- เดชรัต สุขกำเนิดพูดถึงลูกชาย กับวิธีเลี้ยงลูกที่ไม่ตั้งแง่แต่ตั้งคำถาม จุดกำเนิดเกือบทั้งหมดมาจากจักรวาล ‘บอร์ดเกม’
- “เวลาเราเล่นบอร์ดเกม มันไม่มีความเป็นพ่อแล้วสั่งลูกได้ ถ้าแพ้คือคุณก็อ่อนเอง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าลูกผิด หรือพ่อไม่ดี ในเกมทุกคนเท่ากัน” แดนไท สุขกำเนิด
- เปิดใจ ตั้งคำถาม ชวนกันคิดต่อ ไม่ใช่แค่ได้เข้าไปร่วมแจมในโลกของลูก แต่อาณาเขตโลกของพ่อก็กว้างขึ้นเช่นกัน
- “ผมคิดว่าความสัมพันธ์พ่อกับลูกเป็นความสัมพันธ์ที่กลับเข้ามาสู่ความเป็นปกติ เป็นสองทางมากขึ้น อย่าไปคิดว่าพ่อต้องรู้ดีกว่า เพราะโลกจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น”
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
“เวลาเราเล่นบอร์ดเกม มันไม่มีความเป็นพ่อแล้วสั่งลูกได้ ถ้าแพ้คือคุณก็อ่อนเอง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าลูกผิด หรือพ่อไม่ดี ในเกมทุกคนเท่ากัน”
แดนไท สุขกำเนิด นักพัฒนาบอร์ดเกมอายุ 14 ปี นักเรียนสถาบันศึกษาทางไกล กล่าวเอาไว้
‘พ่อ’ ที่เขาพูดถึงคือ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในอีกทาง พ่อลูกคู่นี้คือสมาชิกกลุ่ม ‘เถื่อนเกม’ กลุ่มที่เล่นบอร์ดเกมทั้งเพื่อความสนุกและใช้บอร์ดเกมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้สู่ประเด็นทางสังคม
แดนไทเข้าสู่โลกของบอร์ดเกมตั้งแต่ชั้น ป.4 ในวิชาเลือกตัวหนึ่ง จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 5 ปี เขาผันตัวจากผู้เล่นสู่ผู้ออกแบบและพัฒนาเกมในประเด็นเชิงสังคม โดยมีเพื่อนร่วมงานคือพ่อ ลูกค้าคือคนในภาคีเครือข่ายสังคมต่างๆ
รายชื่อบอร์ดเกมที่แดนไทได้พัฒนา
- Yellow Card: ฝ่าวิกฤตประมงไทย
- School Changer: โรงเรียนเปลี่ยนโลก
- ASEAN Line: ท่องประวัติอาเซียน
- ASEAN Questination: ที่เที่ยวในอาเซียน
- The Next Dream: นโยบายทำมือ
- Ricevolution: มหัศจรรย์พันธุ์ข้าว
“เกมล่าสุดชื่อ Rice Evolution เป็นเกมเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว เราจะปลูก รักษาพันธุ์ หรือจะปลูกอย่างไรให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคที่สุด” แดนไทอธิบาย
เวลาเกือบ 5 ปี หากเทียบเป็นอายุงานถือว่าอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญเป็น senior ได้ ไม่แปลกใจที่อีกหนึ่งบทบาทของแดนไท จะคือวิทยากรบอร์ดเกมที่บางครั้งผู้ฟังคืออาจารย์ หรือนักศักษาปริญญาตรีและโท
หลายคนอาจบอก ‘ก็เด็กรุ่นใหม่เก่ง เติบโตมากับเทคโนโลยีนี่นา’ จะถูกจะจริงก็คงไม่ใช่หัวข้อที่ควรเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป คำถามที่น่าถามยิ่งกว่าคือ แดนไทอยู่ในครอบครัวแบบไหน ที่สนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่ชอบ และทำอย่างจริงจังจนเป็นนักพัฒนาบอร์ดเกม ทำงานเชิงประเด็นสังคม กระทั่งเป็นวิทยากรขึ้นบรรยายเรื่องการนี้ได้
คนที่จะตอบได้ดีที่สุด หนีไม่พ้นพ่อของเขา ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ที่มีอีกหนึ่งนามสกุลว่า ‘สมาชิกกลุ่มเถื่อนเกม’
ครอบครัวสุขกำเนิดค้นพบบอร์ดเกมตอนไหน ระหว่างแดนไทกับอาจารย์ใครเจอก่อนกัน
แดนไทเจอก่อน ผมเคยเจอมาบ้างแต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไรมันไม่เข้าใจเงื่อนไขของการใช้บอร์ดเกม แต่แดนไทเล่นแล้วติด คุณแม่เลยให้ไปดูมันเป็นยังไง พอไปดูก็เกิดภาวะที่เข้าใจขึ้นมา โอ้… กลไกของเกมมันอยู่ตรงนี้เองที่เด็กๆ สนุกกัน เพราะมันมีตรงนี้นะที่นำไปสู่การเรียนได้ พอเริ่มจับปมได้ คราวนี้มันไม่ใช่การเล่น มันเริ่มเห็นแล้วว่าเอาเข้ามาใช้กับวิชาเรายังไง เราก็ทดลองทำ โดยมีแดนไทเป็นคนให้คำแนะนำนิดหน่อย
และเพราะแดนไทตัดสินใจจะไปเรียนสถาบันการศึกษาทางไกล เพราะฉะนั้นเวลาที่มีอยู่ ก็ควรจะต้องถูกใช้เพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ บอร์ดเกมก็เป็นสิ่งที่แดนไทชอบ เราก็เลยประยุกต์เข้ามาให้เขาเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม อันนี้คือลำดับที่หนึ่ง
ลำดับที่สองคือ ในการเรียนรู้ เราก็อยากให้เขาเป็นผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย วิธีการที่จะทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ก็คือให้รับผิดชอบต่องานที่ตัวเองทำ จริงๆ ผมจะใช้คำว่าผู้ประกอบการเลย แต่บางครั้งคำภาษาไทยอาจมองว่าเพื่อให้ลูกได้เงิน จริงๆ เงินไม่ได้เป็นตัวสำคัญแต่เขาต้องเอาผลงานนี้ไปส่งให้กับลูกค้าได้ตามวันเวลาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้รับฟีดแบ็คให้นำมาแก้ไขปรับปรุง สรุปว่ามันเป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่ได้ไปโรงเรียนทั่วไป เราก็เลยใช้วิธีนี้ในการสร้างการเรียนรู้ แต่ทีนี้มันมาได้ผลอย่างที่สามด้วยคือ
เขาได้วิธีการใหม่ๆ ในการสื่อสารทางความคิดว่า เราจะจำลองสถานการณ์นี้ให้มันเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร อย่างการพัฒนาเกมไข้เลือดออก ให้ฝั่งหนึ่งเป็นคน ฝั่งหนึ่งเป็นยุง ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่อาจจะเหนือจริงนิดหน่อย แต่ก็จำลองมาได้ว่า เอ ยุงคิดยังไงน้า เราไม่รู้ว่ายุงคิดยังไงเราจัดการปัญหาตามประสาคน หลายครั้งคนที่เล่นอยู่ฝั่งคนก็แพ้
แดนไทไม่ได้แค่เล่นและคิดค้นบอร์ดเกม แต่ทำงานบอร์ดเกมเป็นประเด็นสังคมร่วมกับพ่อ
มันอาจจะซับซ้อนนิดหน่อย เพราะด้วยความที่เราทำงานด้วยกัน ก็ต้องตีกรอบว่าเวลาทำงาน เราไม่ได้ทำงานในฐานะพ่อกับลูกแต่เป็นเพื่อนร่วมงาน ซึ่งโชคดีมากที่การทำเกมมันเอื้อให้เขาไปพิสูจน์กับผู้ใช้งาน ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน ก็ลองเลย ผมว่าแดนไทคงรู้สึกว่า มันก็ดีนะ พ่อไม่ต้องมาคุมเขา จริงๆ ก็ไม่ได้มองกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่พ่อต้องคอยดูแลการเติบโตของลูก เป็นแต่เพียงแค่กระบวนการเรียนรู้ที่เขาจะต้องมีอะไรสักอย่างเข้ามาเรียนรู้ทดแทนการไปโรงเรียน ซึ่งมันทำให้เห็นการเติบโตของเขา
สิ่งที่ดีใจมากกว่าไม่ใช่เรื่องการออกแบบเกม แต่เป็นความรับผิดชอบของเขา บางครั้งเขาต้องไปเรียน หรือเป็นวิทยากร ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายสำหรับเด็ก บางกรณีผู้ฟังคือนิสิตระดับปริญญาตรี บางครั้งกระทั่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เขาอยู่มัธยม เขาจะแสดงท่าทีการพูดยังไง มันก็ท้าทายให้เขาค่อยๆ สร้างการวางตัวของเขาขึ้นมา
เคยทะเลาะกันเพราะบอร์ดเกมไหม จัดการอย่างไร
ไม่เคยมี แต่จะทะเลาะกันเรื่องอื่นมากกว่า คือไม่ได้ทะเลาะกันเพราะเล่นบอร์ดเกม แต่ทะเลาะเรื่องวิธีการทำงานในบอร์ดเกม แต่ตอนหลังมันก็ถูกจัดการได้ เพราะตัวบอร์ดเกมมันไปวัดกันที่ผู้ใช้ อันนี้ผมค่อนข้างให้ความสำคัญมาก อะไรก็แล้วแต่ที่ไปวัดกันที่ผู้ใช้มันทำให้เราลดเวลาในการเถียงกันลงมา เถียงกันนี่ไม่ได้เป็นปัญหานะ แต่บางครั้งเถียงกันและไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร หลายครั้งนำมาสู่การใช้อำนาจ แต่เวลาเล่นบอร์ดเกม เราจะ “แดนคิดอย่างนี้เหรอ” “พี่สาวคิดอย่างนี้ งั้นลองเลย” เป็นการลองที่ไม่เคย พอเราลองแล้วมันจะไม่มีเรื่องคาใจเลย มันจะ “อ้อ ตรงนี้เอาแบบของแดนนะ ตรงนั้นเอาแบบของพ่อ” แล้วเอามาผสมกัน ผสมกันเสร็จก็ลองใหม่
เลยชอบวิธีการทำงานในการออกแบบบอร์ดเกมมาก ลึกที่สุดคือมันหมดเรื่องเถียงและเราไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ หรือเราไม่จำเป็นต้องถูกใช้อำนาจ พอใช้อำนาจก็จะตามมาด้วยเรื่องดราม่าเยอะแยะ
คล้ายๆ กับเราทำคลิปส่งเสนอเจ้านาย เจ้านายก็อาจจะบอกคลิปนี้ไม่ไหวอะ พอเราไปโพสต์ยูทูบ เฟซบุ๊ค มันวัดด้วยยอดแชร์ ก็ตอบคำถามด้วยตัวมันเอง
การทำงานอาจทำให้เขาโตกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เป็นห่วงไหม
ต้องสังเกตอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ในการเรียนของแดนไท เรามีเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งว่าเขาจะต้องออกจากความเป็นตัวเองด้วย แต่ละปีแดนไทต้องเสนอว่าจะลองออกจากความเป็นตัวเองไปสู่เรื่องอื่นๆ ออกจาก comfort zone ตอนไหนและอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ปีนี้ก็พยายามให้เขาลองออกจาก comfort zone ให้ไกลขึ้น
ยกตัวอย่าง เราอาจจะต้องสื่ออย่างอื่นนอกจากเกมละ ยกตัวอย่าง ระหว่างที่แดนไททำเกม เวลาเขาแก้กลไก สิ่งที่แก้ มันก็อยู่ในเกม แต่จะตกผลึกได้ต้องก้าวออกจากสิ่งนั้น อย่างเวลาที่ผมสอนหนังสือผมก็วนอยู่อย่างนี้ แต่พอก้าวมาสู่เกมทำให้ผมสอนได้ดีขึ้น แดนไทเหมือนกัน ถ้าเขาสรุปได้อย่างนี้ผมก็อาจจะชวนเขาก้าวไปสู่อย่างอื่น เหมือนอย่างที่ก้าวไปสู่การพูด การเขียน ตรงนั้นทำให้เขาเห็นชัดขึ้น การโยกย้ายแพลตฟอร์มเป็นอะไรบางอย่างที่คนทุกวัยเรียนรู้ได้และเป็นการเรียนรู้จากคนยุคใหม่ ซึ่งบางทีเราไม่ได้คิดถึง
เรามองคนรุ่นใหม่แบบแปลกแยก เพราะว่าเราไม่อยากปรับตัวตามเขา เราก็เลยมองแล้วใช้คำที่มันดูเหมือนกับว่าการแปลกแยกของเขาเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดี จริงๆ ถ้าเราเข้าใจทุกอย่าง มันก็เหมือนกับเราใส่เสื้อตลกๆ ในสมัยเราเป็นหนุ่ม
ยกตัวอย่างข้อกังวลหลายข้อของผู้ปกครอง ซึ่งขอย้ำว่าไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เช่น ถ้าลูกๆ เป็นติ่งเกาหลี พ่อแม่จะมองหาประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างไร
กระติ๊บเขาชอบฟังเพลง เราก็ฟังร่วมกันกับเขา พอฟังร่วมกันเราก็จะเห็นความแตกต่างบางอย่างซึ่งที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยเห็น ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นประโยชน์อะไรแต่น่าสนใจมาก คือผมก็ฟังเพลงที่เขาฟังและก็เปิดเพลงเพลงยุคเก่าที่ผมฟัง แล้วถามลูกว่า ลูกฟังแล้วมันต่างกันยังไง เพราะสำหรับเรามันไม่ต่างกันไง สมมุติฐานของเรามันแค่กระแสนิยม
เขาตอบว่า พ่อดูนะ… เพลงยุคเก่ามันจะมีจังหวะที่ค่อนข้างตายตัว แม้กระทั่งท่อนฮุคจังหวะก็ยังคงเดิม อาจเปลี่ยนแค่โทนนิดหน่อย มีภาษานิดหน่อยแล้วมันก็วนกลับมาที่จังหวะแบบเดิม แต่ถ้าฟังเพลงโดยเฉพาะเพลงสากลจะเห็นว่าบางเพลงจะมีสามริธึมในเพลงเดียวกัน เราก็รู้สึก เออ ทำไมอะ ทำไมความสามารถในการสังเกตของเรามันถึงจำกัด ทำไมเราจึงถามในความรู้สึกที่ว่า เหมือนเขาก็นิยมไปอย่างนั้นแหละ
เราก็เริ่มสงสัยถามต่อว่า การที่เกิดริธึมขึ้นมามากมาย มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เขาก็บอก อันดับหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการ ฟีเจอริ่งไหม เพราะการฟีเจอริ่ง (featuring-การทำงานโดยมีผู้ร่วมรับเชิญ) ให้หลายคนที่มีความถนัดไม่เหมือนกันเข้ามาแจมกันด้วยจังหวะของตัวเอง แต่ฟังแล้วมันยังเป็นเพลงเดียว และจริงๆ อาจเป็นเพลงที่ดีกว่าคนร้องคนเดียวอีก นี่คือโลกยุคหน้าไง เวลาเราจะออกแบบหรือทำอะไรแต่ละอย่าง ไม่ใช่แค่ข้าพเจ้าร้องเพลงอย่างเดียว
ลองย้อนกลับไปดูในรายการอื่นๆ ที่มีสองทีมเข้าประกวด ฝั่งไหนร้องเพลงของอีกฝายได้แล้วเด็ดกว่าด้วย ก็จะได้ไปลงในแผ่นเสียง เราจะพบว่าถ้าคนรุ่นเก่าร้องเพลงของเด็กรุ่นใหม่ ศิลปินรุ่นเก่าจะร้องในแบบของตัวเอง ขณะที่ศิลปินรุ่นใหม่ร้องเพลงศิลปินรุ่นเก่า เขาร้องไกลกว่าที่ตัวเขาเคยร้อง อันนี้เรียกว่าเรามี capacity มากขึ้นหรือไม่ ผมเห็นว่ามันเป็นพัฒนาทางดนตรีที่มันน่าสนใจมาก
คีย์เวิร์ดของโมเดลนี้ คือการเปิดใจและตั้งคำถาม?
ผมคิดว่าความสัมพันธ์พ่อกับลูกเป็นความสัมพันธ์ที่กลับเข้ามาสู่ความเป็นปกติ เป็นสองทางมากขึ้น อย่าไปคิดว่าพ่อต้องรู้ดีกว่า เพราะโลกจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น
คือย้อนกลับไปตอนที่เราอายุสักสิบกว่าขวบ พ่อเราบอกได้ว่าตอนที่เราอายุสี่สิบจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ผมไม่กล้าพูดอะไรเลยว่าลูกตอนอายุสี่สิบเขาจะเป็นยังไง ถามว่าลูกเห็นไหม ลูกก็อาจจะยังพูดไม่ได้แต่ลึกๆ เขารู้สึกชัดกว่าเราว่าโลกมันเปลี่ยน
ถ้าโลกเป็นแบบนี้แต่เรายังอยากเป็นพ่อแบบเดิม โอ้โห… โคตรทุกข์ เราจะให้ลูกเรียนนู่นเรียนนี่ยังไง เตรียมการซะ แต่มันจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ผมอาจจะติดตามและมีข้อเสนออะไรก็แนะไป
เหมือนเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ทำให้เราไม่แก่ด้วย
แค่ลดความเป็นพ่อสู่ความเพื่อน แต่โอเค ในความเป็นพ่อก็มีเรื่องความปลอดภัย ความคุ้มครอง เรื่องเงิน ที่เหลือก็เป็นเพื่อนกันนี่แหละ