- ทำความเข้าใจและรู้ที่มาที่ไปในธรรมชาติของเด็กๆ เจนอัลฟ่า (เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป) ว่าทำไมเขาคิดและทำอย่างนี้ เพื่อนำไปสู่การรับมือด้วยวิธีคิดเชิงบวก
- นำขบวนโดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ที่ย้ำว่าในโลกเหวี่ยงเร็ว แรง และไวเช่นนี้ การให้ลูกเรียนวิชาผิดหวัง กับ เปิดโอกาสให้เขาร่วมทุกข์ร่วมสุข คือเกราะอย่างดีที่จะติดตัวเขาไปจนโต
- ท้ังหมดนี้จะไม่สามารถเกิดได้ด้วยพลังงานลบ พ่อแม่ควรรับมือและไปต่อด้วยพลังงานบวก การให้โอกาส ให้อภัย และพลังใจ ภารกิจถึงจะลุล่วง
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
“สู้ๆ นะ”
ประโยคของนักแสดงหญิงในโฆษณาชุดหนึ่ง เป็นโฆษณาที่นำเสนอเรื่องราวของชายหญิงเจนเนอเรชั่นซี (Z) สองคนที่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน ทั้งสองต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกท้อ นักแสดงผู้หญิงจึงได้พูดประโยคข้างต้นเพื่อให้กำลังใจตัวเองผ่านกระจก บอกตัวเองให้ผ่านพ้นปัญหานั้นไปให้ได้
นี่คือโฆษณาที่ถูกฉายภายในงานเสวนา ‘ฟังเสียงลูกด้วยหัวใจ’ จัดโดยชมรมห้องเรียนพ่อแม่ไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ SCB Academy โดยมี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเด็กในเจนเนอเรชั่นซี และ อัลฟ่า (ด้วยหัวใจ)
คุณหมอให้เหตุผลที่เปิดโฆษณาตัวนี้ให้ดูไว้หลายประการ ตั้งแต่การตั้งต้นเข้าใจเด็กในเจนเนอเรชั่นซีและอัลฟ่า การให้กำลังใจ ให้พลังใจ หรือทัศนคติเชิงบวกกับลูกในวันที่เด็กๆ ต้องออกไปเจอกับปัญหา (โดยเฉพาะในวันซึ่ง gap ระหว่างลูกกับผู้ปกครองถ่างกว้างเพราะโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ) จุดนี้พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากๆ ในฐานะ ‘ระบบนิเวศ’ ของลูก
เจนอัลฟ่า อยู่คนเดียวได้ไม่ต้องพึ่งใคร
ก่อนที่จะพูดคุยกันเรื่อง ‘วิธีฟังเสียงลูกด้วยหัวใจ’ รศ.นพ.สุริยเดว อธิบายก่อนว่าธรรมชาติของเด็กในเจนเนอเรชั่นนี้เป็นอย่างไร เพราะนี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่เฉพาะพ่อแม่ที่ปวดหัว ปวดใจ ไม่เข้าใจ แต่ในสนามทำงาน คนในเจนเนอเรชั่นเบเบี้บูมเมอร์ หรือ เจน Y ก็ส่งเสียงกังวลถึงความแตกต่างในธรรมชาติ และต้องหาคู่มือเพื่อทำความเข้าใจความต่างระหว่างวัยนี้เช่นกัน
รศ.นพ.สุริยเดว เจาะจงไปที่ ‘เจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (Gen Alpha)’ หรือเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า สังคมขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว แรง และขนาดใหญ่ ทำให้เด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่ามีลักษณะที่แตกต่างกับเด็กเจนอื่นๆ ดังนี้
ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว (Individualism) เด็กเจนอัลฟ่าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง อาศัยเทคโนโลยีในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น
เชี่ยวชาญเทคโนโลยี (Robust Education Technology Savvy) เทคโนโลยีจะมีบทบาทในชีวิตของเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าเป็นอย่างมาก พวกเขาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยเทคโนโลยีและให้ความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
อาชีพผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Generation) เด็กเจนเนอเรชั่นนี้จะกล้าลองกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ทำให้อาชีพส่วนใหญ่ของคนในเจนนี้เป็นการประกอบธุรกิจ
ขาดการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Less of Human Contact or Relationship) เมื่อสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว การติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นก็น้อยลง แม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง
ได้ความรักท่วมท้น (Extreme Coddle) มาจากการที่พ่อแม่ยุคปัจจุบันมีลูกน้อยลง มีหลานน้อยลง ทำให้ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่และความหวังไปที่ลูกมากเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นปัญหาได้ (หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ก็คือการที่คนคนหนึ่งแชร์ทรัพยากรกับคนในครอบครัวน้อยลง)
ขาดความยืดหยุ่น (Less of Resilience) การใช้ชีวิตผูกติดกับเทคโนโลยีมากเกินไป ก็อาจทำให้เด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่ามีพฤติกรรมคล้ายกับหุ่นยนต์ ใช้ชีวิตประจำวันตามโปรแกรมที่พ่อแม่ตั้งให้ไว้ ห่างไกลจากธรรมชาติและสังคม
คุณธรรมและจิตวิญญาณลดลง (Moral and Spiritual Weakness) เมื่อใช้ชีวิตแบบหุ่นยนต์ความรู้สึกก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป พวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องอดทนคอยอะไร ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง หรือเสียใจกับเรื่องอะไร
ข้อดีของเจนเนอเรชั่นนี้คือรับมือกับเทคโนโลยีได้เร็ว ค้นหาความรู้เก่ง ไม่จำเป็นต้องนั่งในห้องเพื่อรอฟังคุณครูถ่ายทอดความรู้ และด้วยความที่เทคโนโลยีถึงพร้อม พวกเขามีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวเอง ไม่รอ (และไม่จำเป็นต้องรอ) เรียนจบตามขั้นทางการศึกษา ส่วนข้อที่คนเจนเนอเรชั่นเบเบี้บูมเมอร์และ Y เป็นห่วงและบอกว่าเป็นปัญหา คือเรื่องคาแรคเตอร์ เช่น ขาดความยืดหยุ่น มีความอดทนจำกัด ทักษะการร่วมงานเป็นทีมน้อยลง
ความกังวลที่สุดไม่ใช่การตัดสินว่าเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าจะ ‘นิสัยไม่ดี’ แน่ๆ เลย แต่คือการเตรียม ‘สภาพแวดล้อม’ อุดช่องโหว่เรื่อง soft skills ให้พวกเขาเติบโตอย่างเต็มพร้อมโดยเฉพาะทางจิตใจ
จุดนี้จึงตามมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูของคนในบ้านที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า ซึ่งรศ.นพ.สุริยเดวถือว่าจำเป็นมาก ในฐานะที่พ่อแม่เป็นผู้ใกล้ชิดกับลูกที่สุด และพ่อแม่คือระบบนิเวศของลูก การที่ลูกจะออกมาเป็นคนแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู
พ่อแม่เป็นระบบนิเวศของลูก
การที่เด็กจะเติบโตมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด เรียกว่าเป็น ‘ระบบนิเวศ’ ของลูกได้เลย เด็กจะเป็นในสิ่งที่ผู้ปกครองเป็น แม้โตเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่วัฒนธรรมครอบครัวแบบไทยๆ ก็ยังใกล้ชิดกับพ่อแม่เช่นเดิม ทำให้อย่างไรพ่อแม่ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อโลกของลูกเสมอ
“นักแสดงสาวในโฆษณา ถ้าเขาไม่มีพลังใจที่เป็นบวก เวลาที่เจอกับปัญหา การแสดงออกของเขาอาจจะเป็นอีกอย่างไปเลย ถ้าตัวพ่อแม่และครูไม่มีทัศนคติที่บวก ใจไม่เปิด ไม่สามารถอยู่เพื่อให้กำลังใจเขาได้ ภาวะโรคซึมเศร้าคงเกิด”
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวและเพิ่มว่า โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเจนเนอรชั่นอัลฟ่าซึ่งมีธรรมชาติที่อธิบายข้างต้นเจอกับอุปสรรคปัญหา เป็นเรื่องดีทีเดียวที่ผู้ปกครองจะปล่อยให้เขาเผชิญหน้า คอยประคอง
“สำคัญที่สุด คือ รับฟังเสียงของลูก ตรงนี้สำคัญมาก เพราะต้องไม่ลืมว่าช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นมักทำให้คนที่อาวุโสกว่าตั้งแง่เสมอ“
ระบบนิเวศที่คอยประคับประคอง รับฟังอย่างไม่ตัดสิน คือระบบนิเวศที่จะช่วยหนุนเสริมให้เจนเนอเรชั่นอัลฟ่าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
การเลี้ยงดูลูกไม่มีสูตรตายตัว แล้วแต่สไตล์ของแต่ละครอบครัว สิ่งที่ใช้ได้ คือ “ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเราเป็นคนอย่างไร เราก็ต้องเป็นคนแบบนั้น” เช่น พ่อแม่คงไม่อยากให้ลูกโตมาเป็นคนที่อารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย หรือต่อต้านสังคม พ่อแม่ก็ไม่ควรเลี้ยงลูกแบบใช้ความรุนแรง หรือไม่อยากให้ลูกโตมาเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าทำอะไร พ่อแม่ก็ต้องให้อิสระกับลูก ให้เขาสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ ไม่กดดันลูกจนเกินไป
และถ้าหากพ่อแม่อยากให้ลูกโตมาพร้อมความเข้มแข็งและทัศนคติที่เป็นบวก ก็ต้องเริ่มจากการเลี้ยงดู การแสดงออกของพ่อแม่มีผลต่อลูก การควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
“แรงบันดาลใจรวมถึงศรัทธาเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดมาจากพลังงานลบ หากแต่มาจากพลังงานบวก การให้โอกาส ให้อภัย และพลังใจ”
รศ.นพ.สุริยเดว ทิ้งท้ายในเซคชั่นนี้
วิชาความผิดหวัง เกราะป้องกันที่ต้องถูกสร้างในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า
“ที่สวิตเซอร์แลนด์มีโมเดลการศึกษาที่น่าสนใจ มีวิชาที่สอนให้รู้จักผิดหวังและเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมเลย”
เพราะความผิดหวังคือเกราะป้องกันในการทำงาน หนึ่งในธรรมชาติของเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าคือการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่หากดูธรรมชาติของคนรุ่นนี้ในข้ออื่นๆ ทักษะการจัดการตัวเองกลับเป็นกราฟดิ่งลง ‘วิชาผิดหวัง’ จึงควรถูกป้อนคู่ขนานกันไปตั้งแต่ยังเล็ก
ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ให้ลูกลองทำกิจกรรมบางอย่างแต่ลูกทำไม่ได้ ถ้าพ่อแม่เลือกที่จะปลอบลูกด้วยการบอกว่า “ทำไม่ได้ไม่เป็นไรช่างมัน” เด็กก็อาจจะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ทำให้ไม่กล้าลองทำอีก แต่ถ้าพ่อแม่ให้โอกาสเด็กลองพยายามทำ โดยคอยเป็นกำลังใจและช่วยเหลือเขา เมื่อเด็กผ่านไปได้ ความรู้สึกที่เขาจะได้รับ คือ ความกล้าพร้อมสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต
ที่สำคัญ คือ พ่อแม่จะต้องไม่ตั้งเป้าหมายหรือคาดหวังกับลูกมากจนเกินไป เพราะจะสร้างความกดดันให้กับเด็ก ทำให้เวลาที่เด็กไม่สามารถทำตามที่พ่อแม่คาดหวังได้จะทำให้เขารู้สึกแย่ ขาดความมั่นใจ และไม่อยากทำอีกต่อไป พ่อแม่จะต้องคำนึงเสมอว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่าง ถ้าพวกเขาไม่สามารถทำได้หรือพยายามอย่างเต็มความสามารถแล้ว พ่อแม่อาจปลอบใจลูก แล้วบอกให้เขาลองทำใหม่โดยไม่ต้องกดดันหรือกำหนดว่าลูกต้องทำตอนไหน แต่ให้ทำเมื่อเขาพร้อม
ลูกควรได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข
นอกจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการรับฟังความรู้สึกของกันและกัน คุณหมอใช้คำว่า ‘ร่วมทุกข์ร่วมสุข’ ซึ่งประโยคนี้เรามักเจอในบริบทที่พูดถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา คู่ชีวิต พอเอามาใช้กับลูกอาจสร้างความแปลกใจ เพราะบทบาทในครอบครัว พ่อและแม่มักเล่นบทผู้นำ ส่วนลูกเป็นผู้ตาม
ถ้าเป็นความสัมพันธ์ ‘ร่วมทุกข์ร่วมสุข’ แบบพ่อ แม่ ลูก จะทำให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน แชร์ความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ทำให้คำว่าครอบครัวชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างเช่น ลูกอาจไม่ชอบพฤติกรรมบางอย่างที่พ่อแม่ทำกับตัวเอง ถ้าเขาเก็บไว้ไม่กล้าบอกออกมาเพราะกลัว พ่อแม่ก็จะไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำลูกไม่ชอบ หรือเมื่อพูดออกมาแล้ว พ่อแม่ก็ต้องเปิดใจยอมรับฟังสิ่งที่ลูกพูด และเอามาคุยกันเพื่อหาทางออก หรือเวลาที่ครอบครัวเกิดปัญหาอะไรแล้วพ่อแม่ไม่ยอมเล่าให้ลูกฟัง เพราะมองว่าลูกเป็นเด็ก ไม่มีสิทธิรับรู้ จะกลายเป็นว่าพวกเขากันเด็กออกไป เด็กก็จะไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในอนาคตปัญหานั้นอาจจะส่งผลกระทบกับตัวเด็กเอง พ่อแม่จึงควรแชร์ เล่าปัญหาให้ลูกฟัง อาจจะเล่าโดยไม่ได้หวังให้ลูกมาช่วยแก้ไข แต่เพื่อทำให้ลูกรู้สึกถึงความสำคัญว่าเขาก็เป็นสมาชิกสำตัญคนหนึ่ง มีสิทธิที่จะรับรู้ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว
“ความรักแบบร่วมทุกข์ร่วมสุข รักของพ่อแม่ที่มีให้ลูกต้องรู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุข การที่ลูกเจอกับความทุกข์ยาก ไม่ได้เจอแต่ความสุขเท่านั้น จะทำให้ลูกมีพลังฮึดสู้”
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครอบครัว คือ การรับฟัง ทั้งพ่อ แม่ และลูกต่างก็ต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี แชร์ความรู้สึกของกันและกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้มแข็งขึ้น
สุดท้ายแล้วทั้งเด็กรุ่นใหม่อย่างเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า เด็กเจนเก่า หรือเด็กเจนในอนาคต ล้วนแล้วแต่ต้องการทัศนคติพลังบวกในการใช้ชีวิต ซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็ได้มาจากพ่อแม่ที่เป็นระบบนิเวศของพวกเขา คนที่คอยสั่งสอน คนที่เป็นต้นแบบของพวกเขา