ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษากว่า 4 ล้านคน และซ้อนทับกับปัญหานี้คือคุณภาพการศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นโจทย์ใหญ่ของกสศ. ในการค้นหานวัตกรรมเพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น บนความคาดหวังว่าพวกเขาจะก้าวพ้นวงจรความยากจนข้ามรุ่น ระบบการให้ทุนที่ตอบโจทย์ นอกจากจะต้องไปไกลกว่าการสงเคราะห์ โดยมุ่งเน้นการดูแลเด็กแบบองค์รวม ยังต้องเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่น ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพได้อย่างเหมาะสม
เป็นความจริงที่ว่า การศึกษาเปลี่ยนชีวิตคนได้ (ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง) แต่สำคัญกว่าความเข้าใจในเรื่องนี้ คือทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้
โจทย์ยากนี้เป็นทั้งภารกิจขององค์กรและแรงผลักดันส่วนตัวของ ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มองว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องความยากจน และการให้โอกาสไม่ควรเป็นแค่การสงเคราะห์
ผอ.ธันว์ธิดา เล่าว่าตนเองเคยทำงานสายพัฒนาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ ก่อนจะมีโอกาสมาทำงานด้านการศึกษาเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว โดยเน้นเรื่องของการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส กระทั่งได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งองค์กร กสศ.
“ตอนนั้นประเทศไทยกำลังมีปัญหาด้านการศึกษาอยู่พอสมควร จึงมีการผลักดันว่าทำอย่างไรการปฏิรูปการศึกษาถึงจะเป็นตัวช่วยได้มากขึ้น โดยจากประสบการณ์ของประเทศชั้นนำทางการศึกษา เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ พบว่าเขาจะมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเรื่องของทั้งกระตุ้นและส่งเสริมนวัตกรรม เราจึงมองว่าประเทศไทยน่าจะมีหน่วยงานลักษณะนี้ที่จะมาเป็นกลไกในการทำงาน จึงได้มีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. กสศ. ขึ้นมา แล้วก็ทำเรื่องส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย”
ปัญหารากฐานที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของกสศ. ก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ คุณธันว์ธิดามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
คือแต่เดิมนั้น โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามันแทบไม่ค่อยพูดถึงเลย ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาไทยไม่ดี ในเรื่องของระบบการเรียนการสอน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันค่ะ จนมาถึงยุคหนึ่งที่เราทำข้อมูล เราถึงได้เจอว่า จริงๆ แล้วความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นมีมากกว่าที่คิดด้วยซ้ำว่าเรากำลังพูดถึงเด็กยากจนที่ยังขาดโอกาสจำนวนมาก
อีกอันหนึ่งคือ คุณภาพการศึกษาที่ไม่ใช่แค่คุณภาพการศึกษาแบบรวม แต่เรากำลังพูดถึงว่าคุณภาพการศึกษาเด็กในเมืองกับเด็กชนบทนั้น ความรู้ห่างกันสัก 3 ปีการศึกษา ทั้งๆ ที่เขาอยู่วัยเดียวกัน เขาควรจะได้รับคุณภาพการศึกษาเหมือนกัน แต่ว่าคุณภาพการศึกษามันมีความแตกต่างกัน แค่คุณเข้าเรียนคนละที่ ในเมืองกับชนบท
ทีนี้เราก็ทำให้เห็นว่ามันมีมิติของทั้งเรื่องฐานะ ทั้งเรื่องของคุณภาพการศึกษาด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นแล้วมวลค่อนข้างใหญ่ ตอนที่ กสศ. เริ่มต้นขึ้นเรามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่าเด็กเยาวชนมีถึง 4 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แล้วพอเราเข้ามาดูข้อมูลลึกขึ้นเรื่อยๆ ถึงเจอว่ามันไม่ใช่แค่จำนวน แต่มันเห็นด้วยว่าถ้ายิ่งเด็กเยาวชนที่มาจากฐานะยากลำบาก โอกาสที่จะได้เรียนจบ ม.3 หรือเรียนมาถึง ม.6 หรือปริญญาตรีนั้นน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น เพราะเรากำลังพูดถึงการศึกษาที่ทุกคนน่าจะเข้าถึงทั้งหมด
ซึ่งพอเราซูมเข้าไปดูว่ากลุ่มที่มีฐานะยากจนเข้าถึงการศึกษาน้อยแค่ไหน พบว่ากลุ่มนี้ซึ่งเป็นฐานล่างสุดของประเทศประมาณ 20% นั้น เรียนถึง ม. 3 แค่ 76% เรียนถึง ม. 6 ประมาณ 25% เรียนต่อ ป.ตรี แค่ 8% แต่ถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศจะสูงกว่าประมาณ 2 ถึง 6 เท่า เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้คือ Gap ที่ใหญ่มาก มันเหมือนปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมที่หลายคนอาจมองไม่เห็น แต่พอ กสศ. มีภารกิจในการทำเรื่องนี้ ทำให้ได้มีโอกาสซูมลงไปดูแล้วเราเห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดพอสมควร
ที่สำคัญเราพบว่า เดิมเรามักจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำในมิติเศรษฐกิจเยอะ เด็กยากจนอะไรอย่างนี้นะคะ แต่จริงๆ แล้วมันมีเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่านั้น มีเรื่องของชาติพันธุ์ มีเรื่องของเมืองกับชนบท และในเมืองเองก็ยังมีคนจนเมืองอีก เพราะฉะนั้นมันมีหลายบริบทมาก และมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิด คนที่เรียกว่ายากจนก็จะจนแทบทุกมิติ สุขภาพรวมถึงสุขภาพจิตด้วยนะ เขามีปัญหาครอบครัวเขาก็เปราะบาง และพื้นที่ก็ห่างไกล อย่างนี้เป็นต้น แล้วยังไม่นับเรื่องคุณภาพการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นมันมีหลายมิติมาก แต่เดิมเข้าใจว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าช่วยเรื่องเงินก็คงจะทำให้เขาอยู่ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่พอค่ะ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นเรื่องของระบบที่มีความสัมพันธ์กันและค่อนข้างซับซ้อน
ความเข้าใจตรงนี้ถูกนำมาเชื่อมร้อยกับภารกิจของสำนักพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้อย่างไรคะ
งานที่ดูแลจะเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนเป็นหลักนะคะ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอกับสถานการณ์ที่คนเกิดน้อย ขณะเดียวกันเยาวชนของเราก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะ แล้วตอนนี้ยิ่งมีความท้าทาย เช่นเรื่องดิจิทัลมีเดียที่เข้ามากระทบกับกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นโจทย์เยาวชนก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ กสศ. มองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญมากในการทำงาน เพราะถ้าเราสามารถพัฒนาเขาได้ เขาก็จะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศต่อไปได้อีกหลายสิบปีเลย
กสศ. เราก็จะมองโจทย์ก่อนค่ะว่ากลุ่มเป้าหมายเยาวชนนั้นมีปัญหาเรื่องอะไรอยู่ กลุ่มนี้เมื่อกี้เล่าไปแล้วคือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ที่สูงกว่าม.3 และสูงกว่าม.6 เพราะฉะนั้นงานหนึ่งที่เราทำก็คือการตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ โดยดูว่ามีนวัตกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้เขาหลุดออกจากความยากจนได้โดยใช้การศึกษา ซึ่งเราเจอ Pain Point หนึ่งคือ เราพบว่าเยาวชนกลุ่มนี้นั้นระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ได้ทำให้เขาได้ทำงาน จบมาแล้วก็ยังไม่สามารถทำงานได้ นายจ้างก็ไม่ยอมรับ ค่าจ้างก็ยังต่ำอยู่ จึงทำให้เรามีเรื่องนี้ด้วย
ถ้ามองมาที่ระบบการศึกษา เรามีอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพอยู่ แต่ว่าระบบการศึกษานี้ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์นายจ้าง ฉะนั้นเราจึงเอาทั้ง 2-3 โจทย์นี้มาตั้ง แล้วก็ออกแบบมาเป็นโปรแกรมโปรแกรมหนึ่งสำหรับน้องๆ เยาวชนที่อยู่ในระบบ เราเน้นในระบบก่อนนะคะ เราเรียกว่า ‘ทุนการศึกษาสายอาชีพ’ ที่เราคิดว่ามันเป็นนวัตกรรมการทำงานที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้หลุดอออกจากความยากจนได้
ระบบทุนการศึกษาสายอาชีพ เราต้องการแก้สองเรื่องคือ หนึ่ง เยาวชนที่ไม่มีโอกาสเรียนสูงเกิน ม.3 เกิน ม.6 เราก็ให้ทุนการศึกษาเขาไปเรียน อันที่สอง ก็คือคุณภาพการศึกษาของสายนี้ คือเรามองว่าการศึกษาที่เหมาะสมกับกลุ่มนี้ต้องเป็นสายอาชีพแน่นอนคงไม่ใช่สายสามัญ เพราะสายสามัญนั้นส่วนใหญ่เขาจะมุ่งไปเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอีกเส้นทางหนึ่ง แต่ด้วยภูมิหลังของน้องๆ กลุ่มนี้ ครอบครัวเขาคงอยากให้รีบเรียนและรีบทำงานแล้วมีทักษะอาชีพที่ดี เราเลยส่งเสริมไปที่สายอาชีพ ซึ่งรวมถึงอาชีวศึกษาด้วย เราจึงทำงานทั้งสองคู่ขนานกันไป ก็เลยออกแบบมาเป็นทุนแฝด คือ ‘ทุนเด็ก’ กับ ‘ทุนสถาบัน’ ทำงานกับสถาบันการศึกษาเพื่อดูแลน้องๆ กลุ่มนี้
เราคิดว่ามันเป็นระบบทุนการศึกษาที่มองหลายๆ นวัตกรรมและโจทย์ปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน ไม่เพียงแค่พูดเรื่องเด็กเข้าไปเรียน แต่พูดว่าทำอย่างไรให้เด็กได้ทักษะ ทำอย่างไรให้เด็กมีงานทำแล้วมีอาชีพด้วย ผ่านการศึกษาที่ตอบโจทย์มากที่สุด
ซึ่งการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่าการศึกษาสายอาชีพตอบโจทย์น้องๆ ได้จริงๆ ถ้าเราคัดเลือกสาขาที่ตรงและใช่ เด็กจะเปลี่ยนชีวิตได้ ภายในไม่ต้องถึงชั่วคนด้วยนะ ทำงานแค่ 1 ปี 2 ปี เขาก็มีรายได้สูงที่สุดในบ้านแล้ว ถ้าเป็นสาขาที่ใช่นะ เพราะฉะนั้นจากข้อมูลก็คือมันสามารถยกเขาออกจากความยากจนได้จริงๆ
แล้วขณะเดียวกันนั้นตัวสถานศึกษาเองที่ทำงานกับเราในเรื่องนี้ เขาก็เป็นหน่วยจัดการที่สำคัญมาก เขาเป็นหน่วยบ่มเพาะเยาวชนกลุ่มนี้ เพราะเยาวชนกลุ่มนี้ถ้าให้แค่เงินแล้วเข้าไปเรียน ไม่ได้แปลว่าเขาจะรอด เพราะเราก็เจอเหมือนกันค่ะว่ากลุ่มนี้มีความเปราะบางมากกว่าที่เราคิดเยอะ เรื่องเงินไม่ใช่แค่ปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียว แต่มันเป็นเรื่องระบบดูแลที่สถานศึกษาหรือครูอาจารย์จะต้องมีความสามารถในการดูแลเยาวชนที่มีความเปราะบางแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่อาชีพ ไม่ใช่แค่วิชาการ แต่เรื่องชีวิตเขาด้วย ถ้าเราสามารถดูแลทั้งหมดได้มันก็จะเป็นระบบนิเวศที่ช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ เพราะฉะนั้นทุนนี้ก็เป็นแผนงานที่ทำอยู่และเป็นแผนหนึ่งที่ กสศ. ทำงานเป็นตัวแบบ
อันที่สองคือเรามองกลุ่มที่ไม่ใช่แค่เยาวชนในระบบ เรากำลังพูดถึงเยาวชนนอกระบบ กับประชากรแรงงานนอกระบบ กลุ่มนี้ก็ใหญ่มากเหมือนกัน คือคนที่ไม่ได้อยู่ในรั้วโรงเรียนแล้ว และก็น่าจะเสียเปรียบมากที่สุดเพราะเขาอยู่ข้างนอกแล้ว มันไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวเขาแล้ว ซึ่งเรามองว่ากลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยนะคะ เฉพาะกลุ่มเยาวชนอย่างเดียว ช่วงอายุ 15-24 ปี มีประมาณ 1.3 ล้าน ประมาณ 14% แล้วในจำนวนนี้ 70% เป็นแม่วัยใสด้วย กลุ่มนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เขาจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบ เขายุติการศึกษาแค่ ม.3 หรือแค่ ม.6 แล้วรายได้เขาจะเป็นรายได้ขั้นต่ำหรือทำงานที่อันตรายที่ไม่ปลอดภัย หรือทำงานที่ทักษะต่ำมากๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยขยับยากมากเลย เพราะเรามีกำลังคนรุ่นใหม่ที่เราไม่ใช้ศักยภาพเขาค่ะ จริงๆ เราต้องมองว่า เขามีศักยภาพแต่ไม่ได้รับโอกาส เรากำลังเสียศักยภาพกลุ่มนี้ไปจำนวนไม่น้อย ด้วยการที่เขาไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการฝึกอบรมนะคะ อันนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เราทำ
เพราะฉะนั้นเราก็พยายามหาคำตอบให้กับกลุ่มนี้เหมือนกันว่าการศึกษาอะไรที่มันตอบโจทย์ เพราะกลุ่มนี้ต้องบอกว่าเขาหันหลังให้กับการศึกษาแล้ว และสิ่งที่ทำให้เขาหลุดไม่ใช่ความยากจนด้วยนะคะ แต่เป็นเพราะระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ เขารู้สึกว่าเรียนไปก็ไม่มีความหมาย ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่รู้จะทำอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องมาตีโจทย์ว่า การศึกษาแบบไหนที่จะตอบโจทย์กลุ่มนี้
จากที่ทำงานมาก็คิดว่าน่าจะเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่นนั่นแหละ แต่ว่ายืดหยุ่นมันมีรูปแบบไหนบ้าง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ กสศ. พยายามหาคำตอบ ซึ่งเราก็เจอว่า ‘การจัดการศึกษาแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน’ เป็นหนึ่งในคำตอบที่น่าจะช่วยเรื่องการศึกษากับกลุ่มนี้ได้ เพราะว่าเป็นการทำงานที่อยู่ในพื้นที่ ได้ใช้ศักยภาพที่มี โดยดูว่าตรงนั้นสามารถประกอบการอะไรได้บ้าง และมีเครือข่ายใครบ้าง เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชนได้ไหม หรือเป็นแรงงานในชุมชน ตรงนี้น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่เราเจอนะคะ
การเรียนรู้ของกลุ่มนี้เราเจออีกอันหนึ่งว่า ถ้าให้เขาไปเรียนปกติ เป็นการเรียนแบบเดี่ยวที่ครูอยู่หน้าห้องเรียนน่าจะไม่เหมาะ กลุ่มนี้เหมาะกับการเรียนรู้แบบรวมกลุ่มทำกิจกรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่เราพยายามหาคำตอบในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มนี้ว่ามีรูปแบบอะไรได้บ้าง
และอีกกลุ่มหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญเช่นเดียวกัน เมื่อสักครู่เราได้พูดถึงเยาวชนไปแล้ว น้องๆ เยาวชนกลุ่มนี้จริงๆ แล้วเขาก็เป็นผลผลิตจากครอบครัว คือครอบครัวเขายากจน ก็ทำให้มีการส่งต่อความยากจนไปที่เยาวชนด้วย ดังนั้นถ้าเราจะแก้ปัญหาที่ต้นตอคงไปทำงานแค่กับเด็กและเยาวชนไม่พอ เพราะเรากำลังพูดถึงเด็กและเยาวชนที่ต้องอยู่ในระบบการศึกษาตั้ง 15 ปี กว่าเขาจะจบออกมาใช่ไหมคะ ซึ่งเขามีครอบครัว เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าต้องทำงานกับกลุ่มพ่อแม่ด้วย เราก็เลยไปทำงานกับประชากรแรงงานนอกระบบด้วย เพราะเราคิดว่ากลุ่มนี้มันไม่ใช่แค่ช่วยตัวบุคคลเท่านั้นแต่ว่าช่วยทั้งครอบครัวเขา
ยิ่งเป็นครอบครัวที่มีลูกกำลังเรียนอยู่ มันช่วยทั้งครอบครัวเลย โดยการทำงานเราจะพยายามไปฝึกอาชีพ หรือว่าทำนวัตกรรมระดับชุมชนทั้งหมดนี้ก็คือเป็นงานที่ดูแลอยู่ ซึ่งจะเน้นไปที่ 3 กลุ่มเป้าหมายแล้วก็ใช้การศึกษา การฝึกอบรม รูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนาให้กลุ่มนี้สามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้เร็วขึ้น
ในการทำงานของกสศ. คำว่า ‘นวัตกรรม’ มักถูกพูดถึงบ่อยๆ อยากให้ช่วยขยายความเข้าใจสำหรับคนทั่วไป และที่ผ่านมามีนวัตกรรมอะไรบ้างที่ภูมิใจนำเสนอ
นวัตกรรม ไม่ใช่เป็นสิ่งประดิษฐ์และไม่ใช่สินค้า นั่นคือผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นถ้าเราทำงานได้ดี แต่ว่านวัตกรรมของกสศ. หมายถึงกระบวนการหรือระบบที่มีวิธีทำงานแตกต่างไปจากอย่างเดิม อย่างเช่นแต่เดิมนั้นเวลาเราทำงานช่วยเหลือคนยากจน เรามักนึกถึงการสงเคราะห์ เหมือนต้องเอาไปให้เขา ต้องช่วยเหลือเขา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีนะคะไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่การทำงานของเรา เราพบว่าการสงเคราะห์นั้นทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน เพราะมันต้องสงเคราะห์ไปเรื่อยๆ ถูกไหมคะ
เพราะฉะนั้นนวัตกรรมหนึ่งที่เราทำก็คือ การหาวิธีไม่สงเคราะห์ ทำอย่างไรให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ คือให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะไปเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา มากกว่าที่จะให้อุปกรณ์ทำมาหากิน ซึ่งมันสำคัญนะ
แล้วเราก็พยายามหาวิธีทำงานใหม่ เครือข่ายใหม่ด้วย ยกตัวอย่างเยาวชนในระบบ นวัตกรรมหนึ่งซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีเลยคือ นอกจากเราให้โอกาสเขาไปเรียนแล้ว ถ้าจะให้เยาวชนในระบบกลุ่มนี้รอด ต้องมีระบบดูแลสุขภาพจิตใจเขาด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สถานศึกษาอาจจะไม่ได้ทำมานานแล้ว เหมือนกับว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งสอนวิชาถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นเรื่องสุขภาพจิตใจนั้นอาจจะลืมไป แต่ว่าบริบทมันเปลี่ยน เด็กมีความว้าเหว่ ยิ่งโควิดนี้มันทำให้เด็กซึมเศร้าอะไรต่างๆ เยอะมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้มันหายไปจากระบบการศึกษา สิ่งที่เราเจอคือ มันต้องมีนวัตกรรมการทำงานเรื่องนี้ในโรงเรียน เพื่อช่วยให้เด็กไม่หลุดออกนอกระบบ
เด็กบางคนที่อยู่นอกระบบเพราะเขาปรับตัวไม่ได้ เพราะฉะนั้น นวัตกรรมหนึ่งคือ ทำยังไงให้เกิดระบบดูแลเด็กที่เป็นองค์รวม ในโรงเรียนเอง ไม่ได้มองแค่มิติเรื่องของวิชาการหรืออาชีพอย่างเดียว แต่มองเขาแบบองค์รวม มองครอบครัวเขา มองเบื้องหลังเขา มองสุขภาพจิตใจเขา และมีการดึงความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาด้วย
นวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เรามองคือ การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เราพบว่าผู้เล่นไม่จำเป็นต้องสถาบันการศึกษาก็ได้ คือการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นนั้นมีผู้เล่นได้เยอะมาก ซึ่งจากข้อค้นพบของเรา วิสาหกิจชุมชนยังเป็นหน่วยจัดการเรียนรู้ได้เลยนะคะ ลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้ให้กับกลุ่มคนของเขาได้ หรือเป็น NGO เป็นสภาชุมชนก็ได้ที่ลุกขึ้นมาทำงานเรื่องนี้ ซึ่งบางทีนิยามคำว่า ‘หน่วยจัดการเรียนรู้’ เดิมนั้นจะเป็นเรื่องสถานศึกษาเป็นหลัก เป็นโรงเรียนเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็ยังทำหน้าที่อยู่นะคะ แต่ว่าถ้าเราเปิดประตูให้มันกว้างขึ้น SE (Social Enterprise) ก็สามารถทำงานเรื่องนี้ได้ อันนี้ก็คือเป็นนวัตกรรมที่เราพูดถึงว่า มันเป็นนวัตกรรม เชิงกระบวนการและเชิงความคิดและวิธีการ
ที่ผ่านมาถือว่าได้ผลตามที่คาดหวังไว้หรือยังคะ โดยเฉพาะในแง่ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ?
ต้องบอกว่าจริงๆ ผลงาน กสศ. เป็นผลงานของหน่วยที่ทำงานกับเราหมดเลยนะคะ เพราะเราคิดว่าเราเป็นหน่วยสนับสนุน กระตุ้นให้มันเกิด แต่คนที่เป็นผู้เล่นจริงๆ คือหน่วยงานทั้งหมดเลย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ท้องถิ่น เขาเป็น Player ที่สำคัญมาก เขาอยู่หน้างานแล้วก็อยู่ใกล้กลุ่มเด็กเยาวชนที่เรากำลังพูดถึง เขาเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เราทำหน้าที่แค่หนุนเสริมเขา เพราะฉะนั้นเขาคือคนที่เป็นตัวจริงของเรื่องนี้
แล้วจริงๆ ความสำเร็จของเรื่องนี้ก็คิดว่าไม่ใช่ความสำเร็จเพียงแค่ภาคการศึกษาอย่างเดียว ถ้าพูดถึงความร่วมมือนะคะ เพราะเรากำลังพูดถึงโจทย์ที่มันซับซ้อนหลายมิติมาก มันต้องจับมือกันเป็นการทำงานแบบสหวิชาชีพ มองมาจากความเชี่ยวชาญหลายๆ ความเชี่ยวชาญแล้วมาทำนวัตกรรมด้วยกัน เป็นชุดนวัตกรรมดีกว่า และมาจากหลายๆ มุมมองที่ทำงานด้วยกัน เรื่องนี้จึงจะสำเร็จ
ถ้ายกตัวอย่างการใช้ชุมชนเป็นฐาน มันไม่ใช่แค่การศึกษา เรากำลังพูดถึงการทำให้เขาประกอบการได้ การใช้ปราชญ์ชาวบ้าน การใช้เครือข่ายในพื้นที่เอกชนมาจับมือกัน เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน แล้วก็มาจากหลายๆ ผู้เชี่ยวชาญมาทำงานด้วยกัน
อยากให้วิเคราะห์การทำงานที่ผ่านมาของ กสศ. จุดแข็งรวมถึงข้อท้าทาย?
คิดว่าจุดแข็งน่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือนี่แหละ คือเราไม่ได้ทำงานกับนักการศึกษาเท่านั้น แต่ทำงานกับอีกหลายนักเลยค่ะ เราทำงานกับหลายภาคส่วนมาก มันสามารถดึงความร่วมมือตรงนี้เข้ามาได้ ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ คิดว่าอันนี้คือจุดแข็งที่ กสศ. สามารถทำได้
อันที่สองคือ เราทำงานบนฐานข้อมูล ผ่านเครือข่ายครูในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เราสามารถชี้เป้าได้ว่า เด็กเยาวชนยากจนด้อยโอกาสอยู่ที่ไหน และทำให้ดึงความร่วมมือเข้ามาได้ และทำงานบนฐานความรู้และวิชาการด้วย คืออย่างที่เล่าไปว่า เราไม่ได้ทำงานแค่ช่วยเหลือเด็ก แต่ว่าเราทำงานลักษณะที่เป็นการใช้ความรู้ต่างๆ เข้ามาพัฒนางาน แล้วมันก็อยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ของการทำงานที่เราเจอจริงๆ เช่นเราเจอว่าน้องๆ กลุ่มนี้ให้เงินแล้วไปเรียนยังไม่รอด มันต้องมีระบบอื่น อันนี้มันก็เป็นข้อค้นพบที่เราเจอ แล้วเราก็พยายามสื่อสารเรื่องนี้
ในส่วนข้อท้าทายของเรานั้น คิดว่าน่าจะเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดนะคะ คือปัญหามันใหญ่กว่าทรัพยากรที่มี แต่เราก็ไม่ได้มองอันนี้มาเป็นข้อจำกัดที่เราอยากจะได้งบประมาณเพิ่ม แต่คิดว่าในแง่คนทำงาน เราอยากทำให้มีการลงทุนในการทำงานเรื่องนี้มากขึ้นจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อที่จะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น แล้วก็มีอิมแพคที่สูงขึ้น
นั่นหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้มุ่งเป้ามากยิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เยอะในแง่ของการเปลี่ยนแปลงประเทศในภาพรวมด้วย เพราะว่าขนาดของปัญหามันใหญ่กว่ากว่าทรัพยากรที่มีค่ะ แต่ว่าทรัพยากรไม่ได้ขาดมันอยู่ที่การจัดสรร และการบริหารจัดการมากกว่า อันนี้ก็เป็นข้อท้าทายอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ถึงวันนี้คิดว่าอะไรคือความพอใจหรือความสำเร็จในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำที่ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุด
งานที่กสศ.ทำ จะพยายามตอบโจทย์ 2-3 เรื่อง อันที่ 1 คือการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา อันนี้คิดว่าเราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจน ก็คือมีเด็กและเยาวชนประมาณ 1.3 ล้านคน เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาซึ่งแต่เดิมเขาอาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มนี้เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา เราก็มีระบบที่พยายามป้องกันไม่ให้เขาหลุด ผ่านฐานข้อมูลการติดตาม แล้วก็ดูแลเด็กได้เป็นรายบุคคล คิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงนะคะ
อันที่ 2 คือผลลัพธ์การเรียนรู้ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเราไม่ได้มองมิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแค่ว่าให้เด็กเข้าไปเรียน แต่ว่าเราอยากเห็นคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีด้วย คิดว่ามันทำให้เกิดองคาพยพ หรือว่าเครือข่ายที่หันมามองปัญหาที่ไม่เคยมองมาก่อน
อย่างเช่นโจทย์เยาวชนนอกระบบ ที่ผ่านมามันเป็นพื้นที่สีเทา ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน หน่วยงานไหนจะดู เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าตรงนี้เราทำให้มันเป็นพื้นที่ที่สว่างขึ้น เห็นชัดขึ้นว่าเรากำลังพูดถึงใคร แล้วเขาอยู่ตรงไหน เราจะจัดการศึกษาให้เขายังไง
อันนี้ก็เป็นอันนึงที่เป็นโจทย์ใหญ่ แล้วก็เป็นหลุมสำคัญที่คิดว่าเราได้ทำให้ประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นวาระทางสังคม หรือวาระทางการศึกษามากกว่าที่เคยเป็นอยู่ แล้วก็เชื่อว่าต่อจากนี้น่าจะมีการลงทุนในการทำงานเรื่องนี้มากยิ่งขึ้นด้วย จากสิ่งที่เราได้ทำงานมา 5 ปีแล้วจุดเป็นประเด็นเอาไว้ ไม่ใช่แค่จุดประเด็นด้วย เราพยายามหาโซลูชั่น หาคำตอบของมันด้วยค่ะ
หลายๆ โครงการก็ถือว่าสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรงแล้ว หลังจากนี้วางแผนในการพัฒนาหรือต่อยอดการทำงานอย่างไรคะ
ที่ผ่านมา 5 ปีนี้กสศ. ได้สร้างเครือข่ายไว้พอสมควร แล้วเราก็มีการทำงานลงลึกไปในโครงการต่างๆ สิ่งที่กสศ. จะขยับไปมากขึ้นก็คือว่า ทำยังไงให้เป็นการขับเคลื่อนทางสังคม และใช้ศักยภาพของหน่วยงานที่ทำงานกับเรามาเป็นเครือข่าย แล้วให้พลังมันมากขึ้น เป็นตัวคูณซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาเราจะอยู่กันเดี่ยวๆ ต่างคนต่างเก่ง จุดต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่มันเหมือนดอกเห็ด แต่ตอนนี้เราจะทำให้มันเป็น …ไม่รู้แกงเห็ดหรือเปล่านะคะ เหมือนกับว่าให้มันมารวมกันแล้วยิ่งเพิ่มมูลค่า แล้วเป็นพลังที่ช่วยเหลือเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้น เชื่อว่าพลังตรงนี้เองจะเป็นพลังที่คนทำงานก็ภาคภูมิใจ มีเครือข่าย มีเพื่อนคู่คิด เพื่อนร่วมทาง เพราะฉะนั้นก็คิดว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ กสศ. จะขยับทำงานเรื่องนี้มากขึ้น
แล้วก็รวมไปถึงสิ่งที่เรายังคงเน้นหลักการสำคัญ นั่นคือทำยังไงให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กและเยาวชนได้เร็วที่สุดและสั้นที่สุด คิดว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เพราะงานของเรามันเป็นงานที่มันต้องไปถึงเด็กค่ะ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้พื้นที่หรือจังหวัดเป็นฐานการทำงาน เราคิดว่ายูนิตการทำงานจะไม่ใช่อยู่ที่ระดับประเทศ แต่มันจะต้องลงไปที่พื้นที่ คำว่าพื้นที่หมายถึงอะไร ก็ต้องลงไปให้ถึงจังหวัด อำเภอ ตำบล ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เด็กมากที่สุด แล้วก็มีเครือข่ายอยู่เยอะที่สุด งานของ กสศ. เองก็คงต้องไปบูรณาการการทำงานตรงนั้นมากขึ้น เพื่อให้ดอกเห็ดมันได้มีพลังของมันในการทำงาน
ทีนี้ย้อนกลับมาที่ตัวคุณธันว์ธิดาเอง หลังจากทำงานเรื่องนี้มาพอสมควร คิดว่าได้เรียนรู้อะไร หรือมีมุมมองอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างไหมคะ
เดิมเราเคยพูดถึงการศึกษาเพื่อทุกคน แต่ตอนนี้เราต้องพูดถึง ทุกคนเพื่อการศึกษามากกว่า จาก Education for All มาเป็น All for Education ค่ะ
กอล์ฟคิดว่าคอนเซ็ปต์มันยิ่งชัดขึ้น เมื่อก่อนนี้เราพูดเหมือนเป็นมอตโต้ แต่พอมาทำงานตรงนี้เห็นจริงๆ ว่า คำตอบของมันไม่ใช่การทำงานคนเดียว กสศ. ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ คิดว่าทุกความสำเร็จมันอยู่ที่คนทำงานที่เป็นเครือข่ายด้วยกัน แล้วมันก็เป็นบทสรุปของเราด้วยเหมือนกันนะคะว่า ถ้าจะคิดงานใหญ่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยพลังคนอื่นมาทำงาน แล้วเราก็ต้องมีความสามารถในการทำงานกับคนอื่น คิดว่าอันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่ได้เรียนรู้นะคะ
อันที่สองก็คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่ศาสตร์เดียว มันต้องใช้หลายศาสตร์มากในการทำงานเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นคนทำงานตรงนี้เองก็ต้องมีมุมมองหลากหลาย แล้วถ้าเราไม่มีเราก็ต้องดึงคนหลากหลายสาขาวิชามาร่วมคิดมาร่วมทำ งานถึงจะมีความหมายได้จริงๆ หรือว่าตอบโจทย์ได้จริงๆ
นั่นหมายความว่า ทุกภาคส่วนในสังคมก็ต้องเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันหรือช่วยให้การแก้โจทย์ยากนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น?
ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้สังคมตื่นตัวในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นนะคะ ผ่านการทำงานของเครือข่าย แล้วก็การรณรงค์อะไรต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นสังคมเองมีบทบาทสำคัญแน่นอน
แต่ก็คิดว่าต่อจากนี้จะมีความท้าทายเยอะมาก เพราะเศรษฐกิจดูน่าจะไม่ค่อยดี แล้วความเหลื่อมล้ำน่าจะสูงขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ปัญหามันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เรื่อง Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอะไรอย่างนี้ด้วย ก็คือโจทย์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือกัน
ตอนนี้เราต้องไปสร้างความเข้มแข็งให้ยูนิตที่เล็กที่สุดคือชุมชน เพราะปัญหาทั้งหมดนั้นมาคิดอยู่ตรงกลางเนี่ยไม่เวิร์ก แล้วมันไม่สำเร็จด้วย แต่มันต้องไปที่ชุมชน ดังนั้นโจทย์ก็คือว่าทำอย่างไรให้ระดับล่างเข้มแข็งมากที่สุด แล้วก็ให้มีทรัพยากรมากที่สุด
ก็อยากให้สังคมได้เห็นคำตอบร่วมกันในเรื่องนี้ว่า คำตอบมันอยู่ใกล้ๆ ตัวคุณนั่นแหละ เพียงแต่จากเดิมที่หันไปคนละทาง มันต้องหันหน้ามาเจอกันเพื่อเด็กและเยาวชน คิดว่าจะทำให้เราเดินหน้าได้
อย่างปัญหาล่าสุดที่เราเจอเด็กก่ออาชญากรรมอะไรต่างๆ คิดว่านั้นจริงๆ แล้วปัญหาก็คือสภาพแวดล้อมค่ะ น้องเยาวชนกลุ่มนี้เขาไม่สามารถกระทำผิดได้ด้วยตัวเองนะ สิ่งที่เขาเจอมามันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเขา เพราะฉะนั้นเราต้องหันกลับไปดูจุดที่ใกล้เด็กและเยาวชนที่สุด แล้วทำให้มันเป็นพื้นที่สว่าง เป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์ แล้วก็ใช้การเรียนรู้ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการทำเรื่องนี้ด้วยกัน คิดว่ามันเป็นเรื่องบวกนะคะ การศึกษาเป็นเรื่องบวกไม่มีใครพูดว่ามันไม่ดี น่าจะใช้จุดแข็งของเรื่องนี้ทำงาน แล้วก็ลงไปหน่วยที่ใกล้ที่สุดเกี่ยวกับเด็กเยาวชน คิดว่าอยากจะชวนสังคมมองเรื่องนี้ค่ะ