- หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนใกล้ตัวได้ฟังประสบการณ์ของใครอื่นที่ (กล้าหาญ) เผยแพร่ในสื่อสาธารณะตั้งแต่เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศถึงการทารุณทางเพศ
- หนึ่ง–ชวนทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในมุมมองเชิงสังคม และสอง-ชวนมองอย่างลึกลงไปในระดับปม/บาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการถูกกระทำ แต่จากความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากความเฉยชา ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ และไม่ปกป้องของผู้ปกครอง
- ทั้งหมดนี้ไม่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้สังคมกังวลเกินจริง แต่อยากชี้ประเด็นว่าจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกาย เรียนรู้วิธีสื่อสารและเคารพการปฏิเสธ แม้เป็นสัมผัสจากความเอ็นดู แต่หากเด็กพูดว่า ‘ไม่’ ทุกคนต้องเคารพ
หลายคนอาจเคยอ่านข่าวนี้…
รายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศประจำปี 2560 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ พบเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ช่วงอายุของผู้ถูกกระทำในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-20 ปี จำนวน 60.6 เปอร์เซ็นต์, อายุ 41-60 ปีจำนวน 30.9 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ
- ผู้กระทำความรุนแรง ‘กว่าครึ่ง’ หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว (26.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด ใช้ความไว้ใจเชื่อใจและล่อลวงเพื่อทำให้ผู้ถูกกระทำหวาดผวาระแวงและกลัว) ในกรณีคนรู้จักผู้ถูกกระทำราว 12.8 เปอร์เซ็นต์ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนานและหลายครั้ง
- รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จัก 38.2 เปอร์เซ็นต์
- คนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย 8.8 เปอร์ซ็นต์ (ผู้กระทำที่อายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี)
ข้างต้นเป็นสถิติที่ใช้ยืนยันว่าการคุกคามทางเพศในเด็กเกิดขึ้นจริงและเกิดได้กับคนใกล้ตัว หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนใกล้ตัว ได้ฟังประสบการณ์ของใครอื่นที่ (กล้าหาญ) เผยแพร่ในสื่อสาธารณะ ตั้งแต่เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศถึงการทารุณทางเพศ
ที่น่าสนใจคือหลายคนเล่าเรื่องโดยตั้งต้น ‘สงสัย’ ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเข้าข่ายถูกลวนลามหรือเปล่า และมาเข้าใจแตกฉานเอาเมื่อโตขึ้น ขณะที่บางคนเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าพฤติการณ์เช่นนี้ใช่การคุกคามแน่แล้ว แต่เพิ่งมีความสามารถจะหลีกหนีและปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยเอาเมื่อเติบโตขึ้น
จุดยืนของบทความชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจตีตราผู้ที่เคยถูกกระทำ และสร้างความหวาดระแวงเกินจริง หาก
หนึ่ง ชวนผู้อ่าน ผู้ปกครอง ครู สังคม ทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในมุมมองเชิงสังคม
สอง ชวนมองลึกลงไปในระดับปม/บาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการถูกกระทำ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากความเฉยชา ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ และไม่ปกป้องของผู้ปกครอง
สาม ถึงเวลาสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกาย และเรียนรู้วิธีสื่อสารและเคารพการปฏิเสธได้หรือยัง?
การคุกคามทางเพศในมุมมองสังคม: ถูกคุกคามทางเพศเพราะนุ่งสั้นหรือเปล่า?
แสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต และในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา มูลนิธิ Path2Health อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่า
คำว่าล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ* หมายถึงการแสดงท่าทีคุกคามด้วยวาจา คำพูด การพูดจาละลาบละล้วงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสเนื้อตัวก็ได้ เช่น ส่งภาพโป๊ให้แซวหรือมองด้วยสายตาลวนลาม ทำท่าทางที่แสดงออกว่าอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เส้นแบ่งของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอยู่ที่การยินยอม (consent) หมายความว่าถ้าเจ้าตัวหรือผู้ที่ถูกกระทำ ‘ยินยอม’ จะไม่ถือเป็นการล่วงละเมิด แต่หากเจ้าตัวไม่ยินยอมแม้ไม่ชอบเพียงคำพูด เจ้าตัวมีสิทธิ์ปฏิเสธบอกให้คู่กรณีหยุดพฤติกรรมตรงหน้าได้
“แต่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่บอกว่าเป็นไทย เรามองว่าผู้ชายเป็นเพศที่เหนือกว่า ได้เปรียบกว่า เช่นแต่ก่อนมี ‘สามแยกปากหมา’ ผู้ชายพูดแซวผู้หญิงได้โดยที่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด แม้ตอนนี้มันจะดีขึ้น แต่การแซวหรือแนวคิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่ กระทั่งถ้ามีการคุกคามเกิดขึ้นผู้หญิงจะถูกตั้งคำถามทันทีว่า ‘นุ่งสั้นรึเปล่า’ ‘ไปยั่วยวนรึเปล่า’ ‘โกหกรึเปล่า’ เราไปมองมุมนั้น ทั้งที่การละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่อย่างไรก็รับไม่ได้ เพราะนี่คือการละเมิดเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น” แสงจันทร์อธิบาย
แม้แต่กรณีที่พบเห็นตามข่าวทั่วไปเมื่อมีการละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้นจริง หากเด็กเล่าหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ หลายครั้งสิ่งที่ได้รับกลับมาคือการเพิกเฉยทำเป็นไม่ได้ยิน กระทั่งกล่าวโทษว่าพูดเท็จและไม่ดำเนินการเพื่อปกป้องเด็กจากความรุนแรงนั้น
“จากข้อมูลวิจัยยืนยันว่าการละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวซึ่งอาจเป็นคนที่พ่อแม่ของผู้ถูกกระทำต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ ยิ่งมีภาวะพึ่งพิงอีกฝ่ายมากเท่าไรก็ยิ่งไม่อยากขัดใจคนคนนั้น ซึ่งในครอบครัวเด็กที่ถูกล่วงละเมิดเราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนที่ทำกับคนที่ต้องดูแลเด็กเป็นยังไง เขาอาจเป็นพ่อเลี้ยงที่ดูแลเศรษฐกิจในครอบครัวหรือเป็นใครก็ตามที่คอยช่วยเหลือครอบครัวนี้อยู่ ลักษณะแบบนี้ไม่ง่ายที่จะพูดอะไรออกมาได้”
“และด้วยวิธีคิดของสังคมที่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูด ยิ่งเกิดกับเด็กเล็กและคนที่ทำเป็นคนใกล้ตัว ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่พูดได้ง่ายหรืออยากให้ใครรับรู้ เพราะฉะนั้นการปฏิเสธจึงเป็นการกลบเกลื่อนเรื่องราวด้วยความรู้สึกของตัวเอง ปฏิเสธว่าเรื่องราวไม่เคยเกิดขึ้นไปเลย” แสงจันทร์อธิบาย
สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปก็คือ เสียงที่บอกว่า ‘นุ่งสั้นเกินไปรึเปล่า?’ หลายครั้งดังมาจากผู้หญิงด้วยกันเอง?
ผลกระทบในเชิงจิตใจ: ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการถูกทรยศหักหลัง
ขณะที่ พญ.วินิทรา แก้วพิลา (หมอโบว์) นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นและอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ให้ความเห็นคล้ายกันกับแสงจันทร์ว่า การที่ผู้ปกครองปฏิเสธว่าเหตุการณ์คุกคามเด็กที่เกิดขึ้นนั้นไม่จริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะที่ต้องพึ่งพาผู้กระทำ ขณะที่อีกด้านอาจเป็นกระบวนการปัดเลี่ยงปัญหาที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยอัตโนมัติ
“บางเคสที่เจอมีเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ในบ้านที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย เช่น แม่เข้าข้างลูกชาย พ่อเข้าข้างลูกสาว พอลูกสาวไปบอกแม่ว่าพี่ชายคุกคามทางเพศ แม่ไม่เชื่อ บอกว่าไม่มีทางหรอกที่พี่ชายจะทำน้อง การไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นจะดีกับแม่และครอบครัวมากกว่า บางทีเป็นกลไกอัตโนมัติจากการไม่อยากรับรู้ปัญหาได้เหมือนกัน”
ส่วนปัญหาภายในจิตใจของผู้ถูกกระทำ พญ.วินิทราอธิบายว่าการถูกคุกคามทางเพศสร้างบาดแผลในจิตใจ (trauma) ได้หลายระดับ แต่ในระดับพื้นฐานความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในมักมาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ และตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเองหรือเปล่า?
“คนที่ถูกกระทำจะรู้สึกมีบาดแผลรุนแรง รู้สึกว่าเป็นความลับที่บอกใครไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มันกัดกินหัวใจของคนที่ถูกกระทำนะ เล่าให้ใครฟังไม่ได้ ต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นด้วยตัวเองคนเดียว มักคิดว่าเรามีส่วนรึเปล่าทั้งที่เป็นความผิดของผู้กระทำเต็มๆ อาจรู้สึกไม่กล้าพูดและก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ไม่กล้าพูดออกไป เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อน บางคนที่ไม่อยากพูดถึงก็ใช้วิธี ‘ลืมๆ มันไป’ แต่อย่างไรก็ตามพวกนี้มันส่งผลต่อเราอยู่ดี
“มีวิจัยเหมือนกันนะว่าคนที่เข้ามารักษาเรื่องการลดน้ำหนักได้แล้วแต่สุดท้ายก็กลับไปอ้วนเหมือนเดิม พอทำงานกับคนไข้ไปเรื่อยๆ พบว่าคนกลุ่มนี้เคยถูก sexual abuse ในวัยเด็ก การมีน้ำหนักเยอะทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ดึงดูด หรืออาจเจอความสัมพันธ์โรคบางโรค เช่น ปัญหาทางอารมณ์หรือปัญหาบุคลิกภาพบางอย่าง”
ความซับซ้อนที่มากยิ่งกว่า คือ เด็กที่ถูกคุกคามทางเพศและถูกพ่อแม่ปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้จะสร้างรอยแผลภายในที่ซับซ้อนลึกลงไปอีก
“ประเด็นนี้จะส่งผลกับเด็กมากเพราะมันทำให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาและฝังเป็นปมอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำคือความรู้สึกถูกทรยศ และความรู้สึกนี้อาจรุนแรงมากกว่าการถูกกระทำด้วยซ้ำ คนที่รักและเชื่อใจไม่ช่วยเราไม่อยู่เพื่อเรา มันคือการถูกทรยศที่ยิ่งใหญ่ นี่จะเป็น trauma อีกรูปแบบหนึ่งส่งผลให้เกิดปัญหากับความสัมพันธ์ในจิตใจได้อีกเยอะมาก”
ข้างต้นที่กล่าวไป–การปฏิเสธความจริงของพ่อแม่เป็นเพียงการอธิบายสถานการณ์ที่รุนแรงขั้นสุด ซึ่งไม่ใช่ทุกกรณีเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามการคุกคามทางเพศกับเด็กจากคนใกล้ตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และจริง และเมื่อเกิดแล้วเด็กหลายคนไม่กล้าบอกผู้ปกครองเพราะกังวลใจหลายอย่าง พญ.วินิทรากล่าวด้วยว่าอาจเป็นที่พัฒนาการของเด็ก หรือความเข้าใจส่วนตัวของเด็กเล็กที่อาจเรียบเรียงคำพูดไม่เป็นภาษา แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก
“พฤติกรรมบางอย่างของเขาอาจเปลี่ยนไปไหมเช่นเริ่มพูดน้อยลง แยกตัวหรือให้ลองสังเกตปฏิกิริยาในบ้านก็ได้นะคะ เช่น เขาอาจจะกลัวหรือหลีกเลี่ยงใครบางคน หรืออาจมีเรื่องพฤติกรรม (ทางกายภาพ) ที่แปลกไป เช่น ในเด็กเล็กมากปัสสาวะหรืออุจจาระอาจเปลี่ยน บางคนที่เคยเข้าห้องน้ำได้ก็อาจฉี่ราดหรือพฤติกรรมแปลกๆ อย่างอื่น เช่น ฉีกกระดาษ แยกตัวจากเพื่อน เหม่อลอย
“แต่ไม่ต้องถึงกับกังวลมากไปว่าถ้าลูกมีอาการแปลกๆ แล้วจะต้องถูกกระทำแน่ๆ ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปนะคะ แค่ลองสังเกตดูถ้าไม่สบายใจให้พามาพบแพทย์ได้เลย” พญ.วินิทรากล่าว
วัฒนธรรมแห่งความเคารพและการปฏิเสธ
กลับมาที่การป้องกันหรือสร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาในห้องเรียน แสงจันทร์กล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือประเด็นพัฒนาการทางเพศและประเด็นเพศวิถีรอบด้าน ที่นอกจากจะทำความเข้าใจอวัยวะในเชิงกายภาพ ยังต้องเข้าใจเรื่องการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย พัฒนาการทางเพศตามวัยของเด็ก
และต้องทำความเข้าใจกับเด็กให้ชัดว่าไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่จะมาละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเด็กไม่ได้ แต่เด็กด้วยกันเองก็จับสัมผัสอวัยวะส่วนตัวและอวัยวะที่กระตุ้นความรู้สึกรื่นรมย์ของคนอื่นไม่ได้ด้วย
“เด็กควรรู้อะไร? ควรรู้ว่าเนื้อตัวร่างกายของเราโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ จู๋จิ๋มหน้าอกซอกคอแม้แต่คนที่รู้จักกันก็ให้สัมผัสไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องสร้างเป็นวัฒนธรรมในการเคารพเนื้อตัวร่างกายกันตั้งแต่เด็ก”
“บางทีผู้ใหญ่หอมแก้มด้วยความเอ็นดูรักใคร่ แต่ถ้าเด็กอึดอัดไม่ชอบใจจะฝืนเขาไม่ได้ ขออนุญาตเด็กก่อน ‘ขอหอมแก้มได้ไหม?’ ‘ขอกอดได้ไหม?’ ถ้าเขาไม่อนุญาต ผู้ใหญ่ต้องเคารพ ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ตั้งแต่ต้นเขาจะเข้าใจการปกป้องตัวเอง ถ้ามีใครมาจู่โจมเขาจะปฏิเสธได้ว่า ‘อย่าทำนะไม่ชอบ’ ”
อย่างที่ พญ.วินิทราย้ำว่าไม่ใช่การห่วงกังวลเกินจริง แต่การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกายและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กกล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ กล้ายืนยันที่จะปฏิเสธตั้งแต่สัมผัสที่เขาไม่สะดวกใจ กระทั่งหากถูกคุกคามขึ้นจริงเขาจะเข้าใจสิทธิของตัวเอง ดำเนินการตามกฎหมาย
และท้ายที่สุดยืนยันกับตัวเองได้ว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ และหากต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจหรือการบำบัด เขาสามารถขอรับการดูแลได้
กรอเทปและอัดทับความรู้สึก-เราอยู่กับแผลเป็นได้ พญ.วินิทราให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ รู้สึกฝังใจ เพราะความรู้สึกนี้ไม่เคยถูกชำระ วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ ‘การกรอเทปและอัดทับ’ “ย้อนกลับไปเปิดเทปใหม่ ไปทำความเข้าใจเหตุการณ์นั้น ย้อนเทปไปทำความเข้าใจว่าตอนนั้นมันน่ากลัวมากใช่ไหม? และเราป้องกันตัวเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันอยู่ในภาวะที่น่ากลัวมาก บอกตัวเองว่าโอเค… มันน่ากลัวนะแต่เราผ่านมันมาได้แล้วนะ ตอนนี้เรามีความสามารถในการดูแลตัวเองแล้วนะ ปลอดภัยแล้วนะ ตอนนี้เรามีสิ่งต่างๆ รอบกาย ตอนนี้เราไม่ใช่คนเดิมแล้ว เหตุการณ์นั้นมันได้ผ่านไปแล้ว มันไม่แย่ มันไม่ใช่ความผิดเรา “จากนั้นเราอาจค่อยๆ ทำความเข้าใจคนในเหตุการณ์แต่ละคน พอเขาทำความเข้าใจตรงนั้นได้เหมือนการอัดเทปใหม่ ความรู้สึกโกรธเศร้าหดหู่กลัวหรือความรู้สึกอะไรที่มันเยอะๆ อาจเบาบางลงได้ แต่มันก็อาจจะยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับเราเหมือนแผลเป็น แต่จริงๆ แผลเป็นก็อาจไม่เลวร้าย เราใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเข้มแข็งของเราอีกแบบ เรายังอาจใช้ประสบการณ์ตรงนี้ช่วยเหลือคนอื่นได้อีก แผลเป็นนี้จะหายไปไหม? – เราถาม “มันจะไม่หายไปและสิ่งสำคัญไม่ใช่การมีแผลหรือไม่มีแผล สิ่งสำคัญคือฟังก์ชั่นของแผลเป็นต่างหาก สมมุติเรามีแผลเป็นที่มือ ไม่สำคัญว่ามีแผลไม่มีแผล แต่เราอยากใช้มือนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ใช้มือของเราทำอะไรในชีวิต คล้ายๆ เราย้ายโฟกัส เดิมเราโฟกัสว่า ‘ตายแล้วมันเป็นแผลถาวรถ้าคนอื่นเห็นมันจะเป็นยังไง มันน่าอายไหม มันไม่ดียังไงไหม’ “แต่เราจะไม่ซีเรียสกับแผลเป็นที่ได้จากอุบัติเหตุใช่ไหม? เพียงแต่ทำความเข้าใจว่าแผลเป็นไม่ได้เยอะอะไร มันแค่ยังอยู่และเราไม่มีทางลืมหรอก ถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกเราไม่มีทางลืม แต่ย้ายโฟกัสแล้วปรับมุมมองใหม่ และเล่าเรื่องตัวเองใหม่ ถ้าเราเล่าเรื่องตัวเองใหม่ได้ เราไม่เห็นตัวเองเป็นเหยื่อที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะมีพลังขึ้น empower ตัวเองขึ้น |