- ในห้วงเวลานี้ผู้คนบนโลกกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ และความไม่เป็นธรรมในหลากหลายพื้นที่ การศึกษาจึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนมองสังคมที่ไปไกลกว่าแค่พรมแดนรัฐชาติ
- แนวคิดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก หรือ Global Citizenship Education (GCE) การส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ มีส่วนร่วม และเชื่อมโยงตัวเองกับประเด็นโลกในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา
- การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ในทุกวิชา โดยวางอยู่บนกรอบสำคัญที่ประกอบด้วย 1) ด้านความรู้และความเข้าใจ 2) ทักษะ และ 3) คุณค่าและทัศนคติ
- บทบาทครูผู้สอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผล การแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นที่ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย และสนับสนุนให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะทางดิจิทอล (Digital skill) และการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) ที่สำคัญต้องนำเอาประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในโลกหรือในชีวิตของนักเรียนมาออกแบบบทเรียนด้วย
เราอยากเห็นโลกนี้เป็นอย่างไร?
คำถามจากชั้นเรียนในช่วงวัยเด็กที่ชวนให้ผมจินตนาการหาคำตอบ ผมจำไม่ได้ว่าคำตอบของผมเป็นอย่างไรในตอนนั้น แต่ทว่าคำถามนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้เริ่มหันมามองผู้คนที่ไกลกว่าสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่ นั่นก็คือสังคมโลก
ในปัจจุบันเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายและปัญหาที่ซับซ้อนบนร่องรอยในยุคสมัยก่อนหน้า เราอาจเคยเห็นภาพข่าวผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องหนีตายจากสงครามในบ้านเกิด การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองในหลายประเทศ การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของคนจำนวนมากทั่วโลกเพื่อเรียกร้องให้รัฐสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การรณรงค์เรียกร้องเพื่อยุติเหยียดเชื้อชาติและสีผิว หรือแม้กระทั่งการมาของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ยิ่งตอกย้ำว่าความเหลื่อมล้ำของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้หายไปในโลกสมัยใหม่
หากเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนจากเส้นแบ่งพรมแดน เราก็อาจรู้สึกว่าเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องของผู้คนในสังคมอื่น เราอาจเป็นเพียงผู้เฝ้ามองหรือคนที่ผ่านมารับรู้และผ่านไป แต่ในทางกลับกัน หากเราลองลบเส้นแบ่งพรมแดนเหล่านั้นออก หรือมองเห็นผู้คนในฐานะ ‘เพื่อนมนุษย์’ นั่นก็อาจทำให้สังคมในสายตาของเราขยายกว้างขึ้น มันเป็นสังคมโลก มีผู้คนที่หลากหลายอยู่ร่วมกับเรา สำหรับผมแล้วมุมมองแบบนี้คือสำนึกการเป็นพลเมืองโลก และช่วยให้เรามีคำถาม ความคิด และความรู้สึกที่เชื่อมโยงถึงกัน
หากวันใดวันหนึ่ง เพื่อนมนุษย์จากอีกซีกโลกหนึ่งต้องหนีตายจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเราได้ยินข่าวผู้คนในบางประเทศถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องมีคำถามว่าตัวเราจะเข้าไปมีส่วนรวมต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง
ดังนั้น หากเรามองโลกด้วยมุมมองแบบที่สอง คำถามต่อมาที่จะเกิดขึ้นก็คือ การศึกษาควรรับมือกับความท้าทายในการสร้างมนุษย์เพื่อเป็นพลเมืองโลกอย่างไร
การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก
ที่ผ่านมาแนวคิดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก หรือ Global Citizenship Education (GCE) ได้ถูกพูดถึงในระดับนานาชาติมาโดยตลอด โดยมี UNESCO เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน แนวคิด GCE คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ มีส่วนร่วม และเชื่อมโยงตัวเองกับประเด็นโลกในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา กล่าวได้ว่าในด้านหนึ่ง GCE เป็นการสร้างสำนึกการเป็นพลเมืองโลกผ่านความรู้ความเข้าใจ และอีกด้านหนึ่งคือส่งเสริมให้เขามีส่วนรวมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก โดยตระหนักเสมอว่าเราล้วนมีพันธะในการสร้างโลกและอนาคตที่ดีกว่าเดิม
Henry Giroux นักการศึกษาชาวอเมริกัน ได้ให้มุมองที่น่าสนใจว่า
ในห้วงเวลานี้ผู้คนบนโลกกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ และความไม่เป็นธรรมในหลากหลายพื้นที่ การศึกษาจึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนมองสังคมที่ไปไกลกว่าแค่พรมแดนรัฐชาติ
พร้อมกันนี้ต้องสร้างให้ผู้เรียนมีความกล้าหาญในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองบนหลักการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่เพียงปัญหาในชาติตัวเองเท่านั้น โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้คิด มองเห็น และตระหนักถึงเรื่องราวที่ไม่ธรรมในชีวิตประจำวันเชื่อมโยงกับประเด็นโลก อาจกล่าวได้ว่า GCE ได้มุ่งสร้างพลเมืองที่เป็นมากกว่าการรู้และปฎิบัติตามกฎหมาย เพราะบางครั้งสิ่งเหล่านี้เองก็อาจทำให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัด ความไม่ยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น การสร้างพลเมืองโลกจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมให้นักเรียนกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และท้าทายกับระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างของสังคมที่เขามองเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นจนไปถึงระดับสังคมโลก
เราจะสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร
หากเป้าหมาย คือ การทำให้นักเรียนได้ตระหนักถึงการเป็นพลเมืองและเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง Oxfam องค์กรที่ทำงานด้านพลเมืองโลก ได้เสนอว่า การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ในทุกวิชา โดยวางอยู่บนกรอบสำคัญที่ประกอบด้วย 1) ด้านความรู้และความเข้าใจ 2) ทักษะ และ 3) คุณค่าและทัศนคติ ดังต่อไปนี้
ความรู้และความเข้าใจ(Knowledge and understanding) | ทักษะ(Skills) | คุณค่าและทัศนคติ(Values and attitudes) |
ความยุติธรรมทางสังคมและความเสมอภาค Social justice and equity | การคิดเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์Critical and creative thinking | ความรู้สึกของตัวตนและความนับถือตนเองSense of identity and self – esteem |
อัตลักษณ์และความหลากหลายIdentity and diversity | ความเข้าอกเข้าใจEmpathy | ความมุ่งต่อความยุติธรรมทางสังคมและความเสมอภาคCommitment to social justice and equity |
โลกภิวัฒน์และการพึ่งพาอาศัยกันGlobalization and interdependence | การตระหนักรู้ในตนเองและการสะท้อนSelf – awareness and reflection | เคารพผู้คนและสิทธิมนุษยชนRespect for people and human rights |
การพัฒนาที่ยั่งยืนSustainable development | การสื่อสารCommunication | ความหลากหลายของคุณค่าvalue diversity |
สันติภาพและความขัดแย้งPeace and conflict | ความร่วมมือและการแก้ไขความขัดแย้งcooperation and conflict resolution | การใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการมุ่งมันสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนConcern for environment and commitment to sustainable development |
สิทธิมนุษยชนHuman rights | ความสามารถที่จะจัดการความซับซ้อนและความไม่แน่นอนability to manage complexity and uncertainty | การเข้าไปเป็นมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งcommitment to participation and inclusion |
อำนาจและการปกครองPower and governance | การกระทำที่อยู่บนข้อมูลและการไตร่ตรองinformed and reflective action | ความเชื่อว่าผู้คนสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้Belief that people can bring about change |
ทั้งนี้ การเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านจะเกิดขึ้นได้ บทบาทครูผู้สอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผล การแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นที่ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย และสนับสนุนให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะทางดิจิทอล (Digital skill) และการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ที่สำคัญต้องนำเอาประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในโลกหรือในชีวิตของนักเรียนมาออกแบบบทเรียนด้วย ครูผู้สอนอาจใช้วิธีการแบบโสเครตีส (Socratic method) การเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning) หรือการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ (Phenomenon Based Learning) มาเป็นแนวทางหลักในการจัดการเรียนรู้แบบข้ามรายวิชาหรืออยู่ในรายวิชา ตัวอย่างเช่น
- วิชาคณิตศาสตร์ : นำตารางอันดับฟุตบอล (FIFA ranking) หรือตารางเหรียญแข่งขันโอลิมปิคมาพูดคุยกับนักเรียนว่า ทำไมบางประเทศถึงมีโอกาสชนะมากกว่าประเทศอื่น หรือแท้จริงมันมีความไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่
- วิชาวิทยาศาสตร์ : สำรวจดูภาวะโลกร้อนว่าส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ต่างๆของโลกอย่างไร รวมไปถึงส่งเสริมให้นักเรียนได้วิเคราะห์สาเหตุ และฝึกใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ คาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- วิชาภาษาอังกฤษ : สำรวจดูว่าภาษาพูดถูกใช้สื่อสารเพื่อท้าทายความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างไร จากนักต่อสู้คนสำคัญของโลก เช่น เนลสัน เมนดาลา เป็นต้น
- วิชาสังคมศึกษา : วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการอพยพของผู้คนไปยังพื้นที่ต่างๆ การอพยพเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม หรือปัญหาในมิติอื่นๆ อย่างไรบ้าง
สุดท้ายนี้ หากเราอยากเห็นโลกที่ยุติธรรม เท่าเทียม และเคารพคุณค่าที่แตกต่างกันของมนุษย์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองโลก ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านั้น พร้อมๆ กับลงมือสร้างสังคมโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางปัญหาและความท้าทายที่ซับซ้อน