- ผู้ใหญ่มองว่าวัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดียฉาบฉวย โซเชียลมีเดียมอมเมาเยาวชน เป็นการล่อลวง และไม่มีความรู้อยู่ในนั้น ขณะที่วัยรุ่นก็ได้แต่มองบนตาปริบๆ แล้วถามกลับผู้ใหญ่ว่า “รู้อะไรบ้างในโลกโซเชียลมีเดียที่แสนซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และเปลี่ยนเร็วขนาดนี้”
- เสวนา WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต ต่อยอดจากหนังสือสองเล่ม คือ WHY WE POST และ It’s Complicated สำนักพิมพ์ Bookscape ชวน 4 วิทยากรตั้งแต่นักเขียนบทซีรีส์, นักมานุษยวิทยา, คนในโลกไอที และคนทำนโยบายการสื่อสาร แลกเปลี่ยนโลก ‘วัยรุ่นยุควุ่นเน็ต’ ในขอบข่ายสายตาและวิชาชีพของพวกเขาว่ามัน ฉาบฉวย ผิวเผิน อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนปรามาสจริง หรือเป็นแค่ช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างคนสองโลกที่ไม่เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ภาพ: สำนักพิมพ์ Bookscape และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปฏิเสธไม่ได้จากปรากฏการณ์ ฟ้ารักพ่อ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างคนสองเจนเนอเรชั่นในเรื่อง โซเชียลมีเดีย ชัดเจนอย่างไม่เคยมีปรากฏการณ์ไหนในสังคมไทยทำได้มาก่อน
ทำไมวัยรุ่นแสดงออกแบบนี้ คิดแบบนี้ ภาษาที่ใช้ก็… อะไรเนี่ย คำศัพท์อะไร? ขณะที่วัยรุ่นก็ตั้งคำถามใหญ่ๆ กลับว่า แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงได้ยินแต่ไม่ฟัง ปิดกั้นความคิด แถมยังตั้งแง่ด้วยว่า เราถูกมอมเมาแค่เพราะหน้าตา!
ยกเรื่องการเมืองออกไปก่อน แต่เวทีเสวนา WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ Bookscape อยากตั้งต้นชวนคุยในประเด็นที่ว่า…
วัยรุ่นวันนี้ใช้เครื่องมือการสื่อสารที่เรียกว่า โซเชียลมีเดีย อย่างไร ผิวเผินแบบที่ผู้ใหญ่เข้าใจจริงไหม?, ทำไมโซเชียลมีเดียถึงมีพลังแห่งการสร้างตัวตน จนผู้ใหญ่หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ และ ปรากฏการณ์ที่ชื่อ scalable sociality หรือ สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้ คืออะไร?
“ผู้ใหญ่ได้โปรดเข้าใจเด็กด้วย เด็กก็ต้องเข้าใจด้วยว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่กังวล”
คือเสียงของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวขึ้นก่อนเข้าสู่วงสนทนาจริง เพื่ออยากตั้งต้นจุดประสงค์ของวงคุยว่า สื่อได้สร้างและขับเคลื่อนวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ พอๆ กับที่วัฒนธรรมของวัยรุ่นก็เปลี่ยนสื่อ
สำคัญที่สุด ไม่ว่าคนในสังคมยุคไหน เราต่างอยากมี ‘ตัวตน’ และนั่นคือเหตุผลเบื้องต้นแห่ง WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต
ยูทูบนำโทรทัศน์ และ วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบรุ่นน้องมองพี่ ม.6
เกรียงไกร วชิรธรรมพร ในฐานะนักเขียนบทและผู้กำกับซีรีส์ ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ ถูกยิงคำถามให้เป็นผู้กล่าวเปิดเวทีเลยว่า ธรรมชาติการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นในปัจจุบันเป็นอย่างไร
“ต้องกล่าวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นผู้รู้ในเรื่องวัยรุ่นนะครับ แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าไปศึกษา เป็นเพราะซีรีส์เรื่อง ‘โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์’ ที่ทำ มันไม่ได้กระแสเท่าที่คิดไว้ เลยกลับไปศึกษาว่า ตอนนี้วัยรุ่นใช้สื่ออะไรและอย่างไร”
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ซีรีส์ ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ จะเคยโด่งดังเป็นพลุแตก แต่เพียง 4-5 ปีผ่านไป ความคิดของผู้จัดทำแบบเดียวกัน กลับใช้ไม่ได้ ข้อสังเกตของเกรียงไกร คือ
หนึ่ง-วัยรุ่นไม่ได้ปฏิบัติต่อโทรทัศน์ เหมือนที่วัยรุ่นยุคก่อนๆ ใช้ ยูทูบต่างหากคือสื่อกระแสหลักในปัจจุบัน
“อย่าง The Mask Singer ช่วงที่เริ่มเป็นกระแสใหม่ๆ เพราะมันดังในโซเชียลมีเดียก่อนนะครับ พอมันเป็นกระแสแบบปากต่อปาก คนจึงค่อยไปนั่งรอดูหน้าทีวี เพราะไม่อยากโดนสปอยล์อีกแล้วว่าหน้ากากคนนี้เป็นใคร คือเนื้อหาในยูทูบนำโทรทัศน์ไปแล้ว”
สิ่งที่เกิดตามมาคือ วัฒนธรรมการเสพงานในยูทูบก็ยังมีความแตกต่างระหว่างการเสพของผู้ใหญ่กับวัยรุ่น หลักฐานที่ชัดเจนคือ วัฒนธรรมการ subscribe หรือการติดตามเป็นสมาชิก
“เขาไม่ได้ subscribe กันแค่หลักสิบนะครับ แต่ subscribe เป็นร้อย คล้ายการ follow คนในอินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์ พอติดตามมากขนาดนี้ เนื้อหาที่เขาได้รับแต่ละวันมันจึงมาก ไม่เหมือนคนรุ่นเราที่จะ subscribe ใครจะคิดแล้วคิดอีก เพราะกลัวว่าคอนเทนต์เหล่านั้นจะมากวน”
ยังไม่นับข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างการทำวิดีโอของเด็กสมัยนี้ที่มีความ ‘จริงใจ’ ไม่มีรูปแบบการถ่ายที่ต้องเก็บเนี้ยบ เกรียงไกรเห็นว่านี่อาจเป็นการรับวัฒนธรรมของ Snapchat หรือ IG’s story ที่เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพแบบสดๆ
สอง-ก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่กังวลว่าเด็กจะใช้สื่อในทางที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง เช่น คลิปชื่อดังเมื่อราว 5 ปีที่แล้วอย่างคลิป ‘ฟ้องครูอังคณา’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการใช้สื่อของคนในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันจะเห็นว่า วัยรุ่นเกิดการเรียนรู้การใช้โซเชียล แบ่งพฤติกรรมได้สองแบบคือ ถ้าไม่ ทำตาม พราะเห็นว่าวิธีการแบบนี้สร้างตัวตนได้ ก็ หลีกเลี่ยง ไม่ทำเช่นนั้น
“การถ่ายทอดและเรียนรู้แบบนี้ ไม่ต่างจากการมองพี่ ม.6 เราจะเป็นหรือไม่เป็นแบบนั้นก็ได้” เกรียงไกรเปรียบเทียบ
Tik Tok, Snapchat, IG’s stoty การสื่อตัวตนโดยไม่ต้องการให้คงอยู่ถาวร
ขณะที่อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Blognone ขยายความ วัฒนธรรมร่วมสมัย (เอาสมัยนี้ ณ เวลานี้เลย เวลาหน้าอาจ ‘เอาท์’ ไปแล้ว!) ของวัยรุ่นวุ่นเน็ตยุคนี้ ในเรื่อง ‘ความดิบ’ ของคลิปวิดีโอในแพลตฟอร์มสมัยใหม่ที่เกรียงไกรพูดถึง ขั้นแรก อิสริยะเชิญชวนให้ทุกคนโหลดแอพพลิเคชั่น Tik Tok แอพฯ อัดคลิปวิดีโอยาว 15 นาทีพร้อมเพลง แล้วลองเลื่อนคลิกดู คุณจะพบความบันเทิงและเห็นวัฒนธรรมร่วมสมัยวัยรุ่นอย่างที่สุด
‘ความดิบ’ ที่ว่าเห็นชัดคือใน IG’s story ให้อัดคลิปวิดีโอพร้อมลูกเล่นอีโมชั่น และจะทำลายตัวเองภายใน 24 ชั่วโมง – นี่คือ ‘การลดความถาวร’ ของเนื้อหานั้นๆ ลง
“ผมพยายามทำความเข้าใจ แต่ย้อนคิดตอนที่เราเรียน เวลาเบื่อๆ เราก็วาดรูปใส่กระดาษแล้วปาใส่เพื่อน เพื่อนก็วาดแล้วปากลับมา เสร็จแล้วเราจะเก็บกระดาษเหล่านั้นไว้ไหม? นี่อาจเป็นคำอธิบาย Snapchat หรือ IG’s story ก็คือการสื่อตัวตนโดยไม่ต้องการให้มันคงอยู่ถาวร”
นอกจากนี้ อิสริยะอธิบายเรื่องการใช้แพลตฟอร์มของวัยรุ่นสมัยนี้ว่าแต่ละคนไม่ได้ใช้แค่แพลตฟอร์มเดียว และแต่ละแพลตฟอร์ม ก็ยังมีได้ตั้งหลายแอคเคาท์ เช่น แอคเคาท์หลุม กรุ๊ปไลน์ย่อย แต่จุดตั้งต้นที่สำคัญ มันคือพื้นที่แห่งการแสดงออก และการแสดงออกที่ไม่ต้องมีพ่อแม่ หนึ่งในข้อสังเกต ซึ่งหลายคนในห้องประชุมพยักหน้าคือ วัยรุ่นย้ายไปเล่นทวิตเตอร์ ก็เพราะพื้นที่นั้นไม่มีพ่อแม่
“ถ้าอยากเข้าใจวัยรุ่น ให้ไปลองเล่นทวิตเตอร์นะครับ แต่ให้เล่นสักพักหนึ่งแล้วคุณจะเห็นเลย ที่ชัดที่สุดคือ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า เฟซบุ๊ค คือ ‘คนรู้จัก ที่คุยกันไม่รู้เรื่อง’ ส่วนทวิตเตอร์ คือ ‘คนไม่รู้จัก ที่คุยกันรู้เรื่อง’ ”
สังคมปรับระดับได้ คำอธิบายว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้ฉาบฉวย แต่ซับซ้อนและมีองค์ความรู้ในนั้น
เพราะหนังสือ WHY WE POST: ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิทัล เป็นการเล่ามุมมองด้วยวิถีมานุษยวิทยา – การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และ การเปรียบเทียบความหลากหลายในเชิงพื้นที่และสังคมของปรากฏการณ์
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงอยากอธิบายปรากฏการณ์ที่วิทยากรสองท่านพูดถึงก่อนหน้า ตั้งแต่วัฒนธรรมบอต (ในทวิตเตอร์), การฉอด (ในทวิตเตอร์) แอคเห็บ (ในทวิตเตอร์) รวมทั้งคำกล่าวที่ว่าวัยรุ่นใช้สื่อโซเชียลมีเดียแบบฉาบฉวย และ บางครั้งทำให้คนในครอบครัวห่างเหิน มันไม่ได้เป็นจริงในทุกพื้นที่
คำอธิบายหลักที่พรรณรายยกขึ้นมาเล่าบนเวที คือ ความเข้าใจ สภาวะความเป็นสังคมที่ปรับระดับได้ (scalable sociality) อย่างสรุปคือ ภาวะที่เรา – คนที่ใช้โซเชียลมีเดียโดยรวม ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง หนึ่งคนใช้โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงกลุ่มและสาธารณะต่างกัน
“เราใช้แค่เฟซบุ๊คอย่างเดียวรึเปล่า? เราไม่ได้ใช้สื่อเดียว แต่เราเลือกว่าจะใช้สื่อไหนเพื่อจัดการความสัมพันธ์”
พรรณรายยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมามีข่าวว่า เธอสอบถามนักศึกษาในคลาสว่ามีความเห็นต่อประเด็นการเมืองอย่างไร นักศึกษาตอบว่า หากไปดูความเห็นในทวิตเตอร์จะพบคำตอบที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น มีพวกพ้องเดียวกัน แต่หากไปอ่านความเห็นในเฟซบุ๊คจะได้ความเห็นที่หลากหลาย
เธอยังตั้งคำถามที่น่าสนใจต่อไปว่า ทั้งหมดนี้จะกล่าวได้อย่างไรว่า วัยรุ่นเสพโซเชียลมีเดียอย่างฉาบฉวย? นอกจากจะไม่ใช่ มันยังมีความซับซ้อนและองค์ความรู้ซ่อนอยู่
โลกเปลี่ยนแล้ว รัฐได้ยินรึยัง?
หากเชื่อว่าสังคมมีพลวัต ปรับระดับได้ และการใช้สื่อของวัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าโซเชียลมีเดียมีพลังต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ขนาดไหน ในฐานะคนกำหนดนโยบาย จะใช้ประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่พูดกันอยู่บนเวที และที่เขียนอย่างเป็นระบบในหนังสือ ไปสู่หู ‘ลุงๆ’ ได้อย่างไร?
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งต้นอธิบายจากวิธีคิดสุดคลาสสิก ‘อยู่ที่ว่ารัฐยึดชุดคุณค่าอะไร?’ รวมทั้งการกลับไปตั้งคำถามด้วยว่า สิ่งที่รัฐกลัว ความจริงเบื้องหลังของมันคืออะไร
เช่น คนทั่วไปบอกว่าปัญหาของโซเชียลมีเดียคือ hate speech แต่ นพ.ประวิทย์ตั้งคำถามกลับว่า แล้ว hate speech เกิดขึ้นที่จุดไหน? ใช่หรือไม่ว่ามันเกิดบนเวทีการเมืองแต่แพร่ผ่านมาปรากฏตัวบนโลกออนไลน์ หมายความว่า การจัดการปัญหา ต้องกลับไปแก้ที่ ‘โลกจริง’ ด้วย
ส่วนคำถามที่ว่า จะทำให้อย่างให้บรรดา ‘ลุงๆ’ เข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
“ต้องทำให้เห็นว่าความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต้มต่อของวัยรุ่นคือเวลา ซึ่งคนรุ่นเก่ารู้ตัวว่าเขาไม่มีเวลา เราหมุนโลกย้อนกลับไปไม่ได้ คนที่รับสุขและทุกข์ คือคนในรุ่นนี้” นพ.ประวิทย์กล่าว
มีแก๊กขำๆ เล็กน้อยที่ นพ.ประวิทย์เสนอความเห็นไว้ คือในช่วงหนึ่งของการสนทนา ผู้ดำเนินรายการถามว่า วัยรุ่นคิดอย่างไรกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ อิสริยะตอบก่อนว่า คนรุ่นใหม่ ‘ไม่สนใจ’ (คำจริงของเขาคือ ไม่แคร์ at all) เพราะอยู่ในจุดที่พวกเขาอัดอั้นมากแล้ว ขณะที่เกรียงไกรเสนอว่า อาจเพราะฟังก์ชั่นการ ‘รีทวีต’ ที่ไม่ต้องแสดงความเห็น การรีทวีตคล้ายการตอบรับแค่ ‘อือ ไม่ได้พูดนะ มันพูด’ จึงทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่หวั่นกลัวว่าการจับกุมจะถึงตัวได้ คล้ายจินตนาการไม่ออกว่าจะจับคนรีทวีตเป็นพันคนได้อย่างไร
มีแก๊กขำๆ เล็กน้อยที่ นพ.ประวิทย์เสนอความเห็นไว้ คือในช่วงหนึ่งของการสนทนา ผู้ดำเนินรายการถามว่า วัยรุ่นคิดอย่างไรกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ อิสริยะตอบก่อนว่า คนรุ่นใหม่ ‘ไม่สนใจ’ (คำจริงของเขาคือ ไม่แคร์ at all) เพราะอยู่ในจุดที่พวกเขาอัดอั้นมากแล้ว ขณะที่เกรียงไกรเสนอว่า อาจเพราะฟังก์ชั่นการ ‘รีทวีต’ ที่ไม่ต้องแสดงความเห็น การรีทวีตคล้ายการตอบรับแค่ ‘อือ ไม่ได้พูดนะ มันพูด’ จึงทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่หวั่นกลัวว่าการจับกุมจะถึงตัวได้ คล้ายจินตนาการไม่ออกว่าจะจับคนรีทวีตเป็นพันคนได้อย่างไร
นพ.ประวิทย์เสนอความเห็นต่อว่า วิธีการพูดของคนในโซเชียลก็น่าสนใจ วัยรุ่นมีวิธีการสื่อสารไปถึง ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ โดยไม่ต้องพูดชื่อ ซึ่งวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการเฉพาะของวัยรุ่นวุ่นเน็ตในไทยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เราพูดกันถึงประเด็น ‘บวกๆ’ ที่โซเชียลขับเคลื่อนสังคมและสร้างปรากฏการณ์ร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม ในความงามยังมีความมืดมน และมีสิ่งที่คนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องตระหนัก และร่วมกันแสดงจุดยืนต่อผู้คิดนวัตกรรมต่อไป เช่น การเสพโซเชียลมีเดียเกินพอดี ที่นำไปสู่ประเด็น digital well being, การโพสต์ภาพในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คัดมาแล้วแต่ช่วงเวลาดีๆ ในชีวิต กระทบต่อมุมมองของผู้คนที่มีต่อตัวเอง กระทั่ง มาตรการความเป็นส่วนตัวที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถาม
อย่างไรก็ตาม วินาทีนี้คงไม่ใช่การตั้งแง่ว่าโซเชียลมีเดียนั้นบวกหรือลบ คำถามสำคัญคือ อยู่กันอย่างไรท่ามกลางช่องว่างที่แตกต่าง อย่างที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า คีย์เวิร์ด 2 ประการที่อยู่กับวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต คือ empathy – ความเข้าอกเข้าใจ และ compassion – ความกรุณา
เข้าใจและเมตตา สองอย่างที่ทำให้ช่องว่างระหว่าง (โลก) สองวัย แคบลง