- เครื่องแบบนักเรียน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์การใช้อำนาจผ่านกฎระเบียบต่างๆ การคงอยู่หรือยกเลิกจึงต้องทำความเข้าใจบริบททั้งครอบครัว สังคม และพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกันของเด็ก เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุด
- วินัยเชิงบวก คือแนวทางสร้างการยอมรับกติกาในการอยู่ร่วมกันในสังคมบนหลักเมตตาธรรม ไม่ใช้อารมณ์ มีเหตุผลและยืดหยุ่นได้
- ทางออกของความขัดแย้งเรื่องนี้คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนและเปิดให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความคิดเห็นของตนเอง
“หมอไม่ได้ต้องการเห็นภาพ Top down อีกต่อไป เพราะฉะนั้นช่วยหยุดคำสั่งจากส่วนกลางและให้เป็นไปตามบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ บางพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ไม่สามารถที่จะจัดหาได้ ก็อาจจะเป็นข้อตกลงของท้องถิ่นนั้นเลย ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชุดขาวกางเกงสีกากี อาจจะเป็นม่อฮ่อมสีน้ำเงินที่เขาใส่กันก็ได้ ดังนั้นเรื่องชุดนักเรียนหรือแม้แต่เรื่องทรงผม เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราปลดล็อกอำนาจนิยมไปซะ”
ความเห็นของ หมอเดว-รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ที่อยากสื่อสารต่อประเด็นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียน
“เวลาที่เด็กเล็กเขาเรียนรู้ไม่ใช่จากการท่องจำ แต่มาจากการประพฤติปฏิบัติหรือเรียกว่า ‘วิถีแห่งชีวิต’ Learning by feeling คือเรียนรู้จนซึมซาบ จะเห็นว่าเวลาที่หมอพูดถึงการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเรื่องของเล่นต้องไม่เยอะเกินไปและสามารถรับผิดชอบด้วยการเก็บฝึกจนกลายเป็นพฤตินิสัย ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน โรงเรียน หรือในระบบนิเวศไหนก็ทำเป็นเรื่องปกติ”
นี่เป็นเส้นทางของการฝึกพฤติกรรมและเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่หมอพูดเช่นนั้นเพราะขึ้นชื่อว่า ‘เด็ก’ เช่นอายุน้อยกว่า 15 ปีลงไป ซึ่งการตัดสินใจยังไม่ดีนัก กลุ่มนี้เป็นภาระหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องทำให้เขาได้รับการปกป้องคุ้มครองจนอยู่รอดปลอดภัย และได้รับการพัฒนาของร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ สติปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน
ดังนั้น วินัยในนัยยะของหมอจึงหมายถึงเป็นจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันกับตนเองและสังคม เวลาที่เราฝึกเด็กให้ใส่ชุดที่ไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นความงดงามในการอยู่ร่วมกันบนความคิดอย่างมีระบบ และเรียนรู้กาลเทศะ
ความต่างของเด็ก 4 แบบ กับเครื่องแบบในบริบทของการสร้างวินัย
ตามหลักจิตวิทยา เวลาเราจะฝึกเด็กเล็กๆ ให้คิดอย่างเป็นระบบนั้น เกิดขึ้นจากการฝึกในวิถีชีวิตจนที่สุดเกิดการเรียนรู้ พอเขาทำได้หนึ่งเรื่องเขาจะไปทำเองได้ในเรื่องสองสามโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ให้เด็กถือกระเป๋าเอง ซึ่งในกระเป๋านั้นยังมีใบเล็กใบน้อยแยกไว้ว่าสำหรับใส่อะไรบ้าง เหตุผลที่ทำแบบนั้นเพราะเขากำลังแทรกวิถีคิดที่เป็นระบบ ถ้าเด็กสามารถจัดการได้เมื่อตัวคนเดียวเขาจะไม่ต้องพึ่งพิงพ่อแม่ สามารถที่จะจัดการชีวิตได้อย่างเป็นระบบ กระบวนการนี้เราเรียนว่า Learning by feeling
ทั้งนี้ คุณครูโดยส่วนใหญ่ที่อาจจะเข้าใจหลักจิตวิทยาเชิงบวกน้อยไป ตามหลักแล้วพฤติกรรมไหนที่เราอยากให้ดำรงอยู่เราต้องให้แต้มบวก พฤติกรรมไหนเราไม่ต้องการให้ดำรงอยู่ต้องให้แต้มศูนย์ เว้นเสียแต่ว่าพฤติกรรมนั้นตกอยู่ใน 3 ประเด็น หนึ่ง…พฤติกรรมนั้นเสี่ยงต่อชีวิตหรืออันตรายต่อชีวิตตัวเอง สอง…เสี่ยงต่อชีวิตหรืออันตรายต่อชีวิตผู้อื่น และสาม…พฤติกรรมนั้นเป็นการอาละวาด ทำลายสิ่งของ ใช้อารมณ์ พฤติกรรมเหล่านี้ต้องหยุดทันที
กลับมาดูในรั้วโรงเรียนเด็กที่แต่งตัวเรียบร้อย ครูกลับไม่ค่อยชื่นชม เพราะถือว่าเป็นภาระหน้าที่ แต่ถ้าแต่งหลุดลุ่ยเมื่อไรเตือนทันที ทั้งๆ ที่ถ้าเอาตามหลักทางจิตวิทยาพลังบวกต้องทำตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินเว้นแต่ว่าชุดนั้นมันประเจิดประเจ้อเกินไป ซึ่งในฐานะผู้ใหญ่ที่เห็นแล้วว่าถ้าปล่อยไว้เขาอาจจะถูกล่อลวง อาจจะถูกทำร้ายได้หรือเข้าข่ายกับ 3 ข้อที่ว่า จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่ออกมาปกป้องเขาทันที เพราะไม่อยากให้เกิดภาวะคุกคามทางเพศ (sexual harassment)
ดังนั้นความยืดหยุ่นกับการเรียนรู้ของแต่ละวัยจึงแตกต่างกัน ถ้าสำหรับการปล่อยอิสระ ในทัศนะของหมอเองยังไม่อยากจะถึงอิสระมากนักในเด็กวัยเล็กๆ เพราะเราต้องยอมรับว่าครอบครัว 20 ล้านครอบครัวในประเทศไทย เกือบครึ่งเลี้ยงลูกด้วยอำนาจนิยม อีก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย หมอใช้คำว่าอยากให้ลูกเป็นคนดีแต่ไม่ทุ่มเท บ้านไม่ค่อยอยู่ปล่อยให้ชาวบ้านช่วยเลี้ยงลูก และฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนให้ช่วยเลี้ยงลูกฉันให้เป็นคนดี แต่ตัวพ่อแม่เองกลับไม่ทำหน้าที่ ครอบครัวในลักษณะนี้เหลือครอบครัวหัวใจประชาธิปไตยที่มีหัวใจแห่งความเป็นคุณธรรมหรือการมีส่วนร่วมประมาณสัก 10 เปอร์เซ็นต์ได้
“ถ้าเราเตรียมครอบครัวมาดี และครอบครัวเกินครึ่งเป็นครอบครัวแบบประชาธิปไตย ลูกกลายเป็นคนที่มีภาวะคิดเป็น รู้กาลเทศะ แบบนี้หมอจะเชียร์อัพทันทีว่าขอให้ฟรีสไตล์ ทันทีที่เด็กมีอำนาจในการตัดสินใจแล้วเขาคิดเป็นเหตุเป็นผลได้ปล่อยเขาเลย แต่เราต้องยอมรับกลับมาที่ทุนชีวิตของเด็กไทย ว่าครอบครัวเกินครึ่งเลี้ยงแบบอำนาจนิยม”
การเลี้ยงแบบนี้เด็กก็มี 4 สายพันธุ์ กลุ่มแรกคือ ‘เด็กเลี้ยงง่าย’ หากเลี้ยงด้วยอำนาจนิยมบังเอิญลูกเป็นเด็กเลี้ยงง่ายสั่งให้ซ้ายก็ซ้ายสั่งขวาก็หันขวา สั่งให้นั่งเรียนก็เรียนสั่งให้มาเป็นหมอก็เป็น พวกนี้คือเด็กเลี้ยงง่าย แต่ยังขาดภาวะการคิดเป็น ซึ่งไม่สามารถที่จะปล่อยได้ หมอใช้คำว่าเหมือนลูกแหง่ ทำตามสั่งทุกอย่าง
เมื่อกลุ่มครอบครัวที่เลี้ยงด้วยอำนาจนิยมต้องมาเจอกับ ‘เด็กเลี้ยงยาก’ กลุ่มนี้จะกลายเป็นเด็กแหกคอกเลย ทำเพื่อประชดประชัน ซึ่งจะเอาไม่อยู่ด้วยกฎกติกาใดๆ แล้ว ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ต่อให้เป็น Boundaryless ไร้ขอบเขตเลย ไม่ต้องมีวินัย ทรงผม หรือชุดนักเรียน เพราะเขาสามารถคิดเองได้ ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยากเขาพร้อมที่จะแหกกฎทุกเรื่อง ถ้ามาเจอกับกลุ่มเกินครึ่งเป็นอำนาจนิยม ซึ่งจะเห็นเลยว่ามีปัญหาลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด กลุ่มพวกนี้ปัญหาสังคมจะตามมาอีกเยอะ แต่ถ้ามาเจอกลุ่มที่สาม ‘เด็กที่อ่อนไหวง่าย’ เก็บอารมณ์ อาจจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นได้ทั้งสองทิศทาง ด้วยความกล้าๆ กลัวๆ
กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มเด็กบ้าพลัง พลังเยอะและต้องการพื้นที่ปล่อยของ ทำอะไรก็ได้เพื่อเรียกร้องความสนใจ เแต่ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มที่พื้นฐานอารมณ์เลี้ยงง่ายเยอะที่สุด ราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งระบบการศึกษาก็ไปออกแบบที่เน้นกับกลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย เราไม่เคยออกแบบเพื่อเด็กเลี้ยงยากเลย ซึ่งที่เด็กเขาเรียกร้องกันอยู่เพราะระบบไปวางไว้ให้กับเด็กเลี้ยงง่ายอย่างเดียว แล้วครอบครัวเราเกินครึ่งก็เป็นอำนาจนิยม ครูก็เติบโตมาจากครอบครัวเหล่านี้ เขาก็คุ้นชินกับวิธีการแบบนี้จะสังเกตเลยว่าแม้ครูจะไปเรียนต่อต่างประเทศมากลับมาก็ใช้สไตล์ตัวเองที่เคยอยู่ประเทศไทย จะเห็นเลยว่าประเภทของเด็กและครอบครัวจึงมีนัยยะมาก
ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มี Parenting style (รูปแบบการเลี้ยงดู) แบบค่อนไปในลักษณะประชาธิปไตย โอกาสจะใช้อำนาจกับลูกน้อยมาก น่าจะขั้วตรงกันข้ามกับบ้านเรา แน่นอนเขามีเด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก แล้วเมื่อโตขึ้นมาสักระยะหนึ่งเขาก็ปลดระวางโดยไม่ต้องมีกระบวนการระเบียบทั้งหลาย แล้วให้เป็นไปตามวิถีชีวิต ลูกต้องรู้จักมีวุฒิภาวะในการจะหาเลี้ยงชีพ ซึ่งพ่อแม่ไม่ได้ทิ้งเพียงแต่เพิ่มวุฒิภาวะ เพิ่มมิติทางสังคม
หรือจะเป็น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตย บางที่มียูนิฟอร์มบางที่ไม่มี บางที่เป็นแบบ flexible คือยืดหยุ่นมากเลย มีก็ใช้ไม่มีก็ไม่ใช้ เป็นไปตามวิถีแห่งชีวิต อันนี้คือประชาธิปไตยในสไตล์ของเขา ซึ่งหมอก็ไม่ได้จะบอกว่าอันไหนดีกว่ากัน เพียงแต่ให้เรียนรู้ว่าแต่ละที่มันมีองค์ประกอบของมันต้องกลับมาดูที่ประเทศไทย ถ้าเราจะหยิบยกบางเรื่องบางอย่างเอามานั่งคุยกันมาวิเคราะห์กันว่า ถ้าอย่างนั้นเราเรียนรู้บนวิถีแห่งชีวิต ไม่ใช่เรียนแบบตำรา ไม่ใช่มานั่งท่องจำว่าต้องพอเพียง มีวินัย จิตอาสา สุจริต ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีไว้ให้ท่องจำ แต่เรื่องที่ควรให้คุณค่าคือพฤติกรรมมากกว่า
“สมัยเราเป็นเด็กๆ หมอก็เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เจ็บปวดกับระบบในลักษณะนี้ แต่มันพูดอะไรไม่ออก อย่างมากก็ยกหูโทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่โรงเรียนอื่นว่าเจอแบบนี้บ้างไหม ซึ่งก็ไม่กี่คน แต่เราไม่รู้ว่าขณะที่เราอยู่กรุงเทพเพื่อนเราที่อยู่จังหวัดอื่นๆ เขาเจอแบบเดียวกันหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียทำให้เรารู้ว่ามีใครคิดเห็นเหมือนเราบ้าง ที่นั่นก็เจอแบบนี้ ที่นี่ก็มีปัญหาอย่างนั้น แสดงว่ามันไม่ได้เป็นแค่โรงเรียนเดียวแต่เป็นทั้งระบบ ทำให้เกิดแนวร่วมอย่างมากมายด้วยความรวดเร็ว”
เปลี่ยนการใช้อำนาจผ่านกฎระเบียบเป็นสร้างแรงจูงใจโดยใช้ ‘วินัยเชิงบวก’
วินัยเชิงบวก (Positive discipline) ไม่ใช่วินัยตามใจแต่เป็นวินัยที่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นระบบและมีระเบียบบนเมตตาธรรม ไม่ใช้อารมณ์ มีเหตุผล และยืดหยุ่นได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็สามารถเห็นร่องรอยได้ว่า นี่แหละที่เขาเรียกว่าระเบียบของเขาตามบริบทท้องถิ่น แต่ก็ฝึกวิถีชีวิตที่คิดเป็นทำเป็น ทำดีได้
Meaningful participation ก็คือสร้างการมีส่วนร่วม แม้แต่เด็กปฐมวัยก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ ฟังเสียงเขาหน่อยสิว่าเขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร แล้วเราจะได้ยินเสียงเด็กมากขึ้น ถ้าในบ้านเราเลี้ยงดูแบบนี้จะทำให้ได้ยินเสียงดังพอที่จะหยุดการใช้อารมณ์ ยกตัวอย่างกรณีลูกวัยอนุบาลร้องไห้ตอนเช้าเพราะไม่อยากไปโรงเรียน ให้แต่งตัวก็ไม่แต่ง ไม่อาบน้ำ ถามว่าความสุขของเขาคือการไม่ใส่ชุดใช่ไหม ถ้าใช่แม่ก็พาเขาไปโรงเรียนทั้งชุดนอนไปเลย แต่ไม่ต้องไปลงโทษเขานะ พอถึงที่โรงเรียนแล้วเขาเห็นเพื่อนแต่งเหมือนกันเขาจะเกิดการเรียนรู้เอง เรียกว่า Social Learning theory หรือจิตวิทยาสังคม
วิธีนี้จะทำให้โจทย์ของพ่อแม่ง่ายขึ้นในการที่จะจัดการลูกเพื่อให้ลูกจัดการกับระเบียบของตัวเองได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่หมอไม่อยากให้สลายทุกเรื่องไปหมด เพราะวินัยยังจำเป็น บ้านเมืองมันไม่มีไม่ได้ แต่แทนที่เราจะใช้อำนาจผ่านเครื่องแบบหรือกฎระเบียบต่างๆ เราสร้างแรงจูงใจด้านบวก (positive motivation) ให้เด็กอยากทำด้วยตัวเอง ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจวัยรุ่นโดยใช้หลักจิตวิทยาวัยรุ่นนั่นเอง
“ในทางจิตวิทยาพื้นฐานอารมณ์เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนต้องการโชว์ออฟ ขณะที่เด็กบางคนไม่ต้องการเป็นเป้าสายตา เด็กที่ต้องการโชว์ออฟคุณไปกล้อนผม เขาก็รวบรวมพลังขึ้นมาแล้วอาจจะกลายเป็นการก่อหวอดกันครั้งยิ่งใหญ่ ไปงัดข้อกับครูและสุดท้ายครูก็เอาไม่อยู่ ครูเองก็ตกเป็นจำเลยกรณีนี้เหมือนกัน กรณีนี้ยังไม่นับภาวะคุกคามต่อเด็กอีกด้วย”
ในทางกลับกันถ้าครูทำแบบนี้ในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ต้องการเป็นเป้าสายตาเลย ก็จะกลายเป็นการถูกบูลลี่และไม่อยากจะมาโรงเรียน มีความรู้สึกถูกทำให้อับอาย จนในที่สุดรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียนมันไม่มีประโยชน์ เป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย และถ้าเป็นประเภทเก็บกดอาจจะนำมาสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกัน
เครื่องแบบนักเรียนยังจำเป็นหรือไม่ คำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
สำหรับบริบทประเทศไทย หมอมองว่ายังจำเป็นในสไตล์ของท้องถิ่น เพราะหมอก็ไม่ได้ต้องการเห็นภาพแบบ Top Down อีกต่อไป แต่ต้องการเห็นมันเกิดขึ้นจากบริบทของการมีส่วนร่วม คนบนดอยแต่งตัวสไตล์บนดอยก็ไม่มีปัญหาแต่ขอให้มันเป็นระบบเฉพาะท้องถิ่น บนข้อตกลงร่วมกันซึ่งจะเกิดเป็นร่องรอยระบบและระเบียบขึ้นมานั้นคือ ‘วินัยเชิงบวก’ ไม่ใช่วินัยเชิงอำนาจ ไม่ใช่วินัยแบบสั่งการ แต่มันเกิดการคุยร่วมกัน จึงมีนัยยะบนการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณค่า ซึ่งหมอว่าคุณครูคงจะทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น เด็กเองก็มีความสุข ขณะเดียวกันก็มีความคิดเชิงตรรกะและเป็นระบบด้วย
วันนี้เราต้องยอมรับว่าระบบนิเวศชุมชนและสังคมของเราไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ระบบของชุมชนของเราก็ไม่ได้เข้มแข็ง ระบบในโรงเรียนก็ไม่ได้สร้างคุณธรรมจริยธรรมและจิตสำนึกบนวิถีแห่งชีวิต แต่สร้างบนตำราเรียนซึ่งมันไม่ได้สร้างการเรียนรู้ได้ในวันพรุ่งนี้ อย่าลืมว่ายังมี New Generation ที่กำลังเติบโตขึ้นมาแล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี่คือสิ่งหนึ่งที่หมออยากจะสะท้อนไปด้วย
ปลายทางของปัญหา คือสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม
ประเด็นแรกเลยตอนนี้จงทำพื้นที่ของบ้าน ชุมชน และโรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ที่อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับเด็กๆ แล้วใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมเหลาความคิดฟังเหตุผล หา win-win situation ที่ทำให้ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
“จริงๆ ชุดนักเรียนมันเป็นแค่สัญลักษณ์ ใส่หรือไม่ใส่ไม่ใช่ประเด็นหลัก สำคัญอยู่ที่การใช้เหตุผลก่อนที่จะใส่หรือจะไม่ใส่ ก็ตามความคิดเชิงตรรกะ การไม่ถูกล่อลวง การรู้เท่าทัน การรู้จักกาลเทศะ Paradigm มันจะมีทั้งการคิดเชิงตรรกะ คิดเป็นระบบระเบียบ ในขณะเดียวกันต้องอยู่ร่วมกับสังคมได้บนจิตสำนึกที่ดีร่วมกัน
แต่ต้องยอมรับสมรรถนะของครอบครัวก็มีปัญหา ประเทศไทยครอบครัวมีปัญหามากมาย เด็กราว 3 ล้านคนที่อยู่โดยที่ไม่มีพ่อแม่ ทีนี้ถ้าถามว่าบนความเหลื่อมล้ำยากจนและไม่มีชุด ถ้าเข้าใจตรรกะเหล่านั้นก็อะลุ่มอล่วยกันได้”
ดังนั้นสิ่งที่หมอเองอยากเรียกร้อง คือ คณะกรรมการสถานศึกษาน่าจะมีตัวแทนสภานักเรียนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการไม่ใช่นั่งเฉพาะกิจ เข้าไปเป็นหนึ่งในกรรมการ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก เพราะทุกวันนี้กฎหมายในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ องค์ประกอบของคณะกรรมการสถานศึกษาไม่มีตัวแทนเด็กเลย แต่มีผู้นำชุมชน มีพระตามหลักธรรมทางศาสนา มีสุภาพสตรี หรือแม้กระทั่งตัวแทนครู ตัวแทนจากผู้ปกครอง
ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะใช้กลไกของสถาเด็กและเยาวชนซึ่งมีระดับตำบลด้วยซ้ำ เขาจะเป็นกระบอกเสียงในการช่วยคานสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และช่วยทำให้อำนาจมันไม่ไปอยู่เบ็ดเสร็จอยู่ที่ผู้อำนวยการ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ความกังวลของหมออีกอย่างคือ ถ้าเรากลายเป็น Boundaryless Society สังคมไร้พรมแดน บนอินไซด์ที่ไม่แข็งแรงประเทศชาติเสียหายแน่นอนครับ แล้วถึงตอนนั้นน้องๆ ที่เติบโตขึ้นมา อาจจะแบกภาระวิกฤติของประเทศที่กู่ไม่กลับด้วย เรื่องบางเรื่องปลดล็อกได้ก็ทำ แล้วไปรีบพัฒนาในส่วนอื่นต่อ อย่างเรื่องภาวะคุกคามที่มีไม่ได้และไม่ควรปล่อยให้มีอีกต่อไป