- Pieces of a Woman หนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของ มาร์ธา (วาเนสซา เคอร์บี้) เธอสูญเสียลูกไปขณะทำคลอด ชีวิตหลังจากนี้ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของเธอ คือ การเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากความทุกข์ เพื่อลุกขึ้นและก้าวเดินอีกครั้ง
- หนังพาเราไปสำรวจ “ร่องรอย” ของความสูญเสีย ที่แสดงออกผ่านอาการ เฉยชา เศร้าหมอง เกรี้ยวกราด บึ้งตึง ฯลฯ สุดแท้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องจะออกอาการแบบไหน
- แต่ที่แน่ๆ การคลอดลูกของมาร์ธา ไม่ใช่สิ่งที่เป็น “ส่วนตัว” อีกต่อไป เพราะคนรอบข้าง สามี แม่ พี่สาว รวมถึงสังคมภายนอกอื่นๆ มองว่านี่คือเรื่องไม่ถูกต้อง เธอต้องเอาคืน
ภาพ Netflix
บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
หญิงสาวท้องใกล้คลอดตัดสินใจแน่วแน่ ว่าท้องนี้จะขอคลอดลูกเองที่บ้าน แต่เหตุการณ์ไม่เป็นดังคาด จึงเป็นที่มาของโศกนาฏกรรม ทำให้ความโศกเศร้าเข้ามาเป็นเพื่อนสนิทของชีวิต ความสัมพันธ์กับสังคมและคนรอบข้างบิดเบี้ยวและบึ้งตึง ชีวิตหลังจากนี้ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของเธอ คือการเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากความทุกข์ เพื่อลุกขึ้นและก้าวเดินอีกครั้ง
เรื่องราวของ Pieces of a Woman ว่ากันง่ายๆ แบบนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจของหนัง เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ชวนถกเถียงและครุ่นคิด โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยความหมายของชีวิตและปฏิสัมพันธ์ ซึ่งหนังเปิดโจทย์ไว้ เพื่อให้คนดูปะทะสังสรรค์ทางความคิดกันอย่างเต็มที่
หนังเปิดเรื่องได้น่าประทับใจด้วยฉากการคลอดของ มาร์ธา (วาเนสซา เคอร์บี้) โดยมี ฌอน (ชีอา เลอเบิฟ) สามีของเธออยู่เคียงข้าง และมี เอวา (มอลลี พาร์คเกอร์) พยาบาลผดุงครรภ์มาช่วยทำคลอดให้ ฉากนี้กินเวลายาวนานถึง 23 นาที โดยกล้องตามติดตัวละครในฉากไปเรื่อยๆ เหมือน long take ที่กดดันคนดูสุดๆ เพราะลุ้นไปตัวละครในฉากตลอดเวลา จนมาพีคสุดในตอนท้ายของฉากนี้ คือเหมือนทุกอย่างจะคลี่คลายพร้อมกับเสียงของทารกที่ร้องออกมา แต่แล้วทุกอย่างกลับตาลปัตร ทารกตัวเขียวคล้ำ เสียงร้องหายไป ทุกคนที่ผ่อนคลายเมื่อวินาทีก่อนนั้น ต่างลนลานอีกครั้ง
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งมาพร้อมคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาแทบจะทันที… ทำไมไม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล ทำไมต้องเอาตัวเองและลูกไปเสี่ยงแบบนี้
มาร์ธา คือหนึ่งในจำนวน 1% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั่วอเมริกาที่เลือกคลอดลูกที่บ้าน (Home Birth) ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของผู้หญิงเหล่านี้ที่จะคลอดแบบธรรมชาติโดยมีผู้ช่วยเหลือน้อยที่สุด แม้ในยามคับขัน ก็ยังยืนยันในสัญชาตญาณเดิมของตัวเอง ว่าทุกอย่างจะอยู่ในความควบคุมผ่านร่างกายและจิตใจของตัวเอง
อย่างกรณีของมาร์ธา เมื่อคลอดลำบาก ลูกไม่ยอมออกมาซักที ฌอนจึงบอกว่าไปโรงพยาบาลเถอะ มาร์ธาก็ยังหนักแน่นต่อไปว่า ‘ไม่’ พอเธอตอบแบบนี้ เชื่อเถอะคนดูไม่น้อยต้องสบถออกมา
เมื่อผ่านเหตุการณ์วิกฤต หนังก็พาเราไปสำรวจ ‘ร่องรอย’ ของความสูญเสีย ที่แสดงออกผ่านอาการ เฉยชา เศร้าหมอง เกรี้ยวกราด บึ้งตึง ฯลฯ สุดแท้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องจะออกอาการแบบไหน แต่ที่แน่ๆ การคลอดลูกของมาร์ธา ไม่ใช่สิ่งที่เป็น ‘ส่วนตัว’ อีกต่อไป เพราะคนรอบข้าง สามี แม่ พี่สาว รวมถึงสังคมภายนอกอื่นๆ มองว่านี่คือเรื่องไม่ถูกต้อง เธอต้องเอาคืน
ว่ากันว่า ถ้าเรามีเรื่องทุกข์ใจ หาทางออกไม่เจอ ขอให้กลับบ้าน เพราะบ้านเหมือนกำแพงพิงอันแข็งแกร่ง ช่วยให้ทุกอย่างคลี่คลายลงได้เสมอ แต่สำหรับบ้านของมาร์ธา ซึ่งมี “เอลิซาเบธ” (เอลเลน เบอร์สตีน) ผู้เป็นแม่ยืนผงาดอยู่-นั้น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะความกดดันถาโถมเข้าหามาร์ธาทุกครั้งที่เจอคนในครอบครัว
ขณะที่ทุกคนเหมือนตะโกนใส่หน้า ให้เธอลากคอคนทำคลอดเข้าคุกแล้วฟ้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายให้หนัก แต่ไม่มีใครเข้าใจในความสูญเสียที่มาร์ธาเผชิญ แม้กระทั่งฌอนเอง ก็ยังใช้วิธีการดิบๆ เดิมๆ โดยหวังว่าจะช่วยให้มาร์ธากลับไปเป็นเหมือนเก่า ซึ่งฉากนี้เป็นฉากยอดเยี่ยมอีกฉากหนึ่งของหนัง เมื่อฌอนขอมีอะไรกับมาร์ธา โดยฝ่ายหญิงอยากปฏิเสธ แต่ด้วยความเป็นเมียทำให้เธอต้องเออออไปงั้นๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ ความหมองเศร้าที่รุมเร้า ความเครียดที่ยังคงคุกรุ่น ทำให้การเมคเลิฟแทนที่จะราบรื่น กลับติดขัดไปหมด และนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในเวลาต่อมา
เมื่อคืนวันผ่านไป มาร์ธาอยู่กับตัวเองอย่างใคร่ครวญมากขึ้น และค้นพบบางอย่าง ว่าแท้จริงแล้ว การผูกติดชีวิตไว้บางชิ้นส่วนที่ขาดวิ่น ไม่เป็นผลดีต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าเลย ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ แม้จะผุกร่อนเพียงไหนก็ตาม เหมือนแอปเปิลที่เธอกัดกิน ไม่ว่าจะยับเยินด้วยรอยกัด หรือบูดเน่า เพราะทิ้งไว้นอกตู้เย็น แต่เมื่อเอาเมล็ดไปเพาะ ต้นใหม่ก็งอกขึ้นมา ดั่งชีวิตมนุษย์ ย่อมลุกขึ้นจากซากปรักหักพังของวันวานได้สักวัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาเจอเร็วแค่ไหน
วาเนสซา เคอร์บี้ เป็นมาร์ธาได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะฉากคลอดลูก คนดูต้องลุ้นไปกับเธอจนตัวเกร็ง เพราะสมจริงอย่างมาก ทั้งๆ ที่เธอเอง ไม่เคยผ่านประสบการณ์การคลอดลูกมาก่อน โดยก่อนถ่ายทำ เคอร์บี้ตะลุยดูสารคดีและวิดีโอเกี่ยวกับการคลอดลูกมากมายหลายเรื่อง และไปนั่งดูคนกำลังคลอดจริงๆ ในห้องคลอดด้วย ขณะที่ ชีอา เลอเบิฟ ก็ยกระดับผลงานของตัวเองขึ้นไปอีกระดับ และดูเหมือนสลัดบท “แซม วิทวิคกี้” จาก Transformers ออกไปจากตัวได้เรียบร้อยแล้ว
Pieces of a Woman กำกับภาพยนตร์โดย คอร์แนล มันดรักโซ คนทำหนังฝีมือดีชาวฮังการี เคยคว้ารางวัล Un Certain Regard เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2014 จาก White God มาก่อน โชว์ฝีมือได้น่าทึ่ง เมื่อบวกกับบทภาพยนตร์ของ คาตา เวเบอร์ ภรรยาของเขาเอง ซึ่งจากการค้นข้อมูล พบว่าเธอเคยแท้งลูกมาแล้ว เหตุนี้บทหนังจึงน่าจะมีส่วนคล้ายประสบการณ์ช่วงหนึ่งในชีวิตของเธอ
หนังยังหาดูได้ทาง Netflix ครับ