- คุยกับสาวไทยและหนุ่มจีนจากรั้ว NYC เจ้าของโปรเจ็คต์ White Mountain, Black Water งาน Interactive Sound Installatio ที่ไอเดียหลักคือการใช้น้ำสร้างเสียงดนตรีผ่อนคลาย
- ทั้งคู่เริ่มต้นจากความสงสัยว่า ถ้าน้ำมีชีวิต เสียงมันจะเป็นยังไงนะ
- “รบกวนเปิดเสียงด้วยนะ” ประโยคประกอบคลิปนี้ในทวิตเตอร์ ทำให้หลายคนอยากเจอและรู้จักสองคนนี้ที่ทำให้เรารู้จัก ‘เสียง’ ของน้ำ
ภาพ: วันนภา โภคกุลกานนท์, Chenhe Zhang
(รบกวนเปิดเสียงด้วยนะ)
‘White Mountain, Black Water’ เป็น Interactive Sound Installation ที่เราทำกับเพื่อนเมื่อต้นปี ได้แรงบันดาลใจมาจาก Water Pachinko ของ Hara Kenya ไอเดียหลักคือการให้ผู้ชมได้ใช้น้ำในการสร้างเสียงดนตรีเพื่อความผ่อนคลาย
White Mountain Black Water from Nick Chenhe Zhang on Vimeo.
เป็นข้อความพร้อมคลิปสั้นๆ ที่ใส่แคปชั่นไว้ว่า วิธีการเล่นคือหยดน้ำสีดำลงบนกระดานตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ เสียงของเครื่องดนตรีที่ตั้งค่าไว้จะเล่นโน้ตตามตำแหน่งของน้ำบนกระดาน โดยฝั่งซ้ายจะเป็นเสียงกระดิ่งลม ขวาเป็นเสียงพิณ และส่วนล่างจะเป็นเสียงน้ำหยด มี Backing Track เป็นเพลงเอื่อยๆ หน่อย ให้อารมณ์เหมือนอยู่ใน Zen Garden
ข้อความสองย่อหน้านี้เป็นของ Yves (@msyves) ชื่อในโลกทวิตเตอร์ของ ‘อีฟ’ วันนภา โภคกุลกานนท์ นักศึกษาปริญญาโทคณะ Interactive Telecommunication Program จาก New York University (NYC) วัย 28 ปี และนี่เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Music Interaction Design ที่อีฟทำร่วมกับ ‘นิค’ Nick Chenhe Zhang เพื่อนชาวจีนวัย 30 ที่ถูกรีทวิตและได้รับหัวใจนับไม่ถ้วนหลังจากได้ชมภาพและฟังเสียงแล้ว
“ถ้าน้ำมีชีวิต เสียงมันจะเป็นยังไงนะ”
เป็นความสงสัยตั้งต้นของโปรเจ็คต์ White Mountain, Black Water นี้ พอดีกับที่อีฟกลับมาพักผ่อนและอยู่กับครอบครัวที่เมืองไทย The Potential จึงชวนทั้งคู่คุยทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน…
และวิธีการค้นหาความชอบของตัวเอง ที่ไม่จำเป็นต้องรีบและเร็ว
งาน ‘White Mountain, Black Water’ ที่เป็น Interactive Sound Installation มีที่มาอย่างไร
อีฟ: ตอนนั้นหารือกับนิคว่าจะทำอะไรเป็น Final Project พอดีนิคไปอ่านหนังสือดีไซน์ของ อาจารย์ฮาระ เคนยะ (Hara Kenya) เห็นงานที่ชื่อ Water Pachinko (https://bott2013studio.wordpress.com/2013/09/12/kenya-hara-water-pachinko/ ) แล้วชอบ เลยเอามาให้เราอ่านต่อ แล้วคุยกันว่าเออ นั่งดูน้ำไหลแล้วมันสงบดีเนอะ เพลินด้วย ตอนนั้นก็พยายามคิดในมุมที่ว่า น้ำแต่ละหยดมันก็ไหลในความเร็วและทิศทางที่แตกต่างกัน เหมือนแต่ละหยดมีชีวิตของมันเอง มันจะส่งเสียงแบบไหนกันนะ ถ้าเราสามารถทำให้ movement ที่แตกต่างกันของน้ำสร้างเสียงได้ก็น่าจะน่าสนใจ เลยตกลงกันว่าอยากจะสร้างอะไรที่ทำให้คนได้มองน้ำไหลไปด้วย แล้วก็ได้ฟังเสียงดนตรีจากน้ำไปด้วย
นิค: งานของอาจารย์ฮาระ เขาใช้แผ่นบอร์ดคล้ายๆ กันวางไว้ให้น้ำไหลลงมาเหมือนพินบอล ผมกับอีฟคิดด้วยกันว่าถ้าน้ำมันร้องเพลงได้ เสียงมันจะเป็นยังไงนะ มันให้ความรู้สึกผ่อนคลายแค่ได้มอง การได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเสียงน่าจะทำให้คนดูยิ้ม มีความสุข เราออกแบบเสียงให้สร้างความสงบและเรียบลื่น จากการไหลของน้ำ
ชื่อ White Mountain, Black Water มาจากบ้านเกิดผมที่ประเทศจีน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลเฮหลงเจียง ที่มี Ever White Mountain (ภูเขา) และ Black Dragon River (แม่น้ำ) มันคือชื่อของหุบเขาและแม่น้ำที่ไหลผ่าน รูปแบบของงาน installation คือ น้ำที่ไหลลงมาจากหุบเขา เหมือนผ้าแคนวาสสีขาว กับ น้ำสีดำ มันสัมพันธ์กับศิลปะการใช้พู่กันของเอเชียตะวันออก และน้ำสีดำก็คือเส้นสายที่มีชีวิต เต้นรำ กำลังร้องเพลงอยู่ใน white mountain
“ไอเดียหลักคือการให้ผู้ชมได้ใช้น้ำในการสร้างเสียงดนตรีเพื่อความผ่อนคลาย” ทำไมถึงสนใจไอเดียนี้
อีฟ: ตอนที่นั่งดูน้ำไหลบนแผ่นกระดานเรารู้สึกว่ามันเพลินมากๆ เพื่อนคนอื่นก็ชอบเดินแวะมาหยดเล่นบ่อยๆ ตอนนั้นคุยกันว่าถ้าใช้เสียงที่มันฟังสบายๆ ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย ก็น่าจะเข้ากับงานชิ้นนี้นะ ตอนออกแบบเสียงเลยตั้งเป้าว่าอยากให้คนที่มาเล่นได้ความรู้สึกเหมือนไปนั่งอยู่ในสวนญี่ปุ่นหรือภูเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน โดยหา reference ของเสียงที่เลือกมาใช้จากพวกเครื่องดนตรีญี่ปุ่น
นิค: เราคิดแค่ว่าเสียงน่าจะทำงานได้ดีด้วยความสวยงามของ installation ความสงบ และ การทำสมาธิ ทั้งหมดมันคือเสียงจากระบบดิจิตอล
แต่เราอยากให้คนรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ เราได้ยินเสียงหยดน้ำ น้ำไหลอยู่ทุกๆ วัน มันคือหนึ่งในเสียงที่เราคุ้นเคยมากที่สุด แต่ถ้ามันทำได้มากกว่านั้น มันจะยังเป็นแค่เสียงจากน้ำอยู่ไหม
สภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความกดดัน เครียด แข่งขัน ไม่ผ่อนปรนให้กับตัวเอง – ความคิดตรงนี้มีผลหรือมีส่วนช่วยให้อีฟกับนิคเลือกทำงานนี้ด้วยหรือเปล่า
อีฟ: จริงๆ ไม่ได้คิดแง่นี้มาก่อนเลยค่ะ แค่อยากสร้างอะไรที่คนใช้เวลากับมันได้เรื่อยๆ เพลินๆ และรู้สึกสบายใจเวลาอยู่กับมันเท่านั้น เพราะจุดประสงค์พวกเราไม่ได้ตั้งใจจะใช้ในทาง therapy เลยไม่ได้ทำรีเสิร์ชเรื่องสภาพสังคมเลย แต่ถ้าคนฟังรู้สึกว่ามันช่วยให้ผ่อนคลายได้มากพอที่จะปล่อยวางความเครียดได้ชั่วคราวเราก็จะดีใจมากๆ ค่ะ
นิค: อย่างที่อีฟว่า ผมอยากมอบอะไรที่มากกว่า life moment และให้เขาจินตนาการว่าตัวเองกำลังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและอบอุ่น ภายในเวลาไม่กี่นาที่ได้ดูและฟังงานของเรา แม้ว่าเขาจะกลับไปหาที่เดิมที่กดดันและเต็มไปด้วยการแข่งขัน เขาจะยังคงเก็บอารมณ์ที่ดีและทัศนคติเชิงบวกเอาไว้
อยากให้เล่าย้อนไปถึงชีวิตช่วงก่อนมาเรียนต่อปริญญาโทคณะ Interactive Telecommunication Program
อีฟ: จริงๆ ใช้ชีวิตแบบค่อนข้างจับฉ่ายมากๆ เลยค่ะ แทบไม่มีการวางแผนเลย เนื่องจากครอบครัวค่อนข้างปล่อยมาก อยากทำอะไรก็ทำ ประกอบกับตอนนั้นก็ไม่แน่ใจเรื่องความชอบและความต้องการของตัวเองด้วย ใช้ชีวิตแบบสับสนมาตลอด ลองทำนู่นทำนี่มั่วไปหมดแล้วก็ทำไม่ได้ดีสักอย่าง เรียกว่าเป็นคนห่วยๆ เลยก็ได้
ย้อนกลับไปสมัย ม.ปลายเลือกเรียนศิลป์ฝรั่งเศส เพราะคิดว่าน่าจะสนุก แต่พอเรียนจริงๆ ไม่ค่อยเอนจอย ช่วงมหาวิทยาลัยมีลังเลระหว่างนิเทศกับบริหาร และสุดท้ายก็เลือกเรียนบริหาร (หลักสูตร 5 ปีควบตรี–โท) เพราะคิดว่าจบมาแล้วได้ช่วยทำงานที่บ้านด้วย แต่หลังจากเรียนไปพักหนึ่งก็รู้แล้วว่ามันไม่เหมาะกับเรา ตลอดสามปีครึ่งเป็นการเรียนที่ซัฟเฟอร์มากๆ เพราะเราไม่ได้มีความสนใจจะเรียนรู้ด้านนี้จริงๆ พอจบตรีเลยตัดสินใจลาออกไม่ต่อโท และไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็มีโอกาสทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นดีเจในคลับ รับถ่ายรูป ทำโชว์รูมเสื้อผ้า
ทำให้เริ่มรู้ว่า จริงๆ แล้วเราแฮปปี้กับงานที่เราได้เป็นคนสร้างอะไรสักอย่าง ได้ใส่ไอเดียตัวเองลงไป แต่พอเรียนจบคอร์สภาษา เราต้องหางานประจำทำ เพราะวีซ่านักเรียนหมดแล้วจะอยู่ญี่ปุ่นต่อไม่ได้ ตอนนั้นเพื่อนมาชวนให้ไปทำงานด้วย เป็นงานรับวางแผนการผลิตและแผนการตลาดให้ Hardware Startup ตอนแรกก็ลังเลเพราะเป็นงานติดต่อลูกค้า ทำรีเสิร์ช เขียน business plan ที่ไม่อยากทำสุดๆ แต่สุดท้ายก็ตกลงเพราะอยากอยู่ญี่ปุ่นต่อ ถือเป็นความโชคดี เพราะงานนี้ทำให้เราได้มีโอกาสไปดูงานด้าน technology & media หลายๆ ที่ จนได้ไปรู้จักกับนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวกลุ่มหนึ่ง เขาทำวิจัยเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกับอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำศูนย์การค้าแบบ virtual reality ให้จำลองภาพเหมือนเราได้เดินซื้อของ ลองเสื้อผ้าโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปจริงๆ
ตอนนั้นเลยเริ่มคิดว่าอยากศึกษาด้านนี้เพิ่มเติม เลยลองถามคนอื่นและหาข้อมูลว่ามันมีที่ไหนที่สอนเทคโนโลยีควบกับ UX Design บ้าง รุ่นพี่คนไทยที่เรียนอยู่ที่คณะ Interactive Telecommunication Program (ITP) ที่ NYC บอกว่าให้ลองมาดูคณะเขาสิ มีสอนเขียนโค้ด ต่อวงจร สำหรับทำงานศิลปะกับงานดีไซน์ เราน่าจะชอบ ตอนนั้นบริษัทส่งไปทำงานที่นิวยอร์คพอดี พี่เขาก็พาทัวร์คณะ โมเมนท์นั้นทำให้เรามองงานศิลปะกับเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเลย และเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่แหละ เราหาสิ่งที่เราอยากทำเจอแล้ว พอกลับมาถึงญี่ปุ่นเราก็รีบเตรียมเอกสารสมัครเรียนเลย
นิค: ผมจบปริญญาตรีด้าน recording engineering ผมชอบศิลปะ ชอบอ่านการ์ตูน มาตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาก็เล่นดนตรี บวกกับเคยมีประสบการณ์ทำงานในพิพิธภัณฑ์และโรงละคร ยิ่งได้สะสมทักษะและความรู้เชิงสุนทรียศาสตร์ด้านศิลปะและสื่อต่างๆ
เป้าหมายของผมคือการสื่อสารกับผู้คนด้วยผลงานของผม ผมอยากที่จะทำให้ผู้ชมมีความสุขและคิดแบบมีความหมาย
อีฟอธิบายคร่าวๆ ว่า ITP คือ Art + Engineering เน้นใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างงานดีไซน์และงานศิลปะ อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติมว่า Art กับ Engineer อยู่ด้วยกันได้อย่างไร
อีฟ: เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องในใจที่อยากจะ express เยอะมาก แต่เราหาทางแสดงมันออกมาไม่ได้ เราเป็นคนเขียนไม่เก่ง วาดรูปไม่เป็น เล่นดนตรีไม่รอด ทำกราฟิกไม่ได้ ถ่ายรูปก็งั้นๆ เหมือนไม่มีอะไรที่พอจะเป็นสื่อกลางในการแสดงความเป็นตัวของตัวเองหรือถ่ายทอดเรื่องราวในหัวเราได้เลย
เราชอบคิดตลอดว่าการทำงานศิลปะหรืองานดีไซน์มันเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป เราไม่สร้างสรรค์พอ เราไม่มีความสามารถพอ แต่ตอนที่ได้ไปเยี่ยมชม ITP ได้เห็นคนทดลองทำนู่นทำนี่กัน มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ไอเดียต่างๆ ที่เราเคยมีแต่คิดว่าทำไม่ได้หรือไม่รู้จะทำออกมาในรูปแบบไหน เราจะสามารถเรียนรู้และทำมันให้สำเร็จได้ที่นี่ ถ้าเราหา tools ที่เหมาะสมกับตัวเองเจอ เราก็สามารถสร้างงานได้เหมือนกัน
นิค: ผมคิดว่ายุคของดิจิตอลอาร์ตมันมาถึงแล้วและไปได้อีกไกล ด้วยแรงส่งของเทคโนโลยี ศิลปะ และงานดีไซน์ ที่ช่วยยกระดับและทำให้สิ่งที่แต่ก่อนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และ ITP คือทุกอย่างที่ผมบอกมา มันมีศิลปะและการดีไซน์ทุกๆ แง่มุม และยังรวมเอาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของไอเดียที่ไม่ว่าจะบ้าหรือน่าสนใจเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งหมดนี้มันคือสิ่งที่ผมลงลึกและสนใจ
ตอนที่เลือกเรียนโทด้านนี้ ระหว่าง ‘อยากทำ’ (สิ่งที่ชอบ/มีความสุขที่ได้ทำ) กับ ‘อยากเป็น’ (อาชีพในอนาคต) ความอยากแบบไหนทำให้เราเลือก
อีฟ: ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนเราโฟกัสแค่สิ่งที่อยากทำและอยากเรียนรู้ก่อน คิดแค่ว่าเราจะได้อะไรจากการมาเรียนที่นี่ ยังไม่ได้คิดไปถึงว่าจบมาแล้วต้องทำอาชีพอะไร จริงๆ แล้วจนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่แน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าอนาคตอยากจะเป็นอะไรกันแน่ แต่การที่ได้มาอยู่ที่นี่มันทำให้เราได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง ได้ลองทำสิ่งที่อยากลอง เราค่อยๆ รู้จักตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการคิดและทำงานในแต่ละครั้ง ซึ่งเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วในปลายทาง สิ่งที่อยากทำและอยากเป็นมันคือสิ่งเดียวกัน
นิค: เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมต้องการทำ ผมอยู่ในวัฒนธรรมจีนและเอเชียตะวันออกที่เข้มข้นมากๆ ผมอยากจะเอาสิ่งเหล่านี้มาใส่ในงาน พยายามค้นหาวิธีที่ทำให้วัฒนรรมและเทคโนโลยีมันไปด้วยกัน แล้วหีบห่อมันด้วยของง่ายๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่ามันต้องมีทางเข้าถึงคนทั่วไป ให้จิตใจเขามี empathy
คณะนี้จบออกมาทำงานอะไรกันบ้าง
อีฟ: จริงๆ ทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำเลยค่ะ อาจจะฟังดูกว้างไป แต่เราคิดว่าการที่คนเลือกมาเรียนที่นี่ก็เพราะว่ามันฟรีมากๆ นี่แหละ ถ้าแบ่งกลุ่มใหญ่ๆ จะดูเหมือนว่ายังวนเวียนอยู่ในหมวดหมู่ของ technologist, ดีไซเนอร์และศิลปะ แต่ถ้าลงรายละเอียดก็จะมีงานหลายแขนงมากๆ เช่น visual artist, performing artist, AR/VR designer, game designer, creative director, UI/UX designer, creative programmer, นักพัฒนาแอพ, DJ, sound designer, งานนวัตกรรมแฟชั่น, นักเขียน, เป็นอาจารย์ หรือเริ่มทำธุรกิจของตัวเองไปเลย
นิค: ศิลปินด้านเสียง, นักวิชาการ, นวัตกร, นักปั้น, คนทำแอนิเมชั่น, ทำงานโรงละครบรอดเวย์, นักเล่าเรื่อง ฯลฯ
มันมีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่เรียนรู้เร็ว มันคือความรู้ทุกอย่างที่ไปได้ทุกทาง
ถ้าน้องๆ อยากเรียนคณะนี้ ต้องทำหรือเตรียมตัวอย่างไร ควรชอบหรือมีคุณสมบัติอย่างไร เพราะ Art กับ Engineer มันเหมือนอยู่คนละฝั่งกัน
อีฟ: สำหรับเรา สิ่งเดียวที่คิดว่าสำคัญจริงๆ สำหรับการเรียนที่ ITP คือควรจะพอรู้บ้างว่าตัวเองอยากทำอะไร เพื่อที่จะได้ใช้ resource และเวลาให้คุ้มค่าที่สุด ตัวโปรแกรมเองออกแบบมาให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทั้งสองด้านสามารถเรียนได้อยู่แล้ว อีฟเองเรียนบริหารมา ไม่มีความรู้ทั้งด้านโค้ดและดีไซน์เลย แต่ก็ได้อาจารย์และเพื่อนๆ คอยให้คำแนะนำจนสามารถทำโปรเจ็คต์ให้สำเร็จได้
เพื่อนในคณะก็มีตั้งแต่ดีไซเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร โปรแกรมเมอร์ สถาปนิก ผู้กำกับ นักวาดการ์ตูน ช่างแกะสลัก นักดนตรี นักเต้น นักมายากล จะเห็นได้เลยว่าไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องมีคุณสมบัติแบบเฉพาะเจาะจงค่ะ ถ้าคิดว่าสนใจคณะนี้ก็ลองตามเสพหรือศึกษาดูงานด้านนี้เยอะๆ ก็ได้ จะได้พอคิดออกว่าเราต้องการอะไรจากที่นี่ และจะโฟกัสกับอะไรเป็นหลัก
นิค: ทำพอร์ตโฟลิโอที่เกี่ยวกับงานออกแบบหรืองานอะไรก็ได้ก่อนหน้านี้ แต่ทำออกมาอย่างสร้างสรรค์ และหาข้อมูลเรื่องคอร์สต่างๆ ดูงานของศิษย์เก่าและปัจจุบัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ คิดว่าอยากทำหรือสร้างสรรค์อะไรด้วยทักษะที่พร้อมจะเรียนใน ITP ถ้ามีก็ลุยเลย มันจะทั้งบ้าและน่าจดจำตลอด 2 ปีที่เรียน
คนไม่น้อยยังคิดว่า Art กับ Engineer อยู่คนละฝั่งกัน เลยอยากถามนิคกับอีฟว่า เวลาเรียนมันไปด้วยกันได้ดีมั้ย
อีฟ: จริงๆ ตอนนี้เรารู้สึกว่าศาสตร์ทั้งสองนี้มันเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้วค่ะ (หัวเราะ) สำหรับเรา ยิ่งมีเครื่องมือมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสร้างสรรค์งานได้หลากหลายมากขึ้น เหมือนกับเวลาวาดรูปที่มีวัสดุ มีเครื่องมือให้เลือกหลายชนิด บางคนวาดมือไม่ถนัดก็วาดในคอมเอา กรณีเดียวกัน ถ้าเราเรียนรู้เทคโนโลยีและสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือได้อย่างคล่องแคล่วมากพอ เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะค้นหาวิธีการนำเสนอไอเดียได้น่าสนใจได้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเราว่าสองอย่างนี้มันเติมเต้มซึ่งกันและกันมากๆ
นิค: 100 ปีก่อน ศิลปะ/งานออกแบบกับเทคโนโลยีอาจอยู่คนละฟากกัน แต่ตอนนี้มันไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างคือเทคโนโลยี ทุกอย่างถูกคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ เพราะมันหมายถึงความไวกว่า ถูกต้องกว่า และเป็นไปได้มากกว่า
การเรียนศิลปะแบบ intergrated (ผสม) แบบนี้ เป็นไอเดียที่ดีมาก ถ้าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ที่อยากจะสร้างนวัตกรรรมสักอย่างที่เป็นงานศิลปะ การแสดง หรือรูปแบบอะไรก็ได้ที่น่าสนใจ คุณจะรู้สึกเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำเพราะคุณจะมีทักษะของการโค้ด มีความรู้ด้านโปรแกรมมิ่งที่มันจำเป็นมากๆ และถ้าคุณคือศิลปินที่ไม่โอเคกับสื่อแบบดั้งเดิม อยากค้นหาทางของตัวเอง ITP เหมาะกับคุณ
แล้ววิชา Music Interaction Design ที่มาของโปรเจ็คต์ ‘White Mountain, Black Water เรียนอะไรบ้าง
อีฟ: วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้คือการทำ sound ที่ interactive ค่ะ จะเป็นในรูปแบบไหนก็ได้ เพื่อนในคลาสก็มีทั้งสร้างเครื่องดนตรี, performance, ทำเกมที่เกี่ยวกับเสียง, ทำเว็บไซต์สอนร้องเพลงให้ตรงคีย์ หรือทำ sound visualization คลาสนี้จะไม่ค่อยสอน เน้นการแชร์ไอเดียและให้ฟีดแบ็คกันและกันมากกว่า แต่ละสัปดาห์อาจารย์จะเชิญศิลปินและดีไซเนอร์ด้าน sound มาพูดเกี่ยวกับโปรเจ็คต์ที่เขาทำ
มีคนสนใจงานของอีฟและนิคในทวิตเตอร์มากๆ รู้สึกอย่างไร ถึงขั้นเป็นแรงบันดาลใจในการวางอนาคตเลยไหมคะ และคิดว่าเพราะอะไร คนถึงสนใจเยอะขนาดนี้
อีฟ: ตอนที่เราได้เห็นคอมเมนท์หลายคนบอกว่าฟังเสียงแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ฟังก่อนนอนแล้วเพลินจนหลับง่ายขึ้น ดีใจมากค่ะ ส่วนใหญ่งานที่เราทำมักจะเป็นงานที่ personal มากๆ พอเห็นว่างานชิ้นนี้เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วยเราก็ดีใจ จริงๆ เราไม่เคยคิดว่างานศิลปะจะต้องมีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะต้องมีคุณสมบัติแบบไหนบ้าง แต่ต่อไปเราก็อยากทดลองทำอะไรที่มีความ critical และพูดถึงปัญหาสังคมให้มากขึ้นค่ะ ไม่ใช่แค่งานที่เล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างเดียว
ส่วนสาเหตุที่คนสนใจ คิดว่าน่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งที่เราเจอจนชินตาทุกวัน เช่น น้ำ แต่ behave แปลกไปจากที่เราคุ้นเคย
นิค: แพลนแรกต่อจากนี้คือ อยากจะพัฒนาเวอร์ชั่นสองให้สเกลใหญ่ขึ้น และลองใช้สีให้มากกว่าขาว ดำ
ผมดีใจมากที่คนชอบ ปลื้มใจมากๆ และรู้สึกดีมากที่คนฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายไปกับมัน โดยส่วนตัวผม งานชิ้นนี้มันได้แรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมและปรัชญาตะวันออก จากนี้ผมจะศึกษาและค้นคว้าเรื่องปรัชญา วัฒนธรรม และความงามของเอเชียตะวันออกมากและลงลึกยิ่งขึ้น
การเรียนควบหรือข้ามสายกันไปมาสุดๆ แบบนี้ โดยส่วนตัวอีฟกับนิค มันมีข้อดีหรือจุดแข็งอะไรบ้าง เพราะตอนนี้หลายคณะในเมืองไทยยังแบ่งกันตามสายอยู่เลย
อีฟ: โดยส่วนตัวไม่คิดว่าการแบ่งสายอย่างชัดเจนจะเท่ากับไปปิดกั้นการเรียนรู้อีกศาสตร์นึงนะคะ เพียงแค่เขาออกแบบมาเน้นให้เราศึกษาจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับคน ว่าต้องการอะไรจากการเลือกเรียนในแต่ละโปรแกรมมากกว่า จริงๆ เราคิดว่าหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วๆ ไปมันมีการ integrate ทั้งสองศาสตร์ไว้ด้วยกันอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ต้องรู้แนวคิดพื้นฐานของทั้งคู่ เพราะสำหรับเรามันเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไปมากกว่าอยู่ตรงข้ามกัน
ข้อดีของการเรียนโปรแกรมข้ามสาย มันเหมือนเวลาเอาแม่สีหนึ่งมาผสมแม่สีอีกอันหนึ่ง แล้วเกิดเป็นสีใหม่ๆ ยิ่งเปิดรับศาสตร์อื่นๆ ได้เยอะเท่าไหร่ ความเป็นไปได้มันก็ยิ่งมากและหลากหลายขึ้น เรายิ่งศึกษามาก เราก็จะยิ่งมีเครื่องมือและวิธีในการทำให้เราเลือกใช้สร้างงานได้มากขึ้น
นิค: มืออาชีพคือการตระหนักในไอเดียทางศิลปะของตัวเอง เรามี toolbox ที่เจ๋งกว่าที่คิดเสมอ เราสามารถยกระดับวิธีเดิมๆ ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี บางครั้งเทคนิคใหม่ๆ มาจากการที่คุณกล้าใช้ไอเดียศิลปะ บางครั้งคุณอาจจะจมไปกับไอเดียมหาศาล และการไปให้ถึงจุดหมายเดียวกันมันก็มีหลายวิธีมากๆ และบางครั้งคุณอาจจะท้อที่จะทำให้สิ่งที่คุณเรียนอยู่มันสมดุลกันได้อย่างไร
สำหรับผม เทคนิคก็คือเทคนิค มันมีเครื่องมือเยอะมากที่สร้างสรรค์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นปากกา แปรงทาสี เปียโน แต่มุมมองที่สำคัญที่สุด คือ ความคิด และสื่อความคิดนั้นออกมาอย่างไร