- “นึกออกมั้ยครับ…ถ้าเราอยากเป็นนักกอล์ฟ เราก็ซื้อไม้กอล์ฟ ซื้อลูกกอล์ฟมาตีกับกำแพง ซึ่งเราอาจใช้เวลา 5 ปีแต่อาจไม่ไปถึงไหน แต่ถ้าเรามีโค้ชที่มาสะท้อน มายืนมองเรา เราอาจลดเวลาเหลือ 2 ปี สิ่งที่ผมมองคือ นี่เลยเป็นที่มาของว่าหากเราสามารถสะท้อนกลับวิธีการเรียนรู้หรือ learning style ที่เฉพาะตัวของเขาได้ ทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและร่นระยะเวลาของเด็กได้”
- รู้จักกับ ‘Learning Analytic’ ระบบการวิเคราะห์สไตล์การเรียนเฉพาะบุคคล ทางลัดในการติดตั้งทักษะให้นักเรียน โดยนพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์
“สิ่งที่เราเชื่อคือ ทุกคนมี learning style ของตัวเอง ทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวแน่ๆ หน้าที่ของเรา คือ จัดองค์ประกอบในการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เค้าเป็น
“(…)แต่ข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะคือ มันต้องใช้เวลา แต่ถ้าเราเข้าใจ learning style ของแต่ละคน เราจะใช้เวลาน้อยมากเพื่อพัฒนาทักษะนั้น เช่น ถ้าเราอยากเป็นนักกอล์ฟ เราก็ซื้อไม้กอล์ฟ ซื้อลูกกอล์ฟมาตีกับกำแพง ซึ่งเราอาจใช้เวลา 5 ปีแต่อาจไม่ไปถึงไหน แต่ถ้าเรามีโค้ชที่มาสะท้อน มายืนมองเรา เราอาจลดเวลาเหลือ 2 ปี นี่เลยเป็นที่มาว่า หากเราสามารถสะท้อนกลับวิธีการเรียนรู้หรือ learning style ที่เฉพาะตัวของเด็กได้ ทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและร่นระยะเวลาของเด็กได้
“กระบวนการสำคัญ คือ การสะท้อนให้เห็น นี่จึงเป็นที่มาที่ของการเอาเทคโนโลยีมาวิเคราะห์และสะท้อนรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะของแต่ละคนให้ได้”
คือคำของนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์ ผู้ซึ่งหากเราเสิร์ชชื่อของเขาในเสิร์ชเอนจิ้นจะพบประวัติการทำงานหลากหลายและข้ามสายไปมา ตั้งแต่… นายแพทย์, บอร์ดบริหารทีมแพทย์เครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคตะวันออก และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำระบบข้อมูล (ไอที) ให้กับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก, ก่อตั้งบริษัท สุขสาธารณะ จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่ทำตั้งแต่การไปตะลุยท้องนาเพื่อให้เห็นชีวิตและวงจรการทำนา พัฒนาพันธุ์ข้าวลงลึกระดับยีน จนถึงคลินิกองค์รวมผสานตั้งแต่แพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพร และอาหารออร์แกนิก
ไม่เท่านั้น ก่อนจะเข้ามาลุยงานการศึกษาเต็มตัวด้วยตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสดศรีฯ นายแพทย์ก้องเกียรติยังสร้างโรงเรียนกาละพัฒน์ ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันว่า เด็กทุกคนไม่ได้มีปัญหาด้านการเรียนรู้ เพียงแต่ ‘เสื้อโหลไซส์เดียว’ ที่ตัดมาให้ทุกคนใส่ ไม่สามารถใช้ได้กับเรื่องการพัฒนาคน เรื่องการศึกษา ที่มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง
อันที่จริงในมุม ‘การเรียนรู้’ เราคงนั่งคุยกับนายแพทย์ก้องเกียรติได้เป็นวันไม่มีจบเพราะเขาเป็นคนประเภทที่…มองอะไรก็เป็นเรื่องการเรียนรู้ได้ แต่ไฮไลต์ (เด็ด) ที่เราอยากนำเสนอและประกาศให้ทุกคนรู้ (ว่าสิ่งนี้มันมีอยู่จริง!) คือเรื่อง Learning Analytic – ระบบ หรือ การวิเคราะห์การเรียนรู้เฉพาะตัว (Learning Style) เทคโนโลยีช่วยครูวิเคราะห์แผนการสอนว่า แผนการสอนที่ออกแบบมานั้น กำลังถ่ายทอดทักษะอะไรให้ผู้เรียน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ได้จริง ทดลองใช้งานจริงแล้ว และยังได้รางวัลในชุมชนการศึกษาใหญ่อย่าง British Educational Research Association สาขา Best EdTech Paper ในปี 2019 มาด้วย!
ตั้งต้นกันที่ระบบ Learning Analytic ก็จริงอยู่ แต่ตลอดบทความชวนอ่านชีวิต ความคิด การทำงานในประเด็น ‘การเรียนรู้’ ที่นายแพทย์ก้องเกียรติให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘การถ่ายทอดทักษะ’ ซึ่งสำหรับเขามันเป็นเรื่องยาก ใช้เวลา และต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและด้วยตัวเอง (มากๆ) ก่อนที่จะส่งต่อทักษะนั้นให้กับผู้เรียนต่อไป
จริงอยู่ที่เราอยู่ในยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะ’ เพราะเรารู้กันแล้วว่า มันไม่สำคัญว่าเราเรียนอะไร แต่เราทำอะไรได้กับสิ่งที่เรารู้ ซึ่ง ‘ทักษะ’ นี่แหละที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรา adapt และ adopt (ตามคำของนายแพทย์ก้องเกียรติ) นำความรู้ในเนื้อตัวไปทำงานในโลกยุคโควิด-19 ที่ทำลาย ‘ความมั่นคง’ แบบเดิมๆ ทิ้งไปสิ้น
ถ้าทักษะนี้สำคัญจริง ชวนกันมาคุยกันจริงจังอีกทีว่าคืออะไร โรงเรียนได้สร้างทักษะเหล่านี้หรือไม่ และเทคโนโลยีอะไรที่จะมาช่วยครูทำงานเรื่องนี้
โดยบทความจะขอแบ่งเป็น 2 ชิ้น ชิ้นแรกว่าด้วยเหตุผลที่ทำให้คุณหมอสนใจ ‘ทักษะ’ ที่มาจากประสบการณ์เรียนรู้ของตัวเขาเอง ชิ้นที่ 2 ว่ากันเรื่อง Learning Analytics ว่าคืออะไร ทำอย่างไร และจะช่วยเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคนได้จริงอย่างไร (อ่านที่นี่)
… อย่ารอช้า อ่านกันค่ะ 🙂
จากวงการแพทย์ถึงงานการศึกษา อะไรคือจุดเปลี่ยนทำให้คุณหมอเข้ามาอยู่ในวงการศึกษาคะ
มีสองสามประเด็นฮะ คือเมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่อาจารย์ของผม คือ คุณหมอธาดา ยิบอินซอยจะเกษียณ ท่านเกิดสนใจเรื่องการศึกษา เลยอยากไปดูงานที่โรงเรียนหลายที่ ตามประสาเนอะ…ผู้ใหญ่ไปเราก็ตามไป พอไปก็เลยได้เห็นโรงเรียนในรูปแบบใหม่ เช่น ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาใช้กระบวนการจัดการศึกษาแบบใช้ ‘ปัญหา’ เป็นฐาน หรือ Problem based และทำในจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศคือ บุรีรัมย์ ส่วนที่โรงเรียนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง ก็ใช้แนวคิด constructivism คือเอาแนวคิดโครงสร้างการจัดการต่างๆ ทางวิศวกรรมมาสอนเด็กในชนบท ตอนนั้นเลยเริ่มแปลกใจว่า เอ้อ…การศึกษามันมีความหลากหลายนะ ไม่ใช่โรงเรียนอย่างสมัยที่เราเป็นเด็กๆ
ประกอบกับตอนนั้นมีลูก เลยเกิดคำถามว่าจะเอาลูกไปเรียนที่โรงเรียนไหนดี ก็เลยเริ่มสนใจอ่านหนังสือต่างๆ แล้วตอนนั้นใครๆ ก็พูดว่าระบบการศึกษาฟินแลนด์ดีนะ เลยออกตังค์เองไปดูโรงเรียนและระบบการศึกษาที่ฟินแลนด์เลย ไปฟังหลายคนคนที่เขาออกแบบการศึกษา ทำนโยบาย พัฒนาระบบ จนถึงไปนั่งคุยกับครูที่โรงเรียน
อีกเรื่องคือ ตอนนั้นลูกอยู่อนุบาล 2 แล้วครูเรียกผมไปพบ บอกว่าลูกเป็นสมาธิสั้น เราก็ตั้งคำถามว่าเด็กที่สมาธิสั้นนั้นเป็นยังไง ครูบอกว่า ก็เด็กมีคำถามอยู่ตลอดเวลาและครูไม่สามารถจัดการให้เด็กอยู่นิ่งๆ ได้ ด้วยความที่เราเป็นหมอเนอะ เราก็เข้าใจว่าลูกเราไม่ได้สมาธิสั้น แต่ลูกเราเป็นเด็กที่อยากถามมากกว่า ตอนนั้นเลยตัดสินใจทำโรงเรียนขึ้นมาเลย
คือเมื่อไรที่เราอยากรู้ว่าอะไรคือปัญหา มันก็มีสองทางเลือก คือ จะเป็นนักเลงคีย์บอร์ดนั่งบ่นไปเรื่อยๆ หรือลุกขึ้นไปทำเลย ให้มันรู้ไปเลยว่าตกลงปัญหามันอยู่ที่ไหนบ้าง ก็เลยไปทำโรงเรียนกาละพัฒน์ขึ้นมาที่จังหวัดภูเก็ต จัดกระบวนการเรียนการสอน กิจกรรมภายในโรงเรียน โดยเอาความรู้ต่างๆ ที่มีมาประมวลกันแล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก สนุกมาก
เลยเป็นคุณหมอและคุณพ่อที่มาเปิดโรงเรียน
แล้วพอคนคิดว่า “หมอมาเปิดโรงเรียน” ก็จะมีผู้ปกครอง 2 กลุ่มที่ส่งลูกเข้ามา กลุ่มหนึ่งส่งมาเพราะอยากให้ลูกเป็นหมอ อีกกลุ่มหนึ่ง ส่งมาเพราะเด็กหลายคนมีปัญหามาจากการเรียนรู้ในระบบ จนกลายเป็นมีเด็กมีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Learning disorder) เช่น อยู่ป.2 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ได้ โรงเรียนกาละพัฒน์เลยเป็นที่รวมของ X-Men (ยิ้ม)
ตอนนั้นเลยเป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มมาทำความเข้าใจต่อกระบวนการเรียนรู้ของพวกเขาแต่ละคนๆ เลยเห็นว่า เอ้อ…จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้มีปัญหาในการเรียนนะ เพียงแต่การเดินทางของคนแต่ละคน จากจุด A ไปยัง B บางคนเดินตรงถึงเลย บางคนอาจเดินวนไปวนมา บางคนหยุดชมนก ชมไม้ แต่ถ้าเราใจเย็นพอ “ไว้ใจ” เขามากพอ เดี๋ยวเขาจะหาทางเดินไปจนถึงจุด B ได้เอง โดยที่เราเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ แต่ระบบการศึกษาของเราบังคับให้ทุกคนต้องเดินทางจากจุด A ไปยัง B ในเวลาเดียวกัน และต้องใช้เป็นเวลาเท่ากันด้วย
เลยเห็นว่าถ้าเราออกแบบการศึกษาให้เฉพาะตัวคนได้ เราน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กได้ ซึ่งก็เห็นผลจริงๆ ครับ เราจัดการดูแลเขาโดยใช้ความรู้ทั้งทางการพัฒนาการตามช่วงวัย จิตวิทยา และการจัดการเรียนรู้ จนก็เห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในการทำงาน
แต่เราเข้าใจนะ ที่โรงเรียนผมทำได้เพราะห้องหนึ่งมีนักเรียกแค่ 10 คนต่อครู 2 คน ทำงานง่ายมาก แต่ครูที่ต้องดูแลเด็ก 40 – 50 คน จะทำงานเรื่องนี้กันยังไง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ทดเอาไว้ว่า เราคงแก้ปัญหาได้ในกลุ่มเล็กและคนที่มีความรู้ความเข้าใจที่เอาใจใส่ได้จริงๆ แต่โรงเรียนในระบบโครงสร้างปกติ ครูอาจมีความสามารถในการวิเคราะห์แต่อาจไม่มีเวลามากขนาดนั้น
ทำโรงเรียนในฐานะผู้บริหาร แต่เข้าไปเห็น ไปสังเกต pain point พวกนี้จนคิดแก้ไขปัญหา ออกแบบการเรียนรู้จนพัฒนาการเด็กโอเคในที่สุด ทำยังไง
ถ้าเป็นภาษา design thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) คือ ทำ empathize (ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย) คือไปนั่งดู ไปนั่งสังเกต ดูว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งนี้ยังไง ที่โรงเรียนเราถูกออกแบบมาโดยใช้ความรู้ที่มีทั้งหมด เช่น ทางเดิน เราเทพื้นนะแต่เอาหินไปใส่เต็มเลย คือถ้าเดินเร็วหรือวิ่ง ล้มแน่นอน เพราะฉะนั้นตอนเช้าตอนที่ผู้ปกครองมาส่งเด็กๆ เข้าโรงเรียน เขาจะเดินแบบอ้อยอิ่งมาก แล้วข้างๆ จะมีต้นไม้ มีสระน้ำ เขาก็จะเดินชมนู่นชมนี่จนมาเข้าห้องเรียน
พอเข้าห้องเรียนเราก็จะมีกระบวนการทำจิตศึกษาพาไปเดินอีก คือที่โรงเรียนจะมีต้นไม้เยอะมาก เพราะเราไปได้ที่ที่เหมือนป่ารกร้าง เรียกว่าป่ามหัศจรรย์ มันก็จะเป็นกระบวนการคูลดาวน์ ถ้าภาษาทางการแพทย์จะเรียกว่าทำให้ BrainWave คลื่นสมองช้าลง เด็กก็มีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียน การจัดการเรียนรู้ เราก็จะเอาวิชาบางวิชามาไว้ตอนเช้า บางวิชาไว้ตอนบ่าย เราออกแบบพื้นที่ระดับอนุบาลให้เป็นสนามทรายขนาดใหญ่มาก เด็กเล่นกันเลอะเทอะ ดูสกปรก มอมแมมมาก แต่การเล่นเลอะเทอะ การเล่นดินเล่นทราย คือการระบายความเครียดของเด็กๆ เพราะเด็กไม่มีวิธีการระบายความเครียดอย่างอื่น พอเราจัดองค์ประกอบทั้งเรื่องกระบวนการ รูปแบบการเรียน และพื้นที่ การเรียนรู้มันก็เกิดขึ้น
สิ่งที่เราเรียนรู้ คือ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัย เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย เขาจะเรียนรู้ แล้วเราก็ใช้กระบวนการพัฒนาการของสมอง ล้อไปกับการเรียน เช่น เราเริ่มจากการฟัง ครูจะอ่านนิทานเยอะมาก นึกอะไรไม่ออกอ่านนิทานให้ฟัง พ่อแม่ทุกคนจะมีการบ้านให้อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน พออ่านนิทาน ก็เป็นการสะสมคำศัพท์ พอเขาสะสมคำศํพท์มากขึ้นเขาจะเริ่มพูด การพูดเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเด็กในการเข้าสู่สังคม เพราะเขาจะบอกความรู้สึกได้ ความอึดอัดจะหมดไป เพราะตอนที่เขาโตมาก่อนเข้าอนุบาล ในจักรวาลของเขามีเขากับแม่สองคน ไม่มีคนอื่น ฉะนั้นพอเขาอยู่กับคนอื่นมันก็เกิดพื้นที่ที่ต้องปะทะกัน ถ้าเขาไม่มีคำศัพท์ในการบอกความรู้สึก เขาก็จะทะเลาะ และรู้สึกไม่ปลอดภัย
หรือ ที่โรงเรียนเราจะมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น เสื้อนอนก็ต้องเป็นเสื้อที่ติดกระดุม กระบวนการเหล่านี้ทำให้ได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กบางคนกว่าจะเขียนได้ กว่าจะอ่านได้ก็ป.2 ซึ่งเราบอกผู้ปกครองว่าต้องใจเย็นๆ นะ มันไม่มีใครใช้นาฬิกายี่ห้อเดียวกันทั้งโรงเรียน ฉะนั้น เราต้องทำงานกับผู้ปกครองให้ไม่สามารถอวดลูกกับคนอื่นได้ว่าลูกฉันคัดก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกได้ แต่สุดท้าย เราจะพบว่าทุกคนไปด้วยกัน
แต่ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่เราเชื่อคือ ทุกคนมี learning style ของตัวเอง ทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวแน่ๆ หน้าที่ของเราคือจัดองค์ประกอบในการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเป็น
แปลว่าคุณหมอสนใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว แล้วยิ่งมีข้อมูลและประสบการณ์ที่ยืนยันว่าการพัฒนาการศึกษาต้อง ‘เป็นเรื่องเฉพาะตัว’
ใช่ครับ แต่สิ่งที่คาใจอยู่คือ แล้วเราจะสเกลหรือขยายผลยังไง? เพราะปัญหาการศึกษาไม่ได้เป็นปัญหาของแค่คนในพื้นที่โรงเรียนนั้นโรงเรียนเดียว แต่เป็นปัญหาของทั้งประเทศ หรือเผลอๆ เป็นปัญหาของทั้งโลก คำถามที่เกิดขึ้นคือ โอเคเราทำได้ เรามีความสุขละ เราจะสเกลยังไง
ก่อนจะมาเป็นเลขาฯ ที่มูลนิธิ ผมก็เป็นกรรมการมูลนิธิสดศรีฯ มาก่อน ก็ได้ฟังปัญหาและโจทย์การศึกษาต่างๆ เราพบว่าในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิก็พยายามปฏิรูปการศึกษามาตลอดโดยใช้กระบวนการการพัฒนาครู แต่สิ่งที่ผมเห็นและสะท้อนคือ มันไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง เราใช้พลังมาก เราใช้ทรัพยากรมากในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาครู ที่ผมคิดคือ แล้วกระบวนการที่นำไปสู่โรงเรียนนั้น มันผ่านการคิด ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้วหรือยัง?
ในฐานะที่ผมเป็นแพทย์ การจะให้ยาตัวหนึ่ง โอ้โห…กระบวนการมากมาย แต่พอมาเห็นระบบการศึกษา ประกาศไปว่า ‘ปีนี้เราจะทำเรื่อง’ แล้วก็โยนโครมลงไปโดยที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นยังไง ผมคิดว่ามันอาจมีสุญญากาศของความสูญเสียโอกาสไปเลย พอได้มีโอกาสเป็นเลขาฯ เลยพยายามจะหาวิธีว่าจะทำยังไงที่จะแก้โจทย์พวกนี้แล้วสามารถสเกลมันได้
แปลว่าคีย์เวิร์ดคือ การสเกลหรือขยายผล โดยใช้เทคโนโลยี?
ผมไปปรึกษาคุณหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิสดศรีฯ) ท่านเป็นจิตแพทย์ แกก็บอกให้ไปดูสตาร์เทรค (Star Trek) ไปดูกัปตันเคิร์ก (เจมส์ ที เคิร์ก) ก็เลยได้ความคิดว่า เออใช่… ถ้าเราอยากไปข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหาต้องใช้ยานยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรซ์ เราต้องหาวิธีวาร์ป (warp) ไป เราจะมานั่งทำง้องแง้งๆ ทีละเรื่องๆ เทรนด์ครูทีละไม่กี่คน มันคงไม่ได้ ก็เลยคิดว่าเราจะเอาเทคโนโลยีอะไรที่จะมาช่วยในการแก้ปัญหา
แล้วทำไมถึงตั้งต้นด้วยเทคโนโลยี
เพราะเป็นวิธีเดียว ถ้าต้นทุนมีแค่นี้ และยังมีเรื่องให้แก้อีกเยอะมาก และถ้าต้องการแก้อย่าง ‘ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้’ เทคโนโลยีน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการศึกษา
เราตั้งประเด็นกันว่าเราอยากทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษา เราก็มาจับประเด็นกันว่า ทำยังไงเด็กถึงจะเท่าเทียมได้ ทั้งแง่ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ อย่างความรู้ เด็กต่างจังหวัดแพ้เด็กกรุงเทพฯ แน่นอนเพราะเขาไม่มีครูติว ไม่มีครูสอน แต่ปัจจุบันดีขึ้นตรงที่ว่ามันมีออนไลน์ มียูทูป มีนู่นนี่นั่น แต่สิ่งที่เด็กต่างจังหวัดอาจมีโอกาสเหนือกว่าเด็กกรุงเทพฯ คือ ทักษะ ถ้าเราทำให้เขามีทักษะการเรียนรู้ หรือทักษะต่างๆ ได้ เขาน่าจะชนะ นี่คือสิ่งที่พวกเราคิด ซึ่งไม่นับรวมว่าเด็กทุกคนควรได้ทักษะด้วยไม่ใช่แค่ความรู้อย่างเดียว
แต่ข้อจำกัดของการพัฒนาทักษะคือ มันต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจ learning style เราจะใช้เวลาน้อยมากเพื่อไปให้ถึงทักษะ
นึกออกมั้ยครับ…ถ้าเราอยากเป็นนักกอล์ฟ เราก็ซื้อไม้กอล์ฟ ซื้อลูกกอล์ฟมาตีกับกำแพง ซึ่งเราอาจใช้เวลา 5 ปีแต่อาจไม่ไปถึงไหน แต่ถ้าเรามีโค้ชที่มาสะท้อน มายืนมองเรา เราอาจลดเวลาเหลือ 2 ปี สิ่งที่ผมมองคือ นี่เลยเป็นที่มาของว่าหากเราสามารถสะท้อนกลับวิธีการเรียนรู้หรือ learning style ที่เฉพาะตัวของเขาได้ ทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและร่นระยะเวลาของเด็กได้
อย่างผม ผมจบแพทย์มาได้ด้วยความลำบากมากเพราะผมเป็นคนฟังคนไม่รู้เรื่อง เวลาอาจารย์ฉายสไลด์ ผมก็… (ทำหน้าหลับ) ไปพร้อมกับไฟที่ปิด นั่นคือสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้ผมจบมาได้คือ ผมรู้ว่าวิธีการเรียนให้ชนะของผมคืออะไร ผมรู้ว่าผมจะอ่านหนังสือยังไง สุดท้ายผมหาวิธีการจนผมไปในสิ่งที่ผมต้องการได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าทุกคนน่าจะรู้วิธีการเรียนรู้ของตัวเองอย่างงี้ได้ แต่คุณต้องเห็น ต้องรู้ ต้องตั้งคำถาม แปลว่ากระบวนการสำคัญคือการสะท้อนให้เค้าเห็น นั่นก็เลยเป็นที่มาที่ไปที่เราจะเอาเทคโนโลยีมาวิเคราะห์และสะท้อนกลับมาให้ได้
เคยฟังเรื่องการเรียนรู้ทักษะจากครูของคุณหมอ ซึ่งมันเห็นภาพการถ่ายทอดทักษะว่าเป็นเรื่องยากและใช้เวลา อยากให้ช่วยเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ
ตอนที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ ความใฝ่ฝันของนักเรียนแพทย์ผู้ชายคือ อยากเป็นหมอผ่าตัด เพราะ โห…พระเจ้า มันเท่อะ เท่มาก แต่ปัญหาที่สำคัญคือ อาจารย์ผมผ่าตัดเก่งมาก ผมยืนช่วยผ่าตัดอยู่ฝั่งตรงข้าม หน้าที่ของผมคือเปิดพื้นที่ให้อาจารย์มองเห็นได้ชัดที่สุด ส่วนผมจะถือกรรไกรไว้อันนึงเพื่อรอเวลาอาจารย์บอกว่า “ตัดไหม” แล้วผมก็ตัดไหม คำถามคือ ผมต้องยืนถือแบบนี้กี่ชั่วโมงถึงจะผ่าตัดเก่งเท่าอาจารย์? ผมเคยต้องช่วยผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจเด็กที่ผิดปกติ สิ่งที่ทำคือ ผมต้องอ่านหนังสือเยอะมากเพื่อจำภาพนั้นให้อยู่ในหัวแล้วก็ไปยืนช่วยแบบนั้นเหมือนเดิม เพราะไม่มีใครปล่อยให้นักศึกษาแพทย์ปี 6 ไปผ่าตัด คำถามคือ ผมต้องผ่าคนไข้กี่คนที่อาจต้องตายเพื่อให้ผมเก่ง?
ฉะนั้น การถ่ายทอดทักษะเป็นคำถามที่รบกวนจิตใจผมมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา เพราะเราแทบไม่รู้เลยว่าเราจะไปให้ถึงเป้าหมายอย่างคนนี้ได้ยังไง และเส้นทางนี้มันต้องมีคนล้มตายบาดเจ็บกันสักเท่าไร เราไม่สามารถจะทำนายได้เลย เพราะคนไข้ไม่ใช่รถยนต์ที่มาตามสายพานที่ผมมีหน้าที่ไขสกรูให้ทันเวลา ตรงเวลา แล้วผมจะเป็นคนที่เก่งมากเพราะสกิลเซ็ตซ้ำๆ แต่คนไข้จะเปลี่ยนไปตลอดเวลา
พอมาทำเรื่องการศึกษาก็เห็นปัญหา ตอนที่ผมทำโรงเรียน เราประกาศรับคนที่ไม่ได้จบครู เพราะเชื่อว่าเราอยากจะเห็นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าจะเห็นกระบวนการสั่งสอนนักเรียน เพราะคนที่มีฐานความรู้อยู่แล้วจะเริ่มด้วยการถ่ายทอดความรู้ หนักหน่อยคือสั่งสอน ซึ่งผมไม่คิดว่าเราจะเห็นปรากฎการณ์การเรียนรู้จากสิ่งนั้น เราอยากเห็นครูพัฒนาการเรียนรู้และรู้ว่าฉันจะถ่ายทอดให้กับเด็กยังไง
ผมสัมภาษณ์ครูคนหนึ่งเข้าทำงานที่โรงเรียน เขาบอกว่าตลอดช่วงชีวิตของเขาสอบคณิตศาสตร์แล้วตกตลอด เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจคณิตศาสตร์ ผมสัมภาษณ์เขาเสร็จผมขอให้เขาเป็นครูคณิตศาสตร์ เขาตกใจมาก เขาบอกว่า คุณหมอ…มันผิดรึเปล่า? เขาจบป.ตรีมาก็จริงแต่คณิตศาสตร์เป็นยาขมสำหรับเขานะ ผมก็ถามเขาต่อว่าทำไมเป็นยาขม เขาบอกว่าตอนเรียนเขาทำผิดแล้วครูในอดีตก็จัดการเขา มันเลยทำให้รู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่สนุก ไม่น่าเรียน ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แต่ผมก็ยังขอให้เขาเป็นครูคณิตศาสตร์
จากนั้นเราพยายามหาเครื่องมือ หาวิธีการ ซึ่งผู้ปกครองก็ต่อต้านเยอะมากเพราะรู้สึกว่าเขาไม่รู้คณิตศาสตร์แล้วคุณให้มาสอนคณิตศาสตร์ได้ยังไง? แต่เรามองว่า คณิตศาสตร์ในระดับป.1 – 6 มันไม่ได้มีเรื่องมหัศจรรย์อะไร นึกออกมั้ยครับ? มันไม่ใช่แคลคูลัสชั้นสูง ต้องทำอินทิเกรชันห้าชั้นหกตลบ แต่สิ่งที่พบคือ ครูออกแบบการเรียนรู้ให้ตัวเองก่อนจนเข้าใจแล้วถึงไปทำกับเด็ก เด็กจึงสามารถเรียนรู้กระบวนการนั้นได้ ถ้าเราตัดสินใจเอาครูที่เก่งคณิตศาสตร์ จบคณิตศาสตร์มาเขาอาจไม่เข้าใจว่าเธอไม่รู้เรื่องได้ยังไง มันง่ายแค่นี้
ผมเลยเป็นคนที่เชื่อว่าถ้าเราอยากถ่ายทอดทักษะ เราต้องรู้วิธีการได้มาซึ่งทักษะนั้น แล้วจึงจะบอกคนถัดไปหรือส่งต่อได้ว่า นี่ล่ะ…มันทำอย่างนี้ มันสำคัญมากที่เราต้องเห็นกระบวนการเหล่านี้ในครูก่อนจะไปถึงเด็ก
ความคิดที่ว่า ‘ครูถอดกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองก่อนแล้วค่อยถ่ายทอด’ มากกว่าการสอนสิ่งที่ครูเคยถูกสอนมา ได้มาตอนไหน
ส่วนหนึ่งอาจเป็นที่ตัวผม ผมเป็นคนที่คิดสั้น นึกอยากทำผมก็ทำโดยไม่กังวลว่าผมจะมีความรู้รึเปล่า อย่างตอนที่ผมทำระบบให้กับโรงพยาบาล ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่รู้ทุกอย่าง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเห็นเป้าหมายชัด เดี๋ยวเราหาทางเจอเอง บางครั้งความรู้ที่มีมากเกินไปมันรัดตัวเราครับ แล้วมันก็จะบอกว่า “เพราะฉันรู้ เธอจึงต้องเชื่อฉัน” และอาจเป็นที่ผมเองถูกสอนมาแบบนี้ด้วยนะ เนื่องจากผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ‘เกรดนิยม’ อันดับหนึ่ง ไม่ใช่ ‘เกียรตินิยม’ นะ ‘เกรดนิยม’ คือเกรด 2.2 มันเป็นเกรดของคนส่วนใหญ่ (ยิ้ม)
คือ เวลาอ่านเอกสารงานวิจัยกับอาจารย์ เราก็แปลความคิดของเราอย่างหนึ่ง แต่ผมโชคดีที่อาจารย์ไม่ได้บอกว่า “เฮ้ย ผิด” อาจารย์ผมจะบอกว่า “ผมอ่านอันนี้แล้วคิดแบบนี้… คุณลองอ่านดูใหม่นะ” อาจารย์ไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ผม แต่บอกวิธีคิดว่า เมื่ออ่านสิ่งเหล่านี้ อาจารย์เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าผมมองไม่เห็น สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ “ทำไมเขามีวิธีคิดแบบนี้นะ ทำไมเราถึงมองไม่เห็นภาพแบบนี้” แต่ถ้าอาจารย์ผมเก่งดุจเทพ แล้วบอกว่า “โห หมอ หมอช่างโง่จริงๆ คนทั่วไปเขายังอ่านรู้เรื่องเลย ทำไมหมอโง่แบบนี้ อ่านไม่รู้เรื่อง” ผมก็ไม่มีความอยากจะอ่าน นึกออกไหม? คือไปทีไรก็แพ้ทุกที ผมแพ้อยู่แล้วเพราะผมจ่ายเงินมาเรียนหนังสืออะ ถ้าผมรู้เท่าอาจารย์ผมจะมานั่งทำแมวตรงนี้ทำไม (หัวเราะ)
ทักษะอย่าง critical thinking (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ), decision making (การตัดสินใจ) พวกนี้ ถือว่าเป็นทักษะขั้นสูงและไม่สามารถบอกได้ว่าผิดหรือถูก มันแค่บอกว่า “ผมคิดแบบนี้ คุณคิดยังไง” เพราะงั้นจะเริ่มแลกเปลี่ยน pattern หรือ รูปแบบการเรียนรู้ระหว่างกันได้ อาจารย์ก็จะเห็นว่า โอเค…เขามีวิธีคิดหรือ ตรรกะ (logic) แบบนี้ วิธีที่จะยกระดับตรรกะ ก็ต้องท้าทายด้วยสิ่งนี้