุคนั้นมีแล้วเหรอ ครูดรุณีให้คำตอบว่าเป็นวัตถุดิบที่มีในไทยมานานแล้ว นำเข้ามาโดยชาวชวาในไทยที่บริโภคของเหล่านี้ ถ้าใครคุ้นเคยกับสำนวน ‘ขนมนมเนย’ ก็มาจากการใช้วัตถุดิบดังกล่าว)
ระหว่างที่นักเรียนกำลังเคล้าเนื้อหมูกับเครื่องปรุง ครูดรุณีก็อธิบายต่อว่า ถ้าตามสูตรดั้งเดิมเลยคนโบราณจะนิยมใช้เนื้อวัวในการทำสะเต๊ะลือ แต่ปัจจุบันคนกินเนื้อน้อยลง สะเต๊ะลือปรับเปลี่ยนมาใช้เนื้อไก่หรือหมูแทน
เมื่อหมูได้ที่แล้วก็ใช้เวลาหมักประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ก่อนนำไปเสียบกับไม้ทางมะพร้าวและย่างไฟให้สุก เป็นอันเสร็จส่วนประกอบพาร์ทแรก ส่วนประกอบพาร์ทถัดไปของเมนูนี้ คือ น้ำจิ้ม บางคนรวมถึงเราคงคิดว่าน้ำจิ้มจะเป็นแบบน้ำจิ้มถั่วที่เราใช้กินกับสะเต๊ะ แต่กลับไม่ใช่ เพราะมันเป็นน้ำจิ้มใสๆ ที่ใส่ผักต่างๆ คล้ายๆ กับอาจาด โดยน้ำจิ้มของสะเต๊ะลือมีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ หอมแดง แครอท นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นอันเสร็จเมนูจานนี้
ระหว่างรอเรียนเมนูถัดไป เรามีโอกาสชวนครูดรุณีคุยต่อ ครูก็เล่าประวัติโรงเรียนให้เราฟังว่า เริ่มจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอยากถ่ายทอดความรู้งานฝีมือสตรีให้คนทั่วไปได้รู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตัวเอง ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการบูรณะสถานที่ในวังบางส่วน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ขอใช้สถานที่บริเวณอาคารเรือนห้องเครื่องของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งอยู่ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน ของพระบรมมหาราชวัง ก่อตั้งเป็นโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)* เมื่อปี 2529
ที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) จะเปิดสอนทั้งหมด 3 แผนก คือ อาหาร จัดดอกไม้ และปักสะดึง โดยรับเฉพาะนักเรียนหญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากสถานที่เรียนเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ตามกฎเดิมห้ามผู้ชายเข้าออกเด็ดขาดและปัจจุบันยังคงธรรมเนียมนี้อยู่ ซึ่งถ้าใครสนใจอยากเข้าเรียนสามารถติดต่อการเปิดรับสมัครได้ที่เพจของโรงเรียน
ขั้นตอนสมัครไม่ยุ่งยาก ยื่นใบสมัครและรอเรียกสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์จะขึ้นอยู่กับแต่ละแผนกว่าอยากได้นักเรียนแบบไหน ส่วนใหญ่เน้นคนที่อยากเรียนจริงๆ มีความมุ่งมั่น ปีๆ หนึ่งแต่ละแผนกจะมีนักเรียนประมาณ 100 คน แต่ช่วงโควิดจำนวนนักเรียนลงลด การเรียนการสอนจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เรียนจบหลักสูตรพร้อมรับใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองว่าได้ผ่านการเรียนหลักสูตรที่นี่
คำถามที่ทุกคนน่าจะมีเหมือนกัน คือ ต้องมีความรู้พื้นฐานก่อนไหมถึงจะเข้าเรียนได้ ครูดรุณีตอบว่า ไม่จำเป็น เพราะแต่ละแผนกจะเริ่มสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน อย่างที่แผนกอาหารจะสอนตั้งแต่การหั่น ซอย การรู้จักกับวัตถุดิบชนิดต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการทำอาหาร
“บางคนก็แยกวัตถุดิบไม่ออกนะ อย่างเช่นใบกะเพรากับใบโหระพา ก่อนสอนทำอาหารเราต้องให้เขาศึกษาวัตถุดิบซะก่อน พอถึงเวลาเรียนปรุงอาหารเขาก็จะได้รู้ว่า อ้อ ถ้าจะทำแกงเลียงต้องใช้ใบแมงลักนะ หรือเครื่องแกงเราจะใส่ใบกะเพรา ใบโหระพานะ นักเรียนจะซื้อมาถูก”
แผนกอาหารการสอนจะแบ่งเป็น 3 ห้อง ห้องละ 45 คน สลับกันเรียนเมนูคาว หวาน และของว่าง รวมถึงมีฝึกงานทำของไปขายให้คนที่ทำงานในวัง ข้อดีอีกอย่างของการเรียนที่นี่ คือ ผู้เรียนไม่ต้องเสียเงินเรียน เสียเฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เรียน
คุยกันไปสักพักก็ถึงเวลาไปเรียนเมนูต่อไป แน่นอนว่ากินคาวแล้วต้องตบท้ายด้วยของหวาน ฉะนั้น เมนูที่เรากำลังจะได้เรียนต่อไปนี้ คือ จ่ามงกุฏ ขนมที่เราคุ้นตากันดีและก็เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานว่าหน้าตาที่แท้จริงมันเป็นยังไง
“จ่ามงกุฏที่เราจะเรียนวันนี้ เป็นสูตรของคุณหญิงเจือ นครราชเสนี ท่านคิดและทำส่งประกวดในงานปีใหม่ จ่ามงกุฏต้นตำรับเป็นของรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีทรงคิด โดยใช้แป้งถั่วเขียวกวนกับน้ำตาลทรายและกะทิ ใส่ถั่วลิสง ลักษณะขนมจะคล้ายๆ กับขนมกาละแม ส่วนสูตรของคุณหญิงเจือดัดแปลง จริงๆ มีชื่อว่าดาราทอง แต่ด้วยรูปร่างที่เหมือนมงกุฏทำให้เรียกผิดกันต่อๆ มา”
ขั้นตอนการทำแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก – ตัวฐาน ผสมแป้งสาลี ไข่แดง และน้ำเปล่าเข้าด้วยกัน และนำไปคลึงเป็นแผ่นบาง ตัดให้พอดีชิ้น ใส่ถ้วยตะไลเพื่อขึ้นรูปและอบให้สุก ส่วนที่สอง – เมล็ดแตงโม ตั้งกระทะทองเหลือใช้ไฟอ่อนๆ ใส่เมล็ดแตงโมลงไป แล้วพรมด้วยน้ำเชื่อม ก่อนจะใช้มือกวาดน้ำเชื่อมและเมล็ดแตงโมไปเรื่อยๆ จนกว่าเมล็ดแตงโมจะมีเกล็ดน้ำตาลขึ้นโดยรอบ และส่วนสุดท้ายคือขนมทองเอก
นั่นเป็นคำอธิบายภาพที่เราเห็นเมื่อตอนต้นว่านักเรียนก้มน้ำก้มตากวนของในกระทะ เพื่อกวนเมล็ดแตงโมกับน้ำตาลให้ได้เป็นเกล็ดขาวๆ ลักษณะเหมือนมงกุฏ ถือเป็นขั้นตอนที่หินขั้นตอนหนึ่ง เพราะคนทำใช้มือกวนในกระทะร้อนๆ โดยตรง และต้องใช้เวลาค่อยๆ กวนเมล็ดแตงโมเข้ากับน้ำเชื่อม ไม่สามารถใส่น้ำเชื่อมเยอะๆ หรือเร่งไฟแรงๆ เพราะเกล็ดน้ำตาลจะไม่ขึ้น นักเรียนบางคนเล่าให้เราฟังว่า บางทีต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการทำเมล็ดแตงโม
ครูดรุณีเรียนจบคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยครู (หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน) ก่อนจะมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ เธอเล่าให้ฟังว่าการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงในยุคนี้แตกต่างจากยุคที่เธอเรียนมาก เพราะสมัยก่อนการเรียนทำอาหาร ครูจะบอกเมนูและให้นักเรียนไปหาสูตรมาทำ และค่อยมาตัดสินว่าสูตรใครอร่อยกว่ากัน ความยากอยู่ที่ว่าสูตรทำอาหารสมัยก่อนจะไม่ค่อยบอกอัตราส่วนตรงๆ
“เขาจะเขียนบอกว่าใส่น้ำตาล 2 หยิบมือ เราก็ไม่รู้หรอกนะว่า 2 หยิบมือมันเท่าไร หรือเวลาอาจารย์ท่านสอน เขาก็จะหยิบของมากองๆ หยิบใส่ให้เราดูเลย ไม่ได้อธิบายเยอะ เราก็รู้สึกว่าถ้าสอนแบบนี้เด็กไม่เข้าใจแน่ๆ พออาจารย์หยิบปั๊บ เราก็รีบหยิบมาใส่ถ้วยตวงหรือช้อนชาเพื่อวัด แล้วค่อยเขียนเป็นสูตรออกมา ครูเห็นก็ชอบใจนะว่าถูกต้อง อันนี้คือการจดสูตรยุคแรกๆ ของโรงเรียนเลย
“แต่เราจะไม่เน้นว่านักเรียนต้องจำสูตรได้ เพราะอาหารจะอร่อยไม่อร่อยอยู่ที่รสมือคนทำ บางทีสูตรบอกว่าต้องใช้น้ำมะขาม 2 ช้อนโต๊ะ แต่เคยมีเด็กเขาเอามะขามจากเพชรบุรีมาใช้ ใส่เท่าไรก็ไม่เปรี้ยวซักทีมีแต่ความหวาน เราเลยจะบอกผู้เรียนเสมอว่า ต้องคอยสังเกตวัตถุดิบและก็เอามาดัดแปลงกับสูตรเอง หลักๆ จะบอกเขาว่าเมนูนี้รสชาติมันต้องเป็นยังไง เช่น แกงส้มที่สมัยนี้จะชอบออกรสเผ็ดอย่างเดียว แต่จริงๆ มันต้องออกรสเปรี้ยวหวานด้วย”
ครูดรุณีเล่าต่อว่า คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็หลากหลายตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้ใหญ่ มาเรียนเพื่อเอาความรู้ หรือเพื่อไปทำอาชีพอื่นๆ “บางคนเรียนจบแล้วก็มีไปทำงานตามโรงแรม ถ้าเขาฝีมือดีๆ เชฟฝรั่งเห็นก็ชวนไปทำงานต่างประเทศ มีหลายคนนะที่ไปแล้วมีชื่อเสียงลงหนังสือพิมพ์ ส่งข่าวกลับมาบอกเรา”
ร้อยดอกไม้แบบสาวชาววัง
และก็ถึงเวลาโบกมือลาแผนกอาหาร เพื่อไปเข้าเรียนแผนกต่อไปกับ ‘การจัดดอกไม้’ สถานที่เรียนก็เหมือนเช่นกับห้องเรียนแผนกอาหาร แต่ข้าวของในห้องเปลี่ยนจากเครื่องครัวเป็นอุปกรณ์จัดดอกไม้แทน กลางห้องมีโต๊ะยาวๆ วางเรียงประมาณ 4 – 5 ตัว แต่ละโต๊ะมีนักเรียนนั่งกระจายพร้อมกับกำลังจัดการดอกไม้ในมือ บางคนตัดแต่งกิ่งเตรียมจัดใส่แจกัน บางคนก็ร้อยเป็นพวงมาลัย เราตัดสินใจเดินตรงไปขอความรู้กับครูบุญเตือน ธงสันเธียะ ครูประจำแผนกแห่งนี้
ครูบุญเตือนเล่าว่า ที่แผนกจัดดอกไม้ของโรงเรียนในวังฯ จะสอนการจัดดอกไม้ตามแบบฉบับโบราณ มีทั้งเครื่องแขวงสด มาลัย จัดดอกไม้พานพุ่ม ดอกไม้ที่ใช้ในงานราชพิธีต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่ง ฯลฯ การสอนก็จะเริ่มตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน เช่น การเลือกดอกไม้
“อย่างดอกรัก ต้องเลือกที่อยู่ในเปลือก เพราะเราต้องเอาเขามาแยกกลีบ แยกชิ้นส่วน และค่อยประกอบเข้าไปใหม่ร้อยเป็นพวงในรูปแบบต่างๆ หรือกล้วยไม้ก็ต้องเลือกที่ยังเป็นดอกๆ ค่อยเอามาแยกแล้วประดิษฐ์เข้าไปใหม่ นั่นคือลักษณะการจัดดอกไม้แบบโบราณ ต้องแยกและประดิษฐ์ใหม่
“คนที่มาเรียนส่วนใหญ่เขาก็เอาไปต่อยอดประกอบอาชีพ หรือเป็นความรู้ติดตัว แล้วแต่คน”
เล่าเรื่องผ่านการปักสะดึง
ห้องเรียนห้องสุดท้ายก่อนที่เราจะจบคอร์สกุลสตรีชาววัง ‘ปักสะดึง’ เป็นห้องเดียวที่เรารู้สึกถึงความเงียบสงบตั้งแต่ก่อนจะเข้าไป ภายในห้องนักเรียนทุกคนกำลังนั่งพับเพียบกระจัดกระจายตามมุมต่างๆ ตรงหน้าพวกเขาทุกคนมีเครื่องมือบางอย่าง ลักษณะคล้ายๆ โต๊ะไม้ขนาดเล็กที่ข้างบนขึงผ้าไว้ แต่ละคนกำลังใช้เข็มแทง-ขึ้นลงบนผ้าผืนนั้น
อาจิน ลายคำ ครูประจำแผนกดังกล่าวกำลังนั่งปักผ้าตรงหน้าเหมือนนักเรียนคนอื่นๆ เราจึงเข้าไปขอความรู้ ครูอาจินอธิบายว่า เครื่องมือนั้นเรียกว่า ชุดแม่สะดึง ใช้สำหรับการปักสะดึง ประกอบด้วยขาตั้งและผ้ารอง
การปักสะดึง เป็นคำเรียกลักษณะการแทงเข็มขึ้นและลง ถือเป็นงานฝีมือที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ใช้ประดับข้าวของต่างๆ เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับยศ หมอน ตาลปัตร กลุ่มคนที่ใช้งานดังกล่าวจะเป็นเฉพาะเจ้านายในวัง คนในราชวงศ์
ปัจจุบันงานปักสะดึงไม่ได้ใช้แค่เฉพาะในวัง แต่เผยแพร่ไปสู่กลุ่มคนทั่วไป และก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก การปักหลากหลายจากลายดั้งเดิม มีพัฒนาปักเป็นลายการ์ตูน หรือแม้แต่หน้าคน แต่ที่โรงเรียนยังคงยึดการปักสะดึงตามแบบฉบับดั้งเดิม ซึ่งการสอนจะเริ่มตั้งแต่ความรู้พื้นฐานให้รู้จักกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานนี้ สอนทำแพนเทิร์น การปักสะดึงในรูปแบบต่างๆ เช่น การปักไหม การปักทึบ ไปจนถึงให้นักเรียนออกแบบลายด้วยตัวเอง
“ก่อนเปิดเรียนจะให้นักเรียนไปฝึกลอกลาย ลายอะไรก็ได้ เพื่อให้ข้อมือเขาคุ้นชิ้นกับลายต่างๆ หลังจากนั้นมาฝึกมือด้วยใช้เข็มปักในขั้นพื้นฐาน เช่น ปักไหม ปักทึบ ปักซอย ก่อนจะเขยิบไปลองปักแบบไล่สีจากอ่อนไปเข้ม แซมไหมแต่ละสีลงไปแต่ละช่อง ทำให้เกิดลายเหมือนเขียนสี คนมองไกลๆ จะนึกว่าเป็นภาพเขียน
“พอใกล้เรียนจบเราก็จะให้นักเรียนเขียนลายขึ้นมา 1 ชิ้น เป็นลายอะไรก็ได้ เพื่อเป็นการทดสอบความรู้เขา เป็นชิ้นงานจบ”
แม้ในปัจจุบันเราจะมีจักรเย็บผ้าที่ช่วยทุ่นแรงไม่ต้องลงทุนนั่งเย็บเอง แต่ครูอาจินอธิบายว่าความแตกต่างของการปักสะดึงกับการใช้เครื่องจักร คือ เครื่องจักรไม่สามารถใช้วัสดุแปลกๆ ได้ ครูอาจินหยิบของมาหนึ่งอย่างจากตะกร้าไม้ที่อยู่ตรงหน้า ลักษณะเหมือนปีกแมลงแข็งๆ สีเขียวเหลือบทอง ครูอาจินบอกว่านี่คือปีกของแมลงทับ
“วัสดุพวกนี้ไม่สามารถใช้จักรได้ ต้องใช้เข็มเย็บเท่านั้น ทำให้งานปักสะดึงมีจุดเด่น คือ จะใช้วัสดุหลากหลายมาก และผ่านหลายสเต็ปกว่าจะออกมาเป็น 1 ชิ้นงาน
“อย่างแมลงทับเป็นแมลงที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ความพิเศษของมันคือพอตายแล้วปีกจะแข็งและให้สีสันที่สวยงาม แต่ละตัวให้สีไม่เหมือนกัน คนนิยมเอามาทำเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล เสื้อผ้า วิธีการคือเขาจะรอจนแมลงตายแล้วค่อยเข้าไปเก็บ เพราะถ้าไม่ตายโดยธรรมชาติ ปีกจะไม่แข็ง เอามาทำงานไม่ได้ พอได้ปีกมาก็เอามาเจียดและตัดเป็นรูปทรงต่างๆ เวลาเอามาใช้ปักสะดึงเราจะใช้เข็มเจาะเป็นรูและร้อยด้ายเข้าไป”
คนที่มาเรียนในแผนกนี้ มีทั้งผู้ใหญ่ที่ต้องการหางานอดิเรกหรือพัฒนาความสามารถเพิ่มเติม เอาไปสร้างเป็นอาชีพ และเด็กๆ ที่อยู่ช่วงรอเรียนต่อ เช่น จบม.3 กำลังรอต่อม.4 หรือม.6 ที่กำลังรอเข้ามหาวิทยาลัย ที่มาเรียนถ้าไม่ใช่เพื่อใช้เวลาว่าง ก็เพื่อมาค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร
“เด็กจบม.3 ผู้ปกครองส่งมาลองเรียนที่นี่ เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบงานวิชาการ ยังหาแนวทางความชอบตัวเองไม่เจอ ก็ลองมาทำอะไรที่เป็นงานเย็บปักถักร้อย การลองของเด็กกลุ่มนี้เหมือนใช้เวลา 1 ปี ระหว่างรอต่อม.4 ไปลอง ถ้าเขาชอบก็สามารถต่อยอดได้ ถ้าไม่ก็ไปลองอาชีวะหรืออะไรไป มีพื้นฐานตรงนี้เป็นหลัก”
จบคอร์ส 1 วันที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง ที่แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เป็นกุลสตรีได้ทันที (ก็แหมเขาใช้เวลาเรียนตั้งปีหนึ่ง มาวันเดียวอย่างเราไม่มีทาง!) นอกจากความรู้และความสนุก สิ่งที่เราได้อีกอย่าง คือ ถ้าหากว่าประเทศเรามีสถานที่เรียนแบบนี้ ที่เข้าถึงง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะ คงจะเป็นอีกหนึ่งแรงซับพอร์ตที่ช่วยให้คนทั่วไปสามารถค้นหาตัวตนของตัวเองได้อีกทาง เพราะบางทีเราในอายุ 50 ปี อาจจะเพิ่งค้นพบว่าตัวเองมีฝีมือร้อยมาลัยก็ได้
นอกจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ยังมีโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ตั้งอยู่ที่อาคารหออุเทสทักสินา ริมถนนหน้าพระลาน เปิดสอนวิชางานเขียน งานแกะสลักงานลงรักปิดทอง งานลายรดน้ำ งานปั้นปูนสด งานเบญจรงค์ งานปักจักรอุตสาหกรรม และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) ทั้งสองที่คนทั่วไปสามารถเข้าเรียนได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เพจ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) |