- การฝึกลูกให้รู้จักความรู้สึกของตัวเอง ‘เท่าทันอารมณ์’ ทักษะที่ผู้ปกครองสามารถสอนลูกได้ตั้งแต่เล็กๆ จะเป็นตัวช่วยทำให้เขาสามารถจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น
- เมื่อลูกล้มแล้วร้องไห้พร้อมกับบอกว่าเจ็บ สิ่งที่พ่อแม่หลายคนมักทำทันที คือ เป่าลมลงที่บาดแผลแล้วบอกว่า “ไม่เจ็บนะลูก”
- ความรู้สึกเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ผู้ปกครองไม่ควรปฏิเสธความรู้สึกลูก ไม่ยัดเยียดความรู้สึกของเราให้ลูก และช่วยให้ลูกค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงให้เจอ
- สิ่งที่เราควรทำ คือ ถามว่าลูกเจ็บตรงไหน เจ็บแค่ไหน หรือเปรียบเทียบความเจ็บ เช่น ที่เจ็บแผลนี้มันเจ็บเท่าตอนโดนคุณหมอฉีดยาไหม? การทำแบบนี้จะทำให้ลูกอธิบายและเข้าใจความเจ็บได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยทำให้เขาหาวิธีก้าวผ่านความเจ็บนั้นไปให้ได้
Photo by Josh Applegate on Unsplash
‘ความเป็นห่วง’ กับ ‘ความคิดถึง’ เส้นบางๆ ของความรู้สึกที่สามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าแยกได้จะเบาลงเยอะ
“หนูไปเรียนไกลแล้วแม่จะเป็นห่วงหนูไหม?” ลูกสาวเอ่ยถามเรา ก่อนที่จะออกเดินทางไกล
“แม่คิดว่าแม่ไม่ห่วงหนูมากนะ เพราะแม่มั่นใจว่าหนูเอาตัวรอด ดูแลตัวเองได้ และที่สำคัญแม่มั่นใจว่า ถ้ามีอะไรหนูจะบอกแม่ทันที แม่เลยไม่ห่วงมาก แต่คงคิดถึงหนูมาก มากๆ เลยละ” คำตอบที่เราให้ลูกไปในวันนั้น
นี่ไม่ใช่คำตอบเพื่อให้ดูดี แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เรารู้สึก ความมั่นใจที่เรามีว่าลูกจะเอาตัวรอดได้ ดูแลตัวเองได้ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจแย้งว่า เธอจะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกจะเจออะไรบ้าง? จริงอยู่เราไม่สามารถมั่นใจอนาคตที่ยังไม่เกิดได้ แต่ความมั่นใจที่เรามีมันมาจากอดีตที่ผ่านมา ที่เราเรียนรู้ สอน ฝึกฝน ให้ความรักลูก ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่เราอยู่กับเขา
ซึ่งความรักที่เราให้ลูกเป็นแบบไหน? แบบปกป้อง โอบกอด ให้เขาอยู่กับเราตลอดไป หรือให้ความรักแบบเตรียมพร้อมให้เขาโบยบินสู่โลกกว้างอย่างแข็งแรง
ถ้าเรามั่นใจว่า เราให้ความรักแบบอย่างหลัง ความห่วงก็จะเบาบางลงไปเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้แปลว่าเราจะไม่ห่วงลูก ปล่อยปละละเลยและคิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย ภายใต้ความไม่ห่วงนั้น เราก็ต้องมีทั้งเตรียมการป้องกัน รวมทั้งเผื่อใจเตรียมรับหากสถานการณ์มันไม่เป็นอย่างที่เรามั่นใจไว้ด้วย ทำให้ลูกรับรู้ว่าหากอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น อ้อมกอดของพ่อแม่ยังคงอ้าแขนรอเขาอยู่เสมอ…
ส่วนเทคนิคหรือวิธีการในการให้ความรักแบบเตรียมพร้อมให้เขาโบยบินสู่โลกกว้างนั้น เราก็เคยเขียนแชร์ประสบการณ์ของตัวเองในบทความครั้งก่อน “เตรียมตัวอย่างไรก่อนลูกออกจากอก : เมื่อลูกต้องไกลห่างท่ามกลางข่าวละเมิดเด็กมากมาย ประสบการณ์จากคุณแม่โฮมสคูล” อีกทั้งคิดว่าสามารถหาอ่านงานเขียน งานวิจัยของคุณหมอ ของผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กได้ไม่ยาก
บทความชิ้นนี้เราอยากมาแชร์ประสบการณ์การฝึกลูกให้รู้จักความรู้สึกของตัวเอง หรือในทางวิชาการอาจเรียกว่า การเท่าทันอารมณ์ตัวเอง นั่นแหละ เป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็กและมันจะส่งผลตอนโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตอนที่เราต้องรับมือกับอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น แม้แต่พ่อแม่เองถ้าถูกฝึกมาอย่างดีก็จะเป็นประโยชน์มากเมื่อลูกออกจากอก
เช่น ‘ความเป็นห่วง’ กับ ‘ความคิดถึง’ เส้นบางๆ ของความรู้สึกที่บางทีมันทับซ้อนกันจนเราแยกไม่ออก บางครั้งเรารู้สึกทั้งกังวล เศร้า ปนเปไปหมด จนแยกไม่ออกว่าเรากำลังมีความรู้สึกอะไร แต่ถ้าเราแยกออกได้ เราจะรู้ว่าอะไรเป็นความรู้สึกหลักตอนนี้ ‘ห่วง’ หรือ ‘คิดถึง’
ถ้าห่วงก็จะมีความกังวล ความกลัวว่าอาจเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับลูก แล้วถ้าแก้ด้วยวิธีโทรคุยก็อาจจะยิ่งเพิ่มความห่วงสารพัด พาลนอนไม่หลับได้ ต้องหาวิธีอื่นอย่างแก้ แต่ถ้าคิดถึงเพราะห่างกัน ไม่ได้นอนกอดกัน ทำให้เกิดอาการโหยหา เพ้อถึง ก็คงต้องแก้อีกแบบ เช่น โทรหากันเพื่อรับรู้สารทุกข์สุกดิบ ซึ่งก็คงพอคลายความคิดถึงได้ หรือแม้แต่การอย่างอื่นทำก็ช่วยผ่อนความคิดถึงลงไปได้ วิธีแก้ความคิดถึงก็จะต่างจากวิธีแก้ความเป็นห่วง
ความรู้สึกเป็นเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล ของคนคนนั้น
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องฝึกฝนลูกให้รู้จัก หรือเท่าทันความรู้สึกของตัวเอง จากประสบการณ์ของเรา คือ การไม่ปฏิเสธความรู้สึกของตัวเอง แม้มันจะเป็นความรู้สึกด้านลบ ต้องคิดไว้เสมอว่าความรู้สึกเป็นเอกสิทธิ์ของคนๆ นั้น ไม่มีใครเหมือนและไม่มีใครมีสิทธิ์บอกว่า ไม่ใช่
เช่น เมื่อลูกล้มแล้วร้องไห้พร้อมกับบอกว่าเจ็บ สิ่งที่พ่อแม่หลายคนมักทำทันที คือ เป่าลมลงที่บาดแผลแล้วบอกว่า “ไม่เจ็บนะลูก” ความเจ็บเป็นของลูกไม่ใช่ของเรา เราจึงไม่ควรปฏิเสธความเจ็บนั้นให้พ้นไปจากลูก สิ่งที่เราควรทำ คือ ถามว่าลูกเจ็บตรงไหน เจ็บแค่ไหน การเปรียบเทียบความเจ็บ เช่น ที่เจ็บแผลนี้มันเจ็บเท่าตอนโดนคุณหมอฉีดยาไหม? หรือเจ็บเท่าที่โดนมดกัดวันนั้น เป็นต้น การทำแบบนี้จะทำให้ลูกอธิบายและเข้าใจความเจ็บได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วยทำให้เขาหาวิธีก้าวผ่านความเจ็บนั้นไปให้ได้ เช่น ถ้าเจ็บเท่าที่ลุงหมอฉีดยาวันก่อน วันนั้นลูกทำอย่างไรถึงหายเจ็บ เป็นต้น
หรือถ้าวันนี้อากาศหนาว เราอยากให้ลูกใส่เสื้อกันหนาวไปโรงเรียน แต่ลูกปฏิเสธเพราะตัวเขาไม่รู้สึกหนาว พ่อแม่จะทำอย่างไรกับเหตุการณ์นี้? ด้วยความเป็นห่วงว่าลูกจะหนาว หรืออาจป่วยไดเ ส่วนใหญ่ก็มักเลือกที่จะยัดเยียดให้ลูกใส่จนได้ พร้อมทั้งยัดเยียดความรู้สึกหนาวให้ลูกด้วย ทั้งที่ความรู้สึกหนาวเป็นของเรา ไม่ใช่ของลูก สิ่งที่เราควรทำก็แค่เอาเสื้ออกันหนาวใส่กระเป๋าให้ลูก และบอกเขาว่า “วันนี้แม่รู้สึกหนาวจัง เป็นห่วงว่าหนูจะหนาวเหมือนแม่ ถ้ารู้สึกหนาวเมื่อไหร่ก็หยิบเสื้อกันหนาวไปใส่นะ แม่ใส่ไว้ในกระเป๋าให้แล้ว” เป็นต้น
หรือบางทีลูกก็อาจเกิดความรู้สึกที่ซับซ้อนเกินกว่าตัวเขาจะเข้าใจ เช่น ทะเลาะกับเพื่อนมา รู้สึกโมโห โกรธ ร้องไห้ แต่ใจก็ยังอยากเล่นกับเพื่อนอยู่ดี สุดท้ายเขาอาจจะพูดว่า ‘หนูเกลียดเพื่อน’ พ่อแม่บางคนฟังแล้วอาจตกใจ หรือไม่ก็รีบปฏิเสธความรู้สึกนั้นให้พ้นไปจากลูกทันที ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้พ่อแม่ควรให้ลูกค่อยๆ ค้นความรู้สึกที่แท้จริงให้เจอ อาจจะด้วยการตั้งคำถาม เช่น หนูรู้สึกเกลียดเพื่อน แสดงว่าวันพรุ่งนี้หนูจะไม่เล่นกับเขาแล้วใช่ไหม? หรืออะไรที่เพื่อนทำที่ทำให้หนูรู้สึกว่าเกลียด เป็นต้น พ่อแม่อาจช่วยแยกความรู้สึกของลูกออกมา เช่น ถ้าลูกรู้สึกแบบนี้เรียกว่าโกรธ เพราะลูกไม่ชอบที่เพื่อนทำแบบนี้ใช่ไหม? หรือถ้าลูกไม่ชอบที่เพื่อนแย่งของ แล้วถ้าเพื่อนไม่แย่งของแล้วลูกจะยังอยากเล่นกับเพื่อนได้ไหม? เป็นต้น
การไม่ปฏิเสธความรู้สึกลูก ไม่ยัดเยียดความรู้สึกของเราให้ลูก และช่วยให้ลูกค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงให้เจอ เป็น 3 สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญและพยายามใช้กับลูกมาตั้งแต่เล็กจนโต
เมื่อวันหนึ่งลูกออกจากอกเรา โบยบินไปใช้ชีวิตคนเดียว นั่นแหละคือเวลาที่สิ่งที่เราและลูกฝึกฝนมาทั้งหมดจะเริ่มทำงาน
“รู้สึกเหงาๆ นะแม่ แต่ไม่ได้เศร้า” วันหนึ่งลูกสาววัย 12 ขวบบอกมาตามสาย ขณะที่เราคุยข้ามประเทศกัน ในวันที่ลูกต้องไปใช้ชีวิตที่หอคนเดียวในต่างแดน ถึงแม่อย่างเราจะฟังแล้วน้ำตาซึมแต่ก็ยิ้มได้ เพราะประโยคนั้นทำให้เรารู้ว่าจะช่วยลูกอย่างไร และคิดว่าภายใต้ประโยคนั้นลูกเองก็รู้วิธีการที่จะจัดการกับความรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน เพราะเมื่อรู้ชัดว่านี่คือ ‘ความเหงา’ ไม่ได้เศร้า จึงไม่ได้ร้องไห้ ขณะที่ลูกบอกประโยคนั้นมา หน้าที่ของคนเป็นแม่คือช่วยลูกทำความรู้จักกับความรู้สึกนี้ สิ่งที่ผู้เขียนทำคือการชวนลูกคุยว่า ความรู้สึกเหงาที่ว่านี่เป็นยังไง?
“มันเคว้ง เคว้ง เหมือนไม่มีใคร แต่ก็มีเพื่อนอยู่นะ” ลูกตอบ
แล้วคิดว่าเพื่อนคนอื่นๆ รวมทั้งแม่ด้วย จะมีความรู้สึกแบบนี้ไหม? – เราถามลูกกลับ
“ก็มีแหละแม่ เพื่อนบางคนก็ร้องไห้ก็มีนะ” ลูกตอบ
เมื่อลูกเห็นว่าความเหงาเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่ห่างบ้าน ห่างพ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือแม้แต่บางคนอยู่บ้านตัวเองก็เหงาได้ ความเหงาจึงเป็นเหมือน ‘เพื่อน’ อยู่ที่เราจะทำความสนิทสนมกับเพื่อนคนนี้ได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน ผู้เขียนชวนลูกให้หาวิธีการที่จะเป็นเพื่อนกับความเหงาให้ได้ในแบบของเขา แล้วมาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เพราะเมื่อลูกสามารถบอกได้ชัดว่าว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร จึงง่ายขึ้นในการช่วยลูกให้ผ่านความรู้สึกนั้นได้ง่ายขึ้น ตัวลูกเองก็ด้วย “วางสายจากแม่แล้ว ก็ลองโทรคุยกับเพื่อน กับพี่ซักคนที่หนูอยากคุยก็ดีนะลูก” ผู้เขียนบอกลูกก่อนวางสาย
อีก 2 ชั่วโมงต่อมา เสียงปลายสายที่โทรมาสดใสขึ้นและบอกว่า “หนูโทรไปคุยกับพี่บัวมาแหละ (พี่คนหนึ่งที่ลูกสนิทสนมและคุยได้ทุกเรื่อง) คุยกันยาวเลย หนูรู้สึกดีขึ้นมากเลยแม่” และก็เล่า เล่า เล่า เรื่องที่คุยกับพี่ซะยาวเลย ผู้เขียนจึงค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่เราสอนลูกมาตลอดมันทำงาน
ลองคิดในทางกลับกัน หากลูกโทรมาร้องห่มร้องไห้ พูดแต่ว่าไม่อยากอยู่ อยู่ไม่ได้ คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ อยากกลับเหลือเกิน อยากกลับมากๆ ถ้าเป็นแบบนั้นเชื่อเหลือเกินว่าหัวใจคนเป็นพ่อแม่ก็คงร้องไห้ไม่ต่างจากลูก และการจะช่วยประคองอารมณ์ความรู้สึกลูกก็ยากเป็น 2 เท่า และถ้าเป็นแบบนั้นแม้แต่ผู้เขียนเองก็ไม่น่ารอด
ฉะนั้น วันนั้นที่ลูกถามเราว่า “หนูไปเรียนไกลแม่เป็นห่วงหนูไหม?” “แม่คิดว่าแม่ไม่ห่วงหนูมากนะ เพราะแม่มั่นใจว่าหนูเอาตัวรอด ดูแลตัวเองได้ และที่สำคัญแม่มั่นใจว่าถ้ามีอะไรหนูจะบอกแม่ทันที แม่เลยไม่ห่วงมาก แต่คงคิดถึงมาก มาก เลยหละ” เราตอบลูกไปในวันนั้น
และคำตอบวันนั้นเราเองก็ไม่ต่างจากลูก มันก็ทำให้ผู้เขียนเองก็ชัดเจนกับความรู้สึกของตัวเองเช่นกัน และสามารถรับมือ จัดการความรู้สึกตัวเองได้ง่ายขึ้นในวันที่ลูกออกจากอก เพราะเมื่อรู้ว่า ‘คิดถึง’ มันไม่ใช่ความรู้สึกที่เลวร้ายอะไร แค่ต้องหาวิธีเข้าหา และสนิทสนมกับเขาให้ได้ เราก็จะอยู่กับความคิดถึงอย่างไม่เป็นทุกข์ เพราะเราไม่ได้ห่วง กังวล เรื่องอื่นๆ เพราะหาก ‘ห่วง’ คงต้องรับมืออีกแบบ
ทุกความรู้สึกมีผลต่ออารมณ์ของเราที่ต่างกัน ฝึกลูกให้รู้จักความรู้สึกแต่ละแบบ คือ การรับมือกับอารมณ์อย่างมีเป้าหมาย แต่ที่สำคัญตัวเราเองก็ต้องเท่าทันกับความรู้สึกนั้นด้วยเช่นกัน จึงจะฝึกลูกได้ หรือถ้าพูดให้ชัดขึ้นการฝึกลูกให้เท่าทันอารมณ์ตัวเองนั้นก็เป็นการฝึกฝนตัวเราเองด้วยเช่นกัน