จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ–หนองศาลาศรีสะอาด มาจากผลประเมินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พบว่า โรงเรียนตกมาตรฐานหลายด้าน หนึ่งในนั้น คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน เพื่อหาทางแก้ไข ผอ.สมรักษ์ พรมมาสุข และครูในโรงเรียน ช่วยกันหาวิธีการสอนใหม่ นั่นคือ Open approach และ Lesson study เป็นจุดที่ทำให้พวกเขาค้นพบว่า เด็กแต่ละคนแตกต่าง มีความคิด ความถนัด และศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีมาตรฐาน คำตอบ หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะวัดความสามารถพวกเขาได้ รูปแบบการสอนแบบเดิมๆ ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยมีหลักเพื่อให้เข้ากับเด็กได้ทุกคน นั่นคือ การสนับสนุนให้เด็กได้คิดและแสดงวิธีคิดในแบบของพวกเขาเอง จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการแค่เปลี่ยนวิธีการสอน กลายเป็นเปลี่ยนระบบทั้งโรงเรียน แปลงเกษตร แผนธุรกิจ และธนาคารโรงเรียน ซึ่งเคล็ดลับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ผอ.สมรักษ์บอกว่า เริ่มมาจากสิ่งหนึ่งที่คนเป็นผู้อำนวยการต้องมี นั่นก็คือ ความกล้า
“ไม่มีเด็กคนไหนโง่ มีแต่เด็กที่มีความคิดไม่เหมือนกัน” คือคำตอบของครูฉัตรชัย ดีเลิศ ครูคณิตศาสตร์ประจำโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ-หนองศาลาศรีสะอาด
เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่าง มีความคิด ความถนัด และศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีเครื่องมือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะตัดสินความสามารถพวกเขาได้
บุคลากรโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ–หนองศาลาศรีสะอาด (ต่อไปจะขอเรียกเพียงโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ) โรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง นักเรียน 274 คน ตั้งอยู่ในอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ พวกเขาเชื่อว่า เด็กแต่ละคนแตกต่าง วิธีการสอนแบบเดิมที่มีคำตอบเพียง ‘ถูกหรือผิด’ ใช้กับเด็กๆ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนการสอนแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับเด็กได้ทุกคน นั่นคือ การสนับสนุนให้เด็กได้คิดและแสดงวิธีคิดในแบบของพวกเขาเอง
ขณะที่รถของเราขับเข้ามาในตัวโรงเรียน หากมองแค่ภายนอก โรงเรียนบ้านโนนแสนคำก็เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป มีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยตึกเรียน แต่ละตึกมีความสูงไม่มากนักประมาณ 2 ชั้น ภายในตึกมีห้องเรียนอยู่ประมาณ 4-5 ห้อง แบ่งเป็นตึกละชั้นเรียน แต่เรารู้ว่ามีสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้อาคารปูนเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ทำให้โรงเรียนบ้านโนนแสนคำแตกต่างจากที่อื่นๆ และนั่นเป็นภารกิจของเราสำหรับการมาโรงเรียนครั้งนี้
เมื่อย่างเท้าก้าวลงจากรถ ภาพแรกที่สะดุดตาคือภาพของนักเรียนที่กำลังเก็บขยะ พวกเขากระจายตัวอยู่ทั่วโรงเรียน บ้างจับกลุ่มเก็บที่สนามฟุตบอล บ้างจับไม้กวาดกวาดพื้นบริเวณทางเดิน มากกว่านั้น ไม่มีเด็กคนไหนสวมชุดนักเรียนแต่สวมชุดไปรเวทแทน
“ทุกวันศุกร์เราจะให้เด็กๆ แต่งกายอย่างอิสระ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง” คำตอบแรกจากปากสมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน นี่เป็นหนึ่งในไอเดียที่ ผอ.สมรักษ์ ได้จากการไปทัวร์สำรวจโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ที่โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับวิธีการเรียนรู้ของที่นี่ คือ ฝึกให้นักเรียนคิดโดยใช้วิธีเรียนแบบเปิด (Open approach) พร้อมกับติดตั้งทักษะผู้ประกอบการให้นักเรียนผ่านการคิดโปรเจกต์ธุรกิจ และธนาคารโรงเรียน
เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ด้วยการฝึกให้เด็กคิดผ่านวิธี Open approach
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนมาจากการประเมินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เมื่อ พ.ศ. 2550 ผลการประเมินพบว่า โรงเรียนบ้านโนนแสนคำตกมาตรฐานหลายด้าน หนึ่งในนั้น คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
เพื่อหาทางแก้ ผอ.สมรักษ์ และครูในโรงเรียนพากันเริ่มต้น ‘ทัวร์โรงเรียน’ เดินทางไปสำรวจโรงเรียนต่างๆ ว่าจัดการเรียนการสอนแบบไหนบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้ในโรงเรียน แต่ก็ยังไม่เจอวิธีที่จะนำมาปรับใช้กับโรงเรียนของพวกเขาได้ จน ผอ.สมรักษ์ ได้ไปเจอกับกระบวนการสอนของ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กล่าวถึงกระบวนการสอนที่ใช้วิธีการสอนแบบเปิด (open approach) และการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (lesson study)
สมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ
“วิธี open approach เป็นกระบวนหรือนวัตกรรมการสอนอย่างหนึ่งที่มองว่าครูต้องให้นักเรียนหาคำตอบ หาวิธีที่เหมาะสมด้วยตัวของเขาเอง วิธีการมีอยู่ 4 ขั้นตอน คือ หนึ่ง -ตั้งโจทย์ปัญหาในห้องเรียน สอง -ให้นักเรียนลองหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง สาม -ให้นักเรียนออกมานำเสนอวิธีแก้ปัญหาตามความคิดของตัวเอง สี่ -แลกเปลี่ยนคำตอบกันในห้องเรียน และสรุปเป็นความรู้ร่วมกัน
“ส่วน lesson study คือการให้ครูออกแบบแผนการเรียนรู้ร่วมกัน ครูแต่ละคนจะนำแผนการเรียนที่ออกแบบไว้มานำเสนอในที่ประชุม แล้วให้ครูท่านอื่นๆ ช่วยกันดูว่าแผนการเรียนนี้ เด็กได้อะไร ไม่ได้อะไรบ้าง เมื่อนำไปสอนเสร็จก็กลับมาคุยกันอีกครั้งว่าผลที่ได้เป็นยังไง”
ด้วยวิธีดังกล่าวที่ดูแปลกใหม่ สร้างความสนใจให้กับ ผอ.สมรักษ์ และครูในโรงเรียน พวกเขาตัดสินใจนำวิธีนี้มาทดลองใช้กับวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาแรก ส่วนเด็กๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการทดลองในครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.4
ผอ.สมรักษ์ เล่าว่า ช่วงแรกๆ ของการทดลอง ตัวเขาเองและครูในโรงเรียนยังไม่ค่อยเชื่อว่าวิธีนี้จะแก้ปัญหาการคิดวิเคราะห์ของเด็กๆ ได้ เพราะมันแตกต่างจากรูปแบบการสอนเดิมที่พวกเขาคุ้นเคย วิธีการสอนแบบนี้จะเน้นให้นักเรียนเป็นคนคิดหาวิธีเอง ส่วนครูจะเป็นเพียงคนคอยชี้แนะ ทำหน้าที่สังเกตการณ์ (Observer) แนวคิดที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานของนักเรียน แต่เพราะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนหลังจากทดลองใช้วิธีการดังกล่าว จากที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ กลับกลายเป็นอยากเรียนมากขึ้น ในคาบเรียนเองเด็กก็กล้าตอบคำถาม ไม่รู้สึกกลัว ถึงขั้นหมดคาบแล้วยังชวนครูสอนต่อ
“พอเอาวิธีนี้มาใช้ พ่อสังเกตว่าเด็กที่เก่งจะไม่พูด จะนิ่ง ถามก็ไม่อยากจะตอบ ส่วนเด็กอ่อนตอบทุกคำถามเลย พอมาคุยกับครูก็ได้ข้อสรุปว่า เด็กเก่งอาจจะติดอยู่กับ ‘ถูก – ผิด’ เพราะเวลาเขาตอบทุกครั้งครูจะบอกว่าถูกตลอด พอเที่ยวนี้ตอบครูไม่บอกถูกหรือผิด แต่ถามกลับไปว่า ‘ลูกมีวิธีคิดยังไง’ แทน
“มันยิ่งเห็นความแตกต่างตอนประชุม ที่โรงเรียนจะมีประชุมทุกวันศุกร์ โดยครูจะคิดประเด็นมาคุยกับนักเรียน เช่น ‘ตอนนี้โรงเรียนมีขยะเยอะขึ้น เราจะแก้ไขยังไงดี’ ให้เขามีส่วนร่วมกับโรงเรียน ปรากฎว่าเด็ก ป.1 กับป.4 ที่เข้าร่วมโครงการตอบทั้งหมดเลย เขากล้าที่จะพูด กล้าที่จะเสนอความคิดตัวเอง ต่างจากเด็กที่ไม่ได้เข้าโครงการ
“เด็กเขาจะมองครูเป็นเหมือนพี่ เพื่อน ที่ปรึกษาของเขา เขาจะไม่กลัวครู เมื่อก่อนกลัวครูทำโทษ ตอนนี้บอก ‘ครูจะทำโทษหนูเรื่องอะไร’ (หัวเราะ) เด็กสามารถบอกเหตุผลได้ว่าหนูทำแบบนี้เพราะเหตุผลนี้”
สมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ
พอฟังสิ่งที่ ผอ.สมรักษ์อธิบาย ก็กระตุ้นต่อมความอยากรู้ของเราที่อยากไปสัมผัสกับบรรยากาศในห้องเรียน เราขออนุญาต ผอ.สมรักษ์ ไปสำรวจการสอนในห้องเรียน ด้วยความที่ตอนนี้เป็นเวลาช่วงเช้า เด็กๆ ยังคงนั่งเรียนในห้อง เราเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ซึมซับบรรยากาศในโรงเรียน จนไปหยุดอยู่ตรงตึกด้านในสุดของโรงเรียน เป็นตึกที่มี 2 ห้องเรียน ป้ายข้างหน้าห้องเขียนไว้ว่าห้องเรียน ป.2/1 และห้องเรียน ป.2/2 บรรยากาศภายในห้องเรียนค่อนข้างเงียบ เด็กๆ นั่งแยกโต๊ะใครโต๊ะมัน แต่ละคนกำลังจดจ่อกับกระดาษที่อยู่ตรงหน้า
ครูอัจฉริยา คุณมาศ ที่กำลังดูแลห้องดังกล่าว เดินมาต้อนรับเราพร้อมกับอธิบายให้ฟังว่า ตอนนี้เด็กๆ กำลังฝึกทำข้อสอบคณิตอยู่ ระหว่างรอเด็กๆ ให้ทำข้อสอบเสร็จ เราถือโอกาสชวนเธอคุยถึงการเรียนการสอนของที่นี่
การพูดคุยกันเบื้องต้นทำให้รู้ว่าครูอัจฉริยาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เธอเป็นครูกลุ่มแรกๆ ที่ทดลองใช้วิธี open approach และ lesson study ในห้องเรียน ครูอัจฉริยาเริ่มต้นอธิบายการสอนของเธอด้วยการให้ดูหนังสือประกอบการสอน เป็นหนังสือเรียนที่แปลมาจากหนังสือเรียนของประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้แปล เธอเปิดหนังสือให้ดูพร้อมกับอธิบายว่า ในหนังสือเขาจะสอนเด็กเรียนเลขผ่านการทำกิจกรรม
ครูอัจฉริยา คุณมาศ
หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์ แบบ open approach และภาพกิจกรรมในโทรศัพท์มือถือที่ครูอัจฉริยานำไปสอนจริงในห้องเรียน
“การสอนที่นี่เราเน้นให้เด็กได้สัมผัสกับของจริง อย่างสอนบวกลบในหนังสือจะให้เด็กนับของ เราก็หยิบสิ่งที่มีอยู่ในบทเรียนมาทำจริงๆ ให้เด็กสามารถสัมผัสได้ เด็กจะเข้าใจมากขึ้น ในหนังสือเขาจะมีแอปเปิ้ล ส้ม เค้ก เราก็หามาเตรียมแบบในหนังสือเลย แต่ถ้าอันไหนหาไม่ได้ เช่น เค้กก็เปลี่ยนเป็นพายแทน ในหนึ่งคาบเรียนเราจะมีโจทย์คณิตศาสตร์ให้เด็กทำ 1 ข้อ ใช้เวลาทั้งคาบ
“วิธีการสอนเราจะให้เด็กๆ เป็นคนหาคำตอบเอง เด็กแต่ละคนเขาจะมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน บางคนอาศัยวิธีนับเอา หรือบางคนแยกเป็นตัวประกอบ บางคนวาดรูป พอเด็กคิดเสร็จเราจะให้เขาออกมานำเสนอวิธีคิดหน้าห้องให้เพื่อนฟัง ถ้าคนไหนได้คำตอบที่ไม่ถูก เราจะพยายามให้เขาออกมาก่อน เผื่อว่าคนข้างในจะได้ช่วยกันดู เด็กๆ เขาจะเป็นคนสงสัยเองว่าทำไมได้เท่านี้ ครูจะเป็นแค่คนคอยกระตุ้นคำถามให้กับเขา ‘หนูลองอธิบายวิธีหาคำตอบของหนูให้เพื่อนๆ ฟัง’ เพื่อนๆ เขาจะช่วยกันบอก ช่วยกันอธิบายว่าคำตอบจริงๆ ต้องเป็นเท่าไร สุดท้ายเด็กที่คำตอบไม่ถูกจะเข้าใจว่าวิธีการคิดเขายังคลาดเคลื่อนอยู่ เขาจะยอมรับที่เพื่อนๆ บอก”
ครูฉัตรชัย ดีเลิศ เป็นครูอีกคนที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ เล่าให้เราฟังว่า ช่วงที่เขาสอนแรกๆ วิธีการสอนของครูฉัตรชัยเน้นให้เด็กจำเนื้อหา พยายามหาคำตอบถูก-ผิดด้วยวิธีการเดียว ทำให้นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่เขาสอน พาลไม่อยากเรียนต่อ
“ตอนแรกๆ เนื้อหาที่เราสอน เด็กบางคนเข้าใจง่าย บางคนสอนแล้วสอนอีก บางคนไม่เข้าใจเลย เราก็ทำจนรู้สึกว่าเหนื่อย เด็กๆ เขาก็พากันไม่เอา ไม่ชอบ ไม่เรียนเลย จนเกิดคำถามในใจ ‘เราจะสอนไปทำไม’ ‘เราจะสอนอะไรเด็กดี? สอนไปเขาก็ไม่รับกัน’ จนเจอวิธีนี้ที่ครูควรสอนให้เด็กคิดนะ ก็เลยปิ๊งไอเดียได้พอดี ส่วนตัวเรารู้อยู่แล้วว่าจะสอนเนื้อหาอะไรให้เขา ที่เพิ่มเติมคือมีวิธีมาช่วยทำเด็กให้เข้าใจมากขึ้น
ครูฉัตรชัย ดีเลิศ
“พอเปลี่ยนแล้วบรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น จากที่เราเคยเป็นครูที่เข้มงวดมาก เราฟังนักเรียนมากขึ้น เพราะนักเรียนบางคนได้คำตอบไม่เหมือนกัน คนที่เราไม่เคยคาดหวังว่าเขาจะทำได้ ก็หาคำตอบด้วยวิธีการของเขา เน้นให้หลากหลายวิธี ยิ่งหลากหลายยิ่งดี วิธีการสอนแบบนี้เอื้อให้เด็กได้คิดในแบบของตัวเอง ครูไม่ต้องเหนื่อยมานั่งคาดหวังว่าเด็กต้องคิดแบบครูเท่านั้น วิธีอาจจะไม่ถูกแต่เห็นแนวคิดของเขา วิธีไหนก็ได้ขอให้ได้คำตอบ”
ครูฉัตรชัยอธิบายต่อว่า แม้ว่ากระบวนการสอนแบบนี้มันจะทำให้ครูต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องเตรียมสื่อที่เน้นใช้ของจริง คิดสถานการณ์ปัญหาอิงกับความเป็นจริง เพื่อให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ความสนุกทั้งครูและตัวนักเรียนเอง ไม่มีนักเรียนคนไหนถูกทิ้ง ไม่มีการตีตราเด็กว่า ‘โง่’ ‘ไม่เก่ง’ เพราะเด็กทุกคนมีวิธีคิดของตัวเอง
มันจะมีเด็กคนหนึ่งถ้าเรียนวิธีเดิมเขาจะถูกบอกว่าโง่ เป็นเด็กหลังห้อง แต่พอเรียนด้วยวิธีนี้ปุ๊บ เวลาครูถามว่า ‘ใครคิดได้ไหม’ เด็กหัวอ่อนคิดได้ทันที เพราะมันไม่มีอะไรกดดันเขา ไม่มีสูตรตายตัว ทีนี้ก็จะไม่มีเด็กโง่ละ มีแต่เด็กที่มีความคิดไม่เหมือนกัน
ครูฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย
เตรียมให้เด็กเป็นผู้ประกอบการ ผ่านการคิดโมเดลธุรกิจ ธนาคารโรงเรียน และภาษาอังกฤษ
เมื่อวิธีคิดของนักเรียนเปลี่ยนไป เด็กกล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ไม่กลัวเรื่องถูกผิด เป้าหมายต่อไปของ ผอ.สมรักษ์ คือการนำกระบวนการ open approach ที่ใช้ในห้องเรียนมาให้นักเรียนใช้ในชีวิตจริง ผอ.สมรักษ์ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งให้เราฟัง เป็นช่วงที่โรงเรียนจัดการแข่งขันศิลปะหัตถกรรม มีคนจากโรงเรียนอื่นๆ มาพักที่โรงเรียน 300 กว่าคน
ผอ.สมรักษ์ เกิดไอเดียชวนเด็กนักเรียนในโรงเรียนมาคิดโปรเจกต์ธุรกิจ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นคนที่มาเข้าพักโรงเรียนในตอนนั้น นักเรียนจะเป็นคนคิดและทำโปรเจกต์ด้วยตัวเอง ส่วนโรงเรียนจะเป็นคนออกทุนให้
“บางคนขายสินค้า บางคนทำของที่ระลึก บางคนก็เลือกเป็นมัคคุเทศก์ ปรากฎว่าเด็กๆ ได้กำไรเกือบทุกกลุ่ม ขาดทุนแค่กลุ่มเดียว ตั้งแต่นั้นมาเด็กเขาก็กล้าคิดโปรเจกต์มากขึ้น แล้วนำมาเสนอเรา อย่างตอนนี้ก็มีเสนอว่าอยากทำตลาดนัด”
พอเด็กๆ คิดและทำให้โปรเจกต์นั้นเกิดขึ้นมาได้จริง ผอ.สมรักษ์ก็เกิดไอเดียต่อว่า อยากสอนให้เด็กรู้จักกับ ‘ระบบ’ การเงินทั้งระบบ เพราะการทำธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ จึงเกิดเป็นไอเดียก่อตั้งธนาคารโรงเรียนขึ้นมา โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อติดตั้งทักษะผู้ประกอบการให้กับนักเรียน โดยมีโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นโคชให้
“โรงเรียนมีชัยพัฒนาเขาเคยมาสอนเราทำแปลงเกษตร ซึ่งโรงเรียนของเขาก็ทำฐานการผลิต-ขายสินค้าเอง พ่อก็มานั่งคิดว่า ถ้าเราผลิตเป็นอย่างเดียวแต่ไม่รู้วิธีขายมันก็ไม่ได้ เลยลองให้เด็กๆ เขาคิดตลาดขายสินค้าที่เราผลิต
“มันเลยจำเป็นต้องมีธนาคารเพื่อฝึกเด็กให้รู้จักการบริหารเงิน ธรรมชาติของวงจรเงินก็มีทั้งการฝาก ถอน กู้ การที่เราลองให้เด็กมากู้เงินไปทำธุรกิจ ถือเป็นการสอนให้เขามีวินัยในการใช้จ่ายเงินว่า ‘เราต้องรับผิดชอบสิ่งที่เรากู้’
“ชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนก็สนใจมาเข้าร่วมขอกู้เงินด้วย โรงเรียนมีชัยพัฒนาเองก็ส่งเงินทุนมาช่วยเหมือนกัน ตอนนี้เราเริ่มทำธนาคารโรงเรียนมาได้ 4 – 5 เดือนแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงให้เด็กมาฝากเงิน ต้องรอให้ครบ 6 เดือนถึงจะปล่อยให้เด็กกู้ได้
“ขั้นตอนการกู้ นักเรียนต้องทำโปรเจกต์มาก่อนว่า กู้เงินแล้วจะเอาไปทำอะไร จะเอาไปทำธุรกิจกับกลุ่มตัวเอง หรือทำกับพ่อแม่ก็ได้ เวลานักเรียนนำเสนอจะมีคณะกรรมการที่เขาจะพิจารณา ไปดูสถานที่ทำธุรกิจ แล้วถ้าผ่านก็อนุมัติเงิน สมมติถ้าเด็กทำธุรกิจแล้วขาดทุน เราก็ไม่ได้ไปปรับเงินหรือยึดทรัพย์เด็กๆ แต่ให้เขาทำงานแทน เช่น ล้างห้องน้ำโรงเรียน เป้าหมายเราแค่ให้เด็กรู้จักระบบการเงิน สร้างวินัยให้กับพวกเขา”
แต่แค่ให้เด็กรู้จักคิดโมเดลธุรกิจ เข้าใจระบบการเงินอาจจะยังไม่พอสำหรับการมีทักษะผู้ประกอบการ ‘ภาษา’ เป็นสิ่งที่ผอ.สมรักษ์อยากพัฒนาต่อ เขาบอกว่า การพัฒนาภาษาอังกฤษในประเทศไทยมีมานาน แต่ยังไม่ก้าวหน้า เพราะเด็กๆ ยังเอามาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้สิ่งที่โรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ วางแผนทำ คือการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียน โดยเริ่มจากคาบวิชาภาษาอังกฤษที่ให้ครูพูดอังกฤษอย่างเดียว หากได้ผลจะขยายไปใช้ในวิชาอื่นๆ
“โลกต่อไปมันต้องแข่งด้านภาษา ตอนพ่อไปญี่ปุ่น พ่อไม่เข้าใจภาษาเขาเลย ต้องอาศัยแอปพลิเคชันช่วยแปลเอา พ่อรู้สึกว่ามันไม่ได้ละ ก็เลยกลับมาคิดถึงเด็กของเราว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ภาษา การพัฒนาของเขาก็จะมีขีดจำกัด ไปคุยกับมูลนิธิพุทธรักษา เขากำลังทำโครงการสอนภาษาอังกฤษ เราขอให้เขามาช่วยสอนภาษาให้เด็กเรา
“มูลนิธิจะทำโปรแกรมการสอนภาษาอังกฤษให้เรา ส่งครูภาษาอังกฤษจากมูลนิธิมาให้โรงเรียน แล้วจะพาครูของเราไปอบรมช่วงปิดภาคเรียน พ่อเองก็จะไปคุยกับศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ใกล้โรงเรียนเรา ขอเด็กเขามาเรียนกับเราด้วย เพราะมูลนิธิพุทธรักษาบอกว่า ถ้าฝึกตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ จะดี
“ความรู้เดียวนี้มันอยู่ในอากาศ อยู่ในทุกที่ เราต้องรู้วิธีการดึงความรู้พวกนี้มาใช้อย่างมีสมรรถนะ หมายถึงใช้อย่างมีคุณธรรม ใช้อย่างถูกวิธีการ เด็กไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียนก็ได้ สอนให้เขาหาความรู้เอง สมัยนี้เด็กหาความรู้จากกูเกิลมาตอบครู”
ครูพัฒนาแผนการสอนด้วยวิธี Lesson study และ ผอ. สนับสนุนให้ครูออกไปหาประสบการณ์
แน่นอนว่าเบื้องหลังของการเรียนการสอนแนวใหม่ต้องมาจากการทำงานทุ่มเทของคุณครู เบื้องหลังการออกแบบการเรียนการสอนคุณครูที่นี่ใช้วิธี lesson study
lesson study ช่วยเปลี่ยนแปลงครูได้อย่างไร ครูอัจฉริยาอธิบายขั้นตอนให้เราฟังว่า จากเมื่อก่อนที่ครูต่างคนต่างคิดแผนการสอนของตัวเอง ก็เปลี่ยนให้เอาแผนการสอนของตัวเองมานำเสนอในที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดี เพื่อให้ครูคนอื่นๆ ช่วยกันแชร์ความคิดเห็นว่าแผนการสอนมีอะไรที่ควรแก้หรือเพิ่มเติม เธอใช้คำว่า ‘เรียนรู้ด้วยกัน’
เพราะมนุษย์เรามีความคิด มุมมอง หรือความถนัดไม่เหมือนกัน การให้ครูช่วยกันดูแผนการสอนของแต่ละคน ก็เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายขึ้น มันอาจมีบางอย่างที่คนนี้มองข้าม อีกคนเข้ามาช่วยเติม สิ่งสำคัญคือ อิสระที่ครูทุกคนได้รับ พวกเขาสามารถครีเอทการสอนของตัวเองได้ 100% รวมไปถึงการออกไปหาวัตถุดิบมาเติม อย่างเช่น ประสบการณ์ ครูอัจฉริยาเล่าว่า ที่โรงเรียน ผอ.สมรักษ์ จะคอยจัดทริปพาครูไปศึกษางานตลอด ทริปส่วนใหญ่เริ่มจากการถามความเห็นครูว่า ‘อยากเรียนรู้เรื่องอะไร’ พอได้เป้าหมายก็ทำการจัดทัพเดินทางไปเรียนรู้ทันที
“มีทริปหนึ่งที่พี่ประทับใจ เป็นทริปพาไปดูโรงเรียนรุ่งอรุณ ไปแล้วเหมือนเปิดมุมมองเราได้เห็นอะไรใหม่ๆ มีวิธีการหลายอย่างที่เราเห็นแล้วชอบอยากเอามาใช้ที่โรงเรียน แต่บริบทมันแตกต่างกัน เราก็เอามาปรับใช้แค่บางอย่าง เช่น ที่โรงเรียนรุ่งอรุณเขาจะให้เด็กแต่งชุดไปรเวท เราก็เอามาลองทำเริ่มจากแต่งทุกวันศุกร์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองๆ เขาก็เห็นด้วยนะ เขาบอกว่า ‘ดี ไม่ต้องซื้อชุดเพิ่ม สามารถใส่ชุดที่มีได้’ ตัวพี่เองก็คิดว่าการเรียนกับความตั้งใจมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ชุด ส่วนอันที่เรายังทำไม่ได้ เช่น ระบบการแยกขยะ เขาทำหลายขั้นตอนมากต้องใช้เงินทุน เรายังไม่มีเงินสำหรับส่วนนั้น ก็แยกขยะเท่าที่เราทำได้”
พอฟังทำให้เราได้คิดว่า มุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้อำนวยการไม่สนับสนุน ผอ.สมรักษ์ เล่าว่า วิธีการ open approach และ lesson study กลายเป็นตัวจุดประกายให้ตัวเขาและครูในโรงเรียนได้คิดว่า ‘วิธีการที่เหมาะสมกับเรามีอะไร’ และอยากที่จะหาวิธีที่เหมาะสม
“คนอื่นมองเห็นสิ่งที่เราทำอาจจะคิดว่าเราเก่ง จริงๆ เราไม่เก่งไม่รู้เรื่องอะไรเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ แต่พ่อเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ เชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันถูก สิ่งหนึ่งที่คนเป็น ผอ. ต้องมีก็คือความกล้า เพราะบางทีสิ่งที่เราทำมันอาจจะไปตีกับระเบียบกระทรวง ตีกับความรู้สึกคนอื่น
“อีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้บริหารต้องเปิด ไม่ใช่บอกว่าครูต้องสอนแบบนี้ๆ เท่านั้น เพราะครูแต่ละคนเขาจะมีวิธีคิดวิธีการของเขาเอง เราทำหน้าที่สนับสนุน”
จากความคิดนี้ทำให้ ผอ.สมรักษ์ ติดตั้งเครื่องมือให้ครูในโรงเรียน ด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาออกไปหาประสบการณ์จากข้างนอก ถ้ามีโควต้าสามารถส่งครูไปต่างประเทศได้ ผอ.สมรักษ์ให้คำมั่นว่าจะส่งครูไป เพื่อให้ไปสัมผัสกับโลกภายนอกและนำมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง
“ถ้าครูไม่ตระหนักว่าตัวเองอยากรู้มันไม่รู้หรอก ตราบใดที่ครูอยากจะรู้มันจะรู้ ก่อนครูอยากจะรู้คงจะต้องมองให้เห็นถึงความจำเป็นที่อยากจะรู้ นั่นคือศิษย์ ถ้าครูรักนักเรียน รักที่จะสอน ครูถึงอยากจะรู้ อยากจะหาวิธีอื่นๆ มาสอนนักเรียนของตัวเอง”
ผอ.สมรักษ์