- ในวิกฤตโคโรน่าไวรัส มีเรื่องอะไรที่ชวนกันคุยในบ้านได้บ้าง? นี่คือ 5 ประเด็นจากโรคระบาดที่ผู้ปกครองชวนเด็กๆ พูดคุย ทำความเข้าใจ เพื่อไม่ทำให้วิกฤตครั้งนี้ลอยนวลโดยไม่สร้างการเรียนรู้ต่อกัน
- 5 เรื่องที่ผู้เขียนอยากชวยคุยคือ โคโรน่าไวรัสในประเด็นชีววิทยา สุขศึกษา จิตสำนึกสาธารณะ มนุษยธรรม และ สัจธรรมของโลก
ไวรัสโคโรนาคือสึนามิขนาดใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราทุกคนบนโลกใบนี้อย่างรวดเร็วจนแทบตั้งตัวไม่ทัน เป็นวิกฤติที่เท่าเทียมทั่วถึงอย่างไม่เลือกหน้า ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือการหยุดชะงักในกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการผลิต การจำหน่าย การบริการ การเดินทาง การท่องเที่ยว ฯลฯ พื้นที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนคือการอยู่กับบ้าน ลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ในวิกฤติมีการเรียนรู้ซ่อนอยู่เสมอหากเรามองหามันพบ จะดีไหม ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงวิกฤติครั้งนี้ให้กลายเป็นห้องเรียนและบทเรียนสำหรับเด็กๆของเรา เป็นการยืนยันว่าการเรียนรู้นั้นเป็นไปเพื่อเชื่อมโยงสัมพันธ์ตัวเองกับโลกและเกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลาได้ตลอดชีวิต
ห้องเรียนชีววิทยา
ในโลกของเรานี้ มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ด้วยมากมายทั้งที่มองเห็น เช่น คน พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อรา ฯลฯ บางอย่างเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แม้แต่ร่างกายของคนเราโดยเฉพาะในระบบย่อยอาหารก็มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อาศัยอยู่ ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งเชื้อร้าย กระตุ้นการย่อยอาหารและภูมิคุ้มกัน บางอย่างใช้ถนอมอาหารได้ เช่น หมักดอง ทำขนมปัง ผลิตเนย เป็นต้น
ส่วนไวรัสเล็กจิ๋วที่กำลังสร้างปัญหาให้มนุษย์เราอยู่นี้คือไวรัสโคโรน่า เมื่อเราได้รับเชื้อผ่านการสัมผัส หรือสูดละอองฝอย(จากการไอ จาม หายใจของผู้ติดเชื้อ)ที่ปะปนอยู่ในอากาศ มันจะแพร่ไปตามเซลล์เยื่อบุคอ ทางเดินหายใจ ปอด และผลิตจำนวนไวรัสเพิ่มในร่างกายของเรา จนทำให้ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
ห้องเรียนสุขศึกษา
เนื่องจากไวรัสโคโรนามีขนาดเล็กจิ๋วและไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา เวลาที่เราสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีการใช้ร่วมกัน หรือในพื้นที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได้ ปุ่มกดลิฟท์ ซึ่งอาจมีคนที่ติดเชื้อไปสัมผัสมาก่อน ทำให้มือของเราเป็นแหล่งรับเชื้อโรคตลอดเวลา เมื่อเราไม่ได้ระมัดระวังตัวเองมากพอ เผลอเอามือขยี้ตา แคะจมูก หรือสัมผัสใบหน้า จึงทำให้เชื้อโรคจากมือติดต่อมาสู่เราได้
แม้จะเป็นเชื้อร้ายทำลายสุขภาพ แต่ไวรัสโคโรน่าก็ถูกทำลายได้ง่ายมาก ถ้าเราหมั่นล้างมือด้วยสบู่เสมอ เช่น ล้างมือก่อนกินหรือสัมผัสอาหาร ก่อนสัมผัสใบหน้า เมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะที่ใช้ร่วมกับคนอื่น หลังใช้ห้องน้ำ หลังไอหรือจาม หลังทิ้งขยะ หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง ก่อนสัมผัสเด็กหรือผู้สูงอายุ
การล้างมือที่ดีคือการล้างด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที (หรือร้องเพลงช้างจบสองรอบ) เพราะมือเรามีรอยยับย่นหลายจุด การล้างมือให้นานพอ จะทำให้สบู่ชำระได้ทั่วถึง น้ำสบู่จะเข้าไปทำลายโปรตีนและไขมันที่เป็นเกราะป้องกันตัวของไวรัสโคโรนาให้แตกออกและหมดฤทธิ์ไปในที่สุด
ห้องเรียนจิตสำนึกสาธารณะ
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมเป็นกลุ่มสังคม ทุกสิ่งที่เรากระทำจะส่งผลกระทบต่อคนอื่นและโลกใบนี้ทางใดทางหนึ่งเสมอ ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีของการชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องการอยู่อย่างรับผิดชอบการกระทำของตัวเองในทุกเรื่องในชีวิต เช่น การไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด การลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน การใช้จักรยานในระยะเดินทางใกล้ๆ แทนการใช้รถ ฯลฯ
ส่วนในกรณีของโรคระบาดนี้ เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยไร้โรคได้ เช่น สวมหน้ากากอนามัย(ผ้า)เสมอเมื่อออกจากบ้านเพื่อลดการแพร่และรับเชื้อโรคจากการหายใจ พกผ้าเช็ดหน้า เมื่อไอและจามต้องปิดปาก หรือจามใส่ข้อพับศอกเพื่อลดการปนเปื้อนที่มือ(ซึ่งจะใช้หยิบจับพื้นที่สาธารณะร่วมกัน) และล้างมือล้างข้อศอกด้วยสบู่ทันที เมื่อไม่สบายต้องอยู่บ้าน ไม่ออกไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือไปในที่สาธารณะ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว พกพาภาชนะกินอาหารและน้ำของตัวเอง ลดการใช้สิ่งของร่วมกันเวลาที่ออกไปข้างนอก หรือแม้แต่ในบ้านทุกคนก็ควรมีชุดอาหารเฉพาะสำหรับตัวเอง
ห้องเรียนมนุษยธรรม
ในท่ามกลางวิกฤติใหญ่แบบฉับพลันทันที ทำให้หลายคนตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดแคลนสิ่งของจำเป็น เราอาจชวนลูกเรียนรู้เรื่องการแบ่งปันให้กับผู้อื่น เช่น การแบ่งปันอาหารสำหรับผู้ยากไร้ การเป็นอาสาสมัครช่วยทำเฟสชิลด์สำหรับบุคลากรการแพทย์ การแบ่งปันหน้ากากผ้าให้แก่ผู้ขาดโอกาสต่างๆ
สิ่งสำคัญของการแบ่งปันคือทำให้เด็กๆเรียนรู้สถานการณ์จริง เชื่อมโยงกับตัวเอง เชื่อมโยงกับคนอื่น เกิดความเห็นอกเห็นใจ และลงมือทำบางอย่างที่ทำได้อย่างไม่ดูดาย เพราะความเมตตาคือสิ่งค้ำจุนโลกและทำให้มนุษยชาติผ่านพ้นวิกฤติไปร่วมกันได้อย่างไม่ยากลำบากเกินไป
ห้องเรียนสัจธรรมของโลก
แม้อาจเป็นเรื่องยากสักหน่อยสำหรับเด็ก(ถ้าเล็กมาก) แต่การเชื่อมโยงความเข้าใจโลกและธรรมชาติตามความเป็นจริงได้ นี่คือโอกาสสำคัญของการเรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้ โควิดทำให้เรารู้ว่าทุกสิ่งนั้นเกิดขึ้นบนความไม่แน่นอน แม้บางอย่างที่เราเชื่อมั่นยึดถือว่าจะคงอยู่ตลอดไปก็ยังสูญสลายได้ในพริบตา ดังนั้น ทั้งพ่อแม่และเด็กๆอาจเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างรู้ตัวรู้ตน(มีสติ)มากขึ้น ใช้ชีวิตช้าลง ใคร่ครวญมากขึ้น เราอาจเริ่มมองเห็นได้ว่าความต้องการที่เป็นสิ่งสำคัญจริงแท้นั้นไม่ได้มากมายอย่างที่เราเคยคิดต้องการ
บางคนใช้วิกฤติเป็นโอกาสสร้างแหล่งอาหารในบ้านของตนด้วยการปลูกผักสวนครัว บางคนเรียนรู้เรื่องการทำอาหารกินเอง แม้ไม่คุ้นเคยสะดวกสบายแต่ก็สร้างแนวโน้มให้เราเห็นว่ามนุษย์ทุกคนสามารถอยู่อย่างพึ่งตนเอง ด้วยความพอเพียงเรียบง่ายได้ อาจทำให้เริ่มตระหนักว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ชีวิตบริโภคอย่างล้นเกินแค่ไหน มนุษยชาติได้ทำร้ายทำลายโลกมากมายเพียงใด ดังเห็นได้ชัดว่า เพียงแค่กิจกรรมของมนุษย์ชะงักลง สถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั่วทั้งโลกก็ดีขึ้นทันที อาทิ อากาศก็ดีขึ้น เพราะโรงงานหยุดทำงาน เครื่องบินงดเดินทาง น้ำทะเลใสขึ้น เพราะเรือหยุดเล่น คนหยุดท่องเที่ยว ส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลงอย่างน่าแปลกใจ
หากวิกฤติเหล่านี้ยืดเยื้อยาวนานเป็นปีสองปีดังที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์การระบาดเอาไว้ สิ่งเหล่านี้อาจนำมาซึ่ง “การสร้างมาตรฐานใหม่ในการใช้ชีวิต” (New Normal) ที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันและอยู่ร่วมกับโลกใบนี้ด้วยความเคารพนบนอบมากขึ้น และดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนได้ในท้ายที่สุด
เกี่ยวกับผู้เขียน วิรตี ทะพิงค์แก เป็นนักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ยังคงมีความสุขกับการเดินทางภายนอกเพื่อเรียนรู้โลกภายในของตัวเอง อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแม่ของเด็กชายวัย 10 ขวบ-ผู้มีจิตใจอิสระ ชอบความโลดโผนท้าทายในชีวิต เป็นเจ้าของผลงานนิทานชุดดอยสุเทพเรื่อง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ หนังสือเรื่อง ‘เตรียมหนูให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล’ โดย สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก และ ‘ของขวัญจากวัยเยาว์’ คู่มือสังเกตความถนัดของลูกช่วงปฐมวัย เคยทำนิทานร่วมกับลูกชายเมื่อครั้งอายุ 6 ปี เรื่อง ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’ |