- ท่ามกลางข้อมูลที่ยังไม่นิ่งซึ่งต้องตามกันวันต่อวัน สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์กำลังสับสนและอยากรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส คือ มันมีผลอย่างไรต่อเธอ ลูกในครรภ์ และอนาคตของเด็กๆ เมื่อคลอดแล้วจะเป็นอย่างไร
- ข้อมูลที่รวบรวมได้จากงานวิจัยล่าสุดพูดได้เบื้องต้นว่า ‘เป็นเรื่องดีมากกว่าเสีย’ ตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 ไม่ได้พัฒนาอาการไปสู่ขั้นวิกฤตมากเท่าที่กังวลกัน หรือมากเท่าผู้สูงอายุหรือคนที่มีความเสี่ยงเป็นทุนเดิม และมีเด็กแรกคลอดที่ติดเชื้อจากแม่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์พัฒนาสู่อาการร้ายแรง
- ส่วนสาเหตุการติดเชื้อของทารกในครรภ์ว่าติดโควิด-19 จากอะไรนั้นยังไม่ชี้ชัดตายตัว แต่รายงานล่าสุดคาดว่าอาจติดจากมดลูกของแม่ และยืนยันว่าแม้คุณแม่ที่ติดเชื้อแล้วก็ยังให้นมลูกได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลรายงานว่ามีการติดเชื้อผ่านน้ำนม
- ส่วนสิ่งที่คนตั้งครรภ์ต้องทำแน่ๆ คือ รักษามาตรการ social distancing อย่างเข้มข้น, ดูแลความสะอาด โดยเฉพาะการล้างมือให้บ่อย, และ อยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
Photo by Camila Cordeiro on Unsplash
หมายเหตุ: บทความนี้ใช้ข้อมูลเผยแพร่ภายในวันที่ 31 มีนาคม 63 ข้อมูลงานวิจัยโควิด-19 เปลี่ยนแปลงบ่อยและรวดเร็ว ควรติดตามและเลือกเชื่อจากเงื่อนไขของวันและเวลาที่เผยแพร่ข้อมูล
เจน จัดสัน (Jen Judson) คุณแม่อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ (ราว 8 เดือน) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Business Insider ว่า เธอกังวลกับการตั้งครรภ์และใกล้คลอดช่วงเวลาที่โคโรน่าไวรัสกำลังแพร่ระบาด ทุกคนต้องเข้มงวดกับมาตรการ social distancing ซึ่งแปลว่าในกำหนดคลอดราวเดือนเมษายน กรณีที่แย่ที่สุด… เธอต้องพาตัวเองไปโรงพยาบาลและคลอดลูกคนที่สองตามลำพัง
เธอกังวลไปสารพัด บางทีเธออาจติดโคโรน่าไวรัสไปแล้ว บางทีลูกของเธออาจถูกแยกออกไปทันทีหลังคลอด บางทีแพมเพิร์สหรืออุปกรณ์ดูแลเด็กอาจถูกกวาดหมดชั้นในห้างสรรพสินค้า และบางที เมื่อถึงกำหนดคลอดในช่วงเดือนเมษายน ข้อมูลการแพทย์ที่เธอได้รับวันนี้อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้วก็ได้
“เหมือนว่าฉันควบคุมอะไรไม่ได้เลย กังวลไปสารพัด มีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาตลอดทั้งการติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์และของทารก และยังกังวลไปอีกว่าเด็กที่กำลังเกิดมาเขาจะอยู่ในประเทศหรือโลกแบบไหนกัน” จัดสันให้สัมภาษณ์กับ Business Insider
ขณะที่ลอว์เรน แมคคอลลีย์ (Lauren McCauley) ผู้ช่วยทนาย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ (ราว 4 เดือน) ให้สัมภาษณ์ในบทความชิ้นเดียวกัน แสดงความกังวลไม่ต่างกันว่า “ฉันรู้สึกเหมือนว่า ฉันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับไวรัสนี้ สิ่งที่รู้ก็มีแต่ข้อมูลที่แย่ลงทุกวันๆ ช่วงเวลาหนึ่งบอกว่าหญิงตั้งครรภ์จะไม่เป็นอะไรหรอก ขณะที่สัปดาห์ต่อมา ผู้สื่อข่าวในราชอาณาจักรบอกว่าหญิงตั้งครรภ์ควรกักตัวอยู่บ้านอย่างน้อย 3 เดือน”
อย่างไรก็ตาม หากดูจากข้อมูลการแพทย์และการรายงานข่าว ณ ช่วงเวลานี้ยังคงเป็นไปในทิศทางบวก และสิ่งที่คนตั้งครรภ์ควรรู้ มีดังต่อไปนี้…
หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 ไม่ได้พัฒนาอาการไปสู่ขั้นวิกฤตมากเท่าที่กังวลกัน
แม้ระบบภูมิคุ้นกันของหญิงตั้งครรภ์จะอ่อนแอกว่าช่วงเวลาที่ไม่ได้ตั้งท้อง แต่หญิงตั้งครรภ์ก็ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงป่วยรุนแรงจากโควิด-19 มากเท่าผู้สูงอายุ หรือ คนที่มีความเสี่ยงเป็นทุนเดิมอย่างการเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
ดร. เจน แวน ดิส (Dr. Jane van Dis) ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช และผู้อำนวยการแห่ง Maven โทรเวชกรรม (Telemedicine คือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time) ให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ว่า…
“เป็นเรื่องจริงที่หญิงตั้งครรภ์ต้องเพิ่มความระมัดระวังและตื่นตัวต่อมาตรการรักษาระยะห่าง (social distancing) เพราะนี่คือหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกัน อย่างไรก็ตาม ฉันไม่คิดว่าหญิงตั้งครรภ์ควรวิตกมากเกินไป เพราะยังไม่มีข้อมูลว่าไวรัสจะโจมตีภูมิต้านทานในแบบเดียวกับที่โจมตีผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป”
รายงานจาก WHO สำรวจหญิงตั้งครรภ์ชาวจีน ที่ ‘สงสัยว่าติด’ และ ‘ติดแล้ว’ จำนวน 147 คน (ยืนยันว่าติด 64 คน, มีอาการเข้าข่าย 82, ไม่มีอาการ 1) พบว่ามีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แสดงอาการรุนแรง (severe) และมี 1 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการวิกฤต (critical)
แต่… หญิงตั้งครรภ์ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อและอาจเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจ อย่างที่มักเกิดในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดของโรคซารส์ เช่นนี้ หญิงตั้งครรภ์จึงถูกนับเป็นคนกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังเป็นพิเศษในวิกฤตโควิด-19 ด้วย
แวน ดิส แนะนำว่าสิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องทำช่วงนี้คือการเข้มงวดกับมาตรการ social distancing (ถ้าเป็นไปได้ควรมีคนช่วยเหลือในการออกไปจับจ่ายซื้อของใช้จำเป็น ไม่ควรไปเอง) ให้ความสำคัญกับสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงคนที่มีอาการป่วยทุกกรณี
แม้กระทั่งการพบผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ระหว่างฝากครรภ์ก็ควรเป็นไปอย่าง ‘เสมือนจริง’ อย่างบริการของโทรเวชกรรมปัจจุบันในที่สามารถทำได้ หรือพูดอีกอย่างนึงว่า คุณแม่อาจใช้แพลตฟอร์ต่างๆ เชื่อมผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ นักผดุงครรภ์ doula (นักวิชาชีพที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อช่วยผ่อนคลาย หรือบรรเทาความเจ็บปวดให้แก่คุณแม่ในระหว่างการคลอดบุตร) ผู้ให้คำแนะนำด้านการให้นม และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ …หากเป็นไปได้ ก็ควรสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
มีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 อาจส่งต่อเชื้อให้กับทารกระหว่างอยู่ในครรภ์
เบื้องต้น รายงานของ Lancet วันที่ 16 มีนาคม 63 ระบุว่า ในทารกแรกคลอดจากหญิงตั้งครรภ์ชาวจีนเมืองอู่ฮั่น ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 9 คนนั้น มีเด็ก ‘หนึ่งคน’ ไม่พบการติดเชื้อ (ได้ผลลบ) ทั้งไม่พบเชื้อโควิด-19 ในน้ำนม น้ำคร่ำ และเลือดจากรก
ส่วนรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) เผยแพร่วันที่ 12 มีนาคม 63 นั้น ระบุว่า จากเด็กแรกคลอดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 34 คน ตรวจ ‘ไม่พบ’ การติดเชื้อของทารกเหล่านี้เลย
(แปลได้ว่า รายงานช่วงแรกๆ พบว่า ในทารกแรกคลอดที่เกิดจากแม่ซึ่งได้รับเชื้อโควิด-19 นั้น มีทั้งที่ติดและไม่ติดเชื้อ แต่แน่ชัดว่าไม่พบเชื้อในน้ำนม น้ำคร่ำ และเลือดของทารก – กองบรรณาธิการ)
อย่างไรก็ตาม รายงานสามชิ้นจาก JAMA วารสารการแพทย์ ตีพิมพ์วันที่ 26 มีนาคม จำนวน 3 ชิ้น สงสัยว่า ทำไมทารก ‘บางคน’ จึงตรวจพบว่าติดเชื้อ แม้จะมีมาตรการป้องกันหลังคลอดอย่างเข้มงวดก็ตาม
สองในสาม ของรายงาน JAMA นั้น ใช้สันนิษฐานเรื่อง ‘แอนติบอดี้’ (Antibody-โปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของสิ่งมีชีวิตสร้างขึ้นมา เพื่อกำจัดและทำลายแอนติเจนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย) ในเลือดของเด็กแรกเกิดเป็นมาตรวัด
อธิบายโดยสรุปว่า โคโรน่าไวรัสอาจจะแพร่ผ่านรกเด็ก และ ทำให้เด็กปรากฎอาการป่วยได้
“รายงานสองฉบับนี้แสดงหลักฐานว่า โควิด-19 อาจส่งต่อจากแม่สู่ทารกระหว่างอยู่ในครรภ์” ดร. เจสสิก้า เมดเดน (Dr. Jessica Madden) กุมารแพทย์และผู้ชำนาญการทารกแรกเกิด และผู้อำนวยการบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับให้นมบุตร Aeroflow Breastpumps กล่าว
เด็กแรกเกิดและทารกในครรภ์มีโอกาสติดเชื้อสูงที่สุด แต่เด็กทั่วไปกว่า 90% ไม่แสดงอาการ หรือ มีอาการแต่ไม่รุนแรง
แม้ทารก เด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่และในบางเคสก็อาการหนักและอาจส่งผลต่อชีวิต แต่เด็กทั่วไปจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้แสดงอาการ หรือ มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการคล้ายหวัด เหนื่อยล้า เจ็บคอ ไอ หายใจได้สั้นๆ
รายงานวันที่ 17 มีนาคม 2563 (การรวมตัวกันของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของประเทศจีน) สำรวจเด็กชาวจีนจำนวน 2,000 คน ที่ถูกระบุว่าติดเชื้อโควิด-19 พบว่า ทารกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนาอาการไปสู่ระดับรุนแรง (severe) และวิกฤต (critical) ที่สุด
- ทารกและเด็กแรกเกิด มีโอกาสพัฒนาอาการสู่ระดับรุนแรง 10 เปอร์เซ็นต์
- เด็กอายุ 1-5 ขวบ มีโอกาสพัฒนาสู่ระดับรุนแรง 7 เปอร์เซ็นต์
- เด็กอายุ 6-10 ขวบมีโอกาสพัฒนาสู่ระดับรุนแรง 4 เปอร์เซ็นต์
- เด็กอายุ 11-15 ปี มีโอกาศพัฒนาสู่ระดับรุนแรง 4 เปอร์เซ็นต์
- 15 ปีขึ้นไป มีโอกาสพัฒนาสู่ระดับรุนแรง 3 เปอร์เซ็นต์
แม้จำเป็นต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ แต่ยืนยันว่าเด็กๆ ยังคงกินนมแม่ได้
อาการของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 จะคล้ายกับอาการโรคทางเดินหายใจที่ทำให้คุณแม่มีอาการไม่สบายตัว
รายงานจาก Translational Prdiatrics วารสารวิชาการทางการแพทย์ ตีพิมพ์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 บอกว่า…
- 6 ใน 10 ของคุณแม่ชาวจีนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการหายใจได้สั้นๆ
- 2 ใน 20 มีไข้
- 2 ใน 10 มีผลตรวจมดลูกและตับเป็นปกติ
- 1 ใน 10 มีอาการอาเจียน
- 1 ใน 10 รายมีอาการช็อกและเสียชีวิต
แต่เหมือนกับรายงานทั่วไปในขณะนี้ที่กลุ่มตัวอย่างยังมีจำนวนน้อย ไม่มีทางระบุได้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของอาการและการเสียชีวิต จะเป็นเพราะโควิด-19 อย่างเดียว จากอาการแทรกซ้อนอื่นๆ หรือจากทั้งสองปัจจัยรวมกัน
แม้ปัจจุบันจะมีการคลอดทางเลือกหลายอย่าง เช่น คลอดใน birth center (ศูนย์ให้บริการการคลอดที่ไม่ใช่โรงพยาบาล มีความเฉพาะทางและดูแลคุณแม่อย่างเอื้ออาทรกว่าจากเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ (midwife) อ่านเพิ่มเติม ที่นี่) แต่เมดเดนให้ความเห็นอ้างอิงคำแนะนำของ CDC ว่าการคลอดที่โรงพยาบาลเป็นตัวเลือกที่ดีสุดเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อหลังคลอด เช่น การแยกแม่และเด็กทันทีหลังคลอด หรือ ควบคุมระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างแม่และเด็กราว 6 ฟุต
CDC ยังให้คำแนะนำว่าหลังคลอดแล้ว คุณแม่ให้นมลูกได้ เพราะยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อผ่านน้ำนม แต่สำหรับคุณแม่ที่ติดเชื้อแล้ว ให้ใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ-ปั๊มนมใส่ขวด จากนั้นให้คนอื่นเป็นคนให้นมบุตรแทน
ขอความช่วยเหลือสนับสนุนกัน
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานแน่ชัดว่าโคโรน่าไวรัสกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์และลูกอย่างไร และเพราะ ‘ไม่รู้’ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมคุณแม่จึงกังวล
กระนั้น การควบคุมความกังวลและสร้างเงื่อนไขการเสพข่าวของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดการ เรื่องนี้จูลี ไพค์ (Julie Pike) นักจิตวิทยาคลินิก ในชาเปลฮิลล์ นอร์ทแคโรไลนา ให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ว่า การรับข่าวสารล้นเกินโดยเฉพาะจากแหล่งข่าวที่ไม่รู้จริงและไม่มีการตรวจสอบ อาจทำให้เราขยายภาพความน่ากลัวของเรื่องราวและดูเบาความสามารถของตัวเองในการจัดการกับสถานการณ์ ซึ่งนี่คือสาเหตุนำไปสู่ความวิตกกังวลทุกข์ใจ
แต่หากรู้สึกว่า ‘เอาไม่อยู่’ การเข้าหานักจิตบำบัดมืออาชีพ ระบายให้เพื่อนฟัง หรืออันที่จริงก็ทั้งสองอย่าง คือสิ่งจำเป็น แม้จะอยู่ในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างต่อกันอย่างเข้มงวด แต่ก็มีเทคโนโลยีและตัวช่วยหลายอย่างให้เราส่งใจถึงกัน การหาสนับสนุนซัพพอร์ตกันได้หลายช่องทางจึงไม่ควรถูกเพิกเฉย
“มันจะมีอารมณ์หลายอย่างท่วมท้นในช่วงเวลานี้ บ้างเศร้าซึม บ้างรู้สึก และ อีกมากที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ แต่ให้รู้ไว้ว่า มันจะมีกลุ่มเครือข่ายที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจคุณเสมอ” แวน ดิส กล่าว