- ภีร์ คือ หนึ่งในผู้พัฒนาโปรแกรม ทอ-ไอ-ยอ-ไทย ที่ใช้เป็นสื่อในการสอนวิชาภาษาไทยสำหรับเด็กชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 1
- แรกเริ่มภีร์ไม่ได้สนใจประเด็นปัญหาเรื่องการศึกษา หรือปัญหาสังคม แต่ได้รับการชักชวนจากครูที่ปรึกษา มาทำงานในโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3
- ภีร์เปลี่ยนความสนใจจากการวาดรูป มาสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์จากการมาเข้าร่วมโครงการ และเพราะเธอรู้สึกว่ามันทำอะไรได้มากกว่าการวาดรูป
- สมองของวัยรุ่นมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงตัวเองสูงที่สุด (Plasticity) เพื่อประมวลผลและตัดสินว่าอะไรจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
เรื่อง วรุตม์ นิมิตยนต์
Plasticity คือหนึ่งในความพิเศษของสมองวัยรุ่น อธิบายในภาษาวิทยาศาสตร์ คือ คุณสมบัติการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อใยประสาทได้ดีที่สุด อธิบายให้ง่ายกว่านั้น คือ วัยรุ่นเป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโต และพยายามอย่างหนักในการปรับเปลี่ยนตัวเองว่าแบบไหนจะดีที่สุดในการใช้ชีวิตต่อไป
ทว่าความน่าสนใจอยู่ตรงที่ “สมองของวัยรุ่น” ไม่ได้เลือกรับว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี สมองรู้แต่เพียงว่า อะไรที่ถูกให้ความสำคัญมาก ถูกคิดถึงบ่อย ถูกใช้บ่อยๆ แสดงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งสำคัญที่ต้องเก็บเอาไว้ใช้
‘ภีร์’ คือ วัยรุ่นคนนั้นที่เอา Plasticity มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ภีร์-ณัฐกนก โภคทรัพย์ไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในผู้พัฒนาโปรแกรม ทอ-ไอ-ยอ-ไทย สื่อภาษาไทยสำหรับเด็กอ่านไม่ออก สะกดคำไม่ได้ ชั้นอนุบาล-ป.1 แต่ตอนที่เธอพัฒนาโปรแกรมนั้น เธอยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปี่ที่ 6 แผนกการเรียนวิทย์-คณิต โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
“เริ่มต้นจากการทำกราฟิกแอนิเมชั่น ทำสูจิบัตรให้โรงเรียน ครูเห็นว่ามีความสามารถก็ถามว่าสนใจไหม ชวนมาลองแข่งดู” ภีร์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทำงานในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ผู้ใช้งาน ภีร์ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และได้ลองนำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มาใช้ประโยชน์
ทำไมต้อง ทอ-ไอ-ยอ-ไทย
“หนูสนใจประเด็นทางสังคมตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ทำแอพพลิเคชั่นซาลาเปามิลเลียนแนร์ ในโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นแอพที่สอนเกี่ยวกับการลงทุนเล่นหุ้น รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ทำไมหนังสือต้องทำให้เป็นเรื่องยาก”
สิ่งที่ภีร์สะท้อน น่าจะไม่ต่างจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ ที่ต้องเจอตำราหนังสือจำนวนมาก ใช้ชีวิตหลายปีอยู่ในห้องเรียน แม้หนังสือเรียนรุ่นใหม่อาจจะปรับปรุง เพิ่มภาพประกอบ รูปเล่มสวยงาม หรือเพิ่มลูกเล่นบางอย่างแล้ว แต่ก็ยังยากอยู่ดี
“อยากจะเปลี่ยนจากหนังสือเป็นอย่างอื่นบ้าง หนังสือมันน่าเบื่อ มันไม่น่าสนใจสำหรับเด็ก ถ้าลองเปลี่ยนเป็นการ์ตูน หรืออะไรที่น่าสนใจ ก็น่าจะช่วยดึงดูดเด็กๆ ได้มากขึ้น”
จึงกลายมาเป็นแนวคิดตั้งต้นที่ใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทอ-ไอ-ยอ-ไทย ร่วมกับรุ่นพี่ในกลุ่มอีกสองคน
แต่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นใดๆ นั้น ต้องเริ่มจาก ‘ปัญหา’ ที่ต้องการแก้ก่อน
“แรกๆ หนูไม่ได้สนใจปัญหานี้เลย ทั้งที่ทุกโรงเรียนก็มีปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก”
ภีร์เล่าช่วงต้นในการค้นปัญหา
“ตอนไปปรึกษาครูฝ้ายที่เป็นที่ปรึกษา ก็ถามว่าสนใจไหม หนูก็มองว่ามันน่าสนใจนะ ถ้ามีโอกาสช่วยเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออกได้ก็น่าภูมิใจ”
ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ได้มาเพราะความอยากรู้ แต่ครูที่ปรึกษาคือคนผลักดันให้ภีร์และเพื่อนๆ ลงสนามจริง ไปพูดคุย สัมภาษณ์ สอบถามกับกลุ่มครู เพื่อค้นให้ได้ว่า จริงๆ แล้วปัญหานี้เกิดจากอะไร ขั้นตอนต่อมาคือ เก็บข้อมูล นำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น
“หลังจากพัฒนาขึ้นมา ก็ลองเอาไปใช้ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิง เพราะที่นั่นมีปัญหา เด็กช่วงประถมต้น อ่านหนังสือไม่ออก เพราะจำเสียงสระ และเสียงพยัญชนะไม่ได้ ทำให้เวลาสะกดคำเกิดความสับสน เสียงตอบรับส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางดีมาก เด็กๆ ที่มาลองใช้ก็สนใจ ทำให้สะกดคำได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น” ภีร์เล่าถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่เมื่อนำไปจัดแสดงและมีคนสนใจอยากให้ทดลองนำไปใช้งานจริง
“โครงการต่อกล้าฯ ก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า พอเห็นปัญหาแล้วหาอะไรมาตอบโจทย์ปัญหา มันดีกว่าการทำอะไรออกมาแล้วใช้ไม่ได้จริง”
“เมื่อมันออกแบบมาจากปัญหาอยู่แล้ว ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เราต้องมาดูว่าจะทำให้เกิดผลมากน้อยได้อย่างไร” ภีร์บอกถึงแนวคิดสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดเป็น ทอ-ไอ-ยอ-ไทย และอะไรคือสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญ ที่สร้างให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงขึ้น
เปลี่ยนปัญหาเป็นพลัง แค่คลิกเดียว
แม้จะผ่านความสำเร็จมาระดับหนึ่ง แต่ด้วยวัยแล้ว ภีร์ก็ยังอยู่ในชุดนักศึกษา ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เธอมักชอบทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทั้งในรูปแบบงานกลุ่ม งานคณะ หรือ คณะกรรมการในสภาฯ
สิ่งนี้อาจมาจากสายตาของภีร์ที่ชอบมองไกลไปมากกว่าแค่ตัวเอง มักโฟกัสไปที่ผู้คนรอบๆ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว และไม่นิ่งดูดายกับปัญหานั้น จนนำไปสู่ความฝันหลังเรียนจบ
“คิดว่าอยากจะทำแอพพลิเคชั่นอะไรสักอย่าง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในสังคมของเรา” เธอตอบด้วยรอยยิ้ม
จากการพูดคุยกับภีร์ พบว่าสิ่งที่น่าสนใจมาก คือการพบว่าแท้จริงแล้ววัยรุ่นที่ผู้ใหญ่หรือคนในสังคมส่วนใหญ่มักจะพร่ำบ่นกันว่า วัยรุ่น เป็นวัยที่มักจะสนใจแต่เรื่องของตัวเองเป็นหลัก ผู้ใหญ่ด่วนสรุปจำนวนไม่น้อย เลือกปล่อยให้พวกเขาอยู่ในโลกของตัวเองแบบนั้น หรือในทางกลับกันก็พยายามดึงวัยรุ่นออกมาจากโลกของเขาโดยไม่สนใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น
ถ้าเราเข้าใจว่าพวกเขากำลังอยู่ในช่วงที่สมองกำลัง ‘หิวกระหาย’ ในการซึมซับดึงเอาทุกสิ่งที่ตัวเองสนใจมาก่อร่างเป็นตัวตน นั่นหมายความว่าหากผู้ใหญ่เห็นว่า ประเด็นทางสังคม และการเรียนรู้ ทำความเข้าใจมนุษย์ผู้อื่นเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ทำได้และดีที่สุดคือ เชื่อมโยงเรื่องเหล่านั้นเข้ากับความสนใจของพวกเขา ใช้แรงสนับสนุนและกำลังใจเหล่านั้นเป็นสะพานเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้
เหมือนที่ครูฝ้ายใส่ใจและใช้ความชอบด้านไอที ชักชวนภีร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ทอ-ไอ-ยอ-ไทย ก่อนจะหมุนความสนใจให้กว้างออกไปสู่ประเด็นปัญหาทางสังคม เป็นพื้นที่ให้ได้ทดลองทำในสิ่งที่ชอบ ขณะเดียวกันก็ชวนคิดชวนคุยถึงการลงไปค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านโครงการต่อกล้าฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหานั้น
แอพพลิเคชั่น ทอ-ไอ-ยอ-ไทย นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กเล็กที่อ่านไม่ออก สะกดไม่ได้ ยังถือเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญของภีร์ ที่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) กลายเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ควรจดจำ
สำคัญที่สุด คือ วัยรุ่นคนนี้กลายเป็นพลเมืองที่มองเห็นปัญหา พร้อมลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไป