- เด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัว พวกเขามีความสนใจใฝ่รู้ ชื่นชอบที่จะตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่พวกเขาไม่รู้ เพราะสำหรับเด็กทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบเจอมาก่อน และนั่นทำให้วิชาปรัชญากับเด็ก มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน
- มีนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนในโลกตะวันตกแนะนำให้โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา บรรจุวิชาปรัชญาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถม พวกเขาเชื่อว่าการสอนวิชาปรัชญาเบื้องต้นจะช่วยให้เด็กรู้จักขบคิดอย่างมีเหตุผล รวมถึงมีความกล้าแสดงออก ตลอดจนเพิ่มทักษะในด้านการพูดและการฟัง
- ดร.ไมเคิล แฮนด์ (Dr Michael Hand) จากสถาบันการศึกษา (Institue of Education) กล่าวว่า “เด็กๆ ทุกคนควรเรียนรู้ว่าอะไรที่เรียกว่าการคิดอย่างมีเหตุมีผล และความสำคัญของการมีเหตุมีผลคืออะไร ซึ่งการเรียนปรัชญาจะช่วยพวกเขาในเรื่องนี้”
รถไฟขบวนหนึ่งกำลังวิ่งมาด้วยความเร็วสูงบนรางที่อยู่ไกลออกไป มีคนถูกมัดนอนอยู่บนราง 5 คน ถ้าคุณอยู่ใกล้สวิตซ์ที่สามารถสับรางให้รถไฟเปลี่ยนไปวิ่งอีกรางหนึ่งได้ แต่บังเอิญว่าบนรางอีกเส้นหนึ่งนั้น มีคนถูกมัดนอนอยู่ 1 คน
คุณจะสับรางเพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน โดยยอมสละชีวิตคน 1 คน หรือไม่?
และเพื่อเพิ่มความซับซ้อนให้สมองต้องออกแรงขบคิดมากขึ้นไปอีก มีคำถามที่ต่อยอดจากคำถามแรกว่า แล้วถ้าหากคุณไม่ได้อยู่ใกล้สวิตซ์สับราง แต่กำลังยืนอยู่บนสะพานลอยเหนือเส้นทางรถไฟ โดยในขณะนั้น คุณยืนอยู่กับชายอ้วนคนหนึ่ง ซึ่งหากคุณผลักชายอ้วนให้ตกลงไปขวางหน้ารถราง รถไฟจะชนชายอ้วนเสียชีวิตแน่นอน แต่นั่นก็จะทำให้รถไฟหยุดก่อนจะชนกับคน 5 คน ที่ถูกมัดไว้
คำถาม คือ คุณจะผลักชายอ้วนให้ตกจากสะพานลอยหรือไม่?
คุณจะลงมือฆ่าคน 1 คน (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) เพื่อแลกกับการช่วยชีวิตคน 5 คน หรือไม่
นี่เป็นหนึ่งในคำถามเชิงปรัชญาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถึงมากที่สุด โดยคำถามแรกคิดขึ้นโดย ฟิลิปปา ฟุต (Philippa Foot) นักปรัชญาหญิงชาวอังกฤษ เมื่อปี 1967 ส่วนคำถามที่สองคิดขึ้นในปี 1985 โดย จูดิธ จาร์วิส ธอมสัน (Judith Jarvis Thomson) นักปรัชญาหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งคำถามทั้งสองข้อกลายเป็นคำถามที่ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยเกี่ยวกับปรัชญาและจริยธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
(สามารถอ่านเรื่องราวของฟิลิปปา ฟุต และจูดิธ จาร์วิส ธอมสัน ได้ในหนังสือ A Little History of Philosophy : ปรัชญา ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา เขียนโดย Nigel Warburton แปลโดย ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร สำนักพิมพ์ Bookscape)
และนี่คือ คำถามที่เคยเป็นหัวข้อสนทนาของผมกับลูกชาย เมื่อตอนที่เขาอยู่วัยมัธยมต้น
ปรัชญา : ยุ่งยาก เข้าใจยาก จริงหรือ?
ใช่ครับ ผมชอบคุยเรื่องปรัชญากับลูกชาย เพราะผมเชื่อว่า ปรัชญา คือ ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ปรัชญามีอยู่ทุกหกทุกแห่งรอบตัวเรา ไม่ว่าจะในหนังสือ ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ ซีรีส์เกาหลี และแม้กระทั่งบนโต๊ะกินข้าว
ตามรากศัพท์ดั้งเดิม ปรัชญา หรือ Philosophy มาจากภาษากรีกคำว่า ฟิโลโซเฟีย ซึ่งแปลว่า ความรักในความรู้ (ฟิลอส แปลว่า ความรู้ โซเฟีย แปลว่า ความรัก) โดยภาษาไทยเลือกใช้คำว่า ปรัชญา ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า ความรู้
จะเห็นว่า มีความแตกต่างกันนะครับ เพราะ Philosophy คือ ความรักในความรู้ หรือความใฝ่รู้ การขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ขณะที่รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า ปรัชญา หรือ ปัญญา – ในภาษาบาลี หมายถึงตัวองค์ความรู้
ในบทความชิ้นนี้ เวลาที่ผมพูดถึงคำว่า ปรัชญา ผมขออนุญาตใช้ตามความหมายภาษากรีก อันหมายถึง ความรักในความรู้ ซึ่งผมคิดว่า ตรงกับสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อมากกว่า
การรักในความรู้ ทำให้เรามีความพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงความรู้ ซึ่งในยุครุ่งเรืองของปรัชญา ทั้งปรัชญากรีก ปรัชญาอินเดีย หรือปรัชญาจีน ความรู้ที่เราพยายามเข้าให้ถึง ครอบคลุมแทบทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่จุดกำเนิดของจักรวาล ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายมีอยู่จริงหรือไม่ ความดี – ความชั่วคืออะไร ตัวตนของเราคืออะไร
หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้ที่เรารัก ก็คือ การคิด และอาจกล่าวได้ว่าหัวใจสำคัญของปรัชญา คือ การคิด ซึ่งหมายรวมไปถึงการตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบ
ถ้ามองในแง่นี้ เราจะเห็นได้ว่าเด็กทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัว เพราะพวกเขาชื่นชอบที่จะตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ในเรื่องที่พวกเขาไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นคำถาม…
“ทำไมหนูต้องแบ่งขนมให้น้องด้วย ทำไมหนูเป็นคนดีด้วย ไม่เห็นอยากจะเป็นเลย”
“น้องแมวที่ตายไปแล้ว ไปอยู่ที่ไหนคะ แม่ แล้วหนูจะได้เล่นกับน้องแมวอีกรึเปล่า”
“เวลาหนูดื้อ คุณครูจะทำโทษหนู แล้วถ้าคุณครูดื้อ หนูจะทำโทษคุณครูได้มั้ย”
ความช่างสงสัยของเด็กๆ ทุกคน ก็ไม่แตกต่างจากความอยากรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะที่ว่า “ทำอย่างไร เราจึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์” และไม่แตกต่างจากการตั้งคำถามของโสคราติสที่ว่า “ความดีคืออะไร และทำไมสิ่งนั้นถึงถูกเรียกว่าความดี”
และไม่แตกต่างจากความสงสัยของลูกชายผม หลังจากดูหนังเรื่อง Oblivion ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับการโคลนนิ่งว่า “ถ้ามีร่างโคลนนิ่งที่เหมือนร่างจริงทุกอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้า ลึกลงไปถึงดีเอ็นเอ แล้วสมมติว่ามีการโคลนนิ่งร่างนั้นออกมา 2 ร่าง คำถามก็คือ ร่างไหนจะถือเป็นตัวแทนที่แท้จริงของร่างต้นแบบ หรือ มีความชอบธรรมมากที่สุดที่จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนต้นแบบ ในกรณีที่ตัวต้นแบบตายไปแล้ว”
ด้วยความที่ว่า เด็กๆ ทุกคนล้วนมีความสนใจใฝ่รู้ ชอบที่จะตั้งคำถามเป็นทุนเดิม เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบเจอมาก่อน และนั่นทำให้วิชาปรัชญากับเด็ก มีความสอดคล้องและส่งเสริมกันและกันมากกว่าที่เราเคยเชื่อกัน
ในปัจจุบัน มีนักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนในโลกตะวันตกแนะนำให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา บรรจุวิชาปรัชญาเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถม เพราะพวกเขาเชื่อว่า การสอนวิชาปรัชญาเบื้องต้นจะช่วยให้เด็กรู้จักขบคิดอย่างมีเหตุผล รวมถึงมีความกล้าแสดงออก ตลอดจนเพิ่มทักษะในด้านการพูดและการฟัง
ดร.ไมเคิล แฮนด์ (Dr Michael Hand) จากสถาบันการศึกษา (Institue of Education) และดร.แคร์รี วินสแตนลีย์ (Dr Carrie Winstanley) จากมหาวิทยาลัยโรแฮมป์ตัน (Roehampton University) กล่าวว่า วิชาปรัชญาเบื้องต้นที่เหมาะกับเด็กระดับประถมศึกษา คงไม่ใช่เรื่องราวประวัติและหลักปรัชญาของโสคราติส พลาโต หรือฟรีดิช นิทเช แต่น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆ เช่น ความยุติธรรม จริยธรรม และการลงโทษ
“นักคิดคนสำคัญในโลกล้วนแต่เป็นคนที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ตลอดจนตัดสินเรื่องราวและแสดงพฤติกรรมโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดอย่างมีเหตุผล” ดร.แฮนด์ กล่าว
“เด็กๆ ทุกคนควรเรียนรู้ว่าอะไรที่เรียกว่าการคิดอย่างมีเหตุมีผล และความสำคัญของการมีเหตุมีผลคืออะไร ซึ่งการเรียนปรัชญาจะช่วยพวกเขาในเรื่องนี้”
ฟังดูอาจจะเช้าใจยาก แต่เอาจริงๆแล้ว เวลาที่ครูหรือนักการศึกษา เอาหัวข้อปรัชญาเข้าไปคุยกับเด็กวัยประถม ไม่ได้ยากขนาดนั้น พวกเขาจะใช้คำถามในหัวข้อง่ายๆ อย่างเช่น
“ถ้าหมูพูดได้ สื่อสารกับเราได้ เราจะกินมันมั้ย” หรือ “ถ้าเราเปลี่ยนชื่อตัวเองใหม่ เราจะกลายเป็นคนใหม่ที่ไม่ใช่คนเดิมหรือเปล่า”
ปรัชญา ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป
ย้อนกลับไปที่คำถามเรื่องรถไฟ ผมถามลูกชายวัยรุ่นตอนต้นว่า ถ้าเป็นเขา เขาจะเลือกทำอย่างไร
“ถ้าเป็นเซน เซนจะเลือกสับราง ให้รถไฟวิ่งทับคน 1 คน เพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน” ลูกชายผมตอบ หลังจากครุ่นคิดไม่นาน
“แล้วถ้าเป็นคำถามที่สองล่ะ เซนจะผลักคนอ้วน ให้ตกลงไปขวางหน้ารถไฟมั้ย” ผมถามต่อ
ลูกชายผมตอบว่า “จริงๆ แล้ว คำถามข้อนี้ ไม่ต่างจากข้อแรกเลย สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ ความรู้สึกผิดที่มากขึ้น เพราะเราต้องออกแรงลงมือทำให้คนๆ หนึ่งเสียชีวิต เพื่อช่วยชีวิตคน 5 คน แต่ยังไง เซนก็ตอบเหมือนเดิม คือ เลือกสละชีวิตคน 1 คน แลกกับชีวิตคน 5 คน”
“งั้นสมมติเพิ่มว่า ถ้าคน 1 คน ที่ถูกมัดบนราง เป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นนักวิทยาศาสตร์ทำผลงานให้กับประเทศชาติ เซนจะสับรางเพื่อสละชีวิตของเขา แลกกับการช่วยคน 5 คน ที่ไม่มีใครรู้จักผลงานหรือคุณงามความดีรึเปล่า” ผมพยายามพลิกแพลงคำถามต่อ
“ก็เหมือนเดิม” เด็กหนุ่มม.ต้น ตอบโดยแทบไม่เสียเวลาคิด “เซนคิดว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกตอบเหมือนกัน เพราะเราจะยึดเอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง ชีวิตคน 5 คน ยังไงก็มีประโยชน์กว่าชีวิตคน 1 คน”
ใช่ครับ จากผลการสำรวจระบุว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกตอบแบบเดียวกับลูกชายของผม คือ ตัดสินใจเลือกช่วยชีวิตคนจำนวนมาก โดยยอมเสียสละชีวิตคนจำนวนที่น้อยกว่า
“แล้วจะมีสถานการณ์ไหน ที่ทำให้คำตอบเปลี่ยนไปมั้ย” ผมตั้งคำถามต่อ
“ถ้าคน 1 คน เป็นคนที่เรารู้จัก หรือมีความสนิทสนมด้วย เราจะเลือกช่วยคนนั้นเป็นอันดับแรก โดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียสละชีวิตคนจำนวนมากกว่า” ลูกชายผมตอบ ก่อนจะเสริมว่า
“ที่ตอบมาทั้งหมด เป็นแค่การตอบคำถาม เป็นแค่การคิดโดยยึดหลักเหตุผล แต่ถ้าเซนอยู่ในสถานการณ์จริง อาจเลือกทำตรงกันข้าม หรือไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เพราะเวลาเราเจอสถานการณ์จริง เราไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย”
สำหรับตัวผมแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของปรัชญา อาจไม่ใช่ คำตอบ แต่เป็นการขบคิดเพื่อให้ได้คำตอบ และนั่นทำให้คำตอบในแต่ละคำถาม อาจมีได้หลายคำตอบ หรืออาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกเลยก็ได้
แต่อย่างน้อย เราก็ได้ขบคิดเพื่อพยายามค้นหาคำตอบ ได้ทำให้สมองตื่นตัวกระฉับกระเฉง และนั่นคือสิ่งที่ ‘Google’ ไม่สามารถทำแทนเราได้