ข้อเขียนต่อไปนี้เก็บความแล้วเขียนขึ้นใหม่จากหนังสือ ‘The Development of Working Memory in Children’ เขียนโดย Lucy Henry สำนักพิมพ์ Sage ปี 2012
ความจำใช้งาน (working memory) เป็นความจำพร้อมใช้ เกิดขึ้นเพื่อใช้งานแล้วดับไป เป็นความจำที่เกิดขึ้นชั่วคราวเพื่อทำงานเวลานั้นอย่างดีที่สุด เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
Baddeley & Hitch ได้เสนอโมเดลของความจำใช้งานขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 ก่อนที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โมเดลที่คนทั้งสองเสนอนี้ได้แบ่งความจำใช้งานออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 เรียกว่า central executive เป็นส่วนบัญชาการกลาง
ส่วนที่ 2 เรียกว่า phonological loop เป็นส่วนนำเข้าข้อมูลด้านเสียง
และส่วนที่ 3 เรียกว่า visuospatial sketchpad เป็นส่วนที่ใช้จัดการข้อมูลด้านภาพและช่องว่าง
สองส่วนหลังนี้มิได้เป็นส่วนปฏิบัติการจริงๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อความรวดเร็วของความจำใช้งาน
อย่าลืมว่าความสำคัญของความจำใช้งานคือ ‘ความเร็ว’
พูดง่ายๆ ว่าส่วนที่ 1 คือกองบัญชาการมีหน้าที่ใช้ข้อมูลนำเข้าจากทั้งสองส่วน คือข้อมูลเสียงและข้อมูลภาพ เพื่อบริหารจัดการก่อนที่จะส่งต่อให้สมองส่วนหน้า prefrontal cortex เพื่อประมวลข้อมูล คิดยืดหยุ่น แล้วตัดสินใจปฏิบัติการ
วันนี้เรามาดูส่วนข้อมูลเสียง ซึ่งเรียกว่า phonological loop ส่วนข้อมูลนี้เสียงนี้ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ
องค์ประกอบที่ 1 เรียกว่า phonological store ซึ่งน่าจะแปลว่าร้านเก็บรักษาเสียง ร้านเก็บรักษาเสียงนี้ทำหน้าที่เก็บรักษาเสียงที่เราได้ยินเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะเลือนหายไป ชั่วคราวที่ว่านี้กินเวลาเพียงแค่ประมาณ 2 วินาที ซึ่งเร็วมาก จึงเรียกว่าเป็นร้านชั่วคราว เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป
ตัวอย่างคือ ‘หมายเลขโทรศัพท์’ ใครคนหนึ่งบอกหมายเลขโทรศัพท์ 10 หลักให้เราฟัง เราสามารถทวนตัวเลข 10 หลักได้ไม่ยากหากทวนทันที เพราะแต่ละหลักจะเก็บเอาไว้นาน 2 วินาทีเท่านั้นเอง เมื่อทวนแล้ว หากต้องการเก็บไว้นานกว่านั้นเราต้องรีบจดหรือรีบท่องไปเรื่อยๆ จนกว่าความจำส่วนนี้จะย้ายออกจากร้านเก็บรักษาเสียงไปไว้ที่ลิ้นชักแห่งความทรงจำระยะสั้นต่อไป
ในทิศทางตรงข้าม เมื่อเราได้ยินตัวเลข 10 หลัก แล้วได้รับคำสั่งให้พูดตัวเลข 10 หลักนั้นกลับทิศทาง เรามักพูดได้เพียง 2-3 หลักแรก หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดต่อได้ เหตุเพราะความจำชั่วคราวของเสียงที่ได้ยิน 7-8 หลักแรก บัดนี้เลือนหายไปแล้ว
มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าร้านเก็บรักษาเสียงหรือ phonological store นี้ตั้งอยู่ที่สมองซีกซ้าย แสดงให้เห็นได้ด้วยภาพถ่ายการทำงานของสมอง (Jonides etal 1998, Paulesu etal 1993)
การทวนตัวเลขที่ได้ยินทันทีนี้คือองค์ประกอบที่ 2 เรียกว่า articular rehearsal mechanism น่าจะแปลว่ากลไกการทบทวนเสียง ยกตัวอย่างเดิมคือตัวเลข 10 หลัก แม้ว่าเราจะใช้วิธีจด แต่เรามักต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการหากระดาษและปากกา หรือเปิดสมาร์ทโฟน เปิดแอพพลิเคชั่น เพื่อกดตัวเลข และถ้าหากเราตั้งรหัสผ่านสมาร์ทโฟนด้วยตัวเลข นั่นแปลว่าเราจะถูกตัวเลขรหัสผ่านรบกวนความจำตัวเลข 10 หลักนั้นเข้าไปอีก ทั้งหมดนี้แก้ไขได้ด้วยการออกเสียงตัวเลข 10 หลักนั้นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจดลงเรียบร้อย
แต่ในชีวิตจริง เรามิได้ได้รับเพียงข้อมูลเสียง หลายครั้งที่เราได้รับข้อมูลภาพด้วย ตัวอย่างเช่นการจำหมายเลขทะเบียนรถที่ชนแล้วหนี นอกเหนือจากการจำหมายเลขทะเบียนรถซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลขแล้ว ยังต้องจดจำลักษณะรถ ยี่ห้อรถ และสี อีกด้วย
การจดจำข้อมูลด้านภาพเป็นอีกเรื่องที่จะพูดถึงต่อไปแต่ในขั้นตอนนี้หลายคนจะเปลี่ยนข้อมูลภาพเป็นข้อมูลเสียงด้วยตนเองเสียก่อน ซึ่งทำได้ด้วยองค์ประกอบที่ 2 นี้นั่นเองคือการออกเสียงซ้ำๆ “รถเก๋ง คันเล็ก สีดำ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจดเก็บไว้เช่นกัน
กลไกการออกเสียงเพื่อคงไว้ซึ่งความจำใช้งานประเภทนี้สามารถทำได้ในใจของผู้ใหญ่ด้วย พูดง่ายๆ ว่าท่องในใจ ในขณะที่สำหรับเด็กแล้วส่วนใหญ่พวกเขาต้องพูดออกมา ปรากฏการณ์นี้เราจะได้เห็นเวลาเด็กเล่นในสนามแล้วพูดคนเดียว ดูเผินๆ คล้ายเขากำลังพากย์ตัวเอง แต่หากตั้งใจฟังหลายข้อความนั้นเป็นการทวนซ้ำเรื่องที่เขาทำเพื่อคงไว้ 2 วินาที มิเช่นนั้นเขาอาจจะไม่รู้ว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร
นี่คือขบวนของความจำใช้งาน!
เวลาเด็กเล่นคนเดียวก็ตาม หรือทำงานคนเดียวก็ตาม การพูดคนเดียวจึงมิใช่เรื่องผิดปกติ ที่แท้แล้วเขากำลังบริหารความจำใช้งาน พูดให้ถูกต้องมากขึ้นคือเขากำลังบริหารองค์ประกอบทั้งสองของร้านเก็บรักษาเสียง อันเป็นส่วนย่อยของระบบหรือโครงสร้างความจำใช้งาน
นี่คือคำอธิบายว่าเพราะอะไรเด็กเล่นจริงๆ หรือทำงานจริงๆ จะมีความจำใช้งานที่ดีกว่า