- ชวนไปเข้า workshop ถ่ายภาพ หนึ่งในเครื่องมือที่บอกเล่าปัญหาสังคม “Realframe Photo Workshop 3rd : Looking for the Exits เล่าเรื่องทางเลือกสู่ทางรอดของพลังงานไทย”
- ระยะเวลาการเวิร์คชอป 6 วันเต็มไปด้วยการเลคเชอร์ ลงพื้นที่ คิดประเด็น ถกเถียง ถ่ายรูป กลับเข้ามาถกเถียงเพื่อแก้ไขงาน และวนออกไปถ่ายรูปใหม่พร้อมเมนเทอร์มืออาชีพที่ลงสนามถ่ายรูปมามากกว่า 10 ปี การคอมเมนต์เกิดขึ้นทั้งในห้องและหลังกล้อง ณ พื้นที่จริง
- ประเด็นของเลคเชอร์ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนของซับเจ็กต์ที่เป็นแบบ การคิดประเด็นและวางแผนสำคัญมากในการได้รูป การเข้าหาซับเจ็กต์โดยไม่ตัดสินและถามคำถามสำคัญ เช่น คุณอยากต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมนี้ไหม วันๆ หนึ่งอาจจะได้รูปที่ดีเพียงใบเดียวและต้องรออย่างยาวนาน ในขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบข้อมูลกระบวนการยุติธรรมของการจับผู้ต้องหาในสามชายแดนฯ ของรัฐ และสังเกตวิถีชีวิตของซับเจ็กต์ไปด้วย เพราะทุกอย่างล้วนสำคัญต่อการสื่อสารที่ต้องการกระตุกความคิดของผู้ชม
“ภาพถ่ายมันอยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว ฟอร์แมตมันอาจจะเปลี่ยน วิธีการใช้มันอาจจะเปลี่ยน อำนาจในมือของการถ่ายภาพอาจจะเปลี่ยนไป แต่เราเห็นภาพถ่ายในทุกๆ วัน เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันอยู่กับเราทุกวันไม่แพ้ตัวหนังสือ ไม่แพ้งานเคลื่อนไหว หรือศิลปะ หรือการสื่อสารแบบอื่นๆ”
ธีระพงษ์ สีทาโส หนึ่งในสมาชิกของ Realframe กลุ่มช่างภาพที่ทำงานในประเด็นสังคม สิทธิมนุษยชนสะท้อนแนวคิดด้านการถ่ายภาพสำหรับ “Realframe Photo Workshop 3rd : Looking for the Exits เล่าเรื่องทางเลือกสู่ทางรอดของพลังงานไทย”
การสังเกตเวิร์คชอป Looking for the exits เริ่มง่ายๆ ด้วยคำถามที่ว่าภาพถ่ายจะเป็นเครื่องมือที่บอกเล่า กระตุ้นจิตสำนึก หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ดูเหมือนจะใกล้ตัว แต่ไกลความเข้าใจอย่างเรื่อง พลังงานทางเลือกได้อย่างไร
ผู้เข้าร่วมโครงการมีอายุตั้งแต่ 17 – 40 ปี มีทั้งนักเรียนมัธยม นักศึกษา นักข่าว ผู้ที่สนใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงผู้ที่สนใจใช้การถ่ายภาพเพื่อสื่อสารอย่างจริงจัง บรรยากาศในชั้นสองของโฮสเทลที่ใช้เป็นพื้นที่เวิร์คชอปชั่วคราวเต็มไปด้วยความครึกครื้นและเป็นกันเองเพราะผู้เข้าร่วมบางคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ในขณะที่บางคนก็จับกลุ่มกันคุยเกี่ยวกับหัวข้อและประเด็นที่ตัวเองอยากปักหมุด
เวิร์คชอปถ่ายภาพในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ Power Jungle ซึ่งเป็นโครงการของสถาบันเอเชียศึกษาและสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
“โครงการนี้ต้องการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานทางเลือก เป้าหมายของโครงการเราคือเยาวชน 3 กลุ่ม มัธยม มหาลัย และ first jobber เราทำงานกับคนที่เราคิดว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) กลุ่มเป้าหมายเราเขาโตมาท่ามกลาง visual culture เราเลยคิดว่าการสื่อสารทาง visual จะสร้างผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมาย คนที่เราเลือกมาเป็น change agent อย่างน้อยถ้าเขามีสำนึกเรื่องพลังงาน เขาก็สามารถไปสื่อสารเองต่อในโอกาสต่อไป เมื่อเขามีทักษะทางการสื่อสารและความสำเหนียกในเรื่องพลังงาน เขาไปต่อยอด รณรงค์ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังนอกเหนือจากตัวงาน”
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงจุดประสงค์โครงการ
ระยะเวลาการเวิร์คชอป 6 วันเต็มไปด้วยการเลคเชอร์ ลงพื้นที่ คิดประเด็น ถกเถียง ถ่ายรูป กลับเข้ามาถกเถียงเพื่อแก้ไขงาน และวนออกไปถ่ายรูปใหม่พร้อมเมนเทอร์มืออาชีพที่ลงสนามถ่ายรูปมามากกว่า 10 ปี การคอมเมนต์เกิดขึ้นทั้งในห้องและหลังกล้อง ณ พื้นที่จริง
“หลักๆ แล้วก็คือขั้นตอนของการ ‘Pre – Pro – Post’ Pre ก็คือการเตรียมตัวผู้เข้าร่วม เพราะเราคิดว่าเราจะเวิร์คช็อบภาพถ่ายในแบบที่มันไม่ใช่แค่มาเอาเทคนิคลงไปถ่าย วิจารณ์ภาพแล้วก็กลับไป แต่เรารู้สึกว่าเราอยากให้มันมีความสัมพันธ์กันด้วย และอยากให้แชร์มุมมอง ความทรงจำของตัวเองออกมาด้วยก่อนที่จะเวิร์คชอปภาพถ่าย กระบวนการ Pre จึงเป็นการนำมุมมองของตัวเองออกมาให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลาย คีย์เวิร์ดอีกอย่างหนึ่งคืออยากให้ผู้เข้าร่วมเห็นว่านี่คือพื้นที่ทดลอง พื้นที่จะลองผิดลองถูกได้ เราไม่ได้มาแข่งว่าภาพของใครดีที่สุด แต่เรามาช่วยกันหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ หามุมมองใหม่ของตัวเองผ่านเรื่องพลังงาน” ธีระพงษ์เสริม
หนึ่งในการเลคเชอร์ในวันแรกๆ ของเวิร์คชอป คือ ประสบการณ์ในการถ่ายภาพของ ยศธร ไตรยศ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Realframe ที่ลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยาวนานกว่า 4 เดือนมารวมขั้นตอนการเก็บข้อมูลที่ใช้เวลามากพอกัน เก็บเป้าหมายในการสลายมายาคติของความรุนแรงในพื้นที่ใส่กระเป๋าแล้วพยายามเสนอข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งผ่านภาพถ่าย
ประเด็นของเลคเชอร์ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนของซับเจ็กต์ที่เป็นแบบ การคิดประเด็นและวางแผนสำคัญมากในการได้รูป การเข้าหาซับเจ็กต์โดยไม่ตัดสินและถามคำถามสำคัญ เช่น คุณอยากต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมนี้ไหม วันๆ หนึ่งอาจจะได้รูปที่ดีเพียงใบเดียวและต้องรออย่างยาวนาน ในขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบข้อมูลกระบวนการยุติธรรมของการจับผู้ต้องหาในสามชายแดนฯ ของรัฐ และสังเกตวิถีชีวิตของซับเจ็กต์ไปด้วย เพราะทุกอย่างล้วนสำคัญต่อการสื่อสารที่ต้องการกระตุกความคิดของผู้ชม
“ผมนับถือหัวใจคนเหล่านี้มากที่เขายอมให้ผมถ่ายรูป ทั้งๆ ที่ในหลายเคสเขาเองก็ถูกคุกคาม ถ่ายไป 1,000 รูปอาจจะเวิร์คแค่รูปเดียว แต่ถ้าคุณตั้งใจอยากจะได้เฟรมนี้ คุณก็สำเร็จแล้ว”
เขาจำรายละเอียดของการลงพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ หลังจากการบรรยายผ่านไป ผู้เข้าร่วมจึงมีคำถามในประเด็นการตัดสินใจทำงานถ่ายรูปในหัวข้อที่มีความเสี่ยงสูง หรือการวางแผนการทำงานก่อนจะแยกย้ายกันออกไป ได้ฟังแนวคิดคร่าวๆ จากประสบการณ์ตรง แล้วจึงลงพื้นที่ตามประเด็นที่ตัวเองสนใจ
ปัญหาหลักๆ ของผู้เข้าร่วมคือเริ่มไม่ถูก คิดภาพเชิงคอนเซ็บของพลังงานทางเลือกค่อนข้างยาก หรือไม่ก็ไปลงพื้นที่แล้วมีข้อจำกัดมากกว่าที่คิด เมนเทอร์ Realframe ช่วยเหลาไอเดียเหล่านั้นให้แหลมคมมากขึ้นและจบก่อนที่จะออกไปลุย ใครที่ยังคิดไม่จบให้หาหลักยึดให้ได้ก่อน คุยกันช็อตต่อช็อต ผู้เข้าร่วมบางคนก็โยนไอเดียง่ายๆ แต่แหลมคม เช่น เรื่องแดด ก็เป็นประเด็นพลังงานทางเลือกได้
ด้วยวัย ประสบการณ์ และความสนใจที่ต่างกัน เราจึงเห็นความหลากหลายและความเป็นไปได้มากมายแม้แต่ในเรื่องที่ดูจะเชื่อมโยงภาพถ่ายกับพลังงานทางเลือกได้ยาก เช่น เรื่องขยะความเชื่อ ที่ผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงกับพลังงานทางเลือกในประเด็นที่ว่าพลังงานเป็นสิงที่มองไม่เห็น แต่เรารู้ว่ามันมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตระนักถึงมันอย่างไร อ้างข้อมูลเรื่องที่ภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักเรื่องพลังงานไฟฟ้าแต่ไม่เคยเป็นรูปธรรม ภาพถ่ายของเขาจึงถูกตีความออกมาเป็นเรื่องที่ว่าถ้าความเชื่อเรื่องพลังงานถูกแปรไปเป็นขยะในวันหนึ่ง ความเชื่อก็อาจจะกลายเป็นความงมงายได้เช่นเดียวกัน
รวมถึงตั้งคำถามย้อนมาหาตัวเองด้วยว่าจริงๆ แล้วเราใช้พลังงานกันแบบไหนอย่างไรบ้าง
หรือผู้เข้าร่วมวัยมัธยมสี่ ที่มีมุมมองในเชิงสุนทรียศาสตร์เป็นหนึ่งในแกนของการเล่าเรื่อง ภายใต้ชื่อเท่ๆ อย่าง Bangkok’s new Sun พูดถึงปัญหาการสร้างตึกที่มีกระจกจำนวนมาก สะท้อนแสงอาทิตย์ทำให้เมืองร้อน
“ผมไป research ดูว่าคนกรุงเทพใช้พลังงานไปกับอะไรเยอะ ก็ค้นพบว่าใช้กับเครื่องปรับอากาศเยอะเพราะว่ากรุงเทพฯ มันร้อน ผมเลยลองหาสาเหตุว่าทำไมกรุงเทพมันถึงร้อนกว่าต่างจังหวัดและที่อื่นๆ หนึ่งในสาเหตุนั้นก็คือเรื่องของสถาปัตยกรรม เมืองเรามีตึกกระจกเยอะทำให้กรุงเทพร้อนขึ้น
วิธีการทำงานจึงเป็นการเดินไปตรงที่ที่ตึกเยอะช่วงเช้า 8-10 โมงและตอนเย็น แล้วดูว่าตรงไหนแสงสะท้อนเข้าตาเรา ความน่าสนใจของประเด็นนี้คือเราละเลยว่าสิ่งนี้มันส่งผลต่อชีวิตเรานะ ทำไมเราถึงไม่สร้างสถาปัตยกรรมที่มันกรีนกว่านี้” เตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ
บางคนก็เลือกที่จะใช้ความมืดอธิบายการเข้าถึงไฟฟ้าของชนชั้นล่างในพื้นที่ต่างๆ เพราะสงสัยในเรื่องสิทธิการเข้าถึงพลังงาน“ผมสนใจเรื่องสิทธิในการเข้าถึงพลังงาน สงสัยว่าสิ่งที่เราแลกไปกับการได้พลังงานมาคืออะไรบ้าง พอมันต้องถ่ายในกรุงเทพฯ เลยพยายามหาบ้านที่ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ทั้งหมด แล้วมีพี่ในกลุ่มเสนอว่าอาจจะเป็นแบตเตอรี่ที่อื่นที่ไม่ใช่จากบ้านคนก็ได้ เลยกลายเป็นไอเดียของแบตเตอรี่ที่อยู่ในแม่ค้ารถเข็น ผมไปลงพื้นที่ตามหน้าห้างที่มีรถเข็นที่ไม่มีไฟ เลยต้องไปพึ่งแสงจากห้างแทน หรือรถเข็นที่พ่วงไฟกับตึกเอา พยายามหาซีนที่มีรถเข็นรวมๆ กันเพื่อเล่าเรื่องนี้” อีกหนึ่งความเห็นจากตรัยภูมิ จงพิพัฒนสุข ผู้เข้าร่วมวัย 16
วิธีการเล่าเรื่องมีตั้งแต่เรื่องไฟฟ้า แสง ที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องพลังงานทางเลือกไปจนถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ใช้พลังงานเป็นตัวช่วย บางคนลุยเรื่องโครงการ Solar cell ในชุมชน หรือแม้กระทั่งไปถ่ายวัดแห่งแรกที่ใช้พลังงาน Solar cell
“ผมอยากเจาะลึกว่าเรื่องโซล่าร์เซลล์มันสามารถลงไปลึกได้อีกแค่ไหน เลยจะทำออกมาในเชิงเปรียบเทียบว่าโซล่าเซลล์อยู่ทุกที่ วัด มัสยิดก็มี ดังนั้นนอกจากผลดีแล้ว มันจะมีผลเสียอย่างไรบ้าง วัดมีความน่าสนใจตรงที่ว่ามันช่วยด้านค่าใช้จ่ายของวัดจริงๆ นอกจากวัด หลังเวิร์คชอป เราพยายามเพิ่มข้อเสียเรื่องชนชั้น เพราะโซล่าเซลล์ไม่สามารถติดได้ทุกคนเพราะต้นทุนมันสูง อยากทำให้เห็นว่ามีคนที่อยากใช้แต่ไม่มีกำลังพอที่จะเริ่มระบบนี้ หรือบางคนใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ด้วยซ้ำ” ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
ความสนุกสนานของคอนเทนต์งานจึงมีตั้งแต่เทคนิคการคิด visual storytelling ใครสนใจพลังงานในมุมของการวิพากษ์สังคมและรัฐบ้าง ใครสนใจแสงในแง่มุมของสุนทรียศาสตร์บ้าง เวิร์คชอปค่อนข้างเปิดกว้างให้แต่ละคนได้ตีความตามที่ตัวเองสนใจโดยมีเมนเทอร์คอยตัดแต่งและเสริมความคมให้ในตอนท้าย
“รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว เรื่องการใช้พลังงานมันใกล้ตัวมากๆ แต่บางทีเราก็มองข้ามมันไป ที่เลือกทำเรื่อง ‘ตาก’ มันก็คือเรื่องพลังงานที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราเลย แล้วการได้ลงพื้นที่ไปเดินในคลองเตยมันก็ทำให้ได้เห็นความเลือกไม่ได้ของคนชั้นล่างรวมไปถึงเรื่องพลังงานด้วย คือไม่เห็นพลังงานทางเลือกในชุมชนเลย ก็ยิ่งตอกย้ำว่าพลังงานทางเลือกมันแสนแพงนะ และคนก็ยังรับรู้เรื่องพลังงานของน้อยจนทำให้คิดว่ามันคือเรื่องไกลตัว” จิตติมา หลักบุญ ผู้เข้าร่วมที่เลือกประเด็นเรื่องการใช้แสงอาทิตย์บอกเล่า
“เรามองว่าพลังงานทางเลือกมันเป็นเรื่องท้าทาย จะทำยังไงให้คนรู้สึกว่าต้องทำอะไรกับมันสักอย่าง แต่ว่าสิ่งที่มันเคยถูกเล่ามาในภาพจำของคนอาจจะรู้สึกว่ามันไกลตัว แล้วเราจะทำยังไงให้เรื่องนี้มันใกล้ตัวมากขึ้น เลยมองว่าภาพถ่ายน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ และจะช่วยเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ผ่านภาพถ่ายซึ่งเป็นเรื่องเบสิก” เมนเทอร์ธีระพงษ์เสริมอีกแรง
ยิ่งวันพรีเซนท์ใกล้เข้ามา กิจกรรมก็เริ่มเข้มข้นขึ้นในแง่ของการวิพากษ์ Narrative (การเล่าเรื่อง) และความเนี๊ยบของภาพถ่าย คอมเมนต์งานอย่างตรงไปตรงมาว่าควรซ่อมจุดไหน หรือภาพทั้งเซ็ตขาดการเล่าเรื่องอะไรบ้าง ควรใช้ภาพไหนเปิด – ปิดเรื่อง ตั้งคำถามที่ไปไกลกว่าการถ่ายภาพ เช่น คิดว่างานเหมาะกับแพลตฟอร์มการนำเสนอแบบไหน
“เราพูดเสมอว่าเราให้ความสำคัญกับ process ไม่แพ้ product เรื่องภาพถ่ายที่จะออกมาสื่อสารได้ก็สำคัญ แต่อีกอย่างหนึ่งคือการเรียนรู้ของคนเข้าร่วม เราหวังว่าเขาจะเกิดมุมมองใหม่ๆ ได้ทั้งทบทวนตัวเอง ได้รู้จักแง่มุมของคนอื่น รู้จักแง่มุมของสังคมแล้วก็โลกมากขึ้นผ่านการทำงาน แลกเปลี่ยนถกเถียงไปจนถึงการสัมผัสกับพื้นที่จริง สภาพแวดล้อมจริง คนจริงๆ ที่คุณต้องดีลกับเขาอีกแบบหนึ่งเลย”
ผู้เข้าร่วมหลายคนลงพื้นที่หลายต่อหลายครั้งเพื่อไปสัมภาษณ์ซับเจ็กในชุมชนจนถึงวันสุดท้ายของการพรีเซนท์งาน ในช่วงที่แต่ละคนนำเสนอเราจะเห็นประเด็นเฉียบแหลมอย่าง ‘ทำไมกรุงเทพฯ ไม่เห็นดาวแต่ต่างจังหวัดเห็นง่ายกว่า’ ‘การเข้าถึงไฟฟ้าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือไม่’ ‘ไฟในห้างเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง แต่สำหรับบางคนไฟฟ้าคือชีวิตของเขา’ ‘หลายคนไม่ได้ตระหนักถึงความสว่างที่มากไปจากไฟสาธารณะ’
อรรคนัฐช่วยเสริมในแง่มุมของนักวิจัยเรื่องพลังงานไฟฟ้าที่คนใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามีข้อจำกัดที่จะสร้างความเท่าเทียมให้ประชาชนอย่างไรบ้าง หลังจากการพรีเซนท์เมนเทอร์ให้จับกลุ่ม 4 คนเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรค จนมีฟีดแบ็กที่ไปไกลกว่าการถ่ายภาพหลายเสียง และบางคนอยากต่อยอดงานของตัวเองแม้โครงการจะจบลงไปแล้ว
“ตั้งใจมาเพื่อพัฒนาทักษะการถ่ายภาพ แต่พอเป็นเรื่องพลังงานทางเลือก มันใกล้ตัวเรามากแต่กลับมองไม่เห็น คิดภาพไม่ออกเลย พอเราลองเข้าไปทำความเข้าใจกับมันว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง เราก็ได้เข้าใจแง่มุมที่มากกว่าการถ่ายรูปออกมาให้ดี
“ตัวคอนเทนต์นี้เป็นแค่แบบฝึกหัด หลังจากนี้แต่ละคนจะมีประเด็นทางสังคมหรืออะไรก็ตามที่สนใจ ก็สามารถนำไปขับเคลื่อนต่อได้ คิดว่าภาพถ่ายน่าจะมีฟังก์ชันอื่นมากกว่าการบันทึกความทรงจำ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร เพราะมันมีประโยชน์กับคนในวงกว้าง เราอยากให้ไปไกลต่อถึงเรื่องสำนึกทางสังคมด้วยถ้ามีโอกาส เพราะ knowledge is all about sharing กระบวนการเรียนรู้เลยไม่ใช่การให้อย่างเดียว แต่เป็นการได้รับด้วย” อรรคนัฐเสริมในช่วงท้ายของเวิร์คชอป
“เรารู้สึกว่าภาพถ่ายไม่ใช่งานเดี่ยวๆ มันต้องทำร่วมกัน เราเป็นได้ในฐานะฟังก์ชันหนึ่งในการสร้างความรู้สึก จิตสำนึก หรือ impact บางอย่าง มันไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวมันเองได้หรอก แต่อย่างน้อยมันช่วยกระตุ้น ตั้งคำถาม ช่วยให้คนที่เขาทำเรื่องนี้อยู่แล้วไปใช้มันต่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้น” ธีระพงษ์ปิดท้าย
สาระสำคัญของเวิร์คชอปภาพถ่ายอาจจะไม่ใช่ตัวภาพถ่ายอย่างเดียวที่เป็นพระเอก แต่คือช่วงเวลาการทำงาน คิดค้นก่อนกดชัตเตอร์ภายใต้ประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างพลังงานทางเลือก ภาพถ่ายของแต่ละคนคลี่คลายให้เห็นว่ามุมมองที่เขาเชื่อมโยงตัวเองในฐานะปัจเจกกับสังคมชัดลึกในประเด็นไหน และจะต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง