ข้อเขียนต่อไปนี้เก็บความแล้วเขียนขึ้นใหม่จากหนังสือ ‘The Development of Working Memory in Children’ เขียนโดย Lucy Henry สำนักพิมพ์ Sage ปี 2012 ต่อจาก ตอนที่แล้ว (อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กพูดคนเดียวคือเรื่องปกติ ความจำใช้งานของเขากำลังทำงาน)
ส่วนประกอบที่ 2 ของระบบความจำใช้งานเรียกว่า visuospatial sketchpad หมายถึงแผ่นกระดานเขียนภาพ
ตอนที่แล้วเราได้พูดถึงส่วนประกอบที่ 1 คือ phonological loop ซึ่งทำหน้าที่บันทึกความจำด้านเสียงเอาไว้นานประมาณ 2 วินาทีก่อนที่จะเลือนหายไปหากมิได้ทวนคำซ้ำ เราจึงได้เห็นเด็กพูดคนเดียวเพื่อทบทวนความจำตนเอง และเห็นเด็กพากย์ตัวเองขณะเล่นหรือทำงาน
ตอนนี้เรามาดูความจำด้านภาพ ความจำด้านภาพมี 2 ส่วน หนึ่งคือภาพของวัตถุที่เห็น ได้แก่ขนาด รูปทรง สี พื้นผิว สองคือตำแหน่งที่อยู่ ที่ว่างโดยรอบ การเปลี่ยนตำแหน่ง บางตำราจัดให้มีส่วนที่สามด้วยคือความเร็วในการเปลี่ยนตำแหน่ง เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นความจำด้านภาพ
ปัญหาของความจำด้านภาพเป็นเหมือนความจำด้านเสียงตรงที่สามารถเลือนหายไปได้หากไม่มีการทวนซ้ำ แต่ปัญหาที่หนักหนากว่าคือคนเราไม่มีระบบทวนซ้ำด้านภาพที่ชัดเจนเท่ากับการทวนคำด้านเสียง เด็กๆ เปล่งเสียงได้แต่ ‘ปล่อยภาพ’ มิได้
พบว่าคุณสมบัติของภาพที่เห็นนั้นเองที่กำหนดความยากง่ายของการจำ ได้แก่ลักษณะที่ภาพนั้นเกิดขึ้น เกิดขึ้นได้เองหรือเกิดขึ้นเป็นผลต่อเนื่องจากอีกเหตุการณ์หนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าภาพแต่ละภาพที่เกิดขึ้นรอบตัวมีลักษณะเป็นเหตุ-ปัจจัยกันอย่างไร อย่างไรก็ตามลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดการจำผิดพลาดได้ด้วย เช่น เห็นภาพรถชนเด็กกับตา เด็กต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วเด็กอาจจะตัวสูงไม่พ้นหน้ารถและยังยืนยิ้มอยู่หน้ารถที่เบรกทันก็เป็นได้ เป็นต้น
จะเห็นว่าความจำด้านภาพเป็นส่วนสำคัญแต่ไม่มีกลไกทวนซ้ำนอกเหนือไปจากการฝึกฝน นี่คือเหตุผลที่การอ่านหนังสือนิทานประกอบภาพให้เด็กฟังอาจจะมีประโยชน์เหนือกว่าการเล่านิทานให้เด็กฟัง เพราะหนังสือนิทานประกอบภาพนั้นมีภาพ ภาพคือวัตถุ อวกาศ การเคลื่อนที่ และเวลา (อย่าลืมว่าเพราะมีการเคลื่อนที่จึงเกิดเวลา)
ในขณะที่การเล่านิทานเสริมสร้างจินตนาการแต่ดูเหมือนจะได้ไปเพียงการฝึกฝนความจำด้านเสียง เพราะภาพนั้นมิได้เกิดจากการมองเห็นแต่เกิดจากจินตนาการ
ไม่ว่าภาพหรือเสียงจะเลือนหายไปในเวลาประมาณ 2 วินาที แต่ลำดับของเสียงและภาพจะยังคงอยู่และลื่นไหลไปจนกว่าจะจบเล่มนี่คือเหตุผลหนึ่งที่บอกว่าเพราะอะไรการอ่านนิทานประกอบภาพให้ลูกฟังจึงเป็นการบริหารความจำใช้งาน บริหารความจำใช้งานเท่ากับการบริหารองค์ประกอบทั้งสองส่วนคือ phonological loop และ visuospatial sketchpad ทุกคืนๆ จนกว่าจะถึงวันที่เด็กลุกขึ้นนั่ง ‘เล่น’ แล้วตามด้วยยืน ‘ทำงาน’ ในที่สุด
มีงานวิจัยที่พบต่อไปว่าคนเราสามารถจำการออกเสียงที่ไม่ซ้ำกันได้ดีกว่าเสียงที่ซ้ำกัน ข้อค้นพบนี้สร้างความแปลกใจอยู่ไม่น้อยเพราะเรามักคิดว่าเด็กๆ จำคำกลอนได้ดีกว่าถ้อยคำพรรณนา
เช่น ทดลองให้อ่าน “ก ร ย ณ ป ค ฮ ง ธ ฆ” เปรียบเทียบกับให้อ่าน “ไก่ เรือ ยักษ์ เณร ปลา ควาย ฮูก งู ธง ระฆัง” เราพบว่าเมื่ออ่านจบแล้วให้ทวนคำ คนส่วนมากจะจดจำได้มากกว่าหากอ่านแบบหลัง จะเห็นว่านี่มิใช่เรื่องของคำคล้องจองแต่เป็นเรื่องของการให้ภาพแก่เสียง กล่าวคือระบบความจำใช้งานได้จับคู่ให้เสียงและภาพเข้ามาใกล้กันเพื่อง่ายต่อการจำ
มีงานวิจัยที่พบต่อไปว่าคำยาวๆ มักจำยากกว่าคำสั้นๆ ความข้อนี้สอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ และน่าจะเป็นเช่นนี้จริงๆ ในตอนเริ่มต้นของชีวิต
เช่น ทดลองให้อ่าน “ปัญจวัคคี ปรากฏการณ์ ปรัศวภาควิโลม ประวัติศาสตร์อนาคต ปฏิวัติรัฐประหาร” เทียบกับการอ่านคำว่า “ปลาทอง ประโยชน์ ปฏิเสธ ปุปะ ปูม้า” พบว่าการอ่านแบบหลังจำได้ดีกว่า
นอกเหนือจากนี้ยังพบอีกด้วยความเร็วในการอ่านมีผลต่อความจำใช้งานที่นานขึ้น ยิ่งคนเราอ่านเร็วมากเท่าไร ระบบความจำใช้งานกลับทำงานได้ดีขึ้น สามารถยืดความจำใช้งานออกไปมากขึ้น (working memory span) โดยที่ความสัมพันธ์นี้เป็นการแปรผันตรงอย่างง่ายๆ
ความรู้ข้อนี้สำคัญ ลองนึกภาพเกมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กเล็กเกมหนึ่ง เกมนี้ประกอบด้วยแผ่นสี่เหลี่ยมจตุรัสจำนวน 20 แผ่นบนหน้าจอ เด็กคลิกที่แผ่นใดแผ่นนั้นจะหมุนอีกด้านออกมาปรากฏเป็นภาพภาพหนึ่ง เช่น เป็นภาพปู ลิง ม้า ดาวแดง เรือ เป็นต้น ภาพจะปรากฏขึ้นมาเพียง 1-2 วินาทีแล้วพลิกกลับด้านหายไป เด็กจะคลิกสุ่มในตอนแรกแต่เริ่มจำภาพและตำแหน่งของภาพ เด็กเริ่มบริหารความจำด้านภาพแล้วคลิกภาพที่เหมือนกันขึ้นมา การจับคู่ที่ถูกต้องทำให้ภาพนั้นเลือนหายไป บัดนี้เหลือ 18 แผ่น เด็กจะคลิกเร็วขึ้นๆ ด้วยความจำใช้งานที่ดีขึ้นๆ จับคู่ภาพที่เหมือนกันในสองตำแหน่งได้แม่นยำขึ้น แผ่นภาพหายไปอีกลดเหลือ 16 14 12 10 8 6 4 2 และ 0 GAME OVER
แปลกแต่จริงที่เด็กคลิกเร็วมากเท่าไรกลับทำเวลาได้ดีขึ้นเท่านั้น ในทางตรงข้ามเด็กที่คลิกช้าและพยายามจดจำว่าภาพไหนอยู่ที่ไหนกลับทำเวลาทั้งหมดได้ช้ากว่า จะเห็นว่าความเร็วของการจดจำภาพแปรผันตรงตามความคงอยู่ของความจำใช้งาน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งกับความจำด้านเสียงและความจำด้านภาพนี้ทำให้เราได้รู้จักองค์ประกอบที่ 3 ของความจำใช้งานคือส่วนบริหารกลาง central executive ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
แต่ตอนนี้เราทบทวนเรื่องที่เกิดในบ้านอีกครั้งหนึ่ง
เราพบว่าเด็กที่ทำอะไรชักช้า ไม่เสร็จเสียที จะเป็นไปตามเส้นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วในการทำงานและระยะเวลาของความจำใช้งาน กล่าวคือยิ่งทำงานช้าความจำใช้งานยิ่งแย่ ยิ่งร่ำไรงานยิ่งไม่เสร็จ ยิ่งโอ้เอ้ยิ่งไม่รู้ว่าขั้นตอนต่อไปต้องทำอะไร
แปรงฟัน ล้างหน้า อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว เพียงห้าขั้นตอนในตอนเช้าเด็กหลายคนทำไม่ได้ เด็กที่ทำเร็วทำได้ เด็กที่ทำช้าเรื่องมักจะเนิ่นนานออกไป แต่มิใช่เพราะ “ช้าเป็นเต่า” ดังที่เราคิดกัน แต่เป็นเพราะความจำใช้งานของเขาอยู่ไม่เกิน 2 วินาที กว่าจะเสร็จหนึ่งก็ลืมเสียแล้วว่าอีกหนึ่งคืออะไร และเมื่อพ่อแม่เอ็ดตะโรเครื่องจักรที่ว่าด้วยความจำใช้งานยิ่งติดขัด
การใช้ตารางกิจวัตรจะช่วยแปรความจำใช้งานให้เห็นเป็นภาพบนกระดาน แปรงฟันเสร็จให้ล้างหน้า พ่อแม่ลงไปช่วยประกบและกำกับตั้งแต่แรกเพื่อให้ความเร็วในการแปรงฟันสูงขึ้นกลับจะทำให้เขาจำขั้นตอนต่อไปคือล้างหน้าได้ดีขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราต้องสละเวลาลงไปกำกับงานเด็กเมื่อพบว่าลำพังการสั่งด้วยวาจาเด็กคนนั้นทำไม่ได้
อ่านถึงตรงนี้ อย่าลืมที่เขียนตอนกลางของบทความ กลับไปอ่านนิทานก่อนนอนเสียดีๆ