- Initiative – ความคิดริเริ่ม อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่ถูกระบุในทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill) – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัยที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
- คนที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่ม แก้ปัญหาได้ดี ทำงานโดยไม่รอรับคำสั่ง เรียกร้องความยืดหยุ่นแต่ก็ตัดสินใจหรือหาข้อสรุปได้ คนที่มีคาแรคเตอร์แห่งการคิดริเริ่มเป็นคนที่ตั้งต้นคิดและรู้ว่าจะพาตัวเองไปสู่เป้าหมายด้วยกระบวนการอะไร
อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่ถูกระบุในทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill) คือ Initiative – ความคิดริเริ่ม อยู่ในอันดับที่ 12 หมวด Character Qualities – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัยที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ในบรรดาคาแรคเตอร์หลายตัว Initiative ดูจะเป็นตัวที่ได้รับการอธิบายหรือไฮไลต์ในวงการศึกษา กลุ่มโค้ช และพ่อแม่น้อยที่สุด เห็นได้จากบทความที่พูดถึงคาแรคเตอร์ในแง่การสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้เด็กมีความคิดริเริ่มไม่มากนัก
แต่พอเสิร์ชคำเดียวกันในโหมด ‘การทำงาน’ Initiative กลายเป็นคุณสมบัติเด่นที่ ‘ผู้สัมภาษณ์งาน’ หรือ ‘นายจ้าง’ มองหาเป็นลำดับต้นๆ – มี ‘ฮาวทู’ หลายบทความระบุวิธีสัมภาษณ์งานที่จะแสดงคาแรคเตอร์นี้ให้นายจ้างพบเห็นได้ในเวลาจำกัดเลยด้วย (เช่น บทความ ‘GIVE AN EXAMPLE OF A TIME WHEN YOU SHOWED INITIATIVE.’ TRICKY GRADUATE INTERVIEW QUESTION, 4 Essential Characteristics for a Good Wellness Initiative) กระนั้น ความสำคัญของคาแรคเตอร์อย่าง Initiative ก็สำคัญเพียงพอจะถูกระบุลงไปเป็น 1 ใน 16 ทักษะที่โลกในอนาคตต้องการ
“Initiative is doing the right thing without being told.”
– Victor Hugo นักเขียนชาวฝรั่งเศส
Initiative สำคัญอย่างไร?
อ้างอิงจาก Youth Employment UK องค์กรเครือข่ายกลางโดยคนรุ่นใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือคนรุ่นใหม่เรื่องการทำงาน อธิบายความสำคัญของคาแรคเตอร์อย่าง Initiative ไว้ว่า…
คือคุณลักษณะของคนที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่ม แก้ปัญหาได้ดี ทำงานโดยไม่รอรับคำสั่ง การเป็นคนริเริ่มหรือจัดอยู่ในหมวด Initiative เรียกร้องความยืดหยุ่นแต่ก็ต้องตัดสินใจหรือหาข้อสรุปได้ คนที่มีคาแรคเตอร์แห่งการคิดริเริ่ม
Initiative เป็นคนที่ตั้งต้นคิดและรู้ว่าจะพาตัวเองไปสู่เป้าหมายด้วยกระบวนการอะไร หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เริ่มต้นที่ความคิด และก็เดินทางไปสู่ความสำเร็จได้’ (ผู้เขียนนึกถึงเวลา brianstorm งานที่มีไอเดียมากมายก็เลือกได้ว่าควรทำอะไร เพราะอะไร และริเริ่มลงมือทำในเรื่องที่สำคัญนำไปทดลอง)
คาแรคเตอร์แบบคิดริเริ่ม เป็นหนึ่งในนิยามของ ‘การบริหารจัดการตัวเอง’ self-management หนึ่งในห้าทักษะสำคัญที่ Youth Employment UK ไฮไลต์และเห็นว่าจำเป็นในแง่การทำงานอย่างมืออาชีพ (ทักษะ 5 อย่างนั้นคือ ความเชื่อมั่นในตัวเอง, การสื่อสาร, การบริหารจัดการตัวเอง, ทำงานเป็นทีม และ นักแก้ปัญหา)
เวลาที่คุณเป็นคนริเริ่มสร้างสรรค์ คุณทำโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ แก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอให้มีคนมาจ้ำจี้จ้ำไช รู้ว่าอยากจะรู้อะไร และเดินทางไปตามเส้นทางที่ควรต้องทำ ถ้ามันเรียกร้องให้ทำงานหนัก-เขาจะทำ ถ้าต้องร้องขอความช่วยเหลือ-เขาจะแสดงความต้องการ
ที่บอกว่าคาแรคเตอร์นี้ถูกเรียกร้องในวงการทำงานเป็นระดับต้นๆ เพราะการเป็นคนที่ Initiative ยังเป็นเรื่องเดียวกับคำว่า ‘Proactive’ หรือ การทำงานเชิงรุก บรรยากาศที่หลายๆ องค์กรอยากสร้างให้เกิด อยากให้มีในคนทำงาน
มีความคิดสร้างสรรค์, มั่นใจ, เป็นนักแก้ปัญหา และเป็นผู้นำ – นี่อาจเป็นคาแรคเตอร์สนับสนุนความเป็น Initiative อีกทีหนึ่ง
Anna Ivey Consulting องค์กรให้คำปรึกษานักเรียนและนักศึกษาด้านการหางาน ให้คำแนะนำวิธีการสร้างทักษะแบบคิดริเริ่ม 7 ข้อดังนี้
- ให้การบ้านตัวเอง: คนที่มีนิสัยแบบ ‘คิดริเริ่ม’ ไม่เคยรอให้ตัวเองถูกสั่งแต่สั่งการตัวเองได้ การบ้านที่ว่าอาจเป็นสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น ถ้าคุณอยากหรือเป็นนักเขียน อาจท้าทายตัวเองด้วยการคิดโปรเจ็คต์ตัวเองสักชิ้น โดยกำหนดเดดไลน์ให้ตัวเองด้วย!
- จัดตั้งองค์กร: เวลาที่คุณอยากทำโครงการอะไรสักอย่าง ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นทีมงานในโปรเจ็คต์ที่คุณสนใจ สร้างทีมงานของตัวเองขึ้นมาเลย make it happen! และไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่ในแง่ธุรกิจ อาจเป็นทีมเล็กๆ แต่รวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันก็ได้
- ทำด้วยตัวเอง Do It Yourself: คนที่เป็นคนริเริ่ม ‘ไม่ขึ้นกับคนอื่น’ ไม่ใช่คนที่ ‘ถ้าเธอไม่ทำ ฉันก็ขอไม่ทำด้วย’ ถ้าคุณอยากทำจริงๆ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากใครหรอกนะ แค่บอกเขาก็พอว่าคุณจะทำ สิ่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างริเริ่มโปรเจ็คต์ แค่การดูหนังคนเดียว เที่ยวคนเดียว ทำอะไรคนเดียว เพราะนั่นคือสิ่งที่อยากทำแต่คนอื่นไม่ได้อยากทำด้วย – แบบนี้ก็ถือเป็นการ DIY เหมือนกัน
- เพิ่มเติมบางอย่าง: คนที่ริเริ่มมักจะมองหาโอกาสที่จะสรรค์สร้างสิ่งที่ดีขึ้นเสมอๆ (เป็นเรื่องเดียวกับแนวคิดแบบ innovation) ต้องทำอะไรงานนี้ถึงจะดีขึ้น? ต้องเพิ่มเติมอะไรขึ้นมาดี? เช่น ถ้าคุณเป็นนักวาดการ์ตูนที่เก่งกาจ แต่หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่คุณอยู่ไม่มีเซคชั่นนี้ นี่คือโอกาส คนที่มีความคิดริเริ่มจะอาสาเข้าไป ‘เพิ่มเติม’ เซคชั่นการ์ตูน (ถ้าเห็นตรงกันกับบรรณาธิการ) เพื่อไปทำให้หนังสือพิมพ์มีสีสันขึ้นมาได้
- ร้องขอบางอย่าง: คนที่คิดริเริ่มจะ ‘เรียกร้อง’ เพื่อถามหาความเป็นไปได้ เช่น ถ้าคุณอยากฝึกงานช่วงซัมเมอร์ในหน่วยงานวิจัยสักแห่ง คุณจะไปสอบถามกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อถามหาความเป็นไปได้ ควรฝึกที่ไหน? ตำแหน่งอะไร? ที่จะเหมาะกับความต้องการของคุณ หรือถามหาจากคนใกล้ตัวว่าพอจะรู้จักผู้ที่ทำงานด้านนี้ไหม เป็นไปได้ไหมที่จะขอเข้าไปฝึกงานด้วย
- ทำสิ่งที่ต้องทำ: นี่เป็นสัจธรรมที่คนพูดกันเสมอ ‘มันมีสิ่งที่เราอยากทำ ควรทำ และต้องทำ’ เพื่อฝึกทักษะข้อนี้ ก็จำเป็นที่ต้องกลั้นใจฝึกอดทนอดกลั้น ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ต้องรีบคลี่คลายให้เสร็จ
- Go Above and Beyond: อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น คนที่มีทักษะเป็นคนคิดริเริ่ม พวกเขาไม่ทำแค่ ‘เพราะมันต้องทำ’ ไม่ทำแค่เสมอตัว แต่ทำเกินมาตรฐานงานที่ขีดเส้นไว้ สำคัญคือ นี่คือการขยายขอบความพยายามของเราด้วย ค่อยๆ ซึมๆ ผลักเส้นขีดจำกัดของเราออกไปทีละนิด รู้ตัวอีกที เราน่าจะก้าวข้ามเส้นเดิมมาไกลแล้วล่ะ