- ความกลัว (Fear) เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่สัญชาตญาณสั่งให้ทำงานทันทีเมื่อต้องเผชิญกับภาวะควบคุมอะไรไม่ได้ (Loss of Control) การสูญเสียตัวตน (Loss of Identity) การต้องอยู่ลำพังโดดเดี่ยว (Isolation) และตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน (Fear of Death) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก
- ความกังวล (Anxiety) เป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัว สร้างขึ้นมาจากภายในและทำงานอยู่ภายในใจเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่
- การออกจากความกลัวและความกังวลคือการแปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่กับตัวเองไปสู่การเชื่อมโยงกับคนอื่น หรือการค้นหาศักยภาพในการแก้ปัญหาที่เราเคยก้าวข้ามปัญหาต่างๆ มาได้ ก็จะเป็นพลังบวกที่ทำให้เราปรับตัว ลดความกลัวและความกังวล ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงนี้ได้อย่างมีความสุขขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและซับซ้อนนี้
ในขณะที่เราต่างกำลังอยู่ในสภาวะเดียวกันทั่วโลกที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาด เวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดร่วมสำคัญและชัดเจนที่สุดหนีไม่พ้นความรู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลที่เข้าเกาะกุมจิตใจของทุกคน ‘ฉันติดแล้วรึยัง’ ‘คนที่บ้านเอาเชื้อมาติดมั้ย’ ‘หรือฉันเอาเชื้อมาติดที่บ้านรึเปล่า’ ‘จะตกงานมั้ยนะ’ ‘ร้านต้องปิดไปอีกนานเท่าไหร่’ ทุกความไม่แน่ไม่นอน ความรู้สึกไม่มั่นใจในมาตรการของรัฐว่าจะการันตีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ว่าเราจะสูญเสียสิ่งใดไปอีกกี่มากน้อย ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้ผู้คนจมอยู่ในความรู้สึกเปราะบางสั่นไหวจนบางครั้งอาจเป็นอันตรายและกัดกร่อนทำร้ายเราได้ยิ่งกว่าเชื้อไวรัส
ทำความรู้จักกับความกลัว (Fear) และความกังวล (Anxiety)
สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่จะถูกปลุกก่อนเสมอในยามสุ่มเสี่ยงกับความอยู่รอดของชีวิตคือ ความกลัว (Fear) เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่สัญชาตญาณสั่งให้ทำงานทันทีเมื่อต้องเผชิญกับภาวะควบคุมอะไรไม่ได้ (Loss of Control) การสูญเสียตัวตน (Loss of Identity) การต้องอยู่ลำพังโดดเดี่ยว (Isolation) และตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน (Fear of Death) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก
ความรู้สึกกลัวมักมีที่มาที่ไปชัดเจน เมื่อกลัวแล้วจะตัดสินใจ ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight) และบีบให้เราโฟกัสแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าตอนนี้เดี๋ยวนี้เท่านั้น ตามมาด้วยอารมณ์ลบ เช่น โกรธ ผิดหวัง หรือสับสน ความกลัวจึงเป็นอารมณ์ที่นอกจากจะขัดขวางความคิดที่มีประสิทธิภาพ (Productive) แล้ว บ่อยครั้งยังบดบังมโนธรรมความเป็นมนุษย์จากการขาดสติควบคุมตัวเองอีกด้วย
ควบคู่มากับความกลัวคือ ความกังวล (Anxiety) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัว แต่จะต่างกันที่ความวิตกกังวลสร้างขึ้นมาจากภายในและทำงานอยู่ภายในใจเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เวลาเราวิตกหรือกังวลมักเป็นความรู้สึกเครียดที่เกิดจากการคิดล่วงหน้าไปก่อนว่าเรื่องเลวร้ายบางอย่างอาจเกิดขึ้น อย่างความคิดทำนอง ‘ฉันต้องติดแน่เลย’ ที่หลายคนเป็นอยู่ขณะนี้ทั้งๆ ที่ป้องกันตัวเองเป็นอย่างดีอยู่กับบ้าน ความกังวลจึงมักเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและไม่เกี่ยวกับเหตุตรงหน้า เช่น อาการ Panic Attack ของผู้โดยสารระหว่างนั่งเครื่องบิน เป็นต้น
ยกตัวอย่างความกลัวหรือความกังวลที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น ความกลัวเกี่ยวกับสุขภาพ กลัวจะเป็นโรค กลัวว่าสุขภาพจะไม่แข็งแรง ความกลัวด้านสังคม กลัวว่าตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อระบบสาธารณสุข กลัวจะปิดเมือง กลัวว่าเราจะไม่มีกิน หรือความกลัวในด้านการงาน กลัวว่าจะแก้ปัญหางานได้หรือไม่ กลัวไม่มั่นคงในอาชีพ อาจจะต้องตกงาน อาชีพที่ทำอยู่อาจไม่สามารถทำได้อีกแล้ว หรือกังวลเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ
หากจะว่าไปแล้ว ความกลัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือความเครียดที่เกิดจากความกลัวและวิตกกังวล หากถูกครอบงำด้วยความกลัวและความกังวลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจนำไปสู่ภาวะหดหู่ซึมเศร้าได้ การควบคุมและจัดการกับความกลัวให้อยู่ในระดับที่สมควรและประคับประคองจิตใจให้ยืนหยัดรับสถานการณ์ได้จึงสำคัญมาก
แนวทางเบื้องต้นในการรับมือกับสิ่งที่กระตุ้นความกลัวและวิตกกังวล
สิ่งที่จะทำให้เราหายกลัวคือการได้ระบายความกลัวและความกังวลนั้นออกมา เพราะจะทำให้เราตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ทับถมอยู่ภายในตัวเราคืออะไร คล้ายๆ กับการนำสิ่งที่แบกไว้ในอกออกมาวางไว้ข้างนอก ถ้าเรามองเห็นความกังวลได้อย่างมีสติแล้ว และสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรากังวลมากไป หรืออะไรที่เราสามารถลงมือแก้ไขได้ ความกลัว ความกังวลที่เราสะสมและแบกรับมันอยู่จะถูกปล่อยวางลง
นอกจากนี้ การระบายให้ผู้อื่นรับฟัง เหมือนเป็นการผลักดันให้เราเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่จมอยู่ภายใน แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานใหม่ คือการ เชื่อมโยงกับคนอื่น
ขอแนะนำตัวอย่างในการจัดการกับความกลัว และวิตกความกังวล เช่น
- เล่าความกลัวหรือความวิตกกังวลของตนเอง เป็นการเอาความกลัวและความกังวล ‘ออกมา’ โดยอาจเล่าให้คนที่เราสะดวกใจรับฟัง แล้วค้นหาศักยภาพ ว่าเราเคยมีศักยภาพอะไรที่ใช้จัดการปัญหานี้ได้ ให้นำพลังงานที่เราเคยแก้ปัญหาที่ยากเข้ามาใช้ในสถานการณ์นี้ จะทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา
- เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ที่เราไม่รู้เกี่ยวกับ โควิด-19 สถานการณ์ที่เราไม่รู้ เช่น การจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ สภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร การจัดการงานและอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งงานในองค์กรและธุรกิจส่วนตัวจะทำอย่างไร แล้วเปลี่ยนมุมมองในการจัดการกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่ไม่รู้จากการรับมือด้วยการแบกภาระไว้ที่ตัวเองเป็นการแสวงหาโอกาส เชื่อมโยงกับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ในการแก้ปัญหา เปลี่ยนมุมมองจากที่มองว่าเหตุการณ์นี้เป็นปัญหาเป็นว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และเปลี่ยนมุมมองจากการควบคุมเป็นการปรับตัวและหาทางออกด้วยการรับฟังไอเดีย ความเห็นใหม่ๆ ที่หลากหลายในการจัดการปัญหาร่วมกัน
- หาโอกาสในการช่วยเหลือสังคม การที่มัวแก้ปัญหาเรื่องของตัวเองอาจทำให้เราสู้แบบจนตรอก แต่หากเราเปลี่ยนพลังงานไปสู่การแบ่งปัน ช่วยเหลือสังคมที่พอทำได้ เช่น ช่วยจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น หรือจัดหาอาหารให้ผู้ที่ลำบากกว่าเราก็จะช่วยเสริมคุณค่าภายใน มีกำลังใจที่เราจะอยู่รอดไปด้วยกัน
นอกจากนี้ แนวทางเบื้องต้นในการรับมือกับสิ่งกระตุ้นความกลัวที่จะส่งผลต่อเราที่ทำได้ ได้แก่
- ควรจำกัดการเสพข่าวสารที่จำเป็นจริงๆ และเปิดทีวีช่องข่าวเป็นช่วงเวลา
- การกักตัวอยู่บ้านจริงจังอาจทำให้จิตใจหดหู่ย่ำแย่ โดยเฉพาะผู้มีแนวโน้มซึมเศร้าหรือต้องอยู่ตามลำพัง ควรหาโอกาสติดต่อพูดคุยโทรศัพท์และใช้โซเชียลมีเดียกับคนที่มีทัศนคติบวกเป็นระยะๆ
- หากิจกรรมหลากหลายคอยสลับสับเปลี่ยนเพื่อคลายเครียดลงในตารางประจำวัน เช่น ฝึกสมาธิ รดน้ำต้นไม้ ทำสวน ฝึกโยคะ อ่านหรือเขียนหนังสือ เล่นดนตรี วาดรูป เพนท์สี เล่นเกมฝึกสมอง ทำอาหารที่ชอบ จัดบ้าน
- มีอารมณ์ขันและหาเรื่องให้ตัวเองหัวเราะ อย่างคลิปขำขันหรือดูหนังเบาสมอง
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
- คิดถึงเรื่องดีๆ ที่มีในชีวิตและขอบคุณสิ่งเหล่านั้น
- จดบันทึกสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเวลารู้สึกเคร่งเครียด การจดบันทึกทำให้เราสามารถเช็คพฤติกรรมของตัวเองได้ว่าสร้างสรรค์หรือบ่อนทำลาย เช่นพฤติกรรมการดื่มเพื่อให้หลับ กินมากเกินไป หรือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด และจัดระเบียบการป้องกันการแพร่เชื้อในบ้านอย่างจริงจัง
- อย่าเพิ่งกังวลถึงอนาคตล่วงหน้าที่ไกลเกินไป อยู่กับปัจจุบัน และลงมือทำสิ่งที่ทำได้ตรงหน้าก่อน
- อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกแย่ได้ ไม่ว่าความกลัว ผิดหวัง เสียใจ และวิตกกับบางอย่าง แบ่งปันความรู้สึกเหล่านั้นกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง
ความกลัวและความกังวลอาจทำให้เราสนใจอยู่ที่การป้องกันตัวเองและจมอยู่กับความรู้สึกกลัวและกังวลนั้น ยิ่งนโยบาย Self isolation หรือ Social distancing ยิ่งทำให้เราตัดขาดจากผู้อื่นและโลกภายนอก และแบกรับความกลัวและวิตกกังวลนั้นไว้เองซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง การออกจากความกลัวและความกังวลคือการแปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่กับตัวเองไปสู่การเชื่อมโยงกับคนอื่น หรือการค้นหาศักยภาพในการแก้ปัญหาที่เราเคยก้าวข้ามปัญหาต่างๆ มาได้ ก็จะเป็นพลังบวกที่ทำให้เราปรับตัว ลดความกลัวและความกังวล ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงนี้ได้อย่างมีความสุขขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายและซับซ้อนนี้
อ้างอิง
Anxiety vs. Fear What is the difference
Coping with the Fear of COVID-19
What Is Post-Traumatic Growth and Coping in a Pandemic?
COVID-19 and Pandemic Anxiety