อ่านนิทานก่อนนอนมิได้มีประโยชน์เพียงการสร้างสายสัมพันธ์ (attachment) แต่ส่งผลต่อการสร้างสมาธิ (attention) อีกด้วย
เมื่อทารกเกิด จักรวาลมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าแม่ แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตนเองมากที่สุดใน 6 เดือนแรกจึงเป็นแม่ เริ่มด้วยท่อนแขน เต้านม เสียงหัวใจ ทรวงอก เสียงร้องเพลง การอุ้มกอด และใบหน้าแม่
ใบหน้าแม่สำคัญอย่างไร ใบหน้าแม่ประกอบด้วยวงกลมสองวง สันจมูก และรอยยิ้มจะมีอยู่จริงด้วยการเลี้ยงดูด้วยตนเอง ช่วยให้ทารกหยุดสนใจสิ่งอื่นแล้วหันมาดูหน้าแม่เป็นอย่างแรก เราเรียกว่า face recognition
กิริยาหยุดดูสิ่งอื่นแล้วมาดูหน้าแม่นี้เรียกว่า response inhibition & shifting อันจะก่อรูปเป็นวงจรประสาทพื้นฐานที่ระยะก่อน EF เรียกว่า proto-EF เพื่อทำหน้าที่หยุดแล้วเปลี่ยน
เริ่มตั้งแต่หยุดคลานรอบห้องแล้วมานอนฟังแม่อ่านหนังสือ หยุดงอแงแล้วไปอาบน้ำ ไปจนถึงหยุดเล่นเกมแล้วไปทำการบ้านในวันข้างหน้า ทารกจะทำได้เมื่อแม่มีอยู่จริงและใบหน้าแม่นั้นมีอยู่จริง
เราจึงมีคำเตือนเสมอให้ระมัดระวังการดูหน้าจอก่อน 2 ขวบ เพราะสมอง เซลล์สมอง และวงจรประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงทุกวัน เส้นประสาทงอกยาวออกไปทุกคืน ช้างในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังเมื่อคืนนี้มีงวงยาวกว่าช้างที่แม่อ่านให้ฟังเมื่อสัปดาห์ก่อน
หากเราโชคร้าย สมองของลูกพัฒนาวงจรประสาทเพื่อเตรียมมีปฏิสัมพันธ์กับรูปสี่เหลี่ยม แต่ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับใบหน้ามนุษย์ ไม่สบตา ไม่ยิ้มรับ และไม่พูด
ในคืนแรกๆ ของการอ่านนิทาน เด็กเล็กที่คลานหรือเดินได้แล้วอาจจะคลานหรือเดินเกาะเตาะแตะไปรอบห้องนอนทำทีเหมือนไม่ฟัง แม่ที่รู้งานจะไม่หวั่นไหวแล้วอ่านต่อไปทุกคืนๆ เด็กได้ยินแม้จะทำเป็นไม่ได้ยิน เขาจะถือครองความจำของคำที่หนึ่งนานพอที่คำที่สองจะมาเชื่อมต่อ แล้วถือครองความจำของคำที่หนึ่งและสองนานพอที่ความจำของคำที่สามจะมาเชื่อมต่อเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป
ความจำที่ถือครองเอาไว้ชั่วคราวนานพอก่อนที่การเชื่อมต่อจะเสร็จสิ้นนี้คือ ความจำใช้งาน (working memory) เป็นความจำชั่วคราว เกิดขึ้นในห้องนอนแล้วดับไปเมื่อนิทานจบ
ระยะเวลาที่ความจำใช้งานถูกถือครองเอาไว้นานพอนั้นคือ สมาธิ (attention) การอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนช่วยสร้างสมาธิ เพิ่มความยาวนานของสมาธิคือ attention span และลดอุบัติการณ์ของสมาธิสั้นลง
คุณแม่จำนวนมากท้อใจที่ลูกทำทีเหมือนไม่ฟังนิทานที่อ่าน นอกจากเดินหนีหรือคลานหนีแล้ว บางคนแย่งหนังสือไปจากมือเพื่อฉีกหรือกัด “เหมือนเขาจะไม่มีสมาธิฟังอะไรเลย”
แต่อย่าลืมว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบนที่นอนหรือในห้องนอนยามค่ำคืน ดังนั้นเราควรจัดสถานที่ให้เรียบร้อย แสงไฟพอเหมาะไม่สว่างมากจนเกินไป กั้นรั้วไว้มิให้เขาคลานหรือเกาะเดินไปได้ไกล ไม่ปล่อยให้มีบริเวณที่กว้างขวางเกินไป และควรกั้นเสียงรบกวนได้เพื่อที่คุณแม่จะได้อ่านนิทานด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบ ไม่ต้องตะโกนแล้วอ่านได้นานพอ อ่านไปเรื่อยๆ
เตรียมนิทานสำรองเอาไว้ 2-3 เล่มข้างตัว เมื่อเขาหยิบไปขว้างทิ้งเราหยิบเล่มใหม่ออกมาอ่านต่อ ไม่ดุ ไม่ว่า ไม่ด่า ไม่ตี นี่เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุข เอนหลังอ่านนิทานด้วยความสุข โดยไม่สนใจว่าลูกจะทำหรือไม่ทำอะไร
อย่าลืมว่าเด็กกำลังทดลองพลังของกล้ามเนื้อแขนและขามากกว่าที่จะใส่ใจเรื่องอื่นอย่างจริงจัง อีกทั้งเราขนหนังสือเล่มอื่นๆ ตุ๊กตาหลายสิบตัว แจกันดอกไม้ และวัตถุอื่นๆ ออกไปจากที่นอนหรือห้องนอนไม่เหลืออะไรให้เขาสำรวจมากนัก เมื่อสำรวจรอบห้องแล้ว ทดลองพลังแขนพลังขาจนหมดความสนุกแล้ว แต่เสียงแม่อ่านนิทานยังคงอยู่เสมอ หันไปพบใบหน้าแม่ คือวงกลมสองวง สันจมูก และรอยยิ้มวงพระจันทร์ เขาจะถูกดึงรั้งกลับมาล้มลงนอนที่ข้างตัวแม่ด้วยสิ่งที่เรียกว่าสายสัมพันธ์ แล้วฟังนิทาน รวมทั้งดูภาพประกอบนิทาน
เด็กที่ชอบอมนิทาน กินนิทาน หรือฉีกนิทานก็มิใช่ข้อยกเว้น หากเราไม่ลงทุนหนังสือนิทานที่ฉีกมิได้ เราอนุญาตให้เขาฉีกได้ตามสบายจนกว่าเขาจะหมดความสนใจ ระหว่างนั้นเราหยิบเล่มสำรองขึ้นมาอ่านไปเรื่อยๆ วันถัดไปค่อยซ่อมนิทานเล่มเก่าเอามาให้เขาฉีกใหม่
เราเป็นแม่ ตัวใหญ่กว่าเขาสิบเท่า เราไม่แพ้กับเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้ สมาธิในการฟังของเขาจะนานขึ้นทุกวัน แล้วเขาจะหยุดสนใจสิ่งอื่นก่อนที่จะเปลี่ยนมานอนฟังนิทาน ด้วยวงจรประสาท response inhibition & shifting
ระหว่างที่เด็กนอนลงดูรูปในนิทานนั่นเอง เขาจะดูทั้งฉากหน้าและฉากหลังคือ foreground & background พวกเราพ่อแม่มักดูแต่ฉากหน้าและตัวละคร (protagonists) แต่ไม่ดูฉากหลัง เด็กๆ เสียอีกที่มองเห็นใยแมงมุม จิ้งจก เศษกระดาษ หรือหลอดยาสีฟันบนพื้นที่ฉากหลังของตัวละคร จะเห็นว่าสมาธิของเขาไม่เพียงเคลื่อนไปในอวกาศและเวลา แต่ทะลุทะลวงเข้าไปด้านในของหนังสือได้อีกด้วย นี่คือมิติสัมพันธ์ (spatial relation)
สมาธิและความฉลาดเริ่มต้นในห้องนอนยามค่ำคืน