- จาก ‘น้านิต สโมสรผึ้งน้อย’ ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่โด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน สู่บทบาทใหม่ในการสร้างโอกาสและพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ยุคนี้ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติที่‘สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้’
- “เราอยากจะสร้างพื้นที่ที่จะสร้างจิตสำนึกจริงๆ เพราะเรารู้ว่าเด็กปลูกฝังได้ เขาพึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ เราจะให้เขาเติบโตมาเป็นคนแบบไหน เป็นมนุษย์แบบไหน มนุษย์ที่มีความใส่ใจในตัวเอง ในโลก ในคนอื่น ในสิ่งแวดล้อม มันต้องให้เขาได้สัมผัสเอง”
- สิ่งที่เด็กจะได้รับ อันดับแรกคือ เห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองแล้วก็จะเปิดประตูให้เขากล้าแสดงออก เมื่อเขารู้สึกว่ามีตัวตนมีคุณค่า เขาจะเป็นคนที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ได้ด้วยตัวเอง
ใครโตมากับรายการทีวีบ้างยกมือขึ้น…
เด็กยุคนี้อาจโตมากับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะดวกสบาย ทว่าหากย้อนกลับไปในวัยเด็กของคนยุค 90 หรือ 80 กิจวัตรประจำวันในทุกๆ เช้าวันหยุดของหลายๆ คนคงไม่ต่างกันนัก นั่นคือการเฝ้าจอโทรทัศน์รอดูรายการต่างๆ ในช่วงเช้า กินข้าว จากนั้นออกไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน
เรามาเช็คกันสักหน่อยว่า ในวัยเด็กใครโตมากับรายการอะไรบ้าง จะใช่ ‘เจ้าขุนทอง’ รายการตุ๊กตาหุ่นมือที่เด็กยุค 90 ไหมนะ หรือจะเป็น ‘ดิสนีย์คลับ’ รายการการ์ตูนที่มีหลายเจนเนเรชั่น, ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ วาไรตี้ที่เปิดเวทีให้เด็กได้มาแสดงความสามารถของตัวเอง, ‘ทุ่งแสงตะวัน’ รายการแนวสารคดีของเด็กกับธรรมชาติ หรือถ้าจะให้ย้อนไปไกลกว่านี้หน่อยก็น่าจะเป็นรายการ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ที่มี ‘น้านิต’ ของเด็กๆ ในวันนั้น หรือ ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ เป็นหัวเรือใหญ่ของรายการ
แม้จะห่างหายจากหน้าจอโทรทัศน์ไปนาน แต่ทุกครั้งที่สังคมตั้งคำถามถึงรายการทีวีสำหรับเด็กในฐานะพื้นที่การเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ชื่อของน้านิตมักถูกกล่าวถึง และกลายเป็นแหล่งอ้างอิงในการทำคอนเทนต์ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพเด็ก ซึ่งวันนี้กับสมญานามใหม่ “ย่านิต” ของหลานๆ ยุคดิจิทัล ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่ไม่ใช่บนแฟลตฟอร์มออนแอร์หรือออนไลน์ แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบออนกราวด์
ในช่วงก่อนที่สถานการณ์โควิด 19 จะกลับมาระบาดระลอกใหม่ เรามีโอกาสไปเยือน สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ ภายในพึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ชวน ‘น้านิต’ หรือ’ ย่านิต’ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรผึ้งน้อย ที่ได้สร้างโอกาสและพื้นที่ให้เด็กๆ ในยุคนั้นได้แสดงความเห็นและความสามารถของตนเอง ก่อนจะเบนเข็มมาสร้างสวนศึกษาผึ้งน้อยด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสและพื้นที่ปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
การล้มหายตายจากของ ‘รายการเด็ก’ พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน
“ทุกวันนี้ทุกอย่างต้องซื้อ ต้องจ่ายเงิน ความเก่งก็ต้องจ่ายเงินไปซื้อมา แต่ผึ้งน้อยเราไม่ได้เก็บเงินเด็กนะ ใครก็เป็นได้” ย่านิต แห่งสโมสรผึ้งน้อย พูดถึงราคาค่างวดของพื้นที่เด็กที่ต้องใช้เงินแลกมา นั่นจึงทำให้ ‘รายการเด็ก’ ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กๆ ต่างโบกมือลากันเป็นแถว
“เพราะตัวช่องเองก็ต้องการรายการที่มีเรตติ้ง แล้วผู้จัดอิสระก็ไม่มีผู้สนับสนุน พอไม่มีผู้สนับสนุนสถานีก็ต้องจ่าย สถานีเองก็กดดันว่าถ้าไม่มีเรตติ้งเขาเอารายการออกนะ ซึ่งในยุคนั้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว รายการถูกถอดได้ง่ายเลย ซึ่งเราก็เข้าใจนะ ธุรกิจก็คือธุรกิจ”
ถ้าอย่างนั้นแล้ว รายการสำหรับเด็กๆ ของเรายังจำเป็นอยู่ไหม
ย่านิตยืนกรานด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลแต่หนักแน่นว่า
“พื้นที่บนทีวีของเด็กไม่มีไม่ได้นะ มันเป็นพื้นที่เดียวที่จะสื่อสารกับเด็ก จอทีวียังไงก็ดูด้วยกันนะในครอบครัว เปิดมาจอใหญ่ๆ แล้วก็นั่งดู แล้วโทรทัศน์ยิ่งดูสดๆ เนี่ยมันเห็นแล้วก็ภูมิใจนะ ถึงจะมีดูย้อนหลัง แต่มันก็ไม่เหมือนดูสด ดูสดๆ มันได้ลุ้น มันมีความสุขร่วมกัน ยังไงก็ยังคิดว่า โทรทัศน์ รายการเด็กยังต้องมี”
แต่ถามว่าถ้ามีหน้าตาจะออกมาเป็นแบบไหน? ในฐานะคนทำรายการเด็กมากว่า 16 ปี ย่านิตมองว่า รายการที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องทำทั้งออนแอร์และออนกราวน์คู่กันไป ให้เด็กสัมผัสได้จริง
“อย่างผึ้งน้อยที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในจอเพียงอย่างเดียว เราออกไปโรงเรียน เราไปจัดกิจกรรมหลายที่ คือเด็กสัมผัสได้จริง แล้วอย่างจดหมายเนี่ยถึงบ้าน มันแตะต้องได้ โอเคทุกวันนี้มันมีเฟซบุ๊ก มีแชท มีไลน์ฟีดแบคถึงกันได้ แต่มันไม่เหมือนจดหมายนะ จดหมายที่มันเชยๆ เนี่ย แต่มันก็ยังได้ใจนะ”
เพราะรายการที่เด็กได้มีส่วนร่วมจริงๆ ทั้งออกแรงกาย แรงสติปัญญา ความสร้างสรรค์ ผลลัพธ์นอกจากความสนุกหลังจากที่เขาได้ทำ และความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองแล้ว ยังเกิดการเรียนรู้ที่เขาสร้างขึ้นเองด้วย
แรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถผ่านรายการทีวีเด็กในยุคนั้น
“ยุคก่อนเป็นยุคที่พื้นที่เล่นยังมีมากมาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วยซ้ำ ถนนหนทางมันก็ไม่ได้แออัดขนาดนี้ แล้วสนามเด็กเล่นยังไม่ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เด็กก็ยังมีพื้นที่ที่ได้เจอตัวเอง ได้วิ่งเล่น ได้ใช้ชีวิต แม้กระทั่งเด็กต่างจังหวัดเขาก็ยังได้วิ่งในท้องนา ได้ปีนต้นไม้ ได้โดดน้ำ ทีนี้โลกแบบนั้นมันไม่เหลืออีกแล้วในปัจจุบัน”
เด็กยุคนั้นมีโลกของตัวเอง ได้วิ่งเล่นได้เล่นกับเพื่อนๆ แต่การได้แสดงออก หรือการได้ยอมรับจากผู้ใหญ่มันยังไม่มี ผู้ใหญ่ก็ยังมองว่า เด็กต้องว่านอนสอนง่าย ถึงเวลากินๆ ถึงเวลานอนๆ ไปโรงเรียนก็ตั้งใจเรียน แล้วอย่าเถียง อย่าพูดเยอะ อย่าถามเยอะ นี่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่
“ในยุคนั้นเด็กต้องการการยอมรับ ต้องการตัวตน สโมสรผึ้งน้อยจึงเกิดเพื่อเปิดพื้นที่ให้เขาจริงๆ เราไม่ได้ทำรายการเพื่อให้น้านิตมาลอยหน้าลอยตา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นรายการที่เราพูดตลอดเวลาว่า มันเป็นรายการของเด็กนะคะ เด็กๆ อย่าปล่อยให้น้ามาทำรายการอยู่คนเดียว เขาก็มีความรู้สึกได้ว่าเขาเป็นเจ้าของ แล้วรู้สึกว่ามันปลอดภัย มาที่เราเนี่ย เขาไม่ล้มเหลว น้านิตก็ไม่เคยทำให้เด็กได้อาย
ทุกคนประสบความสำเร็จหมด คุยได้แล้วก็น่ารัก เมื่ออยู่บนเวทีก็น่ารักสมวัย และเราก็พยายามประคับประคองให้เขาประสบความสำเร็จ ตรงนั้นมันถึงเป็นพื้นที่ที่เด็กมีความสุข”
จาก ‘สโมสรผึ้งน้อย’ สู่ ‘สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้’ พื้นที่สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็กยุคนี้
เมื่อวันเวลาผ่านไป ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา จากรายการสโมสรผึ้งน้อยในวันนั้น 40 ผ่านไป ก็กลายมาเป็นสวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ในวันนี้ ซึ่งย่านิตทำสโมสรผึ้งน้อยมาราว 16 ปี ก่อนจะวางมือให้คนอื่นทำ และที่ผันตัวจากพื้นที่บนจอทีวีมาทำพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กๆ ในตอนนี้ ก็เพราะย่านิตมองว่า พอพูดถึงรายการทีวี เด็กก็มุ่งถึงการแสดง จะแสดง จะสวมบทบาท จะเป็นนักแสดง ทีนี้ในโลกปัจจุบันเราต้องพาเด็กให้มาพบกับความจริง ลงมือทำกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและส่วนรวม มองเห็นปัญหา และเข้าใจมัน
การกลับมาของผึ้งน้อย นอกจากเสียงเรียกร้องของคนที่เติบโตมาในยุคนั้นที่อยากจะให้มีพื้นที่การเรียนรู้ดีๆ สำหรับลูกหลานแล้ว ตัวย่านิตเองก็ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์ที่อยากจะสร้างโอกาสและพื้นที่ให้เด็กแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความสามารถ เพราะการได้ทำงานกับเด็กๆ ได้เฝ้ามองการเติบโตของเขา เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้
“ทีนี้จะเอากลับมายังไง ถ้าให้กลับมาทำทีวีเราทดลองทำแล้วมันไม่ใช่ ทำแล้วมันก็เหมือนกับว่าต้องเขียนบทอยู่ แล้วพอเขียนบทเด็กก็ต้องแสดง พอแสดงเขาก็ถือเป็นนักแสดง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงๆ ไม่เหมือนผึ้งน้อยแต่ก่อน เด็กผึ้งน้อยแต่ก่อนเขาแสดงแต่เขาไม่ได้เอาเพลงผู้ใหญ่มาร้อง เพลงเขาไม่ได้บอกว่าให้มารักกัน หรือว่าอกหักแล้วต้องชอกช้ำ ไม่ได้พูดเรื่องพวกนั้น มันพูดเรื่อง อย่าตัดต้นไม้ ช่วยกันหน่อยควันหมอกมันคลุ้งไปหมดแล้ว มันมีเพลงที่ปลุกระดมสร้างจิตสำนึกเยอะมาก เราก็ไปได้ทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นทุนที่เราอยากจะสร้างสำนึก เสนอเป็นโครงการผึ้งน้อยนักสู้ สู่สำนึกแห่งความเป็นพลเมือง กระบวนการสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้ใส่ใจสังคมและประเทศชาติ”
ราวสองปีแล้วที่สวนผึ้งน้อยนักสู้เกิดขึ้น ด้วยความสนับสนุนของเจ้าของพึ่งสุขฟาร์มพึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ที่อยากให้ย่านิตได้มีพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ร่วมกับเด็กๆ ฟาร์มแห่งนี้ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เลี้ยงควาย เพราะอยากให้เป็นพื้นที่ของการสร้างอาหารปลอดภัย และเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัว
เริ่มจากการสร้างสำนึกในเรื่องใกล้ตัวคือ ‘การกิน’ กินให้เป็น กินให้รู้คุณค่า, ‘การใช้’ ใช้ให้คุ้ม ใช้อย่างคิดถึงผู้อื่น แล้วก็เรื่อง ‘การให้’ ให้โอกาสต้นไม้ได้เติบโต เพราะว่ามนุษย์ไม่ค่อยยอมให้ต้นไม้โตเท่าไร มีต้นไม้เท่าไรตัดทิ้งหมด สุดท้ายคือ ‘การทำดี’ คือเราทำดีให้ได้ดี ไม่ใช่ยังทำไม่ถึงดีแล้วหยุดทำบอกว่าไม่เห็นได้อะไรเลย 4 เรื่องนี้ที่ย่านิตมองว่า ผึ้งน้อยนักสู้ต้องไปให้ถึง ซึ่งก็ต้องให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง พื้นที่นี้ถึงจะตอบโจทย์ได้ นี่คือหัวข้อหลักที่ย่านิตกำลังค่อยๆ สร้างกิจกรรมลงไป ซึ่งกิจกรรมที่ทำแล้ว แต่เกิดผลตอบรับที่ดีที่เดียวนั่นคือ ‘ขวดพลาสอิฐ’ (Eco-bricks) สร้างสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม
“เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กมากที่สุด ก็คือเรื่องของการใช้ เรื่องขยะในมือจะทิ้งหรือจะรับผิดชอบยังไง เศษพลาสสิก ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซองไอติม ซองขนมลูกอม ถ้าทิ้งลงถังขยะไปมันก็เป็นขยะฝังกลบนะ แต่ถ้าเก็บลงขวดๆ น้ำที่ใช้แล้ว แล้วอัดให้แน่น มันจะกลายเป็นอิฐแข็งเลย แล้วเอามาทำบ้านได้ อันนี้ได้ผล เข้าไปจัดกิจกรรมในโรงเรียนได้ผลดี เด็กๆ ตอบรับและทำทันที เพราะเขารู้สึกว่ามันใช่ แต่ว่าอันนี้ครูต้องสนับสนุน อย่างโรงเรียนวัดดอนเมือง ก็ส่งขวดพลาสอิฐที่เสร็จแล้วมาที่นี่แล้วก็มาสร้างบ้านดินด้วยกัน เป็นเวทีนิทานในบ้านดิน”
พลิกแพลงจากกรรมวิธีในการสร้างศาลาบ้านดินหลักแรก โดยการหุ้มขวดพลาสอิฐด้วยดิน แล้วก่อเป็นผนังขึ้นไปและใช้ดินผสมทรายผสมแกลบผสมฟาง ช่วยให้ยึดโยงและแข็งแรง คงทนมากขึ้น
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ย่านิตบอกว่าต้องทำความเข้าใจและย้ำกับทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองเลยว่า เวลาทำขวดพลาสอิฐต้องใช้ถุงพลาสติกที่เป็นขยะ ที่ใช้แล้ว ไม่ใช่ซื้อถุงพลาสติกที่ยังไม่ใช้มาอัดใส่ขวดจนเต็ม เพราะนั่นเป็นสร้างขยะ
“ที่นี่เราเป็นสวนแห่งการแบ่งปัน เรารับผิดชอบขวดของคุณ เราแบ่งปันพื้นที่ให้ๆ ขวดที่มีพลาสติกได้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ต้องเป็นขยะฝังกลบ ที่เรากำลังนั่งกันอยู่ข้างใต้ก็มีขวดพลาสอิฐอยู่ แทนที่จะต้องใส่อิฐหรือทรายเยอะๆ ก็แทนที่ด้วยขวดพลาสอิฐเป็นพันๆ ขวด สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้เราคิดว่าจะเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาสร้างผลงานของตัวเอง ถ้าเขาอยากจะจัดงานหรือแสดงผลงาน มาใช้ที่นี่ได้ อยากให้เป็นอย่างนั้น”
บทเรียนแรก “เคารพในดิน เคารพในตัวเอง เคารพในผู้อื่น”
สำหรับย่านิตแล้ว การทำบ้านดิน เหมือนได้เครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้มาอันหนึ่ง การที่ให้เด็กได้ย่ำดิน ได้ลงไปอยู่กับดิน มันเหมือนเขาได้กลับสู่ธรรมชาติ
“เด็กเขาได้สนุกได้เลอะเทอะ โดยไม่มีใครดุ มีบางคนที่มาถามว่า ผมใช้มือได้มั้ยครับ อยากขยำ เราบอกอย่าพึ่งๆ เพราะว่าถ้าหนูใช้มือทุกคนจะเลอะไปหมด เพราะหนูก็จะไปจับเพื่อนใช่มั้ย ตอนนี้เราแค่ย่ำพอ เพราะเราไม่ได้อยากให้เด็กมาเล่น โดยเฉพาะกับเรื่องของดิน
เราอยากให้เกิดการเรียนรู้ เคารพในดิน เคารพในตัวเอง เคารพในผู้อื่น เคารพในเพื่อนที่กำลังพยายามเรียนรู้ ความสนุกบางทีก็ต้องยั้ง ต้องระมัดระวัง ต้องมีขอบเขต แต่ว่าถ้าเพื่อนเขาไม่ว่าอะไร เราก็ไม่ว่าอะไร เด็กบางคนก็กลัวเลอะกลัวเปรอะ เราก็บอกเขาว่า จะกลัวทำไม เราเลอะก็แค่ล้าง”
กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กมีความสุข เขายังได้เลอะเทอะอย่างไม่ผิด เพราะถ้าลองไปทำเลอะเทอะที่บ้าน คงมีเสียงบ่นของแม่แน่นอน และเด็กๆ ยังได้ออกแรง เพื่อผลงานชิ้นเอกที่ตัวเองได้มีส่วนร่วม
“เรามีแปลง มีผืนนา ต่อไปเราคิดว่าจะให้เด็กมาทำนาด้วย แล้วก็ปลูกผัก แต่ก็ขอร้องผู้ปกครองว่าการทำนากับย่านิตที่นี่ขอให้ทำด้วยความเคารพ จะไม่ยอมให้เด็กเล่นเหยียบย่ำ ดินเขาก็มีชีวิต ต้องเตรียม ถ้าหนูไปย่ำแล้วดินจะพร้อมให้ต้นข้าวเติบโตได้อย่างไร แล้วถ้าหนูหว่านข้าวไปแบบตามมีตามเกิด ต้นข้าว ต้นกล้า จะขึ้นมั้ย เมล็ดข้าวจะงอกไหม หรืองอกออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะเติบโตได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการปักดำ เราก็ต้องให้เป็นแถวเป็นแนว สาเหตุเพราะว่าเราจะได้ดูแลเขาได้สบาย แต่ถ้าหนูเอากล้ามาโยนเล่น กล้าอุตส่าห์เติบโต หนูเอาเขามาโยนเล่นอย่างนี้ไม่เห็นประโยชน์ เราขอว่าอย่าทำ”
ย่านิตบอกเด็กๆ เรื่องการเคารพ การให้เกียรติ การเห็นคุณค่าของทุกสิ่งในชีวิตก็จากการได้ลงมือทำเสมอ ผ่านการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไม่ใช่ชี้นิ้วสั่งอย่างเดียว
“เรายังเคารพเลย จะย่ำดินยังให้เด็กขอขมาก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าดินที่เราย่ำลงไปมันมีสิ่งมีชีวิตอะไรอยู่บ้าง แล้วเรากำลังเหยียบย่ำเขา แล้วเราจะขอเอาดินมาใช้ทำเป็นบ้านทำอะไรต่ออะไร ต้องให้เด็กเขารู้สึกว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ใช่อยากได้ก็จะได้เลย อยากได้หินก็ไประเบิดภูเขา แต่จะระเบิดภูเขามันต้องคิดก่อน มันจะสะเทือนกับอะไรบ้าง จะตัดต้นไม้แต่ละต้นมันก็ต้องคิดแล้วคิดอีก”
และสำหรับกิจกรรมขวดพลาสอิฐนั้น ย่านิตบอกว่าอยากทำเป็นกิจกรรมต้นแบบ และอยากขยายไปสู่ชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบขยะของชุมชนตัวเอง จะได้สร้างจิตสำนึกเด็กของชุมชนนั้น เขาก็ได้ช่วยกันเก็บขยะ ช่วยกันทำบ้านดินด้วยขวดพลาสอิฐ เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย
“ขวดพลาสอิฐมันต้องเริ่มจากการแยกขยะนะ พอแยกแล้วเราจะเห็นเลยว่ามันเกิดการเรียนรู้เลย กระดาษก็ต้องแยกไว้ส่วนหนึ่ง เศษพลาสติก อะไรที่รีไซเคิลได้ก็ส่งไปรีไซเคิล อะไรที่จะกลายเป็นขยะฝังกลบเราก็เอามาทำขวดพลาสอิฐ ซึ่งต้องแน่ใจจริงๆ ว่ามันจะถูกฝังกลบ ต้องให้เด็กได้ศึกษาอะไรแบบนี้จริงๆ ฉะนั้นโครงการผึ้งน้อยนักสู้ เราอยากให้มันเกิดไปอย่างกว้างขวางในชุมชนอื่นๆ โดยมีเด็กเป็นแอมบาสเดอร์”
บทเรียนที่สอง “เรียนรู้จากการวิ่งเล่นและลงมือทำ”
นอกจากนั้นสิ่งที่ย่านิตให้ความสำคัญไม่ต่างกันคือ การพูดคุย ย่านิตให้ความสำคัญกับการฟังมาก ฟังว่าเด็กคิดอย่างไร ยิ่งเด็กเมืองที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้องเรียน
“มีความรู้สึกว่าเราประคบประหงมเด็กของเรามากเกินไป ควรจะให้เขาเจอแสงแดดเจอดิน ได้สัมผัส แต่เด็กเรากลัวแดดกลัวดำ แล้วก็ป่วยเพราะภูมิคุ้มกันไม่มี เราจะรังเกียจดินรังเกียจแดดกันไปทำไม แล้วพอคุณสร้างสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ต้นไม้ต่างๆ ในโรงเรียนก็ไม่ค่อยมี การที่เด็กๆ ได้นั่งใต้ต้นไม้ใหญ่สักต้นหนึ่ง เขาเงยหน้าขึ้นไปเขาจะเห็นชีวิตอื่นๆ เขาจะได้เรียนรู้อะไรอีกเยอะแยะ
แต่เราครอบเด็กของเราไว้ด้วยสิ่งก่อสร้าง แล้วชีวิตเด็กก็อยู่แต่ในกล่องสี่เหลี่ยม ซึ่งถ้ามาที่นี่เราไม่มีกล่องสี่เหลี่ยมแบบนั้นให้เด็กอยู่ ทุกอย่างโล่งหมด แล้วเด็กชอบมาก เด็กอยากวิ่ง”
ที่สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้จึงต้องมีการดีไซน์พื้นที่ให้เด็กๆ วิ่งอย่างปลอดภัย เพราะความปลอดภัยสำหรับเด็กนั้นสำคัญ และเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องจัดทำให้ดี
“เด็กผึ้งน้อย เราถือว่าเขาเป็นนักสร้างสรรค์ ถ้าเขาตั้งใจทำอะไร เขาจะทำได้เป็นอย่างดี แล้วก็ทำเพื่อส่วนร่วมด้วย แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า ถ้าให้ไปพูด หรือร้องเพลง มันสร้างสำนึกเหมือนเด็กสมัยก่อนไม่ได้หรอก เพราะเด็กสมัยก่อนไม่ได้มีอะไรรุกเร้ามาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง เด็กเดี๋ยวนี้พออกทีวี เขามุ่งเลย เขาจะเป็นนักร้อง นักแสดง เขามีเป้าหมายแบบนั้น
ฉะนั้นเราก็เลยคิดว่า เราอยากจะสร้างพื้นที่ที่จะสร้างจิตสำนึกจริงๆ เพราะเรารู้ว่าเด็กปลูกฝังได้ เพราะเขาพึ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ เราจะให้เขาเติบโตมาเป็นคนแบบไหน เป็นมนุษย์แบบไหน มนุษย์ที่มีความใส่ใจในตัวเอง ในโลก ในคนอื่น ในสิ่งแวดล้อม มันต้องให้เขาได้สัมผัสเอง”
หลายคนบอกยุคนี้ไม่ว่าเราจะอยากรู้เรื่องอะไร เพียงคลิกเดียวบนโลกอินเทอร์เน็ตก็รู้ได้หมดแล้ว แต่ย่านิตมองว่า “มันไม่เหมือนกัน คุณมาตรงนี้คุณได้วิ่ง คุณได้ทำ คุณได้เหนื่อยได้ปาดเหงื่อ แล้วก็มานั่งรวมกลุ่มกินข้าวกัน มันสนุก เขามีเพื่อน แล้วผู้ใหญ่ที่นี่ก็ไม่ได้ดุ เราคุยกันดีๆ ปรึกษาหารือกันได้ เราอยากจะให้เด็กได้มาร่วมงานกับเราจริงๆ เพราะพื้นที่มันกว้างมาก
ฝันและจินตนาการที่เราจะทำร่วมกัน เด็กลงมือทำได้ แล้วเราไม่ต้องเขียนบท ทำผึ้งน้อยแต่ก่อนบทเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่ามันไม่มีเวลาคุย แต่พอมาทำสวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ ไม่ต้องรีบ ทำเสร็จแล้วคุย คุยกันว่าหนูคิดยังไง แล้วหนูจะสื่อสารกับคนดูได้มั้ย ถ้ามีนักข่าวมาสัมภาษณ์จะเล่าให้เขาฟังยังไง อะไรแบบนี้ แล้วเด็กเขาคิดได้เลย”
ไม่ว่ายุคไหนเด็กทุกคนมีความสามารถ ต่างกันแค่บริบททางสังคม
เพราะย่านิตเชื่อมั่นในความสามารถของเด็กมาโดยตลอด ไม่ว่าจะยุคไหนเด็กทุกคนมีความสามารถ แต่ในยุคนั้นอาจถูกข่มขู่ให้กลัวก็เลยกลายเป็นไม่กล้า เพียงเพราะเป็นแค่เด็ก ซึ่งก็เหมือนกับระบบๆ หนึ่ง ที่กำหนดแล้วว่า อย่าถามมาก! อย่าตั้งคำถามเยอะครูไม่ชอบ หรือว่า อย่าพูดเยอะไม่น่ารัก ยิ่งเด็กผู้หญิงที่พูดเยอะก็จะถูกดุ เด็กคนไหนที่มีคุณพ่อคุณแม่เข้าใจและเปิดโอกาสถือว่าโชคดีมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเภทว่า เด็กนิ่งๆ เงียบๆ เท่ากับเด็กดี เด็กสุภาพ แต่ยุคนี้ถ้าใครมีลูกนั่งเงียบๆ น่าจะสร้างความกังวลมากกว่า ว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่ยิ้ม ทำไมไม่พูด ไม่สบายหรือเปล่า
“สโมสรผึ้งน้อยทำให้เด็กๆ มีความกล้า กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน กล้าที่จะแสดงออก บนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนรักที่จะทำเรื่องดีๆ แล้วก็ภูมิใจที่จะได้ร้องเพลงของสโมสรผึ้งน้อย ได้เล่นละคร ได้แสดง เพราะเรื่องราวที่เราให้เขานำเสนอมันเป็นเรื่องราวที่ดี เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเรื่องครูเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การเป็นคนที่มีเหตุมีผล การที่เห็นส่วนรวมเป็นใหญ่ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เขาคืออนาคต เขาคือพลัง ตอนนั้นเราพยายามบอกเด็กทุกคนเลยว่า ประเทศนี้เด็กทุกคนเป็นเจ้าของนะ แล้ววันหนึ่งเขาก็จะต้องเติบโต แล้วเขาก็จะต้องมาดูแลประเทศของเขา”
สิ่งที่เขาจะได้อันดับแรก คือ เห็นคุณค่าในตัวเอง ให้เขารู้สึกเลยว่าเขาสำคัญ พอเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว ก็จะเปิดประตูให้เขาจะกล้าแสดงออก หรือกล้าที่จะพูด แล้วเมื่อเขารู้สึกว่าเขามีตัวตน มีคุณค่า เขาเป็นคนที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ได้ด้วยตัวของเขาเอง
“แล้วเด็กผึ้งน้อยเขาค่อยข้างภูมิใจในตัวเอง เขาจะตั้งใจทำงานมาก เขาทำงานเก่งมากนะ พวกเราเปลี่ยนฉากภายใน 5 นาที เราเตรียมไว้เลยนะเพราะเราต้องไปอัดเทป ตอนนั้นเรามีเวลาอยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากที่วงผู้ใหญ่ถ่ายไปแล้ว เราจะมีเวลาสั้นๆ เราก็ต้องอัดหลายเพลง แล้วก็อยากเปลี่ยนฉากทุกเพลง พอผู้ใหญ่เล่นจบปุ๊บ เด็กๆ ก็รีบเลย รีบเปลี่ยนฉากไม่ถึง 5 นาทีเสร็จ เราก็แสดงอย่างดี ถ่ายสองครั้งต่อเพลง เด็กๆ ไม่ใช่แค่แสดงหน้าฉากเท่านั้น แต่เบื้องหลังพวกเขาก็ต้องทำหน้าที่เป็นทีมงานเหมือนๆ กัน ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง พอ 5 4 3 2 ม่านเปิดแล้วเด็กไม่เคยพลาด เด็กทำได้ดีที่สุด ดีมาก คือนับถือเด็กทุกๆ คน ทุกๆ รุ่นเลยนะ พลังเด็กเนี่ยนะเยี่ยมเลย พอคิดถึงผลงานที่เด็กๆ เขาทำแล้วเราก็มีความสุขใจ”
การทำงานกับเด็กไม่ว่าจะยุคไหน ย่านิตก็มองว่าต้องปล่อยให้เป็นงานของเด็กจริงๆ อย่างการทำงานกับเด็กในยุคนี้ แม้กระทั่งตอนพูดคุย เด็กๆ ก็มักจะคัดง้างกับย่านิตเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เด็กเถียงได้ เพราะจะทำให้เราเห็นความคิดของกันและกัน เพื่อทำความเข้าใจกัน และยอมรับกัน เป็นธรรมดาในการทำงานของคนต่างวัย
“ย่าชอบทำงานกับเด็กนะ เรามีควาสุข เด็กเถียงนะเขาไม่ยอมหรอก มีอยู่วันหนึ่งเราบอกให้เขาแบ่งงาน แพนช่วยดูหน่อยนะคะ แล้วย่าก็ต้องไปทำอย่างอื่น กลับมาถึงย่าก็ไปดู ก็ยังกลัวว่าน้องเขาจะว่างหรือเปล่า ก็เข้าไปยุ่ง น้องแพนเขาก็บอกว่า ย่านิตค่ะ ไม่ได้นะคะเราแจกงานกันไปหมดแล้ว ย่านิตมาทำอย่างนี้เสียระบบหมดนะคะ เราก็บอกโอ้…จริงเหรอ ขอโทษค่ะ งั้นได้เลยลูก แพนเอาตามที่ตกลงกันไว้เลยค่ะ ขอโทษนะคะ
เพราะตอนนั้นเรายังไม่เชื่อมั่นเขามากพอ เราก็รู้สึกว่าตอนนั้นทำไมเรายังเป็นคุณย่านิตนิสัยไม่ดีนะ ทั้งๆ ที่เรามอบหมายงานให้เขาแล้ว เราควรจะเชื่อมั่นเขามากกว่านี้สิ แล้วเขาก็ทำได้ดี อย่างลายข้างบ้านที่เป็นต้นไม้กับช้าง เขาก็ช่วยกันออกแบบแล้วก็ทำจนเสร็จ ที่เป็นเต่าเป็นทะเลทางด้านนู้น เด็กเขาก็เป็นคนทำ ซึ่งถ้าเราทำเราคิดไม่ได้อย่างนั้น เราปั้นไม่ได้อย่างนั้น งานเรามันจะเป็นงานที่แข็งๆ สวยแบบที่แข็งๆ แต่งานเด็กนี่จินตนาการเลย
เต่าทะเลเราก็คิดถึงเต่าตนุอะไรแบบนั้น แต่เด็กเขาทำเต่ามะเฟืองค่ะ เพราะเราพาเขาไปดูที่ศูนย์ฟื้นฟูพันธุ์เต่าทะเล เขาก็ได้ไปเห็นเต่า เขาอินมาก คือได้เห็นของจริง ได้เห็นปัญหา ได้ฟังวิทยากรพูด เขาเห็นเหรียญที่มันอยู่ในท้องเต่าแล้วก็ขยะที่ผ่าออกมา เต่าตายเพราะอะไร เด็กกลับมาย่าไม่ต้องเขียนบทเลย เขาพูดเองหมดเลย”
สโมสรผึ้งน้อยยังอยู่ในความทรงจำของเด็กรุ่นนั้นที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบัน
ย่านิตบอกเสมอๆ ว่า สิ่งที่เด็กได้สัมผัสด้วยตัวเอง จะนำไปสู่ความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ๆ นั้น คนที่ดูอยู่ทางบ้านแล้วเขียนจดหมายเข้ามาย่านิตก็รับรู้ได้ว่าเด็กมีความสุข แล้วเขาก็จะจดจำ
“เด็กผึ้งน้อยเขามีความภาคภูมิใจ แล้วแปลกมากนะ เด็กที่เขาดูอยู่ที่บ้านเขาเป็นแค่สมาชิกผึ้งน้อยแต่เขาภูมิใจ เพราะเด็กสมาชิกสโมสรผึ้งน้อยเป็นเด็กที่เก่ง แล้วเวลาเราเจอเด็กๆ เขาก็จะบอกว่า หนูก็เป็นผึ้งน้อยนะคะ แต่หนูมาไม่ได้ หนูอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีใครพาหนูมา คือเราไม่ได้ทำอะไรที่เวอร์วังนะ เราทำอะไรที่ง่ายๆ แต่ว่าเด็กทุกคนคิดว่าตัวเองทำได้ แล้วพอเขามีโอกาสเขาก็จะลงมือทำ
บางคนเขาดูแล้วก็เอาไปทำกิจกรรมที่โรงเรียน เหมือนผึ้งน้อยเป็นแรงบันดาลใจ แล้วเขาก็เติบโตมาจากตรงนั้น พอมาถึงปัจจุบันเขาก็พูดได้ว่ายังมีความสุขอยู่ แล้วหลายคนก็บอกอยากให้มันกลับมา อยากให้มีอะไรแบบนี้ อยากให้ลูกๆ เขาได้สัมผัสอะไรแบบนี้”
หากมีโอกาสได้ผลิตรายการสำหรับเด็กยุคนี้ ย่านิตอยากจะสื่อสารอะไรกับเด็กๆ
อยากทำรายการที่เด็กคิดกันเอง ทำกันเองเลย แล้วก็อยากจะสื่อสารด้วยวิธีคิด ให้คนดูเห็นเลยว่า เด็กเขาเริ่มคิดยังไงกัน แล้วมันจะเป็นรายการได้ยังไง เสร็จแล้วเขาคิดอย่างไร แล้วก็อยากให้มีคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมด้วย ให้เด็กฟังแล้วได้คิดตามว่า เขารู้สึกยังไงกับคำวิจารณ์เหล่านั้น แล้วจะนำมาปรับปรุงอย่างไร เราอยากให้มันเป็นรูปของสโมสรผึ้งน้อยนักสู้จริงๆ นักสู้เพื่อความดี นักสู้เพื่อโลกใบนี้ นักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม อะไรก็แล้วแต่เด็ก แล้วแต่แรงบันดาลใจที่เด็กเขามี โดยให้เด็กมีอิสระทางความคิด
“การให้เด็กฝึกรับมือกับแรงเสียดทานหลายๆ ด้านจากสังคม เขาต้องรับฟังผู้อื่นได้ ไม่ใช่ว่าของฉันเลิศประเสริฐศรี แล้วใครจะมาติไม่ได้ หนูพูดเป็น หนูก็ต้องฟังเป็น แล้วหนูก็ต้องมองโลกมุมบวกว่า ทุกคำแนะนำ ทุกความคิดเห็น มันไม่ใช่มาเพื่อทำลาย แต่มาเพื่อให้กำลังใจเราด้วยซ้ำไป ทำให้เราได้คิดมากขึ้น เราได้มีข้อมูล ข้อมูลสำคัญมาก เพราะเราทำเองเราไม่รู้เลย แต่พอคนอื่นเขาดูจากภายนอกเขาเห็นจุดบางอย่าง เราก็ต้องรับฟัง ย่าอยากทำแบบนั้น แล้วก็ย่าไม่อยากทำไปออกอากาศไปมันเหนื่อย อยากทำให้มันเกิดจริง ไม่อยากสร้างบท อาจจะทำลงในยูทูบ สร้างเด็กเป็นยูทูบเบอร์” ย่านิตทิ้งท้าย