- Wizes หนังสือเรียนสรุปวิชาสังคมศึกษา ม.ปลาย ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบเนื้อหาเป็น Infographic ทั้งเล่ม รวมถึงใช้เทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality มาช่วยให้เกิดภาพสมจริง
- นนท์และปันปัน ผู้ปลุกปั้นหนังสือ Wizes ใช้กระบวน Design Thinking เข้ามาร่วมออกแบบในการผลิตหนังสือ
- เพราะความเข้าใจคือสิ่งวิเศษ – จึงมุ่งเน้นผลิตหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาทำให้เด็กเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำไปสอบ
นนท์-ฐิติวุฒิ นันทิภาคย์หิรัญ และ ปันปัน-คมจรัส แก้วชัยเจริญกิจ อดีตนักเรียนสายออกแบบและครุศิลป์ สองในสามผู้ปลุกปั้นหนังสือเรียนสรุปวิชาสังคมศึกษา ม.ปลาย ภายใต้ชื่อ Wizes (วิเศษ) ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบเนื้อหาเป็น Infographic ทั้งเล่ม แถมยังใช้เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ (AR) เข้ามาช่วยทำให้ภาพสมจริงมากขึ้น จนได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมในฐานะหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย
วันนี้ The Potential จึงชวนเขาและเธอ คุยถึงหนังสือเล่มนี้ กว่าจะมาเป็น ‘Wizes’ จะต้องผ่านกระบวนการใดเป็นพิเศษบ้าง แล้ว ‘Wizes’ มันวิเศษกว่าหนังสือเล่มอื่นอย่างไร
บทเริ่มต้นของ Wizes : เปลี่ยน ‘ท่องจำ’ เป็น ‘เข้าใจ’
นนท์: ผมเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามตัวเองตลอดเวลา และคิดว่าเราจะสามารถเข้าไปแก้ได้โดยใช้สิ่งที่เราถนัดได้อย่างไร หัวใจของการออกแบบ คือ การจับปัญหาแล้วมาพลิกซ้ายขวาหาวิธีแก้ไข บวกกับตอนนั้นได้เจอกับคุณปันปันที่จบด้านครุฯ อาร์ตมา เล่าให้ฟังว่าเคยทำหนังสือเกี่ยวกับเด็กมาก่อน จากนั้นเราก็ได้แชร์กันว่า ช่วงตอนเด็กๆ ที่ยังเรียนหนังสือ เวลาเจอเนื้อหายากหรือกดดันมากๆ ทำให้เรียนแล้วรู้สึกท้อแท้ เราจึงอยากจะทำอะไรที่ช่วย Inspire และ Motivate ให้เด็กไม่รู้สึกแบบเดียวกับเรา
ผมนึกย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองเรียนมัธยม เคยมีปัญหาเรื่องการเรียนมาก่อน ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนเกเร แต่การปรับตัวจากม.ต้น สู่ ม.ปลาย ต้องเจอเนื้อหาเยอะมากๆ จนตามไม่ทัน เลยกลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ แล้ว การที่เราเคยสอบตกหรือได้คะแนนน้อย เป็นเพราะเรามีวิธีเรียนที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า หรือเราไม่มีความสามารถจริงๆ และเมื่อไปถามเพื่อนที่เก่งๆ ไปดูว่าเขามีวิธีการคิดหรือวิธีการเรียนอย่างไร เพื่อนบอกว่าเวลาอ่านหนังสือจะแปลงเนื้อหาเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต่างจากเราที่มีเนื้อหากี่ข้อๆ ก็พยายามท่องจำและยัดข้อมูลทุกอย่าง สุดท้ายแล้วก็จำไม่ได้
จึงกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งว่า จริงๆ แล้วปัญหาการเรียนต่างๆ ต้นตอมันอาจจะไม่ได้เกิดเพราะเรา แต่เป็นเพราะวิธีการเรียนที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจหรือไม่
เราเลยพุ่งตรงไปที่พฤติกรรมเด็ก และตั้งคำถามในลักษณะของการดีไซน์ ดูว่าผู้เรียนมีปัญหาอะไร ชอบเรียนแบบไหน หนังสือที่มีภาพประกอบเยอะ มีสีสัน ทำให้อ่านง่าย จึงเลือกใช้ทฤษฎีการทำ Infographic แปลงข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็นภาพ ทำให้สมองประมวลผลเนื้อหาที่ยาวเป็นพรืดได้ง่ายขึ้น ผ่านการเลือกชูข้อมูลอะไรบางอย่างให้โดดเด่นในขั้นตอนกระบวนออกแบบ รวมถึงการเน้น จัดลำดับ หรือลดทอน Infographic จะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจไม่ต้องท่องจำ
จึงอยากจะโฟกัสไปที่การผลิตสื่อการเรียนการสอน สุดท้ายแล้วถ้าพูดถึงการ communication มันก็จะมีอยู่ 2 ฝั่ง ผู้รับ-ผู้ส่ง นั่นคือ นักเรียน-อาจารย์ ปัญหาหลักที่เราเข้าไปจับ คือกระบวนการหรือสื่อกลางในการถ่ายทอด ถามว่าจริงๆ แล้วอาจารย์ไม่เข้าใจบทเรียนเหรอ เด็กไม่ตั้งใจเรียนเหรอ ก็อาจจะไม่ใช่ แต่การจะสื่อสารอย่างไรให้ผู้รับ-ผู้ส่ง เข้าใจกันได้ นี่คือปัญหา
ส่วนผสมของทั้งคู่คืออะไร
ปันปัน: เราจบครุศิลป์มา เรียนทั้งศิลปะและการเป็นครู ได้เรียนทั้งการวาดรูป ปั้น และเขียนต่างๆ รวมถึงเรียนด้านจิตวิทยาเด็ก เลยเอาความรู้ทั้งสองอย่างที่เราชอบ มาปรับใช้ในการทำหนังสือเล่มนี้ น่าจะมีความเข้าใจเด็กมากกว่า รวมถึงเราเข้าใจในมุมของของอาจารย์ด้วย
นนท์: ผมจะเน้นกระบวนการผลิตหนังสือเป็นส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่การตีโจทย์ รวมถึงขั้นตอนการออกแบบ ส่วนอีกคนหนึ่งในทีมจะช่วยดูเรื่องการบริหารและการตลาดของบริษัท จะไม่ได้เข้ามาดูเรื่องกระบวนการตรงนี้สักเท่าไร
วิธีคัดเลือกเนื้อหาแบบวิเศษ ทำอย่างไร
นนท์: เราเริ่มจากการกางหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงฯ มาก่อน ดูว่าเขาเน้นเรื่องอะไรบ้าง รวมถึงดูหนังสือตามท้องตลาดว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรเป็นหลัก แล้วเราจับประเด็นตรงนั้นมา Cross กัน ดูว่าตรงไหนตรง-ไม่ตรงกันบ้าง จากนั้นตีเป็นภาพใหญ่ออกมา สรุปเนื้อหาทั้งหมดที่เด็กต้องเรียน แล้วค่อยรวมเนื้อหาเข้าด้วยกัน แต่ต่อให้รวบรวมอย่างไร ก็อาจจะพบปัญหาได้บ้าง เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่มีช่วงของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง พบว่าหนังสือเรียนปัจจุบันที่เราใช้อ้างอิงยังขาดข้อมูลบางจุดอยู่ เวลาอธิบายภาพรวมก็จะทำให้เด็กไม่เข้าใจ
ส่วนเรื่องเนื้อหาในหนังสือ ว่าเราจะเลือกหยิบตรงไหนมาพูดหรือลดทอนข้อมูลตรงไหน จะใช้วิธีดูแก่นหัวใจหลักของวิชา ผมมองว่าข้อมูลใหญ่ มันก็เหมือนชุด Data set ซึ่งในนั้นก็จะมี Point ความสำคัญต่างๆ ที่อยากจะพูดถึง เราก็แค่ทำหน้าที่โยง Point นั้นให้มันมีความสัมพันธ์กัน เพื่อจะเล่าเรื่องหลักให้มันเข้าใจ
ขั้นตอนการค้นคว้าและนำเสนอข้อมูล มีอะไรยาก หรือผิดไปจากแผนบ้าง
นนท์: วิชาสังคมค่อนข้างมีสาระรอบตัวมาก ฉะนั้นเมื่อเราจับสาระสำคัญต่างๆ มา จึงพบว่าสิ่งที่เราใช้อ้างอิงมันไม่ตรงกัน ผมก็งงว่ามันไม่ตรงกันได้อย่างไร ในเมื่อทุกข้อมูลมันควรจะเป็นชุดเดียวกันที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องแก้ไขโดยการดูว่าแกนกลางในหลักสูตรของเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ แล้วสิ่งนั้นเป็นชุดข้อมูลเดียวกันหรือไม่
ข้อมูลอาจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องในแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่ ณ ปัจจุบันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว เมื่อพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งทางประวัติศาสตร์ แต่เมื่อตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเหตุการณ์นี้มันถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง งานยากก็จะตกมาที่เรา เราจะเลือกสื่อสารอย่างไรดี ? อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเด็กที่อ่านหนังสือก็ต้องการข้อมูลเพื่อเอาไปสอบ ดังนั้นความถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในบางเรื่องเราอาจจะแก้ไขโดยการพูดถึงทั้ง 2 ลักษณะที่เกิดขึ้น ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร และอดีตเชื่อกันว่าเกิดอะไรขึ้น
และสิ่งที่พบอีกอย่าง คือเรื่องหนังสือที่เราใช้อ้างอิงจากกระทรวงยังคงเป็นหนังสือในปี 2550 เนื้อหาที่ยังไม่ up to date เด็กยังต้องเรียนรู้เครื่องย่อ-ขยายแผนที่ ซึ่งเครื่องมือนี้อาจจะไม่มีแล้วในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือที่เป็นเวกเตอร์เป็นระบบ 3 มิติหรือมีเทคโนโลยีอะไรหลายอย่างที่ช่วยให้เขาดูแผนที่ได้แล้ว
เห็นอะไรบ้างจากหลักสูตรแกนกลาง
นนท์: สมมติถ้าเนื้อหาที่พูดถึงการปกครอง ก็จะมีเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เราในฐานะคนที่รวบรวมข้อมูล จะต้องปรึกษาคนที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น คนที่ทำงานรัฐศาสตร์โดยตรง ยิ่งเรื่องของศาสนาที่มีความอ่อนไหว วลีที่ใช้ในประโยคต้องถูกต้อง เวลาเราเขียนบางครั้งเราก็อยากจะแปรข้อมูลให้มีความเฟรนด์ลี่ขึ้น อ่านง่าย แต่จริงๆ แล้ว เรื่องของภาษาต่อให้มันมีความ synonym กันอยู่ แต่มันก็แทนกันไม่ได้
เนื้อหาของข้อกฎหมายแม้จะดูยุ่งยาก แต่เราไม่สามารถเขียนในภาษาง่ายๆ ได้ มันมีเหตุผลทางวิชาการอยู่ ต้องรักษาสำนวนขึงขังไว้ เพราะในทางกฎหมายใช้กันสำนวนตามนี้จริงๆ บางศาสนา บางนิกาย มีการความละเอียดอ่อน เราจึงต้องไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญก่อน รวมถึงเนื้อหาในหมวดพระพุทธศาสนาที่เจอปัญหาเรื่องการใช้คำระหว่าง ‘จิต’ กับ ‘วิญญาณ’ จนต้องเดินเข้าวัดไปปรึกษากับพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องศาสนาโดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เช่นเดียวกับเรื่องอัตราโทษค่าปรับ ค่า GDP หรือรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็จะอัพเดตลงในเนื้อหาเพิ่มลงไปในการพิมพ์ครั้งหน้า
ทำไมเลือกทำหนังสือวิชาสังคม
นนท์: สังคมเป็นวิชาที่ต้องใช้การท่องจำ ถ้าไปดูเกณฑ์คะแนนแอดมิชชั่นจะเห็นได้ว่าเด็กส่วนใหญ่ทำได้ไม่ค่อยดี เพราะเด็กเลือกอ่านเป็นวิชาสุดท้าย เพราะเนื้อหากว้างมาก
พอมาเข้าสู่กระบวนการออกแบบที่มีโจทย์ว่า ต้องเปลี่ยนการจดจำเป็นความเข้าใจ จึงเลือกเริ่มต้นที่วิชาสังคมก่อน เวลาคนเห็นว่าการเรียนรู้แบบนี้ มันเปลี่ยนทัศนคติที่ต้องอ่าน ต้องจำได้ ก็จะเห็นอิมแพคขึ้น
วิชาสังคมศึกษาในความทรงจำของทั้งคู่เป็นอย่างไร
ปันปัน: หนังสือส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาแน่น เยอะ ทำให้จำไม่ได้ อย่างเราเป็นผู้หญิง ก็จะชอบป้ายไฮไลต์ตรงส่วนที่สำคัญ แต่สุดท้ายก็สับสนทุกอย่างตีกันในหัว เพราะตรงนู้นก็สำคัญ ตรงนี้ก็สำคัญ ไฮไลต์ไว้เยอะมาก จำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าได้อ่านเล่มนี้จะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ เพราะมีการแบ่งสีตามบท ให้เด็กง่ายต่อการจำเป็นภาพได้ว่าตอนนี้เรากำลังเรียนอยู่บทนี้ เรากำลังอ่านเนื้อหาในหมวดสีนำเงินอยู่นะ
นนท์: ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตั้งแต่เริ่ม ทำไมเราต้องเรียนสังคม ไม่ไปเรียนเลข ฟิสิกส์ มันเห็นผลในการแก้ปัญหา แต่สังคมมันเรียนเรื่องบางเรื่องที่ไม่ได้เอาไปใช้ แต่พอได้ลงมือทำหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวเอง เรารู้ว่าเนื้อหาทั้งหมด มันคือสาระรอบตัวเรา ไม่ว่าคุณจะเรียนการเงินหรือเรียนหมอ สุดท้ายแล้วสังคมก็อยู่ในสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเราอยู่ดี
และจำได้แม่นเลยว่า เคยสอบข้อเขียนวิชาสังคมที่มีกระดาษคำตอบเป็นช่องว่างให้เราเชื่อมโยงลำดับต่างๆ แล้วทำไม่ได้เลย เพราะเราไม่เคยฝึกแปรข้อมูลเป็นภาพและมองให้เชื่อมโยงกันมาก่อน เราอ่านแต่เนื้อหาที่เป็นตัวอักษรยาวเป็นพรืดมาตลอด
วิชาสังคมจึงเป็นปัญหาฝังใจมาก อ่านมาก็เยอะ เก็บรายละเอียดมหาศาล แต่ไม่เข้าใจและทำข้อสอบไม่ได้
อ่านเล่มนี้ เอาไปสอบได้เลยไหม
นนท์: ถ้ามองถึงแก่นมัน เชื่อว่าครบถ้วน แต่พูดถึงการสอบที่ชอบเอาข้อมูลในซอกหลืบมาออก แล้วเราจะต้องเก็บเนื้อหาเล็กๆ เหล่านั้นมากเกินไป ก็จะเสียคอนเซปท์ในการอธิบายของเราไป ยิ่งเติมเข้าไปมันก็จะเสียภาพรวมของหนังสือ เพราะฉะนั้นเราจะรักษาเพียงสาระสำคัญของแก่นเนื้อหาไว้เท่านั้น
นอกจากย่อยเนื้อหาเป็น Infographic แล้วยังใช้เทคโนโลยี AR ร่วมด้วย?
นนท์: เมื่อเราทำสื่อการเรียนการสอนแล้ว คนก็จะถามว่าทำไมถึงยังไม่เป็น E-book แต่สุดท้ายเราก็หาคำตอบกับตัวเองว่า แล้วคนที่ได้ใช้จะมีสักกี่คน ? แต่ถ้าเราใช้ระบบ AR หรือที่ย่อมาจาก Augmented Reality ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทีประมวลผลจากภาพให้เกิดวัตถุ 3 มิติ มาประยุกต์กับหนังสือ นอกจากจะช่วยดึงความสนใจได้แล้ว มันทำให้เห็นของจริงด้วย
จะแปลงข้อมูลเป็น Infographic มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
นนท์: เริ่มจากการที่เอาข้อมูลมาหาความสัมพันธ์ของกันและกันก่อน ว่ามีเนื้อหาอะไรที่จะต้องเล่าบ้าง จากนั้นก็แบ่งลำดับความสำคัญ เนื้อหาหลักที่ใช้ตั้งต้นคืออะไร เนื้อหารองคืออะไร และก็ดูว่าในเนื้อหานั้นๆ เขาพูดถึงอะไรเป็นพิเศษ เช่น ประวัติศาสตร์จะมีความชัดเจนว่าพูดถึงช่วงเวลาตามยุคสมัย เพราะฉะนั้นหลักการออกแบบ Infographic ก็จะเริ่มจากการแบ่งเส้นไทม์ไลน์ขึ้นมา แล้วค่อยหยอดเนื้อหาทีละช่วงลงไป หรือส่วนวิชาอื่นๆ อย่างภูมิศาสตร์ ที่เน้นหนักไปในการอธิบายเยอะๆ ดังนั้นเราจะใช้วิธียกภาพตัวอย่างขึ้นมาประกอบการอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
หนังสือ Infographic อ่านยากจริงไหม
นนท์: ส่วนใหญ่คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เขารู้สึกเปิดใจให้หนังสือเล่มนี้มากขึ้น จากเดิมวิชาสังคมที่รู้สึกน่าเบื่อ ต้องท่องจำ และยากเกินไปสำหรับเขา พอเห็นเล่มนี้ทำให้รู้สึกมีกำลังใจที่จะเรียนมากขึ้น เนื้อหามันง่ายขึ้น เราพยายามผลักให้ไปอยู่ในการเรียนในห้องเรียนหลัก ผมเชื่อว่าหนังสือที่เป็น Text book ก็มีข้อดีที่เนื้อหาละเอียด แต่อาจจะขาดการดึงความสนใจ และทำให้เด็กไม่เปิดใจหยิบขึ้นมาอ่าน
ปันปัน: คนที่สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ เป็นคุณครูเยอะมาก บางโรงเรียนก็มาซื้อไปหลายร้อยเล่ม เลยไม่แน่ใจว่ามันจะใช่ยากสำหรับผู้ใหญ่จริงไหม และแม้จุดประสงค์ที่เนื้อหาเล่มนี้ มีไว้สำหรับเเด็ก ม.ปลาย แต่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อมีทั้ง ม.ต้น หรือ เด็กประถม ก็มีเยอะ คุณพ่อแม่ที่ซื้อไปให้ลูกอ่านต่างบอกว่า น้องชอบมาก อ่านสนุก เข้าใจง่าย ถึงจะไม่ได้เอาความรู้ไปใช้สอบแต่ก็เหมือนได้เรียนล้ำหน้าไปก่อนเพื่อน สะสมเป็นความรู้รอบตัวได้
นนท์: แม้เรายังไม่เคยเข้าไปสำรวจผลตอบรับจากครูในโรงเรียนจริงๆ แต่ครูหรือพ่อแม่ที่เขามาซื้อหนังสือกับเราเขาบอกว่า มันไม่ได้ใช้ยากเกินไปสำหรับเขา ทำให้อธิบายเนื้อหาให้กับเด็กฟังง่ายขึ้นด้วยซ้ำ
การออกแบบเช่นนี้ นำไปใช้กับวิชาอื่นได้ไหม
ปันปัน: เราตั้งใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าไม่ได้มีแค่สังคมวิชาเดียว เราแพลนว่าจะทำให้ครบทุกวิชาพื้นฐาน เช่น อังกฤษ เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
นนท์: เชื่อว่าเนื้อหาทุกอย่าง สามารถแปลงข้อมูลให้เป็นภาพได้หมด วิชาภาษาอังกฤษเอง ก็มีโครงสร้างของมันอยู่ ซึ่งเราก็สามารถแปรมันออกมาให้เป็นภาพหรือ Infographic ได้ หรือวิชาเลขที่อาจจะมีความยุ่งยากของเรื่องลำดับและความต่อเนื่องในเรื่องของการแก้สมการ บางทีเทคโนโลยีก็อาจจะอธิบายวิชาเลขได้ดีด้วยภาพเคลื่อนไหว เราต้องไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นสื่อนิ่งๆ 2 มิติ
Art Direction ของตำราเรียน Wizes ถูกออกแบบไว้อย่างไร
นนท์: หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นเพื่อนนักเรียน ม.ปลาย ดังนั้น mood & tone ของหนังสือต้องสอดคล้องไปกับภาพที่พวกเขาจิตนาการถึงตัวเอง พวกเขาคือเด็กที่กำลังจะโต อาจจะต้องใช้การออกแบบที่ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ลดความเฟรนด์ลี่ ลดความเป็นเด็กลง และจับสิ่งที่เขาสนใจเข้ามาร่วมด้วย เด็กวัยรุ่นก็อาจจะสนใจพวกโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงพยายามเชื่อมให้เข้ากันด้วยไปอยู่ในโทนที่พวกเขาคุ้นเคย
‘Wizes’ วิเศษ อย่างไร
นนท์: วิเศษมาจาก Wise ที่แปลว่าฉลาด เล่นคำเป็น Wiz (คำไม่ทางการ) ที่แปลว่ามีความสามารถอย่างมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นความวิเศษที่เราต้องการนำเสนอ อยากให้เด็กเกิดช่วงเวลาว้าวเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ ได้เห็นสื่อต่างๆ แล้วอยากจะเข้าหาและเข้าไปจับ นอกจากจะรู้สึกเป็นมิตรและทำให้เด็กอยากมาสัมผัสแล้ว สิ่งที่เด็กควรจะได้กลับไปคือการออกแบบที่ตอบโจทย์กับพัฒนาการ
Concept ของหนังสือเล่มนี้ คือ เพราะความเข้าใจคือสิ่งวิเศษ
ปันปัน: เรามองว่าความเข้าใจนี้แบ่งเป็น 2 ด้าน เข้าใจทั้งนักเรียน เข้าใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของเขาที่อาจจะสอบอ่านข้อมูลที่เป็นภาพมากขึ้น รวมถึงเขาก็เข้าใจในการสอนมากขึ้น
นนท์: และเรายังใช้ Design Thinking ร่วมในการออกแบบอีกด้วย โดยการศึกษาพฤติกรรมเด็ก แล้วกลับไปพัฒนาหนังสือ ทำการทดลอง เพื่อให้เข้าใจพวกเขามากที่สุด เมื่อเราเข้าใจเด็ก เด็กก็จะเข้าใจในเนื้อหา ซึ่งความเข้าใจเป็นหัวใจพื้นฐานของการเรียนรู้
ใช้กระบวนการ Design Thinking อย่างไรบ้าง
นนท์: อย่างที่บอกไปว่าเราลงลึกไปถึงพฤติกรรม ไม่ได้มองแค่ผิวเผิน แค่เรียนไปสอบ แต่ต้องมองไปถึงว่าเด็กมีความสบายใจกับอะไร เขาใช้เครื่องมืออะไรในการเรียนอยู่ และจะแนวโน้มเป็นอย่างไร จากนั้นก็หาวิธีแก้ปัญหาหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ผลิตหนังสือออกมาก็จบ แต่ต้องคิดว่าผลิตออกมาในรูปแบบไหนถึงจะตอบโจทย์เด็ก ซึ่งต่อไปวิเศษอาจจะไม่ใช่หนังสือเลยก็ได้ อาจจะเป็นสื่ออื่น เป็นแอพริเคชั่น หรืออะไรก็ตามที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อีก และในอนาคตเราจะขยายผลไปถึงการสำรวจตัวอาจารย์เองด้วยว่าเขามี Insight อย่างไร มีพฤติกรรมการสอนไปในทางไหน เวลาสอนพบปัญหาอะไรบ้าง เด็กมักจะติดขัดกับการสอนแบบใด เราจะได้มาตีโจทย์ครั้งต่อไป เพื่อให้เข้าใจกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน
จากนักเรียนออกแบบสู่การผลิตสื่อการเรียน เห็นอะไรในระบบการศึกษาบ้าง
นนท์: คำถามนี้เป็นคำถามที่ค่อนข้างยาก หลายคนบ่นมาตลอดว่าระบบการศึกษาของไทยมันเป็นปัญหาใหญ่ แต่น้อยคนจะคิดกลับมาแก้ไข ตัวผมเองเมื่อได้เข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว พบว่าปัญหาเดิมที่เคยเจอตอนม.ปลาย เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว มันก็ยังอยู่ แต่อย่างน้อยการที่เราทำให้เด็กรู้สึกอยากจะเรียน อยากจะอ่าน ก็ช่วยอะไรบางอย่างแล้ว
จึงอยากจะเก็บตรงนี้ไว้เพื่อสร้างเป้าหมายในครั้งต่อไป เราอาจจะเข้าไปแนะนำ ช่วยวางแผนในการเรียน และสร้างโอกาสดีๆ บางอย่างให้เขา ก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงคลี่คลายปัญหาการศึกษาที่ยัังปิดกั้นเด็กอยู่ เช่น บังคับให้เรียนหมอหรือวิศวะ ซึ่งจริงๆ แล้วโลกมันไม่ได้มีแค่สองอาชีพนี้
การเรียน-การเรียนรู้-ทักษะ ในสายตา Wizes เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
นนท์: สำหรับผมการเรียนมันค่อนข้างกว้าง อาจจะพูดลงไปถึงการสร้าง mindset ให้กับบุคคลหนึ่ง ตั้งแต่ที่เขายังเป็นเด็กเล็กอยู่ด้วยซ้ำ ถ้าถามว่าการที่ลงไปจับ ม.ปลาย มันอาจจะแก้ได้ไหม ก็ได้ แต่ไม่ได้ลงไปถึงจุดเริ่มต้น เด็กจะโตขึ้นมาทำได้หรือไม่ได้ มันก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ เป็นจุดเป็นตัวที่สร้างคาแรกเตอร์ของเด็กขึ้นมา
ในมุม Wizes เราพยายามมองในรูปแบบของการเรียนที่ไม่ใช่จุดประสงค์ไปสอบ แต่มองเรื่องของความรู้รอบตัว อาจจะไม่ต้องเกิดเป็นทักษะอะไรขึ้นมาทันที แต่ได้เปิดโลกทัศน์ของเขา พาให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลก
สุดท้ายแล้วทักษะและองค์ความรู้ มันเชื่อมถึงกันหมด?
นนท์: ใช่ครับ องค์ความรู้มันเชื่อมกัน คนที่เรียนหมอสุดท้ายก็หนีวิชาสังคมไม่ได้ เรื่องของกฎหมายก็เป็นหนึ่งในเรื่องวิชาสังคมที่หมอต้องรู้ หรือคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ก็หนีความรู้ในเชิงสุขภาพไปไม่ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการดูแลตัวเอง ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมด ไม่อยากให้แบ่งเด็กตั้งเป้าอยู่กับวิชาใดวิชาหนึ่งในการสอบเข้า เพราะในอนาคตมีอีกหลายอย่างที่เขาต้องเรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดชีพ
พูดได้ไหมว่าหนังสือ Wizes วิเศษกว่าหนังสือเล่มอื่น
นนท์: หนังสือแต่ละประเภทก็มีข้อดีที่แตกต่างกันออกไป อย่างหนังสือ Infographic ข้อดีที่เด่นชัดคือ การอธิบายข้อมูลให้เข้าใจได้ง่าย เห็นภาพ อ่านสนุก ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ในอีกมุมหนึ่งหนังสือ Textbook ก็เก็บรายละเอียดปลีกย่อยได้เยอะ แต่ถ้ายื่นให้เด็กอ่าน น้อยคนที่จะเปิดอ่าน ดังนั้นอย่างน้อยการที่เราออกแบบให้พวกเขาเปิดใจอยากจะอ่านและสร้างพื้นฐานความเข้าใจที่ดีในสิ่งที่ศึกษา ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพร้อมจะเข้าใจเนื้อหาในวิชานั้นได้มากขึ้นผ่านการออกแบบของเรา เมื่อเด็กมีโครงสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดี เขาก็จะสามารถเรียนรู้เพิ่มเติม และเอามาประกอบกับโครงสร้างความรู้ของตัวเองเพื่อต่อยอดไปได้ง่ายขึ้น
บทสุดท้ายและก้าวต่อไปของวิเศษ คืออะไร
นนท์: จริงๆ เราตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าสุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เด็กใช้อ่านสอบ เพราะจุดประสงค์ของเด็กม.ปลาย คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าไม่ผลิตเพื่อสอบ เด็กก็จะไม่เลือกมาหยิบหนังสือเราอยู่ดี แต่ลึกๆ เราพยายามสอดแทรกความเข้าใจ เพื่อให้ความรู้ได้ติดตัวเขาไป
ปันปัน: และอย่างที่บอกไป วิเศษไม่อยากหยุดแค่การผลิตหนังสืออย่างเดียว อยากช่วยเสริมในส่วนของครู อยากจะสอนการผลิตสื่อการสอนให้กับครูหรือจัดเวิร์กช็อป การใช้ Infographic ประกอบการสอนต่างๆ ที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้มันครบถ้วนยิ่งขึ้น