- วิลเลียม คัมแควมบา ตัวละครเด็กชายมาลาวี จากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Boy Who Harnessed the Wind’ ต้องลาออกจากโรงเรียนเพราะความยากจน เขาจึงแอบวิ่งเข้าห้องสมุดไปขโมยความรู้ และลงมือสร้างกังหันลมไฟฟ้า หวังเพียงแค่ช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนให้มีกิน
- กังหันลมทำให้เขาได้รับโอกาสต่างๆ มากมาย ทำให้ปัจจุบัน วิลเลียม คัมแควมบา วัย 31 ปี กลายเป็นนวัตกรระดับโลก
- ความมุ่งมั่น พยายาม อดทน ของวิลเลียม อธิบายความแตกต่างระหว่างความอดทนธรรมดา กับคำว่า Grit ที่หมายถึงความมุ่งมั่นอดทน ไม่ย่อท้อในการทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่มองความล้มเหลวเป็นศัตรู และเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้
วันก่อนผู้เขียนหลงเข้าไปดูภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงชื่อ ‘The Boy Who Harnessed the Wind’ ว่าด้วยเรื่องของ วิลเลียม คัมแควมบา (William Kamkwamba) เด็กชาวมาลาวี อายุ 13 ปี ที่ต้องออกจากโรงเรียนเพราะครอบครัวจ่ายค่าเล่าเรียนให้ต่อไม่ไหว ทุ่งหญ้าและแปลงข้าวโพดนอกบ้านแห้งแล้งอย่างหนัก เงินทั้งหมดในบ้านจำเป็นต้องรวบรวมเพื่อใช้ลงทุนกับการทำเกษตรกรรม
สิ่งที่วิลเลียมทำจึงคือการ ‘แอบ’ วิ่งเข้าวิ่งออกระหว่างห้องสมุดของโรงเรียนไปเปิดหนังสือเพื่อศึกษาวิธีทำมอเตอร์ไฟฟ้า และ กองขยะเพื่อหาวัตถุดิบมาทดลอง ทั้งหมดนี้เพื่อจุดมุ่งหมายใหญ่ …การผลิต ‘กังหันลม’
กังหันลมไม่ใช่องค์ความรู้ใหม่ในปี 2000 (จุดปีของเรื่องเล่า) แต่นี่คือกังหันลมแรกของหมู่บ้าน หมู่บ้านที่ผู้นำถูกฆ่าตายเพราะออกไปต่อรองกับนักการเมืองเรื่องความแห้งแล้ง หมู่บ้านที่ชาวบ้านวิ่งตามรถขายข้าวราคาถูกของรัฐเพียงเพื่อหวังว่าเงินที่มีน้อยนิด (แต่นั่นคือทั้งหมดของครอบครัว) จะพอซื้อข้าวสารประทังชีวิตต่อไปอีกมื้อ หมู่บ้านที่คนขโมยข้าวโพดมากกว่าสิ่งของมีค่า และเป็นการขโมยอย่างน้ำตานองหน้า บอกกับเจ้าของบ้านผู้นั้นว่า “เราไม่ได้กินอะไรมา 3 วันแล้ว หวังว่าคุณจะเข้าใจ” และ …ในสถานการณ์อื่นๆ ที่ความแห้งแล้งยากจนจะกระทำกับมนุษย์อย่างสุดโต่ง
ท่ามกลางความยากจนที่ต้องเลือกระหว่างเรียนหนังสือกับการมีกิน วิลเลียมไม่ได้ฝันอยากเป็นนวัตกรเอกของโลก เขาแค่คิดว่าความสนใจที่มีจะช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนได้ กังหันลมไฟฟ้าคืออย่างเดียวที่จะช่วยขุดน้ำจากบ่อแล้วทำชลประทานในหมู่บ้าน และถ้ามันสำเร็จ วิลเลียมจะไม่ต้องทำงานเต็มเวลาแปลงข้าวโพด พ่อจะมีเงินส่งเขาเข้าโรงเรียน – นี่คือฝันสูงสุดในชีวิต …ได้กลับไปใส่ชุดนักเรียน
สิ่งที่วิลเลียมไม่รู้คือ เขาจะไม่ได้กลับไปใส่ชุดของโรงเรียนเดิมที่เขาแอบเข้าไปเรียนอีก เพราะหลังผลิตกังหันลมไฟฟ้าตัวแรกสำเร็จในปี 2002 ชื่อของเขาดังเป็นพลุแตกในบ้านเกิดและในแอฟริกาทันที ในปีเดียวกันนั้น วิลเลียมได้ทุนจาก African Leadership Academy 10 ปีถัดมา เขากลายเป็นบัณฑิตแห่งวิทยาลัยดาร์ทมัธ มหาวิทยาลัยเอกชนในไอวีลีกในสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน วิลเลียม คัมแควมบา อายุ 31 ปี เขาเป็นนวัตกร วิศวกร นักเขียน บางครั้งเป็นสปีคเกอร์สร้างแรงบันดาลใจระดับโลก
ขณะวิ่งเข้าวิ่งออกระหว่างกองขยะกับห้องสมุด ระหว่างเปิดหนังสือเรื่องไฟฟ้าและมอเตอร์ทีละหน้า ระหว่างทดลองกังหันลมไฟฟ้าตัวแรก เอาไปบอกพ่อในแปลงนาแล้วพ่อระเบิดอารมณ์ใส่เพราะมองไม่ออกว่าจากกังหันทดลองจะกลายเป็นกังหันลมตัวใหญ่ แล้วจะเรียกคืนชีวิตของเกษตรกรอย่างเขาและชาวบ้านอย่างไร และคำพูดในเชิงตั้งคำถามจากคนที่เห็นความพยายามทั้งหมดจากเดือนเป็นปี …ไม่มีสักครั้งที่วิลเลียมจะไม่เชื่อสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่มีแม้สักครั้งที่หวั่นไหว แม้บางครั้งเขาไม่มั่นใจ …แต่ไม่เคยปล่อยมือ
วิลเลียมทรนง มุ่งมั่น ยืนกราน พยายาม เขาอดทน อดทน และอดทน
นี่อาจเป็นตัวอย่างของคำอธิบายความแตกต่างระหว่างความอดทนธรรมดา กับคำว่า Grit (ความมุ่งมั่นอดทน) ในความหมายของ แองเจลา ดัคเวิร์ธ (Angela Lee Duckworth) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Grit และนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania)
Grit และ Persistence ทักษะในศตวรรษที่ 21 ตัวที่ 23 หมวด Character Qualities – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัย ที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
คีย์เวิร์ดของ Grit ไม่ใช่ความอดทนกับโปรเจ็คท์ระยะสั้นราวเดือน สอง หรือสามเดือน แต่คือความอดทน ยืนกราน และไม่ยอมแพ้ที่จะทำอะไรสักอย่างด้วย ‘ความหลงใหล’ และ ‘ในระยะยาว’ สิ่งนั้นอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี วิลเลียมอาจทำกังหันลมสำเร็จได้ในเวลาหนึ่งปี แต่เขาไม่จบแค่นั้น ยังคงมุ่งมั่นศึกษาด้านวิศวกรรมตามความชอบและตั้งใจเดิมต่ออีกหลายปีจนสำเร็จการศึกษา กลายเป็นวิศวกรรมและนวัตกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพคนหนึ่ง
Grit ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่คือ ‘ทักษะ’ และ ‘คาแรคเตอร์’ ซึ่งพอพูดว่าเป็นทักษะ นั่นหมายถึงมันไม่ได้เกิดได้เพียงเพราะรู้จักว่ามันคืออะไร แค่คือการฝึกให้ปรากฏขึ้นในเนื้อตัวและหยิบใช้มันโดยอัตโนมัติ
Pulse Check: สำรวจชีพจร คุณมี Grit รึเปล่า?
เพื่อวัดว่าคุณเป็นคนมี Grit หรือไม่ และอยู่ในระดับไหน ลองใช้เช็คลิสต์เหล่านี้ช่วย
- ฉันชอบโปรเจ็คท์ที่ต้องใช้เวลาทำเป็นปีถึงจะเห็นผล
- เป้าหมายของงานหรือสิ่งที่ฉันทำอยู่นั้นเป็นเป้าหมายระยะยาว
- สิ่งที่ฉันทำทุกวันคือสำรวจตัวเองว่า รู้จัก มองเห็น เชื่อมต่อกับคุณค่าลึกๆ ในตัวเองหรือไม่
- มันจะมีอย่างน้อยหนึ่งอย่างหรือกิจกรรมสักอย่างหนึ่ง ที่ฉันทำได้โดยไม่รู้สึกเบื่อเลย
- การต้อง ‘ถอยหลังหนึ่งก้าว’ ไม่เคยทำให้ฉันหวั่นไหวหรือสูญเสียความมั่นใจ
- ฉันเป็นคนทำงานหนัก
- ฉันไม่เคยทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ถ้าทำแล้วจะทำให้เสร็จเสมอ
- ฉันไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
หรือลองเข้าไปทำแบบทดสอบเรื่อง Grit ได้ที่นี่: https://angeladuckworth.com/grit-scale/
ทำไมต้องมี ทำไมต้องรู้จัก Grit?
หลายครั้งเราสงสัยว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งถึงทำมันได้อย่างง่ายดายราวกับมีคนหยิบมอบพรสวรรค์ใดหนึ่งให้ แต่ไม่ว่าคุณจะคิดว่า ‘พรสวรรค์’ คืออะไร ไม่ว่าคุณเป็นคนเรียนรู้ได้ง่ายและเร็วขนาดไหน อย่างไรคุณ-ใครก็ตาม ต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องใช้ความพยายามในการเรียนรู้ และการทำแบบนี้ไม่เคยมีทางลัด
งานวิจัยของดัคเวิร์ธข้อหนึ่งสรุปว่า Grit มีนัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น นักเรียนที่มี Grit มักจะพาตัวเองจบการศึกษา ทั้งมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นยังยืนยันว่า Grit และ IQ ไม่ได้แปรผันตามกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือพูดได้ว่า ผู้ที่ถูกประเมินว่ามี IQ แย่ (ซึ่งตัวผลประเมินเองก็มีผู้คัดค้านจำนวนมากว่าความฉลาดของคนจำแนกได้ชัดเจนขนาดนั้นหรือ? ความฉลาดมีรูปแบบเดียวหรือ) แต่ถ้ามี Grit คนผู้นั้นย่อมประสบความสำเร็จในทางของตัวเองได้
“Ever tried. Ever failed. No matter. Try again. Fail again. Fail better.” – Samuel Beckett นักเขียนนวนิยาย
อันที่จริงทั้งหมดนี้เป็นแค่ทฤษฎีอธิบายว่า Grit คืออะไร ความสำคัญหรือสิ่งที่ดัคเวิร์ธผลักดันมาตลอด เป็นเพียงแนวคิดที่ว่า อย่าตีตราตัวเองว่าล้มเหลว อย่าลากเส้น ‘ขีดจำกัด’ ล้อมรอบตัวเอง การมี Grit สร้างได้ เราสร้างคาแรคเตอร์แห่งความทรหดอดทน ไม่ย่อท้อเพื่อทำสิ่งที่รักและหลงใหลได้ เราทำได้
เราทำได้ – ก้อนความคิดเติบโต หรือ Growth Mindset ดัคเวิร์ธกล่าวชัดว่าความสำเร็จของเราขึ้นกับเสียงในหัวเสียงนี้ ไม่ใช่แค่บอกตัวเอง แต่คือทัศนคติที่คุณมีต่อชีวิต ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง
มันเป็นปริศนาว่าการเกิดคาแรคเตอร์อย่าง Grit ในเนื้อตัวคน จะสร้างหรือปลูกฝังได้อย่างไร แต่หากเชื่อว่าคนเราเป็น ในสิ่งที่พ่อแม่เป็น เป็น อย่างที่ประสบการณ์ในชีวิตสอนเรา ชัดเจนว่าการเกิด Grit ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทั้งในวัยเด็กและในปัจจุบัน
ถามอีกครั้ง… ทำไมต้องรู้จักคำนี้, Grit?
สำหรับผู้เขียน แค่รู้ว่า Grit คือคาแรคเตอร์ของคนที่ยืนกราน ทรหด ไม่ย่อท้อที่จะทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อและหลงใหลอย่างไม่ละมือ รู้ว่ากระบวนการของการฝึกฝนจะยาวนาน ซึ่งในระหว่างนั้นมันพร้อมจะเกิดอุปสรรคให้ล้มลงได้เสมอ
คำว่า Grit จะย้ำกับเราว่า “ได้สิ ไม่เป็นไร ความล้มเหลวเป็นแค่หนึ่งในกระบวนการ” แล้วลุกขึ้นมาทำใหม่อย่างต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่แค่อดทนต่อภาพในหัวที่เราอยากไปให้ถึง แต่ฝึก ‘ให้ตัวเองอดทน’ ‘ฝึกให้ตัวเองมี Grit’ แค่ฝึกทักษะความอดทนให้กับตัวเอง เท่านี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่ง ดัคเวิร์ธให้คำแนะนำที่น่าแบ่งปันว่า เอาจริงๆ Grit มีความยาก เพราะมันคือความอดทนยาวนานที่อาจทำให้คนคนนั้นล้มเลิกไปก่อน
เธอแนะนำว่าให้ลองใช้วิธี ‘small win’ หรือ ชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ การวางเส้นชัยไว้ตามรายทาง จะช่วยหล่อเลี้ยงและกำกับเส้นทางให้ตัวเองโดยไม่แบกความทดท้อเสียใจจนหลังหัก – นี่เป็นเคล็ดลับที่เธอแนะนำกับบุคคลทั่วไปและครู ให้เอาไปลองใช้กับเด็กๆ
ไม่จำเป็นต้องตบท้ายว่า Grit จำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 เพียงเพราะมันถูกระบุเอาไว้ เรียนรู้จากเรื่องเล่าของผู้ที่ประสบความสำเร็จมากมายและหลากวงการในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่มีใครที่สำเร็จโดยไม่มีหนึ่งในคุณสมบัติข้อนี้ สิ่งที่ต้องถามคือ ถ้าทุกคนรู้ว่าความมุ่งมั่นพยายามนั้นสำคัญ ทำไมเราจึงห่วงกังวลว่าต่อไปพลเมืองโลกจะขาดคุณสมบัติข้อนี้ไป?
ผู้เขียนจะไม่มีวันกลับไปดู ‘The Boy Who Harnessed the Wind’ อีกตลอดชีวิต มันเครียด มันบีบเค้น ความยากจนและความพยายามของวิลเลียม แค่ในฐานะคนดู ยังรู้สึกทดท้อและก่นด่าชะตาชีวิต แต่ความมั่นคงและยืนหยัดของวิลเลียมปลอบใจคนดูจนอยู่หมัด – ดูต่อไป เขาจะทำมันได้
แต่สิ่งที่จะฝังจำไปตลอดแม้ไม่กลับมาดูอีก คือความมุ่งมั่นกัดไม่ปล่อยของวิลเลียม จะคอยส่งเสียงบอกให้ผู้เขียนมุ่งมั่นฝึกฝนความอดทนของตัวเองต่อไป