- ซีรีส์วาย ณ วันนี้กลายเป็นคอนเทนต์ยอดฮิตที่ทำกำไรในตลาดสื่ออย่างมหาศาล ฐานแฟนคลับที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน จากในประเทศไปต่างประเทศ
- ในวาระที่ซีรีส์วายกำลังเติบโต เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้กับการเดินทางของมันผ่านสายตาของ ออฟ – นพณัช ชัยวิมล หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์วายยุคแรกๆ ของเมืองไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน ปัจจุบัน และอนาคตต่อไปของซีรีส์วายไทย
- “ซีรีส์วายมันไม่ได้โรแมนติกไร้คุณค่าซะทีเดียว ต่อให้มันไม่ได้ส่งแมสเซจ LGBTQ+ อะไรเลย อย่างน้อยซีรีส์ก็ใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศดำเนินเรื่อง มันก็ทำให้คนทั่วไปหรือผู้ปกครองถ้าได้ดูซีรีส์วาย ก็จะรับรู้การมีอยู่ของเพศสภาพที่หลากหลาย การรักเพศเดียวกัน อย่างน้อยการดูซีรีส์วายอาจจะทำให้วันหนึ่งเขาเปิดใจยอมรับ มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้ ต่อให้คุณเป็นพ่อแม่รุ่นเก่าก็ตาม”
Gay Ok Bangkok, เขามาเช้งเม้งที่ข้างๆ หลุมผมครับ, DarkBlueKiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว, เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, , นิทานพันดาว
ต่อให้ไม่เคยดูซีรีส์วาย แต่ชื่อเหล่านี้หลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง
เป็นส่วนหนึ่งของผลงานโดย ออฟ – นพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production แห่ง GMMTV
ถ้าเมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว ‘ซีรีส์วาย’ คงเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคม แต่ ณ วันนี้มันกลับกลายเป็นคอนเทนต์ยอดฮิตที่ทำกำไรในตลาดสื่ออย่างมหาศาล ฐานแฟนคลับที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน ในประเทศไปต่างประเทศ ไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายต่างบุกเข้ามาตีตลาดนี้
ในวาระที่ซีรีส์วายกำลังเติบโต เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้กับการเดินทางของมันผ่านสายตาของ ออฟ – นพณัช หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์วายยุคแรกๆ ของเมืองไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน ปัจจุบัน และอนาคตต่อไปของซีรีส์วายไทย
ก่อนจะมาทำซีรีส์วายเต็มตัว ทราบมาว่าคุณเคยกำกับซีรีส์ LGBTQ+ มาก่อน
ผมเป็นคนที่สนใจและอินกับประเด็น LGBTQ+ ตอนที่ทำซีรีส์ Gay Ok Bangkok มันเกิดมาจากว่าผมอยากหยิบเอาตัวละคร LGBTQ+ มาเล่าในมุมที่จริงจัง คือที่ผ่านมาตัวละครกลุ่มนี้มักถูกเล่าในมุมของตัวประกอบ ตัวตลก หรือถูกใส่ทัศนคติที่ว่าด้วยเรื่องความผิดหวัง ถูกกดทับจากสังคม ต้องพบเจอกับความรักที่ไม่สมหวัง จบสุดท้ายฆ่าตัวตาย (tragedy) หรือถ้าเป็นลูกชายคนเดียวของตระกูลต้องถูกจับไปแต่งงาน ซึ่งมันไม่ค่อยมีใครหยิบตัวละครพวกนี้มานำเสนอให้เห็นด้านอื่นๆ ผมเลยตัดสินใจทำเรื่อง Gay ok Bangkok ขึ้นมาเป็นซีรีส์ออนไลน์ ปรากฎว่าได้รับกระแสตอบรับดี มีเสียงจากคนดูบอกว่า ‘เออ มันมีแบบนี้บ้างก็ดี’
ส่วนมาเริ่มทำซีรีส์วายได้ยังไง ตัวเรามีโอกาสได้มาทำคอนเทนต์ที่สื่อสารกับวัยรุ่น ซึ่งซีรีส์วายก็เป็นคอนเทนต์หนึ่งในนั้น และมันดูจะเกี่ยวข้องกับงานเดิมที่เราทำ ใช้ตัวละครที่มีเพศสภาพหลากหลายเล่าเรื่อง พอได้ลองทำซีรีส์วายเรื่องหนึ่งแล้วมันได้รับความนิยม เราก็ทำเรื่องที่สองสามสี่ต่อมาเรื่อยๆ
ในฐานะที่คุณเคยสร้างทั้งซีรีส์ LGBTQ+ และซีรีส์วาย คุณคิดว่ามันมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
(เงียบ) อันนี้ตอบยากมาก เพราะอันดับแรกเราต้องกลับไปคุยก่อนว่าวัฒนธรรมและขนบซีรีส์วายคืออะไร ซีรีส์วายมันเริ่มต้นมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น มาจากการแต่งแฟนฟิกชันของแฟนคลับที่ใช้ศิลปิน-ไอดอลมาผูกโยงเข้าด้วยกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมชิป (Shipper ย่อมาจาก Relationship เป็นการจับคู่ให้คนที่เราชอบ) คู่จิ้น ฉะนั้น ซีรีส์วายจะมีขนบธรรมเนียมบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง เช่น ต้องเล่าอยู่บนโครงเส้นเรื่องรัก
แต่ถ้าเป็นซีรีส์ LGBTQ+ มันหลากหลายกว่านั้น สารที่ส่งออกไป (message) พูดเยอะกว่า เพราะต้องตอบโจทย์สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนกลุ่มนี้กำลังเรียกร้องอยู่ ท่าทางตัวละครจะจริงจังกว่า ฉะนั้น ซีรีส์วายกับซีรีส์ LGBTQ+ เหมือนยืนกันคนละฝั่ง แต่ใช้ความหลากหลายทางเพศร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องนี้คนจะแตกออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน กลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่า ‘มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ’ กับอีกกลุ่มที่มองว่า ‘ไม่! มันคนละเรื่องกัน’
เพราะงั้นฝั่งกลุ่ม LGBTQ+ ก็จะรู้สึกว่า ‘โห พวกสาววายยอมรับเถอะว่าการที่ผู้ชายรักกับผู้ชาย คือ เขาเป็นเกย์ แต่ว่าสายวายจะ ‘ไม่! เขาชอบผู้ชายคนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เกย์’ เป็นเรื่องที่เถียงไม่จบไม่สิ้น เพราะยืนอยู่คนละฝั่ง คนละทาง คนละความเชื่อกัน
กลับมาที่คำถามว่าซีรีส์วายกับซีรีส์ LGBTQ+ เหมือนหรือต่างกัน ผมคิดว่าแต่ละจุดยืนมันก็มีเหตุผลมาซับพอร์ตได้หมด ไม่ว่าจะมองในมุมเหมือนหรือต่าง สำหรับในมุมผม ผมรู้สึกว่ามันคือกลุ่มเดียวกัน ซีรีส์วายเป็นเหมือนเซกเมนต์หนึ่งของซีรีส์ LGBTQ+
จุดยืนที่ส่วนตัวคุณก็สนใจและอยากขับเคลื่อนประเด็น LGBTQ+ กับหน้างานที่ต้องผลิตซีรีส์วาย คุณดีลกับมันยังไง?
การสร้างซีรีส์วายของผมแต่ละเรื่องต้องมีแมสเซจที่พูดเรื่อง LGBTQ+ อย่างน้อยประเด็นหนึ่ง แต่แมสเซจบางอย่างมันอาจจะหนักเกินไปสำหรับใส่ในซีรีส์วาย เพราะคนดูเขาอาจรู้สึกว่า ‘โห ทำไมซีเรียสจัง’ ผมเลยพยายามบาลานซ์การนำเสนอทั้งสองฝั่ง
อย่างงานที่ผ่านมาของผม เรื่อง เขามาเช้งเม้งข้างๆ หลุมผมครับ ผมอยากเล่าเรื่องเด็กผู้ชายที่สับสนในตัวเอง ผมก็เลือกเล่าผ่านตัวละครเอกที่กำลังอยู่ในช่วงวัยสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราทำให้คนดูเข้าใจตัวละครนี้ โดยการพาเขาไปรู้จักว่าตัวละครนี้ชีวิตเขาเป็นยังไง อะไรบ้างที่เป็นปัจจัยกดดันเขา สุดท้ายตัวละครตัวนี้เขาจะเรียนรู้ตัวเองยังไง ปลายทางคือการที่เขาไปคุยกับพ่อแม่ ก็จะมีซีนที่ตัวละครคัมเอาท์ (come out) เดินไปเปิดใจกับพ่อแม่
พอขยับมางานที่โตขึ้นอย่าง Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว ผมอยากพูดเรื่องคนที่ยอมรับตัวเองได้แล้ว แต่เขาจะดีลกับสภาพแวดล้อม กับครอบครัวอย่างไร หรือฝั่งพ่อแม่เองที่มีลูกเป็น LGBTQ+ จะรับมือยังไง เพราะเรื่องนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับพ่อแม่นะ ในซีรีส์ผมเล่าแยกเป็น 2 ครอบครัว ครอบครัวแรกเป็นครอบครัวของพีท (เต – ตะวัน วิหครัตน์) ตัวเอกของเรื่อง เป็นครอบครัวที่พ่อยอมรับได้ และถึงแม้พ่อยอมรับได้ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเข้าใจอย่าง 100% ถึงความเป็น LGBTQ+… ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือ ‘ความเป็นเกย์’ ของลูก ฟังดูเป็นประเด็นที่หนักเนอะ ฉะนั้นเวลาหยิบมาเล่าในซีรีส์ผมเลยพยายามโทนดาวน์ให้มันสนุก ตลกขึ้น เช่น มีซีนพ่อพยายามหาข้อมูลในเน็ตว่า ฉันจะรับมือกับลูกที่เป็นเกย์ได้ยังไง หรือซีนซื้อถุงยางให้ลูก
ส่วนครอบครัวที่สอง ครอบครัวของเก้า (นิว – ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ) เขามีแม่ที่ต้องแคร์หน้าตาทางสังคมเพราะเป็นครู ตัวเก้าก็จะลำบากใจว่า ถ้าเขายอมรับสิ่งนี้มันจะกระทบกระเทือนกับอาชีพแม่หรือเปล่า เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาไม่กล้าก้าวข้ามผ่านการยอมรับตัวเอง หรือแม้กระทั่งครอบครัวของนนท์ (เอเจ – ชยพล จุฑามาศ) ที่เป็นตัวร้าย ซึ่งพ่อรับไม่ได้เลย ตัวซีรีส์ก็จะสะท้อนให้คนดูเห็นว่า การที่พ่อยอมรับไม่ได้แล้วแสดงออกกับลูกแบบนี้ สุดท้ายมันส่งผลกับพฤติกรรมลูกยังไง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราสามารถใช้ซีรีส์วายในการพูดได้
เวลาพูดถึง LGBTQ+ กับวาย ผมอยากให้เข้าใจจุดยืนทั้ง 2 ฝั่ง การเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ แล้ววัฒนธรรมดั้งเดิมของวาย ที่มันส่งผลต่อกลไกการผลิตซีรีส์ เราถึงจะเข้าใจว่าทำไมซีรีส์วายถึงกระโดดไปทำหน้าที่แทนซีรีส์ LGBTQ+ ไม่ได้ เพราะมันทำหน้าที่คนละหัว ถ้าเราลองเอาซีรีส์วายไปทำหน้าที่อีกแบบหนึ่ง คนดูกลุ่มนี้อาจจะไม่ชอบ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวังและต้องการ แต่มันมีคนที่พยายามทำอยู่แหละ เป็นสิ่งที่ดีที่เขาพยายาม แต่บางเงื่อนไขมันก็ทำให้เราไม่สามารถทำมันได้ 100%
ภาพใหญ่ของวงการซีรีส์วายไทยในปัจจุบัน
ผมมองว่าตอนนี้ตลาดซีรีส์วายมันเติบโตขึ้นมากแบบก้าวกระโดดเลยละ เทียบจากปริมาณซีรีส์วายที่มีในตลาด ณ ตอนนี้ คือมีมาให้เสพตามแพลตฟอร์มต่างๆ เยอะมาก ตัวเรื่องก็หลากหลายขึ้น ฐานคนดูก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เริ่มมีผู้ผลิตซีรีส์วายเจ้าใหม่ๆ ลงมาเล่นในตลาดนี้ เพราะมันมีโอกาสทางการตลาดที่มากขึ้น
ที่ GMM TV แต่ละปีเราจะผลิตคอนเทนต์วัยรุ่นเป็นหลัก ซีรีส์วายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์นั้น ที่ผ่านมาเราจะทำปีหนึ่งประมาณ 2 เรื่อง แต่มีปีที่ผ่านมา (2020) เราทำเพิ่มเป็น 4 เรื่อง
ในมุมคนสร้างคอนเทนต์ ก็มีการคิดวิธีนำเสนอแบบใหม่ๆ ต้องทำคอนเทนต์ให้สนุกขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะซีรีส์วายนะครับ ซีรีส์ทั่วไปก็เช่นกัน พัฒนารูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายขึ้น ฝั่งซีรีส์วายเราจะเห็นว่าตอนนี้พล็อตเรื่องเริ่มออกจากนอกรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีแอคชั่น สืบสวนสอบสวน ไปแตะสายอาชีพมากขึ้น
แปลว่าพล็อตแบบนี้กำลังจะได้รับความนิยม
เรียกว่ามันหลากหลายขึ้นมากกว่า เพราะมันเพิ่งเป็นปีแรกที่เนื้อหาซีรีส์วายออกจากโลกมหาวิทยาลัยไปสู่สายอาชีพ ไปสู่เซ็ตอัพเซ็ตติ้งต่างๆ ของเนื้อเรื่องมากขึ้น เรื่องล่าสุดของผม นิทานพันดาว เนื้อเรื่องก็ไปออกต่างจังหวัด หรือถ้าเรื่องที่ผ่านมาจะมี พฤติการณ์ที่ตาย เป็นซีรีส์วายสืบสวนสอบสวน หรือเรื่อง Kinn Porsche Story รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก อันนี้ว่าด้วยเรื่องราวของมาเฟีย แต่จะเห็นว่ามันค่อยๆ ออกจากโซนที่เคยใช้ตัวละครในโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่ถามว่าจะแมส (mass) ขึ้นไหม? เรียกว่าเป็นทางเลือกใหม่ๆ ละกันครับ เพราะเรายังตอบไม่ได้ว่าการเดินไปทางนี้มันจะฮิตหรือไม่ฮิต
ซึ่งความนิยมที่ได้รับไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่เป็นตลาดต่างประเทศด้วย
ผมว่าปัจจัยที่ทำให้ซีรีส์วายเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จก็คงเหมือนกับซีรีส์ทั่วไปครับ คือ มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ แคสติ้งที่ดี ส่วนเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไมซีรีส์วายบ้านเราถึงเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ผมว่าเป็นเพราะปริมาณที่บ้านเราผลิตซีรีส์วายออกมามันตอบโจทย์ความต้องการของคนหลายๆ ประเทศ ที่บ้านเขาเรื่อง LGBTQ+ ยังไม่เปิดขนาดนั้น บวกกับวิธีพรีเซนต์นักแสดงของเราเหมือนกับการสร้างไอดอล ศิลปินไปด้วยในตัว ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าเขาจะทำยังไงให้ซีรีส์มันไปได้ไกลที่สุด ทำยังไงให้แฟนอินเตอร์ดู พล็อตแบบไหนที่สากล (universal) ใครดูก็ได้
พล็อตซีรีส์วายแบบไหนที่ทำเมื่อไรก็ตีหัวเรียกคนดูได้แน่นอน
หลักๆ คือต้องอยู่บนโครงเส้นเรื่องรัก เพราะความรักมันเป็นเรื่องสากล ใครๆ ก็เข้าใจได้ และถ้าวัดจากความสำเร็จของการสร้างซีรีส์วายที่ผ่านมา เราคิดว่าคงเป็นพล็อตเรื่องรักในวัยเรียน รักในมหาวิทยาลัย เพราะคนดูมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องนั้นอยู่ เวลาดูเขาจะเกิดอารมณ์ร่วม ‘เฮ้ย ฉันเคยอยู่ในจุดนี้’ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ซีรีส์มันไปไกล
ด้านหนึ่งที่ซีรีส์วายได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็จะมีอีกด้านที่คนรู้สึกว่าซีรีส์วายยิ่งสร้างยิ่งส่งต่อความเชื่อแบบผิดๆ ในเรื่อง LGBTQ+
ถ้าบอกว่าซีรีส์วายยิ่งทำยิ่งสร้างความเข้าใจผิด… เราคงต้องมามองให้ลึกว่า ‘ความเข้าใจผิด’ ที่ว่าคืออะไร ถ้าหมายถึงซีรีส์วายพูดเรื่องเพศสัมพันธ์แบบผิดๆ อันนี้เราต้องยอมรับเลยว่า มีการสร้างความเข้าใจผิดอยู่จริงๆ มีบางเรื่องที่อาจนำเสนอไม่ถูกต้อง เราก็รู้สึกแบบนั้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ผมยังมองไม่ออกว่า… เอ๊ะ ซีรีส์วายมันสร้างความเข้าใจผิดแบบไหนบ้างนะ
เช่น คนดูซีรีส์วายจะมองว่าการที่ชาย – ชายรักกัน ไม่เท่ากับเป็นเกย์ เขาเป็นผู้ชายที่รักผู้ชายคนนี้คนเดียวเฉยๆ ซึ่งความคิดแบบนี้อาจเป็นการลบตัวตนคนกลุ่มนี้ไป
หรือจริงๆ ตอนนี้มันบียอนด์ไปไกลกว่านั้นแล้ว ในจุดที่เราไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องการคัมเอาท์ หรือถกกันว่าชายรักชายเท่ากับเป็นเกย์ได้หรือเปล่านะ
ในมุมผม ผมอยากทำให้ซีรีส์วายเป็นซีรีส์รักเรื่องหนึ่ง ที่ตัวละครเป็นคนสองคนรักกัน จำเป็นไหมที่เขาต้องบอกโลกว่า ฉันเป็นเกย์ หรือฉันคือเพศไหน อยากทำซีรีส์ให้มันอยู่ในจุดที่ตัวละครไม่จำเป็นต้องมานั่งคัมเอาท์กับพ่อแม่ กับเพื่อน ไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องการยอมรับแล้ว เพราะผมมองว่าเพศมันเป็นเรื่องลื่นไหล และการที่เราจะชอบใครสักคนมันเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วตอนนี้ผมคิดว่ามันไปไกลกว่าความเกย์ – ไม่เกย์แล้วหรือเปล่า คำตอบผมแบบนี้คนยังคิดว่าซีรีส์วายนำเสนอแบบผิดๆ อยู่ไหม
เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยไม่มีวันจบ มีหลายมุมให้มอง
หลายมุมจนผมรู้สึกว่าขนาดตัวเราว่าอินแล้วนะ แต่ผมยังทำความเข้าใจมันได้ไม่ถึงเลย ในยุคหนึ่งที่ผมก็อินเรื่องคัมเอาท์ สนับสนุนให้ทุกคนออกมาคัมเอาท์เถอะ เป็นตัวของตัวเอง แต่ ณ วันนี้เราตั้งคำถามว่าการคัมเอาท์มันจำเป็นหรือไม่ เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องคัมเอาท์ก็ได้นิ ถ้าเรามีความสุข
หรือการที่ฉันรักผู้ชายคนนี้แล้วต้องตีกรอบด้วยเหรอว่าฉันเป็นเกย์ ถ้าลองลึกไปในความเป็นเกย์ ก็มีอีกหลายแบบมาก ตัวเราเองยังเข้าใจไม่หมดเลย มันจำกัดเพศได้ไม่หมดแล้ว ถ้าบอกซีรีส์วายนำเสนอแบบผิดๆ อะไรคือผิด ต้องลงมาโฟกัสตรงนี้
แต่พอเราอยากทำให้ซีรีส์วายมันเป็นซีรีส์รักเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการยอมรับ การคัมเอาท์ ก็จะมีกลุ่มคนที่บอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีคุณค่าเพราะคุณไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQ+ เลย แต่ในมุมเราก็รู้สึกว่าอยากจะทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เหรอ ฉันกำลังทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาแล้วไง เรื่องนี้ผมว่ามันอยู่ที่มุมมองแล้วล่ะ
ฝั่งคนที่เรียกร้องจะรู้สึกว่าคุณใช้ตัวละครซีรีส์วายทำมาหากิน ทำไมคุณไม่ใช่สิ่งนี้พูดเรื่องนี้หน่อย หรือดึงสิ่งที่คนกลุ่มนี้ถูกกดทับอยู่ออกมาพูด ออกมาสื่อสาร ซึ่งผมก็พยายามทำอยู่นะ แต่ต้องเข้าใจเงื่อนไขการสร้างซีรีส์วายด้วย ฐานคนดูหรือการตลาดว่าเขาต้องการอะไร สื่อแบบไหนที่เขาต้องการเสพ วัฒนธรรมดั้งเดิมของวาย ตัวผมพยายามทำเท่าที่ขอบเขตผมจะทำได้
ที่คนคาดหวังว่าซีรีส์วายต้องทำหน้าที่สื่อสาร ต้อง educate คน เพราะการศึกษาบ้านเราไม่ได้สอนเรื่องเหล่านี้
ผมก็คิดแบบนั้น หรือจริงๆ เราต้องไปแก้ที่จุดนั้นหรือเปล่า ให้ระบบการศึกษาทำหน้าที่ให้มากพอ ถ้าเรามาคาดหวังว่าซีรีส์วายต้องสอนคนดู ก็ต้องคาดหวังทุกสื่อทุกเอนเตอร์เทนเมนเหมือนกันหมด ในฐานะที่เป็นสื่อเหมือนกัน และไม่ใช่เรื่องเพศหรอกที่เราต้องมาสื่อสารกัน
พอพูดเรื่องนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยซีรีส์วายมันไม่ได้โรแมนติกไร้คุณค่าซะทีเดียว ผมรู้สึกว่าต่อให้มันไม่ได้ส่งแมสเซจ LGBTQ+ อะไรเลย อย่างน้อยซีรีส์ก็ใช้ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศดำเนินเรื่อง ผมรู้สึกว่ามันก็ทำให้คนทั่วไป หรือผู้ปกครองถ้าได้ดูซีรีส์วายนะ ก็จะรับรู้การมีอยู่ของเพศสภาพที่หลากหลาย การรักเพศเดียวกัน อย่างน้อยการดูซีรีส์วายอาจจะทำให้วันหนึ่งเขาเปิดใจยอมรับ มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้ ต่อให้คุณเป็นพ่อแม่รุ่นเก่าก็ตาม
คิดว่าทิศทางต่อไปของซีรีส์วายไทยจะเป็นอย่างไร
การที่ซีรีส์วายบ้านเราได้รับความนิยมในต่างประเทศ แปลว่ามันสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกได้ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของประเทศไทย ถ้าจะไปให้ถึงจุดนั้นมันคงต้องพัฒนาการผลิตซีรีส์ให้มีคุณภาพควบคู่กับการลงทุน ซึ่งรัฐบาลเราจะให้การสนับสนุนหรือเปล่า ตัวเราเองก็คาดหวังว่าซีรีส์วายจะถูกหยิบมาพัฒนาที่ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่อยู่ในโรดแมปให้เป็นสิ่งที่ทำงานกับกลุ่มคนต่างประเทศได้ เรียกคนเข้ามาเที่ยวไทย หรือถ่ายทอดวัฒนธรรมบ้านเราลงไปในซีรีส์
ผมอยากเห็นคุณภาพ (quality) ในการสร้างซีรีส์วาย ให้สามารถทัดเทียบและเทียบเท่าซีรีส์แนวอื่นๆ ครับ ทำอย่างไรให้ซีรีส์นี้ไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันมาตลอด
ณ วันนี้ซีรีส์วายยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยไหม?
จะมีคำที่บอกว่า ‘พ่อแม่รับได้แหละ’ ‘คนเริ่มเปิดใจมากขึ้น’ ผมมองว่าเขาจะเปิดใจและรับได้ตราบใดที่ไม่ใช่ลูกบ้านตัวเอง เมื่อไรที่ลูกบ้านตัวเองเป็น LGBTQ+ พ่อแม่ก็ต้องมานั่งตั้งคำถามว่าลูกเขาจะใช้ชีวิตในสังคมยังไง แต่มันก็เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงของแต่ละครอบครัวแหละ ว่าเขาจะดีลกับเรื่องนี้ยังไง
ผมว่าอย่างน้อยถ้าซีรีส์วายมันเคยทำหน้าที่ให้เขาเห็นมาก่อนว่า การที่ผู้ชายรักกับผู้ชายเป็นยังไง ไม่ได้แปลว่าเมื่อลูกชอบเพศเดียวกันแล้วชีวิตจะล่มสลาย หรือไม่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ อย่างน้อยถ้ามันมีชุดข้อมูลบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เขาหน่อย ผมว่าการดีลของพ่อแม่ในเรื่องนี้มันคงต้องมีไกด์แมพ (guide map) ให้เขาสักหน่อยหนึ่ง ซึ่งซีรีส์วายอาจจะทำหน้าที่นี้โดยที่คนดูอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ