ต้นฉบับนี้เขียนเมื่อวันสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ใช้เลขไทยสักหน่อยนะ
มีคำถามมาหาเสมอๆ ว่าลูกอ่านรามเกียรติ์ได้ไหม เห็นมีฉากฆ่ากันมากมาย และถ้าใครคุ้นเคยรามเกียรติ์ก็จะรู้ว่าฉากหอกปักอก ศรทะลุร่าง บั่นคอหลุดกระเด็นไป เหล่านี้มีให้อ่านเป็นระยะๆ
ผมตอบเสมอว่าอ่านได้ ด้วยเหตุผลสองข้อ
ข้อแรกคือวรรณกรรมหรือวรรณคดีทุกประเทศ หากไล่ที่มาที่ไปแล้วทุกเรื่องตั้งอยู่บนจิตวิเคราะห์ เรื่องปมปิตุฆาต หรือ Oedipal complex จิตวิเคราะห์นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ จะช้าเร็วเด็กก็ต้องเผชิญ จะหันไปทิศใดก็จะได้พบเห็นแน่ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ที่ว่ารักกัน และรักตนนักหนามิได้ตรงไปตรงมาดังที่เข้าใจ ไม่มีอะไรอธิบายเรื่องยากๆ พวกนี้ได้ดีเท่าวรรณคดี
ผมจึงไม่เคยกังวลกับเรื่องสโนว์ไวท์ (พรากพรหมจรรย์) แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ (ขโมยและฆ่า) หรือหนูน้อยไม้ขีดไฟ (ความตายของเด็ก) ด้านมืดเป็นสิ่งที่ลูกของเราต้องเผชิญ และวรรณกรรมช่วยให้เขาเผชิญได้ดีกว่าคำพ่อแม่สั่งสอน
ข้อสองคือไม่มากก็น้อย ผู้เขียนหรือดัดแปลงวรรณคดีสำหรับเด็กมิได้ตั้งใจเขียนเรื่องเรทอาร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อยากได้เรทอาร์ต้องไปที่อื่น รูปประกอบและคำบรรยายได้ถูกดัดแปลงให้เหมาะสำหรับเด็ก อาจจะดีบ้างไม่ดีบ้างแต่เท่าที่ตนเองเคยสุ่มอ่าน หรือซื้อมาอ่านให้ลูกฟังก็พบว่ามิได้มีอะไรน่าห่วงแม้ว่าบางเล่มจะเลือดสาดก็ตาม
ไกรทอง ปลาบู่ทอง ขุนช้างขุนแผน เรทอาร์ทั้งนั้น
อย่าลืมว่าสมมุติว่าเด็กกลัว เราสามารถเก็บขึ้นได้เสมอ ปีหน้าค่อยหยิบออกมาอ่านใหม่ เด็กเปลี่ยนไปทุกปี เราไม่รีบ
เซ็กส์และความรุนแรงปรากฏในชีวิตคนเรา ปรากฏในจิตวิเคราะห์ และปรากฏในวรรณคดี ลูกของเราเผชิญมันได้ตั้งแต่แรกด้วยสื่อที่ดี และสื่อที่ดีนั้นมีชื่อว่าวรรณคดี
คุณแม่เล่าว่าผมไม่ยอมเข้าห้องเรียนอยู่นาน ถือกิ่งไม้วิ่งรอบสนามปากตะโกนว่า “อัศวินม้าขาวมาแล้ว” อยู่เช่นนั้น คือหนังซามูไรญี่ปุ่นเรื่องดังสมัยก่อน ครั้นเริ่มเรียนหนังสือจริงๆ ก็จำได้ว่าไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไรนักในตอนแรกๆ
คุณแม่ต้องลงมาคลุกด้วยตนเองจับมือเขียนหนังสือและทำการบ้านอยู่เสมอๆ
พอถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็สอบได้ที่ 1 เป็นครั้งแรก โรงเรียนให้หนังสือชุดวรรณกรรมภาพวิจิตรเรื่องสังข์ทองเป็นรางวัล หากจำไม่ผิดน่าจะเป็นลายเส้นของเหม เวชกร หนังสือชุดนี้หายไปแล้วแต่ที่จำได้เพราะตนเองอ่านอยู่หลายเที่ยว สนุกดี นี่ก็ปล่อยแม่เลี้ยงตายต่อหน้าต่อตา
คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนจีนโพ้นทะเล คือ ชนกลุ่มน้อยที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์เวลานั้น เหมือนที่บางคนยังทำกับชนกลุ่มน้อยตามชายขอบวันนี้ พวกเราพี่น้องสมัยเด็กๆ เรียนหนังสือจีนด้วย ใช้ชื่อจีนมีแซ่ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อยาวนามสกุลยาวในเวลาต่อมา ก็เหมือนชนเผ่าต่างๆ เวลานี้เช่นกัน
คุณพ่อซื้อนิทานประกอบภาพภาษาจีนมาอ่านให้ฟัง ท่านทำงานเดินสายต่างจังหวัดจึงกลับบ้านไม่บ่อย แต่กลับมาก็จะอ่านนิทานและประดิษฐ์ไพ่ขึ้นมาชวนลูกเล่น (วันหนึ่งคงถึงเวลาเขียนถึงของเล่นอย่างที่ 11 ไพ่ดีอย่างไรและเล่นได้อย่างไร) เมื่อพวกเราอ่านหนังสือไทยออกเพราะคุณแม่อ่านหนังสือไทยไม่ออกก่อนที่ท่านจะเรียนด้วยตนเองจนอ่านได้ในเวลาต่อมา ท่านซื้อนิทานประกอบภาพเรื่องไซอิ๋วของนานมีบุ๊คส์มาให้พวกเราอ่าน เป็นหนังสือเล่มเล็กมีภาพลายเส้นวิจิตรอย่างจีนและคำบรรยายใต้ภาพทุกหน้า ความยาว 32 เล่มจบ นั่นเป็นปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เลขไทยอีกสักหน่อยนะ
หนังสือชุดไซอิ๋วนี้ขาดจากท้องตลาดไปนานแล้ว แว่วว่านานมีบุ๊คส์กำลังจะจัดพิมพ์ใหม่
ตอนที่พวกเราอายุเท่าไรก็จำไม่ได้อีกเหมือนกัน คุณแม่พาพวกเราไปเที่ยวงานกาชาด ที่ไหนก็จำไม่ได้ งานกาชาดเวลานั้นก็เหมือนสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวลานี้ จะมีแผงหนังสือลดราคาร้อยละ 50 พวกเรามีโอกาสซื้อหนังสือราคาแพงปีละครั้ง แม่ซื้อสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) 2 เล่มจบ ส่วนผมกำลังบ้ารามเกียรติ์จึงซื้อบทละครรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ราคาลดแล้วไม่เกิน 50 บาทต่อเรื่อง ถือว่าราคาสูง
พี่ชายอ่านสามก๊กไปมากกว่าสามรอบ ผมอ่านรามเกียรติ์ไปหลายรอบ สนุกดี
ตอนที่เรียนประถมศึกษาปีที่ 5-7 พวกเราทยอยซื้อหนังสือวรรณคดีเข้าบ้าน ทั้งจีนและไทย ห้องสิน ซ้องกั๋ง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา ราชาธิราช เป็นต้น ล้วนซื้อจากงานกาชาดหรืองานวชิราวุธซึ่งจะมีแผงลดราคาร้อยละ 50 ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ
วันหนึ่ง ผมจึงไปพบรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 จำนวนหลายสิบเล่มจบในห้องสมุดประจำโรงเรียนชั้นมัธยม จึงขอยืมกลับมาอ่านตั้งแต่เล่มที่ 1 หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดินไล่ไปเรื่อยๆ สัปดาห์ละ 1-2 เล่มจนอวสานอย่างสมบูรณ์ จนถึงวันนี้หากให้ตนเองลงความเห็นว่าวรรณคดีเรื่องใดดีที่สุดก็คงไม่พ้นชุดนี้ แม้ว่าจะชอบสามก๊ก กามนิตและมหาภารตยุทธมาก แต่เวลาใจประหวัดถึงวรรณคดีที่มีผลกระทบต่อชีวิตตนเอง ก็จะเป็นรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 นี้ผุดขึ้นชื่อแรกเสมอ
ด้วยเหตุผล 2 ข้อ
ข้อแรกคือสนุกมาก ไม่ว่าจะฉากรบฉากรัก ฉากรบหัวขาดกันกระจุย ตายกันเป็นหมื่นแสนเหมือนหนังสเปเชียลเอฟเฟ็คต์ยุคใหม่ ฉากรักวาบหวามถึงใจแม้จะไม่เอ็กซ์เท่าพระอภัยมณีหรือขุนช้างขุนแผนก็ตาม
ข้อสองคือคำคลังเยอะมาก ไม่สิ ควรเรียกว่ามหาศาลเสียมากกว่า (จนป่านนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยทำไมถึงชอบมีบทสนทนาว่า ไม่สิ บ่อยมาก คนญี่ปุ่นชอบพูดว่า ไม่สิ หรืออย่างไร) ท่านที่อยากได้คลังคำจำนวนมากเก็บไว้ในหัวสมองโดยไม่ต้องนั่งท่องลองอ่านรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 นี้ไปสองเที่ยว รับประกันความเยอะ
ผมอ่านสองเที่ยวจริงๆ พอเรียนแพทย์ตนเองมีเงินเก็บบ้างแล้วจึงซื้อรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 นี้เวอร์ชั่น 4 เล่มจบกลับบ้านมาอ่านซ้ำ อ่านเสร็จตัดปฏิทินรามเกียรติ์วัดพระแก้วทำหน้าปกเองห่อพลาสติกเรียบร้อยเป็นหนังสือคู่กายทุกวันนี้
ยามใดเขียนหนังสือไม่ออก หัวติดขัด ก็จะหยิบรามเกียรติ์มาอ่านไปสักสิบยี่สิบหน้า พอให้คลังคำสตาร์ททำงาน เมื่ออิเล็กตรอนวิ่งชนกันในสมอง เราจะรู้ได้เองว่าสัปดาห์นี้จะเขียนอะไรเพื่อเอาตัวรอด
เช่นข้อเขียนนี้เป็นต้น ๕๕๕ หัวเราะแบบไทยโบราณ