- “(…) ถ้าเราจะต้องมีชีวิตอยู่นานๆ เราต้องเลือกเป้าหมายที่เป็นอมตะ ตายเร็วไม่ได้ คือเลือกว่าเราจะแก้ปัญหาสักอย่างหนึ่ง และปัญหาที่เราเลือกคือ แก้ปัญหาการศึกษาไทย”
- คุยกับครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อยต่อตอนที่ 2 คราวนี้ลงลึกถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ ‘ร่มเกล้า’ กลายมาเป็นครูในแบบวันนี้ ด้วยหลักว่าอยากใช้ชีวิตที่เหลือให้มีความหมาย
- และประเด็น ‘สายสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์’ ‘การตั้งคำถามเชิงระบบและการพูดคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเด็กรุ่นใหม่’ ‘อำนาจ 3 แบบ และการคืนอำนาจให้แก่นักเรียน’ รวมถึง ‘ข้อสำคัญ 4 อย่างที่จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยขับเคลื่อนต่อไปได้’
ตอนที่แล้ว (อ่านบทความ) ‘ครูกุ๊กกั๊ก’ ได้เล่าถึงตัวตนความเป็นครูของตัวเอง พร้อมนิยามการเป็นครูที่เปลี่ยนแปลงไป และแบ่งปันมิติการสอนในห้องเรียนรูปแบบต่างๆ รวมถึงมิติการทำงานนอกห้องเรียนด้วย
ครั้งนี้ ครูสัญญา มัครินทร์ ชวนครูกุ๊กกั๊กคุยกันต่อ เพราะได้ยินมาว่าครั้งหนึ่งครูกุ๊กกั๊กก็เคยคิดอยากฆ่าตัวตายเหมือนกัน! ซึ่งการที่เขายังนั่งอยู่ตรงนี้ เป็นครูสอนหนังสืออยู่ถึงตอนนี้ก็เพราะอาชีพนักการศึกษาที่เขาตั้งใจเอาไว้นี่เอง
ก่อนจะเชื่อมไปถึงเรื่อง ‘สายสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์’ ‘การตั้งคำถามเชิงระบบและการพูดคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเด็กรุ่นใหม่’ ‘อำนาจ 3 แบบ และการคืนอำนาจให้แก่นักเรียน’ รวมถึง ‘ข้อสำคัญ 4 อย่างที่จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยขับเคลื่อนต่อไปได้’
ดำเนินรายการโดย ‘ครูสอญอ-สัญญา มัครินทร์’ และ ‘ครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย’ ครูสอนคณิตศาสตร์สุดติสต์แห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม
ครั้งหนึ่งเคยคิดอยากฆ่าตัวตาย
เรายังสนใจประเด็นตัวตนของครูกั๊กนะครับ ผมเคยไปอ่านเจอในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าครูกั๊กเองเคยอยากฆ่าตัวตาย อยากให้ขยายให้ฟังหน่อย ทำไมคุณถึงอยากฆ่าตัวตาย
ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นหลายอย่างครับ แต่ว่าตอนม.3 นี่ชัดเจนมาก ตอนนั้นผมอยู่โรงเรียนสิงห์สมุทร แล้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพไปแนะแนวที่โรงเรียน คณะที่ไปคือคณะนิเทศฯ เรารู้สึกว่าอยากทำงานเบื้องหลัง เราชอบอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเสียง เบื้องหลัง ภาพ ทั้งหมดเลย เราไม่ใช่คนเบื้องหน้า ผมจะไม่ยุ่งกับหน้าเวทีเด็ดขาด ถ้าไม่จำเป็นผมจะไม่เป็นวิทยากรเลย ผมไม่ชอบ ผมกลัวตรงนั้น เชื่อไหมหน้าห้องเรียนผมก็กลัว ผมต้องคอย built up ตัวเองทุกครั้ง ‘ทำได้กั๊ก สอนได้ เอาวะ!’
แต่มีช่วงหนึ่งมีรายการร้องเพลง The Star เข้ามา ตอนนั้นเท่มากอยากเป็น The star ซึ่งปกติเข้ารอบแล้วมีคนไปตามถ่ายที่บ้าน ฝันอยากเป็นแบบนั้น เฮ้ย… ทำไมมันเท่จังวะ ก็เลยใฝ่ฝันจะไปเป็นนักร้องเพื่อให้เขามาตามถ่าย ตอน The Star ปี 1 ก็ไปสมัคร เขาบอกรอบแรกให้ใช้เพลงเดียว เราก็ร้องไป ปรากฏเขาบอก “ชอบมากเลย ขอเพลงที่สองแล้วกัน” เอ้า… เพลงที่สองกูไม่ได้ซ้อมมา (หัวเราะ) คือตื่นเต้น ตกใจ ร้องเพี้ยนเลย ไปอีกทีประมาณปี 5 ตอนนั้นได้ร้อง 5 เพลง เหมือนเขาพยายามจะเค้นว่าเรามีตัวตนประมาณไหน แต่อย่างที่บอกว่าผมเป็นคนขี้อายมาก ถ้าไม่คอยกอดดนตรีไว้มันจะกลัวมาก โอเค รอบนั้นก็ตกไป หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้ไปประกวดอีกเลย
เป้าหมายชีวิตมีอยู่ 2 อย่างนะ มีคนไปตามถ่ายเราที่บ้านกับอยากมีเพลงของตัวเองออกคลื่นวิทยุ เราอยากเห็นเพลงของเราลอยไปตามอากาศ
ทีนี้เราไปเรียนแต่งเพลงกับ พี่จุ้ย – ศุ บุญเลี้ยง ที่ TK Park เขาเปิดเป็นโครงการ TK Brand สมัครไปรุ่นที่ 3 เรียนแต่งเพลง 4 สัปดาห์ แล้วจะให้ทำเพลง แต่ผมไม่ได้ทำเพลงกับเขา เรียนอย่างเดียว ก่อนหน้าที่จะไปเรียนเราส่งเพลงไป Fat Radio ส่งไป 2 เพลงเขาไม่เปิด เราก็แบบ… ‘โห แม่งไม่ถึงเลยว่ะ มึงไม่รู้จักศิลปะขั้นสูง’ (หัวเราะ) เป็นอีโก้เลย พอเรียนเสร็จปุ๊บกลับมานั่งฟังเพลง ‘อืม… มึงส่งไรไปวะเนี่ยกั๊ก สมควรละ กูอยากจะขอโทษพี่ดีเจเขามากเลย’ (หัวเราะ)
แล้วผมก็ไปสมัครรายการ ‘สื่อศิลป์ดิน น้ำ ป่า’ ของไทยพีบีเอส ตอนนั้นรู้สึกจะเป็นโครงการ 2 พอไปประกวดปั๊บ มันมี 10 ทีม 9 ทีมอยากเป็นศิลปินทั้งหมด มีผมคนเดียวที่อยากเป็นครูและศิลปินพร้อมกัน ก็เลยเป็นเคสที่แปลก รายการ ‘คนกล้าฝัน’ ก็เข้ามาถ่ายผมไปด้วย แล้วก็ไปถ่ายผมกับที่บ้าน (หัวเราะ) เหมือน The Star เลย ตอนนั้นน่าจะเรียนจบไปไม่นาน เพราะเขาไปถ่ายตอนรับปริญญาด้วย แล้วตอนนั้นผมก็ส่งเพลงไป Cat หรือ Fat Radio นี่แหละ จำได้ว่าส่งไป 6 เพลง เขาเปิด 5 เพลง มันเหมือนผมเล่นเกมได้แจ็กพอต แล้วผมก็เลิกเล่น พอละ พอได้ตรงนั้นก็ฟิน จบ ก็เลยกลายเป็นประสบความสำเร็จในชีวิตสองอย่างเรียบร้อย อันนี้คือความฝันสองอย่างในชีวิตตั้งแต่ม.3 จนถึงอายุ 23 ปี
ก็มานั่งคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไมวะ คือไม่เศร้านะ มีความสุข เราบรรลุหมดแล้ว ซึ่งผมก็คิดว่ามันเร็วไป แล้วตอนนั้นดูคลิปของ พี่ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า เขาบอก “ผมเกษียณอายุตั้งแต่ตอนนี้แล้ว” เราก็แบบ “เฮ้ยพี่… ผมเกษียณพร้อมพี่เลยก็ได้นะเนี่ย” ก็พร้อมที่จะตายครับ ตอนนั้นคิดว่าเราจะตายยังไงดี จำได้ว่าคืนนั้นฝันว่าฆ่าตัวตาย กระโดดจากสระว่ายน้ำสี่ชั้น วิ่งแล้วเลย หน้าโขกกับขอบสระ แต่ในฝันมันไม่ตาย โอ๊ย… ปวดหัวจัง น่าจะเตี้ยไป ก็พยายามคิดหาทางอื่น ให้รถมาชนดีไหม ผมไปดูคลิปพอรถชนปุ๊บมันไม่ตายไง “น่าจะเจ็บว่ะตอนแขนหัก” กรีดแขนล่ะ อันนี้ตลกสุด เพราะอยู่ดีๆ เสียงพี่ตูนก็มา ‘กรีดแขน ไม่ช่วยอะไร…’ (ร้องเพลง) โอเคครับพี่ตูน ผมไม่ตายก็ได้ งั้นเราจะกระโดดตึกแล้วกัน เพราะไม่ทันรู้สึกเจ็บก็น่าจะตายแล้ว
กำลังคิดวนๆ อยู่อย่างนั้น แล้วเพื่อนชื่อปุ๊กปิ๊กก็โทรมาถามว่า “มึงทำไรอยู่” “อ๋อ กูกำลังจะฆ่าตัวตาย” ปุ๊กปิ๊กบอก “มึงจะตายทำไม” เราบอกว่า “กูสำเร็จหมดละว่ะ พ่อแม่ก็ไม่น่ามีไรห่วง พ่อเป็นทหารเบิกได้อยู่แล้ว แม่ก็เป็นเมียทหาร พี่สาวก็ไม่ได้ห่วงอะไรละ” เพื่อนก็บอกเราว่า “งั้นมึงอย่าเพิ่งตาย ไปทำประโยชน์ก่อน” “ไปทำอะไร” “เดี๋ยวมึงไปบริจาคร่างกาย ไปบริจาคอวัยวะ ไปบริจาคดวงตาก่อน สมมติถ้ามึงยิงตัวตายอวัยวะบริจาคได้ ถ้ามึงแทงตัวตาย ดวงตาบริจาคได้” เราก็บอก “เออๆๆ มีประโยชน์” ก็ไปบริจาคกัน บริจาคดวงตาก่อนแล้วก็บริจาคอวัยวะ แล้วก็ไปบริจาคร่างกายกับน้องอีกคนที่ไปด้วยกัน กะว่าวันนี้แหละ
คือคุณเตรียมตัวแล้ว?
ใช่ ค่อยๆ คิดว่าตายยังไงให้มีประโยชน์ แต่ในใบบริจาคนั้นเขียนประมาณว่าห้ามตายโดยโรคติดต่อทางเลือดหรือน้ำเหลือง ห้ามตายแบบร่างกายแหลกละเอียด ‘อ้าว… ไอที่ว่าจะกระโดดตึกตาย มันตายไม่ได้แล้ว อ้าว… งั้นกูต้องมีชีวิตใช่ไหมเนี่ย ปุ๊กปิ๊กมึงหลอกกู’
แต่ทีนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้มาคิดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความหมายอะไร โอเค ถ้าเราเรียนจบครู ที่เดียวที่เรายังไม่เคยไปสอนคือโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนในสังกัดกระทรวง คือผมเคยฝึกสอนที่โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต ตอนที่เป็นฟรีแลนซ์ก็เป็นอาจารย์พิเศษ ผมก็เลยลองไปสอบบรรจุ เพราะเราอยากทำประโยชน์ให้สังคม แล้วก็ตั้งเป้าหมายว่า ถ้าเราจะต้องมีชีวิตอยู่นานๆ เราต้องเลือกเป้าหมายที่เป็นอมตะ ตายเร็วไม่ได้ คือเลือกว่าเราจะแก้ปัญหาสักอย่างหนึ่ง และปัญหาที่เราเลือกคือ แก้ปัญหาการศึกษาไทย
ซึ่งมันใช้เวลานานใช่ไหม?
ผมบอกได้เลยแม่งไม่รู้จบ (หัวเราะ) หมายความว่าเราอาจจะแก้เรื่องนี้ได้ แต่ก็จะมีเรื่องใหม่ผุดเข้ามา ถ้าเรานิยามว่าจะแก้ปัญหา ปัญหาไม่มีวันหมด เราก็น่าจะอยู่ได้จนแก่เหมือนกัน ก็เลยตั้งเป้านี้แล้วก็เลือกที่จะมาสอบบรรจุเป็นครู
สายสัมพันธ์ระหว่างครูกั๊กและลูกศิษย์
ต้องขอบคุณเพื่อนคนนั้นและขอบคุณวิธีคิดของเขานะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชื่นชมครูกั๊ก คือ ลูกศิษย์คุณที่ตอนนี้ไปเป็นนักศึกษา เขายังวนเวียนมาเจอ มาแบ่งปัน ครูกั๊กมีความสนิทกับลูกศิษย์ลูกหามาก ยังผูกพันหรือเกื้อกูลกันอยู่ไหมทุกวันนี้
คงเป็นความสนิทตั้งแต่ในห้องครับ เราค่อนข้างที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กเล่นกับเราได้เยอะ คุณครูแต่ละคนมีนิยามการวางตัวไม่เหมือนกัน ผมเคารพทุกคนนะครับ บางคนก็บอกว่า “เป็นครูยังไงก็ต้องมีเส้น” จริงๆ ผมก็มีเส้นเพราะว่าเด็กตบหัวผมไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าเด็กตบหัวผมก็ด่าเหมือนกัน แต่ว่ามันคือความเคารพที่เท่ากัน ผมถูกฝึกมาตั้งแต่อยู่ชมรมละคร เราจะนั่งล้อมวง เรียกว่าวงกลมไว้ใจ นั่งคุยกันอย่างนี้ตลอด แต่พอถึงเวลาทำงานจริงๆ ตอนที่ยืนสอนมันไม่จำเป็นต้องยืนเป็นวงกลมไว้ใจก็ได้นะ
เพราะพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้จำกัดรูปแบบว่าคุณต้องนั่งเป็นวงกลม หรือต้องนั่งเท่ากัน ผมว่าการนั่งเท่ากันก็เป็นนัยอย่างหนึ่งที่ทำได้แล้วผมก็ชอบทำด้วย แต่ถ้าเราหลุดจากตรงนั้น กลับมาสู่ความเป็น Being ของเรา เรายืนตรงไหนเขาก็ปลอดภัย
ที่ยังรู้สึกผูกพันกันอยู่เพราะว่าเราน่าจะยังอินเรื่องเดียวกัน ตอนที่เราอยู่โรงเรียน มันไม่ได้แค่สอน แต่เราต่อสู้บางอย่างมาด้วยกันจริงๆ ผมพยายามถอดบทเรียนว่าทำไมผมถึงสนิทกับบางรุ่น แต่บางรุ่นไม่สนิท มันสนิทเพราะว่าผ่านเรื่องเลวร้ายมาด้วยกัน หรือเรื่องที่เข้าใจความรู้สึก อารมณ์ เรื่องเดียวกัน
จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่เด็กติดลิฟต์ เด็กกลุ่มนั้นถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งลิฟต์นั้นมันติดบ่อยมาก ตอนนี้มีช่างมาแก้ไขแล้วแต่ก็ยังติดบ่อยอยู่ ผมว่ามันเก่าแล้วแหละ แล้วในยุคนั้นเขาบอกว่าเด็กกลุ่มนี้ทำให้ลิฟต์พัง พี่เป็นเด็ก พี่อยู่ในลิฟต์ แล้วรู้ว่าลิฟต์นี้มีปัญหา พี่จะเล่นไหม เราก็ไม่เล่นเนาะ แสดงว่าสิ่งที่มีปัญหาคือลิฟต์มากกว่า เราก็พยายามต่อสู้กันเรื่องนี้ จำได้ว่ามีการสั่งให้ปิดลิฟต์ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าตอนนั้นมีเด็กที่ผมทำงานด้วย คือเขาขาขาดข้างหนึ่งครับ แล้วเขาต้องเดินบันได แผลมันยังไม่หายสนิท ผมก็ถามว่า “เห้ย… เป็นไงบ้างวะ” “อ๋อ ก็เจ็บนิดหน่อยครู มีเลือดออกบ้าง” เห้ย… นี่มันเรื่องใหญ่มากนะ ทำไมเป็นแบบนี้วะ ตอนนั้นผมโกรธมาก
ผมก็ไปเสิร์ชกูเกิลหา พ.ร.บ.ลิฟต์ ผมอยากรู้เลยว่ากฎหมายนี่สั่งปิดลิฟต์ได้หรือเปล่า แล้วปรากฏว่ามันมีครับ พ.ร.บ. การขนส่งลิฟต์… อะไรสักอย่างนี่แหละ (พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒) แล้วก็ลองไฮไลต์ดูว่าโรงเรียนเราไม่ได้ทำข้อไหนบ้าง ปรากฏว่ามี 6 ข้อเลย แสดงว่าจริงๆ แล้วตอนนั้นโรงเรียนผิดกฎหมาย เราก็พยายามลงไปหาฝ่ายบริหาร ไปสามครั้งก็ไม่เจอ ผมโมโหมาก วันนั้นเป็นวันศุกร์ และรู้สึกว่าวันจันทร์มันต้องได้เปิด ก็เลยไปโวยวายครูที่เป็นเลขาหน้าห้อง “เนี่ยครู ทำแบบนี้ได้ยังไง โรงเรียนเราทำแบบนี้ไม่ได้นะ ถ้ามีตึกสูงเกินขนาดนี้จะสั่งปิดลิฟต์ไม่ได้ ต้องสั่งซ่อมแซมเท่านั้น” เช้าวันจันทร์ลิฟต์เปิด เด็กดีใจมาก แล้วเราก็แบบ เฮ้ย… เราผ่านเรื่องนี้มาด้วยกัน เราสู้มาด้วยกัน คุณไม่ใช่คนที่ทำผิดนะ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย
พอมันมีควาวมผูกพันแบบนี้ มันเลยเป็นสายใยระหว่างกันที่ทำให้เราสนิทกับบางรุ่น บางคน เราสนิทกับทุกคนไม่ได้หรอก ก็เลยยังเกื้อกูลกัน วันนั้นครูกับนักเรียนช่วยกัน วันนี้ครูต้องการความช่วยเหลือเขาก็มาช่วย
การตั้งคำถามเชิงระบบและพูดคุยปัญหาเชิงโครงสร้างของเด็กยุคใหม่
ครูกั๊กก็ทำงานกับนักเรียนมาเยอะมาก อยากให้ครูกั๊กแบ่งปันหน่อยครับว่า ยุคนี้นักเรียนเขาตื่นตัวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และขึ้นมาตั้งคำถามเชิงระบบ เขาคุยปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยซ้ำ ซึ่งโครงสร้างทางการศึกษา การเมือง วัฒนธรรมในโรงเรียนมันก็ค่อนข้างไปเขย่าขอบความเชื่อของครูหลายๆ คน โดยเฉพาะครูที่เชื่อเรื่องอนุรักษ์นิยม ครูกั๊กคิดเห็นยังไงกับปรากฏการณ์นี้ หรือมองมันยังไงบ้างครับ
อันนี้ผมมองเป็นสองประเด็นครับ ประเด็นแรก – เขาหาข้อมูลได้เยอะมาก ถ้าวาดเส้นการศึกษา มันจะมีอยู่ 3 เส้น เส้นแรก คือ การศึกษาในระบบ ไล่มาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 23 ปี หรือมากกว่านั้นคือไปจนถึงป.เอก อาจจะ 40 ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นการศึกษานอกระบบ อาจจะมีตั้งแต่ป.6 หรือม.1 ไล่ขึ้นไป การศึกษานอกระบบคือการศึกษาที่มีหลักสูตร มีใบ Certificate มีความยืดหยุ่นทั้งเวลาและสถานที่ อันนี้ต่างกับในระบบนิดหนึ่ง การจัดอบรมต่างๆ ถือว่าเป็นการศึกษานอกระบบทั้งหมด เส้นนี้จะยาวหน่อย แต่ว่าเริ่มช้ากว่าในระบบ
แต่อีกเส้นที่มันขนานตลอดเวลาเลยก็คือ การศึกษาตามอัธยาศัย อันนี้ผมว่าเด็กเขาเข้าถึงได้เร็วกว่าเราและกว้างกว่าเรา ในตอนที่เราอายุเท่าเขา ตอนนั้นเราไม่มี Search Engine ที่มีข้อมูลมหาศาลขนาดนี้ แต่ตอนนี้เด็กเขามีแล้ว ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เด็กยุคนี้เป็นคือ เขาหาข้อมูลเก่งมาก เราไม่ได้บอกว่าข้อมูลที่ได้ถูกต้องหรือเปล่า ยิ่งเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผมตอบยากมากเลย เพราะผมเกิดไม่ทัน ขนาดคณิตศาสตร์เอง ผมยังไม่รู้เลยว่ามันจริงหรือเปล่าที่สอนมา เขาบอกว่าประวัติศาสตร์ของคณิตมาจากสัจพจน์ 5 ข้อที่เชื่อว่าจริงเสมอ มันมาจากความเชื่อครับ แต่ความเชื่อตรงนั้นมันปรู๊ฟในโลกของเรา ส่วนใหญ่ก็จริงหมดเลย แล้วถ้าเกิด 5 ความเชื่อนั้นมันไม่จริง คณิตศาสตร์ทั้งหมดมันอาจจะไม่จริงก็ได้ นั่นแปลว่าถ้าเกิดเด็กยุคนี้มาเทียบกับเรา เขาค้นหาข้อมูลเชิงกว้างได้มากกว่าเรา แล้วถ้าเขาตัดสินใจ วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ผมว่าเขารู้เยอะกว่าเรามาก ของเรามีแค่หนังสือเรียน
ประเด็นที่สอง ที่ผมรู้สึกว่าเข้ามามีผลคือ เรื่องของพื้นที่ เวลามีคนถามผม มันมีพื้นที่ตรงกลางระหว่างการคุกคามกับการไม่คุกคามหรือเปล่า ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถ้าพูดในความเป็นนิเสธ มันไม่มี หมายความว่า ถ้าวาดเป็นวงต้องวาดแยกกัน แต่ว่าในพื้นที่การทำงานของครู จริงๆ ครูเป็นกันชนของทั้งนักเรียนและอำนาจเหนือทั้งหมด ซึ่งผมว่าพื้นที่การทำงานตรงกลางมีจริงนะ
แต่ว่าคุณครูไม่มีใครเลือกตรงกลางได้แน่ ครูมีในใจอยู่แล้วว่า ในประเด็นนี้เราอยู่ตรงไหน คือถ้าพูดถึงหัวข้อใหญ่ โอเค เราอาจจะเห็นด้วยกับฝั่งนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าในบางประเด็นมันไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมดหรอก ถ้าเทียบเป็นสี เราอาจจะเป็นสีเขียวเหมือนกัน แต่พี่อาจจะเป็นเขียวอ่อน ผมเป็นเขียวเข้ม อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นเขียวน้ำทะเล ทุกคนมีเฉดของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่าเราเห็นด้วยเหมือนกันหมด ก็คงเป็นไปไม่ได้
อย่างประเด็นของชุดนักเรียน ผมเชื่อว่าในใจมีการเลือกอยู่แล้ว เพราะมันมีแค่บังคับกับไม่บังคับ ซึ่งมันเป็นนิเสธกัน ต้องเลือกว่ายังไงดี มันก็เลยเป็นการทำงานเชิงอำนาจ สมมติผมเลือกฝั่งที่บอกว่าใส่อะไรก็ได้ ก็คือการไม่บังคับใช่ไหมครับ แล้วเราจะทำยังไงให้สองฝ่ายนี้คุยกันได้ ในเมื่อเรามีในใจของเรา ฉะนั้นสิ่งที่ครูต้องทำคือ ยื่นแขนไปแล้วจับกันกับฝั่งนู้น ฝั่งนี้มีเหตุผลแบบนี้ ฝั่งนู้นมีเหตุผลยังไง แล้วเหตุผลของใครมีน้ำหนักกว่ากัน แล้วเราก็ทำได้แค่ชวนเขาเดินข้ามมาอยู่ฝั่งเรา แต่เราไม่สามารถที่จะกระชากเขามาได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ในเรื่องนี้
อันนี้ขอเล่าจากที่โรงเรียนด้วยเลย คือ โรงเรียนก็จะมีความกังวลเพราะว่าเราเป็นหน่วยเล็กๆ แล้วเวลามีนักเรียนที่จะใส่ชุดแบบนี้มา มันเป็นพื้นที่ที่อันตรายสำหรับคนที่ดูแลเรื่องนี้ทั้งหมด ก็ไม่รู้ว่าผู้ปกครองจะว่ายังไงถ้าอนุญาต และไม่รู้ว่าผู้ปกครองจะว่ายังไงเมื่อไม่อนุญาต ก็เลยตัดสินใจลำบาก เขาก็มีการส่งกฏของกระทรวง กฎของโรงเรียนเข้ามา หน้าที่ที่เราทำก็คือ เราก็พูดไปตามความจริงแท้ของเรา จริงๆ โรงเรียนสามารถเปิดพื้นที่ได้นะ ผมเชื่อว่าเขาแสดงออกแค่วันเดียวแหละ พอคุยกันนักเรียนก็ถาม “ครู หนูใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนผิดไหม” “ผิด” อันนี้ตอบแบบจริงแท้ เพราะว่ามันไม่ได้มีการอนุญาต แสดงว่าถ้าเกิดผิด เราก็อาจจะต้องถูกลงโทษ แต่ถ้าจะถูกลงโทษนักเรียนจะถูกลงโทษได้แค่ 4 กรณีเท่านั้น คือตามที่กระทรวงบอก ถ้าโดนลงโทษมากกว่านั้นโรงเรียนก็ทำผิดเช่นกัน มันก็เลยไม่รู้จะทำยังไงกันแน่ เราก็บอกส่วนที่เราบอกได้ในไลน์โรงเรียนไป
สุดท้ายวันเปิดเทอมเด็กก็ใส่ไปรเวทมาครับ ถามว่าใส่มาเยอะไหม ก็ 6 – 7 คน ผมไม่แน่ใจจำนวนนะ แต่ก็ถูกเรียก ถามว่าถูกเรียกไปด่าหรือเปล่า ก็เปล่า คือผู้บริหารชวนนักเรียนคุยว่า เราต้องการอะไร ฝั่งบริหารมีความคิดแบบนี้ เรามีความคิดยังไง เขาก็คุยกัน จนสุดท้ายนักเรียนกลุ่มนี้ก็มานั่งร่างกันว่า จะให้ใส่ชุดไปรเวทมาวันไหน โดยมีข้อเสนอและเงื่อนไขจากปัจจัยใดบ้าง ทำไมเราถึงต้องใส่ สำหรับผม ผมว่าน่ารักมากนะ แล้วตรงนี้แหละมันไม่ใช่ตรงกลาง แต่มันเป็นพื้นที่ตรงกลางที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้คุยกัน ผมว่าหน้าที่ของครูคือตรงนี้ จูนเข้าหากัน ไม่ว่าครูจะเลือกข้างไหนก็ตาม แต่ว่าหน้าที่ที่ทำให้คนได้คุยกันเป็นหน้าที่ที่เป็นกลางได้
ซึ่งจริงๆ มันก็เหมือนกับการสร้างพื้นที่เพื่อให้คนได้มาคุยแล้วก็สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้วการใส่ไปรเวทก็เหมือนเป็นการแสดงเชิงสัญญะ ผมว่าเขาบรรลุโจทย์ไปหลายข้อเหมือนกันนะ อย่างน้อยผู้บริหารเรียกคุย แล้วเรียกคุยในมิติของโรงเรียน แล้วเขาก็รับฟัง มันยังมีข้อเสนอแนะที่ไปร่วมกันได้
อำนาจ 3 แบบ และการคืนอำนาจให้แก่นักเรียน
เหมือนสิ่งที่ครูกั๊กเล่ามา ทั้งความสัมพันธ์ เรื่องการนั่งเท่านักเรียน หรือแม้กระทั่งการต่อรองด้วยนวัตกรรมหลายๆ อย่าง เรามองว่าครูกั๊กกำลังต่อรองกับอำนาจหรือเล่นกับอำนาจ ซึ่งครูกั๊กก็ตั้งธง อยากจะทำงานเรื่องอำนาจหรือการคืนอำนาจกับนักเรียน อยากให้ครูกั๊กช่วยขยายมิตินี้ให้ฟังหน่อยครับ
อย่างแรกเลยคือผมมองตัวเองเป็นคุณครูสายมนุษยนิยมแล้วกัน เราจะพยายามเคารพทุกอย่างของความเป็นมนุษย์ ซึ่งพอเราบอกว่าเราเคารพความเป็นมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องเคารพนักเรียนเหมือนกัน พอมันมีชุดความคิดแบบนี้มาตั้งแต่แรก วิธีการทำงานของเรากับเด็กเลยไม่ใช่การกดขี่ เพราะฉะนั้นมันก็เลยนำไปสู่อำนาจ 3 แบบ ผมไม่แน่ใจนะว่าผมเข้าใจมันถูกแค่ไหน
- อำนาจเหนือ คือ อำนาจสั่งการลงมา
- อำนาจภายใน คือ จากตัวพวกเรานี่แหละ เราต้องการอะไร แสดงมันออกมา อยากเรียกร้องอะไร พูดมันออกมา
- อำนาจร่วม เป็นอำนาจที่คนที่มีอำนาจเหนือกว่า รับฟังคนที่มีอำนาจน้อยกว่า และนำสิ่งนั้นมาทำงานต่อ ซึ่งเป็นการรับฟังซึ่งกันและกัน มันทำงานไปข้างหน้าได้
ถามว่าเราเล่นกับอำนาจไหม คำตอบคือ ใช่แน่นอน เพราะว่าปฏิเสธไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ว่าเราจะบริหารมันยังไง ครูหลายคนมักจะบอกว่า “การเติบโตต้องเป็นผู้บริหาร” แต่ผมว่ามันคนละเรื่อง เติบโตมันก็ต้องเติบโตในสายของเราสิ อันนั้นมันเรียกว่าการเปลี่ยนสายงานหรือเปล่า ผู้บริหารก็ต้องเติบโตในสายผู้บริหาร มันไม่ใช่การก้าวขึ้น แต่เป็นการก้าวไปในอีกทางหนึ่งเฉยๆ
มีครูบอกว่า “แล้วเราต้องทำงานภายใต้การกุมอำนาจของฝ่ายบริหาร เราจะทำยังไง” ผมบอกว่า “จริงๆ ครูควรจะเป็น ครูผู้บริหารผู้บริหาร” หมายความว่า ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้ แล้วเราเชื่อมั่นในงานที่เราทำ เห็นคุณค่าของงานเราจริงๆ เราสามารถที่จะบอกผู้บริหารให้สนับสนุนเรา นี่คือการบริหารผู้บริหาร ให้มาช่วยเรา
เพราะฉะนั้นครูไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารก็ได้ แต่ให้เชื่อมั่นในงานของครู เชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้ว่าเราสามารถทำงานกับผู้บริหารได้ ถ้าเรารู้จักอำนาจร่วม ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราแค่บอกใจความสำคัญ และผลดีที่ได้ทั้งต่อเราและต่อเขา หาอะไรที่วิน – วินผมคิดว่าอันนี้มันทำงานด้วยกันได้ ทุกๆ อย่างที่เห็นว่าสำเร็จ มันผ่านการคุยมาแล้วนะ SAR หน้าเดียว แผนหน้าเดียว มันอาจไม่ได้สำเร็จ ณ วันนั้น แต่อาจสำเร็จจากการที่รอเวลา จังหวะและการคุย ผมคิดว่าต้องค่อยๆ มา ไม่ใช่ทำทุกอย่างแล้วจะได้เลย
ทีนี้ผมสนใจเรื่องคืนอำนาจให้ผู้เรียนได้ทำหลักสูตรด้วยกัน ได้ให้คะแนน ได้ให้เกรด…
น่าจะมี 2 ประเด็นครับ เอาประเด็นในห้องเรียนก่อน เทอมนี้ลองผิดลองถูกมากๆ คือ เราชวนเด็กคุยเลยว่าอยากให้เราสอนด้วยปรัชญาไหนทางการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วครูแต่ละคนมีปรัชญาเป็นของตัวเอง เราไม่สามารถให้เด็กเลือกให้เราได้ อันนี้เป็นอันหนึ่งที่ผมทำผิดนะ ครูก็อาจจะชวนคุยได้แหละว่า ปรัชญาการศึกษามีแบบนี้ ทำให้ครูแต่ละคนมีคาแรกเตอร์แบบนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นในโรงเรียน ครูทุกคนจะมีคาแรกเตอร์เหมือนกันไม่ได้ แล้วก็ชวนคุยไปถึง อยากให้ครูใช้หลักจิตวิทยาแบบไหนกับเรา อยากให้ครูเป็นแบบพฤติกรรมนิยมหรือมนุษยนิยม พฤติกรรมนิยมจะเป็นแบบดูพฤติกรรมเป็นหลัก ถ้าเป็นมนุษยนิยมก็ดูความแตกต่างของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งเด็กก็จะเทไปทางมนุษยนิยม
รวมไปถึงการเลือกรูปแบบการสอน มีอยู่ 2 แบบ คือ 1.Cooperative ถ้าเราได้ฝึกอะไรเราก็จะเก่งอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เช่น งานกลุ่มผมทำพาวเวอร์พอยต์ ผมก็ยังเก่งพาวเวอร์พอยต์ต่อไป 2.Collaborative จะเป็นฟีลค่อยๆ เก่งเรื่องนี้ไปด้วยกัน อาจจะไม่ได้เก่งสุดหรอก แต่ว่าเราได้เรียนรู้ทุกๆ ทักษะไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเด็กก็เลือก Collaborative
แล้วก็มีวิธีการสอน อยากให้มีบรรยาย บทบาทสมมติ สถานการณ์จำลอง หรือทัศนศึกษา เด็กเขาจะวงมาให้ เหมือนสั่งอาหารตามสั่งเหมือนกันนะ เราก็โอเค ได้ เดี๋ยวเทอมนี้เราจะมาทำประมาณนี้กัน
รวมถึงรูปแบบการประเมิน เรามี 100 คะแนน 20 คะแนนเป็นกลางภาค 20 คะแนนเป็นปลายภาค เราเปลี่ยนไม่ได้ แล้วเราก็ให้เด็กเขาเลือกอีก 60 คะแนนกันเอง โดยที่จะแบ่งเป็นช่องละ 10 คะแนน เขาก็จะเลือก 10 นี้เป็นชีทนะ 10 นี้เป็นจิตพิสัย ซึ่งปกติเด็กของผมจะให้คะแนนตัวเอง สนุกมากครับ ผมว่าเด็กทุกคนรู้ว่าตัวเองดีเลวยังไง น้อยมากที่จะให้ตัวเอง 10 แต่เด็กคนนั้นก็สมควรที่จะได้ 10 จริงๆ เพื่อนทุกคนบอก “เฮ้ย… มึงควรได้ 10 เว้ย มึงไม่ควรได้ 9” บางคนบอก “ไม่เว้ย… กูเคยทำผิด” คือผมจะให้เด็กประเมินตัวเองทั้งเทอม บางคนให้ 0 ก็มีนะ ผมบอก “อย่าเลย เอาสัก 5 ละกัน เพราะว่ามึงซื่อสัตย์ไง แล้วมึงก็เข้าเรียนตลอด” ก็พยายามจะเพิ่มคะแนนให้อยู่แล้ว อันนี้คือส่วนของห้องเรียน
ประเด็นต่อมาคือ หลักสูตร อันนี้ผมเคยทดลองให้นักเรียนร่วมออกแบบหลักสูตรร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว แต่สุดท้ายมันได้เป็นแค่โมเดล และถูกยกเลิกไป เพราะมีการเปลี่ยนนโยบาย ก็ถามเด็กเลยว่าม.ปลายอยากเรียนแบบไหน คำตอบที่ได้มาคือ เด็กอยากให้มีสายการเรียน อันนี้ผมคิดว่าเป็นข้อจำกัดของโรงเรียนผมนะ เด็กบอกว่าการบังคับให้เราไปเลือกอย่างอื่น เช่น ต้องเลือกเป็นวิทย์กับวิศวะ เด็กบอก “ถ้าผมเลือกไปแล้วผมไม่ชอบทำไง” เพราะว่าเด็กหลายคนเขามาค้นพบตัวเองตอนม.ปลายก็มี เขาเลยบอกว่า “งั้นเป็นอย่างนี้ได้ไหม เป็นเหมือนแผนที่ ถ้าจะเป็นอาชีพนี้ต้องเก็บวิชาอะไรบ้าง” “ได้” เขาก็จะไปลงวิชาพวกนี้เอง เพราะฉะนั้นก็จะเป็นแบบ 1 ห้องเรียนมี 4 สายการเรียน สมมติวิชาพื้นฐานเรียนด้วยกันคาบนี้ พอถึงคาบเรียนฟิสิกส์ พี่สอญอก็ไปเรียนฟิสิกส์ ผมก็ไปเรียนศิลปะ อันนี้หลายๆ โรงเรียนทำอยู่แล้ว แล้วเด็กก็รู้สึกว่าชอบแบบนี้มากกว่า เพราะเขาได้เลือกในสิ่งที่เขาเลือกจริงๆ ปกติวิชาทุกวันนี้บังคับเลือก อันนี้ก็ชวนเด็กออกแบบทั้งหลักสูตร หรือว่าบรรยากาศการเรียนร่วมกัน เราก็จะเห็นมิติว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการสอนปกติทั่วไป ถ้าไปไกลกว่านี้ได้ อยากให้เด็กร่วมออกแบบวิชากันเลย ว่าเราจะเรียนอะไร อยากรู้เรื่องอะไร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้น่าจะตามมากับหลักสูตรสมรรถนะได้
ข้อสำคัญ 4 อย่าง ที่ครูกั๊กเชื่อว่าช่วยขับเคลื่อนการศึกษาได้
ประเด็นสุดท้ายครับครูกั๊ก ผมเห็นในเฟซบุ๊กของคุณเขียนเรื่องการขับเคลื่อน จะมี 4 อย่าง ช่วยขยายตรงนี้หน่อยครับ เพื่อปิดเทปของเราวันนี้
อันนี้เป็นชุดประสบการณ์ที่ตกตะกอนจากตัวผมเองนะครับ ผมรู้สึกว่าเวลาที่เราจะขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง มันสามารถทำได้อยู่ 4 อย่าง จะผสมกันก็ได้ หรือจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อย่างแรกที่ต้องใช้เลยคือ ความรู้ อาจจะเป็นเชิงวิจัย การหาข้อมูลต่างๆ เวลาที่เราจะต้องไปอธิบายเพื่อให้เหตุผล ผมว่าความรู้สู้ได้
อย่างที่สองเป็นกฎหมาย จำตอนที่ผมเล่าเรื่อง พ.ร.บ.ได้ใช่ไหมครับ กฎหมายมันสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้แต่ผมมีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก อาจจะต้องไปศึกษาเพิ่ม ผมคิดว่ามันขับเคลื่อนได้เยอะเลย อย่างการไปอยู่กับ ก.ค.ศ. ที่เขาชวนไปวิพากษ์ ผมว่าอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเหมือนกันนะ เอาประสบการณ์ที่เรามีไปสู่ตรงนั้น
อย่างที่สาม เรื่องของการใช้สื่อ อันนี้เรื่อง SAR หน้าเดียวนี่ชัดเจนมาก เราใช้สื่อช่วยขยาย อาจจะฝากกับเพจ พอเพจเห็นว่าดีเขาก็ช่วยขยาย พอสังคมเห็นว่าดี เขาก็เลยยอมทำตาม นี่ก็ขับเคลื่อนได้
อย่างสุดท้ายพึ่งมาค้นพบตอนที่อยู่กลุ่มครูขอสอนกับ insKru คือ การรวมกลุ่มกันสามารถทำให้เราขับเคลื่อนและเสนอนโยบายได้ในฐานะกลุ่ม อย่างตอนที่กรรมาธิการของสภาเชิญกลุ่มครูขอสอนไป เป็นประเด็นเกี่ยวกับเด็กและการศึกษานี่แหละ แล้วคนที่ว่างก็เป็นผมกับพี่โจ๊ก (ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต) เราก็ไปกันสองคน แล้วก็ไปนำเสนอเชิงนโยบายจากตรงนั้นได้ แสดงว่าการรวมกลุ่มก็สามารถขับเคลื่อนได้
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสื่อ กฎหมาย ความรู้ หรือว่าการรวมกลุ่ม 4 อย่างนี้สามารถขับเคลื่อนสิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะสามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นได้ด้วย
ก็ขอบคุณครูกั๊กมากครับที่มาแบ่งปัน ตั้งแต่มิติของเด็กชายกั๊กในอดีต มาเป็นครูในวันนี้ และสิ่งที่ขับเคลื่อนข้างในวิชาตัวเอง คณิตศาสตร์ ห้องเรียน เพื่อนครู และสิ่งที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และมิติของสังคมที่ครูกั๊กช่วยมองและช่วยขับเคลื่อน ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ