- ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะว่าเด็กไทยมักจะได้รับอาหารที่มีสารอาหารไม่พอ เด็กไทยขาดโปรตีน ขาดไอโอดีน ธาตุเหล็ก ทั้งหมดนี้จะไปผูกโยงกับการพัฒนา IQ และสติปัญญา ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้ามเด็กไทยได้อาหารจนล้นเกิน ได้ไขมันเยอะ ได้แป้งมาก ได้น้ำตาลมาก หวานจัดเค็มจัดเยอะ กินผักผลไม้น้อย ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
- “การได้รับอาหารของเด็กไม่เพียงพอ” มาจากสามด้าน หนึ่ง – พ่อแม่ขาดความรู้และทักษะในการให้อาหารลูกที่บ้าน สอง – การขาดการจัดการที่ถูกหลักและเอาใจใส่จากที่โรงเรียน และสภาพแวดล้อมรอบโรงเรียน ชุมชน และสาม – พฤติกรรมการกินของตัวเด็ก ซึ่งต้องแก้ทั้งสามด้านไปพร้อมกัน
- อาหารกลางวันโรงเรียนนั้นเป็นเพียง 5 ใน 21 มื้อ ของชีวิตพวกเขาในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น อาหารเช้า อาหารเย็น วันเสาร์อาทิตย์ และปิดเทอม อยู่ในมือผู้ปกครอง
- “เด็กกินหวานมันเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย เป็นพฤติกรรมปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็ก แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่ความผิดของเด็ก จะมาโทษเด็กไม่ได้ เด็กเขาพร้อมที่จะรับสิ่งดีๆ เข้าสู่ตัวเอง แต่พ่อแม่ไม่ได้รับการฝึก เด็กก็เลยเป็นแพะรับบาปไปโดยปริยาย”
- ลูกไม่กินผักไม่ใช่เป็นเพราะกรรมพันธุ์ แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึก สิ่งนี้แก้ได้ถ้าคุณฝึกลูกตั้งแต่เด็ก
ภาพ ปริสุทธิ์
“เด็กวัยเรียน เป็นวัยที่ต้องการการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา (IQ) และอารมณ์ (EQ) การเจริญเติบโตมันไม่ได้เกิดจากธรรมชาติแต่ต้องเกิดจากการเลี้ยงดู การให้อาหารที่ถูกต้อง มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กที่ได้รับอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการครบถ้วน จะมีสติปัญญา IQ การพัฒนาร่างกาย ความสูง รูปร่าง ภาวะโภชนาการจะปกติกว่าเด็กที่ได้รับอาหารที่ไม่ครบ” ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ปรึกษา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข กล่าวถึงความสำคัญของอาหารและโภชนาการที่มีต่อเด็กวัยเรียน และสาเหตุที่ The Potential เชิญอาจารย์สง่ามานั่งพูดคุยกันในวันนี้
ต้นไม้จะเติบโตได้อย่างไรหากขาดน้ำและแดด เช่นกันกับพัฒนาการของเด็กวัยเรียน สมองจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรหากท้องไม่อิ่ม อาหารที่ถูกหลักโภชนาการและปริมาณที่ครบสามมื้อ จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเด็ก ผู้ปกครองและผู้ใหญ่อาจฝากความหวังไว้ที่โรงเรียน (ไม่นับข่าวปัญหากลางวันโรงเรียนที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ) ทว่าเด็กต้องการอาหารสามมื้อตลอดเจ็ดวันต่อสัปดาห์ อาหารกลางวันโรงเรียนนั้นเป็นเพียง 5 ใน 21 มื้อ ของชีวิตพวกเขาในหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น มื้อเช้า มื้อเย็น วันเสาร์อาทิตย์ และปิดเทอม มื้อที่เหลืออยู่ในมือผู้ปกครอง สถานการณ์โภชนาการเด็กไทยวันนี้เป็นอย่างไร แล้วผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมในการจัดสรรมื้ออาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ลูกๆ ได้อย่างไร รวมไปถึงคำถามยอดฮิตอย่าง อยู่คอนโดไม่มีครัวไม่มีเวลาเตรียมอาหารควรทำอย่างไร และลูกไม่กินผักทำอย่างไรดี เราหาคำตอบมาให้แล้วในย่อหน้าถัดไป
ปัญหาโภชนาการของเด็กๆ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะว่าเด็กไทยมักจะได้รับอาหารที่มีสารอาหารไม่พอ เด็กไทยขาดโปรตีน ขาดไอโอดีน ธาตุเหล็ก ทั้งหมดนี้จะไปผูกโยงกับการพัฒนา IQ และสติปัญญา ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้ามเด็กไทยได้อาหารจนล้นเกิน ได้ไขมันเยอะ ได้แป้งมาก ได้น้ำตาลมาก หวานจัดเค็มจัดเยอะ กินผักผลไม้น้อย ปัญหาสองอย่างนี้เกิดขึ้นกับเด็กวัยเรียน ถ้าเด็กกินแบบนี้บ่อยๆ จะมีผลกระทบแน่นอน ประการแรกคือการเจริญเติบโต สูงไม่ทันเพื่อน ตัวเตี้ย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจ็บป่วยบ่อยเป็นหวัดบ่อย ลาเรียนบ่อย ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือผลการเรียน เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่สมดุล จะมีประสิทธิภาพการเรียนด้อยกว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ สิ่งนี้ชัดเจนมาก
ประการที่สอง ถามว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เกิดจากการเลี้ยงดู ที่ให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คำว่า ”การได้รับอาหารของเด็กไม่เพียงพอ” มาจากสามด้าน ด้านที่ 1 – พ่อแม่ที่เป็นคนคอยดูแลลูกขาดความรู้ทักษะในการให้อาหารลูกขณะที่ลูกอยู่บ้าน ทั้งวันเสาร์อาทิตย์ ทั้งช่วงปิดเทอม ด้านที่ 2 – โรงเรียน หลักการจัดการอาหารโรงเรียนให้เด็กกิน นม น้ำดื่ม ขนม วิธีที่ปฏิบัติกันอยู่ถูกต้องไหม ด้านที่ 3 – ตัวเด็กเอง 3 ด้านนี้เป็นอิทธิพลต่อการกินอาหารของเด็ก
ดังนั้นการที่เราจะแก้ไขปัญหา ไม่ใช้แก้ที่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว เราจะต้องแก้ไขให้ครบทั้ง 3 ด้านนี้ และยังมีกลุ่มเป้าหมายรองอีก เช่น แม่ครัว แม่ค้าขายขนมในโรงเรียน ล้วนเกี่ยวข้องการได้รับสารอาหารของเด็กไม่เพียงพอ ฉะนั้นจะมาแก้ที่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ในภาพรวม
พอพูดถึงอาหารเด็กวัยเรียน คนมักจะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาอาหารกลางวันในโรงเรียน
ปัญหาที่โรงเรียนตอนนี้คือเด็กจะกินอาหารที่โรงเรียนอย่างน้อย 1 มื้อกลางวัน เฉพาะจันทร์ถึงศุกร์ ทั้ง 5 วัน ถ้าเป็นอาหารที่ไม่มีคุณค่าในโรงเรียนก็จะมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของเด็กได้ มีผลต่อ IQ ของเด็กถ้าสารอาหารมันไม่พอ ซึ่งเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียนขณะนี้ทางรัฐบาลโดยเฉพาะกรมอนามัย สสส. และกระทรวงศึกษาธิการ พยายามพัฒนาคุณภาพขึ้นมา ถามว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นตอนนี้คืออะไร ปัญหาคืออาหารมันไม่มีคุณภาพ คืออาหารไม่ครบ 5 หมู่ อาหารไม่สมดุล อาหารปนเปื้อนเชื้อโรคสารเคมีไม่ปลอดภัย นี่เป็นปัญหาที่มีอยู่ในโรงเรียนไทยในขณะนี้
ถ้าจะพูดถึงโรงเรียน อาหารโรงเรียนไม่ใช่แค่อาหารมื้อกลางวันที่อยู่ในถาดหลุม แต่เรามองถึงอาหารว่าง ผลไม้ ขนมกรุบกรอบที่อยู่ในโรงเรียน เครื่องดื่ม น้ำอัดลม ขนมหวานในโรงเรียน และนมโรงเรียน สิ่งสำคัญที่ถูกละเลยอีกประเด็นคือเรื่องน้ำดื่มไม่สะอาด ซึ่งเกี่ยวโยงกันหมด ฉะนั้น อาหารโรงเรียนครอบคลุมทั้งหมดคืออาหารกลางวัน อาหารเช้าที่เด็กไม่ได้กิน อาหารว่าง นม เครื่องดื่ม ทั้งหมดให้สารอาหารเด็กได้ไม่ครบถ้วน หรือหวานเกิน มันเกิน เค็มเกิน ซึ่งปัญหาอาจจะมาจากหนึ่ง – นโยบายของโรงเรียนไม่ดีพอที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา พอผู้บริหารโรงเรียน เช่น ผอ.ไม่เน้นเรื่องนี้โรงเรียนก็จะเละ สอง – ครูแม่ครัวที่มีส่วนรับผิดชอบทำอาหารให้เด็กนักเรียนนั้นขาดความรู้และทักษะในการบริหารจัดการอาหารในโรงเรียนให้มีคุณภาพ ขาดการอบรมเท่าที่ควร ถามว่าทำไมขาด? ครูบางคนมีความรู้แต่ไม่มีเวลาอยู่ในครัว แม่ครัวเองก็ได้ค่าจ้างถูกมากเพียงแต่มาปรุงอาหารให้เป็นแล้วก็จบ บทบาทของแม่ครัวต้องมากกว่าการทำกับข้าว
สิ่งสำคัญ คือ เราขาดผู้รู้ที่จะไปบอกครู บอกพ่อแม่ บอกแม่ครัว คำว่าผู้รู้คือนักโภชนาการชุมชน เป็นสิ่งที่ประเทศเรายังขาด สิ่งที่สาม – ขาดการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ให้เด็กกินหวานมันเค็ม แต่โรงเรียนขายขนมกรุบกรอบขายขนมถุง โรงเรียนขายน้ำอัดลม แสดงว่าโรงเรียนมีสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยแล้ว ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญการสร้างปัจจัยเอื้อให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นสำคัญมาก
นอกจากที่โรงเรียนแล้ว ปัญหาการกินของเด็กเกิดจากที่ไหนอีกบ้าง
เรื่องการให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครอง ก็กลับไปที่โรงเรียนค่อนข้างละเลยในการให้ความรู้ทักษะแก่เด็กนักเรียนและพ่อแม่เพื่อให้ไปดูแลลูกที่บ้าน โรงเรียนไม่ได้ใส่ใจทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้พฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง หมายถึงการบูรณาการในหลักสูตรการเรียนการสอน ต่อมาคือปัญหาการกินอาหารของเด็กที่บ้านที่ไม่ได้เกิดจากเด็กแต่เกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กเขาเป็นผ้าขาวที่จะรับสิ่งดีๆ ถูกฝึกและปูพื้นฐานให้มีพฤติกรรมการกินการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องมาตั้งแต่เกิด ปัญหารการกินอาหารของเด็กที่บ้านคือการกินหวานมันเค็ม เด็กกินขนมกรุบกรอบน้ำอัดลม เด็กกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ สิ่งนี้เหมือนกันกับที่อยู่ในโรงเรียน
แต่อย่าลืมว่าที่บ้านมันมีอาหารทั้งหมดอยู่กี่มื้อ มื้อเช้าก็ที่บ้าน มื้อเย็น สามมื้อวันเสาร์อาทิตย์ ปิดเทอมก็ที่บ้าน เด็กกินอาหารที่บ้านมากกว่าที่โรงเรียน ดังนั้นเราจะมาเน้นที่โรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ การแก้ปัญหาของรัฐบาลตอนนี้เราหลงทาง เราชอบไปแก้การกินอาหารของเด็กที่โรงเรียนแต่ลืมเน้นที่บ้าน สิ่งที่จะต้องทำคือการจะทำอย่างไรให้พ่อแม่มีทักษะในการให้อาหารลูก เห็นความสำคัญของอาหารโภชนาการของลูกในวัยเรียน
ตัวเด็กไม่ว่าจะอนุบาล ประถม มัธยม โดยเฉพาะอนุบาลการ จะต้องฝึกให้เด็กมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้อง เราจะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ที่บ้านเลย เช่นเด็กไม่กินผัก การที่เด็กไม่กินผักเพราะพ่อแม่ไม่ได้ฝึกให้ลูกกิน ที่สำคัญพ่อแม่คนรุ่นใหม่ไม่ยอมกินผักลูกก็เลยไม่กินผัก เพราะพ่อแม่ไม่รู้ว่าเด็กไม่กินผักโตขึ้นเด็กจะเป็นมะเร็ง มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และมีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กไม่กินผักผลไม้มีโอกาสเป็นโรค NCD (non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากนิสัยและพฤติกรรม เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต) เมื่ออายุมากขึ้น ตอนเป็นเด็กไม่เป็นไรแต่อายุมากขึ้นแล้วจะเจอ เราไม่เคยมองเห็นระยะยาว ดังนั้นปัญหาที่เด็กกินหวานมันเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย เป็นพฤติกรรมสี่ห้าอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็ก
แต่ขอย้ำว่าไม่ใช่ความผิดของเด็ก จะมาโทษเด็กไม่ได้ เด็กเขาพร้อมที่จะรับสิ่งดีๆ เข้าสู่ตัวเอง แต่พ่อแม่ไม่ได้รับการฝึก เด็กก็เลยเป็นแพะรับบาปไปโดยปริยาย
ที่สำคัญที่สุดก็คือสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโซเซียลมีเดีย โทรทัศน์ วิทยุทั้งหลายมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกินของเด็ก เพราะเด็กสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ โซเซียลมีเดีย หรือสื่ออะไรก็แล้วแต่ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้มันมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการกินของเด็กโดยสิ้นเชิง
นอกจากผู้ปกครอง ที่บ้าน โรงเรียน แม่ครัว แล้วยังมีปัจจัยอะไรอีกที่ส่งผลต่อการกินอาหารของเด็ก
โภชนาการของเด็กนักเรียนไม่ได้มีแค่ในโรงเรียนเท่านั้น ต้องมีอยู่ที่ชุมชนด้วย คำว่า “ชุมชน” พอเด็กเลิกเรียนมาขนมกรุบกรอบน้ำอัดลมเต็มนอกโรงเรียนเลย โรงเรียนไม่มีขายเป็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม แต่รอบโรงเรียนขายเต็มไปหมด ดังนั้นตรงนี้จึงแก้ปัญหาไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้อาหารรอบรั่วโรงเรียนถูกโภชนาการ แล้วก็อาหารที่ซื้อในชุมชน อาหารในร้านสะดวกซื้อทั้งหลายก็เหมือนกัน ตรงนี้อาจารย์กำลังจะพูดว่ารัฐบาลต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดูแลว่าอาหารว่างของเด็กต้องเป็นมิตรต่อสุขภาพเด็ก เด็กใช้พลังงานเรียน พลังงานเล่นกีฬาเยอะมากพอเลิกเรียนเด็กหิวมาก พอหิวเด็กต้องกิน อาหารที่กินอยู่ในร้านสะดวกซื้อ เป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ “นักโภชนาการชุมชน” ถ้าไม่มี ถามว่าครู แม่ครัว ผู้ปกครอง จะเอาความรู้ที่ไหนมา ถ้าแค่มาจากการอบรมของเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขนั้นไม่เพียงพอ ตอนนี้สาธารณสุขงานล้นมือ ดังนั้นการเรียกร้องให้ประเทศไทยมีนักโภชนาการชุมชนอย่างน้อยตำบลละ 1 คนเข้าไปในโรงเรียน สมมติตำบลนั้นมี 5 โรงเรียน ให้เข้าไปโรงเรียนวันละโรงเรียน เข้าไปแนะนำส่งเสริมให้เด็กมีการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ถามว่าญี่ปุ่นทำไมมีนักโภชนาการโรงเรียนละ 1 คน ไปดูแลแม่ครัว ทำสื่อการสอนให้นักเรียน หากเด็กมีปัญหาให้ไปเยี่ยมบ้านคนนั้น คนญี่ปุ่นจึงเติบโตมีคุณภาพเพราะเขามีนักโภชนาการ ประเทศเรานักโภชนาการคนเดียวก็ไม่มี
มีแต่นักโภชนาการในโรงพยาบาลที่คอยจัดสรรเมนูให้ผู้ป่วย คุณป่วยก่อนนะคุณถึงจะได้กินอาหารจากนักโภชนาการ ถ้าคุณไม่ป่วยคุณไม่ได้กิน แล้วการที่คุณไม่ได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการนี่แหละที่จะทำให้คุณป่วย การไม่มีนักโภชนาการในชุมชนคือจุดบอดจุดใหญ่
นักโภชนาการต้องไปอบรมแม่ครัวแม่ค้าที่ไปขายของในโรงเรียน ทั้งในและรอบโรงเรียนต้องมีอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อเด็กในการกินอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่า อาหารที่ปลอดภัย คือไม่ปนเปื้อนไม่มีเชื้อโรค คุณค่าก็คือ ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ
พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากจัดอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ลูก ควรเริ่มอย่างไรดี
สิ่งแรกเลย คือการฝึกลูกให้กินอาหารถูกหลักโภชนาการ พ่อแม่ต้องมีความรู้และตระหนัก เรื่องอาหารโภชนาการอันดับแรกคือต้องคิดเสมอว่าอาหารคือสิ่งจำเป็นไม่ใช่การเรียน สมองลูก ร่างกายลูก ความพร้อมของลูก ต้องมาก่อน ซึ่งสมอง ความพร้อมต่างๆ ของลูกล้วนมาจากอาหาร ดังนั้น พ่อแม่ต้องมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก่อน
สิ่งที่สองพ่อแม่ต้องหาความรู้ใส่ตัวเอง ต้องมีความรู้ว่าอาหารและโภชนาการต่อลูกตัวเองมันสำคัญอย่างไร ความรู้ในโซเซียลมีเดียนั้นมีเยอะมาก พ่อแม่ต้องไปศึกษาเอาเอง เช่น ถ้าอยากให้ลูก IQ ดีได้จากอาหารอะไรบ้าง ถ้าลูกขาดไอโอดีนขาดธาตุเหล็กแล้วจะเป็นอย่างไร แล้วอาหารไอโอดีนและธาตุเหล็กอยู่ในไหน เป็นต้น พ่อแม่ต้องขวานขวาย พอได้องค์ความรู้แล้วพ่อแม่ต้องหาทักษะ เพราะตระหนักแล้ว มีความรู้แล้วอย่างเดียวไม่พอ ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ลูกของคุณกินอาหารให้ได้ อาจารย์ไม่ได้หมายความว่าต้องปรุงอาหารให้ลูกกินเองนะ จะทำ จะซื้อ อะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในบริบทของคุณ แต่คุณต้องทำให้ลูกของคุณกินอาหาร ตามข้อ1 ข้อ2 ตามหลักที่คุณรู้มา เช่น คุณอยู่คอนโด คุณไม่มีครัว คุณสั่งเดริเวอร์รี่มากินก็ได้ แต่คุณต้องมีความรู้เรื่องโภชนาการ มีทักษะการจัดการที่จะทำให้ลูกได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการ พ่อแม่ต้องหาวิธีการ ในยุคที่เร่งรีบ ตอนนี้พ่อแม่ส่วนหนึ่งทำอาหารให้ลูกกินแต่เวลาน้อย เช่น อาหารเช้า บางคนพ่อแม่ทำงานหมดตื่นตี5 6โมงจับลูกใส่รถเอาเวลาที่ไหนทำอาหารให้ลูก แต่ถ้าคุณเห็นความสำคัญของอาหารเช้าของลูกแล้ว คุณเตรียมวัตถุดิบไว้ตั้งแต่มื้อเย็น มื้อเย็นกินข้าวเสร็จเอาผักมาล้างหั่น แช่ตู้เย็นไว้ ตื่นเช้ามาคุณเอาทั้งหมดที่เตรียมไว้ลงกระทะ
ฉะนั้นสิ่งที่สาม พ่อแม่ต้องมีทักษะในการจัดการ อาจารย์ใช้คำว่า”การจัดการ” พ่อแม่ควรมีการจัดการ จะมาอ้างไม่มีเวลาไม่ได้ ในเมื่อคุณตระหนักและมีความรู้แล้ว คำถามคือคุณจะจัดการอย่างไรให้เอาการตระหนักรู้และความรู้มาใส่ปากลูกให้ได้ พ่อแม่ที่อยู่อพาร์ทเมนต์ บ้านพอจะมีเวลาทำอาหารให้ลูกกิน ต้องเตรียมตั้งแต่มื้อเย็น ตื่นเช้าขึ้นมาเอาลงหม้อ 10 นาทีคดข้าวใส่ปิ่นโตใส่ไว้ในรถป้อนให้ลูก หรือจะกินที่บ้านก็ได้ คนที่ทำอาหารไม่เป็นแวะตลาดตอนเย็นซื้ออาหารเช้าเผื่อใส่ตู้เย็นไว้แล้วเอาเข้าไมโครเวฟ จากนั้นเอาใส่รถแล้วให้ลูกกิน หรือสำหรับคนที่ทำกับข้าวไม่เป็นครัวไม่มี ตอนที่คุณส่งลูกไปโรงเรียนคุณต้องแวะร้านอาหาร แวะซื้ออาหารเช้าให้ลูกคุณกิน ถ้าคุณไม่มีเวลาคุณต้องให้เงินลูกไปกินที่โรงเรียนนี่เป็นทางออก
ฟังดูเหมือน มื้อที่สำคัญมากแต่เรามักละเลย คือมื้อเช้า ผู้ปกครองยุคใหม่มักไม่มีเวลา จะจัดการมื้อเช้าอย่างไรดี
อาหารเช้าสำคัญมาก แต่เด็กมักจะกินไม่ครบ 5 หมู่ เช่น เอาซีเรียลใส่นมเทลงไป นี่ไม่ใช่อาหารเช้าที่ถูกหลักโภชนาการ เด็กจะขาดวิตามินแร่ธาตุเพราะเด็กไม่ได้กินเป็นอาหารหลัก ถ้ากินซีเรียลนานๆ ทีแล้วผ่าแอปเปิ้ลลงไปให้ลูกกิน 1ลูก พอจะอนุโลมได้แต่อย่าเป็นแบบนี้ทุกวัน ข้าวเหนียวหมูปิ้งลูกกินหมดไป 5 ไม้ข้าวเหนียวปั้นเบอเร่อ ลูกอิ่มโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่ลูกไม่ได้วิตามินและแร่ธาตุที่จะไปบำรุงสมองเพราะสารอาหารมันไม่ครบ ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนบอกว่าดื่มนมกล่องหนึ่งและขนมปังเป็นอาหารเช้า อันนี้เป็นตัวอย่างอาหารเช้าที่แย่นะ
อาหารเช้าที่ถูกหลัก ต้องเป็นอาหารเช้าที่ครบ 5 หมู่ เช่น ข้าวผัดหั่นแครอทถั่วฝักยาวใส่ลงไปมี ผลไม้นี่แหละครบ 5 หมู่ ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็ได้แต่ต้องให้ลูกดื่มนม 1กล่องและผลไม้ ถ้าไม่มีผักต้องมีผลไม้ มักกะโรนี สปาเก็ตตี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าลูกคุณจะกินตอนเช้านานๆ กินที พ่อแม่ไม่มีเวลา ต้มบะหมี่เอาผักใส่ตอกไข่ลงไปนี่คือผ่าน แต่กินเส้นอย่างเดียวไม่ได้ สมองฝ่อแน่ นี่คือตัวอย่างการจัดการอาหารให้กับลูก ตอนนี้โชคดีของเด็กกทม. ทุกโรงเรียนในสังกัดกทม. กทม.สนับสนุนงบอาหารเช้าให้เด็กกินทุกโรงเรียน แต่ยังไงอาหารเช้าและอาหารทุกมื้อของเด็กนั้นสำคัญหมด
ลูกไม่กินผัก ผู้ปกครองรับมืออย่างไรดี
ต้องถามกลับว่าทำไมเด็กไม่กินผักผลไม้ เพราะอย่างแรกเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้กินมาตั้งแต่เด็ก
เด็กเริ่มกินผักได้ตอนอายุ 7 เดือน เด็กคนไหนกินนมแม่เสร็จแล้วเริ่มมากินอาหาร เริ่มเอาน้ำต้มผักใส่ข้าวลูกตอน 7 เดือน กลิ่นของผักมันจะเริ่มติดอยู่ที่สมองเด็ก พอครบ 1 ปี บดผักลงไปในข้าว เด็กฟันยังไม่ขึ้นก็บดผักเข้าไป จะมีแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ พอเด็กมีฟันก็เริ่มให้เด็กเคี้ยวผักได้ เขาจะกินผักไปจนโต อย่างที่สองพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกถ้าพ่อแม่ไม่กินลูกก็ไม่กิน อย่างที่สามต้องสร้างสิ่งแวดล้อมทำให้เด็กได้กินผัก สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ก็คืออาหารต้องมีผักเป็นองค์ประกอบ สิ่งนี้คือสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นผลไม้พ่อแม่ต้องซื้อผลไม้ที่ต้องหยิบฉวยได้ง่าย เช่น หั่นมะละกอเป็นชิ้นใส่ตู้เย็นไว้ แกะส้มโอเป็นกรีบใส่ตู้เย็นไว้ ในช่วงลูกทำการบ้านเอาผลไม้จากตู้เย็นมาวางไว้
ถ้าเด็กโตแล้วไม่กินผักจะเริ่มให้เด็กกินผักได้อย่างไร ลองไปหาผักที่เด็กชอบก่อน ผักที่มันไม่มีกลิ่นฉุนและมีความกรอบ บางคนอาจจะเริ่มด้วยแตงกวา แครอท โดยเอาแครอทไปนึ่งให้นิ่ม เอาแครอทหั่นเป็นลูกเต๋าเล็กๆ บางๆ ใส่ลงไปในไข่เจียว ให้เด็กได้กลิ่นก่อนโดยที่เด็กไม่รู้ตัว แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาในหลายๆ เมนูเด็กก็จะกินผักได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แปลว่าถ้าเจียวไข่ตำลึง ให้ลูกล้างใบตำลึงแล้วก็สอนให้ลูกจับมีดสำหรับเด็กโตหั่นตำลึงบางๆ หั่นแครอทฟักทองให้ลูกได้ทำ ให้ลูกหัดตอกไข่ใส่ลงไป ฝึกลูกเอาฟักลงไปตีๆ แม่ตั้งกระทะให้ลูกเทสอนให้ลูกพลิกไปมาแล้วเขาจะทำเองได้ แล้วชมเขาว่าไข่เจียวผักที่ลูกทำเยี่ยมมากเลย ร้อยเปอร์เซ็นต์ลูกจะกินแน่นอน อีกสิ่งหนึ่งคือห้ามบังคับให้ลูกกินเด็ดขาด กินนะถ้าไม่กินจะตี เด็กถ้ายิ่งบังคับยิ่งต่อต้าน
ลูกไม่กินผักไม่ไช่เป็นเพราะกรรมพันธุ์ แต่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม เพราะเขาไม่ได้ถูกฝึก สิ่งนี้แก้ได้ถ้าคุณฝึกลูกตั้งแต่เด็ก