- ปรากฏการณ์ Taylor Swift effect บอกนัยยะทางการเมืองได้ประการหนึ่ง พลังการโหวต -ทั้งการโหวตศิลปินดีเด่นและการเข้าคูหาเลือกตั้ง- อันมาจากความรู้สึก ‘มีส่วนร่วม’ ให้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังมากกว่าการบอกว่านั่นคือ ‘หน้าที่พลเมือง’
- ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกที ครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่มีรายชื่อราว 7 ล้านคน บวกลบคูณหารแล้วคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของเก้าอี้ทั้งหมดในสภา
- ย้อนดูฟังก์ชั่นวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ วิชานี้ทำให้รู้สึก ‘มีส่วนร่วม’ เข้าใจหน้าที่ รู้สิทธิเสียงของตัวเองจริงไหม? ผู้สอนทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้วิชานี้มันสนุก เร้าใจ และใกล้ตัวทั้งครูและนักเรียนมากขึ้นกว่าเดิม
“รางวัลนี้ และทุกๆ รางวัลที่มีการมอบในคืนนี้ถูกโหวตด้วยคะแนนเสียงของผู้คนมากมาย และพวกคุณรู้ไหมว่าอะไรอีกที่ถูกโหวตด้วยพลังเสียงของผู้คน การเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนั่นไง อย่าลืมออกไปลงคะแนนเสียงกันนะ”
คือถ้อยแถลงของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องชาวอเมริกันวัย 29 ปี บนเวที AMAs เช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2018 หลังขึ้นรับรางวัลศิลปินแห่งปี สวิฟต์อุทิศพื้นที่บนเวทีกล่าวเชิญชวนให้ชาวอเมริกันออกไปเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ต้องกล่าวด้วยว่าก่อนหน้านั้นราว 2 วัน (8 ตุลาคม) สวิฟต์โพสต์รูปพร้อมแคปชั่นในอินสตาแกรมส่วนตัว แสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมืองอย่างไม่มีใครคาดคิดว่านักร้องที่เลือกเก็บงำความคิดทางการเมืองมาโดยตลอดจะออกมาให้ความเห็นที่มีนัยสำคัญและส่งอิทธิพลต่อฐานแฟนคลับทั่วโลก โดยเฉพาะการเชิญชวน young voter ให้ออกไปลงทะเบียนและใช้สิทธิกันถล่มทลายขนาดไหน
ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้จะชวนพูดเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งในสหรัฐ ‘เสียทีเดียว’ แต่โควทคำที่ยกมา ตั้งใจวกกลับไปที่งานเขียนของ โจเซฟ คาห์น (Joseph Kahne) และ โจเอล เวสไฮเมอร์ (Joel Westheimer) สองนักวิชาการเจ้าของทฤษฎีหน้าที่พลเมือง ผู้สนใจประเด็นเยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการพัฒนาการศึกษาในประเด็นประชาธิปไตย ในรายงาน Teaching Democracy: What Schools Need to Do (2003) ว่าด้วยการเรียนการสอนวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ รายงานนั้นกล่าวไว้ตอนหนึ่ง คล้ายกับความเห็นของสวิฟต์ว่า
“ประชาชนไม่ได้ไร้ความสามารถจะติดตามประเด็นทางการเมืองหรือแสดงออกซึ่งสิทธิ เพราะอย่างวันที่โคคาโคล่าประกาศจะเปลี่ยนสูตรน้ำอัดลมรสดั้งเดิม สำนักงานใหญ่ที่แอตแลนตาได้รับจดหมายพร้อมลายเซ็นจากประชาชนราว 40,000 ราย ไม่นับการร้องเรียนทางโทรศัพท์อีกกว่า 5,000 สายเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนสูตร หรืออย่างการที่วัยรุ่นอเมริกันกว่า 24 ล้านคนใช้สิทธิโหวต American Idol คนต่อไปของพวกเขา”
“ไม่ใช่ว่าประชาชนไร้ความสามารถ แต่พวกเขาไม่รู้สึก ‘มีส่วนร่วม’ มากกว่า”
สวิฟต์ กับ คาห์นและเวสไฮเมอร์ มีอย่างน้อย 2 เรื่องที่พูดตรงกัน
- ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องไกลตัว การโหวตด้วยพลังเสียงของประชาชนเพื่อแสดงจุดยืนว่าใครควรได้ตำแหน่งศิลปินดีเด่นแห่งปี, ใครจะเป็น American Idol คนต่อไป หรือโคคาโคล่าจะเปลี่ยนสูตรน้ำอัดลมรสดั้งเดิมได้หรือไม่ เป็นเรื่องเดียวกับการใช้ สิทธิ ประชาธิปไตย และพลเมือง
- สิทธิพลเมือง ประชาธิปไตย สองคำ (ใหญ่) ไม่เคยถูกตัดขาดออกจาก ‘วัยรุ่น’ มันเป็นเรื่องเดียวกัน และวิธีที่แสดงออก เราต่างเคยใช้มันมาแล้วทั้งนั้น – หนึ่งในนั้นคือการโหวต (ประชาธิปไตยทางตรง)
แต่อะไรที่ขัดขวางไม่ให้นักเรียนที่นั่งในห้องรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว การมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย การรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหาในพื้นที่ชุมชน หรือแค่พูดเรื่อง ‘หน้าที่พลเมือง’ ก็รู้สึกเหม็นเบื่อและไม่เห็นว่าใกล้ตัวตรงไหน และอื่นๆ อะไรทำให้พวกเขา รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา?
กลับมาตั้งหลักที่ประเด็น ‘หน้าที่พลเมือง’ ซึ่งถูกสอนอยู่แล้วในห้องเรียน และเราอาจคุ้นเคยกับค่านิยม 12 ประการ แต่มันถูกสอน หรือทำให้เข้าใจพื้นฐานสิทธิและหน้าที่พลเมืองแค่ไหน?
คาห์นและเวสไฮเมอร์ (2004) อธิบายประเภทพลเมืองไว้ 3 ความหมายดังนี้
- พลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคม (Personally Responsible Citizen)
- พลเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม (Participatory Citizen)
- พลเมืองที่มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม (Social-Justice-Oriented Citizen)
ประเภทพลเมืองข้างต้นอาจเป็นเรื่องทฤษฎี แต่รายงานเรื่อง Teaching Democracy: What Schools Need to Do ทำงานวิจัยกับสถาบันการศึกษา จำนวน 10 แห่ง จุดประสงค์เพื่อสำรวจและพัฒนาการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมือง คาห์นและเวสไฮเมอร์อธิบายความสำคัญของความหมาย 3 ประการข้างต้น แต่ขมวดให้เห็นภาพการทำงานผ่านกระบวน 3 อย่าง หรือ 3C ออกแบบการเรียนการสอนในวิชาพลเมืองอย่างเห็นภาพ ให้ครูนำไปจัดการเรียนการสอนในห้องได้จริง ดังนี้
- Commitment: สร้างความรู้สึกผูกพัน หรือ สร้างการปฏิบัติ
- Capacity: ทักษะ ความสามารถ
- Connection: ความรู้สึกเชื่อมโยง เป็นกลุ่มเดียวกัน
Commitment: สร้างความรู้สึกผูกพัน หรือ สร้างการปฏิบัติ
“การเมืองน่าเบื่อจะตาย”
“เฮ้ย… เราไม่สนใจการเมืองเว้ยแก”
“ขอไม่พูดถึงการเมืองนะ เหนื่อย”
ไม่ได้เป็นคำพูดติดปากแค่ชาวไทย แต่เป็นประโยคที่คาห์นและเวสไฮเมอร์เจอเมื่อทำงานสำรวจในปี 2003 เช่นกัน ความเห็นเหล่านี้นับเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่พวกเขา หรือใครก็ตาม ไม่รู้สึกว่าประเด็นที่อยู่ตรงหน้า สุดท้ายแล้วเราเองนั่นแหละที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบ
ดังนั้น C แรก C-commitment ถูกสร้างผ่านกลยุทธ์ 2 อย่าง คือ
- สร้างกิจกรรมจากปัญหาสังคม หรือ ผ่านประเด็นที่กำลังเป็นที่โต้เถียงในสังคม
- สร้างกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือทำ ‘ผ่านประสบการณ์’ จริง
ข้อแรก-ไม่ต้องใช้คำของคาห์นและเวสไฮเมอร์มาอ้างก็รับรู้ได้ว่า ประเด็นที่ผู้เรียนหรือใครหลายคนในสังคมเห็นว่า ‘ผิด’ ย่อมมีกลิ่นที่ ‘น่าสนใจ’ ในตัวเอง ผู้สอนส่วนใหญ่มักคิดไปเองว่า ประเด็นทางสังคมที่เป็นปัญหาก้ำกึ่งว่า ผิดหรือถูก ยากและซับซ้อน เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เพศ การเลือกปฏิบัติ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซับซ้อนและหนักเกินกว่านักเรียนที่อายุน้อยจะไม่เข้าใจและไม่จำเป็นต้องรู้
หากคาห์นและเวสไฮเมอร์ ตั้งคำถามผ่านงานศึกษาว่า “เราจะสร้างความรู้สึกผูกพักหรือความรู้สึกเป็นเจ้าของได้อย่างไร หากเขาไม่รู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้มันกระทบกับตัวพวกเขา?”
ข้อสอง-เป็นเรื่องจริงที่โรงเรียนมัก ‘สอน’ เรื่องหน้าที่พลเมือง แต่ไม่เคยให้พวกเขามีประสบการณ์หรือเข้าไปปฏิบัติจริง การลงมือปฏิบัติจริงอาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างโครงการจิตอาสา, การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่รอบโรงเรียน เรื่อยไปกระทั่งจัดโต้วาทีในประเด็นทางสังคมที่พวกเขาเห็นว่าเป็นปัญหา และขยายต่อไปในขั้นให้ลงมือทำ
“แม้ ‘ประสบการณ์’ จะเป็นครูที่ดีที่สุด แต่ในเวลาที่ผู้เรียนอยู่ในช่วงตึงเครียดหรือเผชิญหน้ากับปัญหา ครูผู้สอนต้องคอยดูให้มั่นใจว่าแผนการอันรัดกุมที่พวกเขาเตรียมไว้ จะไม่บั่นทอนหรือทำให้พวกเขารู้สึก ‘หวาดกลัว’ หรือ ‘หมดหวัง’” – คาห์นและเวสไฮเมอร์
อย่างไรก็ตามความท้าทายและอุปสรรคนับเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเขาจะได้ทบทวนข้อเท็จจริงที่เจอระหว่างทาง และได้เรียนรู้ว่า ‘ความไม่กล้า’ หน้าตาเป็นอย่างไร
Capacity: ทักษะและความสามารถ
การสร้างห้องเรียนให้ผู้เรียนรู้สึกว่า ‘เป็นผู้มีส่วนร่วม’ ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิเสียง มีฟังก์ชั่น ย่อมทำให้ผู้เรียนอยากพัฒนาความสามารถและทักษะเพื่อเข้าไปพัฒนาและแก้ไขในวาระที่พวกเขาสนใจและเห็นว่ามีปัญหาได้จริง คาห์นและเวสไฮเมอร์ยกตัวอย่างกระบวนการ 2 อย่างคือ การเวิร์คช็อป และการจำลองสถานการณ์
เวิร์คช็อป – เพื่อให้มีเครื่องมือหรือทักษะในการทำงานภาพใหญ่ สหพันธ์เยาวชนเมืองเฟรเดอริค รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา (Frederick County Youth Service League) ออกแบบให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม เช่น การพูดในที่สาธารณะ, การใช้โสตทัศนูปกรณ์สำหรับการบรรยาย, จัดการประชุม, หาข้อมูลด้วยการวิจัย, การสำรวจความเห็นในชุมชน, การออกแบบวิธีสำรวจความเห็น
ในเวิร์คช็อปทุกกลุ่ม ผู้เรียนจะได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จากนั้นทุกกลุ่มจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาจัดแสดงผลงาน ทุกกลุ่มจะได้คำแนะนำเรื่องการ ‘สรุปโปรเจ็คต์’ เพื่อรายงานในห้องประชุมซึ่งต้องทำให้มั่นใจว่า การสรุปงานที่ทำมายาวนานให้สั้นเพียงไม่กี่นาที ใจความสำคัญยังต้องมีอยู่ไม่หายไปไหน
ขณะที่ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้านการหาข้อมูลและเผยแพร่นี้ สิ่งที่ได้คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม และการมีส่วนร่วมทำงานจนกว่าจะบรรลุผล ซึ่งแน่นอนว่านี่คือจุดประสงค์ในการเป็นพลเมือง
การจำลองสถานการณ์ – บางครั้งการเวิร์คช็อปสร้างเครื่องมือที่จะนำไปใช้ทำงานอาจไม่ได้ผลกับทุกสถานการณ์ แต่การจำลองสถานการณ์ใกล้ตัวให้เห็นซึ่งหน้าอาจให้ผลลัพธ์จริงและสนุกมากกว่า
เช่น การจำลองสถานการณ์ว่า อาหารกลางของโรงเรียนกำลังจะขึ้นราคา, จากที่เคยมีสิทธิอาหารกลางวันฟรี ต่อแต่นี้ไปจะต้องจ่ายเงินเสียแล้ว, พบว่าอาหารกลางวันที่เคยมีโภชนาการอาหารครบ บัดนี้กลับเหลือแต่วิญญาณโปรตีนแสนจืดชืด ไม่คุ้มกับราคาที่จ่ายไปเมื่อต้นเทอม หรือ สถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเป็นประเด็นร้อนในชุมชนรอบโรงเรียน
จำลองสถานการณ์แล้วมาลองดูกันว่า เด็กๆ หรือผู้เรียนจะคิดและทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้
Connection: ความรู้สึกเชื่อมโยง เป็นกลุ่มเดียวกัน
แม้คำสอนเรื่อง ‘สิทธิพลเมือง’ จะให้เซนส์ที่ว่า หน้าที่พลเมืองหรือสิทธิเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณค่าของการเป็นพลเมือง มาจากการสร้างคุณค่าร่วมกัน (รู้ว่ามาจากไหน แต่โต้เถียงและให้คุณค่าใหม่ได้ตามพลวัต) มีกิจกรรม มีหน้าที่หลายอย่างที่ต้องการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล และคนต้นแบบที่น่าสนใจ
สังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล – การศึกษาของคาห์นและเวสไฮเมอร์ระบุว่า สถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่งที่เข้าไปศึกษา ให้ความสำคัญกับ ‘ระบบนิเวศของสังคม’ ในการยกหรือมอบคุณค่าบางประการ ในแง่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถโต้เถียงคุณค่าของปฏิบัติการทางสังคมเดิมที่ยึดถือหรือเห็นว่าดี เช่น การเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลับกัน หากมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น อาจมีการรวมตัวกันเพื่อโต้แย้งคุณค่าเดิมของสังคมนั้นได้
คาห์นและเวสไฮเมอร์สัมภาษณ์ผู้หญิงพื้นถิ่นคนหนึ่งที่เข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ เธอรู้สึกถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะในพื้นที่ของการทำงาน เพียงเพราะเธอไม่ใช่คนขาว ไม่ใช่คนในเมือง หรือกรณีของเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ที่ต้องรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม
“ถ้าฉันมีปัญหา อย่างน้อยก็มีเครือข่ายให้ฉันเข้าไปขอความช่วยเหลือ หรือแม้ฉันจะไม่เคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรสักอย่างให้ฉันมั่นใจว่าฉันไม่โดดเดี่ยวอยู่คนเดียว” ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่ง
คนต้นแบบที่น่าสนใจ – การเชิญบุคคลต้นแบบ หรือคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางสังคมเข้าไปเล่าประวัติความเป็นการ เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขา เป็นอีกวิธีที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิพลเมืองให้เกิดแก่ผู้เรียนได้ และมีทริคเล็กๆ ว่า บางครั้งการการเชิญ ‘บุคคลธรรมดา’ อาจสร้างแรงบันดาลใจได้มากว่า ‘ผู้มีชื่อเสียง’
ความท้าทายของห้องเรียน ‘พลเมือง’
“ห้องเรียนไม่ได้รับประกันความเป็นมนุษย์และความยั่งยืนของประชาธิปไตย ถ้าเราเห็นว่าการพัฒนาและการศึกษาเรื่องพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องขยายและลงลึกกับการพัฒนาการศึกษาและให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง”
นั่นคือความเห็นของคาห์นและเวสไฮเมอร์ แต่หากเป็นในบริบทไทย ท่ามกลางวัฒนธรรมการศึกษาที่มีอำนาจแนวดิ่งก่อตัวอย่างกว้างขวาง ความท้าทายประการสำคัญคือความเข้าใจ และการเห็นความสำคัญของการเป็นมนุษย์ระหว่างครูและผู้เรียน
แน่นอนว่ามีครูหลายคนเข้าใจและพยายามหลบเลี่ยงเพื่อเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และประนีประนอมต่อกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับความสนใจในการเรียน ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ไม่น่าต้องมาถกเถียงกันอีกแล้ว แต่ก็มีอีกมากเช่นกัน ที่ยังคิดว่าการเรียนแบบใช้อำนาจนั้นให้ผลยอดเยี่ยมดีที่สุด สุดท้ายแล้วจึงไม่ใช่แค่ ‘ครู’ ในห้องเรียนที่จะเป็นแม่แบบของสังคมประชาธิปไตย ทุกส่วนของสังคมต่างหากที่มีส่วนรับผิดชอบหน้าที่นั้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องมีความหวัง ใช้ห้วงเวลาของการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามานี้ปลุกพลังประชาธิปไตยในตัวเรากันเถอะ
ประเภทของพลเมือง (Kinds of Citizens) พลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคม (Personally Responsible Citizen) แนวคิดหลักคือ : พลเมืองซื่อสัตย์ รับผิดชอบ เคารพกฎหมายและกติกาของสังคม อธิบายคือ รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน,ทำงานอย่างสุจริตและจ่ายภาษี,เคารพกฎหมาย,รีไซเคิลและบริจาคเลือด,อาสาช่วยเหลืองานสังคมกรณีเกิดวิกฤตการณ์ ตัวอย่างการปฏิบัติ เช่น บริจาคในกิจกรรมแก้ปัญหาอดอยากที่เกิดขึ้น พลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคม (Personally Responsible Citizen) แนวคิดหลักคือ : เพื่อแก้ปัญหาสังคม พลเมืองที่ออกไปมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการวางระบบและโครงสร้างสังคม อธิบายคือ เป็นสมาชิกองค์กรที่กระตือรือร้นและมุ่งมั่นจะพัฒนา,จัดการให้ชุมชนใส่ใจต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ,รู้ว่ารัฐมีกระบวนการอย่างไร,รู้วิธีทำงานอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างการปฏิบัติ เช่น จัดกิจกรรมแก้ปัญหาความยากจน พลเมืองที่มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม (Social-Justice-Oriented Citizen) แนวคิดหลักคือ : ในการแก้ปัญหา พลเมืองต้องตั้งคำถามและเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้างที่เป็นอยู่ ที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม อธิบายคือ คิดเชิงวิพากษ์ต่อโครงสร้างสังคม นโยบาย เศรษฐกิจ, สืบค้นและนำเสนอประเด็นที่ไม่เป็นธรรมในสังคม, รู้ความเคลื่อนไหวทางสังคมและผลกระทบ ตัวอย่างการปฏิบัติ เช่น ค้นหาสาเหตุ/ต้นตอปัญหาความอดอยากเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม |