- คุยกันต่อกับนพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ในประเด็น Learning Analytic ระบบการวิเคราะห์สไตล์ผู้เรียน ตอนสุดท้าย
- เจาะลึกตั้งแต่วิธีการคิด นำแผนการสอนของครูไปวิเคราะห์ผ่าน Machine learning ว่าเด็กจะได้ทักษะอะไรบ้างจากการเรียนนี้ สร้างระบบ classroom management ระบบการเรียนรู้ในห้องเรียน
- นอกจากนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษา ติดตั้งทักษะให้นักเรียน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ระบบการศึกษาไทยต้องมี ‘ความไว้วางใจ’ ให้ผู้เรียน เพราะเราไม่สามารถเรียนรู้ได้บนความกลัว การเรียนรู้มันต้องลอง แล้วมันต้องผิดมากกว่าถูก
“สิ่งที่เราเชื่อคือ ทุกคนมี learning style ของตัวเอง ทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวแน่ๆ หน้าที่ของเรา คือ จัดองค์ประกอบในการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเป็น
“(…)แต่ข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะคือ มันต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราเข้าใจ learning style ของแต่ละคน เราจะใช้เวลาน้อยมากเพื่อพัฒนาทักษะนั้น เช่น ถ้าเราอยากเป็นนักกอล์ฟ เราก็ซื้อไม้กอล์ฟ ซื้อลูกกอล์ฟมาตีกับกำแพง ซึ่งเราอาจใช้เวลา 5 ปีแต่อาจไม่ไปถึงไหน แต่ถ้าเรามีโค้ชที่มาสะท้อน มายืนมองเรา เราอาจลดเวลาเหลือ 2 ปี นี่เลยเป็นที่มาว่า หากเราสามารถสะท้อนกลับวิธีการเรียนรู้หรือ learning style ที่เฉพาะตัวของเด็กได้ ทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและร่นระยะเวลาของเด็กได้
“กระบวนการสำคัญ คือ การสะท้อนให้เห็น นี่จึงเป็นที่มาที่ของการเอาเทคโนโลยีมาวิเคราะห์และสะท้อนรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคนให้ได้”
คือคำของนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ผู้ซึ่งหากเราเสิร์ชชื่อของเขาในเสิร์ชเอนจิ้นจะพบประวัติการทำงานหลากหลายและข้ามสายไปมา ตั้งแต่… นายแพทย์, บอร์ดบริหารทีมแพทย์เครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคตะวันออก และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำระบบข้อมูล (ไอที) ให้กับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก, ก่อตั้งบริษัท สุขสาธารณะ จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่ทำตั้งแต่การไปตะลุยท้องนาเพื่อให้เห็นชีวิตและวงจรการทำนา พัฒนาพันธุ์ข้าวลงลึกระดับยีน จนถึงคลินิกองค์รวมผสานตั้งแต่แพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพร และอาหารออร์แกนิก
ไม่เท่านั้น ก่อนจะเข้ามาลุยงานการศึกษาเต็มตัวด้วยตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสดศรีฯ นายแพทย์ก้องเกียรติยังสร้างโรงเรียนกาละพัฒน์ ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันว่า เด็กทุกคนไม่ได้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เพียงแต่ ‘เสื้อโหลไซส์เดียว’ ที่ตัดมาให้ทุกคนใส่ ไม่สามารถใช้ได้กับเรื่องการพัฒนาคน เรื่องการศึกษา ที่มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง
อันที่จริงในมุม ‘การเรียนรู้’ เราคงนั่งคุยกับนายแพทย์ก้องเกียรติได้เป็นวันไม่มีจบเพราะเขาเป็นคนประเภทที่…มองอะไรก็เป็นเรื่องการเรียนรู้ได้ แต่ไฮไลต์ (เด็ด) ที่เราอยากนำเสนอและประกาศให้ทุกคนรู้ (ว่าสิ่งนี้มันมีอยู่จริง!) คือเรื่อง Learning Analytic – ระบบ หรือ การวิเคราะห์การเรียนรู้เฉพาะตัว (Learning Style) เทคโนโลยีช่วยครูวิเคราะห์แผนการสอนว่า แผนการสอนที่ออกแบบมานั้น กำลังถ่ายทอดทักษะอะไรให้ผู้เรียน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ได้จริง ทดลองใช้งานจริงแล้ว และยังได้รางวัลในชุมชนการศึกษาใหญ่อย่าง British Educational Research Association สาขา Best EdTech Paper ในปี 2019 มาด้วย!
ตั้งต้นกันที่ระบบ Learning Analytic ก็จริงอยู่ แต่ตลอดบทความชวนอ่านชีวิต ความคิด การทำงานในประเด็น ‘การเรียนรู้’ ที่นายแพทย์ก้องเกียรติให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘การถ่ายทอดทักษะ’ ซึ่งสำหรับเขามันเป็นเรื่องยาก ใช้เวลา และต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและด้วยตัวเอง (มากๆ) ก่อนที่จะส่งต่อทักษะนั้นให้กับผู้เรียนต่อไป
จริงอยู่ที่เราอยู่ในยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะ’ เพราะเรารู้กันแล้วว่า มันไม่สำคัญว่าเราเรียนอะไร แต่เราทำอะไรได้กับสิ่งที่เรารู้ ซึ่ง ‘ทักษะ’ นี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรา adapt และ adopt (ตามคำของนายแพทย์ก้องเกียรติ) นำความรู้ในเนื้อตัวไปทำงานในโลกยุคโควิด-19 ที่ทำลาย ‘ความมั่นคง’ แบบเดิมๆ ทิ้งไปสิ้น
ถ้าทักษะนี้สำคัญจริง ชวนกันมาคุยกันจริงจังอีกทีว่าคืออะไร โรงเรียนได้สร้างทักษะเหล่านี้หรือไม่ และเทคโนโลยีอะไรที่จะมาช่วยครูทำงานเรื่องนี้
โดยบทความจะขอแบ่งเป็น 2 ชิ้น ชิ้นแรกว่าด้วยเหตุผลที่ทำให้คุณหมอสนใจ ‘ทักษะ’ ที่มาจากประสบการณ์เรียนรู้ของตัวเขาเอง (อ่านได้ที่นี่) และชิ้นที่ 2 ว่ากันเรื่อง Learning Analytics ว่าคืออะไร ทำอย่างไร และจะช่วยเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคนได้จริงอย่างไร
… อย่ารอช้า อ่านกันค่ะ 🙂
ระบบ Data Analytic
ระบบ Data Analytic ทำงานยังไง ตั้งใจเอาไว้แก้ปัญหาอะไร
กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน ขั้นตอนคือ ครูจะพัฒนาแผนการสอน แล้วแผนการสอนก็นำไปสู่การเรียนการสอน เมื่อสอนแล้วมีการบ้าน มีโครงงาน เด็กก็จะส่งการบ้านหรือโครงงานนั้นกลับมา คำถามที่เราอยากรู้คือ ตกลงแผนการสอนนี้พร้อมจะถ่ายทอดทักษะรึเปล่า?
ทีนี้ในกระบวนปกติจะมีศึกษานิเทศที่เก่งและเข้าใจมาอ่านแผนการสอน แต่อย่าลืมว่าในโรงเรียน ครูสร้างแผนการสอนมาเป็นหลักร้อยชิ้น อ่านกันไม่ไหวและบางทีก็ไม่ได้เกิดผลอะไรออกมา แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เราสามารถเอา AI หรือ Machine learning ไปเรียนรู้ว่าเอกสารที่ผลิตออกมานั้นตกลงมันสะท้อนทักษะอะไร ซึ่งที่มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์เองก็มีต้นทุนเรื่องพวกนี้อยู่ คือเคยมีงานที่ทำวิเคราะห์เนื้อหาโดยใช้ machine learning กับทางอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ไม่ได้ทำเฉพาะเจาะจงเรื่องการศึกษา
ผมเลยเอาเครื่องมือนี้มาตั้งหลักโดยหาผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 มาอ่านเอกสารแผนการสอน จากนั้นก็ป้ายประโยค และบอกว่า ในประโยคนี้เขาเห็นอะไร เช่น เห็นทักษะการเรียนรู้ เห็น critical thinking (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ) แล้วเราก็ใช้วิธีให้คนหลายๆ คนทำเพื่อหาความเห็นร่วมว่าในเอกสารนี้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามันปรากฎทักษะนี้รึเปล่า ประโยคนี้ใช่หรือไม่ใช่เพื่อเป็นการสอน machine จากนั้น machine ก็จะเริ่มทดว่าข้อความแบบนี้ พารากราฟแบบนี้ โครงสร้างประโยคแบบนี้ สะท้อนทักษะอะไรขึ้นมา จากนั้นเราก็พัฒนา machine ตัวนี้ให้มีความสามารถแม่นยำขึ้นในระดับหนึ่ง จากนั้นเราเอาเอกสารทั้งหมดที่มีโยนใส่ไปในเครื่อง แล้วมันก็จะจัดการกลั่นกรองว่า มันพบทักษะอะไรบ้าง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีแบบนี้ มันร่นระยะเวลา มันขยายผลได้ แปลว่าทุกโรงเรียนที่เขียนแผนการสอนสามารถส่งเข้ามาในระบบแล้วสะท้อนกลับว่า แผนการสอนวิชา PBL ของป.1 มีทักษะอะไรปรากฎอยู่บ้าง
ครั้งแรกที่เราทำ เราก็ไม่รู้หรอกนะว่ามันได้ผลมั้ย เราก็เอาแผนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีความสามารถในการพัฒนาทักษะเด็กมาเข้าระบบ แล้วเราก็วิเคราะห์และสะท้อนออกมา สิ่งที่เราเห็นคือ นักเรียนชั้นป.1 มีทักษะแทบทุกอย่างเยอะมาก แล้วเราก็ไปพบทักษะเหล่านี้อีกทีในชั้นป.6 แต่ในชั้นป.3 ป.4 กลับมีทักษะแบบนี้น้อยมาก ก็ให้ย้อนกลับไปถามครูว่าปรากฏการณ์นี้แปลว่าอะไร? ครูเขาก็ตื่นเต้นมาก เพราะครูไม่เคยเห็นภาพสะท้อนนี้มาก่อน ที่เขาบอกคือ ใช่… เด็กป.1 ได้เรียนกับครูที่เก่ง ครูก็จะจัดหนักที่ชั้นนี้ ส่วนป.3 – ป.4 จะเป็นพื้นที่ให้ครูใหม่เข้ามามาทำงาน แล้วพอป.6 ต้องส่งออกนักเรียน ก็ไปแข็งขันกันเร่งสอนอีกที
แต่สิ่งที่เราพบคือ critical thinking ไม่สามารถทำได้ตอนป.1 เพราะสมองยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น น้ำหนักที่ให้และที่ใช้มันทำให้เกิดการเสียโอกาส พอครูเห็นแบบนี้ก็จูนใหม่ จัดใหม่ ใส่เครื่องใหม่ อะ…ลดทักษะนี้ลง เอาทักษะนี้ขึ้น ซึ่งมันทำให้สะดวกมากขึ้น เขาก็เห็นว่า อ๋อ…การเขียนโครงสร้างแบบนี้ทำให้เห็นทักษะแบบนี้ได้ เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ ครูก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ภายในโรงเรียน
หลังจากนั้นเราพัฒนาต่อ คือทำระบบ classroom management ระบบการเรียนรู้ในห้องเรียน คือเมื่อสักครู่เราทำแผนการสอนอย่างเดียว แต่ตอนนี้เราอยากเก็บผลลัพธ์ของการเรียนรู้บ้าง เราก็อยากเอาสองอย่างนี้มาเจอกัน และใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า class start โดย ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เราไปร่วมมือกับเขาและขอเอามาใช้ในโรงเรียน ก็ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ในฝั่งนักเรียนมากขึ้น
ทีนี้ในแผนการสอนมันจะมีสื่อการสอนต่างๆ (learning material) ที่จะถูกผูกกับแผนการสอน ซึ่งพอประเมินจะทำให้เริ่มเห็นว่า learning recourses หรือสื่อการสอนนี้เชื่อมโยงบางอย่างมีผลต่อผลลัพธ์ ต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราเก็บข้อมูลนี้ได้มากขึ้นๆ เราก็อาจได้รูปแบบความสัมพันธ์หรือแพทเทิร์นที่เอาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้
แม้ว่าผมจะเป็นครูที่อยู่ไกลโพ้นบนภูเขา ไม่มีศึกษานิเทศ ผมเป็นครูอยู่คนเดียว ก็สามารถดึงแผนการสอน ดึงสื่อการสอนที่สอดคล้องกับนักเรียนของผมไปใช้ได้ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต แล้วผมได้ฟีดแบกทันที เพราะฉะนั้น ก็แปลว่าผมมีศึกษานิเทศที่เก่งอยู่ในคลาวน์ แล้วก็ช่วยได้ทุกคน นี่คือเส้นทางที่พวกเราอยากให้มันเกิดขึ้นภายใต้การใช้เทคโนโลยีมาขยายผล
สิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดนี้เรียกว่า Learning analytic หรือการวิเคราะห์การเรียนรู้ของคน Learning analytic จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ขั้นแรก – เห็นก่อนว่ามันเกิดปรากฎการณ์อะไร พอเห็นบ่อยขึ้นเราก็จะเริ่มรู้หรือทำนายได้ว่า เออ…ถ้ามีสิ่งนี้ เดี๋ยวสิ่งนี้อาจจะเกิด พอใส่ intervention หรือกระบวนการบางอย่างเข้าไป ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนจนสุดท้ายเรามั่นใจแล้วว่า เฮ้ย…อย่างนี้ใช้ได้ เช่น แผนการสอนนี้ สื่อการสอนนี้ เหมาะสำหรับเด็กที่มีคำศัพท์น้อย ตอนเข้ามาเรียนมีคำศัพท์แค่ 50 คำ แต่พอมาดูอันนี้ มาทำเส้นทางนี้ เห็นการพัฒนาทำให้เขาไปต่อได้
มันดูเป็นสิ่งใหม่ แปลว่าไม่เคยมีใครทำหรือจินตนาการว่ามันทำได้มาก่อน คุณหมอเริ่มต้นอธิบายสิ่งนี้ให้ทีมงานฟังเพื่อให้เห็นภาพและลุยไปด้วยกันได้ยังไง
ปีแรกๆ ต้องบอกเลยว่าไม่มีใครเข้าใจว่าผมจะทำอะไร เพราะมันใหม่มาก ไปรีวิวในต่างประเทศก็พบว่า Learning analytic เป็นเรื่องใหม่ในโลกเหมือนกัน เราก็เลยทดสอบตัวเราเองว่าความคิดของเราถูกมั้ย เลยเขียนเป็นงานวิชาการนำเสนอที่เนเธอร์แลนด์ เวที Learning Analytic Conference ปกติในงานประชุมวิชาการ ถ้างานเราดี ขั้นต่ำที่สุดเราจะได้เป็นโปสเตอร์ ถ้าดีกว่านั้นก็จะได้ขึ้นพรีเซนต์ ตอนนั้นเราก็เสนอเป็นโปสเตอร์ก่อนเพราะเราเชื่อว่าเราเป็นเศษธุลีเรื่องการศึกษา ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ปรากฎเราได้ขึ้นโพเดียมพรีเซนส์ ตอนพรีเซนส์คนซักถามกันเยอะแยะ แต่พอกลับมาเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังก็เกิดคำถามว่า ‘ฟลุกรึเปล่า’
เราก็คุยกับทีมใหม่ งั้นคราวนี้เราจะเอาเข้างานประชุมวิชาการจริงๆ ของทางการศึกษาเลย นั่นคือ งานประชุมวิชาการประจำปีของ British Educational Research Association หรือสมาคมด้านการศึกษาของประเทศอังกฤษ เราก็ submit ไป กะว่าเป็นนำเสนอแบบโปสเตอร์ก็ดีใจน้ำตาคลอเบ้าแล้ว เพราะการประชุมที่มีคนเข้าร่วมสามพันกว่าคน ครูทั้งในอังกฤษและทั่วโลกก็ต่างชิงพื้นที่นี้กัน แต่พอส่งไปเขารีวิวกลับมาว่า งานของคุณดีมาก คะแนนสูง เราอยากให้คุณพรีเซนต์ เราก็เลยได้สลอตพรีเซนต์มา พอพรีเซนต์เสร็จปุ๊บ เราได้รางวัลชนะเลิศด้าน Best EdTech (Best EdTech Paper 2019) ได้รางวัลจากเขามา 30 เหรียญ (หัวเราะ) ได้คูปองอะแมซอนมาแบ่งกัน แต่จริงๆ แล้วเราแค่อยากแค่รู้ว่าสิ่งที่เราทำ มัน valid หรือมีน้ำหนักพอมั้ย เราไม่อยากเดินผิดทาง ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มากทั้งในในและต่างประเทศ เราเริ่มเห็นโอกาส ใช่ เราทำสิ่งนี้ ก็เลยพยายามเคลื่อนงานต่อ พยายามหาข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเข้ามาประมวลร่วมกัน
Learning analytics นี้ เหมือนเป็นตัวช่วยของครู ช่วนให้เห็นฟีดแบกการสอนของตัวเองจริงๆ และรู้ว่าจะพัฒนาอย่างไร
ผมคิดว่าครูทุกคนมีเจตนาดีที่อยากให้เด็กประสบความสำเร็จ ผมไม่คิดว่ามีครูคนไหนที่แบบว่า “สุดยอดมาก เธอตกอีกแล้ว เธอต้องซ้ำชั้น ชั้นชนะแล้ว” แต่ปัญหาของครูคือ ครูไม่มีข้อมูลมากพอที่จะมาช่วยทำงาน ผมเปรียบเทียบกับหมอ ผมมีหูฟัง มือคลำ ตรวจถูกบ้างผิดบ้าง รักษาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่หลังจากนั้นเราเริ่มมีผลเลือด ผลเอ็กซ์เรย์ มีชุดข้อมูลเยอะมากในการที่ผมจะบอกได้ว่าคนไข้คนนี้เป็นอะไร แต่คุณครูแทบไม่มีเลย ข้อมูลของนักเรียนปีที่แล้วส่งมาก็เห็นแต่คะแนนหรือบันทึก ซึ่งเยอะมาก ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์หรือเข้าใจได้
เราอยากให้ครูมีแว่นชาวเซย่าอะครับ (การ์ตูน Dragon ball) ที่พอมองเด็กปุ๊บก็รู้เลยว่าระดับพลังเขามีขนาดไหน ‘วิชานี้ระดับพลังตกแล้ว ฉันต้องเสริมมัน’ นั่นคือภาพที่ผมคิดว่าครูจะมันส์มากเลยอะ งั้นถ้าเรามีชุดข้อมูลที่มากพอแล้วครูเห็นฟีดแบกได้ทัน ใส่อันนี้-เด็กไม่เกิด ใส่อันนี้-เด็กเกิด โอเค ฉันเริ่มรู้ละ
ภาพนึงที่คิดไว้ว่าถ้ามันเกิดได้มันจะสนุกมาก คือ วันนี้ผมสอนวิชาประวัติศาสตร์ ผมเห็นเด็กในห้องผมมีอยู่สามกลุ่ม ที่มี learning style ต่างกัน บางคนชอบดูหนัง สนุก อีกพวกชอบอ่าน อีกพวกชอบค้นคว้า เพราะฉะนั้นสามกลุ่ม ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน อยู่คนละแบบกันเลย คือถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ครูจะประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้ เพราะมันไม่มีทางเดียวที่ทำแล้วเหมาะกับทุกคนได้หมด
แต่หลักสูตรเอื้อให้ทำแบบนี้ได้ไหม
(แบมือสองข้าง สื่อสารอย่างไม่มีเสียงว่า ‘นั่นไง’) สิ่งเดียวที่ผมเรียนรู้จากฟินแลนด์ หลังจากเสียเงินไปตั้งเยอะตั้งแยะผมได้ประโยคเดียวกลับมา ‘ความไว้วางใจ’ การศึกษาฟินแลนด์ประสบความสำเร็จเพราะ ‘ความไว้วางใจ’ ผมเข้าไปห้องเรียนเคมีห้องนึงชั้นระดับมัธยม มีเด็กผู้หญิงคนนึงนั่งอยู่หลังห้อง ถักนิตติ้ง ถามว่าถ้าเป็นโรงเรียนไทย จะเกิดอะไรขึ้น? แต่ครูฟินแลนด์ไม่ว่าอะไร สอนต่อไป แล้วก็ทวนสอบด้วยการตั้งคำถาม เธอวางนิตติ้ง ยกมือตอบ ตอบเสร็จ เธอถักนิตติ้งต่อ
คือผมทนไม่ได้ก็ไปถามครูว่า เฮ้ย ยอมได้ไงให้ใครคนนึงนั่งทำอะไรในห้อง เขาถามผมว่า แล้วคุณกังวลอะไร? ถ้าเป้าหมายของเขาคือเขาได้เรียนรู้ เขาจะอยู่ยังไงก็เรื่องของเขา ตอนนั้นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ เมื่อไรที่ไว้วางใจ เราจะได้ความรับผิดชอบกลับมา เด็กคนนี้ไม่ได้ถูกบังคับ คุณอยากถักนิตติ้งก็ถักไป แต่เขารับผิดชอบ
ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่บ้านเราขาด ความไว้วางใจ เรามีแต่ความกลัว แต่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้บนความกลัว เราสนใจการเรียนรู้ครับ การเรียนรู้มันต้องลอง แล้วมันต้องผิดมากกว่าถูก
ตอนผมทำโรงเรียน ผมอ่านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาซึ่งเขียนหลักสูตรไว้ดีมาก ไม่ได้เป็นของที่แย่หรือจับต้องไม่ได้เลย แต่ปัญหาคือการแปลหลักสูตรออกมาเป็นการสอน และนั่นคือสิ่งที่ท้าทายเรามาก เพราะคนที่แปลหลักสูตรออกมาเป็นแผนการสอนจนไปถึงกิจกรรมในการสอน ต้องอาศัยทักษะเยอะมาก แปลว่าในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ ไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากอะไร ขอแต่ต้องไว้ใจเขา เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเกิดแผนการสอนโดยการไล่ก๊อบปี้เพื่อนมา และเราจะทำแผนการสอนเพียงเพราะศึกษานิเทศจังหวัดจะมาตรวจ
กระบวนการทำงานที่เราอยากให้เห็นคือ ทำแผนการสอนบนเป้าหมายที่ตัวนนักเรียน ออกแบบแผนการสอนใหม่ ครูต้องอ่านนักเรียนให้ออก แต่อย่างที่ผมบอกครับว่า ครูเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนมาจะเหมาะรึเปล่า ถ้ามันมีเครื่องวัด แลป หรือหรือเครื่องเอกซ์เรย์คอยช่วยครู น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ได้
ตอนนี้ได้ทดลองทำที่โรงเรียนไหนบ้างแล้ว
เริ่มทำที่โรงเรียนอนุบาลสตูลก่อน แล้วจะขยายไปที่โรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่างๆ ทำในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นหน่วยนำที่กล้าเปลี่ยนแปลงการศึกษา เราอยากให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขากำลังทำมันใช่ เพื่อให้เห็นแพทเทิร์น รูปแบบ แล้วทางโรงเรียนเขาก็ตื่นเต้นที่เขาได้เห็นผลตรงนี้ออกมา คิดว่าหลังจากนี้คงจะมีข้อมูลพวกนี้ออกไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็พยายามสร้างวงนักวิจัยทางด้านการศึกษาที่มาจากหลากหลายความเชี่ยวชาญขึ้นมา ตั้งแต่ครู ผู้บริหารโรงเรียน พยาบาล แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา Data Science แล้วเราก็จัดสิ่งที่เรียกว่า social lab ขึ้นมา
ต้องบอกว่าข้อจำกัดทางงานวิจัยด้านการศึกษา คือมักทำโดยนักการศึกษา แต่สิ่งที่เราคือมันไม่งอก มันไม่งาม เราเลยไปดึงนักเศรษฐศาสตร์ data science ไปดึงคนหลายคนหลายเหล่ามารุมกัน มาสกรัม (scrum) กันว่า เออ…ถ้าเราเอาความรู้หลากหลายมาช่วยกันแก้ปัญหาการศึกษา เราจะทำได้ยังไง ตอนนี้เราสร้างวงนักวิจัยระดับ 30 – 40 คนขึ้นมาเพื่อจะหาวิธีการ หาโจทย์วิจัยเพื่อช่วยกันหาโจทย์เหล่านี้
Social Lab หรือห้องวิจัยทางการศึกษาที่ว่านี้ ศึกษาอะไรบ้าง
ประเด็นคือ learning style ไม่ได้เป็นปัจจัย (factor) เดียวในการเรียนรู้ แต่มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องเศรษฐฐานะ เช่น เราไปวิเคราะห์ข้อมูลที่จังหวัดหนึ่งมา ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นคนออกแบบการเรียนการสอน เราก็คาดหวังผลการเรียนการสอนจะเหมือนกันทุกแห่ง ทีนี้โรงเรียนหนึ่งมีคะแนนภาษาอังกฤษต่ำโดดเด่นออกมาโรงเรียนเดียว ทั้งที่โรงเรียนอื่นซึ่งมีเศรษฐฐานะพอๆ กัน เราก็ไปในพื้นที่เพื่อไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเขาจัดตารางสอนภาษาอังกฤษวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันที่มีตลาดนัดแล้วเด็กกลุ่มนี้ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของที่ตลาดนัดเลยต้องขาดเรียนวันนี้ แปลว่าการหาความสามารถในการเรียนรู้หรือรูปแบบในการเรียนรู้แค่เฉพาะข้อมูลในห้องไม่พอ มีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่กระทบการเรียนรู้ของเด็ก ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็มีผล ความยากจนมีผล ความรู้ของคนที่เลี้ยงเด็กมีผล พวกนี้เป็นปัจจัยสะสมทั้งหมด ฮาร์วาร์ดตีพิมพ์ชัดเจนมากว่าเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงสะสมแบบนี้ เขาจะมีการพัฒนาการเรียนรู้น้อยกว่าคนปกติถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่าตัวเลย เขาไม่ได้โง่นะครับ เขาไม่ได้เป็นเด็กปัญญาอ่อน แต่ปัจจัยพวกนี้มีผลกระทบต่อการเรียนรู้
13 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ฐานะไม่ดีแล้วต้องออกไปจากโรงเรียนในวันที่ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งเรามีรายวิชาการงานและอาชีพ แต่เด็กพวกนี้ไม่สามารถออกไปช่วยพ่อแม่ 5 ชั่วโมงแล้วเอามาเทียบเท่ากับการเรียนการงานวิชาอาชีพได้ การศึกษาเราไม่เอื้อขนาดนั้นเลย
ต่างประเทศมีการสะสมชั่วโมงเก็บทักษะนอกเวลาแบบนี้มั้ย
ที่ต่างประเทศมีการทำงานหนักมากเพื่อทำให้ทักษะสามารถถูกเก็บเป็นระบบได้ เราเรียกว่า Open Badges เป็นองค์กรสาธารณะกุศลนะครับ โดย Mozilla บริษัทที่ทำเว็บบราวซ์เซอร์แล้วได้รับการสนับสนุนจากพริสซิลลา ชาน ภรรยาของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
Open Badges ไม่ได้มองว่า คุณทำงานร้านสะดวกซื้อมาสามปี ไม่ได้สนใจว่าคุณทำอะไร แต่จะดูว่าคุณทำงานที่ร้านสะดวกซื้อนี้ คุณได้ทักษะอะไรมา แล้วแปลกิจกรรมเหล่านั้น หรือ translate activity คุณไปเป็นทักษะ
ผมให้นึกถึงลูกเสือ ที่เวลาเราไปเข้าค่ายก็จะได้ตรามาติดที่เสื้อเต็มไปหมดว่าเราทำอะไรได้บ้าง แต่เวลาเราไปสมัครงาน เราเอาไปสมัครได้มั้ย? ที่เขาทำคือให้เด็กที่ไปทำงานนอกเวลา ไปหารายได้แล้วสามารถถูกสะสมและแปลมาว่า ที่คุณไปทำมา คุณมีทักษะอะไร และถือไปสมัครงานได้
ในอดีตเวลาเราไปสมัครงาน อันแรกที่เราเตรียมไปคืออะไร ใบเกรด ใบปริญญา? แปลว่านั่นคือการบอกว่าผมรู้อะไรมา สอง เขาจะถามว่าคุณเคยทำงานอะไรมาบ้าง คุณทำอะไรเป็น แต่ถ้าผมถามใหม่ ถ้าผมให้ทำในสิ่งที่คุณไม่เคยทำมาก่อนเลย คุณจะสามารถ adapt และ adopt รับโจทย์ใหม่และปรับตัวเองให้เข้ากับงานใหม่ ได้รึเปล่า?
เราไม่เคยถูกฝึกให้ตอบคำถามนี้มาก่อน
ใช่ครับ เพราะเราอยู่บนความกลัว เราไม่สามารถบอกได้ว่าผมมีความสามารถในการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันนี้ โควิดเป็นตัวบอกเลยว่าเราต้องการคนแบบนี้เยอะมาก เพราะสิ่งที่รู้มาตลอดชีวิตใช้ไม่ได้ ทำยังไงเราถึงให้เด็กของเราถือใบสมัครไปองค์กรใหญ่ๆ แล้วบอกว่า “ผมมีทักษะที่ adapt และ adopt ได้ คุณไม่ต้องไปดูปริญญาผม” นี่คือสิ่งที่พวกเราอยากไปให้ถึง เราอยากจะแปลทักษะพวกนี้ให้อยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้และเทียบเคียงจนไปถึงการหาอาชีพให้ได้ นั่นคือการเสมอภาคทางสังคม
เรากำลังพูดถึงเทคโนโลยีในการศึกษา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีไม่เท่ากัน
ผมคิดว่ามันมีสองส่วน หนึ่ง โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนเข้าถึง นี่เป็นหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการให้ได้ ตัวที่เป็นอุปสรรคมากคือกระบวนการจัดการของรัฐ แต่ในทางเทคนิค ทุกพื้นที่ในประเทศไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทุกพื้นที่เลยนะ ไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีนึง แย่ที่สุดคือดาวเทียม ฉะนั้นในทางเทคนิคเข้าถึงได้ แต่ปัญหาที่เราพบคือกลไกบางอย่างมันไม่โปร่งใสชัดเจนเพียงพอ สุดท้ายมันไม่เกิดผลลัพธ์นี้ขึ้นมา ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องเกินกว่าพวกเราแก้ไขและต้องให้ทางรัฐจัดการ
ทีนี้ถ้าเราทิ้งโครงสร้างไป ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นหรือเอาปัจจุบันนี่แหละ ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ด้วย ไม่ได้แย่มาก แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ใครเป็นคนจัดการการเรียนรู้ให้กับเด็ก? เบื้องหลังของโซเชียลมีเดียต่างๆ ใช้ AI เยอะมากนะครับในการจัดสรรเวลาที่ทำให้คนอยู่ในหน้าจอ เราแทบไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งเราหมดเวลาไปกับหน้าจอที่พูดเรื่องเหล่านี้ยังไง เราดูยูทูปจบเรื่องนึงมันเอาเรื่องถัดไปมาให้เราดู ถ้าเราไม่ดู กดคลิกข้าม มันจะทดทันทีว่าเรื่องนี้เราไม่ดู จนสุดท้ายมันรู้ว่าถ้าจะทำให้คุณอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มันจะเลือกอะไรให้คุณ
ฟังดูแล้วดูคล้ายๆ กับสิ่งที่มูลนิธิทำ นั่นคือการวิเคราะห์ หรือ analyze การเรียนรู้ เหมือนที่โซเชียลมีเดียกำลังวิเคราะห์รูปแบบและพฤติกรรมการเล่นโซเชียลของเรา
ใช่ครับ วิธีคิดก็คล้ายๆ กัน ในเทคนิคมันมีคำว่า learning experience ซึ่งก็เหมือนกับ user experience ข้อมูลพวกนี้จะถูกเก็บแล้วเอามาวิเคราะห์ เราดูยูทูปเรื่องอะไรบ้างนั่นแปลว่าคุณสนใจเรื่องอะไร ซึ่งพวกนี้ถ้าเราเก็บข้อมูลมาได้และวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มันจะสร้างปรากฏการณ์การเรียนรู้ได้และช่วยคนได้เยอะ มันคือยุคของข้อมูลน่ะครับ คำถามคือ เราจะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ไหม ถ้าเก็บได้เราก็จะเกิดประโยชน์
ถ้าให้ถอดบทเรียนตัวเอง คิดว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คุณหมอเป็นนักเรียนรู้ ข้ามศาสตร์ข้ามสายไปมา และหยิบเอาเทคโนโลยีไปใช้ในวงการนั้นๆ เสมอ
อย่างแรก – ผมรู้สึกปลอดภัย ผมไม่กังวลที่จะทำ เพราะเราดูแล้วว่าเราน่าจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ผมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในตัวเองน่ะเลยไม่กังวล สอง – ผมอยากสเกล ผมอยากทำให้มันได้ผล เครื่องมือเดียวที่ผมมีคือเทคโนโลยี เทคโนโลยีถูกออกแบบมาเพื่อสเกล เพื่อให้มันขยายผลได้ นั่นคือความหมายของเทคโนโลยี ไม่งั้นผมก็เป็นแฮนด์คราฟ ผมนั่งทำของกุ๊กกิ๊กๆ แล้วผมได้ถ้วยใบนึง แต่พอเป็นเทคโนโลยี มันสามารถมีร้อย พัน ล้าน ถ้วย (เน้นทีละคำ) ได้ เทคโนโลยีจะเป็นคีย์ให้ผมสเกลได้รวดเร็ว ผมคิดว่าสองอย่างนี้เป็นหลักเป็นเฟรมในการทำงาน
ที่เหลือคือความรู้และมุมมอง เวลาผมจะทำงาน ผมใช้คำว่า ‘ดม’ ผมจะไปนั่งดม ไปนั่ง (แช่เสียง) นั่งโง่ๆ อยู่ทั้งวัน อย่างตอนที่ผมสนใจเรื่องการศึกษา ผมก็ไปนั่งที่ลำปลายมาศพัฒนาทั้งวัน ไปนั่งอยู่นั่น ใครคุยก็คุย ไม่ว่างก็ไม่คุย ใครไปไหนผมก็เดินตามไป พอเราได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมโดยที่เราไม่มีความรู้หรืออคติอะไรเลย เราจะเห็นอะไรเยอะมาก เราจะสังเกตนู่นนี่นั่น เราจะเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้และทำไมถึงเป็นแบบนี้ มันคือวิธีการทำงานอย่างหนึ่ง บางทีเวลาเจอโจทย์ยากๆ ผมก็เดินเข้าไปในโรงเรียน ไปมอง ไปดู ไปเห็น ไม่กี่ชั่วโมงก็เริ่มเห็นแล้ว เมื่อเกิดสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งนี้ เด็กทะเลาะกัน ดูปฏิกิริยาของเด็ก เขาจัดการกันยังไง ครูเข้ามายังไง ครูเข้ามาแล้วมีท่าทียังไง ประเด็นคือเราขาดคนนั่งสังเกตและนั่งเฝ้าดูจักรวาลก่อนมีคำตอบ แต่เรามักจะมีคำตอบจากประสบการณ์เสมอ แล้วพอเราเห็นสิ่งเหล่า เราก็ตามไปหาความรู้มายืนยันว่าปรากฎการณ์นี้อธิบายด้วยความรู้ยังไง ความสนุกคือเราต้องท้าทายความรู้นั้นด้วยนะ ทำไมเราต้องเชื่อสิ่งที่เขาบอก เราบอกอีกแบบได้หรือเปล่า นี่เป็นวิธีที่ผมใช้ทำงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทำโรงเรียน ทำระบบโรงพยาบาล ทำเรื่องข้าว ก็จะใช้กรอบแบบนี้ในการทำงาน
อะไรคือนวัตกรรมการศึกษาของยุคนี้
การเรียนรู้นอกระบบ โควิดทำให้อนาคตวิ่งเข้ามาหาเราเร็วมากขึ้น ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเราจะไม่ต้องการการศึกษาในระบบ ไม่ใช่เพราะมันไม่ดี แต่เป็นเพราะมันไม่ตอบโจทย์อนาคตเราได้ เราแทบต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของคนทำงาน สมัยก่อนเราบอกว่าคุณต้องเก่งอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตหลังโควิดคือ จากเดิมที่คุณเป็นกัปตันเครื่องบินแต่ตอนนี้คุณอาจต้องทำหมูกรอบทอดด้วย แล้วถ้าทำแล้วคุณต้องทำให้ดีด้วย เพราะว่าก็จะมีคนทำหมูกรอบทอดไร้น้ำมันเต็มไปหมด งั้นผมคิดว่าคนที่ต้องการในอนาคตคือคนที่ adapt กับ adopt ได้ ซึ่งคนที่จะ adapt และ adopt ได้คือคนที่มาจาก informal learning เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ คนที่จะเห็น คนที่จะมอง คนที่หาโอกาสเจอ คือคนที่จะนิ่งๆ และเฝ้ามอง ช่างสังเกต ต้องมี curiosity หรือความอยากรู้ ซึ่งอันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เราไปต่อได้ แต่ถ้าทุกคนอยากทำแล้วแค่นั่งเปิดยูทูป ซึ่งเป็นการเปิดยูทูปที่คนดูล้านคน นั่นแปลว่าจะมีอีกล้านคนที่จะทำวิธีนี้ แล้วไม่มีทางเป็นนวัตกรรมได้ ก็เป็นเรื่องที่สนุกนะครับ ชีวิตหลังจากนี้ซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป