- บทความภาคต่อจากโรงเรียนธรรมชาติโดย เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ครูสอนธรรมชาติศึกษา ที่สอนเรื่องเล็กๆ ในธรรมชาติ หวังให้เด็กๆ ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับความเข้าใจเรื่องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
- “น้อยมากที่เด็กรุ่นใหม่จะออกห่างหรือ ‘ขาด’ จากสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ เรียกได้ว่าพวกเขาอยู่กับมันจนเคยชินไปแล้ว ทำให้เราไม่ค่อยได้สนใจทักษะความสามารถอื่นๆ ในการดำรงชีพประจำวัน”
- รู้ชีวิต ที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ / รู้ธรรมชาติ ที่ขาดร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า / รู้จิตใจ ที่มองเห็นธรรมชาติด้วยใจ 3 เป้าหมายที่ครูเกรียงต้องการให้เกิดขึ้นจริงกับเด็กๆ
รู้ธรรมชาติ รู้ชีวิต รู้จิตใจ
สามด้านที่ผมตั้งเป้าหมายการเรียนการสอนที่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบ้านนา (Banna Nature School หรือ BNS) ผู้ปกครองที่เพิ่งรู้จักอาจจะเห็นว่าเราเน้นที่สาระเรื่องธรรมชาติเป็นหลัก แน่นอน นั่นเป็นหัวใจหลักในเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด แต่ถ้าบ้านไหนติดตาม BNS ไปยาวๆ จะเห็นว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่ง ‘ครอบครัว’ ที่ทีมครู BNS ไม่ได้เป็นแค่ครู เรายังเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นลุง เป็นน้า เป็นอา (หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นพ่อ เป็นแม่) ของเด็กๆ
ผมอยากให้เป็นบรรยากาศที่เอื้ออาทรแบบคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่ส่งลูกมาเรียนเพียงอย่างเดียว เราอยากให้เรียนกันทั้งครอบครัว พี่มาเรียน น้องมาเล่น พ่อแม่ผู้ปกครองมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการดูแลลูกร่วมกัน เด็กๆ ได้มีโอกาสปรับตัวกับเพื่อนใหม่ๆ ร่วมกัน ผ่านการเล่นในชั่วโมงเล่น (ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนแบบหนึ่ง) เล่นกลุ่มใหญ่บ้าง แบ่งเป็นกลุ่มย่อยบ้าง มีการทะเลาะกันบ้าง โกรธกันบ้าง ขอโทษกันบ้าง ช่วยเหลือกัน เป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของเนื้อหาสาระเรื่องธรรมชาติด้วย (ว่าด้วยความสัมพันธ์กันในชีวิตธรรมชาติ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอยู่ได้เพียงลำพังในธรรมชาติ) นี่คือการ ‘รู้ชีวิต’ ในเบื้องต้น
รู้ชีวิต (ที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ)
เนื้อหาสาระของวิชาเรียน ‘รู้ธรรมชาติ’ ที่ผมกำหนดขึ้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่งผมอยากพัฒนาศักยภาพของเด็กในยุคปัจจุบันที่เกิดและเติบโตมาพร้อมด้วยสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ
น้อยเสียยิ่งกว่าน้อยที่เด็กเหล่านี้จะ ‘ขาด’ จากสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ เรียกได้ว่าพวกเขาอยู่กับมันจนเคยชินไปแล้ว ทำให้เราไม่ค่อยได้สนใจทักษะความสามารถอื่นๆ ในการดำรงชีพประจำวัน
ทุกคนตื่นเช้ามาเปิดก๊อกน้ำล้างหน้าแปรงฟัน เสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ กาน้ำร้อน เตาไฟฟ้า มีชีวิตวนเวียนอยู่กับ สวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ เป็นหลัก พ่อแม่เองก็อาจจะหลงลืมไปว่าเราจะต้องให้ลูกๆ เรียนรู้ชีวิตที่ไม่มี สวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำบ้าง เพื่อให้สัญชาตญาณของเด็กๆ ได้ตื่นตัว เพราะ สวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำอาจจะไม่ได้อยู่กับเราในวันใดวันหนึ่ง เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ โดยไม่โวยวายบ้านแตก
BNS จึงเปิดชั้นเรียน ‘เป็น-อยู่-คือ’ ให้เด็กๆ ได้ลองฝึกเบื้องต้น ในการใช้ชีวิตแบบไม่มีสวิตช์และปลั๊กไฟดูบ้าง เราจะกินจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีมัน เริ่มตั้งแต่ก่อไฟ หุงข้าว ทำกับข้าว มีเตาเป็นก้อนหินสามก้อนเท่านั้นกับไม้ฟืนอีกกองหนึ่ง กลางคืนอยู่ด้วยแสงไฟริบหรี่ อาบน้ำเย็นๆ จากลำห้วย
อาหารที่เด็กๆ ทำเอง กินเอง รสชาติอาจจะแย่ในครั้งแรกที่กิน แต่ก็ต้องกิน และบางคนก็กินด้วยความอร่อย อร่อยเพราะภูมิใจที่พวกเขาปรุงมันขึ้นมาเองกับมือ มีการตัดสินใจร่วมกันในกลุ่ม แม้จะไม่เห็นด้วยก็ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ แม้จะไม่ชอบใจในรสชาติฝีมือเพื่อน ก็ต้องกิน เพราะไม่มีอาหารสำรอง ก็ฝึกให้กินง่ายขึ้น เพื่อให้อิ่มท้องต่อชีวิตไปอีกวันหนึ่ง
สำหรับเด็กในวัย 6-10 ขวบ การฝึกเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องยาก และง่ายด้วยซ้ำที่พวกเขายังไม่ได้ ‘ติดกลิ่น-ติดรสชาติ’ มากนัก ยังสามารถปรับได้ และการได้ทดลองทำอะไรแบบนี้มันก็เหมือนกับการเล่นมากกว่าที่พวกเขาจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังฝึกทักษะของการใช้ชีวิตอยู่ และได้ ‘รู้ชีวิต’ ขึ้นมาโดยปริยายว่าถ้าไม่มี สวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ พวกเขาพอจะเดาได้ว่าจะปรับตัวใช้ชีวิตอย่างไร
อีกมุมหนึ่งเรื่องการอยู่ง่าย กินง่าย ก็จะสามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติได้ง่ายขึ้น หลายสถานที่ไม่ได้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากนัก จะได้ไม่เป็นข้อจำกัดเมื่อต้องเข้าไปยังพื้นที่อื่นๆ
นี่เป็นเบื้องต้นเท่านั้น เรายังมีการฝึกที่หนักขึ้นไปอีกขั้นสำหรับนักเรียนในวัย 8 ขวบขึ้นไป นั่นคือการไปใช้ชีวิตเกือบเสมือนจริง ทั้งการเข้าไปอยู่ในป่าจริงๆ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ เรานอนเต็นท์กันบนลานดิน ลานหิน ก่อไฟหุงข้าว จับปลาจากลำห้วยมาทำกินกัน ต้องเดินกันไปด้วยสองเท้าของตัวเองไปกลับเกือบ 20 กม.
หรือการไปเป็นชาวประมง (วิชาลูกทะเล) ที่หาปลา หาหอย หาหมึก มาทำกินเอง รู้จักการใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการจับสัตว์น้ำ อยู่ชายทะเลจะหาน้ำจืดได้อย่างไร รู้จักลม รู้จักน้ำ นี่คือการเรียนรู้ควบคู่กับการลงมือทำจริงจากสถานการณ์จริง วันนี้คลื่นลมแรงออกเรือหาปลาไม่ได้ เราจะหากินแถวชายฝั่งแบบไหนได้บ้าง ตรงไหนมีปลา ตรงไหนมีหอย จะจับมันมาได้อย่างไร
รู้ธรรมชาติ (ที่ขาดร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า)
ไหนบอกว่า BNS สอนเรื่องธรรมชาติ?
ไม่ผิดครับ นี่ก็คือการเรียนรู้จากธรรมชาติในรูปแบบหนึ่ง ชีวิตคนเราก็ต้องกิน และหากินแบบง่ายๆ ด้วยการสังเกตธรรมชาติเป็นเบื้องต้น ถ้าเราไม่ต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ ไม่ไปห้างสรรพสินค้า เราจะยังมีชีวิตอยู่ได้ไหม นี่คือพื้นฐานของชีวิต ที่ร้านสะดวกซื้อไม่ได้เป็นหมุดหมายสำคัญแต่อย่างใด
เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวของเราเองกับทรัพยากรธรรมชาติ และการหากินที่ง่ายที่สุด เด็กได้รู้จักความสามารถของตัวเอง ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ช่วยเหลือ แบบไม่ต้องท่องจำ ไม่ต้องพร่ำสอน แต่ให้เด็กพร่ำทำตามสถานการณ์ และทุกเรื่องที่เด็กกำลังทำ ไม่ใช่ ‘งาน’ ไม่ใช่ ‘เรียน’ แต่พวกเขากำลังเล่น มีสนุกบ้าง เบื่อบ้าง อยากหยุดบ้าง อยากทำต่อบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ครูก็ต้องยืดหยุ่นปรับแผน ปรับกระบวนไปตามสถานการณ์
รู้จิตใจ (ที่มองเห็นธรรมชาติด้วยใจ)
เรื่องจิตใจเป็นเรื่องบอบบาง และเด็กแต่ละคนมาจากบ้านที่แตกต่างกัน ผ่านการอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน บางคนแกร่ง บางคนเปราะบาง เมื่อมาอยู่รวมกันย่อมมีเรื่องกวนใจกันบ้าง นั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญที่ BNS กำลังพุ่งเป้าไปก็คือการ “มองเห็นธรรมชาติด้วยใจ” เรื่องนี้ผมไม่ได้สอน แต่ให้เด็กๆ ได้สัมผัสผ่านขบวนการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เช่น เมื่อเราไปเดินป่า นอกจากจะเรียนรู้ในเรื่องของธรรมชาติที่เป็นรูปธรรมแล้ว ในช่วงพักเหนื่อย เราจะนั่งมองป่า มองชีวิตในธรรมชาติ ฟังเสียงต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัว เอนตัวลงนอนบนพื้นป่า แหงนหน้ามองเรือนยอดไม้สูงลิบลิ่ว
“ถ้าเราได้คุยกับต้นไม้ เราอยากจะถามอะไร”
“ทำไมสูงจัง”
“กินข้าวหรือยัง”
“ข้างบนหนาวไหม”
“มีใครอยู่บนนั้นบ้าง”
“อายุเท่าไหร่แล้ว”
“สบายดีไหม”
ฯลฯ
เป็นคำถามง่ายๆ ที่เด็กๆ อยากถามต้นไม้ และชวนเงี่ยหูรอฟังคำตอบ
“คุณลุงต้นไม้ตอบว่า ลุงแก่แล้ว…”
“คุณตาต้นไม้บอกว่า กลับมาอีกนะ…”
“ข้างบนนั้นลมแรงมาก แต่มีแดดเยอะดี…”
“คุณตาต้นไม้ชวนไปนั่งเล่นบนนั้น…”
น้ำเสียงจากคำพูดคุยของเด็กๆ เต็มไปด้วยความสุข ความสนุกกับการได้พูดคุยกับต้นไม้ มันอาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล่นๆ จากจินตนาการ แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่เด็กๆ เริ่ม ‘อิน’ กับความเป็นธรรมชาติของแท้ ที่ไม่ได้มีกรอบของความรู้จากรูปธรรมมากำหนด
วันหนึ่งผมได้พาเด็ก 8-9 ขวบกลุ่มหนึ่งเดินเท้าเข้าป่าเขาใหญ่ เพื่อเข้าไปเยี่ยมเยียนคุณปู่สมพง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เรามากันอย่างน้อยปีละครั้ง ปู่สมพงเป็นต้นไม้ใหญ่ที่รากพูพอนแผ่กว้างมากกว่า 20 เมตร เป็นความใหญ่โตอลังการของต้นไม้ในป่าที่เด็กๆ สัมผัสได้ วันนั้นผมชี้ให้พวกเขาดูว่ามีต้นไทรขึ้นเกาะเกี่ยวบนลำต้นของต้นสมพง ซึ่งรากต้นไทรกำลังขยายตัวบีบรัดต้นสมพงอยู่
“ปู่สมพงน่าจะอยู่กับเราอีกไม่นานแล้ว” ผมบอกเด็กๆ
“เราจะทำยังไงกันดีครับ… เราช่วยกันตัดต้นไทรออกได้ไหมครับ” ม่อนแสดงความเห็น หลังจากยืนแหงนหน้ามองนิ่งๆ อยู่พักใหญ่
“คงไม่ได้หรอก… นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เขาจะดูแลและจัดการกันเอง”
ม่อนน้ำตาซึม ทำเอาเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างๆ อีกหลายคนเศร้าไปด้วย
“งั้นเราเอาน้ำให้คุณปู่กัน” ใครคนหนึ่งพูดขึ้น และพร้อมใจกันเปิดขวดน้ำดื่มของตัวเองเทลงบนพื้นดินโคนต้นสมพงจนหมดขวด
“เฮ้ย… เราต้องเดินอีกไกลนะ กว่าจะออกจากเส้นทางได้ น้ำไม่มีแล้ว”
“ไม่เป็นไรครับ ผมยอมอดน้ำ”
เล่นเอาผมน้ำตาซึมไปด้วยครับ ผมไม่เคยสอนเรื่องนี้ ไม่เคยแนะนำให้ทำแบบนี้ แต่ขบวนการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติที่ผ่านมากับการมาเยี่ยมเยียนต้นสมพงยักษ์ที่เราให้ชื่อว่า ‘ปู่สมพง’ ที่ไม่ได้เป็นแค่ต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่นี่คือญาติผู้ใหญ่ของพวกเราทุกคน เรามาเยี่ยม เรามาไหว้คารวะ ด้วยความรู้สึกที่เป็นชีวิต
ผมคิดว่าเรื่องนี้จะ install เข้าไปสู่จิตใจเบื้องลึกของพวกเขาแล้ว และไม่มีวันที่จะ uninstall ออกไปจากจิตใจได้ง่ายๆ