- สุขภาวะที่ดี หรือ การรู้สึกดีและมีความสุขกับชีวิต จะเกิดเมื่อเราอยู่ในสภาวะที่มีอารมณ์เชิงบวก รู้สึกพึงพอใจกับชีวิต และสามารถใช้ชีวิตและปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้
- การสร้างสุขภาวะที่ดีเกิดขึ้นจาก ‘การพัฒนาจุดแข็งในตัวบุคคล’ และ ‘การพัฒนาชุมชนและสังคม’
- พูดง่ายๆ ก็คือ ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศ ต้องร่วมมือกันสร้างความอยู่ดีและมีสุขให้เด็กๆ
ชีวิตที่ออกแบบได้ เป็นความฝันของใครหลายคน ผู้คนแต่ละเจเนอเรชั่นเติบโตขึ้นมาท่ามกลางอุดมคติที่หล่อหลอมให้เกิดค่านิยมในการใช้ชีวิตแตกต่างกัน คนรุ่นก่อนอาจให้ความสำคัญกับ ‘ความมั่นคง’ และ ‘ระเบียบแบบแผน’ ขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งให้ความสำคัญกับ ‘ความอิสระ’ และ ‘การออกนอกกรอบ’ หรือแม้กระทั่งการมอง ‘ความเสี่ยง’ เป็นเรื่องของ ‘ความท้าทาย’ และเป็นเรื่อง ‘เร้าใจ’
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เชื่อว่าทุกเจเนอเรชั่นต่างต้องการมีชีวิตที่มี ‘สุขภาวะที่ดี’ (wellness)
‘สุขภาวะที่ดี’ เป็นคำกว้างๆ ที่ให้ความรู้สึกเชิงบวก แต่จริงๆ แล้วหมายถึงอะไร?
สตีเฟน เอ็ม. ชูลเลอร์ (Stephen M. Schueller) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิก เขียนไว้ในบทความวิชาการเรื่อง ‘Promoting Wellness: Integrating Community and Positive Psychology’ หรือ การส่งเสริมสุขภาวะ: การบูรณาการจิตวิทยาชุมชนและจิตวิทยาเชิงบวก ว่า
คนเราจะรู้สึกดีและมีความสุข เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีอารมณ์เชิงบวก (positive emotions) รู้สึกพึงพอใจกับชีวิต (satisfying) และสามารถใช้ชีวิตและปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้ (to function and adapt to the environment)
สอดคล้องกับที่ โครีย์ คีเยส (Corey Keyes) นักสังคมวิทยาและนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้พัฒนาแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก ใช้คำว่า flourishing อธิบายถึงความงอกงามในชีวิต การใช้ชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดีว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัย 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ อารมณ์เชิงบวก (positive emotions) สุขภาพจิตเชิงบวก (positive psychological health) และกลไกทางสังคมเชิงบวก (positive social functioning)
นอกจากนี้ จิตวิทยาเชิงบวกยังให้ความสำคัญกับ การสร้างจุดแข็งและคุณธรรม ที่ช่วยให้บุคคล ชุมชนและองค์กรต่างๆ เติบโตไปในทางที่ดีขึ้นได้
The Potential เคยพูดถึงการสร้างคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง ด้วยคุณลักษณะที่ดี 24 ข้อ เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักตัวเอง และสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างตรงจุด โดยอ้างอิงผลการสำรวจและการประเมินจาก The Values in Action (VIA) Project
ในกรณีนี้คุณลักษณะที่เป็นจุดเด่น 5 ข้อ (signature strengths) ของแต่ละบุคคลที่ได้จากการประเมินผลผ่านการสำรวจในโครงการ VIA มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสุขภาวะที่ดีได้ เพราะนอกจากทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักจุดแข็งของตัวเองแล้ว ยังเป็นโอกาสให้พวกเขานำจุดแข็งนี้ไปสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นและชุมชนที่อาศัยอยู่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเมื่อชุมชนพัฒนาไปในทางที่ดี คนในชุมชนก็จะมีความพึงพอใจและมีความสุข
ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะที่ดี?
สาเหตุที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เริ่มต้น นั่นเป็นเพราะเด็กสามารถรับรู้และสัมผัสถึงสภาพอารมณ์ทั้งบวกและลบได้ตั้งแต่อายุราว 6 เดือน การเชื่อมต่อของระบบประสาทจะถูกสร้างขึ้นตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายนอก สภาพอารมณ์ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็กในช่วงแรกเกิด จึงมีผลต่อการสร้าง ‘การเรียนรู้ทางอารมณ์’ ของเด็กในระยะยาว
ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีปัญหา มีการทะเลาะเบาะแว้งและใช้กำลัง เด็กจะซึมซับสภาวะทางอารมณ์ผ่านโทนเสียงและความรู้สึกที่ถ่ายทอดจากบุคคลรอบข้าง ทำให้เกิดความหวาดกลัวและหวาดระแวง หรือส่งผลต่อสภาพจิตใจ จนกลายเป็นปมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบเมื่อโตขึ้น
หรือ
หากทารกได้รับสัมผัสที่ดีจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ความรู้สึกที่ส่งผ่านสัมผัสจะมีผลต่อการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจในวัยผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น หากได้รับสัมผัสที่สื่อสารถึงความรู้สึกที่ดี เด็กก็จะเติบโตขึ้นมีมุมมองและความรู้สึกในแง่ดีต่อตัวเองและต่อผู้อื่น (optimism)
แล้วจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?
การสร้างสุขภาวะที่ดีเกิดขึ้นได้จาก ‘การพัฒนาจุดแข็งในตัวบุคคล’ รวมทั้ง ‘การพัฒนาชุมชนและสังคม’ ไปพร้อมๆ กัน
ระดับบุคคลเริ่มต้นได้ด้วยการส่งเสริมและโน้มน้าวให้คนแต่ละคนหันมาสนใจดูแลตัวเอง และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุข
ส่วนในระดับชุมชนอาจต้องอาศัยภาคการเมืองและภาคสังคมเข้ามาช่วยจัดสรร เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย เพื่อให้คนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง รวมถึงการที่กลไกทางสังคมได้เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อให้สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การเข้าถึงการศึกษา และการรักษาพยาบาล การส่งเสริมให้มีการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายคนรักสุขภาพในชุมชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งหมดจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคล ครอบครัว รวมทั้งสถานที่ทำงาน โรงเรียน หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ทั้งด้านการศึกษา การสร้างความสัมพันธ์ สุขภาพ และนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นสิ่งที่จิตวิทยาชุมชน (community psychology) ให้ความสนใจ
บทความหัวข้อ ‘Promoting Child and Family Wellness: Priorities for Psychological and Social Interventions’ หรือ ‘การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในเด็กและครอบครัว: สิ่งสำคัญของการสนับสนุนทางจิตวิทยาและทางสังคม’ ตีพิมพ์ใน Journal of Community & Applied Social Psychology กล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการสนับสนุนสุขภาวะที่ดีของเด็กและครอบครัวอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงจิตวิทยาและทางสังคม
ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ ให้ความสำคัญกับ ‘การสนับสนุนทางสังคม’ (social interventions) เพราะสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชน ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสภาพสังคมที่อยู่อาศัย
เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เสียสละเวลาให้ความสนใจเลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิด เด็กจะค่อยๆ พัฒนาความสามารถขึ้นมาตอบสนองและส่งเสริมให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่จะดียิ่งขึ้นหากสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล
ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสามารถออกนโยบายด้านสวัสดิการของเด็กและครอบครัว สนับสนุนงบประมาณให้ผู้ปกครองใช้ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งอาจให้ในรูปแบบของเงินสดหรือการลดหย่อนภาษี การช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน หรือ การให้วันหยุดลายาวสำหรับแม่ที่เพิ่งคลอดลูก และอาจหมายถึงการสนับสนุนที่ไม่ใช้เงินงบประมาณ แต่เป็นการสนับสนุนทรัพยากร หรือการรวมกลุ่มทำประโยชน์ โดยจัดให้มีพื้นที่ทางสังคม การมีศูนย์เยาวชนที่เยาวชนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมและฝึกฝนพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
เห็นได้ว่าการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นกับชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่แรกเกิด และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาด้วยปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ สภาพสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม แต่ในเมื่อชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ หากใครสักคนต้องเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแต่ทางตัน แต่ถ้ามีพื้นที่ และโอกาสที่สังคมคอยสนับสนุน ก็คงเป็นหน้าที่ของเราในการหาทางออกให้กับตัวเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง ‘อยู่ดีและมีสุข’
หมายเหตุ: โดยทั่วไปแล้วสุขภาวะที่ดี มักหมายรวมถึง การมีสุขภาพร่างกายและจิตใจในเชิงบวก แต่สำหรับงานวิจัย ‘Promoting Wellness: Integrating Community and Positive Psychology’ โดย สตีเฟน เอ็ม. ชูลเลอร์ (Stephen M. Schueller) ที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้ ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาวะทางใจ (psychological wellness) เชิงบวกเป็นพิเศษ เพราะการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลนั้นจะมีสุขภาพจิตที่ดีเสมอไป แต่แน่นอนว่าทั้งสองส่วนสามารถส่งเสริมกันและกันได้ ในภาพรวมหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะอีกด้านหนึ่ง |