- ในยุคดิจิทัลที่ลูกพกพาความสัมพันธ์ส่วนตัวติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา ทักษะชีวิตทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องช่วยสร้างให้ลูก โดยเฉพาะประเด็น ‘มันคือความปลอดภัยของตัวลูก’ ไม่ใช่ตัวผู้ปกครอง
- Sexting การส่ง, ส่งต่อ หรือได้รับข้อความในเรื่องเพศอย่างโจ๋งครึ่ม อย่างไรก็ตาม มีการใช้ Sexting ในลักษณะบุลลี่ ล้อเลียน กระทั่งแบล็คเมลหรือหลอกใช้เพื่อตักตวงผลประโยชน์
ว่ากันตามตรง ความสนใจและการแสดงออกเรื่องเพศ กับ วัยรุ่น เป็นสิ่งคู่กันทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ต่างกันไปตามเทคโนโลยีที่อยู่ในมือ ว่ากันตามตรงอีกเช่นกัน ทุกวันนี้การส่งข้อความหรือรูปภาพที่แสดงความเซ็กซี่อย่างโจ๋งครึ่มระหว่างกัน เกิดขึ้นเป็นปกติในในหมู่วัยรุ่นกระทั่งมีศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายคือคำว่า Sexting
Sexting คือการ ส่ง, ส่งข้อความต่อ หรือได้รับข้อความ (text) บรรยายในเรื่องเซ็กส์อย่างโจ๋งครึ่ม (explicit) และรวมถึงรูปภาพเซ็กซี่ต่างๆ เป็นการส่งกันระหว่างมือถือและรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการใช้ Sexting ในลักษณะบุลลี่ ล้อเลียน กระทั่งแบล็คเมลหรือหลอกใช้เพื่อตักตวงผลประโยชน์ อ่านเพิ่มเติมที่นี่
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าความเข้าใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตนั้นมองได้หลากหลายด้าน ลูกอาจไม่ได้มองโลกมุมมองเดียวกับพ่อแม่ โดยเฉพาะในวัยรุ่น การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา แม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างในเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับพ่อแม่
ลอรี ก็อทลิบ (Lori Gottlieb) บรรณาธิการเว็บไซต์ The Atlantic, นักจิตอายุรเวช และผู้เขียนหนังสือ ‘Maybe You Should Talk to Someone’ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เมื่อพ่อแม่เริ่มระแคะระคายถึงความสัมพันธ์ของลูกกับเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งแล้วแอบเปิดดูโทรศัพท์ของลูกสาว แล้วพบข้อความที่ไม่เหมาะสมทางเพศส่งมาจากเพื่อนผู้ชายคนนั้น ก็อทลิบบอกว่า
ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ช่วยคลายความกังวลของพ่อแม่ แถมยังช่วยลูกได้ด้วย คือการพูดคุยกับลูกด้วยท่าทีที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยว่า ลูกจะรู้สึกเสียใจ ไม่พอใจ และโกรธที่พ่อแม่แอบดูโทรศัพท์ของพวกเขา (เพราะเอาเข้าจริงแล้วนี่นับเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว – กองบรรณาธิการ) แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเขาจะรู้สึกโล่งใจเมื่อพ่อแม่มีท่าทีเปิดใจรับฟัง จากเดิมที่พวกเขาอาจกำลังชั่งใจและค่อนข้างสับสนว่าจะพูดคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่อย่างไร
เมื่อถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากัน การวางตัวของพ่อแม่มีความสำคัญมากต่อความรู้สึกของลูก หากพ่อแม่ไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าว แต่ทำให้พวกเขาอุ่นใจ ไว้วางใจ และให้ความรู้สึกปลอดภัย พวกเขาจะพูดคุยสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยจนหมดเปลือก
“ลูกอาจรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่พ่อแม่กำลังจะพูด แต่พ่อแม่ รู้สึกไม่ค่อยสบายใจหลังจากเห็นข้อความที่ (ชื่อของเพื่อนลูก) ส่งหาลูกในมือถือ เลยอยากคุยกับลูกก่อน เพราะพ่อแม่อาจเข้าใจผิด พ่อแม่อยากรู้ว่าลูกรู้สึกยังไงกับข้อความนั้น” ก็อทลิบ ยกตัวอย่างวิธีเปิดบทสนทนากับลูก
อะไรควรถาม อะไรไม่ควรถาม?
พ่อแม่บอกให้ลูกรับรู้ได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรเมื่อได้อ่านข้อความหรือเห็นภาพที่ส่งมา เน้นย้ำกับลูกว่าสิ่งที่พ่อแม่รู้สึกเป็นเพียงตัวอย่างความคิดเห็นแค่มุมมองหนึ่ง เพราะการวางท่าทีไม่ขัดขวางแต่พร้อมรับฟังของพ่อแม่ ไม่พยายามตัดสินสิ่งที่ลูกทำว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ช่วยให้บทสนทนาเรื่องความสัมพันธ์เดินไปไกลเท่าที่ความสงสัยของพ่อแม่จะไปถึง
เขาเป็นเพื่อนหรือกำลังอยู่ในขั้นดูๆ กันไปก่อน?
ลูกสนใจเขาหรือเปล่า?
ลูกสนใจอะไรในตัวเขา? ลูกคิดว่าเขาน่ารักมั้ย หรือออกแนวเท่ๆ?
มีอะไรที่ทั้งสองคนชอบเหมือนๆ กันบ้าง?
ลูกอึดอัดมั้ยที่เขาส่งเมสเสจมาแบบนี้?
ถ้าลูกไม่ได้สนใจเขา ลูกคิดว่าอะไรทำให้เขาส่งข้อความแบบนี้มาหาลูก?
หากลูกมีแฟน ลูกอยากให้แฟนปฏิบัติกับลูกยังไงบ้าง?
คำถามต่างๆ ที่ว่าจะนำบทสนทนาไปสู่เรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ การแสดงความสนิทสนมใกล้ชิดกับเพื่อนต่างเพศ แรงกดดันทางสังคม ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากการสื่อสารออนไลน์ และการตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อสื่อสารกับคนแปลกหน้า การตั้งคำถามทำให้ลูกได้ถอยมาตั้งหลักคิดถึงความรู้สึกของตัวเองกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ลูกรู้เท่าทันสถานการณ์ แล้ววางตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ดิไอริชไทมส์ (The Irish Times) เปิดเผยในบทความ ‘Sexting: do you know what your teenager is doing on their phone?’ ว่า ผลสำรวจในปี 2016 ไอร์แลนด์จัดเป็นประเทศลำดับ 4 ในยุโรปที่วัยรุ่นนิยมส่งข้อความ (ที่พ่อแม่รู้สึกว่าไม่เหมาะสม) ทางเพศ (sexting) หากัน
อย่างไรก็ตาม ดร.มารินา เอเวอร์รี (Marina Everri) นักจิตวิทยาไซเบอร์ และผู้นำโครงการวิจัยยุโรป (European Research Project) เกี่ยวกับบทบาทของสื่อดิจิทัลต่อพัฒนาการของวัยรุ่นและการสื่อสารในครอบครัว (The role of digital media in adolescent development and family communication) ร่วมกับวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หรือแอลเอสอี (The London School of Economics and Political Science: LSE) หนึ่งในสถาบันที่มีชื่อเสียงในลอนดอน กล่าวไว้ในบทความว่า
พฤติกรรมการส่งข้อความทางเพศเป็นพัฒนาการตามวัยของวัยรุ่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญในการนิยามอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศของแต่ละคน
ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะจ้องจับผิดลูก หรือเสียเวลาไปกับการหาคนรับผิดชอบ เช่น โบ้ยว่าโรงเรียนควรเป็นผู้รับผิดชอบให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับนักเรียน ขณะที่อีกด้านหนึ่งโรงเรียนก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนควรเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่
ทั้งหมดนี้พ่อแม่กลับช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ ด้วยการอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การสื่อสารเรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของตัวลูกเอง
ผลการสำรวจในไอร์แลนด์ พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาร้อยละ 49 เคยพูดคุยกับคนแปลกหน้าออนไลน์ และร้อยละ 16 เคยนัดแนะเจอกับคนที่พวกเขาได้พูดคุยด้วยทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การล่วงเกินทางเพศได้
จิลล์ วิทนีย์ (Jill Whitney) ผู้เชี่ยวชาญและนักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัว กล่าวว่า พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการด้านพฤติกรรมทางเพศของลูก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัย 3 ระดับด้วยกัน
- ปัจจัยส่วนบุคคล: วัยรุ่นผู้หญิง พวกเขาจะรู้สึกมั่นใจ มีตัวตนและตื่นเต้น เมื่อเพศตรงข้ามทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเซ็กซี่ หรือน่าสนใจ (ความรู้สึกเกิดขึ้นไม่เฉพาะแค่วัยรุ่น ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน) ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องนำเสนอมุมเซ็กซี่ของตัวเอง เห็นได้จากการถ่ายรูปเซลฟี่เซ็กซี่ ดึงดูดความสนใจ
- ปัจจัยด้านความสัมพันธ์: การส่งภาพเซ็กซี่ให้กันและกัน เหมือนเป็นของขวัญแสดงถึงการให้ความสำคัญระหว่างกัน
- ปัจจัยเรื่องสถานะ: เป็นความพยายามเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม โดยเฉพาะจากคนที่ตนสนใจและอยากพัฒนาความสัมพันธ์
ย้อนกลับไปยังกรณีศึกษาของก็อทลิบที่กล่าวไว้ในตอนต้น หากฝ่ายหญิงไม่สนใจฝ่ายชาย การได้รับข้อความที่ไม่เหมาะสมทางเพศ อาจกำลังทำให้เธอรู้สึกอึดอัดหรือวางตัวไม่ถูก แต่หากเธอสนใจ ก็อาจกำลังสับสนอยู่ว่าจะตอบกลับข้อความนั้นอย่างไร การพูดคุยอย่างเปิดใจของพ่อแม่จะช่วยให้ลูกตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ ไม่พลาดพลั้ง และทำให้ลูกรู้เท่าทัน
บอกให้ลูกรับรู้ว่า เมื่อข้อความ ภาพหรือวิดีโอต่างๆ ถูกส่งออกไปจากโทรศัพท์ของพวกเขา พวกเขาจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีก ไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะมีใครเห็นบ้าง ใครจะไปรู้ว่ามันอาจถูกเผยแพร่ไปยังคนอื่น ไปทั้งโรงเรียน หรือผ่านสื่อออนไลน์ไปทั่วโลกก็ได้