- การประกาศย้ายการเรียนการสอนของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้นักศึกษาต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน แม้ตอนแรกจะมองว่าเป็นข้อดีที่พวกเขาจะไม่ต้องเสียเวลาตื่นเช้าและแต่งตัวเดินทางไปมหาวิทยาลัย แต่ในตอนนี้การเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของชีวิตนักศึกษา
- คิดถึงบ้าน แต่กลับไม่ได้, ช่วงเปลี่ยนจากนักศึกษากลายเป็นคนว่างงาน, ในเวลาที่ไม่สามารถออกไปไหนได้และบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย และเสียโอกาสค้นหาตัวเอง 4 ความรู้สึกของนักศึกษาในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้
การประกาศย้ายการเรียนการสอนของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้นักศึกษาต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน แม้ตอนแรกจะมองว่าเป็นข้อดีที่พวกเขาจะไม่ต้องเสียเวลาตื่นเช้าและแต่งตัวเดินทางไปมหาวิทยาลัย แต่ในตอนนี้การเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของชีวิตนักศึกษา
- คิดถึงบ้าน กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
- เส้นบาง ๆ ระหว่างนักศึกษากับคนว่างงาน
- เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แต่ในเวลาแบบนี้จะออกไปไหนได้
- เสียโอกาสค้นหาตัวเอง
ความคิดเหล่านี้เป็นความรู้สึกของ 4 นักศึกษา ที่ผู้เขียนรู้จักและได้พูดคุยต่อสถานการณ์ในตอนนี้ เพราะอนาคตของพวกเขาขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนและไม่สามารถวางแผนได้ รวมไปถึงสภาพจิตใจที่เหมือนขาดเลือดที่จะสูบฉีดความสุขที่จะทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตนักศึกษาได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
เด็กต่างจังหวัดที่ต้องมาเรียนในกรุงเทพฯ จะมีโอกาสกลับบ้านเมื่อถึงเทศกาลหรือธุระสำคัญเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่พวกเขารอคอยมากที่สุดก็คือช่วงปิดเทอมของแต่ละภาคเรียน ถึงจะเป็นเวลาไม่นาน แต่การกลับบ้านคือการชาร์จพลังให้กับตัวเองที่ล้อมรอบไปด้วยคนที่รัก
‘ปอ’ คือหนึ่งในเด็กต่างจังหวัดที่ต้องมาเรียนในกรุงเทพฯ และไม่ได้กลับบ้านมานานเกือบ 5 เดือน ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเธอหวังว่า จะกลับบ้านตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานแต่การกลับบ้านคือการชาร์จพลังให้กับตัวเองที่ล้อมรอบไปด้วยคนที่รัก แต่การปิดระบบขนส่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้เธอไม่สามารถกลับบ้านในจังหวัดยโสธรได้
“ตอนแรกเราคิดว่าสอบเสร็จแล้วจะกลับบ้านเลย เพราะว่าเขายกเลิกฝึกงาน แต่ในช่วงนั้นเรานั้นก็เสพข่าวเกี่ยวกับโรคนี้จากสื่อโซเชียลมีเดีย เจอเคสต่าง ๆ เเละมีข่าวบอกว่าถึงจะไม่มีอาการไข้ก็อาจจะติดเชื้อได้ เสพหนักมากจนเริ่มสงสัยเเละกลัวว่าเราคือหนึ่งในคนที่ติดเชื้อไหม เพราะตัวเราเองก็มีอาการไอแล้วก็ปวดหัว ขนาดอยู่ในหอเราใส่แมสปิดปากตลอด เลยตัดสินใจไปตรวจคิดว่า เป็นหรือไม่เป็นไม่รู้ แต่ไปตรวจอย่างน้อยก็ได้ยามากิน แต่โชคดีที่ผลตรวจเราได้เข้าห้องแล็ปก็เลยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผลก็คือเราไม่ได้ติดโควิด แต่ก็กักตัวเองไปอีก 14 วันหลังจากนั้น
“การไปตรวจก็ส่งผลต่อการตัดสินใจในการกลับบ้านนะ เพราะโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เสี่ยง เราไม่รู้ว่าคนที่นั่งข้างๆ เรา เขาติดเชื้อไหม แล้วตอนนั้นก็เป็นช่วงที่รัฐบาลขอความร่วมมือว่าอย่าเคลื่อนย้ายตัวเอง ก็เลยโทรศัพท์ไปคุยกับพ่อแม่ มันเป็นอารมณ์คนป่วยแบบ ‘คิดถึงพ่อแม่จังเลย ถ้าได้อยู่กับพ่อแม่ก็น่าจะดี’ แต่พ่อแม่บอกว่ารอสถานการณ์ดีขึ้นก่อนค่อยกลับ เพราะในการเดินทางขึ้นรถเมล์ รถตู้ หรือรถทัวร์ต้องเจอคนเยอะๆ จะได้ไม่เป็นการไปรับเชื้อ
“การคิดถึงบ้านตอนที่มีกับไม่มีโควิดมันต่างกันนะ มองว่าคิดถึงบ้านตอนไม่มีโควิดมันสามารถควบคุมได้ เราเป็นหวัดเรากินยาเราก็หายได้ และวางแผนเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่พอเป็นช่วงที่มีโควิด เหมือนคาดเดาอะไรไม่ได้เลยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ ไร้จุดหมาย ไร้การควบคุม เพราะวางแผนอะไรไม่ได้เลยตอนนี้อยากกลับบ้านและคิดถึงบ้านมาก อย่างน้อยการได้อยู่กับครอบครัวก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว ช่วงนี้ก็คอลเฟสบุ๊กกับที่บ้านบ้างอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง พอให้หายเหงา แต่มันก็ไม่เหมือนกลับบ้าน ก็ยังคิดถึงบ้านอยู่ดี”
เส้นบาง ๆ ระหว่างนักศึกษากับคนว่างงาน
‘เรียนจบแล้ว เราจะทำอะไรต่อไปดี’ เป็นคำถามในใจของนักศึกษาจบใหม่หลาย ๆ คนที่กำลังจะก้าวออกจากออกจากรั้วมหาวิทยาลัย บางคนเลือกที่จะเรียนต่อ บางคนเลือกจะทำงาน หรือบางคนเลือกที่จะหยุดพักก่อนที่จะเริ่มงานครั้งแรก
‘เพชร’ นักศึกษาจบใหม่ที่ยังต้องการเวลาค้นหาตนเองและอยากทำงานพาร์ทไทม์เพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานในสายงานที่ต่างจากที่เรียนมา แต่เมื่อต้องอยู่บ้านป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสภาวะกึ่งกลางระหว่างนักศึกษากับคนตกงาน
“ตอนแรกเราวางแผนว่าหลังเรียนจบ เราจะยังไม่หางานทำ เพราะเป็นคนหนึ่งที่เรียนจบมาแล้วยังหาตัวเองไม่เจอ เลยอยากเข้าไปลองทำพาร์ทไทม์งานอีเวนท์ดูก่อน เพราะตัวเราชอบงานเบื้องหลัง อยากรู้ขั้นตอนและการทำงานว่าเป็นอย่างไร แล้วก็วางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 3-5 ปีเก็บเงินแล้วไปทำงานต่างประเทศ
“แต่ในสถานการณ์ตอนนี้แพลนที่เราคิดไว้พังหมดเลย เราว่าขนาดงานพาร์ทไทม์เล็ก ๆ ทั่วไปก็ไม่น่าจะมี อย่างร้านกาแฟตอนนี้ก็ไม่น่ามีการจ้างงาน รู้สึกแย่มาก ถ้าไม่มีโควิด เราจะทำอะไรก็ได้ หาเงินเองก็ได้ แต่ตอนนี้เงินไม่มี งานก็ไม่มี เป็นสถานะกึ่งกลางระหว่างนักศึกษากับคนว่างงาน เพราะบางงานรับคนที่มีประสบการณ์ แต่ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย เวลาหายไปเปล่า ๆ อ่านข่าวมาเขาก็บอกว่าถึงโควิดจะหายไป แต่เศรษฐกิจก็ฟื้นฟูไม่ได้ตามปกติ แล้วถ้าตอนนั้นมีเด็กจบใหม่มาเพิ่มแล้วงานไม่รองรับกับจำนวนคน แพลนที่คิดไว้ล่มหมดเลยนะ
“อยากลองเรียนทำงานเซรามิกหรือเรซิน เพราะเป็นคนชอบงานฝีมือเหมือนกัน อยากลองทำ แต่ตอนนี้ถ้าจะเริ่มทำเราก็ไม่มีทุน จะไปโครงการ Work&Holiday ที่ประเทศออสเตรเลียก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้การให้วีซ่าการทำงานยังเหมือนเดิมไหม การเตรียมตัวสอบ ค่าสอบก็แพงยังมีเงินที่ต้องอดตัวไปอีก แล้วยังมีปัญหาการเหยียดเอเชียในประเทศแถบยุโรปอีก เพราะฉะนั้นตอนนี้เราอยากจะลองหางานพาร์ทไทม์ดูก่อนหรือทำงานออนไลน์ คิดว่าถ้าเรามีงาน มีเงินเราจะไปไหนก็ได้ แต่ก็ยังกังวลว่าการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป”
เส้นทางของนักศึกษาจบใหม่จะเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน บางคนต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง ซึ่งโอกาสเหล่านี้กำลังถูกขยับออกไปเรื่อยๆ
เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย แต่ในเวลาแบบนี้จะออกไปไหนได้
บ้าน คือ ความสบายใจ แต่อาจไม่ใช่เสมอไป เพราะ ‘เฟิร์น’ นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต อยากใช้เวลานอกบ้านมากกว่า กอปรกับเธอคือหนึ่งในคนที่มีภาวะซึมเศร้า เเต่เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้มีการปิดตำบลที่เธออยู่ เวลาปะทะกับคนที่บ้านทำให้เธอออกไปตั้งหลักข้างนอกไม่ได้ การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมจึงเป็นทางเดียวที่เฟิร์นจะสามารถหลีกเลี่ยงคำพูดของคนในครอบครัวที่ทำร้ายจิตใจของเธอ
“มีอยู่ช่วงหนึ่งเราร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เลยตัดสินใจไปหาหมอ เขาก็ให้เราทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าเขาก็บอกว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าระดับกลางและแนะนำว่าให้ออกกำลังกายหรือไปเที่ยว กินยาสม่ำเสมอ จนอาการดีขึ้น จากระดับกลางเป็นระดับน้อยคือไม่ได้ร้องไห้ แต่อารมณ์จะแปรปรวน แต่สถานการณ์ในตอนนี้ที่ทำให้เราต้องอยู่บ้านก็มีบางครั้งที่เรื่องราวของคนรอบข้างทำให้เราคิดมากจนรู้สึกไม่สบายใจ
“ก่อนที่จะมีโควิด ถ้าเราไม่สบายใจเราจะออกจากบ้านไปกินข้าวกับเพื่อน หรือนั่งรับลมทะเล ใช้เวลาในการทบทวนความรู้สึกของตนเอง แต่ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ คือ ไม่แสดงอาการว่าเราคิดมากให้แม่เห็น เพื่อที่เขาจะไม่พูดสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ เลยตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างในห้อง ทั้งกินข้าว เล่นกับแมว โทรศัพท์คุยกับเพื่อน คุยกับแฟน เพราะออกไปไหนไม่ได้
“ชีวิตตอนนี้วนลูปและรู้สึกเบื่อ บางครั้งการอยู่ในห้องคนเดียว อยู่ในที่เดิม ๆ ก็อาจจะมีนึกถึงเรื่องที่ทำให้เราเสียใจบ้าง จนเก็บไปฝันเลย ทำให้นอนไม่หลับ บางวันนอน 7 โมงเช้าตื่น 3 โมงเย็น เริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งภายนอก อย่างน้อยการออกไปเรียน เรายังได้เจอเพื่อนเจออาจารย์ ดีกว่าการต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ส่วนวิธีคลายเหงาก็คือการติดต่อกับเพื่อน ๆ บนสื่อออนไลน์ และหาละครหรือซีรีส์ที่สนใจดู
แม้ว่าห้องสี่เหลี่ยมจะเป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ ‘เฟิร์น’ ไม่สบายใจ แต่ห้องสี่เหลี่ยมก่อให้เกิดความเหงา ที่แม้จะมีคนบนโลกออนไลน์เป็นเพื่อน แต่คงจะไม่มีความสุขเท่ากับการออกไปเจอคนรอบข้างและสร้างรอยยิ้มไปพร้อมกัน
เสียโอกาสค้นหาตัวเอง
ปิดเทอมของนักศึกษาคือช่วงเวลาของการพักผ่อนอย่างเต็มที่และทำในสิ่งที่อยากทำแต่ทำไม่ได้ในช่วงเปิดเทอม ‘ใบบัว’ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่เสียโอกาสในการพัฒนาทักษะและค้นหาตนเองโดยเฉพาะการฝึกงานเพื่อหาประสบการณ์จากการทำงานจริง เพราะการทำ Social Distancing
“เป็นเวลา 3-4 เดือนที่ทำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกเสียดายโอกาสว่า ควรเป็นปิดเทอมที่ได้ทำอะไรมากกว่าการอยู่บ้าน เดิมแพลนไว้ว่าปิดเทอมจะเรียนขับรถ เรียนภาษา แล้วก็ฝึกงาน เพราะตอนนี้เรียนมาก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร คิดว่าอย่างน้อยการฝึกงานจะทำให้เราได้ลองทำงานจริง ๆ ทำสิ่งใหม่ ๆ อาจจะทำให้เรารู้ว่าตัวเราทำอะไรได้และเหมาะสมกับอะไร และได้ประสบการณ์เพิ่มเติมให้กับตัวเราเอง
“ตอนแรกเราก็ลังเลว่าจะฝึกหรือไม่ฝึกงานดี แต่เราก็อยากจะรู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าอยากจะทำ เราทำได้ไหม ใช้เวลาหนึ่งเดือนในการเตรียมตัวเพื่อสมัครฝึกงาน แต่พอยื่นไป มหาวิทยาลัยก็ประกาศยกเลิกฝึกงาน ก็รู้สึกเสียดายมาก นอกจากฝึกงานแล้ว ก็ยังอยากลองเขียนบทความสั้น ๆ แต่พอมาอยู่บ้านมันหมดแรงบันดาลใจไปหมด
เพราะการหยุดพักผ่อนคือช่วงเวลาในการค้นหาตัวเองและวางแผนอนาคตเพื่อหาคำตอบในชีวิตของตนเอง การปิดเทอมของนักศึกษาก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่พวกเขารอคอยในการหาความสนุกและแรงบันดาลใจ รวมถึงเตรียมพร้อมกับการเรียนรู้ที่ไม่อยู่ในเพียงตำรา แต่เป็นการสอนชีวิตจริงในสังคม
ถึงแม้ว่าการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนต้องอยู่บ้านหรือออกจากบ้านตามที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แต่การรักษาระยะห่างด้วยการ ‘หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ คือการเว้นระยะห่าง เว้นการเจอหน้า เว้นการทำกิจกรรม ทำให้นักศึกษาต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิตเพราะไม่มีสิ่งไหนมาประกันความคิดของพวกเขาได้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่