- TEP FORUM SISAKET งานสัมนาวิชาการระดับจังหวัด ที่คนในแวดวงการศึกษาและภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ในจังหวัด ตบเท้าเข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการปฏิบัติการทั้งในส่วนนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่อง และการจัดการเรียนรู้แนวทางการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ที่จะเชื่อมโยงกับโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้
- โรงเรียนนำร่อง 118 แห่งที่เป็นแกนนำในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงลึก (Active Learning ) ผ่าน 7 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรม (Mentor) เป็นผู้ออกแบบวางแผนพัฒนาและติดตามให้คำปรึกษา (Coach) ในระดับโรงเรียนและห้องเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะเลือกนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ตรงกับบริบทของตนเอง
“ประเทศไทยจะไม่สามารถขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพได้ หากเราไม่ต่อยอด พัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ผมเห็นความหวังในวันนี้ ถึงแม้จะเป็นช่วง 1-2 ปีที่เราได้ทำงานในพื้นที่นวัตกรรม แต่เป็น 1-2 ปี ที่เป็นประโยชน์ในการวางรากฐานให้กระทรวงศึกษาธิการ (…)
“เราต้องเอาโอกาสเหล่านี้ หรือเรื่องต่างๆ ที่อยู่ใน พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาผลักดันแล้วใช้ให้เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องปลดล็อกกฏระเบียบต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาได้(ให้)เป็นอิสรภาพตามระบบพื้นที่ของจังหวัดของโรงเรียนนั้นๆ หากเราทำอย่างนั้นได้ เรามีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความเข้าใจในการที่เราอยากขับเคลื่อนในบริบทของโรงเรียนเราเอง มีคุณครูที่มีความเข้าใจและพร้อมจะปรับเปลี่ยนการพัฒนาตัวเองให้ทันกับศตวรรษที่ 21 มีนักเรียนที่มีความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อม เป็นนักเรียนที่พร้อมเปิดรับในสิ่งที่เหมาะสมกับการเดินไปข้างหน้า ผมรับรองเลยครับว่า ถ้าเรากล้าปลดล็อก กล้าเดินไปในสิ่งที่เราอาจไม่คุ้นเคย โดยมีความตั้งใจที่ดีเหมือนจังหวัดศรีสะเกษที่กำลังทำอยู่ในพื้นที่นวัตกรรม ผมรับรองว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาการศึกษาให้เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศได้”
คือคำกล่าวของณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บนเวที “TEP FORUM SISAKET: พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังคนศรีสะเกษ” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ
TEP FORUM SISAKET คืองานสัมนาวิชาการระดับจังหวัด ที่คนในแวดวงการศึกษา และภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ในจังหวัด ตบเท้าเข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการปฏิบัติการทั้งในส่วนนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่อง และการจัดการเรียนรู้แนวทางการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ที่จะเชื่อมโยงกับโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ได้ จากการเปิดพื้นที่นำร่อง กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องปฏิรูปการศึกษาที่คนในพื้นที่เป็นผู้ออกแบบเอง จากการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา*
จังหวัดศรีสะเกษ เป็น 1 ใน 8 จังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เริ่มจากกลุ่มคนมีใจภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคสังคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า การจัดการศึกษาของประเทศและของจังหวัดศรีสะเกษถึงเวลา “ต้องเปลี่ยน” และได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานโดยมีหมุดหมายสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้คนศรีสะเกษได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาจังหวัดมาเป็นเวลากว่า 2 ปี
โดยงาน TEP FORUM SISAKET จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือ 25-26 กันยายน ที่ผ่านมานั้น เป็นความร่วมมือของจังหวัดศรีสะเกษ และภาคีในพื้นที่ ประกอบ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หอการค้าศรีสะเกษ และองค์กรภาคีภายนอก อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีการศึกษาไทย (TEP)
ในส่วนของผู้เข้าร่วมเรียนรู้นั้น ประกอบด้วย ผู้บริหารและครูจากโรงเรียนนำร่อง จำนวน 118 โรงเรียน ภาคีการเรียนรู้ในจังหวัด นักศึกษาคณะคุรุศาสตร์ สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ แล้ว ยังได้เชิญ ภาคีการเรียนรู้ร่วมเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รวมทั้งผู้แทนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล และจังหวัดระยอง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ที่เคลื่อนโดย ‘ฐานทุน’ คืออะไร?
เสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผู้อำนวยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 อธิบายว่า ก่อนที่จะเริ่มออกแบบการปฏิรูปการศึกษา ทีมงานได้ทำประชาพิจารณ์จากคนในพื้นที่หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ว่าต้องการเห็นคนศรีสะเกษมีคุณลักษณะอย่างไร มีทักษะและมีอาชีพแบบไหน และจังหวัดมีฐานทุนอะไรที่เกื้อหนุนหรือเป็นโอกาสให้คนได้เรียนรู้ ต่อยอดพัฒนาตัวเอง และพัฒนาจังหวัดได้ ซึ่งในที่สุดก็ได้นำข้อมูลมาร่วมกันจัดทำเป็นกรอบหลักสูตรการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ ในชื่อ SISAKET ASTECS มาจากตัวย่อคือ
- ORGANIC AGRICULTURE เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า
- WORLD CLASS SPORT กีฬาก้าวไกล
- CREATIVE TOURISM ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
- INNOVATIVE ENTREPRENEUR นวัตกรประกอบการ
- CULTURE DIVERSITY ร่ำรวยวัฒนธรรม
- SISAKET SPIRIT จิตวิญญาณศรีสะเกษ
โดยทุกตัวย่ออักษรภาษาอังกฤษ คือ เป็นคุณลักษณะ และทักษะอาชีพของคนศรีสะเกษ ซึ่งมาจากฐานทุน และศักยภาพของจังหวัด ซึ่งจะเป็นเสมือนตัวกำกับทิศทางในการพัฒนาคนศรีสะเกษเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งกรอบหลักสูตรนี้ทางจังหวัดจะได้ประกาศให้โรงเรียนนำไปประกอบการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ เชื่อมลงไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมี ทักษะ ความรู้ เจตคติ และสมรรถนะ ให้กับนักเรียนในโรงเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
“ตอนที่สอบถามความเห็น ปรากฎว่าหลายฝ่ายบอกว่านักเรียนเรามีคุณลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ฝ่ายธุรกิจหรือกลุ่มคนทำงานต้องการ ถ้าอย่างนั้นเขาต้องการคนแบบไหน? เราก็เก็บข้อมูล ทำงานเชิงวิจัย สัมภาษณ์ความคิดเห็น ทำโฟกัสกรุ๊ปกลุ่ม แล้วพิจารณาจากฐานทุนที่ศรีสะเกษมี เรามีเรื่องเกษตรกรรม เราถูกประกาศให้เป็นสปอร์ตซิตี้ หรือฐานทุนทางวัฒนธรรมจังหวัดซึ่งเรามีคน 4 เผ่า คือส่วย ลาว เขมร เยอ เรามีการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงเกษตรกรรม จากฐานทุนทั้ง 5 อย่าง ก็นำมากำหนดเป็นทิศทางเมืองศรีสะเกษและกำหนดเป็นสมรรถนะที่คนศรีสะเกษควรมี แต่จะทำยังไงให้ไปถึงตรงนั้น นั่นก็คือ การสร้างกรอบหลักสูตร”
7 นวัตกรรมจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนำร่อง
ในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีโรงเรียนนำร่องจำนวน 118 แห่ง ที่เป็นแกนนำในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงลึก (Active Learning ) ผ่าน 7 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรม (Mentor) เป็นผู้ออกแบบวางแผนพัฒนาและติดตามให้คำปรึกษา (Coach) ในระดับโรงเรียนและห้องเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะเลือกนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ตรงกับบริบทของตนเอง ดังนี้
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงระบบ ใช้จิตศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) และการสร้างชุมชนการเรียนรู้ของครู (Professional Learning Community) เพื่อพัฒนาผู้เรียน
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL)
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Education) จัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้ง 3 ด้าน คือ Head (การพัฒนาความรู้ที่จำเป็น) Heart (การพัฒนาคุณค่าภายใน) Hand (การพัฒนาทักษะที่สำคัญ)
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพาะพันธุ์ปัญญา (Research Based Learning) การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด (Development of Learning Design of Teachers using Lesson Study and Open Approach)
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ มอนเตสซอรี (Montessori) สำหรับระดับอนุบาล
- นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ การสอนแบบโครงการ (Project Approach) ใช้โจทย์จากชีวิตจริงของผู้เรียนเป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
โดยแต่ละนวัตกรรมจะมีเมนเทอร์มาเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละแนวทางเพื่อพัฒนาเด็กให้มีสมรรถนะดังที่คาดหวังได้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) จ.ศรีสะเกษ ได้เลือกนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based Learning : BBL) มาพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน คิด โดยใช้กุญแจ 5 ดอกคือ 1) สนาม ฺฺBBL เพื่อเพิ่มสารแห่งความสุขให้สมอง เพื่อให้สมองจดจำและเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น 2) ห้องเรียนกระตุ้นสมอง เป็นการจัดห้องเรียนให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อให้เด็กมีวินัย รู้จักบทบาทหน้าที่ และสามารถทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ได้ 3) กระบวนการเรียนรู้ BBL ซึ่งมีการบริหารสมอง (Brain gym /Brain break) ให้เด็กอยากเรียน เห็นความหมายของสิ่งที่เรียนรู้ โดยครูจะนำเสนอความรู้ให้เด็กเห็นภาพ เปิดโอกาสให้เด็กลงมือฝึกปฏิบัติ พร้อมทั้งสรุปความรู้ด้วยตนเอง และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวันได้ 4) หนังสือและใบงาน ต้องทำให้เด็กเห็น Pattern และประเด็นสำคัญของสิ่งที่กำลังเรียนรู้ 5) สื่อและนวัตกรรมที่กระตุ้นสมอง ช่วยให้เด็กสนใจและเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ได้เร็วขึ้น ในหนึ่งปีที่บริหารพาโรงเรียนพลิกโฉมการจัดการเรียนรู้ นำสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้ ครู เข้าใจศาสตร์สมอง เข้าใจพัฒนาการของเด็ก จนเกิดแรงบันดาลในใจและเห็นความหมายของการเป็นครู ทำให้เกิดพยายามเขียนแผนการสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ทำให้เด็กๆ อยากมาโรงเรียนและตั้งใจเรียน สามารถแก้ปัญหาการอ่านออก เขียนได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์
ด้านโรงเรียนบ้านปะทาย อ.กัณทรลักษณ์ โรงเรียนนำร่องนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงระบบ ด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL (Problem Based Learning) และ PLC (Professional Learning มาแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้เรียนที่ไม่สนใจเรียนรู้ หนีเรียน ขาดเรียน นายสมศักดิ์ ประสาร ผู้บริหารโรงเรียนกล่าวว่า “… เมื่อ 8 ปี ที่แล้วผมเห็นว่า การจัดการเรียนรู้แบบเดิมไม่ตอบโจทย์ความต้องการ และพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ จึงแสวงหานวัตกรรมมาปรับเปลี่ยน ซึ่งได้ไปเรียนรู้กับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแล้วเห็นว่า แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาปัญญาภายในด้วยจิตศึกษา และจิตวิทยาเชิงบวก กับการเรียนรู้แบบหน่วยบูรณาการโดยใช้ปัญญหาเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะ น่าจะตอบโจทย์ เรากลับมาเปลี่ยนทั้งระบบทันที ครูเปลี่ยน สร้างความไว้วางใจ ให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ผลทุกวันนี้พิสูจน์ได้ เด็กเราอ่านออกเขียนได้ เด็กทำโครงการได้ สรุปความรู้ได้ กล้าแสดงออก ผลโอเน็ตก็ค่อยๆ ขยับในระดับที่เราพอใจ ได้รับการยอมรับ เป็นวิทยากร ทำหน้าที่เป็นศูนย์ขยายผล (Node) ได้ช่วยโรงเรียนเครือข่ายทำตามแบบเราได้ บทเรียนสำคัญของผม คือ การจะทำให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้บริหาร และครูต้องช่วยกัน”
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การร่วมมือของคนในและนอกพื้นที่
หัวใจหนึ่งของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดนำร่องต่างๆ คือการมีส่วนร่วมและออกแบบการศึกษา ที่มีทั้งคนในและนอกวงการ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกำหนดการเดินทางจากคนหลายกลุ่มอาชีพ
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงบทบาทของมูลนิธิในการสนับสนุนการทำงาน ว่าเข้าไปร่วมงานในฐานะ ‘มือที่สาม’ หรือ ‘ช่างเชื่อม’ เนื่องจากว่าพื้นที่นวัตกรรมคือการทำสิ่งใหม่ ปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่นำร่อง เมื่อไม่เคยทำมาก่อน ย่อมต้องการคนที่เข้าไปประสานงาน ชวนแต่ละภาคส่วนมาคุยเพื่อหาและพัฒนานวัตกรรม 3 อย่างคือ นวัตกรรมการจัดการศึกษาในโรงเรียน นวัตกรรมเชิงนโยบาย และนวัตกรรมการจัดการที่มาจากหน่วยปฏิบัติงาน (ครู ผู้บริหารในพื้นที่) รวมถึงการเป็นตัวกลางในการมองหาภาคีเครือข่ายและชักชวนให้ร่วมวงร่วมลุยงาน เช่น เชื่อมภาคเอกชนและหน่วยงานฝ่ายกำหนดนโยบายต่างๆ ให้มาเจอกัน และเชื่อมการทำงานของพื้นที่ระดับจังหวัดให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างเห็นหน้าเห็นหลังกันด้วย
“ในการทำงานข้ามสาย จำเป็นต้องมีคนทำงานประสาน ทั้งนวัตกรรมการจัดการศึกษา ไปอุดช่องว่างที่เคยประสานกันไม่สนิท รวมทั้งเข้าไปช่วยเปิดประตูหัวใจคนทำงานด้วย” ปิยาภรณ์กล่าว และว่า การเปิดประตูหัวใจก็คือไปชวนคนทำงานดูว่าที่เคยทำมามันดีแล้วยังไง จะพัฒนาต่อยังไง ทำงานมานานๆ แล้วหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า แล้วจะปลุกไฟปลุกใจคนทำงานอย่างไร รวมถึงการทำงานด้านองค์ความรู้ ชวนคนทำงานด้านการศึกษามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในวงการวิชาการให้อัปเดตอยู่เสมอ
ขณะที่รัฐวิทย์ อังคสกุลเกียรติ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ และประธาน YEC Sisaket (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) เล่าว่า ในฐานะภาคเอกชนหรือธุรกิจ ที่นอกจากจะเป็นปลายทางของการศึกษา ที่คนจบออกไปทำงาน รัฐวิทย์ ย้ำว่าเขายังเป็นประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เกิด เติบโต เล่าเรียน และทำธุรกิจที่นี่ ย่อมเห็นว่าปัญหา ความท้าทาย และการพัฒนาควรเป็นไปในทิศทางไหน การเข้ามาของภาคธุรกิจสำคัญและจำเป็นในแง่การได้มุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรากำลังอยู่ในยุค disruption ที่ต้องการทักษะคนทำงานรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาย้ำว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพราะเราประเมินเทรนด์การขับเคลื่อนด้านอาชีพของโลกด้วย
“การที่ภาคธุรกิจได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการศึกษา มันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ผมอยากเสนอว่าถ้าเราหวังอยากเห็นความแตกต่างมากกว่านี้ ขับเคลื่อนไปได้เร็วกว่านี้ เราต้องมีองค์ประกอบของคณะกรรมการภาคเอกชนเพิ่มเข้าไป จากที่ผมสัมผัส คนร่วมกำหนดนโยบายส่วนใหญ่เป็นข้าราชการซึ่งเป็นคนที่อยู่ในภาคการศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าเขามีความชำนาญและเข้าใจปัญหา เพียงแต่ผมคิดว่าการทำนวัตกรรม การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มันต้องมีความคิดนอกกรอบและหลากหลาย ต่างไปจากสนามการศึกษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สภาวัฒนธรรมและอีกหลายที่”
นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคมที่เข้ามาเป็นเครือข่าย คือ ปราณี ระงับภัย จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ดำเนินโครงการ Active Citizen สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนในศรีสะเกษทำโครงการเพื่อชุมชน (Project based learning) ในพื้นที่ที่เยาวชนอาศัยเพื่อเป้าหมายคือพัฒนาสมรรถนะของเด็กเองให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น เยาวชนที่ศึกษาเรื่องผ้าโซดละเวของชาติพันธุ์กวย เยาวชนที่ศึกษาเรื่องป่าชุมชน เยาวชนที่ศึกษาเรื่องสมุนไพรในชุมชน กระจายอยู่ในชุมชนเกือบทุกอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเธอและทีมงานทำหน้าที่เป็นโค้ชตลอดกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กทำโครงการ ตั้งแต่คิดประเด็นที่อยากทำโครงการ พัฒนาโครงการ ดำเนินโครงการ จนถึงขั้นการสื่อสารผลการทำโครงการในชุมชน ทำให้เธอมีทั้งองค์ความรู้ในการโคชเยาวชน มีเครือข่ายผู้รู้กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ และมีพื้นที่ตัวอย่างที่เยาวชนทำโครงการที่สามารถเปิดให้โรงเรียนไปใช้หรือเรียนรู้ในพื้นที่เหล่านี้ได้ ซึ่งเธอได้ขึ้นเวทีร่วมแชร์บทบาทของเธอในพื้นที่นวัตกรรมว่า…
การทำงานของกลุ่มโครงการจะใช้งานวิจัยชุมชนเป็นฐาน โดยให้เด็กเลือกทำโครงการที่ตัวเองสนใจผ่านโจทย์ชุมชน หน้าที่ของโหนดอย่างเธอคือการเสริมทัพ สนับสนุนการเรียนรู้ด้วยบทบาทโค้ช (ป้อนคำถามให้คิดและสนับสนุนอำนวยการเรียนรู้ตามแต่ที่เด็กต้องการ) นอกจากนี้ยังมี ‘ชาวบ้าน’ เป็นผู้ให้ความรู้ของเด็กๆ เป็นหลักในโครงการด้วย และแม้ว่าจะทำงานนอกห้องเรียนโดยปฏิบัติการบนฐานชุมชนเป็นหลัก แต่ก็สามารถจับมือกับโรงเรียนทำงานร่วมกันได้
ปราณีย้ำว่าโครงการนี้ทำงานกับเด็กที่ไม่จำกัดว่าจะอยู่ในโรงเรียนหรือไม่อยู่ในโรงเรียนก็ตาม เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องมีโอกาสเรียนรู้เท่ากัน
การเคลื่อนตัวเพื่อจับมือกันของหลายฝ่ายทั้งคนในศรีสะเกษและทีมสนับสนุนจากภายนอกเพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพโรงเรียน คุณภาพการจัดการเรียนการสอน และสร้างเซนส์ความเป็นเจ้าของในการออกแบบและจัดการศึกษาว่าเป็นของพื้นที่ เหล่านี้ แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่ในวันนี้เมื่อได้มาเห็นทั้งระดับนโยบายในพื้นที่ ผู้บริหาร คุณครู และเครือข่ายในจังหวัดร่วมมือกันแข็งขัน รวมถึงตัวอย่างการจัดการศึกษาที่พัฒนาอย่างมาก และเป็นการศึกษาที่มีหลักชัยชัดเจนว่าจะพาเด็กไปถึงจุดไหน ให้มีสมรรถนะอะไร ก็ทำให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นไปได้
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษาขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา นำร่องกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ลดความเลื่อมล้ำ รวมทั้งมีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น โดยพื้นที่นำร่องมี 6 จังหวัดครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ดาวน์โหลดเอกสาร พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้ที่: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0102.PDF |