- โลกไม่ได้สนใจว่า ‘คุณรู้อะไร’ แต่สนใจว่า ‘คุณทำอะไรกับสิ่งที่รู้’ ซึ่งอย่างหลังคือคุณสมบัติสำคัญของนวัตกร
- นวัตกร หรือ นักสร้างนวัตกรรม ไม่ได้ผูกขาดแค่ฝั่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่คือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ต่อปัญหาที่เกิดใหม่ทุกวัน
- นวัตกร ไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ ถ้ามีทักษะสำคัญ คือ คิด แก้ปัญหา ลงมือทำ และพยายามอดทนทำซ้ำ เพราะไม่มีนวัตกรรมไหนที่ไม่ได้มาจากการทดลองและความผิดพลาด
ในยุค disruption ที่ทุกอย่างเคลื่อนหมุนด้วยความเร็วเพียงรีเฟรชนิวฟีด ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีก้าวเร็ว แต่ความรู้ก็มีครึ่งชีวิตสั้นขึ้นเรื่อยๆ [1] ท่ามกลางการทำนายต่างๆ ว่าอนาคตอันใกล้โลกต้องการคนแบบไหน โรงเรียนต้องผลิตคนให้มีทักษะแบบไหนเพื่ออยู่ในสังคมที่หมุนเร็วเช่นนี้
คำถามและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจดังมาจาก โทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) นักการศึกษา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของ Harvard Innovation Lab มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนหนังสือ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก กล่าวไว้บนเวที TED Talk ปี 2012 ว่า
“What the world cares about is not what you know, but what you can DO with what you know. And that is a completely different education problem”
“โลกไม่ได้สนใจว่า ‘คุณรู้อะไร’ แต่สนใจว่า ‘คุณทำอะไรกับสิ่งที่รู้’ ซึ่งสองอย่างนี้เป็นปัญหาการศึกษาที่แตกต่างกัน”
และการ ‘ทำอะไรกับสิ่งที่รู้’ วากเนอร์หมายถึง คาแรคเตอร์ในเนื้อตัวคนบางอย่างที่อยากจะออกไปสำรวจ ทดลอง คิด และลองจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง
บทความชิ้นนี้ต้องการชวนคุยประเด็น การสร้างนวัตกรตัวน้อย ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงธุรกิจหรือเทคโนโลยี แต่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาใกล้ตัวพวกเขา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรตัวน้อยเติบโตและพากันผลิตผลงานเพื่อแก้ปัญหาเล็กใหญ่อย่างไม่ขึ้นกับอายุ ชวนคุยว่า (นวัตกรรม) การศึกษาแบบไหน สภาพแวดล้อมและโอกาสแบบไหนที่สร้างคนให้มีวิธีคิดแบบนวัตกร
นวัตกรรมคืออะไร
เวลาพูดถึงคำว่า ‘นวัตกรรม’ เรามักนึกถึงเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ในแง่วิทยาศาสตร์ หรือในกลุ่มธุรกิจและการตลาด แต่ความหมายทั่วไป นวัตกรรม [2] หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ การแก้ปัญหาต่อข้อเรียกร้องใหม่ๆ ที่อาจอยู่ในรูปสินค้า, วิธีการ, บริการ, เทคโนโลยี หรือ โมเดลธุรกิจ ไม่ใช่แค่นั้น ปรัชญาของนวัตกรรมยังลงลึกระดับความคิดในชีวิตประจำวัน (เช่น วิธีคิด วิธีตั้งคำถาม วิธีหาความรู้ ในชีวิตประจำวัน) และในทุกสายสังคม
“นวัตกรรมมาจาก หนึ่ง การยอมรับในปัญหา, สอง ศึกษาจนเข้าใจปัญหานั้นอย่างถ่องแท้ และ สาม หาวิธีการแก้ปัญหามัน”
อีกหนึ่งความหมายโดย มาร์ลีย์ ไดเอส (Marley Dias) [3] ผู้ก่อตั้งแคมเปญ #1000BlackGirlBooks ในปี 2015 ซึ่งขณะนั้นเธออายุ 11 ปี สร้างแคมเปญรวบรวมและบริจาคหนังสือที่มีตัวละครของคนผิวสีให้ได้ 1,000 เล่ม (รายงานปี 2017 ไดเอส ระบุว่าเธอรวบรวมหนังสือได้กว่า 9,000 เล่มแล้ว) ต้องเรียกว่าเธอคือหนึ่งในนวัตกรตัวน้อยที่เปลี่ยนความไม่พอใจการเหยียดผิวในสังคมสู่การเคลื่อนไหวอย่างอัจฉริยะ และเป็นตัวอย่างนิยาม ‘นวัตกรรม’ ที่ไม่ได้มีพระเอกเป็น ‘เทคโนโลยี’ แต่คือ ‘ความคิด’
“มันมีคำศัพท์เฉพาะในวงการธุรกิจทุกวันนี้ อย่าง design thinking, innovation, fast-failure, disruption, cross-functional leadership แต่หัวใจของทั้งหมดนี้คือ ความสามารถของคนที่จะเริ่มต้น ก้าวย่างอย่างช้าๆ เรียนรู้ และ ทำซ้ำ” เมลานี รอบบินส์ (Melanie Robbins) พิธีกรชาวอเมริกัน นักเขียน และนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ
“นวัตกรรมด้านซอฟท์แวร์ เหมือนกับนวัตกรรมทั่วโลก นั่นคือต้องการการทำงานร่วมกัน แชร์ไอเดียกับผู้อื่น พูดคุยกับลูกค้าเพื่อรับฟีดแบ็ค เข้าใจให้ได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร” บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) นักธุรกิจชาวอเมริกันและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์
ทักษะของนักนวัตกรเป็นแบบไหน
ตัวอย่างนิยามของทั้ง 3 ท่านข้างต้น มีจุดร่วมที่คล้ายกันคือ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การลงมือทำ และ การทำซ้ำ การทำซ้ำที่หมายถึง ‘การทดลอง’
ตัดคำว่า นวัตกรรมออกไป ดึงออกมาแค่วิธีการ จะเห็นว่านี่เป็นปรัชญาการศึกษาที่ตั้งต้นจากปัญหา ทดลอง ลงมือทำ อย่างที่วากเนอร์พูดชัดเจนบนเวที Ted Talk ว่า
“ในโลกแห่งนวัตกรรม อย่างที่ทุกคนรู้ เป็นเรื่องของการโอบรับความเสี่ยง ทำผิดพลาด และ เรียนรู้จากมัน
“ผมไปที่ IDEO บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบระดับโลก บอกกับผมว่า ‘คำขวัญประจำใจของเราคือ ล้มให้ไว และ ล้มบ่อยครั้ง เพราะไม่มีนวัตกรรมไหนที่ไม่ได้มาจากการทดลองและความผิดพลาด’ ”
ความผิดพลาดจะสร้างการทดลอง และเป็นการทดลองที่มาจากการฟัง สังเกต และคิดอย่างบูรณาการ การทดลองยังสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งและแนวทางที่ดีขึ้น วากเนอร์ยังวิจารณ์ต่อไปว่า
แต่สิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น tiger moms (พ่อแม่แสนเข้มงวด) หรือ helicopter parents (ผู้ปกครองคอยวนเวียนดูแลบุตรหลานโดยไม่ยอมปล่อยมือ) ต่างปกป้องลูกจากความผิดพลาด แม้จะด้วยความรัก แต่นั่นไม่ต่างกับการตัดตอนการเรียนรู้
จากการสัมภาษณ์ผู้เรียน ครู และผู้ปกครองหลายร้อยชีวิต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรที่ประสบความสำเร็จพบหลักๆ คือ
หนึ่ง – นวัตกรไม่ได้เกิดมาพร้อมปัญญาอัจฉริยะ แต่มาจากการสร้างสิ่งแวดล้อมและโอกาสในการเรียนรู้
สอง – วิธีการที่ว่านั้น คือ การสร้างแรงบันดาลใจ ‘ภายใน’ (ไม่ใช่แรงจูงใจภายนอก เช่น ถ้าสอบผ่านจะได้ของขวัญที่อยากได้) นั่นก็คือ play, passion and purpose – การเล่น ความหลงใหล และ เป้าหมาย
ในหนังสือ Creating Innovators วากเนอร์ได้สรุปแบบแผนร่วมของนวัตกรไว้ดังนี้
ทักษะที่ทำให้คนมีนวัตกรรมแตกต่างจากคนไม่มีนวัตกรรม ได้แก่
- การเชื่อมโยง
- การตั้งคำถาม
- การสังเกต
- การทดลอง
- การสร้างเครือข่าย
คุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดในการเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ
- ความสงสัยใคร่รู้
- การร่วมมือ
- การคิดเชิงบูรณาการ หรือคิดแบบเชื่อมโยง
- แนวโน้มที่จะลงมือทำและทดลอง
Play, Passion and Purpose องค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมสร้างนวัตกร
เล่น: จากการศึกษาพบว่าชีวิตของนวัตกรในวัยเด็กมักได้เล่นอย่างอิสระ (unstructured play) และ ริเริ่มด้วยตัวเอง พ่อแม่ของพวกเขาซื้อของเล่นประดิษฐ์ให้น้อยมาก และเท่าที่มีก็มักเป็นของเล่นสร้างจินตนาการ เช่น ตัวต่อเลโก้ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างทักษะแห่งการจินตนาการ และคอนเซ็ปต์ของความเป็นไปได้ทั้งมวล ที่น่าสนใจคือ นวัตกรเหล่านี้เรียนพิเศษนอกเวลาเรียนน้อยมาก และถูกจำกัดการใช้เวลากับหน้าจอ
หลงใหล: ผู้ปกครองของเหล่านวัตกรยังสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ หลายอย่าง หรือเรียกว่าการวางบุฟเฟต์ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา หรือ เครื่องดนตรี แต่เด็กๆ จะไม่ถูกผลักหรือกดดันให้ชอบสิ่งที่พ่อแม่วางไว้ให้ (เช่น ไม่คิดว่าเมื่อลูกเรียนดนตรี ลูกจะต้องเป็นนักดนตรีระดับโลก) เพราะรู้ว่านั่นคือการเรียนรู้เพื่อเปิดโลกเท่านั้น
ขีดเส้นใต้ว่า – การเรียนรู้ที่ไม่เกิดจากความกดดันหรือคาดหวัง ‘ภายนอก’ เป็นเรื่องเดียวกับความหลงใหล เพราะเมื่อเราหมดความอยากเรียนรู้หรือพยายามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว อย่างแย่ที่สุดก็คือไม่ได้รางวัลจากสิ่งนั้น แต่ความหลงใหล ความทะเยอทะยาน ความกระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้อยากทำในสิ่งนั้น จะเป็นแรงขับให้ทำต่อไปไม่จบสิ้น และนี่คือเคล็ดลับในการสร้างบรรยากาศและโอกาสการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้
เป้าหมาย: “ครูและผู้ปกครองที่ผมสัมภาษณ์พูดตรงกัน ‘เอากลับไป และทำให้มันแตกต่าง’ และนั่นทำให้นวัตกรที่ผมสัมภาษณ์ ยึดถือคุณค่าหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ‘ความแตกต่าง’ ซึ่งนี่เป็นขั้นที่พัฒนาความหลงใหลไปสู่การลงมือทำให้สำเร็จ”
ตัวอย่างนวัตกรตัวน้อย
ไดเอส ผู้ก่อตั้งแคมเปญ #1000BlackGirlBooks อย่างที่กล่าวไป, มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อมาพัฒนา Facebook เช่นเดียวกับ สตีฟ จ็อบส์ พักการเรียนที่วิทยาลัยรีด (Reed College) ในเมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน แต่ต่อมาก่อตั้งบริษัท Apple จนสำเร็จ
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่นี้ ผู้สร้างนวัตกรรมตัวน้อยเกิดขึ้นทั่วมุมโลก และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสนใจคือนวัตกรรมส่วนใหญ่แอบอิงอยู่กับปัญหาสังคม เช่น
- จักรยานซักผ้า จาก เรมยา โจเซ (Remya Jose) หญิงสาวอินเดีย อายุ 14 ถูกคิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหางานบ้านในวันที่แม่ล้มป่วย
- เครื่องช่วยดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ส่งสัญญาณทางโทรศัพท์ทุกครั้งที่ผู้ป่วยขยับตัวเดินลุกจากเตียง โดย เคนเนธ ชิโนซูกะ (Kenneth Shinozuka) ชาวอเมริกันอายุ 15 ปี ผู้ได้แรงบันดาลใจจากการต้องดูแลคุณปู่ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม
- ทุ่นเก็บขยะในทะเล โดย โบยัน สเลท (Boyan Slat) อายุ 19 ปี แม้ทุ่นเก็บขยะตัวนี้ยังเป็นแผนร่าง แต่สเลทออกแบบให้ทุ่นเก็บขยะลอยน้ำได้มากถึง 200 ล้านตันทั่วโลก แต่ทุ่นนี้จะไม่ดักจับปลาหรือแพลงตอน มากกว่านั้น เขายังวางแผนให้มันสามารถรีไซเคิลขยะได้เองด้วย
แม้ไม่อาจสรุปได้ว่านวัตกรตัวน้อยมีทักษะนิสัยและได้รับการเลี้ยงดูแบบเดียวกับข้อเสนอของวากเนอร์ทุกประการ แต่หากเชื่อเช่นเดียวกับที่วากเนอร์เชื่อ คือ “โลกไม่ได้สนใจว่า ‘คุณรู้อะไร’ แต่สนใจว่า ‘คุณทำอะไรกับสิ่งที่รู้’ เราอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่า การศึกษาบ้านเรา (หรือการศึกษาที่ไหนๆ ก็ตาม) สร้างให้คนมีคาแรคเตอร์ที่กระหายอยากทำ ‘อะไรกับสิ่งที่รู้’ และทำมันได้อย่างจริงจังและตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า
ตอบคำถามแบบรวบรัด คงไม่ใช่เราทุกคนที่จะเป็นสตีฟ จ็อบส์ หรือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก แต่ถ้าเชื่อเช่นเดียวกันว่าทักษะของนวัตกรคือการคิด แก้ปัญหา ลงมือทำ และเพียรพยายามที่จะอดทนทำซ้ำ คือเป้าหมายเดียวกับการเรียนรู้ เราทุกคนต่างก็เป็นนวัตกรด้วยกันทั้งนั้น
ที่ท้าทายและเรียนรู้ได้จากนวัตกรก็คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมและโอกาสให้เหล่านวัตกรตัวน้อยเติบโตขึ้นต่างหาก คือวิธีคิดที่สำคัญ
อ้างอิง:
forbes.com
Play, passion, purpose: Tony Wagner at TEDxNYED
[1] thepotential.org
[2] อ้างอิงจาก Merriam-Webster ผู้นำด้านหนังสืออ้างอิงทั้งแบบสิ่งพิมพ์และออนไลน์สัญชาติอังกฤษ
[3] www.forbes.com