- ทำความเข้าใจ ‘ความติ่ง’ ให้ลึกลงไปด้วยฟังข้อมูลและคำแนะนำจากจิตแพทย์ ที่นิยามสั้นๆ ว่า ติ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกและทำลายยาก
- ค่อยๆ แนะนำและอธิบายอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทยย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- “พ่อแม่เคยชอบพี่เบิร์ดอย่างไร ลูกก็ชอบ BLACKPINK อย่างนั้นล่ะครับ” คุณหมอเปรียบเทียบ
นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
โฆษกกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ข่าวดี!! ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮ็อต จะมาจัดคอนเสิร์ตในไทยอีกครั้ง ถึง 2 รอบการแสดง #เก็บเงินกันรัวๆ เลย
ประโยคนี้คงเป็นข่าวดีมากสำหรับแฟนๆ ที่เป็นติ่ง แต่คงไม่ใช่ข่าวดีสำหรับพ่อแม่แน่ๆ โดยเฉพาะแฮชแทคปิดท้าย
พ่อ-แม่-ลูก หลายๆ บ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกวัยรุ่น น่าจะคุ้นกับสถานการณ์เช่นนี้ บางบ้านก็ดีลได้ แต่หลายบ้านจบลงด้วยการทะเลาะกัน เพราะต่างฝ่ายต่างคาดหวังความเข้าอกเข้าใจ แต่สิ่งที่ได้กลับมามีเพียง “การไม่ฟังและไม่พยายามเข้าใจ”
“ติ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกและทำลายยาก”
ประโยคสำคัญจาก นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่อธิบายความรู้สึกของติ่งในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับมาฟัง เข้าใจ และไม่ดูถูกหัวใจจนบาดหมางกัน
นับหนึ่งด้วยการสังเกตพฤติกรรม
สมัยนี้เป็นอะไรที่สังเกตเห็นง่ายมากๆ ครับ จากรายการทีวีที่ลูกชอบดู Youtube ที่ลูกชอบเปิด เพลงที่ลูกชอบฟัง ผมว่าเราก็เห็นได้แล้วว่าลูกชอบอะไร ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนกับลูกใน social media ยิ่งชัดเจนมากๆ เพราะเขาจะโพสต์อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เขาชอบบน Facebook แน่นอน ยิ่ง Twitter ที่เป็นวงสังคมหลักของกลุ่มแฟนด้อมต่างๆ นี่ง่ายเลย อันนี้อ่านไม่กี่ทวิตของลูกก็รู้แล้วว่าลูกเราชอบวงอะไร ชอบดารานักร้องคนไหน กำลังรอจะไปคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งที่ไหนบ้าง
ความรัก (ของติ่ง) คือนามธรรมและไม่มีจุดตรงกลางสมบูรณ์
ถ้าถามผมว่าพฤติกรรมติ่งมีกี่ระดับนี่คงตอบยากมากๆ ครับ เพราะระดับความรักความชอบของคนมันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึกที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ จับต้องไม่ได้ แม้จะใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาก็ยังเอามาประเมินได้ยากเลย ถ้าจะไปวัดตรงระดับพฤติกรรมแทนก็อาจจะยากเช่นเดียวกัน เพราะว่าพฤติกรรมของมนุษย์มันไม่มีเกณฑ์ตายตัวว่าแบบไหนมาก แบบไหนน้อย ไม่มีจุดตรงกลางสมบูรณ์ มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าบรรทัดฐานทางสังคม ในขณะที่บางสังคมมองว่าพฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเล็กน้อยมาก แต่บางสังคมอาจมองว่านี่มันมากเกินไปจนรับไม่ได้แล้ว คนละสังคมค่านิยมก็ต่างกัน นอกจากนั้น การรับรู้บรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละบุคคลเองก็สำคัญมากเช่นกัน
ถ้าเราไปยืนอยู่ตรงจุดขวาสุดตรงจุดที่เกลียดไอดอลเกาหลีเข้าไส้ เราอาจมองว่าใครก็ตามที่ยืนอยู่ซ้ายมือถัดเราไป พวกนี้เป็นติ่งเกาหลีน่ารำคาญทั้งหมด
เอาเป็นว่าถ้าจะให้แบ่งจริงๆ ผมคงแบ่งเป็น พฤติกรรมติ่งทั่วไป กับ พฤติกรรมติ่งแบบเสียสุขภาพ ครับ ถ้าพฤติกรรมติ่งของลูกนั้นอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้เสียหน้าที่ในการทำงาน เสียการเรียน เสียเงินทองจนเกินตัว หรือสูญเสียความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้าง ผมก็ยังมองว่าแบบนี้ก็เป็นปกติทั่วๆ ไป ใครก็เป็นได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นติ่งแล้วเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นติ่งแล้วต้องเสียสละอนาคตตัวเองไปนี่ อันนี้ไม่โอเค พ่อแม่คงต้องเริ่มหาทางช่วยเหลืออะไรบางอย่าง
ติ่งอย่างไรถึงเสียสุขภาพ
พฤติกรรมติ่งแบบเสียสุขภาพมีการพูดถึงในบางกลุ่มอาการทางจิตเวชเหมือนกัน เช่น Celebrity Worship Syndrome ที่มีอาการย้ำคิดวกวนอยู่กับเรื่องของคนที่ตัวเองชอบ ควบคุมความคลั่งไคล้ของตัวเองไม่ได้ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขั้น
ระดับ Entertainment-social อันนี้เป็นขั้นต้นที่มีความย้ำคิดวกวนเรื่องไอดอลซ้ำๆ เฉยๆ ชักชวนให้คนอื่นมาชอบเหมือนตนเองบ้าง ติดตาม social media ของไอดอลอย่างใกล้ชิด ระดับต้นนี้ถ้าในวัยรุ่นหญิงอาจมีปัญหา เช่น อยากหุ่นดีแบบไอดอลจนเริ่มลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ผิดๆ
ระดับ Intense-personal เป็นระดับกลาง เริ่มเอาเรื่องไอดอลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขาดไม่ได้เหมือนเป็นอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต เริ่มรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ กลัวไอดอลจะไม่ชอบตัวเอง ในบางคนอาจเริ่มทำศัลยกรรมเพื่อให้ไอดอลชอบหรือให้เหมือนไอดอลที่ตัวเองชอบ
ระดับ Borderline-pathological เป็นระดับรุนแรง เริ่มแยกเส้นแบ่งความเป็นจริงกับเรื่องในจินตนาการไม่ได้ มีการตัดสินใจในการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก มีอาการหวาดระแวงวิตกกังวลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไอดอล ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยด่วน
หรือบางคนอาจมีอาการ Erotomanic คือ มีความเชื่ออย่างสนิทใจว่าไอดอลคนนั้นก็มีความรู้สึกรักเรากลับมาเหมือนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เหตุผลอะไรมารองรับความเชื่อนี้เลย ถ้ามีอาการแบบนี้คงต้องมาบำบัดรักษากันอย่างจริงจัง เพราะเราจะได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่า บางคนพัฒนาไปเป็น stalker หรือ บางคนถึงขั้นบุกบ้านทำร้ายร่างกายไอดอลเพราะไม่อยากให้คนอื่นมาแย่งไป ก็มีให้เห็นตามข่าวต่างประเทศบ่อยๆ
‘ติ่ง’ ความสัมพันธ์ลุ่มลึกและทำลายยาก
การเป็นติ่ง โดยหลักๆ แล้วเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบด้านเดียว (one-sided relationship) ที่มีต่อเหล่าไอดอลที่มีชื่อเสียง ความสัมพันธ์ด้านเดียวนี่หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งเริ่มรู้จักอีกฝ่ายดีเป็นอย่างมาก โดยที่ฝ่ายหลังนั้นแทบไม่รู้จักหรือรับรู้การมีตัวตนอยู่ของฝ่ายแรกเลย การเข้าสู่การเป็นติ่งเกาหลี เริ่มจากตระหนักการมีตัวตนของไอดอลก่อน อาจจะตระหนักเพราะเขา/เธอหน้าตาดี ความสามารถดี หรือเพื่อนชักชวน พอเริ่มล็อคเป้าแล้วว่าบุคคลนี้น่าสนใจ น่าค้นหา จึงเริ่มติดตามผลงานและเรื่องส่วนตัวมากขึ้น ความรู้สึกใกล้ชิดและผูกพัน (sense of attachment) จึงเริ่มเกิดขึ้น ยิ่งรับข้อมูลข่าวสารหรือดูรายการที่เกี่ยวกับไอดอลคนนั้นมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดความผูกพันมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความสุขในการผูกพัน จึงใช้กำลังกายและกำลังเงินในการหาความสุขในการเป็นติ่งมากขึ้นตามลำดับ
บริษัทที่ดูแลไอดอลทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นก็ฉลาดด้านธุรกิจ พยายามวาง position ของไอดอลทั้งหลายให้สัมผัสผลงานได้ง่ายแต่กลับสัมผัสตัวจริงไม่ง่ายนัก กว่าจะได้สัมผัสตัวตนอย่างใกล้ชิดต้องมีหลายขั้นตอน ต้องรอคอย มาดักรอสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ บางครั้งกว่าจะได้ไฮทัชไอดอลเกาหลีต้องต่อคิวเบียดเสียดกับคนอื่นมหาศาล ฝั่งติ่งไอดอลญี่ปุ่นก็ต้องเสียเงินเพื่อจับมือสั้นๆ ซึ่งนี่เองเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบด้านเดียวเข้มแข็งขึ้น
ความสัมพันธ์แบบนี้ลุ่มลึกและทำลายยาก เพราะเป็นความชอบแบบไม่คาดหวัง แม้จะได้ใกล้ชิดกันเพียงสั้นๆ ก็ตาม แต่อีกฝ่ายที่เป็นไอดอลนั้นปฏิเสธเราไม่ได้ เราจึงรู้สึกมั่นคง เราจินตนาการอะไรเพิ่มเติมลงไปก็ได้ในเนื้อหาความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์ที่เราเองควบคุมได้ ความสัมพันธ์จะหายไปก็ต่อเมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะเท…เท่านั้นเอง
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมติ่งกระจายเป็นวงกว้างออกไป คงเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า Bandwagon effect อธิบายง่ายๆ ว่า พฤติกรรมใดเป็นที่นิยมมากๆ ในวงสังคม ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม ยิ่งในวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ มีแรงกดดันจากเพื่อน (peer pressure) อยู่สม่ำเสมอ การเป็นคนเดียวที่คุยเรื่องไอดอลเกาหลีไม่รู้เรื่องอาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจและกลายเป็นคนนอกกลุ่ม คนที่สนใจเล็กน้อยก็จะได้รับแรงเสริมจากเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ สักพักก็จะสนใจและรู้สึกผูกพันมากขึ้นไปเอง
ก่อนจะดีลกับลูก พ่อแม่ต้องดีลกับตัวเองก่อน
ก่อนจะไปดีลอะไรกับลูก พ่อแม่ต้องดีลกับตัวเองก่อนเลยครับ สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรนึกถึงอย่างแรกคือ การที่ลูกบ้าดารานักร้องนั้นมันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย มันเป็นเรื่องปกติจริงๆ และการบ้าดารานักร้องนั้นมีมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้วด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ย้อนไปประมาณ 50 ปีก่อน ผู้คนทั่วโลกคลั่งไคล้วงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) มากๆ สมัยนั้นพูดได้เลยว่าวัยรุ่นแทบจะทุกคนคลั่งวงนี้หมด คลั่งขนาดเปลี่ยนภาพลักษณ์วัยรุ่นอังกฤษที่มักถูกสอนให้เงียบขรึม กลายเป็นคลุ้มคลั่งวิ่งไล่ตามพ่อสี่หนุ่มเต่าทองกันเป็นหมื่นๆ คนเลยทีเดียว ต้องไปนอนเฝ้าซื้อบัตรกันเป็นวันๆ เพราะสมัยนั้นไม่มีจองออนไลน์ ถ้าเอาตัวอย่างในประเทศไทย สมัยคุณพ่อคุณแม่เองตอนวัยรุ่นก็น่าจะเคยเห็นภาพผู้คนเป็นพันๆ วิ่งไล่ตามรถของพี่เบิร์ด ธงไชย ก่อนขึ้นคอนเสิร์ตเหมือนกันใช่ไหมครับ นั่นแหละครับแบบเดียวกัน
เมื่อพ่อแม่เข้าใจแล้วว่าเรื่องนี้อยู่กับสังคมมนุษย์มานาน ก็ให้ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่ารายละเอียดต่างๆ ของการคลั่งดารานักร้องก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี เมื่อมีเทคโนโลยีมากขึ้น การเข้าถึงง่ายมากขึ้น วิธีการแสดงออกของเด็กวัยรุ่นก็จะต่างไปจากยุคก่อน บรรทัดฐานการแสดงออกก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม เมื่อทำความเข้าใจตรงนี้แล้ว พ่อแม่ก็จะใจเย็นลง ไม่ได้มองเรื่องนี้ว่าแปลกประหลาด
หลังจากนั้นค่อยลองพูดคุยกับลูกดู เริ่มทำความรู้จักในสิ่งที่เขาชอบ เขาชอบวงไหน เขาเมนคนไหน เขาชอบเพลงอะไร ทำความรู้จักลงไปในรายละเอียดต่างๆ ไม่ใช่ไปเหมารวมๆ ว่า โถ่..ก็วงเกาหลีเหมือนๆ กันนั่นแหละ แบบนี้ไม่ถูกต้อง เท่ากับว่าเราไม่รับฟังลูก แล้วลูกจะหันกลับมารับฟังเราเหมือนกันได้อย่างไร
ถ้าได้พูดคุยแล้ว และเราไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านในสิ่งที่เขารักที่จะทำ ก็จะเกิดการเปิดใจคุยกันมากขึ้น แล้วจึงค่อยๆ พูดคุยถึงขอบเขตการติ่งที่เหมาะสม และเรื่องซีเรียสๆ เช่น การจัดระเบียบชีวิตตัวเองไม่ให้ความติ่งนั้นไปรบกวนหน้าที่หลักในชีวิตประจำวัน หรือสอนการใช้เงินอย่างสมฐานะและสมวัย อย่าเพิ่งเข้าไปจัดการอะไรทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจความติ่งก่อน ถึงจะไปดีลกับความติ่งของลูกได้สำเร็จ
ติ่งแบบหมกมุ่นและขาดวินัยก็มีอยู่จริงๆ แต่ก็มากพอๆ กับพ่อแม่ที่ไม่พยายามเข้าใจ
ส่วนมากความกังวลเกิดจากความไม่เข้าใจและความพยายามจะไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจว่าแฟนด้อมคืออะไร ซาแซงคืออะไร ไฮทัชคืออะไร มีแต่พฤติกรรมและเรื่องราวที่ไม่เข้าใจสำหรับพ่อแม่เต็มไปหมด ซึ่งความไม่รู้และไม่เข้าใจก่อให้เกิดความกลัวและกังวลของมนุษย์ตามหลักจิตวิทยาพื้นฐาน หลายครั้งที่แค่ถามลูกลูกก็พร้อมจะอธิบาย แต่พ่อแม่หลายคนก็ไม่ค่อยมีเวลาที่จะพยายามจะเข้าใจอยู่ดี ความกังวลก็เลยยังคงอยู่แบบนั้น
แต่ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากวัยรุ่นบางคนก็ไม่อยากจะอธิบาย และขาดวินัยในการติ่งจริงๆ หมกมุ่นมากเกินไปจนการเรียนตกลง หรือใช้เงินมากเกินตัว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนที่เป็นแบบนี้ปริมาณมากในกลุ่มวัยรุ่น และไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่พร้อมจะรับมือพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกที่พ่อแม่หลายคนจะรู้สึกกังวล
โชคเรื่องเล็ก ความพยายามคือเรื่องใหญ่ – ไอดอลไม่ได้กล่าว
ประเด็นติ่งหลายคนพยายามชดเชยด้วยการตั้งใจเรียน ทุ่มเทกับการสอบ เพื่อชดเชยที่ตัวเองเป็นติ่ง ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกันครับ ความชอบก็ส่วนความชอบ วินัยก็ส่วนวินัย ความพยายามก็ส่วนความพยายาม ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละคน แต่หลายกรณีที่ผมเห็นคือ ไอดอลหลายคนได้สอนถึงความพยายามให้เด็กๆ ได้รู้จัก ในยุคก่อนๆ เด็กวัยรุ่นอาจจะเห็นเพียงภาพนักร้องที่เขาชอบแล้วก็รู้สึกดี รู้สึกอยากเป็นแบบนั้นบ้าง ได้แต่เฝ้าขอพรต่อโชคชะตาว่าขอให้มีโอกาสแบบนั้นบ้างเถอะ แต่เรื่องราวของไอดอลเกาหลีในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างออกไป เรื่องโชคเป็นเรื่องเล็ก เรื่องความพยายามนั้นเป็นเรื่องใหญ่กว่ามาก กว่าจะเดบิวท์ได้ตอนเป็นเด็กฝึกทำงานหนักมาหลายต่อหลายปี ซ้อมเต้น ซ้อมร้อง ซ้อมการแสดง ทั้งวันอย่างหนัก จึงจะประสบความสำเร็จได้ ผมเชื่อว่าวัยรุ่นที่ชอบนักร้องเกาหลีหลายคนรู้เรื่องนี้ และมีส่วนหนึ่งเก็บมาคิดได้ ปรับใช้กับชีวิตของตัวเอง จนมีความพยายามมุมานะต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้นจนได้ดี
บัตรคอนเสิร์ตแพงมาก vs ความชอบของแต่ละคนไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระ
พ่อแม่มีสิทธิที่จะตกใจหรือหงุดหงิด แต่ขอให้รับฟังความอยากของลูกก่อนครับ ให้เขาได้พูดความต้องการและความจำเป็นในการที่ต้องซื้อบัตรแพงขนาดนั้น
ถ้าลูกจะใช้เงินที่ตัวเองเก็บหอมรอมริบมา มันก็เป็นสิทธิของเขา เงินของเขา ไม่ใช่เงินของพ่อแม่ เจ้าของเงินมีสิทธิทุกประการที่จะเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อความสุขให้ตัวเองอย่างไรก็ได้ แม้ว่ามันจะดูไม่สมเหตุสมผลในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ดีที่สุดคือ ชื่นชมในความพยายามเก็บเงินของลูก และบอกความรู้สึกในใจของพ่อแม่ออกไป เช่น พ่อคิดว่าตั๋วตรงนี้แพงไป ซื้อโซนหลังไปหน่อยดีไหม หรือ แม่รู้สึกว่าเงินก้อนนี้มีค่ามาก ลูกอาจจะอยากเก็บไว้ซื้อของที่จำเป็นต่อลูกในอนาคต แบบนี้ก็ย่อมได้ แต่ก็ต้องไม่คาดหวังมากนักว่าลูกวัยรุ่นจะทำตาม เพราะมันก็เป็นเงินของเขา
แต่ถ้าลูกมาขอเงินเพื่อไปซื้อ อันนี้จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง พ่อแม่มีสิทธิที่จะให้หรือไม่ ก็แล้วแต่พ่อแม่ ถ้าเราเห็นว่าไม่สมควรก็ควรพูดคุยกับลูกตรงๆ โดยอธิบายว่าความไม่สมควรนั้นเกิดจากราคาที่แพงเกินไปสำหรับสถานะการเงินของครอบครัว ลูกควรจะตั้งใจอดออมหรือทำงานพิเศษเก็บเงินเอง การพูดแบบนี้จะดีกว่าการบอกไปว่า มันไม่สมควรเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ พูดไปแบบนี้ทะเลาะกันแน่ๆ เพราะความชอบของแต่ละคน ไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระ
ความปลอดภัยและวินัย สิ่งที่พ่อแม่เตือนได้เรื่องการใช้ Social Media
คนในยุคปัจจุบัน ใช้โซเชียลมีเดียเพราะตนเองอยากรู้ข้อมูลข่าวสารรอบๆ ตัวอยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลที่เราเสพก็มักเป็นข้อมูลที่เราชอบและสนใจ การใช้เพื่อติดตามดารานักร้องก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วๆ ไปในโลกโซเชียล สิ่งที่ควรตระหนักมากที่สุด 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัยในการใช้งานและวินัยในการใช้งาน social media ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องนี้ ตระหนักและพูดคุยเรื่องนี้กับลูกด้วย
ความปลอดภัยในการใช้งาน social media นั้นสำคัญมาก เช่น ข่าวสารปลอมต่างๆ อาจทำให้เกิดการรับรู้ผิดๆ และลิงค์ข่าวบางอย่างอาจนำไปสู่ไวรัส หรือ การไตร่ตรองก่อนการพิมพ์ข้อความต่างๆ ก็สำคัญมาก เพราะการชอบหรือการเกลียดนักร้องเกาหลีสักคน ย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรา ถ้าความเห็นของเราถูกเอาไปประจานไปล่าแม่มดคงไม่ดีต่อตัวเราแน่ๆ
วินัยในการใช้งาน social media ก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรพูดคุยกับลูกถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้งาน จะทำอย่างไรให้การใช้งานนั้นไม่รบกวนการเรียน การทำงาน และการพักผ่อนจนเสียสุขภาพ ไม่ใช่แต่เรื่องดารานักร้องอย่างเดียว ไม่ว่าจะใช้งานกับเรื่องอะไรก็ต้องมีวินัยและความปลอดภัยควบคู่ด้วยเสมอ
ถ้าลูกขโมยเงินไปซื้อบัตรคอนเสิร์ต – ‘ตัด ลด งด’ ได้ผลชะงัดกว่าตี
ต้องมองว่าพฤติกรรมลักขโมยนั้นเป็นพฤติกรรมละเมิดสิทธิคนอื่นรูปแบบหนึ่ง การจะสอนลูกไม่ให้หยิบเงินของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นต้องสอนให้เขาเข้าใจถึงการรักษาสิทธิของตัวเองและไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น หากใครมาละเมิดสิทธิของลูก ลูกก็คงไม่ชอบเหมือนกัน ตรงนี้ไม่ต่างกัน ใครมาหยิบเงินของพ่อแม่ไปโดยไม่ขอก่อน พ่อแม่ก็คงไม่พอใจเหมือนที่ลูกรู้สึก
ถ้าลูกเป็นคนมาสารภาพเอง สำคัญมากๆ คือพ่อแม่ต้องทำใจให้สงบก่อน เชื่อว่าโกรธมากแต่ขอให้นึกว่าอย่างน้อยลูกก็แมนพอที่จะเอ่ยปากยอมรับสารภาพ ไม่โกหกต่อให้เป็นเรื่องยาว พ่อแม่อาจจะต้องเอ่ยปากชมลูกสักเล็กน้อยที่เขารับสารภาพ แล้วจึงค่อยอธิบายว่าการหยิบของคนอื่นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ใช้คำด้านลบเช่น ขโมยเงิน หรือขี้ขโมย เพราะไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อการปรับพฤติกรรม หากลูกสำนึกผิดในสิ่งที่ตัวเองทำแล้ว ก็ให้คืนเงินส่วนที่ใช้ไป อาจจะคืนทั้งหมดหากมีเงินเก็บอยู่ หรือทยอยตัดจากค่าขนม อันนี้ก็แล้วแต่ครอบครัวจะตกลงกัน อาจใช้ร่วมกับการตักเตือนว่าหากมีครั้งหน้า เขาจะเสียสิทธิอะไรไปบ้าง
เด็กๆ มักกลัวการเสียสิทธิมากกว่าการถูกตี เพราะการถูกตี แป๊บเดียวก็หายเจ็บแล้ว แต่การถูกตัด งด ลด สิทธิที่ควรจะได้ อันนี้เจ็บยาวและจำ
ถ้าลูกไม่รับสารภาพ พ่อแม่ต้องมั่นใจก่อนว่ามีหลักฐานแน่นอนจริงๆ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งถูกต่อว่าว่าเป็นหัวขโมยโดยที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น อาจเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจ หรือร้ายกว่านั้น อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าไหนๆ ก็ถูกด่าแล้ว ก็ขโมยจริงๆ เลยแล้วกัน จุดนี้ต้องระมัดระวังให้มากๆ แล้วก็จัดการตัด งด ลด สิทธิ ต่อไป โดยอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทำแบบนี้และจะเป็นผลดีต่อตัวเขาเองอย่างไรในอนาคต
มุ่งมั่นให้หมดหน้าตัก รักทั้งไอดอลและตัวเอง
การมีความรู้สึกรักและชอบใครสักคนนั้นเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ถ้าคนนั้นสามารถบริหารความรู้สึกของตัวเองให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพราะความรู้สึกเชิงบวกจะทำให้สุขภาพจิตเราดีมากขึ้น ใช้ชีวิตได้แบบมีพลังมากขึ้น การได้ติดตามและการได้ทำอะไรบางอย่างให้คนที่เรารู้สึกดีด้วยก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน ได้แบ่งปันรอยยิ้ม ได้รู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำย่อมดีเสมอ นอกจากนั้นความเป็นติ่งจะพาให้เราออกไปทำความรู้จักคนอื่นๆ มากขึ้นทั้งในแฟนด้อมเดียวกันหรือคนต่างบ้านต่างเมือง
เรียนรู้ที่จะอยู่กับความชอบที่แตกต่างกันไปของแต่ละคนในสังคม ทุกคนมีสิทธิที่จะชอบสิ่งที่ต่างกัน มีเมนคนละคนกัน หรือแม้แต่บางคนก็ไม่ชอบคนที่เราชอบ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือการเคารพสิทธิของคนในสังคม ทุกคนมีความเชื่อและความชอบที่แตกต่างกันได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
การเป็นติ่งจะยังช่วยสอนการบริหารการใช้เงิน เพราะแน่นอนว่ามีของราคาแพงล่อตาล่อใจอยู่เสมอ ถ้าจะเป็นติ่งก็ต้องรู้ลิมิตของตัวเอง ไม่ใช่ทำตามสายเปย์ไปเสียหมดทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่ได้มีเงินทองขนาดนั้น หากอยากใช้เงินมากขึ้น ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอดออมหรือทำงานพิเศษมากขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้ในอนาคต
สุดท้ายคงเป็นเรื่องความพยายามของไอดอล ผมเชื่อว่าไอดอลเกาหลีเป็นหนึ่งในอาชีพที่ใช้ความมุ่งมั่น พยายาม และทะเยอทะยานอย่างมากอันดับต้นๆ ต้องทุ่มเทหมดหน้าตักเพื่อทำอนาคตของตัวเองให้ดีขึ้นและไปสู่จุดมุ่งหมายที่หวังไว้ ถ้าเราสามารถหยิบจุดนี้จากไอดอลขึ้นมาพัฒนาตัวเองให้เหนือไปกว่าการเป็นติ่งธรรมดาๆ ไปวันๆ และรับแรงบันดาลใจนี้เข้ามาใส่ตัวเอง การเป็นติ่งที่หลายคนดูแคลนนั้นอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตได้เลยทีเดียว
ถ้าไม่สามารถชอบในสิ่งที่ลูกชอบได้ แค่เคารพความรู้สึกลูกก็พอแล้ว
การจะชอบใครหรือคลั่งไคล้อะไรบางอย่างไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาด ถ้าเราสามารถชอบในสิ่งที่ลูกเองก็ชอบได้ เราก็จะเป็นทั้งพ่อแม่และเพื่อนไปพร้อมๆ กัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ย่อมดีขึ้น แต่หากพ่อแม่ไม่สามารถทำใจชอบไอดอลเกาหลีญี่ปุ่นได้จริงๆ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็เคารพความรู้สึกของลูกก็เพียงพอแล้ว ส่วนขอบเขตของพฤติกรรมนั้นคงต้องค่อยๆ คุยรายละเอียดลึกลงไป แต่อย่าเพิ่งไปปิดประตูตั้งแต่แรกโดยไม่ยอมรับฟัง พฤติกรรมอันไหนที่ไม่รบกวนชีวิต หน้าที่ความรับผิดชอบ หรือก่อให้เกิดปัญหาการเงิน ก็ให้การสนับสนุนได้ พฤติกรรมอันไหนที่มีแนวโน้มจะเกินขอบเขตก็พยายามสอดส่องดูแลและตักเตือนกันเป็นช่วงๆ เป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ลูกเป็นติ่งเกาหลีที่มีคุณภาพนั่นเอง