- งานวิจัยและนักการศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่า หน้าที่ของเด็กปฐมวัย คือการเล่น ‘ยัง’ ไม่ใช่การเรียน แต่ในโครงสร้างการศึกษาใหญ่ การจะทำเช่นนั้นดูไกลเกินเอื้อม
- แต่ Play-based Learning หรือ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น คือการผสานกันระหว่าง การสอน (teaching) และการเรียนรู้ (learning)
- ‘เล่น’ ในที่นี้คือการเล่นอย่างอิสระ (free play)เด็กๆ เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง และมีครูเป็นผู้ร่วมเล่น แทรกความรู้วิชาการผ่านการสนับสนุนจากครู กระตุ้นการเรียน ตั้งคำถามผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ในแวดวงการศึกษา ‘การเล่น’ กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนัก แม้จะมีงานวิจัยและนักวิชาการทางการศึกษาจำนวนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กปฐมวัยจำเป็นที่จะต้อง ‘เล่น’ แต่ด้วยระบบการศึกษาในโลกแห่งความจริงแล้ว การเล่นให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนแบบดังกล่าว ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมไปนิด
แต่เมื่อลักษณะหนึ่งของความเป็นเด็กคือการเล่น (playfulness) โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยแล้ว การจับเด็กเล็กให้นั่งเฉยๆ เป็นชั่วโมงเพื่อท่องตัวหนังสือหรือบวกลบเลขจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับวัยพวกเขาสักเท่าไร เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าว ‘การเล่น’ ส่งผลดีต่อพัฒนาการของพวกเขาแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญาหรืออารมณ์ ทั้งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาเปิดโลกจินตนาการให้กว้างไกลไปในตัว
ล่าสุด งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยดีคิน (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ The Conversation กล่าวว่า กระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย คือ Play-based Learning หรือ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น (บทความหลังจากนี้จะขอใช้เป็นทับศัพท์แทน) ซึ่งทีมวิจัยพบว่าการเรียนแบบดังกล่าวนั้นช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ทางวิชาการของเด็กปฐมวัยให้ดีขึ้น ต่อเนื่องและต่อยอดให้กับอนาคตทางการศึกษาของพวกเขา ทั้งยังเป็นทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-based Learning) คืออะไร
Play-based Learning เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเป้าไปที่การสอน (teaching) และการเรียนรู้ (learning) ซึ่งความหมายของคำว่า ‘เล่น’ ในที่นี้หมายถึง การเล่นอย่างอิสระ (free play) โดยเด็กๆ เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง (child-initiated) ตามธรรมชาติของพวกเขา หรือการเล่นที่ได้รับการชี้นำ (guide play) และมีครูเป็นผู้ร่วมเล่น (co-player) ในแต่ละกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งการเล่นทั้งสองรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ Play-based Learning จะสอดแทรกความรู้วิชาการผ่านการสนับสนุนจากครู กล่าวคือ ครูกระตุ้นการเรียนของเด็กๆ ตั้งคำถามผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อขยายขอบเขตความคิดของพวกเขาให้กว้างไกลมากขึ้น
นาตาลี โรเบิร์ตสัน (Natalie Robertson) อาจารย์ด้านการศึกษาปฐมวัยและหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมเด็กปฐมวัยควรเรียนรู้ผ่านกระบวนการ Play-based Learning พร้อมยกตัวอย่างว่า
“โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ มักได้รับแรงกระตุ้นจากการเล่น กระบวนการเรียนรู้อย่าง Play-based Learning จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ มีแรงกระตุ้นดังกล่าว กล่าวคือการเล่นเป็นบริบทอย่างหนึ่งสำหรับการเรียน เด็กได้สำรวจ ทดลอง ค้นหาและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองผ่านจินตนาการของเขาอย่างสนุกสนาน เช่น ระหว่างที่เด็กกำลังเล่นต่อบล็อก ครูสามารถตั้งคำถามที่ส่งเสริมให้พวกเขาแก้ไขปัญหา คาดการณ์และสร้างสมมุติฐานขึ้น ทั้งครูยังสามารถนำความรู้จากคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแนวคิดทางวรรณกรรม มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (hands-on learning)”
อย่างไรก็ตาม Play-based Learning ไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นในลักษณะกิจกรรม เกม หรือต้องมีของเล่นมาร่วมด้วยอย่างเดียวเท่านั้น นิโคลา วิทตัน (Nicola Whitton) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครแมนเชสเตอร์ (Manchester Metropolitan University) อธิบายไว้ในบทความของเขา หัวข้อ ‘A playful Approach to Learning Means More Imagination and Exploration’ ซึ่งเผยแพร่ลงเว็บไซต์ The Conversation เช่นเดียวกันไว้ว่า
“ข้อแตกต่างระหว่างการเล่น (play) ที่เป็นกิจกรรมและการเล่น (playfulness) ที่เป็นทัศนคติคือ การเล่นแบบที่สองเป็นการเล่นที่เปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นเรื่องของจินตนาการ ความเชื่อและการค้นหาความเป็นไปได้ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องผ่านเกมหรือของเล่น หรือการเรียนรู้แบบบูรณาการต่างๆ ในรูปแบบกิจกรรมที่เป็นการเล่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึง คุณค่าของการเล่น (playful value) กล่าวคือ การเล่น (playfulness) ในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ความคิดเชิงบวกต่อความล้มเหลวบางอย่างที่ระบบการศึกษาทุกวันนี้เพิกเฉย รวมถึงระบบการทดสอบ/การสอบที่มีการเดิมพันสูงตั้งแต่อายุยังน้อย”
ได้อะไรจากการเล่น
การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการเปิดทางให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดขั้นสูง เป็นความรู้ที่ไม่ติดกรอบ ยืดหยุ่น มีทั้งการแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์และนำความรู้ต่างๆ ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทุกขั้นตอนต้องลงมือด้วยตัวเอง ถือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
นอกจากด้านการเรียนรู้แล้ว การเล่นยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ กล่าวคือ เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาทักษะสังคมไปในตัวผ่านการเล่น เช่น การมีส่วนร่วม การแบ่งปัน การระดมสมอง การไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆ
“ครูสามารถใช้แรงบันดาลใจและความสนใจของพวกเขาในการสำรวจแนวคิดหรือไอเดียต่างๆ โดยวิธีการดังกล่าว จะทำให้เด็กได้รับทักษะทางวิชาการ การฝึกปฏิบัติจริงและการเรียนรู้ผ่านบริบทการเล่นไปในตัว ทั้ง Play-based Learning ยังช่วยสามารถสนับสนุนพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับผู้เรียน ช่วยให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความท้าทายและหาทางแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์” เอลิซาเบธ เราซ์ (Elizabeth Rouse) อาจารย์อาวุโสด้านการศึกษาปฐมวัยและสมาชิกทีมวิจัย อธิบาย
ต่างจากวิถีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมอย่างไร
การเรียนรู้แบบดั้งเดิมหรือรูปแบบการเรียนการสอนทางตรง (direct-instruction approach) เป็นการเรียนการสอนลักษณะที่ครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered) ของนักเรียน ครูมีหน้าที่ให้ความรู้ อบรมและสั่งสอนทักษะทางวิชาการให้กับนักเรียน – แทบทุกคนทั่วโลกล้วนมีประสบการณ์ร่วมกับการเรียนการสอนลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดของการเป็นนักเรียน
แต่สำหรับการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ทีมวิจัยมองว่ากระบวนการเรียนรู้อย่าง Play-based Learning มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับช่วงวัยพวกเขามากกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบที่ครูเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน
“เพราะพวกเขาได้เรียนและแก้ไขปัญหาผ่านการทำด้วยตนเองโดยมีครูเป็นเพียงผู้นำทาง” แอน-แมรี มอร์ริสซีย์ (Anne-Marie Morrissey) อาจารย์อาวุโสด้านการศึกษาปฐมวัยและหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายเหตุผลว่าทำไม Play-based Learning ถึงมีประสิทธิภาพกับเด็กปฐมวัย
นอกจากนั้น งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับกระบวนการเรียนรู้ผ่าน Play-based Learning จะมีผลลัพธ์ทางการศึกษาสูงกว่า มีความสนใจใคร่รู้มากกว่าเด็กกลุ่มที่เรียนรู้ผ่าน direct-instruction approach ซึ่งมีประสบการณ์เชิงลบมากกว่า ทั้งความเครียด ไร้แรงบันดาลใจในการเรียนและตามมาด้วยปัญหาพฤติกรรมต่างๆ
“งานวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เด็กช่วงวัยนี้ยังไม่พร้อมที่จะได้รับการเรียนการสอนทางวิชาการอย่างเป็นแบบแผน” มอร์ริสซีย์ย้ำ