- ไปรับไปส่ง ให้เงินเดือนแม้ลูกทำงานแล้ว โทรหาอาจารย์ถามว่าทำไมเกรดลูกไม่ดี แก้ปัญหาให้ทุกเรื่องไม่เว้นเรื่องส่วนตัว ถ้าเป็นเกือบทั้งหมด คุณเข้าข่ายมนุษย์พ่อแม่ ‘เฮลิคอปเตอร์สไตล์’
- พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ จะบินวนใกล้ลูกตลอดเวลา พร้อมเสมอที่จะโฉบไปจัดการกับปัญหาให้เมื่อเห็นสัญญาณ-แค่เห็นและตีความว่าลูกมีปัญหา ก็กดปุ่มลงจอดฉุกเฉินแลนดิ้งไปช่วยทันที
- นี่คือสาเหตุหนึ่งทำให้ชาวมิลเลนเนียลถูกหาว่า เป็นลูกแหง่ ไม่ยอมโต ไม่อดทน ไม่เป็นอิสระ แก้ปัญหาตัวเองไม่ถูก
หลายคนลงความเห็นว่าวัยรุ่นสมัยนี้ไม่อดทน ขี้โวยวาย ลนลาน ไม่มีสมาธิ คิดว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล และบุคลิกอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้ใหญ่หลายคนส่ายหัว แต่ทำไมวัยรุ่นสมัยนี้จึงมีบุคลิกรวมหมู่ นิสัยคล้ายกัน (จนมีคำสบประมาทแบบเหมารวม) พวกเขาถูกเลี้ยงมาอย่างไร ด้วยพ่อแม่ที่มีบุคลิกแบบไหน แล้วทำไมพ่อแม่จึงเลี้ยงลูกวัยรุ่นยุคใหม่ให้โตมามีนิสัย (เกือบ) คล้ายกันหมดแบบนี้?!
อาจตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่บุคลิกของคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่มีอาการคล้ายกันอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ‘helicopter parents’ หรือ พ่อแม่ที่มีลักษณะคล้ายเฮลิคอปเตอร์ ที่จะบินวนอยู่ใกล้ลูกตลอดเวลา เตรียมพร้อมเสมอที่จะโฉบไปจัดการกับปัญหาให้ลูกทุกครั้งที่เห็นสัญญาณ-แค่เห็นและตีความว่าลูกมีปัญหา ก็กดปุ่มลงจอดฉุกเฉินแลนดิ้งไปช่วยทันที
ด้วยวิธีการแบบนี้ เป็นไปได้ที่วัยรุ่นยุคใหม่ จะไม่ได้เข้าใกล้คำกล่าว “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” เพราะยังไม่ทันได้เจ็บปวด ก็มีคนเข้ามาจัดการให้เรียบร้อยแล้ว
ที่มา helicopter parents
คำว่าพ่อแม่แบบ ‘เฮลิคอปเตอร์สไตล์’ ถูกพูดถึงตั้งแต่ต้นปี 2000 ยุคที่ชาวมิลเลนเนียลรุ่นแรกๆ (millennials ผู้ที่เกิดช่วงปี 1981-1997) กำลังอยู่ในช่วงหนุ่มสาว (young adulthood) โตขึ้นมากับช่วงเหตุการณ์ 911 และการล่มสลายของเศรษฐกิจ 2 ครั้ง คือปี 2000 และปี 2008 พ่อแม่ของพวกเขาจึงห่วงและกลัวอนาคตของลูกๆ ตัวเองเป็นพิเศษ
กังวลขนาดไหน?
ขนาดที่ อาจขอเข้าไปอยู่หน้าห้องตอนลูกๆ สัมภาษณ์เข้าทำงาน โทรหาอาจารย์ที่โรงเรียนหรือกระทั่งในมหาวิทยาลัย สงสัยว่าทำไมลูกได้เกรดไม่ดี ไปรับไปส่งทุกการเดินทาง กิจวัตรประจำวันในบ้านพ่อแม่จัดการให้ เด็กๆ ไม่ต้องทำกับข้าว เย็บผ้า ซักผ้าตากผ้าของตัวเอง หรือถ้าทำเป็น ก็แค่พอทำเป็น แต่ไม่ใช่หน้าที่หลักในชีวิตประจำวัน
เหมือนจะดี แต่ส่งผลอะไรต่อลูกๆ?
ยังไม่มีรายงานวิจัยที่ฟันธงหรือพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่รายงานจำนวนหนึ่งบอกว่า ‘เฮลิคอปเตอร์สไตล์’ กำลังแพร่ระบาด เช่นรายงานปี 2009 เรื่อง Helicopter Parents: Examining the Impact of Highly Involved Parents on Student Engagement and Educational Outcomes โดยมหาวิทยาลัยอินเดียนา ระบุว่า นักศึกษาใหม่ 38 เปอร์เซ็นต์ และ นักศึกษารุ่นพี่ 29 เปอร์เซ็นต์เผยว่า พ่อแม่เข้ามาก้าวก่ายหรือช่วยแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง
หรืองานสำรวจโดย Pew Research Survey ปี 2013 ระบุว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่วัย 40-50 ปี ยังให้เงินสนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินสนับสนุนในทางการศึกษาแก่เด็กๆ อยู่
บทความล่าสุดเรื่อง What Millennials Say About Their Parents During Therapy หรือ ชาวมิลเลนเนียลพูดถึงพ่อแม่อย่างไรระหว่างคุยกับนักจิตบำบัด ข้อมูลจาก เดโบราห์ ดูลีย์ (Deborah Duley) นักจิตบำบัดและผู้ก่อตั้ง Empowered Connections องค์กรให้คำปรึกษาเฉพาะทางประเด็นผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ
ดูลีย์ ร่วมกับเพื่อนนักจิตบำบัดคุยกันว่า ผู้เข้าบำบัดอายุระหว่าง 20-30 ปี พูดถึงพ่อแม่อย่างไรระหว่างจิตบำบัด ข้อแรกเลยคือ เพราะโตมากับพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ จึงไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเลย
“มันเป็นปัญหานะที่พ่อแม่ของลูกชายอายุ 28 โทรหาฉันเพื่อขอดูตารางเวลาเข้ารับจิตบำบัด พ่อแม่ชาวมิลเลนเนียลได้รับสมญานามว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์สไตล์ มันทำให้ลูกๆ ของเขาไม่มีอิสระ ไม่รู้ว่าจะจัดการปัญหาของตัวเองอย่างไร”
ทารา กริฟฟิธ (Tara Griffith) นักจิตบำบัดกล่าว
ปัญหาอื่นที่ดูลีย์อธิบาย คือ พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์เข้าไปจัดการปัญหาการเงินให้ลูกๆ ไม่ได้สอนให้จัดการกับอารมณ์ และ พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ ก็กำลังจะกลายเป็นคุณตาคุณยายแบบ เฮลิคอปเตอร์สไตล์ ด้วยเช่นกัน
แต่จะเปลี่ยนพ่อแม่เหรอ? เปลี่ยนตัวเองง่ายกว่า
อันที่จริงต้องกล่าวว่า จะเปลี่ยน ‘คนอื่น’ เหรอ เปลี่ยนที่ตัวเองสิ เวนดี โมเกล (Wendy Mogel) นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและการเลี้ยงเด็กกล่าวว่า แนวคิดเรื่องพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์สไตล์ จุดประสงค์เพื่อให้ลูกรู้เท่าทันว่าทำไมเราจึงมีนิสัยแบบนี้ ถูกเลี้ยงดูมาด้วยสิ่งแวดล้อมแบบไหน แต่ข้อเท็จจริงคือ เราจะเปลี่ยนใครได้ นอกจากตัวเอง
“ไม่มีทางที่พ่อแม่คุณจะตื่นขึ้นมาแล้วเข้าใจว่าวิธีเลี้ยงลูกแบบนี้เป็นปัญหาอย่างไร พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องและมีเจตนาดี”
กลับกัน การนอนกอดตัวเอง เฝ้าโทษแล้วโยนความผิดทั้งหมดลงบนบ่าของพ่อแม่โดยไม่แก้ไขปัญหานั้นไม่ช่วยอะไร เพียงแต่เข้าใจที่มาที่ไปของพ่อแม่ เข้าใจความผิดพลาดที่ผ่านมาแล้วเดินหน้าพัฒนาอิสรภาพของตัวเองโดยไม่ต้องรอให้พ่อแม่เปลี่ยน แม้จะดูพูดง่ายแต่ทำยาก ทว่าน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
ที่มา: