- ความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ ด้อยค่ากว่าคนอื่น เคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่คนอื่นทำ ไม่รู้วิธีชื่นชมคนอื่นหรือแม้กระทั่งยอมรับคำชมของคนอื่นอย่างไม่สงสัยว่าคนตรงหน้าจริงใจหรือเปล่า และอื่นๆ อาจมีผลมาจากการถูกเลี้ยงดูมาโดย ‘ไม่เคยได้รับคำชื่นชม’ เลย
- เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ชวนคุยว่าปมที่เกิดขึ้นในใจเด็กที่ไม่เคยได้รับคำชื่นชมเลยนั้นมีผลอย่างไรบ้าง รวมทั้งอยากชวนคุยถึงความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมา ‘การชื่นชมเด็ก’ ที่ปรากฎในวัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กในสังคม
- “เด็กทุกคนล้วนต้องการ ‘ความสนใจ’ และ ‘การตอบสนอง’ ดังนั้นเมื่อเขาทำสิ่งที่เหมาะสมและดีงาม แต่พ่อแม่กลับนิ่งเงียบไม่ได้ให้การตอบสนองเขาด้วยการชื่นชม เด็กอาจจะตีความหมายของการตอบสนองแบบนั้นว่า ‘สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ให้ความสนใจ’ หรือ ‘สิ่งนั้นอาจจะยังไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่ของเขา’ ”
‘อย่าชมมาก เดี๋ยวเหลิง’
‘ชมบ่อยๆ เดี๋ยวเสียคน’
คงเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินผ่านหูเป็นอย่างดี ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง ให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนทำ
การชื่นชม หมายถึง การแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ด้วยความยินดีกับสิ่งที่อีกฝ่ายทำ ซึ่งการชื่นชมอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบของภาษาพูด เช่น ‘ทำได้เยี่ยมมากเลย’ ‘ยินดีด้วย’ ‘เก่งมากเลย’ หรือ อาจจะเกิดจากการแสดงออกทางภาษากาย เช่น ชูนิ้วโป้งพร้อมกับยิ้มให้ แทนการบอกว่า ‘เยี่ยมมาก’ หรือ การปรบมือให้ แทนการชื่นชม เป็นต้น
ปมที่อาจจะเกิดขึ้นในใจของเด็กที่ไม่เคยได้รับคำชื่นชม…
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
ปมที่หนึ่ง ‘ความรู้สึกว่า ตนเองยังไม่ดีพอ’
เด็กทุกคนล้วนต้องการ ‘ความสนใจ’ และ ‘การตอบสนอง’ ดังนั้นเมื่อเขาทำสิ่งที่เหมาะสมและดีงาม แต่พ่อแม่กลับนิ่งเงียบไม่ได้ให้การตอบสนองเขาด้วยการชื่นชม เด็กอาจจะตีความหมายของการตอบสนองแบบนั้นว่า ‘สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ให้ความสนใจ’ หรือ ‘สิ่งนั้นอาจจะยังไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่ของเขา’ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าเขาจะพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นแค่ไหน ถ้าพ่อแม่ยังตอบสนองเช่นเดิม คือ การไม่ให้การชื่นชมใดๆ เด็กบางคนอาจจะเริ่มรู้สึกท้อกับสิ่งที่เขาทำอยู่ และอาจจะเลิกทำสิ่งนั้นไปโดยปริยาย
ปมที่สอง ‘ความรู้สึกว่า ตนเองด้อยกว่าคนอื่น’
พ่อแม่บางคนนอกจากจะไม่ให้การชื่นชมลูกแล้ว อาจใช้การเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น เพื่อหวังจะผลักดันให้ลูกของตัวเองพัฒนาต่อไปๆ แต่วิธีการที่ใช้อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม เด็กที่ถูกพ่อแม่เปรียบเทียบตัวเขากับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะทำอะไร มักจะมีเด็กอีกคนที่เก่งกว่าเขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจและพยายามมากแค่ไหน ก็ไม่มีวันที่จะเป็นที่หนึ่งในสายตาพ่อแม่
ปมที่สาม ‘ความเคลือบแคลงใจที่มีต่อความรักที่พ่อแม่มอบให้’
เมื่อพ่อแม่มักตำหนิเขามากกว่าชื่นชม เด็กอาจสงสัยว่า ‘พ่อแม่รักเขาจริงไหม’ เพราะในแต่ละวัน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร พ่อแม่คอยจ้องจับผิดและตำหนิเขา แต่เมื่อเขาทำสิ่งดีๆ กลับไม่เคยเอ่ยปากชื่นชมเขาเลย แม้พ่อแม่จะรักลูกสุดหัวใจ และหวังให้เขาได้ดีจากการเลี้ยงดูแบบนี้
แต่สำหรับเด็ก ‘ความรัก’ ที่เขาสัมผัสได้ ต้องมาจากการกระทำและคำพูดที่พ่อแม่ทำและพูดกับเขา ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่คิดในใจ
ปมที่สี่ ‘ความเคลือบแคลงใจในสิ่งที่เขาทำ’
เด็กทุกคนเพิ่งลืมตาขึ้นมาบนโลกเพียงไม่กี่ปี พวกเขายังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี พวกเขารู้เพียงว่า สิ่งใดที่พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขาให้การยอมรับ และให้ความสนใจ นั่นคือสิ่งที่เขาควรทำ ดังนั้นเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีงามและเหมาะสม แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ให้การชื่นชมและสนใจเขา เด็กอาจจะสับสนว่า ‘สรุปแล้ว สิ่งที่เขาทันนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมหรือยัง’
ปมที่ห้า ‘เมื่อไม่ได้รับการชื่นชม ก็ไม่รู้ว่าจะต้องชื่นชมผู้อื่นอย่างไร’
เด็กที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมจากพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขา เมื่อเขาเข้าสู่สังคม ไปโรงเรียน และได้เจอเพื่อนๆ เขาต้องเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น เมื่อเพื่อนของเขาทำสิ่งดีๆ ให้กับเขา เขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาควรจะตอบสนองเพื่อนอย่างไรดี ทำให้การเข้าสังคมกับเพื่อนอาจจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเขา
ความเข้าใจผิดเรื่องการชื่นชมเด็ก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการเลี้ยงดูเด็กที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ‘การไม่ให้ความสนใจลูก เมื่อเขาทำสิ่งที่เหมาะสมและดีงาม’ ‘การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น’ ‘การคาดหวังให้ลูกต้องเป็นอันดับหนึ่ง ต้องดีที่สุด หรือ ต้องสมบูรณ์แบบ’
ในขณะที่เราใส่ความคาดหวังและความกดดันลงไปในตัวเขา เราก็ใส่คำตำหนิเข้าไปมากมาย โดยที่เราละเลยการใส่ความสนใจ ความชื่นชม การมองเห็นสิ่งดีๆ ในตัวลูก และการมองเห็นคุณค่าในตัวเขา ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กคนหนึ่ง เขาอาจจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่โหยหา ‘การเป็นที่ยอมรับ’ เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เขาจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งแม้ในท้ายที่สุด ความพยายามที่เขาทำไป อาจจะทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีการงานที่ดีและมั่นคง มีคนมากมายให้การยอมรับเขา แต่ข้างในจิตใจของเขาอาจจะยังคงกลวงโบ๋ เพราะคนที่เขาต้องการให้ยอมรับมากที่สุด คือ พ่อแม่ของเขานั้นเอง
สำหรับเด็กๆ ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้ เราอาจจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขอตีตที่ผ่านมาได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อเดินหน้าต่อไป คือ
ข้อที่ 1 ‘การตระหนักรู้ปมในใจ และการมองเห็นตัวเองให้ชัด’
การตระหนักรู้ว่า ภายในใจเราโหยหาการเป็นที่ยอมรับ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับมันอย่างเต็มที่ในวัยเยาว์ แม้เรายังไม่สามารถยอมรับตัวเองได้เต็มที่ แต่ค่อยๆ เรียนรู้ และมองหาสิ่งดีๆ ภายในตัวเอง หากมองไม่เห็นหรือหาไม่เจอ เราสามารถพูดคุยกับเพื่อนที่เราไว้ใจหรือคนใกล้ตัวที่เราเปิดใจคุยได้ ให้เขาช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เรามองเห็นตัวเอง แต่ถ้าเราไม่สามารถหาคนๆ นั้นได้ การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เป็นอีกทางเลือกที่สามารถช่วยเราได้
ข้อที่ 2 ‘หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น’
เราอาจจะเคยชินกับการถูกเปรียบเทียบมาเสมอ แม้วันนี้ที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรากลับไม่สามารถหยุดเปรียบเทียบตัวเราเองกับผู้อื่นได้ ทำให้เราไม่เคยพอใจกับชีวิตที่เรามีและสิ่งที่เราเป็น ถ้าหากเราหยุดและหันกลับมามองตัวเองอย่างที่เราเป็น เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร หรือ ต้องประสบความสำเร็จเดี๋ยวนี้เหมือนคนอื่น ขอแค่เป็นเราที่สามารถตื่นขึ้นมา และอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเอง สิ่งดีๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ตื่นเช้าขึ้นนิดหน่อยเพื่อจะได้ออกไปเดินเล่นสูดอากาศ การได้อ่านหนังสือหนึ่งบท การได้กินอาหารเช้า เป็นต้น เพราะสุดท้าย คนที่กำหนดความสุขของตัวเรา ก็คือ ตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น
การเปรียบเทียบเดียวที่อาจจะส่งผลดีกับชีวิต คือ การเปรียบเทียบตัวเราเองในปัจจุบันกับตัวเราเองในอดีต เพื่อจะได้มองเห็นว่า เราพยายามมามากเท่าไหร่ หรือ เราเดินมาไกลแค่ไหนแล้ว
ข้อที่ 3 ‘ไม่ส่งต่อความเชื่อผิดๆ ต่อไปยังเด็กรุ่นต่อไป’
ในเมื่อเรารู้แล้วว่า ‘การไม่ชื่นชมลูกในสิ่งที่เขาทำได้ดีและเหมาะสม’ ‘การไม่ให้ความสนใจ’ ‘การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น’ คือ สิ่งที่เราเคยเผชิญมา และสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ และการมองเห็นคุณค่าในตัวเรา เราก็ไม่ควรส่งต่อสิ่งเหล่านี้ต่อไปยังเด็กรุ่นต่อไป เราอาจจะได้กลายเป็นพ่อแม่ คุณครู หรือ หัวหน้างานของเด็กจบใหม่สักคน ถ้ามีโอกาสให้เราส่งต่อสิ่งที่ถูกต้องต่อไป
วิธีการชื่นชมที่ดี
แต่ถ้าอยากให้การชมของเราเกิดผลดีกับตัวเด็กจริงๆ เราควรชมเด็กที่ ‘พฤติกรรม’ หรือ ‘การกระทำ’ ของเขา ซึ่งเราจะเริ่มได้จาก
ขั้นที่ 1 จริงใจกับเด็ก
การชื่นชมที่ดีควรเริ่มจากการจริงใจกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเด็กคนหนึ่ง เพราะถ้าหากเราชมเขาด้วยความไม่จริงใจแล้ว เด็กบางคนจะรับรู้ได้ทันที ซึ่งการจริงใจต้องเริ่มจากการให้ ‘ความสนใจ’ กับเด็กตรงหน้าของเราเสียก่อน ปัจจุบันผู้ใหญ่เราบางคน เอ่ยปากชมเด็ก โดยที่ยังไม่ทันเงยหน้าขึ้นมามองเด็กเสียด้วยซ้ำ คล้ายกับเป็นการตอบสนองอัตโนมัติเมื่อได้ยินเสียงเรียกจากลูกว่า ‘แม่ดูนี่สิ’ พ่อดูหนูสิ’ ‘ครูคะ ดูที่หนูทำ’
ดังนั้นสนใจเด็กให้เต็มที่ มองตาเขา มองสิ่งที่เขาทำ รับฟังที่เขาพูด แล้วเราจะรู้เองว่า ‘เราควรชื่นชมอะไรเขาดี’
ขั้นที่ 2 ชื่นชมเด็กที่ความตั้งใจและความพยายาม
การชื่นชมที่ผลลัพธ์หรือผลงานของเด็ก บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะทำผลงานออกมาได้สวยงาม และความสามารถเด็กไม่ได้เท่ากันทุกคน เมื่อเราชมไปว่า ‘สวยจังเลย’ เด็กบางคนอาจจะรับรู้ได้ทันทีว่า ‘เราโกหก’ เพราะเขารู้ว่า ผลงานเขาไม่ได้สวยเหมือนของเพื่อนๆ แต่ถ้าเราชื่นชมเขาที่ ‘ความตั้งใจ’ และ ‘ความพยายาม’ ของเขา เด็กจะรับรู้ได้ว่า ตัวเองทำสุดความสามารถแล้ว และเขาควรได้รับการชื่นชมเช่นกัน เช่น ‘ลูกตั้งใจทำอย่างเต็มที่ และพยายามทำผลงานชิ้นนี้ด้วยตนเอง พ่อภูมิใจในตัวลูกนะ’ การบอกอย่างชัดเจนว่า เราชอบที่เขา ‘ตั้งใจทำ’ และ ‘ทำด้วยตัวเอง’ ทำให้เด็กรู้ว่า ‘เราชอบเขาที่ตรงไหน’ ดังนั้นเขาจะรักษาสิ่งที่เราชอบเอาไว้ต่อไป
ขั้นที่ 3 ให้การชื่นชมในระดับที่แตกต่างกันกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ในสถานการณ์ที่เด็กต้องใช้ความตั้งใจและพยายามมากเป็นพิเศษ และเขาทำมันได้สำเร็จ ให้เราชื่นชมเขาอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเด็กทำสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาเคยทำมันบ่อยครั้งแล้ว เราสามารถชื่นชมเขาได้ แต่ไม่ควรเป็นการชื่นชมที่เทียบเท่ากับสถานการณ์แรก
ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเพิ่งเริ่มเรียนบวกเลขวันแรก เมื่อเขาสามารถทำโจทย์ได้ด้วยตัวเขาเอง พ่อแม่ควรชื่นชมเขาอย่างเต็มที่ เช่น ‘ลูกพยายามได้ดีมากเลย ทำเสร็จด้วยตัวลูกเอง’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเขาทำโจทย์ได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่สามารถลดระดับการชื่นชมลงมาได้ เช่น ‘ลูกตั้งใจดีมาก’
ทั้งนี้ เราควรชื่นชมเพื่อให้ลูกเกิดการพัฒนา ซึ่งการชื่นชมที่ดี คือ การชื่นชมอย่างเต็มที่เมื่อลูกกล้าที่ลองทำสิ่งใหม่ๆ หรือ สิ่งที่ยากและท้าท้าย อย่างไรก็ตามการชื่นชมยังควรมีอยู่ แม้สิ่งนั้นลูกจะทำได้จนชำนาญ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสม ควรทำต่อไป เมื่อถึงวัยหนึ่งที่เด็กจะเรียนรู้ว่า ‘เขาจำเป็นต้องทำ แม้จะไม่มีใครชื่นชมเขา’ คำชื่นชมของเราจะส่งผลกับเขาน้อยลงไปเอง
การชื่นชมความพยายามของเด็กมากกว่าผลลัพธ์ของเขาเพราะความพยายามจะทำให้เด็กสามารถข้ามผ่านอุปสรรคในชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง และพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ในขณะที่ผลลัพธ์ทำให้เด็กมองเป้าหมายคือการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดหวัง เมื่อบางครั้งไม่สมดังหวัง จะทำให้หมดกำลังใจ และจะยอมแพ้ และผละจากสิ่งนั้นไปเอาเสียดื้อๆ
ขั้นสุดท้าย อย่าลืมสอนให้เขาชื่นชมยินดีกับผู้อื่นบ้าง
เด็กๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับการได้รับความสนใจ ได้รับคำชื่นชมเมื่อทำสิ่งที่ดีและเหมาะสม เขาจะกลายเป็นผู้ใหญที่มีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างไรก็ตามเขาควรจะเรียนรู้ที่จะหันไปชื่นชมและแสดงความยินดีกับผู้อื่นบ้าง เพราะการมองเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข
พ่อแม่สามารถเริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่วัยเยาว์ โดยเริ่มจากการแสดงความยินดีกับผู้ชนะเมื่อเขาเป็นฝ่ายแพ้ และให้กำลังใจกับผู้แพ้เมื่อเขาเป็นฝ่ายชนะการแข่งขัน นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างให้กับลูกในการชื่นชมกันอยู่เสมอ พ่อแม่ที่แสดงความขอบคุณเมื่ออีกฝ่ายทำสิ่งต่างๆ ให้ และชื่นชมอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ลูกจะเลียนแบบพ่อแม่ของเขา และเรียนรู้ที่จะนำไปใช้กับผู้อื่นต่อไป
สุดท้าย การชื่นชมจากพ่อแม่ ถือเป็นพรวิเศษที่พ่อแม่สามารถมอบให้กับลูกของตนได้ เด็กๆ ที่ได้รับพรข้อนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น เขาจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข