- สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet therapy) เป็นวิธีหนึ่งของสัตว์บำบัด สัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว กระต่าย ช้าง ม้า เพราะมีความผูกพัน คุ้นเคย และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนได้ดี โดยเฉพาะกับเด็กๆ
- สัตว์เลี้ยงมีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็ก การที่เด็กๆ ได้เห็น ได้สัมผัสสัตว์เลี้ยง จะทำให้เขามีความอ่อนโยนมากขึ้น เห็นอกเห็นใจ (Empathy) มากขึ้น แต่ก็ต้องควบคู่กับการสอนของผู้ใหญ่ไปด้วย
- อันดับแรกต้องศึกษาหาความรู้ อายุขัย อาหาร สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็เพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดี และก็จะมีอารมณ์ที่ดี เมื่อเราเลี้ยงหรือเล่นกับเขาก็จะมีความสุขทั้งคนและสัตว์
เคยเป็นเหมือนกันมั้ย ระหว่างที่กำลังเลื่อนๆ หน้าจอสมาร์ตโฟนซึ่งมีทั้งเรื่องชวนหน้านิ่วคิ้วขมวดและตลกขบขัน ถ้าบังเอิญมีภาพสุนัข แมว กระต่าย และอีกสารพัดสัตว์เลี้ยงในโมเมนต์น่ารักน่าหยิกโผล่ขึ้นมา จากใบหน้าที่กำลังเครียด เหงา เศร้า ซึม ก็ค่อยๆ เปื้อนยิ้มได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นั่นเป็นเพราะ สัตว์เลี้ยงน่ารักเหล่านี้มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เราในหลายมิติ ไม่ใช่แค่การเป็นเพื่อนคลายเหงา แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า การใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy สามารถเยียวยาจิตใจของเด็กที่ขาดความอบอุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุได้
อย่างเช่นงานวิจัย ‘ผลของการใช้กระต่ายช่วยบำบัดต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ภาวะซึมเศร้าและความสุขของเด็กกำพร้าสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี’ ของ พิมญาดา จรัสศรี และ ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า หลังจากเด็กๆ กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกิจกรรมการบำบัดด้วยกระต่ายแล้วมีระดับความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เพิ่มขึ้นจากระยะก่อนเข้าร่วมกิจกรรมการบำบัด คะแนนภาวะซึมเศร้าลดลง ในขณะที่คะแนนความสุขเพิ่มขึ้น ทั้งนี้งานวิจัยระบุด้วยว่า โปรแกรมบำบัดด้วยกระต่ายนั้น มีผลต่อภาวะซึมเศร้าปานกลางต่อความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองและมีผลเล็กน้อยต่อความสุข
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ‘สัตว์เลี้ยง’ และ ‘สัตว์บำบัด’
ในงานวิจัยดังกล่าวยังอธิบายถึง ‘สัตว์บำบัด’ (Animal-Assisted therapy) ว่าเป็นศาสตร์ใหม่ในวงการแพทย์ทางเลือกของไทย เป็นการช่วยรักษาโดยการใช้กิจกรรมที่ทำร่วมกันกับสัตว์ที่ได้รับการฝึกฝนและผ่านการตรวจโรคมาเป็นอย่างดีแล้ว สัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว กระต่าย ช้าง ม้า เป็นต้น เพราะเป็นสัตว์ที่มีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับคน และเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมอบความรักให้ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการช่วยเหลือหรือพัฒนาจิตใจของเด็กที่เปราะบางให้มีความเข้มแข็ง เห็นคุณค่าในตัวเอง ลดภาวะซึมเศร้า และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับ น.สพ.ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ ที่อธิบายว่า
“สัตว์บำบัด เป็นการนำสิ่งมีชีวิต นำสัตว์มาช่วยเป็นตัวกลางในการปรับอารมณ์ ปรับจิตใจ ให้มีสมาธิให้จดจ่ออยู่กับสัตว์ชนิดนั้นๆ อย่างในต่างประเทศมีการใช้นกมาช่วยในการบำบัดผู้สูงอายุ รวมไปถึงในกลุ่มเด็กที่มีสมาธิสั้น เนื่องจากว่านกมันจะไม่อยู่นิ่ง ขยับตลอดเวลา ทำให้เด็กๆ เขาสนใจ ตรงนี้นกก็จะเป็นเหมือนสื่อ เป็นตัวกลางในการช่วยทำให้เกิดการปรับอารมณ์ ปรับสภาพจิตใจขึ้นมาได้”
ส่วน สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet therapy) เป็นวิธีหนึ่งของสัตว์บำบัด นิยมใช้สัตว์ขนาดเล็กมากกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะมีความผูกพัน คุ้นเคย และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนได้ดี โดยเฉพาะกับเด็กๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือเด็กทั่วๆ ไป การเลี้ยงและดูแลสัตว์อย่างเหมาะสม ยังสามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตให้พวกเขาได้อีกด้วย
การที่เด็กๆ ได้เห็น ได้สัมผัสสัตว์เลี้ยง จะทำให้เขามีความอ่อนโยนมากขึ้น เห็นอกเห็นใจ (Empathy) มากขึ้น แต่ก็ต้องควบคู่กับการสอนของผู้ใหญ่ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเองแล้ว น.สพ.ณฐวุฒิ ย้ำว่าการดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ สัตว์ที่นำมาเลี้ยงควรได้รับการฝึกฝนและผ่านการตรวจโรคมาเป็นอย่างดี
โปรแกรมบำบัดด้วยกระต่าย ลดความเศร้า เพิ่มความสุข
สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่มักเป็นสัตว์เลี้ยง และมักเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เพราะด้วยขนาดตัวที่กำลังพอดีสามารถอุ้มได้ง่าย และเหมาะสมกับบ้านที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในการบำบัดนอกสถานที่พักอาศัย เช่น โลมาบำบัด อาชาบำบัด เป็นต้น ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
ในงานวิจัย ผลของการใช้กระต่ายช่วยบำบัดต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ภาวะซึมเศร้าและความสุขของเด็กกำพร้าสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ซึ่งใช้โปรแกรมบำบัดด้วยกระต่าย มีกิจกรรมที่น่าสนใจในการช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเอง ลดระดับภาวะซึมเศร้า และเพิ่มระดับของความสุข
โดยกิจกรรมแรกเป็นการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ด้วยการวาดภาพกระต่ายที่แสดงอัตลักษณ์แทนตนเอง เป็นการอธิบายบุคลิกของตัวเองผ่านภาพวาด จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมการเลือกกระต่ายตามความสนใจ พร้อมกับตั้งชื่อ และเรียนรู้วิธีการดูแลเบื้องต้น เพื่อตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์
ต่อมาเป็นการแนะนำตัวเองและพฤติกรรมที่ชอบทำของตัวเองและกระต่ายให้เพื่อนๆ รู้จัก เพื่อลดปัญหาการแยกตัว ความเบื่อหน่าย ความเหงา ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และฝึกกระบวนการแก้ปัญหาผ่านบทบาทสมมติโดยใช้กระต่ายเป็นสื่อกลาง นอกจากทักษะการวางแผนแล้ว นี่ยังเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวัน และพัฒนาทักษะการสื่อสารไปในตัว
จากนั้นก็จะให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ดีไม่ดีในชีวิตผ่านภาพวาด โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ในชีวิตของกระต่าย เพื่อเรียนรู้และการยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ลืมประสบการณ์ด้านบวกในชีวิต และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป แล้วก็สังเกตวิธีผ่อนคลายของกระต่ายเพื่อนำไปปรับใช้กับตัวเอง รวมถึงเขียนจดหมายถึงกระต่ายในหัวข้อ “ทำไมฉันถึงรักกระต่ายของฉัน” เพื่อเรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด เพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเอง จากการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือจากการดึงทักษะที่มีอยู่มาใช้ ทั้งยังเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
สุดท้ายร่วมแสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์การสูญเสียพ่อแม่ของกระต่ายในวัยเด็ก และสิ่งที่ได้รับจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับกระต่าย เพื่อจัดการความรู้สึกขาดและความสูญเสีย สร้างพลังใจในการดำเนินชีวิต เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง และบันทึกเรื่องราวของตัวเองและกระต่ายลงในสมุดบันทึก แบ่งปันเรื่องราวความฝันของตัวเอง เพิ่มทัศนคติในแง่บวก และส่งเสริมการมีเป้าหมายในชีวิต
ในแง่อาการซึมเศร้า งานวิจัยสรุปว่าสัตว์บำบัดมีผลต่อการลดระดับภาวะซึมเศร้า และช่วยเพิ่มความสุขให้แก่เด็กกำพร้า และยังอาจเป็นส่วนช่วยในการเสริมสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง
ดังนั้นผลการวิจัยครั้งนี้อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เด็กที่มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองค่อนข้างต่ำ และอาจนำไปใช้เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมพัฒนา หรือฟื้นฟูจิตใจ ทั้งเด็กปกติและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่ใช้ในการบำบัดอีกมากมาย ซึ่ง น.สพ.ณฐวุฒิ เล่าว่า ในเด็กนอกจากสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข แมว หรือแม้แต่กระต่ายแล้ว ยังมีในกลุ่มของม้า หรือที่เรียกกันว่า ‘อาชาบำบัด’ (Hippotherapy) ซึ่งจะเน้นพัฒนาการและการเรียนรู้ แก้ปัญหาด้านสมาธิ การเคลื่อนไหว การเดินไม่มั่นคง การทรงตัว ผ่านการขี่ม้า รวมถึงการเข้าสังคมด้วย หรือจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำอย่างโลมา (Dolphin Therapy) ซึ่งนิยมในต่างประเทศ ช่วยในเด็กสมาธิสั้น ออทิสติก หรือในผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า และในกลุ่มที่เป็นอัลไซเมอร์
โลมาเป็นสัตว์ที่มีความใกล้ชิดผูกพันกับมนุษย์ มีเสน่ห์ เป็นมิตร และมีสติปัญญามาก แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้ดี มักจะพยายามเข้ามาใกล้ชิด และเราสามารถสัมผัสความรู้สึกนั้นได้เช่นกัน เวลาที่โลมาส่งเสียงออกมาเสมือนมีคลื่นพิเศษ เรียกว่า คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic) เข้าไปจูนหรือปรับสมดุลคลื่นสมองของมนุษย์ เสียงของโลมานั้นมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือ ให้ความรู้สึกดีและให้ความสุข นับว่าเป็นเสียงบำบัดใจ ที่มีพลังในการเยียวยา (healing power) สูง
“การขึ้นไปอยู่บนหลังม้า ความสูงที่มากกว่าเดิมจนเท้าไม่ติดพื้น ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้น และมีสมาธิมากขึ้นในการทรงตัว ในกลุ่มของโลมา เด็กๆ ได้สัมผัสน้ำก็จะสนุกละ แล้วก็ได้จับโลมาซึ่งมันเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำ มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ทำให้เขาตื่นตาตื่นใจ ซึ่งในเด็กเล็ก ทำให้เขาเรียนรู้ว่ามีสัตว์อีกหลายชนิด และไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม สิ่งที่มันสะท้อนออกมานั่นคือการสื่อสารโดยการสัมผัส”
ทั้งนี้ น.สพ.ณฐวุฒิ เพิ่มเติมว่า การใช้กระต่ายบำบัดช่วยลดภาวะซึมเศร้า จริงๆ แล้วสัตว์ทุกชนิดที่นำมาใช้ในการบำบัด สามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งการที่ใช้กระต่ายนั้น ทุกคนน่าจะมีภาพจำเมื่อได้ยินคำว่า กระต่าย สิ่งที่ทุกคนนึกขึ้นมาในหัวเลยคือ กระต่ายเป็นสัตว์ที่น่ารักขนปุยๆ กระต่ายเป็นสัตว์ที่น่ารัก ทุกคนมีมโนภาพในใจแล้ว ดังนั้นเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งที่ตัวเองมีความรู้นึกดีและคาดหวังไว้ ก็จะยิ่งเสริมให้รู้สึกซึมซับถึงความน่ารักของมันมากขึ้น และค่อยๆ รู้สึกผ่อนคลาย
“หลายๆ อย่างมันอาจจะอยู่ในความคิด สารเคมีต่างๆ ที่มันถูกผลิตออกมาแล้วกดทำให้เกิดความซึมเศร้ามันก็จะผ่อนคลายลง จากการที่ได้เลี้ยงได้สัมผัส มันทำให้ต้องไปโฟกัสว่าจะเอาอะไรให้กิน ได้จับได้อุ้ม เรื่องราวต่างๆ ที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตที่อาจจะทำให้เครียด อาจจะทำให้ซึมเศร้า มันก็จะถูกพักและว่าลงไป ก็จะมีเอ็นโดรฟินหรือสารแห่งความสุขหลั่งออกมา มีความสุขที่ได้สัมผัสกระต่าย ขนมันนุ่นละเอียด น่ารัก มันจึงเป็นผลทำให้เขานำกระต่ายมาศึกษาว่ามันจะช่วยลดความซึมเศร้าของผู้ป่วยได้หรือไม่”
เลี้ยงสัตว์ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กๆ
สัตว์แต่ละชนิด มีส่วนช่วยเรื่องพัฒนาการในเด็กแต่ละวัยได้ ในปัจจุบันเรื่องของการใช้สัตว์บำบัดค่อนข้างกว้าง ไม่ได้จำกัดแค่สุนัข แมว กระต่าย โลมา ม้า ซึ่ง น.สพ.ณฐวุฒิ บอกว่า สัตว์บำบัด ช่วยในการปรับอารมณ์ปรับสภาพจิตใจได้ เรื่องของสมาธิหรือความตั้งอกตั้งใจ สิ่งที่เคลื่อนไหวได้ที่ไม่ใช่มนุษย์มันเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเด็กเล็กๆ การเคลื่อนไหวของสัตว์ทำให้เขาตื่นตาตื่นใจ และทำให้เขามองจดจ่ออยู่กับสิ่งๆ นั้น ซึ่งมีการเคลื่อนไหวช้าบ้างเร็วบ้าง แล้วก็มีการจับสัมผัสผิวที่มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกันไป มีขน มีเกล็ด เหล่านี้มันดึงดูเขา แล้วทำให้เขานิ่งขึ้น อารมณ์เย็นขึ้น ใจเย็นขึ้น
“อย่างที่ทางโรงพยาบาลไปให้ความรู้กับเด็กๆ ชั้นอนุบาลกับประถม เด็กๆ มีความสนใจสัตว์เลื้อยคลานมาก ไม่น้อยไปกว่านกหรือกระต่ายเลย เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานจะเคลื่อนไหวช้าๆ และยังมีพวกเต่า หรือกิ้งก่าบางชนิดที่เด็กๆ จะให้ความสนใจและมองดูอย่างจดจ่อ ซึ่งเด็กจะไม่ได้ตอบสนองกับสัตว์ที่เคลื่อนไหวเร็ว แต่จะมองช้าๆ ค่อยๆ เอื้อมมือมาจับ ซึ่งจุดนี้เองทำให้เขาค่อยๆ สร้างสมาธิ และจดจ่ออยู่กับสัตว์ที่เขาสนใจได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น”
นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์ทำให้เด็กๆ มีกิจกรรม เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งจะช่วยฝึกความรับผิดชอบในการให้อาหาร ฝึกการเป็นคนช่างสังเกต สังเกตพฤติกรรมการกิน การอยู่ การเดิน การวิ่งของสัตว์ที่เลี้ยง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เราสามารถสอน และฝึกให้เด็กๆ ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาจะได้รับโดยอัตโนมัตินั่นคือ ความอ่อนโยน ความมีเมตตาต่อสัตว์ จากที่เคยเห็นเด็กๆ สัมผัสสัตว์ไม่มีเด็กคนไหนที่จะมีความก้าวร้าว หรือเข้ามาจับแบบรุนแรง แล้วก็จะทำให้การปรับสภาพอารมณ์ของเด็กจะค่อนข้างดีจากการเลี้ยงสัตว์
เมื่อเด็กๆ อยากมีสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ไว้เป็นเพื่อนคลายเหงาสักตัว เตรียมพร้อมอย่างไรดี
“ไม่ว่าเลี้ยงอะไรก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ต้องหาความรู้ก่อน เพราะว่าคนที่ช่วยดูแลจริงๆ จังๆ เป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก”
แค่คำว่า รัก หรือ ชอบ อย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะการจะเลี้ยงสัตว์สักตัว จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ ความเข้าใจการเลี้ยงสัตว์ชนิดนั้นๆ รวมไปถึงความพร้อมด้วย ตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า บ้านหรือคอนโดที่เราอยู่มีพื้นที่พอในการจะเลี้ยงเขาหรือไม่ แล้วมีเวลาเอาใจใส่พอหรือเปล่า กระทั่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่าอาหารนั่นก็คือ ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ น.สพ.ณฐวุฒิ แนะนำให้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ก่อน เพื่อให้มีความสุขทั้งคนและสัตว์
“อันดับแรกควรดูก่อนว่าเด็กๆ สนใจสัตว์ชนิดไหน เพราะสัตว์เลี้ยงทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่สุนัข แมวอย่างที่เรารู้จักกันดี แต่ยังมีกระต่าย มีปลา มีนกชนิดต่างๆ ที่มีสีสันสวยงาม หรือแม้กระทั่งสัตว์เลื้อยคลาน ทีนี้สัตว์ชนิดที่เขาสนใจสามารถที่จะเอามาเลี้ยงดูได้ไหม ขนาดตัวใหญ่เกินไปหรือเปล่า ถ้าเป็นสัตว์ที่มีขน เขาแพ้หรือไม่ แล้วเหมาะกับที่อยู่อาศัยหรือเปล่า เพราะว่าทั้งหมดนี้จะไปโยงกับเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย”
นอกจากนี้ ความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจำเป็นจะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง การเลี้ยงดูที่ใส่ใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งทั้งหมดก็จะไปส่งผลให้สุขภาพสัตว์ดี พอสุขภาพสัตว์ดีเขาก็จะเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารัก น่าเล่นด้วย แล้วก็จะส่งผลบวกกับเด็กๆ และความเข้าใจหรือการไตร่ตรองในการจะเลี้ยงสัตว์สักตัวอาจส่งผลให้การที่สัตว์ถูกทอดทิ้งไม่เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้
“ในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา คนเลี้ยงสัตว์เยอะขึ้น การทิ้งหรือการปฏิเสธก็อาจจะเยอะขึ้นเป็นเงาตามตัวคน และเนื่องจากว่ามีสัตว์หลากหลายชนิดมากกว่าสุนัขและแมวให้เลือกเลี้ยง ดังนั้นก่อนเลี้ยงจึงจำเป็นต้องหาความรู้ก่อนว่าจะเลี้ยงอย่างไร สถานที่พร้อมไหม อายุขัยกี่ปี อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าสัตว์ที่เราไม่คุ้นเคย เราจะเลี้ยงเขาไปได้นานแค่ไหน มีศักยภาพในการเลี้ยงไหม นกบางชนิดอาจจะมีอายุยืนยาวถึง 40 ปี บางชนิดอายุ 10-20 ปี
ในกลุ่มของกระต่ายที่สมัยก่อนอาจจะคิดว่าเป็นสัตว์ที่ใจเซาะตายง่าย ปัจจุบันกระต่ายอายุสิบกว่าปีก็มี เพราะว่าการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น อาหารดีขึ้น ผู้เลี้ยงเอาใจใส่มากขึ้น ดังนั้นถ้าเรามีขั้นตอนในการเลือกเลี้ยงตั้งแต่ต้น มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งจะน้อยลงไปด้วย เป็นปลายทางที่คงจะไม่เกิดขึ้นถ้าเกิดเราเริ่มสนับสนุนแล้วก็ปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้น”
หากเตรียมตัวไม่ดี ไม่มีความรู้ในการเลี้ยง พาไปเดินเล่นไม่ได้ จัดสรรที่อยู่ให้แต่ว่าไม่ค่อยเหมาะสม มีเห็บ มีหมัด มันก็จะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายของสัตว์ที่เลี้ยงไม่ดี และส่งผลให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงอาจจะแย่ลงไปด้วย
ทั้งนี้การจะใช้สัตว์เลี้ยงในการบำบัด ตามหลักแล้วควรอยู่ในการดูแลของสหวิชาชีพ ควรจะมีสัตวแพทย์ซึ่งมีความรู้และสามารถอ่านภาษากายของสัตว์ออก และควรอยู่ภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยาเด็ก หรือนักกายภาพต้องควบคู่กับไป ควรมีหลายๆ วิชาชีพในการบำบัด
อ้างอิง