เด็กอายุระหว่าง 4-7 ขวบควรได้ทำงาน เหตุเพราะนี่คือช่วงวัยริเริ่มสิ่งใหม่ (Initiation) ตามทฤษฎีพัฒนาการของอิริค เฮช อิริคสัน (Eric H Erikson 1902-1994)
การทำงานเป็นกิจกรรมที่เด็กเล็กจะได้พัฒนาการใช้นิ้วมือ 10 นิ้ว ระหว่างทำงานเด็กจะได้ฝึกฝนความสามารถในการตั้งใจจดจ่อ (focus) ไม่วอกแวก (not distract) และรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification) นอกจากนี้ยังได้บริหารความจำใช้งาน (working memory) และคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาระหว่างการทำงาน (problem solving)
การทำงานมี 3 ชนิด คือ ทำงานอาชีพช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน ทำงานบ้านประจำวัน และทำงานอาสาสมัคร
กล่าวเฉพาะเด็กเล็ก เราควรให้เขาได้ฝึกการทำงานบ้าน มากน้อยตามเวลาที่มีและกำลังความสามารถ เด็กโตควรช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานอาชีพได้บ้าง สำหรับวัยรุ่นนอกเหนือจากงานอาชีพแล้วควรมีโอกาสได้ทำงานอาสาสมัครด้วย
การทำงานบ้านช่วยพัฒนาความจำใช้งานได้อย่างไร?
ความจำใช้งานเป็นความจำเฉพาะกิจ มิได้คงอยู่ตลอดเวลาเหมือนความจำระยะสั้น (short-term memory) หรือความจำระยะยาว (long-term memory) ความจำใช้งานจะปรากฏขึ้นเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เจ้าตัวได้ใช้ในการทำงานจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย หลังจากบรรลุเป้าหมายแล้วความจำใช้งานจะหายไป
ตอนที่ความจำใช้งานผุดบังเกิดขึ้นมา ความจำใช้งานจะกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับสมาธิ (attention) คือสมาธิตั้งมั่นเพื่อทำงานจนเสร็จ สมาธิจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้ความจำใช้งานยังคงอยู่ตลอดช่วงเวลาที่กำลังทำงาน จนกว่าจะเสร็จ เด็กที่สมาธิไม่ดีนักมักจะประคองความจำใช้งานได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ทำหล่นหายไปอีก เด็กที่สมาธิไม่ดีนักจึงทำงานไม่เสร็จเสียที พอความจำใช้งานหายไปก็หันไปสนใจสิ่งอื่น
การทำงานบ้านจึงมีผลพลอยได้สำคัญคือช่วยให้เด็กมีสมาธิ
ความจำใช้งานเป็นของที่มีความจุ ความจุ (capacity) ของความจำใช้งานในแต่ละชั่วขณะมีจำกัด มิใช่มีเหลือเฟือหาขอบเขตมิได้ รวมทั้งอุโมงค์ที่ความจำใช้งานจะไหลไปหาสมองส่วนหน้า prefrontal cortex ก็มีความกว้างที่จำกัดด้วยเช่นกัน
เมื่อความจุมีจำกัด เวลาเด็กทำงานชิ้นเดียวตรงหน้า เด็กมักจะบริหารความจำใช้งานได้ง่าย ต้องทำอะไรอย่างไรเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยๆ คิดไปทำไปได้อย่างง่ายๆ พลันที่เด็กมีงาน 2 อย่างให้พะวง เช่น งานบ้านต้องทำ ทำแล้วยังต้องทำการบ้านต่ออีก เช่นนี้ความจำใช้งานเกี่ยวกับงานบ้านที่ทำและความจำใช้งานเกี่ยวกับการบ้านที่ทำจะเริ่มแย่งเนื้อที่กันภายใต้ความจุที่จำกัด
หากเด็กต้องทำงานบ้านหลายอย่างพร้อมกัน ความจำใช้งานเกี่ยวกับวิธีทำงานบ้านแต่ละอย่างจะเริ่มแย่งความจุกันและกันทำให้สมาธิถูกแบ่งแยกตามไป เด็กที่ทำงานมากกว่าหนึ่งอย่างได้พร้อมกันจึงต้องมีความจุของความจำใช้งานมาก ควบคู่กับสมาธิที่ดีมากด้วย จึงจะสามารถทำงานทุกงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จ
ในทิศทางตรงข้าม การจ่ายงานจำนวนมากให้เด็กๆ จึงเท่ากับการฝึกฝนให้เขาบริหารความจุของความจำใช้งาน และบริหารสมาธิไปในตัว
เด็กสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความสามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันโดยที่สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานทุกงานได้ด้วย
เช่น ระหว่างเขียนรายงานก็สามารถคุยกับเพื่อนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ รวมทั้งเช็คอีเมล์ ติดตามข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย และดูโทรทัศน์ไปพร้อมกัน การที่เขาจะมีความสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันจนกระทั่งเสร็จทุกงานจำเป็นต้องมีความจุของความจำใช้งานมาก
ซึ่งจะมากได้ด้วยการทำงานบ้านตั้งแต่เล็ก
ความจำใช้งานเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ การให้เหตุผล และการคิดซับซ้อน (learning, reasoning, complex thinking) ทั้งหมดนี้สร้างจากการทำงานบ้านหลากหลายอย่างในเวลาที่กำหนด เรียนรู้ที่จะทำงาน คิดหาเหตุผลเมื่อพบปัญหา และคิดซับซ้อนเมื่อพบงานยากๆ หลายงานพร้อมๆกัน ถ้าความจำใช้งานดีมีความจุมาก งานต่างๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย
นอกเหนือจากความจุแล้วยังมีเรื่องขนาดของอุโมงค์ หากอุโมงค์ที่ความจำใช้งานจะไหลไปสมองส่วนหน้าแคบเป็นคอขวด เช่นนี้ความจำใช้งานจะติดขัดไม่สามารถไหลไป การทำงานมากๆ อย่างสม่ำเสมอจะเพิ่มขนาดของอุโมงค์นี้
แต่อุโมงค์ที่ว่ามิได้มีอยู่จริง เป็นเพียงโมเดลของความจำใช้งานเท่านั้น
เพื่อให้สามารถอธิบายเรื่องความจำใช้งานได้อย่างกระจ่าง Baddeley & Hitch ได้เสนอโมเดลของความจำใช้งานขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 โมเดลที่คนทั้งสองเสนอนี้ได้แบ่งความจำใช้งานออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 เรียกว่า central executive เป็นส่วนบัญชาการกลาง
ส่วนที่ 2 เรียกว่า phonological loop เป็นส่วนนำเข้าข้อมูลด้านเสียง
และส่วนที่ 3 เรียกว่า visuospatial sketchpad เป็นส่วนที่ใช้จัดการข้อมูลด้านภาพและช่องว่าง
สองส่วนหลังนี้มิได้เป็นส่วนปฏิบัติการจริงๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อความรวดเร็วของความจำใช้งาน
Baddeley ได้เสนอส่วนที่ 4 ในอีก 25 ปีถัดมา คือโมเดลของความจำใช้งานปี 2000 เขาเรียกส่วนที่ 4 นี้ว่า episodic buffer ทำหน้าเสมือนดินแดนเป็นกลางที่ใช้เชื่อมต่อกับความจำระยะยาวและบูรณาการส่วนประกอบอื่นๆ ของระบบประสาทส่วนกลางเพื่อให้สมองสามารถบริหารความจำใช้งานอย่างดีที่สุด
ถึงตรงนี้ควรเข้าใจว่าความจำใช้งานมิใช่สสารที่จับต้องได้ การแบ่งส่วนประกอบของความจำใช้งานเป็น 4 ส่วนเช่นนี้เป็นเพียงโมเดลที่ถูกสร้างขึ้น เพื่ออธิบายว่าความจำใช้งานเกิดขึ้นได้อย่างไร และเด็กๆ จะช่วยทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นได้อย่างไรด้วยการเล่นและการทำงาน