- ลืมแผนการเรียนวิทย์-ศิลป์ แบบเดิมไปได้เลย เราจะพาไปรู้จัก ระบบใหม่ที่เรียกว่า Track
- เป็นระบบที่แผนก ม.ปลาย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนใช้มาเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อช่วยเด็กค้นหาตัวตน ความชอบ ความถนัด จะได้เลือกคณะในมหาวิทยาลัยไม่ผิด
- นี่เป็นความพยายามหนึ่งในการปรับตัวของสถาบันการศึกษา ที่เห็นแล้วว่าการศึกษารอไม่ได้ และควรตั้งต้นที่เด็ก ไม่ใช่ที่ระบบ
เรื่อง: รุ่งรวิน แสงสิงห์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ภายหลังการประกาศปรับเปลี่ยนระบบการรับเข้าในระดับอุดมศึกษา จากระบบ admission สู่การรับเข้าด้วยระบบ TCAS สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกับตัวนักเรียน ครูผู้สอน โรงเรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครอง เพราะการเตรียมเพื่อขึ้นสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผน เตรียมความพร้อม รู้ทั้งความต้องการของเด็กและรู้จักคณะที่อยากจะเข้าเรียนของนักเรียนให้ถ่องแท้เสียก่อน
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่คนหนึ่งหรือสองคนที่จะต้องเปลี่ยนไป แต่กลับเป็นทั้งระบบที่จะต้องปรับตัว ไม่ได้มีเพียงผู้ทำการทดสอบและคัดเลือกที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น แต่ผู้ถูกคัดเลือกเองก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกัน นอกจากความพยายามที่ต้องเพิ่มมากขึ้นของนักเรียนในการพิชิตรั้วมหาวิทยาลัย โรงเรียนในฐานะสถานศึกษาที่ให้ความรู้กับนักเรียนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องปรับตัวในทันกับระบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นหนึ่งในหลายๆ ความพยายามของหลายสถานศึกษาที่ต้องการช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ ได้เข้าเรียนในคณะที่ชอบ มหาวิทยาลัยที่ใช่จริงๆ โดยทำให้เด็กๆ รู้จักกับความต้องการของตัวเอง และได้เรียนรู้ในระบบที่เหมาะสมกับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากระดับมัธยมศึกษาสู่ระดับอุดมศึกษา
ทีม The Potential จะพาทำความรู้จักกับความพยายามและการเตรียมพร้อมของกรุงเทพคริสเตียน ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ระบบ Track
Track เพื่อหาเป้าหมาย
‘ครูฟะห์’ สุดฤทัย สัจติประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายวิชาการผู้ริเริ่มระบบ Track และ ‘ครูหน่อง’ วศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ หัวหน้าด้านงานนักเรียนความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นฝ่ายเทคนิคในการจัดการระบบลงทะเบียน เล่าที่มาและการทำงานของระบบ Track ที่เพิ่งเริ่มใช้เป็นปีที่ 2 แทนระบบแบ่งสายวิทย์ สายศิลป์ แบบเดิม
ปัจจุบันโรงเรียนกรุงเทพคริสเตรียน มีทั้งหมด 14 tracks ได้แก่
- Track แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์
- Track วิศวกรรมชีวการแพทย์
- Track วิศวกรรมศาสตร์ (ทั่วไป)
- Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน
- Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์
- Track สถาปัตยกรรมศาสตร์
- Track บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์
- Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์
- Track ศิลปกรรมศาสตร์
- Track อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์
- Track นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อดิจิทัล
- Track ศิลปะการประกอบอาหาร
- Track วิทยาศาสตร์การกีฬา
- Track ดนตรี-นิเทศศิลป์
แต่ละ Track จะได้เรียนวิชาสำคัญที่จะต้องใช้สอบ และใช้เรียนในระดับพื้นฐานของคณะ เช่น Track แพทยศาสตร์ นักเรียนจะต้องเรียนระเบียบวิธีวิจัยซึ่งเป็นวิชาที่จำเป็นต่อการเป็นแพทย์ ควบคู่ไปกับการเรียนในรายวิชาพื้นฐานที่จะต้องใช้สอบ ขณะที่ Track สถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็จะต้องเรียนวิชา ดรออิ้ง (drawing) หรือวิชาวาดเขียนพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบสำหรับเข้าคณะสถาปัตย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นวิชาเฉพาะ จำเป็นต้องได้รับการฝึกล่วงหน้า
ครูฟะห์และครูหน่องเผยว่า เป้าหมายหนึ่งเดียวของระบบ Track คือการส่งเด็กให้ถึงฝัน ในระดับมหาวิทยาลัยอย่างถูกต้อง เพราะบทเรียนที่ผ่านมา มีเด็กหลายต่อหลายคนที่ตัดสินใจผิดในการเลือกคณะ
“หลายคนต้องซิ่ว (เรียนใหม่) หลายคนต้องฝืนเรียนต่อ สถานการณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทีมผู้คิดระบบไม่อยากให้มันเกิดขึ้น และ ในระบบการรับเข้าแบบ TCAS ที่มีทั้งหมด 5 รอบด้วยกัน การเรียนแบบ Track จะทำให้มีเวลาเตรียมความพร้อมในรอบพอร์ต (portfolio) ซึ่งเป็นรอบแรกของการคัดเลือกอีกด้วย”
เบื้องหลัง ไม่ง่าย
ในฐานะผู้ริเริ่มระบบ ครูฟะห์เล่าเบื้องหลัง ก่อนจะกลายมาเป็นระบบ Track ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันว่า โรงเรียนเริ่มต้นจากการวิจัย เปรียบเทียบ ศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศ พร้อมทั้งให้นักเรียน ม.3 ทำแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อตรวจสอบว่าเด็กๆ มีแนวโน้มที่เข้าเรียนต่อในคณะใดบ้าง โดยสำรวจทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง
ผลปรากฏว่าความต้องการอันดับหนึ่งของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนคือ การเข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตามด้วยแพทยศาสตร์
แต่ปัญหาอยู่ที่ความพร้อมของคุณครูในการสอนรายวิชาเฉพาะทาง โรงเรียนจึงต้องอาศัยบุคคลภายนอก ใช้วิธีปรึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยตรงในคณะที่เฉพาะทาง และปรึกษาศิษย์เก่าเพื่อขอความช่วยเหลือในบางสายอาชีพ
เช่น การลงพื้นที่ไปปรึกษากับคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี, ธรรมศาสตร์, ศิลปากร, มหิดล และอีกหลายสถาบัน เพื่อความถูกต้อง เหมาะสม และแม่นยำของการเปิดรายวิชาใน Track
“เมื่อได้คำแนะนำต่างๆ ก็มาปรับใช้ เช่น นักเรียนบางคนอยากเรียนด้านสถาปัตย์ แต่ถ้าเป็นในรูปแบบการเรียนการสอนเดิม นักเรียนจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์มากถึง 3 ตัว ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ โดยที่ไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการสอบเข้าในคณะสถาปัตย์ อย่างวิชาดรออิ้ง ทางเราก็เลยปรับในส่วนของรายวิชาที่เหมาะสม และเพิ่มวิชาที่จำเป็นลงไป”
แต่กว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ ทีมครูฟะห์ต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก เพราะนักเรียนจะต้องเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบด้านไหน และอยากจะทำอะไรในอนาคตก่อนที่จะเลือก Track
‘ทีมแนะแนว’ จึงต้องเข้ามาช่วยในขั้นตอนการค้นหาตัวเอง
“ทีมแนะแนวมีบทบาทมาก เพราะต้องทำหน้าที่พูดคุยและให้คำปรึกษากับเด็กนักเรียน และค่อยๆ อธิบายเรื่องที่เด็กยังไม่มีข้อมูล ครูแนะแนวจะเอาแบบทดสอบความถนัดให้นักเรียนทำ เพื่อค้นหาตัวเอง พอขึ้น ม.ปลาย นักเรียนก็จะรู้ตัวและเลือก Track ตามความต้องการของตัวเอง”
นอกจากนั้น เด็กๆ ยังได้ทดลองเรียน ทดลองเลือก เพื่อค้นหาความถนัด ในการเรียนภาคฤดูร้อนก่อนเปิดเทอมจริง
“ใครอยากจะเรียนทางวิทยาศาสตร์ ทางหมอ โรงเรียนก็จะเตรียมคุณครูฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไว้ให้ด้วย ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยทำให้นักเรียนรู้จักตัวเองได้ไวมากยิ่งขึ้น การเตรียมพร้อมขึ้นชั้นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงกลายเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด”
ฝั่งผู้ปกครองเองก็มีส่วนสำคัญกับระบบ Track มาก เด็กบางคนที่พ่อแม่เป็นนักธุรกิจ ก็ลองเข้าเรียนใน Track บริหาร แต่พบว่าตัวเองไม่สามารถคำนวณได้อย่างเพื่อน ไม่ชอบตัวเลขจริงๆ ทางโรงเรียนก็อนุญาตให้ย้าย Track ได้ แต่ต้องก่อนขึ้นชั้น ม.5 เพราะอาจจะไปกระทบกับโปรแกรมและตารางที่ทางโรงเรียนวางไว้ และอาจจะกระทบกับการทำพอร์ตในรอบแรกของ TCAS
“ปัญหาการย้าย Track ก็เป็นสิ่งที่ทีมพัฒนาระบบคิดมาตลอด ว่าจะต้องเกิดขึ้น แต่พอทางโรงเรียนได้แก้ปัญหาโดยใช้ระบบแนะแนวตั้งแต่ช่วง ม.ต้น ในปีที่ 2 ปัญหานี้ก็ลดน้อยลง และสิ่งที่สำคัญคือผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก จำเป็นต้องถามไถ่และพาเด็กๆ ไปรู้จักกับอาชีพต่างๆ ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกัน ระหว่างครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง”
โลกเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน โรงเรียนต้องเปลี่ยน
การนำเอาระบบ Track มาใช้ ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นการสลายระบบสายการเรียนที่มีอยู่เดิม
“ถามว่าสลายไหม มันยังไม่สามารถทำได้เสียทีเดียว แต่การนำระบบ Track มาใช้ ช่วยให้เด็กตั้งคำถามมากกว่าการเลือกเรียนระหว่างสายวิทย์หรือสายศิลป์ แต่มันพาเด็กๆ ไปได้ไกลกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะที่อยากจะเรียน อาชีพที่อยากจะทำในอนาคต ตรงนี้คือส่วนสำคัญของระบบ” ครูฟะห์อธิบาย
เมื่อเรียนแบบ Track แล้ว ระบบการแบ่งห้องยังเป็นแบบเดิมอยู่หรือไม่?
ครูหน่องในฐานะผู้จัดการด้านเทคนิคบอกว่า การแบ่งตาม Track ก็จะแบ่งครึ่งๆ เช่น ห้อง 1-5 เป็น Track วิทยาศาสตร์ เช่น วิศวะทั่วไป แพทย์ ฯลฯ เนื้อหาที่เรียนมักจะเน้นวิทยาศาสตร์ นักเรียนก็จะต้องเลือกเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ขณะที่ ห้อง 6-10 จะเป็น Track สำหรับสายศิลป์ ที่มีทั้งหมด 8 Tracks อย่าง ศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ โดยจะเรียนอยู่ด้วยกันหมดแล้วจึงแยกเรียนทีหลัง
“ข้อดีของการทำ Track แบบนี้ เวลาการเรียนครูสามารถเน้นหนักในรายวิชาได้เลย เช่น การสอนวิชาชีวะ บาง Track จะต้องเรียน เช่น หมอ แต่ถ้าเรียนอย่างเดิมเป็นห้องรวมที่นักเรียนหลายๆ ความถนัดอยู่ร่วมกันก็จะสอนลำบาก แต่พอถนัดเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน ก็สอนได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นๆ จะตามทันหรือเปล่า”
ครูหน่องยังบอกอีกว่า ข้อดีจากการแยก Track ทำให้เห็นความแตกต่างในด้านการเรียนรู้
”วิศวะกลุ่มหนึ่ง หมอกลุ่มหนึ่ง เราจะเห็นเลยว่าเด็กเขาตั้งคำถามและให้คำตอบไม่เหมือนกัน ห้องหมอลักษณะก็จะเป็นเหมือนคำตอบของนักวิจัย ห้องวิศวะเหมือนกับนักลงมือปฏิบัติ เราก็คุยกันในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ว่าผลจากการแบ่งแบบนี้ ทำให้เราสามารถสอนเน้นไปตามธรรมชาติของเด็กได้เลย”
ปัจจุบันตารางสอนเด็กๆ จะมีทั้งหมด 36 คาบ 22 คาบเป็นวิชาพื้นฐานซึ่งเป็นวิชาบังคับตามบริบทของโรงเรียน และมีการเสริมคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษเข้าไปตามบริบทของโรงเรียน ซึ่งนับรวมว่าเป็นวิชาพื้นฐาน
นอกจากนี้ในฐานะที่กรุงเทพคริสเตียนตั้งอยู่บนพื้นฐานของคริสต์ศาสนา จึงมีวิชาอบรมไบเบิล 1 คาบ แนะแนว 1 คาบ และ อีก 14 คาบที่เหลือคือวิชาเลือกที่เด็กสามารถเลือกได้เอง โดยเลือกผ่าน Track มาก่อน
“อย่าง Track หมอ ก็จะเลือก ชีวะ 4 คาบ เคมี 4 คาบ ฟิสิกส์อีก 4 คาบ ที่เหลือก็เป็นวิชาของหมอ อย่างระเบียบวิธีวิจัย จะเป็นหมอได้ดีก็ต้องเริ่มต้นที่การวิจัย เอาระเบียบวิธีวิจัยวิทยาศาสตร์ใส่ลงไป”
ครูหน่องกับครูฟะห์ทิ้งท้ายว่า สำหรับความแตกต่างและผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง อาจจะยังเห็นได้ไม่ชัดเพราะเพิ่งเริ่มได้เพียง 2 ปีเท่านั้น เมื่ออนาคตมาถึงอาจจะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
“แต่ที่แน่ๆ Track ของโรงเรียนจะต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการของนักเรียนที่อยากจะเข้าเรียนในคณะที่หลากหลาย”